x close

ปัญหาเมืองไทย แก้ที่ คน หรือ รัฐธรรมนูญ





ปัญหาเมืองไทย แก้ที่คนหรือรัฐธรรมนูญ (ไทยรัฐ)

          "…ข้าพเจ้ามีความ เต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไปแต่ ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด  คณะใดโดยเฉพาะ   เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร"

          พระราชดำรัสพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในวันที่ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับแรก แห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ.2475 เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 77 ปี ที่ประเทศไทย ผ่านการมีรัฐธรรมนูญมาแล้วถึง 18 ฉบับแต่เพราะเหตุใดการผ่านการมีรัฐธรรมนูญมาแล้วอย่างมากมาย จึงมิอาจทำให้ประเทศไทยก้าวพ้นการปฎิวัติรัฐประหารไปได้ หนำซ้ำยังไม่สามารถหาทางออกอย่างสันติให้กับความขัดแย้งทางการเมืองที่ยังคุกรุ่นมา 3 ปี ในยุคสมัยแห่งสงครามสองสีได้

          การเปลี่ยนถ่ายรัฐธรรมนูญจากอดีตจนถึงปัจจุบันได้สะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชนหรือสะท้อนความต้องการของผู้มีอำนาจกันแน่ ความไม่พร้อมของประชาชนในการเรียนรู้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ที่ทำให้บรรดานักการเมืองฉกฉวยโอกาสตีความรัฐธรรมนูญเอาตามชอบใจเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง เหตุผลเหล่านี้หรือไม่ที่ทำให้ประเทศไทยของเรา จึงได้ใช้รัฐธรรมนูญที่ร่างกันแล้วร่างกันอีกอย่างมากมาย จนไม่รู้จะสิ้นสุดลงอย่างไร  

          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล นักวิชาการกฎหมายชาวไทยและอาจารย์ประจำภาควิชากฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า  77 ปีที่ผ่านมารัฐธรรมนูญไทยค่อนข้างจะล้มเหลว ในการทำหน้าที่สำคัญ คือการเป็นกติกา และสัญญาประชาคม เพราะมิเช่นนั้นประเทศไทยคงจะไม่มีรัฐธรรมนูญมากมายถึง18 ฉบับ ในเวลา 77 ปี

          โดยในจำนวนนี้ถูกฉีกทิ้ง 8 ครั้ง แล้วก็ร่างฉบับถาวรขึ้นมาใหม่ โดยมีเพียง 2 ฉบับ คือฉบับปี 2489  และ ฉบับปี 2540 ที่ไม่ได้มาจากการยึดอำนาจ ที่เหลืออีก 8 ฉบับ รวมถึงฉบับ 2550 ล้วนมาจากการยึดอำนาจทั้งสิ้น แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยไม่สามารถใช้ระบอบการปกครองที่ยึดถือกติกาเป็นเครื่องแก้ไขปัญหาความขัดแย้งได้ และหนำซ้ำในท้ายที่สุดก็มักจะไปจบด้วยการใช้กำลังหรือการปฎิวัติในการแก้ไขปัญหา

          ส่วนปัญหาของรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน นั้น เป็นเพราะส่วนหนึ่งผู้ร่างรัฐธรรมนูญของไทย  ขาดความเข้าใจในองค์ประกอบของธรรมชาติอันแท้จริงของการเมืองไทยและมักจะร่างรัฐธรรมนูญขึ้นโดยตั้งอุดมคติว่าการเมืองที่ดีควรจะเป็นเช่นไรและตั้งความหวังเอาไว้ว่านักการเมืองจะเป็นเช่นนั้นได้ ด้วยเพราะเหตุนี้ รัฐธรมนูญฉบับหลัง ๆ ของไทย จึงมีความหนาและมีรายละเอียดมากมาย เช่นรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ที่มีความยาวถึง 37,00 คำ ในขณะที่รัฐธรรมนูญ ปี 50 มีความยาวมากถึง 44,000 คำ ซึ่งการที่รัฐธรรมนูญมีความยาวและซับซ้อนมากขนาดนี้ จึงเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่สามารถศึกษาและเข้าใจรัฐธรรมนูญได้อย่างถ่องแท้

          เพราะฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าเพราะเหตุใดรัฐธรรมนูญในปัจจุบัน นอกจากจะแก้ปัญหาไม่ได้ แล้วยังจะห่างไกลจากประชาชน จนกลายเป็นเรื่องนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายไป  แทนที่จะกลายเป็นการปกครองโดยประชาชนตามเจตนารมอันแท้จริงของรัฐธรรมนูญ  

          เพราะหากเปรียบเป็นเหมือนการเล่นฟุตบอล  กรรมการต้องตัดสินตามกติกา เพราะคนดูซึ่งเปรียบได้กับประชาชน ​รู้กติกาซึ่งก็เปรียบได้กับรัฐธรรมนูญ ว่า ลูกไหนคือลูกที่เข้าหรือไม่ได้ประตู   หรือลูกไหนฟาลว์  หรือ ออฟไซด์ ซึ่งเมื่อเป็นเช่นนั้น ก็เท่ากับประชาชนเป็นคนคุมกรรมการให้ต้องตัดสินไปตามกติกา แต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีถึง 309 มาตรา  44,000 คำ ซึ่งต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนเกินไป จึงเป็นเรื่องยากที่ประชาชนจะเข้าใจกติกา

          ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ ที่ดีจึงควรจะบางและไม่ซับซ้อน เพราะตามประเทศที่พัฒนาแล้ว ความหนาของรัฐธรรมนูญจะเฉลี่ยอยู่ที่ 10,000 คำ หรืออย่างมากก็ 20,000 คำ หรือบางประเทศก็มีเพียง 5,000 คำ เท่านั้น

          จุดประสงค์หนึ่งคือเพื่อให้สามารถเรียนรู้หรือสอนในโรงเรียนกันได้ ซึ่งเหตุที่สามารถทำเช่นนั้นได้ ก็เพราะประเทศเหล่านั้นได้มีการออกแบบระบบให้มีการถ่วงดุลกันระหว่าง อำนาจบริหาร และ นิติบัญญัติ เอาไว้เป็นอย่างดี และที่สำคัญคือต้องเคารพกติกา อยู่กันโดยใช้กติกาภายใต้หลักความเสมอภาค จะให้ใครอยู่เหนือกติกาไม่ได้ และที่สำคัญที่สุดคือฝ่ายทหาร เองก็จะต้องหยุดปฎิวัติ

          ด้าน  ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ ประธานสภาพัฒนาการเมือง อดีตประธานคณะกรรมการอิสระศึกษารับฟังความเห็นและเสนอแนะการพัฒนาประชาธิปไตยและการเมืองการปกครอง และ อดีตผู้ร่างรัฐธรรมนูญปี 40 มองว่า รัฐธรรมนูญไทย มีความก้าวหน้ามากขึ้น หากนับจากตั้งแต่วันที่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน โดยเฉพาะสิทธิเสรีภาพกับประชาชน ตรวจสอบถ่วงดุล ของ หน่วยงานรัฐ แต่อย่างไรก็ดีในส่วนของการแก้ไขปัญหาการเมือง นั้น  ยังคงถือว่าไม่ประสบความสำเร็จนัก

          ทั้งนี้ เห็นได้จากแม้จะมีความพยายามอย่างหนักในการเขียนรัฐธรรมนูญให้ละเอียด มีเงื่อนไขเยอะ เพื่ออุดช่องโหว่ต่าง ๆ เพื่อทำให้การเมืองไทยดีขึ้น แต่ในท้ายที่สุด ก็พบว่า นอกจากจะทำให้การทำงานของฝ่ายการเมืองเกิดความยากลำบากแล้ว เปิดช่องให้มีการฟ้องร้องกันมากขึ้น ทั้งเรื่องที่เป็นเรื่องและไม่เป็นเรื่อง นอกจากนี้มีความพยายามของคนกลุ่มหนึ่ง ที่จะพยายามนำรัฐธรรมนูญไปใช้เป็นเครื่องมือ ที่เป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ ก็คือ การที่มีคนบางกลุ่ม พยายามจะบิดรัฐธรรมนูญให้เข้ากับผลประโยชน์ของตนเอง โดยละเลยเจตนารมย์อันแท้จริงของรัฐธรรมนูญ โดยมุ่งไปที่ การจับตัวอักษรมาตีความเข้าข้างตัวเองเท่านั้น

          ส่วนเรื่องการแก้ไข รัฐธรรมนูญ เพื่อให้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน ควรกระทำหรือไม่นั้น โดยส่วนตัวมองว่า สามารถแก้ไขได้ แต่หากจะแก้จริงก็คงจะแก้ไขปัญหาได้บางส่วน แต่คงแก้ปัญหาทั้งหมดไม่ได้ เพราะ รัฐธรรมนูญ คงจะควบคุมในทุก ๆ เรื่อง ได้ไม่ทั้งหมด  ควรจะมีการตั้งองค์กรที่มีความเป็นกลางขึ้นมาเพื่อศึกษาว่าควรจะแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นใด บ้าง แทนที่จะเป็นนักการเมือง เพราะหากปล่อยให้นักการเมืองเป็นผู้แก้ ก็คงจะไม่แคล้วที่นักการเมือง จะมองแต่ในประเด็นเรื่องกำไรขาดทุน โดยหากประเด็นไหนแก้แล้วได้กำไรก็แก้ แต่หากประเด็นใด ไม่ได้ประโยชน์ ก็ไม่แก้ ซึ่งก็คงจะทำให้ประชาชน ไม่ได้รับประโยชน์​อะไร  

          ขณะที่นายโภคิน พลกุล อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร  ให้ความเห็นถึงพัฒนาการของรัฐธรรมนูญไทยว่า ปัญหาที่รัฐธรรมนูญไทย ไม่อาจข้ามพ้นปัญหาเดิม ๆในเรื่องทัศนะของผู้มีอำนาจในบ้านเมือง ที่มักจะมองว่าปัญหาไม่ได้เกิดจากตัวเอง แต่เกิดจากฝ่ายตรงข้าม และกติกา ซึ่งก็คือรัฐธรรมนูญที่ใช้ปกครองประเทศ ในช่วงเวลา นั้น  ซึ่งด้วยเหตุนี้จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะพบว่า เมื่อเกิดวิกฤตการเมืองในช่วงเวลานั้น ๆ

          เช่น เมื่อครั้งที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปฎิวัติตัวเองก็เพราะกติกาหรือรัฐธรรมนูญที่ตนเองเป็นผู้ กำหนดในเวลานั้น เกิดความติดขัดจนไม่สามารถบริหารประเทศต่อไปได้โดยสะดวก หรือ เมื่อคราวเกิดปัญหาในสมัยที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็น นายกรัฐมนตรี ในครั้งนั้น แม้ว่าจะอยู่ในช่วงของการใช้รัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากทุกฝ่ายว่า เป็นรัฐธรรมนูญที่มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ฝ่ายผู้ที่มีอำนาจเปลี่ยนแปลงการปกครองในขณะนั้น ก็กลับไปมองว่า ต้นเหตุของปัญหาเกิดจากรัฐธรรมนูญฉบับปี 40 ที่ให้อำนาจพรรคการเมืองและนายกรัฐมนตรีเข้มแข็งมากจนเกินไป ซึ่งทั้งสองกรณีน่าจะเป็นเครื่องสะท้อนได้เป็นอย่างดีว่า ทัศนะในเรื่องการไม่มองหาต้นเหตุที่แท้จริงว่า เกิดจากผู้ที่มีอำนาจในขณะนั้นไม่สามารถยอมรับในกติกาที่ฝ่ายตัวเองไม่ได้ประโยชน์ต่างหาก ซึ่งหากวังวนการเมืองไทย ยังคงเป็นอยู่เช่นนี้ ก็เชื่อว่ารัฐธรรมนูญไทย ก็ไม่อาจก้าวพ้นปัญหาวิกฤตการเมืองแบบเดิม ๆ จนนำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญเพื่อร่างกติกาใหม่สำหรับสนองความต้องการของผู้ที่มีอำนาจ

          ส่วนรัฐธรรมนูญแบบใด เหมาะสำหรับการนำมาใช้เพื่อยุติความขัดแย้งในสังคมไทยปัจจุบัน และเพียงพอต่อความต้องการของคนไทยเพื่อจะได้ไม่นำไปสู่การฉีกรัฐธรรมนูญโดยไม่จบสิ้น นั้น นายโภคิน กล่าวว่า สิ่งสำคัญน่าจะอยู่ที่การสร้างรัฐบาลให้มีความเข้มแข็งแต่จะต้องอยู่ภายใต้การถูกตรวจสอบได้อย่างละเอียด

          เพราะจากประสบการณ์ในช่วงที่ตนเองเข้าไปทำงานด้านการเมืองมานั้น เห็นได้ชัดว่า หากเมื่อใดที่รัฐบาลอยู่ในรูปของรัฐบาลผสม ก็มักจะเกิดปัญหาความขัดแย้งแก่งแย่งอำนาจกันไม่รู้จักจบสิ้น จนในท้ายที่สุดก็นำไปสู่การสมยอมกันทางการเมือง และที่สำคัญเมื่อเป็นรัฐบาลผสมแต่ละพรรคก็ไม่อาจผลักดันนโยบายของแต่ละพรรคที่นำมาใช้หาเสียงกับประชาชนในช่วงการเลือกตั้งได้อย่างเต็มที่ ซึ่งเมื่อสร้างผลงานให้เป็นที่ประจักษ์กับประชาชนไม่ได้ รัฐธรรมนูญหรือการเมืองสำหรับประชาชนก็ยังคงเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ต่อไป

          สิ่งที่สำคัญอีกอย่างก็คือบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญไม่ควรมีความซับซ้อนมากนัก เพราะหากยิ่งซับซ้อนก็จะถูกฝ่ายการเมืองนำไปใช้ตีความเข้าข้างตัวเองจนทำให้เกิดปัญหาเช่นในปัจจุบัน

          ส่วนในเวลานี้ประเทศไทยก้าวพ้นการปฎิวัติของฝ่ายทหารแล้วหรือไม่นั้น นายโภคิน กล่าวว่า โดยส่วนตัวเชื่อว่าในปัจจุบันการปฎิวัติโดยการใช้กำลังทหารทำได้ยากขึ้น เพราะการปฎิวัติ 19 กันยายน เป็นเครื่องชี้วัดแล้วว่าสังคมโลกไม่ยอมรับและฝ่ายทหารเองก็คงคิดหนัก เนื่องจากหลัง 19 กันยายน เมื่อทหารไม่อาจแบ่งปันอำนาจให้กับทุก ๆ ฝ่ายได้ตามที่เรียกร้อง ทหารเป็นฝ่ายที่ถูกพวกเดียวกันโจมตีเสียเอง

          สำหรับ นายคณิน บุญสุวรรณ อดีต สสร.  ได้ชี้ ต้นเหตุแห่งการที่รัฐธรรมนูญ ทั้ง 18 ฉบับ ที่ผ่านมาของไทย ไม่ได้มีความเป็นรัฐธรรมนูญในความหมายที่แท้จริง ซ้ำยังทำให้เกิดปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยจวบจนถึงปัจจุบัน ก็เพราะจุดเริ่มต้นของรัฐธรรมนูญไทย ไม่ได้เกิดจากวิถีทางของประชาชน แต่เกิดจากการปฎิวัติรัฐประหาร ซึ่งเมื่อจุดเริ่มต้นเป็นเช่นนี้ จึงเป็นเรื่องที่ยากที่จะพัฒนาไปสู่การมีประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

          อดีต สสร.ให้ความเห็นต่อไปว่า สถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ที่มีความแตกแยกช่วงชิงอำนาจระหว่างสีเสื้อสองสี นั้น เป็นเครื่องบ่งชี้ที่ชัดเจนเลยว่า เมื่อใดก็ตามที่มีการเปลี่ยนถ่ายรัฐธรรมนูญ โดยอำนาจที่ไม่ได้มาจากประชาชน ซ้ำยังจะมีการหยิบเอารัฐธรรมนูญมาใช้เป็นเครื่องมือในการมุ่งหวังกำจัดกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามนั้น ทำให้ 77 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่มีการเริ่มใช้รัฐธรรมนูญฉบับแรก ประเทศไทยยังคงหนีไม่พ้นอาถรรพ์วงจรอุบาทว์ ที่ฝ่ายมีอำนาจฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งจากนั้นก็ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยเพิ่มอำนาจให้กับตนเอง

          ทางเดียวต่อจากนี้ที่จะนำพารัฐธรรมนูญไปสู่ครรลองตามปณิธานของล้นเกล้ารัชกาลที่ 7 ก็คือนับจากนี้  การเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญจะต้องเปลี่ยนแปลงโดยสันติวิธีและฟังความเห็นของประชาชนรวมถึงผ่านกระบวนการของรัฐสภาเท่านั้น

          หากมีการปรับแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน จะสามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น นายคณิน กล่าวว่า มาถึงนาทีนี้แล้ว อย่าได้คิดทำเลย มิเช่นนั้น อาจกลายเป็นจุดชนวนสงครามระหว่างสีเสื้อทั้งสองค่ายที่สนับสนุนรัฐธรรมนูญปี 40 และปี 50

          อย่างไรก็ดี วิธีการที่จะหลีกเลี่ยงการปะทะกันระหว่างทั้งสองฝ่ายนั้น ควรจะใช้วีธีนำรัฐธรรมฉบับปี 40 มาปรับแก้ตามความเห็นของฝ่ายที่นิยมปี 40 จากนั้น ก็ยุบสภา โดยตกลงกันถึงวันเวลาในการจัดการเลือกตั้งอย่างชัดเจน หลังจากนั้น ก็ให้แต่ละฝ่ายนำประเด็นเรื่องการสนับสนุนรัฐธรรมนูญ ทั้งสองฉบับมาใช้เป็นม็อตโต้ในการหาเสียงกับประชาชน ซึ่งเมื่อได้ผลอย่างไรทุกฝ่ายจะต้องยอมรับ เชื่อว่าหากทุกคนทำตามข้อเสนอนี้ได้ รัฐธรรมนูญไทยก็จะกลับเข้าสู่กระบวนการของประชาธิปไตยอย่างแท้จริงและกลับมามีคุณค่าในตัวของตัวเองอีกครั้ง


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปัญหาเมืองไทย แก้ที่ คน หรือ รัฐธรรมนูญ อัปเดตล่าสุด 10 ธันวาคม 2552 เวลา 16:47:28 20,464 อ่าน
TOP