x close

2 คนไทยเจ๋ง! คว้ารางวัล สมเด็จเจ้าฟ้าฯ 52






2คนไทยเจ๋งคว้ารางวัลสมเด็จเจ้าฟ้าฯ52 (เดลินิวส์)

          "ศ.แอนด์-มีชัย-หมอวิวัฒน์" ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดลครั้งที่ 18 ปี 2552

          วันนี้ (3 ธ.ค.) ที่โรงพยาบาลศิริราช ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กุลทนันทน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ในฐานะรองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์  น.ส.วิมล  คิดชอบ  อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ฯ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ และ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานคณะกรรมการรางวัลนานาชาติ มูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้ร่วมกันแถลง ผลการตัดสินผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ครั้งที่ 18 ประจำปี 2552 โดยผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการแพทย์ ได้แก่ ศ.แอนน์ มิลส์  (Professor Anne Mills) สาขาการสาธารณสุข ได้แก่ นพ.วิวัฒน์  โรจนพิทยากร และนายมีชัย  วีระไวทยะ จาก 66 รายชื่อ 35 ประเทศ

          ศ.คลินิก นพ.ธีรวัฒน์ กล่าวอีกว่า รางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล เป็นรางวัลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้จัดตั้งขึ้น เพื่อถวายเป็นพระราชานุสรณ์แด่สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ในโอกาสจัดงานเฉลิมฉลอง 100 ปี แห่งการพระราชสมภพ 1 ม.ค.2535  ดำเนินงานโดยมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นองค์ประธานมอบรางวัลให้แก่บุคคลหรือองค์กรทั่วโลก ที่มีผลงานดีเด่นเป็นประโยชน์ต่อมวลมนุษยชาติ ทางด้านการแพทย์ 1 รางวัล  และการสาธารณสุข  1 รางวัล เป็นประจำทุกปีตลอดมา โดยแต่ละรางวัลจะได้รับเหรียญรางวัล  ประกาศนียบัตร และเงินรางวัลมูลค่า 50,000 เหรียญสหรัฐ

         ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ จะเสด็จฯ พระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2552 ในปลายเดือน ม.ค. พ.ศ.2553 ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยก่อนนั้น 1 วัน คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ในฐานะผู้ริเริ่มรางวัลอันทรงเกียรติจะเชิญผู้รับพระราชทานรางวัลฯ มาเยือนและแสดงปาฐกถาเกียรติยศ ในผลงานที่ได้รับด้วย

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับ ศ.แอนน์ มิลส์ เป็นผู้นำในการนำความรู้ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการคลังสุขภาพ ซึ่งเป็นความรู้ใหม่  มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาระบบสุขภาพของโลก  โดยอาศัยข้อค้นพบที่ว่า "การลงทุนด้านสุขภาพอย่างมีประสิทธิภาพจะส่งผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นธรรมในสังคม" ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวทั่วโลก  ในการลงทุนด้านสุขภาพและการใช้ทรัพยากรที่จำกัดอย่างคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์อย่างกว้างขวาง

          ด้าน นพ.วิวัฒน์  โรจนพิทยากร ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศมองโกเลีย อดีตผู้อำนวยการคนแรก ศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ กระทรวงสาธารณสุข ขณะรับราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมโรคติดต่อ เขต 4  จังหวัดราชบุรี เมื่อปี พ.ศ.2532 ได้ริเริ่มโครงการถุงยางอนามัย 100% (100% Condom Use Programme) ขึ้นในจังหวัดราชบุรี โดยการสร้างความเข้าใจถึงความจำเป็นของการป้องกันโรคเอดส์แก่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งฝ่ายปกครอง ฝ่ายสาธารณสุข ฝ่ายเพศพาณิชย์และหญิงบริการ  จนสามารถส่งเสริมการใช้ถุงยางอนามัยแบบผูกขาด ให้หญิงบริการทั้งจังหวัดปฏิเสธลูกค้าที่ไม่ใช้ถุงยางอนามัย (No Condom – No Sex)  ส่งผลให้การติดเชื้อเอดส์ในหญิงบริการลดลงอย่างมาก  และสามารถป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อเอดส์ในสังคมได้ 

          ส่วนนายมีชัย วีระไวทยะ เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมวางแผนครอบครัวแห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2517  ซึ่งต่อมาได้พัฒนาเป็น "สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน" (Population and Community Development Association  เรียกย่อ ๆ ว่า PDA) ให้ความรู้เรื่องการวางแผนครอบครัวแก่หญิงชนบท สนับสนุนการคุมกำเนิดขั้นพื้นฐานด้วยการใช้ถุงยางอนามัย  โดยรณรงค์สื่อสารที่เป็นเอกลักษณ์จนทำให้การใช้ถุงยางอนามัยไม่ใช่สิ่งลึกลับ น่าอับอาย หรือเป็นสิ่งต้องห้าม แต่สามารถกล่าวถึงและใช้งานเป็นของธรรมดาอย่างแพร่หลาย  จนกระทั่งชื่อ "มีชัย"  เป็นที่รู้กันว่าหมายถึงถุงยางอนามัย


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
2 คนไทยเจ๋ง! คว้ารางวัล สมเด็จเจ้าฟ้าฯ 52 อัปเดตล่าสุด 3 ธันวาคม 2552 เวลา 14:49:28 5,293 อ่าน
TOP