x close

กฟผ. จัดพิธีเปิดโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ เขื่อนสิรินธร ระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบถ่วงน้ำหนักแห่งแรกของประเทศไทย



          กฟผ. จัดพิธีเปิดโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 1 เมกะวัตต์   อย่างเป็นทางการ  ด้วยนวัตกรรมติดตามดวงอาทิตย์แบบถ่วงน้ำหนักด้วยน้ำแห่งแรกของประเทศไทย  สามารถเพิ่มค่าประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าได้ร้อยละ 15-20   ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ปีละ 1.46 ล้านหน่วย   ทดแทนการใช้น้ำมันเตาปีละ 348,000 ลิตร  ลดการปล่อย CO2 ลงปีละ  851 ตัน   และเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้พลังงานแสงอาทิตย์ของจังหวัดอุบลราชธานี  

          วันนี้ (30 พฤศจิกายน 2552)  นายแพทย์วรรณรัตน์  ชาญนุกูล  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีเปิดโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ เขื่อนสิรินธร  โดยมี นายชวน ศิรินันท์พร      ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี  ศ.ดร.ดิเรก ลาวัณย์ศิริ  ประธานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน  และนายสมบัติ  ศานติจารี  ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)  ร่วมในพิธี  ณ โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ เขื่อนสิรินธร  อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานีนายแพทย์วรรณรัตน์  ชาญนุกูล  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ เขื่อนสิรินธร ได้รับการอนุมัติก่อสร้างจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2550   เป็นโรงไฟฟ้าที่ตอบสนองนโยบายภาครัฐ เรื่องการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ประโยชน์ในการผลิตไฟฟ้า ทำให้มีกำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในระบบผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย  อีกทั้งช่วยอนุรักษ์พลังงาน และลดปัญหาภาวะโลกร้อน   โดยในอนาคตโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์  เขื่อนสิรินธรแห่งนี้ จะเป็นแหล่งท่องเที่ยว และแหล่งเรียนรู้ด้านพลังงานไฟฟ้าของจังหวัดอุบลราชธานีต่อไป 

          นายสมบัติ  ศานติจารี  ผู้ว่าการ กฟผ.  กล่าวว่า   โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ เขื่อนสิรินธร  เป็นหนึ่งในโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยพ.ศ.2547-2558 (PDP 2004) ความโดดเด่นของโรงไฟฟ้าอยู่ที่การออกแบบด้วยการนำระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบถ่วงน้ำหนัก โดยใช้น้ำเป็นตัวกลางในการถ่วงน้ำหนัก  ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ต้นทุนต่ำ  และช่วยเพิ่มค่าประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าแบบที่ติดตั้งคงที่ประมาณร้อยละ 15-20 โดยนวัตกรรมดังกล่าวเป็นการคิดค้นโดย  กฟผ.  (ทำการจดอนุสิทธิบัตรเมื่อปี พ.ศ. 2546)   และได้รับรางวัล ASEAN Energy Award  เมื่อปี ค.ศ. 2005    สำหรับระบบติดตามดวงอาทิตย์ดังกล่าว แผงโซลาร์เซลล์จะสามารถเคลื่อนที่ตามการโคจรของดวงอาทิตย์ตั้งแต่เช้าจรดเย็น   ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ 1.46 ล้านหน่วยต่อปี   ทดแทนการใช้น้ำมันเตา 348,000 ลิตรต่อปี   ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2)  ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนลงได้  851 ตันต่อปี  



          โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์  ก่อสร้างบนพื้นที่ขนาด  25 ไร่ในบริเวณเขื่อนสิรินธร        ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 222 ล้านบาท   ประกอบด้วยแผงโซล่าร์เซลล์กว่า 7,000 แผง  กำลังผลิตรวม 1,012 กิโลวัตต์  หรือ 1.012 เมกะวัตต์  ติดตั้งด้วยโซลาร์เซลล์ 2 ชนิด คือ ชนิดผลึกรวม ( Poly crystalline silicon solar cell )  มีขนาดกำลังผลิตแผงละ 200 วัตต์ ติดตั้งแบบคงที่ 1 ชุด (10 แผง)  รวมกำลังผลิต 2 กิโลวัตต์  และติดตั้งระบบติดตามดวงอาทิตย์ แบบถ่วงน้ำหนัก จำนวน 247 ชุด (4,446 แผง)  ชุดละ 3.6 กิโลวัตต์  รวมกำลังผลิตติดตั้ง 889.2 กิโลวัตต์    และ ชนิดไร้ผลึก (Amorphous solar cell)       มีขนาดกำลังผลิตแผงละ 40 วัตต์  ติดตั้งแบบคงที่ จำนวน 2  ชุด (50 แผง) กำลังผลิต 2 กิโลวัตต์  และ    ติดตั้งบนระบบติดตามดวงอาทิตย์ แบบถ่วงน้ำหนัก จำนวน 110 ชุด  (2,970 แผง)  ชุดละ 1.08 กิโลวัตต์  รวมกำลังผลิตติดตั้ง 118.8 กิโลวัตต์  

          ในอนาคต โรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์เขื่อนสิรินธร   จะเป็นแหล่งท่องเที่ยว  และแหล่งศึกษาเรียนรู้เพื่อวิจัยและพัฒนาประสิทธิภาพในการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์   เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับภาคการศึกษา และภาคการท่องเที่ยวของจังหวัดอุบลราชธานีต่อไป



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
กฟผ. จัดพิธีเปิดโรงไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ เขื่อนสิรินธร ระบบติดตามดวงอาทิตย์แบบถ่วงน้ำหนักแห่งแรกของประเทศไทย อัปเดตล่าสุด 8 ธันวาคม 2552 เวลา 15:51:43 3,102 อ่าน
TOP