x close

อภิสิทธิ์ อวดปี 2560 ไทยเป็นรัฐสวัสดิการ



สปสช.



สปสช.ดันขยาย หลักประกันสุขภาพ ครอบคลุมคนที่เกิดในไทยอีก 5แสน อภิสิทธิ์ อวดปี'60 ไทยเป็นรัฐสวัสดิการ (มติชนออนไลน์)

          สปสช.ดันขยายหลักประกันสุขภาพคลุมคนที่เกิดในไทยอีก 5 แสน แฉ โรงพยาบาลแนวชายแดนเป็นหนี้อื้อ เหตุต้องเจียดงบฯรักษา หวั่นสารพัดโรคระบาดคืนชีพ นักวิชาการหนุนบอกคนกลุ่มนี้เสียภาษีมาทั้งชีวิต อภิสิทธิ์ อวดปี 2560 ทั้งประเทศเป็น "รัฐสวัสดิการ" ทุกคนได้รับการดูแล

          นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์" ที่ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยและสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 24 มกราคม ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ประชุมคณะกรรมการนโยบายสวัสดิการสังคม ซึ่งคณะกรรมการสวัสดิการสังคม จะเข้ามาทำให้เกิดสังคมสวัสดิการ เพื่อให้คนไทยมีหลักประกันในเรื่องต่าง ๆ ครบถ้วน ภายในปี 2560 จะเป็นสังคมที่มีสวัสดิการพร้อมสำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการรักษาพยาบาล การศึกษา การดูแลประกันรายได้ หรือว่ามีเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ คนพิการ รัฐบาลได้ดำเนินการเพื่อให้ครอบคลุมคนกลุ่มต่าง ๆ และมีนโยบายเสริมอื่นเข้าไป 

          "ภายในปี 2560 ต้องการไม่ให้มีคนไทยคนไหนที่ตกหล่นไปจากการดูแลมีสวัสดิการพื้นฐาน ในเรื่องที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตและมีหลักประกัน และในช่วง 3 เดือนข้างหน้าจะไปจัดทำประมาณการทั้งหมดเกี่ยวกับงบประมาณหรือเงินที่จำเป็นจะต้องใช้ในระบบสวัสดิการหรือสิทธิขั้นพื้นฐานต่าง ๆ พูดง่าย ๆ ว่ารัฐบาลให้เปล่าหรือว่าเป็นบริการฟรีไปจนถึงระบบประกันในลักษณะที่มีการสมทบเงินไปจนถึงเรื่องของการส่งเสริมเชิญชวน จูงใจให้เกิดองค์กรสาธารณะ หรือว่าวิสาหกิจสังคม เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องสวัสดิการของประชาชนคนไทย เพื่อปูทางไปสู่การเป็นสังคมสวัสดิการที่มีสวัสดิการถ้วนหน้าสำหรับคนไทยภายในปี 2560" นายอภิสิทธิ์กล่าว

          ขณะที่ แหล่งข่าวจากกระทรวงสาธารณสุขแจ้งว่า ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่อเฝ้าระวังสภาวะไร้รัฐ รวมทั้งสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพ (สวปก.) กำลังร่วมกันผลักดันขยายหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุมถึงคนที่เกิดหรืออาศัยอยู่ในประเทศไทยกลุ่มใหญ่ราว 5 แสนคน แต่ยังมีปัญหาด้านสถานะบุคคล อาทิ คนไร้รากเหง้าในสถานสงเคราะห์ คนเข้าเมืองโดยชอบด้วยกฎหมาย ชนกลุ่มน้อยที่ตั้งรกรากอยู่ในประเทศไทยมานาน คนที่มีใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าว เป็นต้น เนื่องจากปัจจุบันคนกลุ่มนี้กำลังตกอยู่ในสถานการณ์ลำบากโดยเฉพาะในยามเจ็บไข้ เพราะไม่มีสวัสดิการใด ๆ ครอบคลุมถึง ทั้ง ๆ ที่ถือว่าเป็นคนไทยตามที่กฎหมายกำหนดอยู่แล้ว เพียงแต่อยู่ในขั้นตอนการออกบัตรประชนชนของกระทรวงมหาดไทย

          ข่าวแจ้งว่า ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติได้มีมติเห็นด้วยแล้ว ซึ่งได้จัดทำเป็นข้อเสนอเพื่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาแล้วหลายรอบ แต่ยังไม่นำสู่ ครม. เนื่องจากไม่ผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการกลั่นกรองชุดต่าง ๆ เรื่อยมา เพราะมีความเข้าใจผิดคิดว่าคนกลุ่มนี้เป็นแรงงานต่างด้าว ขณะที่สำนักงบประมาณและสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ต่างทักท้วง เพราะเป็นห่วงในเรื่องของการสิ้นเปลืองงบประมาณและเรื่องความมั่นคงของประเทศ อย่างไรก็ตาม ล่าสุด เตรียมนำเสนอ ครม.อีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันเริ่มเข้าขั้นวิกฤต เพราะจากโรงพยาบาลตามแนวชายแดนต่างเป็นหนี้จำนวนมาก เพราะต้องหมุนเงินงบประมาณจากส่วนต่าง ๆ มาให้บริการ ขณะที่งบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐไม่ได้กันส่วนนี้ไว้ให้

          ขณะนี้โรงพยาบาลต่าง ๆ ในเขตชายแดน ต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแลผู้ป่วยที่ไม่มีสิทธิรักษาตามหลักประกันสุขภาพ อาทิ จ.แม่ฮ่องสอน 5 รพ.เป็นหนี้รวมกว่า 23 ล้านบาท ขณะที่ รพ.ใน จ.ตาก 5 แห่งใช้เงินถึง 111.5 ล้านบาท โดยเฉพาะที่โรงพยาบาลอุ้มผางต้องเป็นหนี้อยู่ถึง 30 ล้านบาท เช่นเดียวกับโรงพยาบาลสังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ที่เป็นหนี้อยู่เกือบ 10 ล้านบาท 

          ด้านผู้อำนวยการ รพ.แห่งหนึ่ง กล่าวว่า จำเป็นต้องรักษาคนเหล่านี้ เพราะพบว่าโรคหลายโรคที่หายสาบสูญไปจากคนไทยก็ปรากฏขึ้นจากคนตามชายแดน ดังนั้น จะต้องรักษาและป้องกันเพื่อไม่ให้สังคมเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่กระจายของโรคระบาดเหล่านี้อีก

          นางพันธุ์ทิพย์ กาญจนจิตรา สายสุนทร อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ล้างบาปที่รัฐไทยทำผิดกฎหมายระหว่างประเทศมายาวนาน เพราะเดิมทีคนต่างด้าวในทะเบียนราษฎรได้รับหลักประกันสุขภาพ แต่ตอนหลัง สปสช.ไปตีความเองว่าจะดูแลเฉพาะคนไทยที่มีทะเบียนบ้าน ดังนั้น การกลับมาสู่ความถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่ดีแล้ว เพราะควรรับผิดชอบคนเหล่านี้ที่ถูกบันทึกทั้งทะเบียนบ้านและประวัติไว้แล้ว แต่อาจให้ระดับที่แตกต่างกันตามความสัมพันธ์ที่มีกับประเทศไทย เช่น กรณีแรงงานต่างด้าว ควรต้องมีช่องทางซื้อหลักประกันสุขภาพ 

          "แต่สำหรับคนกลุ่มใหญ่ที่อาศัยและเกิดในประเทศไทยมานานกลุ่มนี้ เพียงแต่พวกเขายังไม่มีสถานะตามกฎหมายที่ถูกต้อง ซึ่งมีอยู่นับแสน ๆ คน แต่มีตัวตนชัดเจนในทะเบียนราษฎร คนเหล่านี้เสียภาษีเข้ารัฐมาตลอดชีวิต อย่างน้อยก็ภาษีทางอ้อม ดังนั้น พวกเขาควรได้รับการดูแลเหมือนคนทั่วไป" นางพันธุ์ทิพย์กล่าว

          อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.กล่าวด้วยว่า ในรัฐธรรมนูญมาตรา 4 ได้ระบุไว้ให้มีการคุ้มครองศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคน รวมถึง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพ และ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ที่ให้การคุ้มครองบุคคลไม่ว่าจะมีสัญชาติอะไร ทั้งนี้ รัฐควรให้งบประมาณในการจัดการสุขภาพได้ 

          "เราควบคุมโรคติดต่อไม่ได้ หากไม่ดูแลเขา เมื่อเขาป่วยเราต้องรักษาพยาบาลอยู่แล้วแต่จะเป็นภาระใหญ่มาก หากไม่ป้องกัน ซึ่งกระบวนการหลักประกันสุขภาพจะเป็นเชิงป้องกันมากกว่า ที่สำคัญหากเลือกปฏิบัติกับคนที่เกิดในไทยและอาศัยในประเทศเดียวกันแตกต่างกันจะเกิดความไม่รักแผ่นดินหรือความเกลียดชังเกิดขึ้นได้ ซึ่งเรามีประสบการณ์ให้เห็นในจังหวัดชายแดนภาคใต้" นางพันธุ์ทิพย์ กล่าว 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ฝ่ายความมั่นคงอาจไม่เห็นด้วย

          นางพันธุ์ทิพย์ กล่าวว่า
เข้าใจว่าฝ่ายวิชาการของ สมช.เข้าใจดี แต่คนไม่เข้าใจคือฝ่ายบริหารของประเทศมากกว่า เพราะกระบวนการตัดสินใจด้วยความรู้มีน้อย แต่หากทำความเข้าใจก็รับได้ด้วยเหตุผล

เมื่อถามว่า หลายคนอาจตั้งคำถามว่าทำไมต้องเอางบประมาณไปสนับสนุนคนต่างด้าว

          นางพันธุ์ทิพย์ กล่าวว่า
เรื่องสุขภาพส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมทั้งหมด เพราะหากประเทศมีคนป่วยมาก ๆ ไม่สามารถทำงานพัฒนาได้อย่างจริงจัง หากมีการศึกษาและสุขภาพดีเป็นการสร้างพลเมืองที่เข้มแข็ง


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อภิสิทธิ์ อวดปี 2560 ไทยเป็นรัฐสวัสดิการ อัปเดตล่าสุด 25 มกราคม 2553 เวลา 15:51:52 7,224 อ่าน
TOP