x close

ฮาโลวีน กระตุ้นเศรษฐกิจไทย


ฮาโลวีน กระตุ้นเศรษฐกิจไทย (ไทยรัฐ)

          ใครจะไปรู้ว่า "วันฮาโลวีน" (Halloween) จะเป็นงานฉลองในทุกคืนวันที่ 1 พฤศจิกายนของทุกปี แต่คนทั่วไปได้เข้าใจผิดกันไปแล้วว่าเป็นคืนวันที่ 31 ตุลาคม ซึ่งประเทศทางตะวันตก เด็กๆ จะแต่งกายเป็นภูตผีปีศาจพากันชักชวนเพื่อนฝูงออกไปงานฉลอง มีการประดับประดาแสงไฟ และที่สำคัญคือแกะสลักฟักทองเป็นโคมไฟ เรียกว่า "แจ๊ก-โอ-แลนเทิร์น" (jack-o'-lantern) ส่วนประเทศไทยนั้นก็จับเอาเทศกาลมาร่วมฉลองด้วย โดยเรียกกันว่า "คืนปล่อยผี"  



          ตำนานเล่าวขานกันมาว่า ในวันที่ 31 ตุลาคม เป็นวันที่ชาวเคลต์ (Celt) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองเผ่าหนึ่งในไอร์แลนด์ ซึ่งถือกันว่าเป็นวันสิ้นสุดของฤดูร้อน และในวันที่ 1 พฤศจิกายน จะเป็นวันขึ้นปีใหม่ ซึ่งในวันที่ 31 ต.ค. นี่เองที่ชาวเคลต์เชื่อว่า เป็นวันที่มิติคนตาย และคนเป็นจะถูกเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน และวิญญาณของผู้ที่เสียชีวิตในปีที่ผ่านมาจะเที่ยวหาร่างของคนเป็นเพื่อสิงสู่จะได้มีชีวิตขึ้นใหม่อีกครั้ง ชาวเคลต์จึงต้องปิดไฟทุกดวงในบ้าน ทำให้อากาศหนาวเย็น เพราะเชื่อกันว่าเป็นสิ่งที่ไม่พึงปรารถนาของบรรดาผีร้าย นอกจากนี้ ยังพยายามแต่งกายเลียนแบบผี และส่งเสียงดังอึกทึก เพื่อให้ผีตัวจริงตกใจหนีหายไป รวมถึงการเผา "คนที่คิดว่าถูก ผี ร้ายสิง" เพื่อเป็นการเชือดไก่ให้(ผี) ลิงกลัวอีกต่างหาก ตามความเชื่อ ความคิดเรื่องผีสาง ที่ฝังรากลึกในจิตใจมนุษย์ 

          แต่เมื่อกาลเวลาผ่าน  ได้ปรับเปลี่ยนจากการเผาคน และเป็นเผาหุ่นแทน วันฮาโลวีนกลายเป็นเพียงพิธีการ การแต่งตัวเป็นผี แม่มด สัตว์ประหลาดตามแต่จะสร้างสรรค์กันไป ประเพณีฮาโลวีนเดินทางมาถึงอเมริกาในทศวรรษที่ 1840 โดยชาวไอริชที่อพยพมายังอเมริกา สำหรับประเพณี ทริกออร์ทรีต (Trick or Treat) นั้น เริ่มขึ้นในราวคริสต์ศตวรรษที่ 9 โดยชาวยุโรป ซึ่งถือว่า วันที่ 2 พ.ย. เป็นวัน "All Souls" พวกเขาจะเดินร้องขอ "ขนมสำหรับวิญญาณ" (soul cake) จากหมู่บ้านหนึ่งไปยังอีกหมู่บ้านหนึ่ง โดยเชื่อว่า ยิ่งให้ขนมเค้กมากเท่าไร วิญญาณของญาติผู้บริจาคก็ได้รับผลบุญ ทำให้มีโอกาสขึ้นสวรรค์ได้มากเท่านั้น  





          "ฟักทอง" เป็นตำนานพื้นบ้านของชาวไอริช ที่กล่าวถึง แจ๊ก-โอ-แลนเทิร์น ซึ่งเป็นนักเล่นกลจอมขี้เมา วันหนึ่งเขาหลอกล่อปีศาจขึ้นไปบนต้นไม้ และเขียนกากบาทไว้ที่โคนต้นไม้ ทำให้ปีศาจลงมาไม่ได้ จากนั้นเขาได้ทำข้อตกลงกับปีศาจ 'ห้ามนำสิ่งไม่ดีมาหลอกล่อเขาอีก' แล้วเขาจะปล่อยปีศาจลงจากต้นไม้ เมื่อแจ็คตายลง เขาปฏิเสธที่จะขึ้นสวรรค์ ขณะเดียวกันปฏิเสธที่จะลงนรก ปีศาจจึงให้ถ่านที่กำลังคุแก่เขา เพื่อเอาไว้ปัดเป่าความหนาวเย็นท่ามกลางความมืดมิด แจ็คได้นำถ่านนี้ใส่ไว้ในหัวผักกาดเทอนิพที่ถูกเจาะให้กลวง เพื่อให้ไฟลุกโชติช่วงได้นานขึ้น ชาวไอริชจึงแกะสลักหัวผักกาดเทอนิพ และ ใส่ไฟในด้านใน อันเป็นอีกสัญลักษณ์ของวันฮาโลวีน เพื่อระลึกถึง "การหยุดยั้งความชั่ว" (Trick or Treat) แต่ชาวอเมริกาเห็นว่า ฟักทองหาง่ายกว่าหัวผักกาด จึงเปลี่ยนมาใช้ฟักทองแทน   

          "ทริกออร์ทรีต" เป็นประเพณีที่เด็กๆ จะแต่งหน้า แต่งตัวเป็นผีเดินไปเคาะประตูตามบ้านต่างๆ เพื่อร้องขอขนมเค้กสำหรับวิญญาณ พร้อมกับส่งเสียงทักทายว่า "ทริกออร์ทรีต" หากเจ้าของบ้านตอบว่า ทริก จะถูกเด็กๆ แกล้ง แต่ถ้าตอบว่าทรีตเจ้าของบ้านหลังนั้นก็ต้องนำขนมเค้กมาให้พวกเด็กจนกว่าเขาจะพอใจ  เด็กๆที่แต่งตัวเป็นภูติผีวิญญาณเปรียบเหมือนสื่อกลางในการ สื่อสารระหว่างคนเป็นและคนตาย โดยเจ้าของบ้านที่ให้ขนมแก่เด็กๆ สามารถฝากคำอธิษฐานไปถึงคนตายได้ด้วย ดังนั้น ยิ่งเด็กๆ ขอขนมได้มากเท่าใด วิญญาณที่ยังเวียนวนอยู่ในรกก็จะยิ่งได้รับส่วนบุญ และมีโอกาสขึ้นสวรรค์มากยิ่งขึ้นด้วย  



          นอกจากนี้ ยังมีสิ่งที่ทำเป็นประจำในวันฮาโลวีนของคนอเมริกา คือ การจัดงานแต่งงาน การทำนายโชคชะตา หรือแม้แต่เรื่องความตายยังถือว่า วันนี้เป็นเพียงวันเดียวที่ภูติผีวิญญาณจะช่วยดลบันดาลให้สิ่งที่คนเป็น ต้องการสามารถเป็นไปตามใจปรารถนา  โดยเวลาประมาณเที่ยงคืนของวันฮาโลวีนสาวอังกฤษจะออกมาหว่าน และไถกลบเมล็ดป่าน พร้อมตั้งจิตอธิษฐาน และท่องคาถาร้องขอให้มองเห็นภาพของว่าที่คู่ชีวิตของตนในอนาคต เมื่อสาวเจ้าเหลียวมองผ่านบ่าด้านซ้ายก็จะได้เห็นภาพนิมิตของผู้ที่จะมาเป็น สามีของตนในอนาคตรวมถึงการหย่อนเหรียญ 6 เพนนีลงในอ่างน้ำ พร้อมแอปเปิ้ล ผู้ใดสามารถแยกแยะของสองสิ่งนี้ออกจากกันได้โดย ใช้ปากคาบเหรียญ และใช้ส้อมจิ้มแอปเปิ้ลให้ติดได้ในครั้งเดียว ผู้นั้นจะมีโชคดีตลอดปีใหม่ที่กำลังจะมาเยือน 

          วันฮาโลวีนกับคนไทย แม้จะไม่ได้มีความสำคัญ หรือเรื่องราวให้พูดถึงเกี่ยวโยงมากนัก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุคที่อิทธิพลจากโลกตะวันตกแพร่หลายเข้ามายังประเทศแบบไม่หยุดอย่างนี้ ก็พลอยทำให้เทศกาลนี้เป็นอีกวันที่ถูกพูดถึง ซึ่งในทุกๆปีสิ่งที่เราจะพบเห็น คือ คนไทยออกมาเที่ยวเล่นตามสถานที่ต่างๆ ที่จัดงานวันฮาโลวีน โดยเฉพาะพื้นที่ถนนข้าวสาร แหล่งที่มีนักท่องเที่ยวรวมตัวกันมากที่สุด จึงไม่แปลกหากเราเดินเที่ยวกันอยู่ จะเห็นผี ปีศาจเดินวนไม่มามากมาย หรือแม้แต่ห้างสรรพสินค้าที่รวบรวมเอาสิ่งของ เครื่องใช้ เครื่องประดับ หรือของตกแต่งที่เกี่ยวข้องกับเทศกาล มาจัดวาง จำหน่ายให้ลูกค้าได้จับจ่าย ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจได้ไม่น้อยเลยทีเดียว


วันฮาโลวีน halloween ฮัลโลวีน ประวัติวันฮัลโลวีน ชุดฮาโลวีน Glitter กลิตเตอร์ และอีกมากมาย คลิกที่นี่



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฮาโลวีน กระตุ้นเศรษฐกิจไทย อัปเดตล่าสุด 31 ตุลาคม 2552 เวลา 15:43:44 8,215 อ่าน
TOP