x close

ผับปรับตัว เพิ่มทางหนีไฟ ติดอุปกรณ์ป้องกันไฟไหม้

หนีไฟ

ผับปรับตัว เพิ่มทางหนีไฟติดอุปกรณ์ป้องกันไฟไหม้ (คมชัดลึก)

          ภาพโศกนาฏกรรมซานติก้าผับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2552 ยังติดตาใครหลายคน ความโศกสลดและหวาดหวั่นตามติดผู้ประสบเหตุที่รอดชีวิต รวมถึงครอบครัวผู้สูญเสีย ปีใหม่ปีนี้หน่วยงานภาครัฐหลายแห่งเลยตื่นตัวหามาตรการป้องกันไม่ให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย โดยกระทรวงมหาดไทยสั่งห้ามจุดพลุ ดอกไม้ไฟ หรือใช้เอฟเฟกท์ในสถานบันเทิงเด็ดขาด อย่างไรก็ตามดูเหมือนว่าความสูญเสียครั้งนั้น กลายเป็นบทเรียนให้ทุกคนได้เรียนรู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการสถานบันเทิง ที่ต่างก็หามาตรการป้องกันเหตุ ด้วยการเตรียมสถานประกอบการของตัวเองให้พร้อมรับมือเพลิงไหม้มากที่สุด

           "คม ชัด ลึก" ออกสำรวจสถานบันเทิงขึ้นชื่อในแหล่งบันเทิงคึกคักหลายแห่งในกรุงเทพฯ พบว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่ตื่นตัวต่อเรื่องความปลอดภัยมากขึ้น นอกจากจะปฏิบัติตามคำสั่งของมหาดไทยอย่างเคร่งครัดแล้ว ยังหามาตรการเข้ามารองรับ ทั้งการทำทางหนีไฟเพิ่มขึ้น ตรวจเช็กอุปกรณ์ดับเพลิงให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน ซ้อมหนีไฟร่วมกับกรุงเทพมหานคร หรือแม้แต่เตรียมจัดจ้างพนักงานเพิ่มในช่วงปีใหม่ เอาไว้คอยอำนวยความสะดวกแก่นักท่องราตรี หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้น 

          "สราวุฒิ เอี่ยมพัฒน์" เจ้าของสถานบันเทิงชื่อดังย่านอาร์ซีเอ เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ตื่นตัว นับตั้งแต่เกิดเหตุเพลิงไหม้ซานติก้า เขาและหุ้นส่วนตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้มาก จึงได้ปรึกษาหารือกับผู้บริหารและหุ้นส่วน หามาตรการรับมือจนได้ข้อสรุปคือ สร้างทางหนีไฟเพิ่มขึ้น ติดตั้งสปริงเกลอร์ รวมถึงตรวจสอบระบบความปลอดภัยใหม่ทั้งหมด ที่สำคัญคือมีการอบรมพนักงานจำลองเหตุการณ์ไฟไหม้ แต่ละคนจะต้องทำอย่างไรกันบ้าง เพื่อให้เกิดความสูญเสียน้อยที่สุด

          "เราไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเรื่องนี้เลย นอกจากมาตรการข้างต้นแล้วยังจะจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นด้วย เอาไว้อำนวยความสะดวกแก่ลูกค้า พาลูกค้าออกจากร้านเวลาเกิดไฟไหม้ และเมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา เราก็ฝึกซ้อมหนีไฟร่วมกับเจ้าหน้าที่กู้ภัยของกรุงเทพมหานครด้วย" สราวุฒิ กล่าว

          ขณะที่ "กิตติพงษ์" ผู้จัดการสถานบันเทิงชื่อดังบนถนนรัชดาฯ ที่เปิดให้บริการมานานกว่า 10 ปี เริ่มตรวจสอบป้ายไฟบอกทางออกฉุกเฉินให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี รวมถึงเพิ่มทางหนีไฟอีกหลายจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางหนีไฟในห้องน้ำ ที่เขามองว่าเป็นจุดหนึ่งที่คนมักจะหนีเข้าไปหลบขณะตกใจเวลาเกิดเหตุฉุกเฉิน มีการติดตั้งถังดับเพลิงเพิ่มจาก 6 จุด เป็น 12 จุด ตลอดจนจ้างวิทยาการผู้เชี่ยวชาญมาอบรมให้พนักงานในร้านสามารถใช้อุปกรณ์ดับเพลิงได้ทุกคน และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือปีใหม่ปีนี้ที่สถานบันเทิงแห่งนี้จะไม่มีการใช้พลุหรือดอกไม้ไฟอย่างเด็ดขาด

          "บริเวณหน้าประตูทางเข้าจะมีการตรวจเข้มเรื่องการนำดอกไม้ไฟเข้ามาในร้านด้วย" กิตติพงษ์ ระบุ

          สำหรับ "น้อง" เซลส์สถานบริการขนาดใหญ่บนถนนศรีนครินทร์ กรุงเทพฯ บอกว่า ทุกๆ 3 เดือนทางร้านจะมีการตรวจสอบระบบเตือนภัย ทั้งเครื่องตรวจจับควัน สปริงเกลอร์ และถังดับเพลิงอยู่เป็นประจำ ดังนั้นปีใหม่ปีนี้จึงไม่ต้องทำอะไรเพิ่ม นอกจากดูแลไม่ให้มีการใช้เอฟเฟกท์และการจุดพลุหรือดอกไม้ไฟในร้านเท่านั้นเอง

          ทั้งนี้จากการสำรวจสถานบันเทิงอีกหลายแห่ง ส่วนใหญ่เตรียมพร้อมการป้องกันเหตุซ้ำรอยซานติก้าผับ ไม่ว่าจะเป็นร้านขนาดใหญ่หรือผู้ประกอบการรายเล็ก ต่างก็ให้ความสำคัญหาซื้อถังดับเพลิงมาสำรองไว้ ขณะเดียวกันก็ตรวจสอบให้อุปกรณ์ป้องกันไฟไหม้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน พร้อมทั้งยืนยันว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งของ บช.น.อย่างเคร่งครัดด้วย

          ดูเหมือนว่าความตื่นตัวจะไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่ผู้ประกอบการเท่านั้น แม้แต่นักท่องราตรีส่วนใหญ่ก็ให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยของตัวเอง โดยเลือกที่จะนั่งใกล้ประตูทางเข้าออก ใกล้ประตูหนีไฟ หรือโต๊ะติดกระจกแทนที่จะเป็นโต๊ะหน้าเวทีหรือกลางร้านที่เป็นจุดอับ "ดารารัตน์" นักศึกษามหาวิทยาลัยเอกชนย่านดินแดง กรุงเทพฯ วัย 21 ปี ให้เหตุผลว่าปลอดภัยกว่า เวลาเกิดเหตุไม่คาดฝันก็เปิดประตูหนีออกไปได้ทันที หรือไม่ก็ทุบกระจกแตกเอาตัวรอดออกมาได้ทันการณ์

          ผู้จัดการสถานบันเทิงย่านอาร์ซีเอรายหนึ่งก็ยอมรับว่า ลูกค้าที่มาเที่ยวระวังตัวมากขึ้น จะเลือกนั่งเฉพาะโต๊ะติดกับทางเข้าออก อย่างไรก็ดีทางร้านมีระบบรักษาความปลอดภัยที่ทันสมัย มีทางออกฉุกเฉินถึง 7 แห่ง รวมถึงมีรถดับเพลิงจอดสแตนด์บายไว้ สามารถควบคุมสถานการณ์ได้หากเกิดเหตุร้ายขึ้น เช่นเดียวกับผู้จัดการสถานบันเทิงย่านรัชดาฯ อีกรายก็ให้ความมั่นใจในระบบรักษาความปลอดภัยของร้าน มีการจัดสรรโต๊ะนั่งให้เป็นสัดส่วน มีพนักงานเตรียมพร้อมทุกจุด มีทางออกฉุกเฉินทุกมุมของอาคาร แม้แต่ภายในห้องน้ำก็สามารถเปิดประตูออกมาข้างนอกได้ทันที

          "อัครินทร์ โชคธนเสฏฐ์กุล" วิศวกรผู้ดูแลระบบไฟล์เซฟตี้ หรือระบบเตือนภัยเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ในตัวอาคารบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง กล่าวว่า โดยปกติแล้วในตัวอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างทุกประเภท โดยเฉพาะอาคารที่มีคนรวมอยู่ในพื้นที่เดียวกันจำนวนมาก ตามกฎหมายกำหนดให้มีระบบเตือนภัยหากเกิดไฟไหม้ ซึ่งตามหลักการแล้วจะมีองค์ประกอบหลัก 4 ประการ ได้แก่ ประตูหนีไฟที่เพียงพอต่อคนจำนวนมากๆ ซึ่งตามหลักสากลระบุไว้ว่าอาคารรูปทรงสี่เหลี่ยมจะต้องมีประตูหนีไฟทุกด้าน หากมีพื้นที่ขนาดใหญ่ประตูแต่ละบานจะต้องอยู่ห่างกัน 30 เมตร 
  
          องค์ประกอบที่ 2 คือ สโมกกี้เทกเกอร์ หรือตัวจับควันหากเกิดเพลิงไหม้ ซึ่งจากสถิติในเมืองไทยผับเธคส่วนมากไม่ได้ติดตั้งอุปกรณ์ตรวจจับควัน เพราะก่อนหน้านี้อนุญาตให้สูบบุหรี่ในร้านได้ แต่พอมีกฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในร้านอาหาร ผู้ประกอบการก็ไม่เห็นความสำคัญ และมองว่าเป็นการสิ้นเปลือง องค์ประกอบที่ 3 คือ สปริงเกลอร์ดับเพลิง รวมถึงไฟฉุกเฉินและป้ายบอกทาง ที่สามารถเห็นได้ชัดเจนและติดตลอดเวลาแม้ไฟฟ้าจะถูกตัด องค์ประกอบสุดท้ายคือ ถังดับเพลิงที่ต้องติดตั้งอยู่บริเวณประตูทางออกทุกๆ ด้าน

          "ระบบเตือนภัยในผับเธคจะเหมือนกับในโรงภาพยนตร์ มีองค์ประกอบ 4 ประการข้างต้น แต่ที่ผ่านมาสถานบันเทิงในบ้านเรายังไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้เท่าไร หรือถ้ามีก็ใช้ไม่ได้อย่างเต็มระบบ" อัครินทร์ ระบุ

          อย่างไรก็ดี อัครินทร์ให้ความเห็นว่า เมื่อสถานบันเทิงตื่นตัวต่อมาตรการป้องกันเพลิงไหม้ก็รู้สึกดี ทั้งการฝึกซ้อมรับมือเพลิงไหม้ การจ้างพนักงานคอยช่วยเหลือลูกค้า แต่ในความเป็นจริงแล้วเรื่องเหล่านี้ต้องฝึกทบทวนให้ขึ้นใจ เพราะเวลาเกิดเหตุจริงอาจตื่นตกใจ ทำอะไรไม่ถูก หรือหนีเอาตัวรอดก่อนลูกค้า ดังนั้นทางที่ดีคือต้องเน้นไปที่ระบบป้องกันจะดีที่สุด




ขอขอบคุณข้อมูลจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผับปรับตัว เพิ่มทางหนีไฟ ติดอุปกรณ์ป้องกันไฟไหม้ อัปเดตล่าสุด 29 ธันวาคม 2552 เวลา 11:10:38 6,692 อ่าน
TOP