x close

เสธ.อู้ โต้รธน.ไม่ใช่ศิลาจารึก สามารถแก้ไขได้

รัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ


เสธ.อู้ โต้รธน.ไม่ใช่ศิลาจารึก สามารถแก้ไขได้ (ไทยรัฐ)

          เมื่อวันที่ 23 ต.ค. ที่โรงแรม นครพนม ริเวอร์วิว จ.นครพนม วุฒิสภาจัดโครงการ "สมาชิกวุฒิสภาพบประชาชน" โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังความคิดเห็นตลอดจนปัญหาของประชาชนจากการเปิดสะพานมิตรภาพไทย-ลาว แห่งที่ 3 (นครพนม-แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว) และให้ประชาชนได้รับทราบถึงบทบาทอำนาจหน้าที่ของวุฒิสภา โดยมีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิภาคนที่หนึ่ง เป็นประธานเปิดพิธี พร้อมคณะ ส.ว. อาทิ พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช นายตวง อันทะไชย นายอนันต์ วรธิติพงศ์ นายอิทธิพล เรืองวรบูรณ์ ส.ว.สรรหา นายสุโข วุฒิโชติ ส.ว.สมุทรปราการ พ.ต.ท.จิตต์ ศรีโยหะ มุกดาธนพงศ์ ส.ว.มุกดาหาร และนายวิทยา อินาลา ส.ว.นครพนม และนายพงษ์ศิริ กุสุมภ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ส่วนราชการ 3 จังหวัดนครพนม มุกดาหาร และ สกลนคร ประมาณ 100 คน ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

          นายนิคม กล่าวเปิดงานว่า โครงการวุฒิสภาพบประชาชนถือป็นช่องทางหนึ่งประชาชนอยากเรียกร้อง เพื่อหาที่พึ่งในการช่วยแก้ปัญหา ซึ่งบทบาทการทำงานของวุฒิสภา มีความเด่นชัดขึ้น อาทิ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ไม่ว่าฝ่ายรัฐบาล หรือ ฝ่ายค้าน จะเล่นเกมการเมืองอย่างไร แต่ ส.ว. ได้ประกาศจุดยืนชัดเจนและหนักแน่น โดยส่งตัวแทน เข้าไปร่วมเป็นคณะกรรมการร่วมพิจารณาในนามคณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่าย ดำเนินการตามที่คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปการเมืองและศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ประเด็น สำหรับการแก้ไขปัญหาให้ประชาชนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการดำเนินนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล และส่วนราชการต่างๆ เมื่อลงไปพบประชาชนที่ไหน ส.ว. จะได้รับข้อมูลที่แตกต่างจากรัฐบาล และเมื่อได้รับข้อมูลจากประชาชนจะนำเสนอให้รัฐบาลแก้ไขต่อไป

          นายนิคม กล่าวต่อว่า สำหรับบทบาทการทำงานในฝ่ายนิติบัญญัติ แม้รัฐธรรมนูญ จะให้อำนาจวุฒิสภาสามารถถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ แต่ที่ผ่านมาไม่เคยถอดถอนใครได้ แต่สิ่งที่ทำได้คือการกลั่นกรองกฎหมาย ที่เห็นว่ามีผลกระทบต่อสังคม ทำให้ประชาชนเดือดร้อน อาทิ การที่วุฒิสภาคว่ำกฎหมายบางฉบับ เช่น ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีศุลกากร (สรรพสามิตน้ำมัน) เพราะเห็นพ้องต้องกันว่าหากปล่อยให้ร่างกฎหมายนี้ผ่านไปจะส่งให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนจริง ๆ แม้รัฐบาลจะสามารถนำกลับไปยืนยันในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรได้อีกตามระยะเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนด แต่วุฒิสภาได้ลงมติเพื่อแสดงจุดยืนในการทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ให้ประชาชน 

          "ส.ว.ไม่สังกัดพรรคการเมือง มี 150 คน ก็ 150 ความคิด แม้จะมีบางกลุ่มเรียกตัวเองว่า กลุ่ม 40 ส.ว. แต่ล้วนทำงานให้ประชาชน มุ่งหน้าสร้างความสมานฉันท์ และสร้างประชาธิปไตยให้ประชาชน เราสามารถอยู่ร่วมกันได้ด้วยแนวทางที่อยากเห็นความเจริญเติบโตในบ้านเมือง" นายนิคมกล่าว

          จากนั้น พ.ต.ท.ประสาร สุระเสียง ตัวแทนผู้ประสานงานภาคเอกชนจังหวัดนครพนม ได้ถามเรื่องปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่า จากข่าวที่ปรากฏมีฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขระบุว่าเป็นการกระทำเพื่อช่วยเหลือคนบางคนหรือไม่ อยากฝากไปยังนายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา และ ส.ส.ที่อยู่ในสภาว่า ประชาชนรู้สึกเบื่อหน่ายกับพฤติกรรมของนักการเมืองที่ทำตัวเป็นอันธพาล ก่อกวนสังคมมาก ขอให้ทำหน้าที่ด้วยความสร้างสรรค์จะดีกว่า

          พล.อ.เลิศรัตน์ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงว่า สิ่งที่ไม่มีใครถามเลยคือ หากมีการแก้รัฐธรรมนูญแล้วใครเสียประโยชน์ วันนี้ ประชาชนมีความคิดเห็นแตกต่างเป็น 2 กลุ่ม คือเห็นด้วยและคัดค้าน ตนเห็นว่ารัฐธรรมนูญต้องมีการพัฒนาการไปเรื่อยๆ สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่าการแก้ไขเป็นไปเพื่อผลประโยชน์และหลักการหรือไม่ หากใครบอกว่าแก้ไม่ได้ แตะต้องไม่ได้ คงไม่ถูกต้อง เพราะรัฐธรรมนูญไม่ใช่ศิลาจารึก จึงเกิดความสงสัยว่าการคัดค้าน เพราะเป็นความต้องการของบางกลุ่มบางพวกที่ให้รัฐธรรมนูญคงอยู่เพื่อประโยชน์เบื้องหลังหรือไม่ หรือเพื่อให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นบางสิ่งบางอย่างเพื่อประโยชน์ของตนหรือไม่ ดังนั้น ควรทำประชามติ ซึ่งนายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้รับผิดชอบในการเดินหน้าในเรื่องนี้




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เสธ.อู้ โต้รธน.ไม่ใช่ศิลาจารึก สามารถแก้ไขได้ อัปเดตล่าสุด 24 ตุลาคม 2552 เวลา 15:15:00 5,056 อ่าน
TOP