ภาพถ่าย ฝนดาวตก โอไรโอนิดส์ ปี 2006
ภาพถ่าย ฝนดาวตก โอไรโอนิดส์ (21 ตุลาคม 2008)
คืนวันที่ 21 ตุลาคม ดูฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ เดือน พฤศจิกายน รอครั้งใหญ่จากกลุ่มดาวสิงโต (เดลินิวส์)
ปลายปีนี้คนไทยได้ดูฝนดาวตกครั้งใหญ่หลายชุด เริ่มจากฝนดาวตกจากกลุ่มดาวโอไรโอนิดส์หรือดาวนายพราน คืนวันพุธที่ 21 ตุลาคมนี้ และเดือน พฤศจิกายน ได้ดูฝนดาวตกชั่วโมงละ 100 - 500 ดวง จากกลุ่มดาวสิงโตแน่ ๆ เพราะเป็นคืนเดือนมืด
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ หรือ สดร. (องค์การ มหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เชิญชวนคนไทยทั่วประเทศชมปรากฏการณ์ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์หรือฝนดาวตกนายพราน ซึ่งเป็นฝนดาวตกประจำเดือนตุลาคม สำหรับปรากฏการณ์ดังกล่าวจะชมได้ในคืนวันพุธที่ 21 ตุลาคม 2552 ช่วงเวลาสังเกตตั้งแต่ 22.00 น. ถึงเช้ามืดของวันใหม่
ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์ (Orionid Meteors shower) หรือฝนดาวตกนายพราน เป็นฝนดาวตกประจำเดือนตุลาคมที่น่าสนใจ ซึ่งฝนดาวตกโอไรโอนิดส์จะเกิดขึ้นสูงสุดในช่วงวันที่ 20 - 22 ตุลาคม ของทุกปี โดยมีอัตราการเกิดสูงสุดเฉลี่ย 20 ดวง ต่อชั่วโมง มีจุดกระจายออกมาจากบริเวณแขนของกลุ่มดาวนายพราน (Orion) ใกล้กับดาวเบเทลจูส (Betelgeuse) ซึ่งกลุ่มดาวนี้จะเริ่มขึ้นทางทิศตะวันออกในเวลาประมาณ 22.00 น.
ดังนั้นจึงมีช่วงเวลาสังเกตตั้งแต่ 22.00 น. ถึงเช้ามืดของวันใหม่ ฝนดาวตกโอไรโอนิดส์เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่ผ่านเข้าไปในกลุ่มของเศษชิ้นส่วนของดาวหางฮัลเลย์ (Halley) ที่หลงเหลือจากการโคจรเข้ามาในระบบสุริยะเมื่อ 23 ปีที่แล้ว ในช่วงวันที่ 2 ตุลาคม - 7 พฤศจิกายนของทุกปี เศษชิ้นส่วนดังกล่าวเป็นก้อนอุกกาบาตขนาดเล็กจำนวนมาก เมื่อถูกแรงโน้มถ่วงของโลกดึงดูดให้เข้ามาและเสียดสีกับชั้นบรรยากาศจึงเกิดการลุกไหม้ เราจึงเห็นดาวตกพุ่งออกมาจากบริเวณกลุ่มดาวนายพราน
การสังเกตฝนดาวตกที่ดีที่สุด คือ มองด้วยตาเปล่า และเลือกสถานที่ที่ห่างจากแสงในเมืองให้มากที่สุด โดยมองหากลุ่มดาวนายพรานทางทิศตะวันออก ซึ่งกลุ่มดาวนี้จะมีดาว 3 ดวงอยู่ตรง กลางหรือเข็มขัดนายพราน การสังเกตฝนดาวตกนั้นไม่ควรมองไปที่จุดกระจายของฝนดาวตก แต่ควรมองห่างออกมา โดยเฉพาะในคืนวันที่ 21 ตุลาคม ซึ่งคาดว่าน่าจะมีอัตราการเกิดดาวตกสูงที่สุด ในปีนี้คาดว่าจะมีประมาณ 10 - 15 ดวงต่อชั่วโมง ซึ่งวันที่ 20 - 22 ตุลาคมนี้เป็นช่วงวันที่เป็นเสี้ยวข้างแรม ปราศจากแสงจันทร์รบกวน จึงเหมาะแก่การสังเกต
นอกจากนี้สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) ยังเปิดเผยด้วยว่า ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนของทุกปีจะเกิดปรากฏการณ์ฝนดาวตกลีโอนิดส์ (Leonid Meteor shower) หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต ซึ่งสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า ศูนย์กลางการกระจายของฝนดาวตกอยู่บริเวณตำแหน่งหัวของสิงโต มีลักษณะเป็นริ้วสีขาวพาดผ่านท้องฟ้า และเกิดลูกไฟควบคู่กันไปด้วย
ฝนดาวตกลีโอนิดส์เกิดจากเศษซากหลงเหลือของดาวหาง 55 พี เทมเพล - ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle) ซึ่งมีวงโคจรรอบ ดวงอาทิตย์เป็นวงรี โดยหนึ่งรอบใช้เวลา 33.2 ปี และทุก ๆ 33 ปี ดาวหางนี้จะโคจรเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุด ทำให้เกิดฝนดาวตกมากเป็นพิเศษ เรียกว่า "พายุฝนดาวตก" (Meteor Storm) ซึ่งเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2541 และจะเข้าใกล้ครั้งต่อไปในวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2556
ในปี พ.ศ. 2552 นี้ จะเป็นช่วงที่ฝนดาวตกลีโอนิดส์ และมีผู้เชี่ยวชาญวงการดาราศาสตร์คาดการณ์ไว้ว่าจะมีอัตราการตกมากในวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 โดยเจเรมี โวบาลลอน นักวิจัยสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย หรือ Caltech คาดการณ์ว่า ฝนดาวตกจะตกมากที่สุด 500 ดวงต่อชั่วโมง ที่เวลา 04.43 น. ตามเวลาประเทศไทย ส่วน วิลเลียม คุกค์ นักวิจัยนาซ่า คาดว่า เวลา 04.43 น. ตามเวลาประเทศไทย น่าจะเป็นช่วงที่เกิดฝนดาวตกมากที่สุดประมาณ 300 ดวง หรืออาจจะเพียง 100 ดวงเท่านั้น
ทั้งนี้ คืนวันที่ 17 - 18 พฤศจิกายน 2552 เป็นคืนเดือนมืด ท้องฟ้าค่อนข้างจะมืดสนิทเหมาะแก่การสังเกตฝนดาวตก แต่เหตุการณ์ฝนดาวตกช่วงที่มากนั้นค่อนข้างสั้น และเกิดก่อนที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นประมาณ 1 ชั่วโมงเท่านั้น สำหรับผู้สังเกตในแถบประเทศเอเชียนั้นจะสังเกตเห็นได้ดี คือ ไทย จีน พม่า อินเดีย ปากีสถาน ฯลฯ ตั้งแต่เวลา 03.50 - 05.50 น. ตามเวลาประเทศไทย
ภาพถ่าย ฝนดาวตก โอไรโอนิดส์
ภาพถ่าย ฝนดาวตก โอไรโอนิดส์
ภาพถ่าย ฝนดาวตก โอไรโอนิดส์
ภาพถ่าย ฝนดาวตก โอไรโอนิดส์
ภาพถ่าย ฝนดาวตก โอไรโอนิดส์
สถานที่นอนดู ฝนดาวตก ชัด ๆ 17-18 พ.ย.นี้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ขอขอบคุรภาพประกอบจาก astronet.ru, spacefellowship.com, en.wikipedia.org/wiki/Orionids