x close

ปฐมบท...ปิดตำนานพ่อมด ราเกซ สักเสนา


ราเกซ สักเสนา


ปฐมบท...ปิดตำนานพ่อมด"ราเกซ" (คมชัดลึก)

          หลังจากประเทศไทยเผชิญกับวิกฤติเศรษฐกิจต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายการตั้ง Bangkok International Banking Facilities หรือ กิจการวิเทศธนกิจ เมื่อปี 2536 ทำให้สถาบันการเงินไทยสามารถหาแหล่งเงินกู้นอกประเทศได้ ตามมาด้วยสถาบันการเงินของไทยเป็นหนี้ต่างประเทศจำนวนมหาศาล ส่งผลให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสั่งปิดกิจการสถาบันการเงิน 58 แห่ง โดยมีธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ (บีบีซี) รวมอยู่ด้วย

          ทั้งนี้ เกิดจากบีบีซีปล่อยเงินกู้ที่มีความเสี่ยงสูงหลายพันล้านบาท เข้าข่ายยักยอกทรัพย์สินของธนาคาร จังหวะนี้เองชื่อเสียงของพ่อมดทางการเงิน "ราเกซ สักเสนา" อดีตที่ปรึกษา "เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์" กรรมการผู้จัดการใหญ่บีบีซี เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ในฐานะผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์บีบีซี หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยเข้าแจ้งความต่อกรมตำรวจ ให้ดำเนินคดีกับผู้บริหารและที่ปรึกษาทั้งสองของบีบีซี

          สมัยนั้น พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา รอง ผบช.น. ยังดำรงตำแหน่งรองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ (รอง ผบก.สศก.) เคยร่วมทำคดีราเกซที่มีอยู่กว่า 40 คดี เป็นคดีการปล่อยกู้ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ปล่อยกู้ให้นักการเมืองและคนขับรถของตัวเอง โดยนายตำรวจผู้นี้รับผิดชอบ 2 คดี คือ การใช้บัตรผ่านรายการอนุมัติสินเชื่อหมายเลข 0109 J และ 112 J ว่าได้อนุมัติเงินกู้ให้ใครบ้าง

          บัตรผ่านรายการอนุมัติสินเชื่อมีลักษณะคล้ายกับบัตรเครดิต พอจะอนุมัติสินเชื่อให้ใครก็ใช้วิธีรูดปื๊ด รูดปื๊ด คล้ายกับการรูดบัตรเครดิต เงินกู้ก็จะไปเข้าบัญชีผู้ยื่นกู้ ซึ่งผู้ที่มีอำนาจให้รหัสบัตรอนุมัติสินเชื่อมีแค่เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กับ ราเกซ สักเสนา เท่านั้น โดย พล.ต.ต.เอกรัตน์ รับผิดชอบการปล่อยกู้ให้แก่อดีตนักการเมืองชื่อดังคนหนึ่งในกลุ่ม 16 แต่มีการชดใช้หนี้คืนธนาคารจนหมดสิ้นแล้ว ศาลเลยมีคำสั่งไม่ฟ้องทั้ง 2 คดี

          กลโกงการยักยอกทรัพย์ของธนาคาร ที่ผู้บริหารและที่ปรึกษาร่วมกันกระทำความผิดนั้น พล.ต.ต.เอกรัตน์ บอกว่า ราเกซจะใช้ชื่อคนขับรถของตัวเองเปิดบริษัทขึ้นมา เพื่อยื่นกู้เงินกับธนาคารที่ตัวเองเป็นที่ปรึกษาอยู่ ซึ่งบริษัทที่เปิดขึ้นมานั้นเป็นเพียง "บริษัทกระดาษ" ไม่ได้ประกอบกิจการใดๆ และราเกซจะเป็นผู้อนุมัติสินเชื่อด้วยตนเอง โดยที่เกริกเกียรติน่าจะมีส่วนรู้เห็นด้วย

          "ราเกซใช้วิชามารเปิดบริษัทต่างๆ ขึ้นมา แล้วให้คนขับรถหรือคนใกล้ตัวมาเป็นกรรมการบริหารบริษัท แต่กลับไม่ทำธุรกิจอะไร แล้วขอยื่นขอกู้ต่อธนาคารบีบีซี" พล.ต.ต.เอกรัตน์ กล่าว

          สมัยนั้นคดียักยอกทรัพย์ที่นายราเกซก่อขึ้น ไม่สามารถติดตามดำเนินคดีได้ พล.ต.ต.เอกรัตน์ มองว่า ไม่ใช่ปัญหาด้านกฎหมาย แต่เป็นเพราะคดีมาถึงมือตำรวจช้าเกินไป และการติดตามผู้ต้องหาที่หลบหนีไปต่างประเทศทำได้ยาก ด้วยความเฉลียวฉลาดของราเกซที่รู้จักทางหนีทีไล่เป็นอย่างดี เขารู้ดีว่ากฎหมายประเทศที่ไปอาศัยอยู่จะคุ้มครองตัวเขาได้ แม้จะถูกจับกุมในต่างประเทศ แต่ก็เป็นเพียงกักตัวอยู่ในพื้นที่จำกัดเท่านั้น แล้วมีการว่าจ้างทนายความต่อสู้คดีในชั้นศาลให้ตนเองพ้นผิด แต่ในที่สุดก็ต้องกลับมารับโทษในประเทศไทยอยู่ดี

          เป็นเวลายาวนานถึง 13 ปี ที่ราเกซกบดานหนีความผิดอยู่ในประเทศแคนาดา แต่จู่ ๆ รัฐบาลแคนาดาก็ส่งตัวกลับมารับโทษในประเทศไทย พล.ต.ต.เอกรัตน์ บอกเชิงขำขันว่า ราเกซคงหมดเงินแล้วมั้ง ? แต่ก็ไม่แน่ใจว่าการกลับมาเมืองไทยครั้งนี้ของราเกซจะมีเงินติดตัวมาด้วยหรือไม่ เพราะการทำธุรกิจของพ่อมดการเงินนี้เป็นลักษณะเงินหมุน ?!

          เมื่อไม่มีเงินก็ไม่มีอำนาจ ฤาจะเป็นเหตุผลที่มนต์ขลังแห่งพ่อมดการเงินต้องเสื่อมสลาย กลายเป็นเพียงนักโทษชราที่โรคภัยรุมเร้า และรอเวลารับกรรมแห่งความโลภที่ตัวเองก่อไว้

แฉกลโกง "ราเกซ & เกริกเกียรติ"
 
          จากการสืบสวนสอบสวนของตำรวจในยุคนั้นพบว่า จุดประสงค์ในการปล่อยสินเชื่อของแบงก์บีบีซี โดยนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ พบว่าเป็นการปล่อยเงินกู้เพื่อขอครอบงำกิจการ (เทกโอเวอร์) และนำหลักทรัพย์คือใบหุ้นมาจำนำเป็นหลักประกันเงินกู้ โดยมีการวางแผนเป็นขั้นตอนและแบ่งหน้าที่กันทำ ดังนี้

          ขั้นตอนที่ 1 นายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ หรือนายราเกซ สักเสนา กับพวกจะจัดหาบริษัทมายื่นคำขอกู้เงินจากบีบีซี โดยอ้างว่าเพื่อจะนำเงินไปซื้อหุ้นของบริษัทต่างๆ ที่ต้องการเข้าไปครอบงำกิจการ โดยบริษัทที่จะมายื่นคำขอกู้จะเป็นบริษัทที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นมาเอง โดยไม่ได้ประกอบกิจการใดๆ หรือเรียกว่าบริษัทกระดาษ ไม่เช่นนั้นก็เข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทอื่น ๆ จำนวนมาก เพื่อให้ตนเองหรือพรรคพวกสามารถเป็นผู้บริหารในบริษัทดังกล่าว

          ขั้นตอนที่ 2 นายเกริกเกรียติหรือนายราเกซกับพวก จะเข้าไปซื้อหุ้นจำนวนมากของบริษัทต่างๆ เพื่อเป็นเจ้าของหุ้นในบริษัทดังกล่าว ซึ่งนายราเกซกับพวกอ้างว่าต้องการเข้าไปทำการครอบงำกิจการ และจะนำหุ้นของบริษัทมาจำนำเป็นหลักประกันเงินกู้

          ขั้นตอนที่ 3 นายราเกซกับพวกจะนำบริษัทต่างๆ ตามขั้นตอนที่ 1 ไปยื่นคำขอกู้เงินจากบีบีซี และนายเกริกเกียรติในฐานะกรรมการผู้จัดการใหญ่ก็จะใช้อำนาจหน้าที่ของตนเองอนุมัติเงินกู้ โดยไม่ผ่านขั้นตอนและปฏิบัติตามระเบียบของธนาคารที่วางเอาไว้

          ขั้นตอนที่ 4 หลังจากอนุมัติเงินกู้จากบีบีซีแล้ว นายราเกซกับพวกจะเบียดบังเงินดังกล่าวมาเป็นของตัวเอง โดยวิธีการอำพรางทำทีเข้าไปซื้อหุ้นของบริษัทที่ตนเองอ้างว่าจะเข้าไปทำการครอบงำกิจการ ในจำนวนเงินที่ได้กู้ยืมมาจากธนาคารบีบีซี ทั้งที่หุ้นดังกล่าวนั้นนายราเกซกับพวกเป็นเจ้าของ โดยได้ซื้อมาก่อนแล้วในราคาที่ต่ำกว่าราคาที่แกล้งซื้อในภายหลัง ต่อจากนั้นนายราเกซกับพวกก็จะนำหุ้นดังกล่าวมาจำนำไว้กับบีบีซี เพื่อเป็นหลักประกันเงินกู้ที่ยืมมาจากบีบีซี หลังจากนั้นหากมูลค่าของหุ้นมีราคาสูงกว่าที่นายราเกซกับพวกช่วยกันสร้างราคาขึ้นมา นายราเกซกับพวก็จะขอให้บีบีซีขายหุ้น เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ที่กู้ยืมมา เมื่อขายได้แล้วก็ไม่นำเงินมาชำระหนี้กับธนาคาร


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก  ไทยรัฐ



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปฐมบท...ปิดตำนานพ่อมด ราเกซ สักเสนา อัปเดตล่าสุด 1 พฤศจิกายน 2552 เวลา 16:55:45 19,674 อ่าน
TOP