x close

ฉลองพระชนมายุ 84 พรรษา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี



 

เรียบเรียงโดย ดร.ชัชพล ไชยพร


เนื่องในมงคลสมัยฉลองพระชนมายุ 84 พรรษา

สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

24 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2552

ขอเชิญพสกนิกรทุกหมู่เหล่า

ประกอบกุศลพิธีตามหลักของแต่ละศาสนา

และบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในชุมชนของท่าน

เพื่อถวายเป็นพระกุศล และฉลองพระกรุณาธิคุณ

ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป


"พระเสด็จจากฟ้าสุราลัย  มาเพื่อให้ฝูงชนกมลปรีดิ์"

พระประวัติ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี


"พระเอยพระหน่อนาถ  งามพิลาศดังดวงมณีใส
พระเสด็จจากฟ้าสุราลัย มาเพื่อให้ฝูงชนกมลปรีดิ์
ดอกเอยดอกจัมปา  หอมชื่นจิตติดนาสา
ยิ่งดมยิ่งพาให้ดมเอยฯ

หอมพระเดชทรงยศโอรสราช แผ่เผยผงาดในแดนไกล
พึ่งเดชพระหน่อไท   เปนสุขสมใจไม่วางวายฯ
รูปลม้ายคล้ายพระบิตุราช  ผิวผุดผาดเพียงชนนีศรี
ขอพระจงทรงคุณวิบุลย์ทวี  เพื่อเป็นที่ร่มเกล้าข้าเฝ้าเทอญฯ
ดอกเอยดอกพุทธิชาต  หอมเย็นใจใสสอาด
หอมบ่มิขาดสุคนธ์เอยฯ

หอมพระคุณการุญเปนประถม เย็นเกล้าเหมือนร่มโพธิ์ทอง
เหล่าข้าทูลลออง ภักดีสนองพระคุณไทฯ"




          เมื่อต้นฤดูหนาวของพุทธศักราช 2468 ในเวลานั้น ความชุ่มชื่นและอบอุ่นหัวใจของอาณาราษฎรไทยทั้งปวงบังเกิดขึ้นสมกับที่เฝ้ารอมาเนิ่นนาน นั่นคือข่าวว่า เจ้าจอมสุวัทนาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจะมีพระประสูติการพระหน่อพระองค์แรกแห่งรัชสมัยเป็นแน่แท้ในกาลอนาคต อย่างไรก็ดี ความโสมนัสยินดีในประชาก็คงไม่เทียบเท่าพระราชหฤทัยปีติบันเทิงในพระประมุขของชาติ ผู้จักได้เป็นสมเด็จพระบรมชนกนาถของสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์น้อยในอีกไม่ช้า ดังจะประจักษ์ได้จากบทกล่อมพระราชกุมารสำหรับพระราชพิธีสมโภชเดือนของพระหน่อที่ทรงพระราชนิพนธ์ล่วงหน้าไว้กับทั้งมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯสถาปนาเจ้าจอมสุวัทนา (นามเดิม เครือแก้ว อภัยวงศ์) ขึ้นดำรงพระอิสริยยศเป็น "พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี" เพื่อผดุงพระราชอิสริยยศแห่งราชกุมารที่จะมีพระประสูติการในเบื้องหน้า

 ผดุงพระอิสริยยศพระราชกุมาร

          เหตุที่ทรงพระราชดำริสถาปนาเจ้าจอมสุวัทนา ขึ้นเป็นพระนางเจ้าฯ พระวรราชเทวีนั้นก็เนื่องมาจากธรรมเนียมราชตระกูลในกรุงสยามมีแบบแผนว่า หากเป็นพระหน่อของสมเด็จพระมหากษัตริย์ที่ประสูติแต่พระชนนีสามัญชนแล้ว พระหน่อทรงเป็นเพียง "พระองค์เจ้า" แต่ถ้าพระชนนีเป็นเจ้า พระหน่อจักทรงดำรงพระราชอิสริยยศ "สมเด็จเจ้าฟ้า" ในกรณีนี้ย่อมแสดงถึงพระราชประสงค์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโดยชัดแจ้งว่าทรงตั้งพระราชหฤทัยให้พระหน่อที่จะมีพระประสูติการในเวลาอันใกล้ ดำรงพระอิสริยยศสมเด็จเจ้าฟ้าตามโบราณราชประเพณี

          แต่แล้ว เมื่อใกล้พระประสูติการในเดือนพฤศจิกายน 2468 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพระประชวรหนักด้วยโรคพระอันตะ ในยามนั้นพระองค์ประทับ ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในพระบรมมหาราชวัง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ประทับ ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ใกล้กับพระที่นั่งจักรพรรดิพิมานเพื่อทรงรอฟังข่าวพระประสูติการอย่างใกล้ชิด

 พระประสูติการ

          ครั้นเวลา 12.52 น. ของวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน 2468 พระนางเจ้าสุวัทนาพระวรราชเทวี มีพระประสูติการ "พระราชธิดา" ขณะนั้น ชาวประโคม ประโคมสังข์ แตร ปี่พาทย์ ตามราชประเพณี ต่อมาในเวลาบ่าย เจ้าพระยารามราฆพ (หม่อมหลวงเฟื้อ พึ่งบุญ) ได้เข้าเฝ้าฯ กราบบังคมทูลพระกรุณาว่าพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ประสูติ "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ" เมื่อความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว มีพระราชดำรัสว่า "ก็ดีเหมือนกัน"

           รุ่งขึ้นวันพุธที่ 25 พฤศจิกายน เวลากลางวัน เจ้าพระยารามราฆพ เชิญเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์น้อยไปเฝ้าฯ สมเด็จพระบรมชนกนาถผู้ทรงพระประชวรหนักบนพระแท่น เมื่อทอดพระเนตรแล้ว ทรงพยายามยกพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา แต่ก็ทรงอ่อนพระกำลังมากจนไม่สามารถจะทรงยกพระหัตถ์ได้ เจ้าพระยารามราฆพจึงเชิญพระหัตถ์ขึ้นสัมผัสพระราชธิดา เมื่อจะเชิญเสด็จพระราชกุมารีกลับก็ทรงโบกพระหัตถ์แสดงพระราชประสงค์จะทอดพระเนตรพระราชธิดาอีกครั้ง จึงเสด็จสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอมาเฝ้าฯ เป็นคำรบที่สอง และเป็นคำรบสุดท้ายแห่งพระชนมชีพ

           ณ คืนนั้น พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งจักรพรรดิพิมาน ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง

 พระราชพิธีสมโภช และพระนาม

           งานสมโภชเดือนสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงซึ่งได้เตรียมไว้เป็นงานใหญ่สมกับความชื่นชมยินดีก็ต้องย่อลงด้วยเป็นระยะแห่งงานพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

          การพระราชทานพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอในรัชกาลที่ 6 นั้นได้มีการคิดพระเพื่อประกอบพระราชดำริไว้ ๓ พระนาม ดังนี้

           • สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชอรสา สิริโสภาพัณณวดี

           • สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนจุฬิน สิริโสภิณพัณณวดี 

           • สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

            ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเลือกพระนามสุดท้ายพระราชทานและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกคำนำพระนามว่า "สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ" ซึ่งแปลว่าหญิงที่สืบเนื่องมาจากพี่ชายตามพระฐานันดรศักดิ์แห่งพระบรมวงศ์

 เมื่อทรงพระเยาว์

           หลังจากประสูติแล้วไม่นาน สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ได้ทรงย้ายไปประทับ ณ ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ในพระบรมมหาราชวัง เมื่อทรงเจริญพระวัยขึ้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเป็นห่วงว่าสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ จะไม่มีสถานที่ทรงวิ่งเล่นเพราะในพระบรมมหาราชวังมีบริเวณคับแคบ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายออกมาประทับ ณ พระตำหนักสวนหงษ์ พระราชวังดุสิต ซึ่งเป็นที่กว้างขวางร่มรื่น แวดล้อมด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ เหมาะแก่การสำราญพระอิริยาบถของสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ

           ระหว่างที่สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ ยังทรงพระเยาว์ ทรงได้รับพระมหากรุณาจากสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสามาตุจฉาเจ้าเป็นอเนกปริยาย พระนางเจ้าสุวัทนาฯทรงเล่าประทานข้าราชบริพารว่า "ถ้าไม่ได้ท่าน เจ้าฟ้าก็ไม่เป็นพระองค์" ด้วยเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระประชวรหนักนั้น ได้มีพระราชดำรัสกับสมเด็จพระมาตุจฉาเจ้าว่า "ขอฝากลูกด้วย" ต่อมา สมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้ายังได้มีพระราชกระแสถึงเรื่องนี้ไว้ว่า "เจ้าฟ้านี่ ฉันตายก็นอนตาไม่หลับ พระมงกุฎฝากฝังเอาไว้" 

           ด้วยเหตุนี้ จึงทรงเอาพระราชหฤทัยใส่ในพระอนามัยและการอภิบาลสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ เป็นที่ยิ่ง เช่น เมื่อใดวังสระปทุมมีการฉายภาพยนตร์ก็โปรดให้ไปรับเสด็จมาทอดพระเนตร ประชวรก็ทรงรับมาทรงดูแลเองที่วังสระปทุม เป็นต้น

 สวนรื่นฤดี

           หลังจากความวุ่นวายทางการเมืองเมื่อเกิดเหตุการณ์กบฏบวรเดช และการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้ผันผ่านไป พระนางเจ้าสุวัทนาฯ จึงทรงพระกรุณาโปรดให้สร้างตำหนักที่ประทับสำหรับสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ ขึ้น บนที่ดินริมถนนราชสีมาตัดกับถนนสุโขทัย แล้วเสร็จในพุทธศักราช 2477 พร้อมกับประทานนามตำหนักแห่งนี้ว่า "สวนรื่นฤดี" ณ สวนรื่นฤดีแห่งนี้ สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอฯ ได้ทรงพระอักษรตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการ โดยพระอาจารย์พิเศษจากโรงเรียนราชินีต่อมาได้เสด็จไปทรงพระอักษร ณ โรงเรียนราชินี จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๓ แล้วทรงลาออกมาทรงพระอักษรกับมิสซิสเดวีส์ อดีตครูโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย และนางสาวศรีนาถ สุทธะสินธุ (ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ) ตลอดทั้งยังทรงเรียนเปียโนกับมิสเซดี้อีกด้วย

 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ

           ในเดือนมีนาคม ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร ได้เสด็จผ่านพิภพขึ้นสืบสนองพระองค์ คณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในพระปรมาภิไธยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้มีประกาศเปลี่ยนคำนำพระนามสมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ผู้เป็นพระขนิษฐภคินีในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็น "สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ" อันมีความหมายว่าน้องหญิงตามพระฐานันดร

 รักษาพระอนามัย

           เมื่อประทับ ณ สวนรื่นฤดีได้ระยะหนึ่ง พระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงสังเกตได้ว่าพระอนามัยของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ มีลักษณะพิเศษ เช่นทรงมีความสามารถด้านการคำนวณ การจดจำทิศทาง และความสนใจจดจ่อต่อสิ่งต่างๆ รอบตัวที่ผิดแผกจากเด็กสามัญทั่วไป จึงมีพระดำริจะทรงพาสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ไปทรงศึกษาต่อและประทับรักษาพระองค์ยังต่างประเทศ

           ในเบื้องแรก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัต ทรงนำเสด็จทั้ง 2 พระองค์ไปประพาสอินโดนีเซียเป็นปฐม ให้ได้ทรงคุ้นเคยกับสภาพแวดล้อมของต่างประเทศ ทั้งยังได้ทรงเยี่ยมเจ้านายหลายพระองค์ที่เสด็จไปประทับในประเทศนั้นหลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครอง อาทิ สมเด็จเจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต สมเด็จเจ้าฟ้านิภานภดล กรมขุนอู่ทองเขตขัตติยนารี เป็นต้น ในการเสด็จประพาสอินโดนีเซียครั้งนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศิริรัตนบุษบง พระธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ทรงบันทึกไว้ว่า "สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา เคยได้เฝ้าพ่อบ้างแล้วที่กรุงเทพฯ ครั้งนี้สนิทสนมมาก ทรงเกาะพระพาหาพ่ออยู่เรื่อย ดูเหมือนจะทรงรู้สึกว่าขาดพ่อ ฝ่ายพ่อก็ทรงสงสารและรับสั่งว่าสงสารพ่อที่ไม่ทันเห็นลูกโต"

 นิราศประเทศไทย

           เมื่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงเจริญพระชนมายุได้ ๑๒ พรรษา พระนางเจ้าสุวัทนาฯ มีพระดำริว่าสมควรจะนำเสด็จไปทรงศึกษาต่อ ณ ประเทศอังกฤษทั้งจะได้ประทับรักษาพระอนามัยด้วย ในวันที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯจะเสด็จไปนั้น สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ได้มีพระมหากรุณาเสด็จฯ ไปทรงส่งเสด็จที่สวนรื่นฤดี ทรงประคองพระราชนัดดาขึ้นรถพระที่นั่งแล้วรับสั่งว่า "ไปรักษาพระองค์แล้วเสด็จกลับมาหาย่า"

           ณ ประเทศอังกฤษสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระชนนี ประทับ ณ ตำหนักแฟร์ฮิลล์ เมืองแคมเบอร์เลย์ มณฑลเซอร์เรย์ ซึ่งมีขนาดใหญ่เพียบพร้อมสมพระเกียรติ บรรดาผู้ปฏิบัติงานในตำหนักก็ล้วนแต่เป็นสตรีทั้งสิ้น ด้วยพระนางเจ้าสุวัทนาฯ ทรงตั้งพระทัยมั่นที่จะทรงรักษาพระเกียรติศักดิ์แห่งราชนารีของพระราชธิดาและพระองค์เองไว้โดยบริบูรณ์ แม้จะประทับในต่างประเทศก็ตาม นอกจากนี้ยังทรงพาสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ไปเฝ้าฯพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ซึ่งประทับ ณ พระตำหนักเวอร์จิเนีย วอเตอร์ หลังจากทรงสละราชสมบัติและเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ ประเทศอังกฤษแล้วนั้น อยู่เนืองๆ

 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2

           เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 อุบัติขึ้น ประเทศอังกฤษตกอยู่ในภาวะสงครามและถูกโจมตีอย่างรุนแรง ระหว่างนี้ทั้งสองพระองค์ก็ทรงได้รับผลกระทบเป็นอย่างยิ่งโดยเฉพาะปัญหาด้านการเงิน ต้องทรงรับปันส่วนอาหารเช่นเดียวกับพลเมืองทั่วไป และต้องเสด็จลี้ภัยไปประทับในแคว้นเวลส์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ต้องเสด็จเข้าทรงศึกษาในโรงเรียนเซเครดฮาร์ต ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำสำหรับสตรี อย่างไรก็ตาม แม้ในความยากลำบากเช่นนั้น ทั้งสองพระองค์ก็ยังทรงมีน้ำพระทัย กรุณาต่อผู้ประสบภัยสงครามโดยเสด็จไปทรงช่วยเหลือกิจการสภากาชาดอังกฤษ โดยทรงถักเครื่องกันหนาว และทรงม้วนผ้าพันแผลพระราชทานแก่ผู้ปฏิบัติงานในแนวรบ

 พระอัจฉริยภาพ
 
           ครั้นสงครามใกล้จะยุติ ได้ทรงย้ายไปประทับ ณ ตำหนักเลขที่ 26 ถนนหลุยเครสเซนต์ เมืองไบรตัน มณฑลซัสเซค ระหว่างนี้ ได้ทรงศึกษาไวยากรณ์และวรรณคดีภาษาอังกฤษ และทรงเรียนเปียโน พระอัจฉริยภาพในการทรงเปียโนนี้เป็นที่กล่าวขวัญกันมาก ด้วยทรงจดจำโน้ตเพลงได้แม่นยำแม้เคยทอดพระเนตรเพียงครั้งเดียวก็ทรงจดจำได้ทั้งสิ้น ยิ่งไปกว่านั้น ยังทรงสามารถบรรเลงเพลงที่ไม่เคยทอดพระเนตรโน้ตมาก่อน เพียงแต่ทรงเคยฟังและทรงจำทำนองได้เท่านั้นก็ทรงเปียโนได้ทันที พระปรีชาสามารถด้านนี้ยังปรากฏให้ข้าราชบริพาร ได้ชื่นชมอยู่เสมอแม้เสด็จประทับในประเทศไทยแล้ว

           นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังมีพระอัจฉริยภาพในการคำนวณปฏิทินร้อยปีได้อย่างแม่นยำ มักมีรับสั่งถามวันเดือนปีเกิดของผู้มาเฝ้าเสมอ เมื่อกราบทูลสนองรับสั่งแล้ว จะทรงคำนวณในพระทัยได้ทันทีว่าบุคคลนั้นเกิดวันอะไร ทั้งยังทรงมีความทรงจำแม่นยำอย่างยิ่ง ทรงจำวันเดือนปีเกิด ตลอดกระทั่งแม้วันที่มาเฝ้าของบุคคลต่าง ๆ ได้เป็นจำนวนมาก

 พระกรุณาธิคุณต่อชาวไทยในอังกฤษ 

           ณ ตำหนักที่เมืองไบรตัน บรรดาข้าราชการและนักเรียนไทยในอังกฤษทั้งปวงต่างกล่าวขานกันถึงความอบอุ่น ความสนุกสนาน และความชื่นชมในพระการุณยธรรมอันงามของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระชนนี ผู้พระราชทานและประทานความเป็นกันเองแก่ผู้ไกลบ้านเหล่านั้นให้ได้รู้สึกอบอุ่น ทั้งสองพระองค์จะทรงพระกรุณาโปรดพระราชทานเลี้ยงและพระราชทานพระวโรกาสให้คนไทยในอังกฤษได้เฝ้าอยู่เสมอทั้งสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ก็ยังทรงเอาพระทัยใส่ในกิจการของสามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ อันเป็นสมาคมนักเรียนไทยในอังกฤษที่สมเด็จพระบรมชนกนาถได้พระราชทานกำเนิดไว้เป็นพิเศษ พระองค์จะเสด็จทรงร่วมกิจกรรมของสามัคคีสมาคมเป็นประจำ บางโอกาสยังทรงร่วมลีลาศ ในงานเลี้ยงของสมาคมอีกด้วย พระจริยวัตรขอทั้งสองพระองค์ในอังกฤษนี้ยังประทับใจเป็นที่กล่าวขานในหมู่ผู้ได้รับพระกรุณาอยู่มิรู้ลืม

           ก่อนเสด็จนิวัตประเทศไทยไม่นาน ทั้งสองพระองค์ได้เสด็จย้ายไปประทับ ณ ตำหนักบนบนถนนไดก์โรด ทรงวางพระองค์อย่างเรียบง่ายดุจเดียวกับสามัญชนชาวอังกฤษทั่วไปเหมือนเช่นเคย แต่ไม่ทรงละเลยเรื่องการศึกษา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังทรงพระอักษรภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และทรงเรียนเปียโนอย่างต่อเนื่อง

 นิวัตประเทศไทย-วังรื่นฤดี

           เมื่อพระอนามัยของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ดีขึ้น และสภาวการณ์ในประเทศไทยเป็นปกติสุขเรียบร้อย กอปรกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลปัจจุบันได้เสด็จฯ นิวัตประเทศไทยเป็นการถาวรแล้วระยะหนึ่ง  สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ จึงเสด็จกลับมาประทับในประเทศไทยเป็นการถาวร เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2502 แล้วทรงซื้อที่ดินในซอยสุขุมวิท 38 และทรงพระกรุณาโปรดให้สร้าง "วังรื่นฤดี" ขึ้นเป็นที่ประทับตราบกระทั่งปัจจุบัน

           นับแต่นั้นเป็นต้นมา พระภารกิจของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ก็เพิ่มพูนขึ้นโดยลำดับ ทรงอุทิศพระองค์เพื่อการสาธารณกุศลอันยังประโยชน์แก่พสกนิกรมิได้ว่างเว้น

 งานหลวงมิได้ขาด-งานราษฎร์มิได้เว้น

           ท่านผู้หญิงสุมาลี จาติกวณิช ได้บันทึกถึงเรื่องนี้ไว้ตอนหนึ่งความว่า "ด้วยพระหฤทัยเปี่ยมด้วยความเมตตากรุณา สมเด็จเจ้าฟ้าฯ และเสด็จพระนางเจ้าสุวัทนาฯ  ทรงรับเชิญเสด็จเพื่องานการกุศลต่าง ๆ ไม่ว่าน้อยใหญ่ตลอดทั้งปี เสด็จพระนางเจ้าสุวัทนาฯ เคยรับสั่งเล่าว่า เลขาธิการพระราชวังกราบทูลล้อพระองค์ท่านว่า เสด็จได้ทุกงานการกุศล ขอพระราชทานให้เว้นเพียงงานวัดเท่านั้นซึ่งในกาลต่อมาสภาวะสังคมเปลี่ยนแปลงทั้งสองพระองค์ก็ได้เสด็จงานที่จัดตามวัดต่างๆด้วย การเสด็จที่ต่าง ๆ นี้เป็นโอกาสให้ประชาชนหลายกลุ่ม หลายวัย หลายอาชีพ ได้เฝ้ามากยิ่ง ๆขึ้น ทำให้เกิดความประทับใจและซาบซึ้งในพระเมตตาบารมีกันทั่วหน้า" 

           พระกรณียกิจสำคัญที่ทรงมุ่งมั่นปฏิบัติด้วยพระวิริยภาพมาโดยตลอดที่สำคัญคือ การปฏิบัติพระราชกรณียกิจแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถในโอกาสต่างๆ มีพระราชพิธีสังเวยพระป้าย พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศลในวาระคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช พิธีพระราชทานประกาศนียบัตรและรางวัลแก่นักเรียนวชิราวุธวิทยาลัย เป็นอาทิ 

           พระกรณียกิจสำคัญอีกประการคือการสืบสานกิจการที่สมเด็จพระบรมชนกนาถพระราชทานกำเนิดหรือทรงเกี่ยวเนื่อง เช่น ทรงอุปการะกิจการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยศิลปากร วชิราวุธวิทยาลัย โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย โรงเรียนปรินส์รอแยลส์วิทยาลัย วชิรพยาบาล โครงการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ มูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน มูลนิธิอนุรักษ์พระราชวังพญาไท เป็นต้น ทั้งยังทรงก่อตั้งหอวชิราวุธานุสรณ์และมูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อเผยแผ่พระเกียรติคุณของสมเด็จพระบรมชนกนาถอีกโสดหนึ่ง แม้ในส่วนของสมเด็จพระอัยยิกาก็มิได้ทรงทอดพระธุระ ทรงอุปการะสถาบันที่สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงก่อตั้งไว้อย่างสม่ำเสมอ มีโรงเรียนราชินี โรงเรียนวิเชียรมาตุ สภากาชาดไทย เป็นตัวอย่างสำคัญ 

           พระกรณียกิจในสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ นั้น เกินกว่าจะประมวลมากล่าวในที่นี้ได้ครบถ้วน เพียงพินิจจากจำนวนองค์กรในพระอุปถัมภ์ที่มีมากมายกว่า 30 องค์กร ก็คงเป็นที่ตระหนักแน่แก่ใจราษฎรแล้วว่าแม้พระอนามัยจะไม่สู้สมบูรณ์ แต่พระหฤทัยที่ทรงมุ่งมั่นบำเพ็ญพระกิจจานุกิจเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนโดยไม่ทรงคำนึงถึงความลำบากพระวรกาย กลับยิ่งทบทวีมิลดน้อยถอยลงดังพระดำรัสที่พระราชทานในงานฉลองพระชนมายุ 61 พรรษา ณ วชิราวุธวิทยาลัยความตอนหนึ่งว่า

           "ฉันขอกล่าวต่อท่านทั้งปวงว่า จะพยายามบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมืองด้วยความจงรักภักดีต่อบ้านเกิดและต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวผู้ทรงเป็นพระประมุขของชาติทั้งจะได้รักษาเกียรติศักดิ์แห่งความเป็นราชนารีในมหาจักรีบรมราชวงศ์ไว้ ชั่วชีวิต"

 องค์กรในพระอุปถัมภ์

            สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังทรงรับเป็นนายกกิตติมศักดิ์ ประธานกรรมการ และองค์อุปถัมภิกา ของสถาบันหรือองค์กรเพื่อการสาธารณกุศลต่าง ๆ ดังนี้

1. ทรงเป็นนายกกิตติมศักดิ์

         1.1  มูลนิธิเพชรรัตน – สุวัทนา

2.  ทรงเป็นประธานกรรมการ

         2.1 คณะกรรมการอำนวยการบูรณะพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม

         2.2  มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์

3.  ทรงเป็นผู้บังคับการพิเศษ

         3.1 กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 15

         3.2 กองพันทหารราบที่ 3 กรมทหารราบที่ 1 รักษาพระองค์

4. ทรงเป็นนายทหารพิเศษ

         4.1 กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์

         4.2 กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์

         4.3 กรมนักเรียนนายเรือ รักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรือ 

         4.4 กรมนักเรียนนายเรืออากาศ รักษาพระองค์ โรงเรียนนายเรืออากาศ 

         4.5 กรมราชองครักษ์ (ตำแหน่งราชองครักษ์พิเศษ)

5  ทรงรับไว้ในพระอุปถัมภ์

         5.1  คณะลูกเสือแห่งชาติ

         5.2  ค่ายลูกเสือเพชรรัชต์

         5.3  ชมรมคนรักวัง

         5.4 มูลนิธิดุลยภาพบำบัดเพื่ออายุและสุขภาพ

         5.5  มูลนิธิพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน

         5.6  มูลนิธิวชิรพยาบาล

         5.7  มูลนิธิศรีรัตนโกสินทร์

         5.8  มูลนิธิหม่อมเจ้าหญิงพิจิตรจิราภา เทวกุล

         5.9 มูลนิธอนุรักษ์พระราชวังพญาไท

         5.10  โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จังหวัดปราจีนบุรี

         5.11  โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์ เพชราวุธวิทยา

         5.12  โรงเรียนเทศบาลปลูกปัญญา จังหวัดภูเก็ต

         5.13   โรงเรียนมหาวชิราวุธ จังหวัดสงขลา

         5.14  โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ 

         5.15  โรงเรียนปรินส์รอแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่

         5.16  โรงเรียนพณิชยการสยาม

         5.17  โรงเรียนเพชรรัชต์

         5.18  โรงเรียนศรีอยุธยา

         5.19  โรงเรียนสายน้ำผึ้ง

         5.20  โรงเรียนสยามธุรกิจพณิชยการ

         5.21 วัดพุทธปทีป กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร

         5.22 สถาบันสันติราษฎร์บริหารธุรกิจ

         5.23 สมาคมนักเรียนเก่าอังกฤษแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

         5.24 สมาคมมิตรภาพกีฬาแข่งนก

         5.25 สมาคมศิษย์เก่าพณิชยการสันติราษฎร์

         5.26 สมาคมสตรีอาสาสาสมัครรักษาดินแดน กรุงเทพมหานคร

         5.27 สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดนแห่งประเทศไทย

         5.28 สมาคมสตรีอาสาสมัครแห่งประเทศไทย

         5.29 สหพันธ์สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดนแห่งประเทศไทย

         5.30  สโมสรลูกเสือกรุงเทพ

         5.31  สมาคมสโมสรลูกเสือวิสามัญแห่งประเทศไทย

         5.32 สามัคคีสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์

         5.33  สโมสรเนตรนารีเพชราวุธ

         5.34 สำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทย   
    
6. ทุนที่ทรงก่อตั้งและทุนในพระนาม

         6.1 ทุนจุฬาเพชรรัตน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

         6.2 ทุนเพชรรัตน มหาวิทยาลัยศิลปากร

         6.3 ทุนเพชรรัตน สำนักงานบรรเทาทุกข์ สภากาชาดไทย

         6.4 ทุนเพชรรัตนการุญ ศิริราชมูลนิธิ

         6.5 ทุนเพชรรัตนการุณ กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 15

         6.6 ทุนเพชรรัตนอุปถัมภ์ โรงเรียนสายน้ำผึ้ง

         6.7 ทุนสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์

         6.8 ทุนสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ สำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทย

         6.9 ทุนสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ นิธิวัดราชบพิธ

         6.10 ทุนสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ

         6.11 ทุนสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โสสะมูลนิธิแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์

         6.12  ทุนสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ

 สำหรับพระราชทานแก่นักเรียนและนักศึกษาใน :

        • โรงเรียนราชินี 

        • โรงเรียนราชินีบน

        • วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา

        • โรงเรียนราชินีบูรณะ จังหวัดนครปฐม

        • โรงเรียนวิเชียรมาตุ จังหวัดตรัง

        • โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง

        • โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

        • โรงเรียนศรียานุสรณ์ จังหวัดจันทบุรี

        • คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

        • วิทยาลัยพยาบาล สภากาชาดไทย

 พระจริยวัตร

            ส่วนพระจริยวัตรของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ นั้นเล่า ก็เป็นที่ประจักษ์แก่ผู้ได้มีโอกาสเฝ้าและได้รับพระกรุณาในทุกสถานว่าทรงเป็นเจ้านายราชนารีผู้มีพระหฤทัยงามพิสุทธิ์ดังที่ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล ณ อยุธยา บันทึกไว้ความว่า 

            "สมเด็จเจ้าฟ้าฯทรงเป็นผู้บริสุทธิ์สะอาด ทั้งพระกาย พระหฤทัย และพระวาจา ไม่มีใครเคยได้ยินพระวาจาอันก้าวร้าวหยาบคายออกจากพระโอษฐ์ของพระองค์เลยสักครั้งเดียว ถ้าเมื่อใดทรงพระพิโรธมาก และมีพระประสงค์จะทรงบริภาษผู้ใด ก็จะสั่งได้แต่เพียงคำว่าซีดเท่านั้นเอง เพราะพระองค์ได้รับการถวายพระอภิบาลมาอย่างเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าฯแท้ๆ ทำให้ไม่ทรงรู้จักคำที่ไม่สุภาพทุกประเภท กล่าวโดยย่อก็คือ พระองค์ทรงปฏิบัติตามหลักธรรมะประจำตัวของผู้เป็นใหญ่โดยมิได้ทรงเสแสร้งหรืออาจกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่า โดยมิได้ทรงรู้สึกพระองค์เลยว่าพระจริยวัตรที่ทรงปฏิบัตอยู่นั้นคือทรงปฏิบัติตามหลักแห่งทศพิธราชธรรมนั่นเอง"

            หนึ่งในพระจริยวัตรอันควรแก่การสรรเสริญอีกประการหนึ่งก็คือ ทรงตรงต่อเวลาและทรงตระหนักในคุณค่าของเวลาเป็นอย่างยิ่ง ไม่ทรงปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยเปล่าดาย ยามทรงว่างเว้นจากพระภารกิจจะทรงถักนิตติ้งเป็นผ้าผันคอพระราชทานทหาร ตำรวจผู้ปฏิบัติราชการชายแดน ตลอดจนทรงถักเสื้อกันหนาวพระราชทานข้าราชบริพารมิได้เว้น ฉะนั้นเครื่องเย็บปักถักร้อยจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะต้องเชิญไปด้วยในทุกที่ที่พระองค์ประทับอยู่ไม่ว่าจะในกรุงเทพมหานคร ต่างจังหวัด หรือแม้กระทั่งบนเรือพระที่นั่งในยามเสด็จประพาสโดยชลมารค ส่วนพระกิจวัตรประจำวันนั้น ก็ทรงปฏิบัติเป็นเวลา

            ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ท่านผู้หญิงศรีนาถ สุริยะ อดีตพระอาจารย์ได้บันทึกพระกิจวัตรประจำวันขณะพระอนามัยยังอำนวยไว้ ดังนี้

06.00 น. หรือก่อนเล็กน้อย บรรทมตื่น เปิดวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยเทียบนาฬิกาข้อพระกร และ ทุก ๆเรือน ทรงออกพระกำลังโดยแกว่งพระกร 200 ครั้ง เสร็จแล้วจะทรงสรงน้ำ แต่งพระองค์หรือทำธุระการงานด้วยพระองค์เอง ไม่เรียกผู้ใดเข้ามารับใช้ เช่น เก็บพระภูษา ฉลองพระองค์ พับเรียบร้อย นับชิ้นใส่ถุงผ้าซัก เตรียมสำหรับข้าหลวงจะเข้ามาเก็บส่งซัก และเมื่อถึงเวลาบ่ายเชิญพระภูษาขึ้นมา จะทรงเก็บใส่ตู้เองและทรงตรวจตรานับจำนวน ถ้าขาดหายไปสัก 1 ชิ้นก็ทรงทราบ

08.00 น. เสด็จออกจากห้องบรรทมตรงไปที่ห้องพระ จุดธูปเทียนถวายเครื่องสังเวยพระกระยาหารเช้าแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีและท้าวหิรันยพนาสูร (เทวรูปประจำพระองค์พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)

 08.30 น. เสวยพระกระยาหารเช้า รายการพระกระยาหารทรงสั่งล่วงหน้า 7 วัน มีรายการต่างๆไม่ซ้ำกัน

 09.30 - 10.30 น. ทรงงานแต่ลำพังไม่ต้องมีข้าหลวงเฝ้า ทรงถักผ้าพันคอทหารหรือเย็บผ้า ฯลฯ ถ้ามีบุคคลภายนอกมาขอเฝ้า ก็จะได้เฝ้าในระหว่างนี้

10.30 น. เสวยพระสุธารส เช่น กาแฟเย็นและน้ำผลไม้

11.30 น. เสด็จเข้าห้องพระถวายเครื่องสังเวยพระกระยาหารกลางวันแด่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวีและท้าวหิรันยพนาสูร

12.00 น. เสวยพระกระยาหารกลางวันซึ่งทรงสั่งรายการล่วงหน้า 7 วัน มีลักษณะอาหารและคุณค่าแตกต่างกันไป ตั้งแต่ประมาณ 12.40 น. ถ้าไม่มีธุระกับผู้ใด ก็จะประทับเงียบ ๆ แต่พระองค์เดียว หรือบรรทมพักผ่อนตามพระอัธยาศัย ไม่มีผู้ใดรบกวน

16.00 น. เสวยพระสุธารส

16.30 น.ทรงพระดำเนินออกพระกำลังไปรอบๆตำหนัก 6 รอบหรือทรงพระดำเนินตามทางเรียบให้ได้ 1 ชั่วโมง เสร็จจากการออกพระกำลังจะทรงพักผ่อนระยะหนึ่ง แล้วเข้าไปจัดของเครื่องใช้และจัดพระภูษา จัดฉลองพระองค์ที่ซักรีดแล้วเข้าที่ เข้าตู้ด้วยพระองค์เอง ถ้าจะเสด็จหัวเมืองก็จะทรงจัดของเครื่องใช้ต่างๆโดยมีผู้คอบหยิบถวายเท่านั้น ในระหว่างนี้เมื่อเสด็จออกจาก ห้องบรรทมแล้ว จะทรงถักไหมพรม ทอดพระเนตรโทรทัศน์ไปจนเวลา 19.00 น.

19.00 น. เสวยพระกระยาหารค่ำ ทรงสั่งล่วงหน้าบางวัน ถ้าไม่ทรงสั่งล่วงหน้าก็แล้วแต่ทางห้องเครื่องจัดถวาย เสวยเสด็จแล้วบางทีทอดพระเนตรโทรทัศน์หรือทรงถักไหมพรมต่อ ทรงสนทนากับบุคคลภายในซึ่งเป็นข้าราชบริพารอยู่ที่ตำหนัก

20.40 - 20.45 น.  เสด็จเข้าห้องพระทรงบูชาพระด้วยดอกไม้ธูปเทียน สวดมนต์เสร็จแล้วถวายบังคมสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระอัฐิพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ด้วยดอกไม้ธูปเทียน หลังจากนี้แล้ว จะไม่ทรงรบกวนผู้ใดจะเสด็จเข้าห้องบรรทม ทรงงานส่วนพระองค์ เช่น จัดเครื่องทรง สรงน้ำ ฟังวิทยุ ฯลฯ จะไม่เสด็จออกอีกจนถึงเวลาบรรทมตื่นในวันรุ่งขึ้น

 พระนิยมในความเป็นไทย

          พระจริยวัตรที่เป็นแบบอย่างแก่ประชาชนอีกประการหนึ่งคือ ทรงนิยมและภาคภูมิพระทัยในความเป็นไทยอย่างยิ่ง แม้จะประทับในต่างประเทศเป็นเวลานาน ดังจะเห็นได้จากทรงโปรดฉลองพระองค์ผ้าไหมไทย รองพระบาท กระเป๋าทรงถือ เครื่องพระสำอางที่ผลิตในประเทศไทย ทั้งยังโปรดน้ำอบไทยเป็นอย่างมาก ทรงใช้นับแต่พระชนมายุ 10 พรรษาจนถึงปัจจุบัน

          เรื่องการใช้ภาษาไทย ทรงเคร่งครัดเป็นพิเศษโดยมีรับสั่งภาษาไทยถูกต้องชัดเจน จะมีรับสั่งภาษาอังกฤษหรือภาษาฝรั่งเศสกับชาวต่างประเทศเท่านั้น ไม่โปรดให้คนไทยกราบทูลภาษาไทยปนภาษาต่างประเทศ โปรดให้ใช้คำไทย เช่น ล็อคประตู ให้กราบทูลว่าลงกลอนประตู เน็ตคลุมผมให้กราบทูลว่าร่างแหคลุมผม เป็นต้น นอกจากนี้ยังทรงใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง เงินใช้จ่ายส่วนพระองค์จะทรงจดรายการไว้ชัดเจน ทรงประหยัดไฟฟ้า โดยเมื่อจะเสด็จเข้าห้องใด จะทรงเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าเอง ไม่โปรดให้เปิดถวายล่วงหน้า เมื่อเสด็จออกก็ทรงปิดเอง

 พระศรัทธาในพระบวรพุทธศาสนา

          สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงยึดมั่นในพระบวรพุทธศาสนา ทรงบำเพ็ญพระกุศลโดยประการต่างๆ อยู่เนืองนิตย์ เสด็จไปทรงบำเพ็ญพระกุศลถวายผ้าพระกฐินอย่างน้อยปีละ 3 วัด เป็นประจำทุกปี และทรงบูชาพระรัตนตรัยด้วยดอกไม้ธูปเทียนเป็นประจำทุกวันจนถึงปัจจุบันนี้ ทั้งยังทรงนำหลักธรรมของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาเป็นแนวพระจริยาในพระองค์มาโดยตลอด ทรงสนพระทัยศึกษาธรรมะเป็นอย่างยิ่ง เคยเสด็จไปทรงศึกษาธรรมะกับสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นระยะเวลากว่า 1 ปี ท่านผู้หญิงดุษฎีมาลา มาลากุล บันทึกไว้ว่า เคยมีรับสั่งพระราชทานพระโอวาทความว่า "โทสะนั้นเหมือนไฟ เช่นตะเกียงที่จุดไฟ ถ้ารุนแรงขึ้นเมื่อใด ก็ให้ระงับเสีย เหมือนเราดับตะเกียง คือค่อยๆ หรี่ตะเกียงลง แล้วโทสะก็จะดับหายไปเอง"

          สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงมีพระกตัญญุตาธรรมประจำพระหฤทัยอย่างมั่นคง จนทุกวันนี้ ก็ยังทรงถวายราชสักการะพระบรมอัฐิ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระอัฐิ พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ด้วยเครื่องสังเวยในเวลาเช้า และด้วยดอกไม้ธูปเทียนในเวลาค่ำ เป็นประจำไม่เคยขาด

 พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ต่อสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงยกย่องนับถือสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ในฐานะพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่มาโดยตลอด พร้อมทั้งพระราชทานพระมหากรุณาเป็นอเนกปริยายแก่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ อาทิ ได้พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้เฝ้าฯ ในพระราชพิธี รัฐพิธี และยังทรงพระมหากรุณาพระราชทานน้ำพระมหาสังข์ ของพระขวัญ และพระราชทานเลี้ยงพระกระยาหาร ในโอกาสสำคัญแห่งพระชนมายุ เช่น งานฉลองพระชนมายุ 5 รอบเมื่อปี 2528 และ 6 รอบเมื่อปี 2540 เป็นต้น 

          นอกจากนี้ ยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดแทบทุกตระกูล พร้อมด้วยพระยศทางทหาร ซึ่งในปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงดำรงพระยศที่ พลเอกหญิง นาวาเอกหญิง และนาวาอากาศเอกหญิง 

          ในการอภิบาลพระอนามัย ก็ทรงเอาพระราชธุระ จัดนางพยาบาลและราชองครักษ์มาอยู่เวรเฝ้า และโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีมาเฝ้า พร้อมเชิญของพระราชทานมาทูลเกล้าฯ ถวายเป็นประจำทุกสองสัปดาห์ ส่วนสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ก็พระราชทานพระมหากรุณาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดูแลพระอนามัย การปรับปรุงตำหนักที่ประทับ และการบำรุงให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงพระเกษมสำราญ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ข้าราชบริพารผู้ใหญ่จากกองราชเลขานุการในพระองค์ฯ มาเฝ้าติดตามด้านพระอนามัยและการอภิบาลดูแลอยู่มิได้ขาด

 การปฏิบัติพระกรณียกิจในปัจจุบัน

          แม้ปัจจุบัน สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ จะเสด็จออกทรงปฏิบัติพระกรณียกิจนอกสถานที่น้อยลง แต่ก็ยังทรงพระกรุณาโปรดให้องค์กรที่เกี่ยวเนื่องในรัชกาลที่ 6 องค์กรในพระอุปถัมภ์ และองค์กรสาธารณกุศลที่ทรงสนับสนุน เฝ้ากราบทูลรายงานการดำเนินงาน และรับพระราชทานเงินอุดหนุนกิจการ ณ วังรื่นฤดี สุขุมวิท 38 อยู่เสมอ เช่น เมื่อเร็วๆ นี้ ก็ทรงพระกรุณาโปรดให้จัดเงินส่วนพระองค์ พระราชทานแก่องค์กรสาธารณกุศลต่างๆ เพื่อทรงบำเพ็ญพระกุศลคล้ายวันประสูติเป็นประจำทุกปี ครั้นเกิดความเดือดร้อนแก่ราษฎรในท้องที่ใด ๆ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ก็ยังทรงห่วงใยพระราชทานเงินช่วยเหลือ เช่น เมื่อคราวเกิดธรณีพิบัติภัยสึนามิ ก็ทรงพระกรุณาพระราชทานเงินให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ จัดทำถุงยังชีพ พระราชทานแก่ราษฎรผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที เมื่อเกิดปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ก็พระราชทานกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานในเขตพื้นที่นั้น ๆ ทรงพระกรุณาโปรดให้เชิญพระเครื่องไปพระราชทานแก่ทหาร ตำรวจ และอาสาสมัครผู้ปฏิบัติราชการชายแดน ครั้นเจ้าหน้าที่ถูกผู้ไม่หวังดีประทุษร้ายถึงแก่ชีวิต ก็ทรงพระเมตตาพระราชทานพวงมาลาของส่วนพระองค์ไปวางเป็นเกียรติยศและเป็นกำลังใจแก่ทายาทของผู้เสียสละเสมอ 

          ส่วนการปฏิบัติพระกรณียกิจนอกสถานที่ ก็ทรงพระกรุณาโปรดให้พระราชวงศ์ทรงปฏิบัติแทนพระองค์มิได้ขาด เช่นในระยะนี้ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ได้เสด็จมาเฝ้า และทรงรับปฏิบัติพระกรณียกิจแทนพระองค์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ อยู่เนือง ๆ

          ด้วยพระวิสัยทัศน์ที่ยาวไกล สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี พระชนนี ได้ทรงก่อตั้ง "มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา" ไว้เพื่อเป็นกำลังหลักในการทรงบำเพ็ญพระกุศลเพื่อการสาธารณประโยชน์ โดยเฉพาะในยามที่พระอนามัยไม่เอื้ออำนวยให้เสด็จไปตามหัวเมืองไกล โดยสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงดำรงตำแหน่งนายกกิตติมศักดิ์ของมูลนิธิ 

          มูลนิธิเพชรรัตน-สุวัทนา ในปัจจุบัน จึงเริ่มทวีบทบาทในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุขของประชาชนตามพระปณิธาน ทั้งยังเริ่มดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมของชาติในสาขาต่างๆ อันเป็นความสนพระราชหฤทัยในรัชกาลที่ 6 และความสนพระทัยของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ และพระนางเจ้าสุวัทนาฯ นับได้ว่า การทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เพื่อประโยชน์สุขของอาณาประชาราษฎรนั้น ก็ยังคงดำเนินสืบเนื่องต่อไปอย่างแข็งขันและมั่นคง มิได้ลดน้อยไปจากสมัยที่ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังมีพระพลานามัยแข็งแรง

 พระเสด็จจากฟ้าสุราลัย  มาเพื่อให้ฝูงชนกมลปรีดิ์

          สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี  ทรงพิสูจน์ให้เป็นที่ประจักษ์แล้วว่า "เพชร" ไม่ว่าจะอยู่ ณ แห่งหนใด คุณค่าแห่งความเป็นเพชรก็คงเจิดจรัสล้ำเลิศมิมีลดน้อยถอยลง เฉกเช่นพระจริยวัตรและพระกรณียกิจในสมเด็จเจ้าฟ้าพระองค์นั้น นับตั้งแต่วันแรกแห่งพระชนมชีพกระทั่งทุกวันนี้ ยังคงงามพิสุทธิ์และยังคงยิ่งงามจำรัสในใจพสกนิกรทั้งหลายผู้อาศัยพระบารมีเป็นที่พึ่งตลอดระยะเวลา 84 ที่ผ่านมามิมีคลาย สมดังความตอนหนึ่งในบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรงเตรียมไว้สำหรับกล่อมบรรทมพระหน่อพระองค์นี้ความว่า "พระเสด็จจากฟ้าสุราลัย มาเพื่อให้ฝูงชนกมลปรีดิ์" ในทุกสถาน

          เนื่องในมงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมายุ 7 รอบ ในวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พุทธศักราช 2552 ขอประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ล้วนอยู่ร่มเย็นเป็นสุขด้วยพระบารมี จงร่วมใจกันเป็นสมานฉันท์ อัญเชิญคุณพระศรีรัตนตรัยและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสากลพิภพ โปรดอภิบาลให้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงเจริญพระชนมสุขสิริสวัสดิ์ สรรพพิบัติอุปัทวันตรายจงเสื่อมหายสูญสนิท เสด็จสถิตเป็นมิ่งขวัญของชาวไทย ตราบจิรัฏฐิติกาล




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
- สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฉลองพระชนมายุ 84 พรรษา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี อัปเดตล่าสุด 19 พฤศจิกายน 2552 เวลา 16:38:20 10,815 อ่าน
TOP