x close

เปิดไอเดียหนึ่งเดียวในโลก ต้นแบบไฟฟ้าพลังน้ำ




เปิดไอเดีย "หนึ่งเดียวในโลก" ต้นแบบไฟฟ้าพลังน้ำ"คลองลัดโพธิ์" (มติชน)

          "โครงการคลองลัดโพธิ์ จะทำประโยชน์ได้อย่างมหัศจรรย์ มีพลังงานมหาศาล จะใช้พลังงานน้ำที่ระบายผ่านคลอง ทำประโยชน์อย่างอื่นได้หรือไม่"

          "พระราชกระแสพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว" กับ "นายวุฒิ สุมิตร" รองราชเลขาธิการ และ "นายสวัสดิ์ วัฒนายากร" องคมนตรี ณ สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2549

          จึงเป็นที่มา "โครงการศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพของคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านไฟฟ้าพลังงานน้ำ" โดย "กรมชลประทาน" และ "มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)"

          ถือเป็นการใช้ประโยชน์จาก "โครงการปรับปรุงคลองลัดโพธิ์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ" อ.พระประแดง ที่กรมชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สนองพระราชดำริแก้ปัญหาน้ำท่วมพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง

          ด้วยการขุดลอกคลองเดิมที่แคบ และตื้นเขิน ให้มีความกว้าง 80 เมตร และลึก 8 เมตร พร้อมสร้างประตูระบายน้ำขนาดกว้างประตู 14 เมตร 4 บาน สามารถแก้ปัญหาการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีระยะทางไหลอ้อมผ่านพื้นที่บริเวณบางกระเจ้า ที่มีลักษณะคล้ายกระเพาะหมูระยะทาง 18 กิโลเมตร ในเขต จ.สมุทรปราการ เข้าคลองลัดโพธิ์

          ร่นระยะทางการไหลของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเหลือเพียง 600 เมตร ช่วยลดระดับน้ำท่วมสูงสุดได้ 5-6 เซนติเมตร และลดระยะเวลาน้ำท่วมลงได้ 1-2 วัน

          โครงการแล้วเสร็จเมื่อต้นปี 2549 ทำให้บรรเทาปัญหาน้ำท่วมบริเวณ 2 ฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร จนถึง อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ



          หลังจากมีพระราชกระแสรับสั่งดังกล่าวเมื่อ 17 พฤศจิกายน 2549 กรมชลประทานจึงทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการกับ มก.เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550 เพื่อร่วมการศึกษาวิเคราะห์ศักยภาพการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์ ใช้เวลา 8 เดือน

          เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา "รศ.วุฒิชัย กปิลกาญจน์" อธิการบดี มก.ได้นำทีมนักวิจัยซึ่งอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณะสื่อมวลชน ไปดูความสำเร็จในการออกแบบกังหันพลังน้ำต้นแบบ เพื่อใช้ในการผลิตไฟฟ้าพลังน้ำตามแนวพระราชดำริ ที่ประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์

          "รศ.ชัยวัฒน์ ขยันการนาวี" อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ หัวหน้าทีมวิจัย ได้อธิบายให้ฟังว่า การนำพลังน้ำที่ระบายผ่านคลองมาใช้ประโยชน์ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้นำมาสู่การออกแบบกังหันพลังน้ำต้นแบบที่สอดคล้องกับการบริหารจัดการประตูคลองลัดโพธิ์ ใช้หลักการพลังงานจล จากความเร็วของกระแสน้ำไหลมาปั่นกังหัน ซึ่งใช้หลักการเดียวกับกังหันลม และหลักการชลศาสตร์ จนออกแบบเป็นกังหันหมุนตามแนวแกน และกังหันแบบหมุนขวางการไหล

          ซึ่งชุด "กังหันพลังน้ำต้นแบบ" ทั้ง 2 จะประกอบและติดตั้งกับโครงเหล็กที่ปรับ "ขึ้น-ลง" ได้ที่ตอม่อท้ายประตูคลองลัดโพธิ์

          "กังหันพลังน้ำเป็นต้นกำลังที่เชื่อมต่อเกียร์ทดรอบไปหมุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบแม่เหล็กถาวรที่บรรจุอยู่ภายในกล่องที่จมน้ำได้ เมื่อเดินชุดกังหันจะได้พลังงานไฟฟ้าเป็นแบบกระแสสลับ แล้วใช้ Rectifiec เปลี่ยนเป็นกระแสตรงแล้วเชื่อมเข้ากับอุปกรณ์แปลง และควบคุมกระแสไฟฟ้า เพื่อปรับแรงดัน และความถี่เชื่อมต่อกับระบบไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง"

          จากการทดลองผลิตกระแสไฟฟ้า ได้กำลังไฟฟ้าสูงสุด 5.74 กิโลวัตต์ เฉลี่ยแล้วใช้งบประมาณกิโลวัตต์ละ 2 แสนบาท เพราะมีอุปกรณ์บางส่วนที่นำเข้าจากต่างประเทศ แต่โครงการที่ 2 ที่ กรมชลประทาน และ มก.นำไปประยุกต์ใช้ คือประตูระบายน้ำบรมธาตุ จ.ชัยนาท โดยจะติดตั้งกังหันผลิตไฟฟ้าพลังน้ำทั้งหมด 4 ชุด โดยใช้วัสดุภายในประเทศทั้งหมด ได้กำลังผลิตรวมกันไม่น้อยกว่า 80 กิโลวัตต์ ลดต้นทุนเหลือกิโลวัตต์ละ 1 แสนบาท

          "เราตั้งเป้าไว้ว่าจะผลิตให้เหลือต้นทุนละ 6 หมื่นต่อกิโลวัตต์ แล้วเอาไปติดตั้งประตูระบายน้ำของกรมชลประทานที่มีอยู่ 361 ประตู ถือเป็นหนึ่งเดียวในโลกที่ไม่มีที่ไหนทำมาก่อน" รศ.ชัยวัฒน์บอก

          รศ.วุฒิชัยขมวดปมตบท้ายว่า...

          "พวกเราภูมิใจมากที่นำพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปฏิบัติได้สำเร็จเป็นจริง และได้พลังงานทดแทนที่ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ แถมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม"

images  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อน ๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก






เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดไอเดียหนึ่งเดียวในโลก ต้นแบบไฟฟ้าพลังน้ำ อัปเดตล่าสุด 12 พฤศจิกายน 2552 เวลา 10:57:10 12,698 อ่าน
TOP