x close

ตะลึงโจ๋ไทยห้าว โพสต์ผ่านเน็ต ชวนหนีจากบ้าน

อินเตอร์เน็ต



ตะลึงโจ๋ไทยห้าว โพสต์ผ่านเน็ต ชวนหนีจากบ้าน (ไทยรัฐ)

          เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน ที่ห้องประชุม 1 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย มีการจัดเสวนาเรื่อง "โครงการจัดการความรู้ด้านการสืบสวนติดตามคนหายในประเทศไทย ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กับคณะวิจัยจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจมีวิทยากรประกอบด้วย" รศ.พ.ต.อ.หญิง ดร.พัชรา สินลอยมา หัวหน้าโครงการวิจัย พ.ต.ท.ชลิต เกตุศรีเมฆ รอง ผกก.สืบสวนสอบสวน บช.ภ.7 นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข เลขาธิการมูลนิธิกระจกเงา

          รศ.พ.ต.อ.หญิง ดร.พัชรา กล่าวว่า จากการทำงานร่วมกันหลายหน่วยงาน พบว่า รูปแบบการหายของบุคคลมี 7 รูปแบบ คือ 1. คนหายจากการถูกลักพาตัว 2. คนหายจากการถูกล่อลวง 3. คนหายโดยสมัครใจ หรือ ตั้งใจหาย 4. คนหายจากการแชททางอินเตอร์เน็ต 5. คนหายจากคดีฆาตกรรม 6. คนหายจากอุบัติเหตุ ภัยธรรมชาติ หรือ หายโดยไม่ทราบสาเหตุ 7. คนหายจากอาการป่วยทางสมอง

          หัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวต่อว่า แนวโน้มผู้เสียหาย ส่วนใหญ่ อยู่ช่วงอายุ 8-17 ปี ทั้งเพศชายและหญิง เนื่องจากเป็นผู้เยาว์ โดยเฉพาะช่วงอายุ 8-11 ปี น่าตกใจที่ผู้เสียหาย จะเป็นเด็กผู้ชาย เพราะผู้ปกครองคิดว่า เด็กผู้ชายไม่ค่อยมีอันตราย ส่วนช่วงอายุ 11-17 ปี ผู้เสียหายส่วนใหญ่จะเป็นวัยรุ่นหญิง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดค้าบริการทางเพศ ตลาดค้ามนุษย์ ขณะเดียวกันผลวิจัย ยังพบว่า แนวโน้มผู้เสียหาย เป็นเด็กที่มีพฤติกรรมชอบเล่นเกมส์อินเตอร์เน็ต เล่นแชทออนไลน์หาคู่ หรือ การเข้าไปเปิดอีเมล์ เพื่อหาเพื่อนต่างเพศ และเด็กที่มีปัญหาทางครอบครัว ส่วนใหญ่เด็กเหล่านี้จะเก็บตัว ไม่ค่อยมีเพื่อน ไม่สุงสิงกับใคร มีโลกทัศน์แคบ มีโลกส่วนตัวหรือโลกจินตนาการสูง จึงเป็นเป้าหมายของกลุ่มอาชญากรได้ง่าย ส่วนเขตพื้นที่ของผู้เสียหาย มีแนวโน้มเป็นเขตเมืองและปริมณฑลมากที่สุด

          ด้านเลขาธิการมูลนิธิกระจกเงา กล่าวว่า จากสถิติการล่อลวงเด็กผู้เสียหาย ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน พบว่า มีจำนวนผู้เสียหายทั้งหมด 1,527 คน แยกเป็นชาย 523 คน หญิง 1,004 คน ซึ่งสามารถช่วยเหลือได้แล้ว 954 คน โดยช่องทางล่อลวงส่วนใหญ่จะเป็นการถูกชักจูงทางอินเตอร์เน็ตที่เด็กเข้าไปแชทออนไลน์หากัน ที่น่าตกใจ คือ บางเว็บไซต์มีการตั้งกระทู้ "จะหนีออกจากบ้านกันไหม" และมีการแชร์ประสบการณ์การหนีออกจากบ้าน ปรากฏมีเด็กที่มีปัญหาเข้ามาร่วมแชร์ประสบการณ์กันเป็นจำนวนมาก จากการติดตามทำให้พบว่า เด็กมีแนวโน้มสมัครใจหนีออกจากบ้านมากขึ้น ขณะที่การติดตามคนหายในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ อยากให้เพิ่มความสำคัญมากกว่านี้ เนื่องจากที่ผ่านมา มักถูกละเลย เพราะเห็นเป็นคดีไม่สำคัญ รวมทั้งข้อกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติที่ยังเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน โดยขอเสนอแนะให้มีการตั้งศูนย์ติดตามคนหายอย่างเป็นทางการขึ้นมา

เจอเนื้อหาไม่เหมาะสม หรือภัยทางอินเทอร์เน็ต แจ้งสายด่วนไทยฮอตไลน์ ที่นี่ค่ะ

 






ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


  
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตะลึงโจ๋ไทยห้าว โพสต์ผ่านเน็ต ชวนหนีจากบ้าน อัปเดตล่าสุด 10 พฤศจิกายน 2552 เวลา 09:03:49 25,292 อ่าน
TOP