x close

สมศักดิ์ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง มาร์ค ปมร้อนแก้ รธน.

สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล

สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล



สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล ส่งจม.เปิดผนึกถึง "มาร์ค" กระทุ้งปมร้อนแก้รธน. "เขียนด้วยมือแล้วลบด้วยเท้า" (มติชนออนไลน์)

จดหมายเปิดผนึก ถึงนายกรัฐมนตรี

จาก สมศักดิ์ ปริศนานันทกุล  1131/45-47 อาคารชุดเคหสถานกรุงเทพ ฯ  เขตดุสิต กรุงเทพฯ


วันที่  27  มกราคม 2553

เรื่อง  การแก้ไขรัฐธรรมนูญ/เขียนด้วยมือแล้วอย่าลบด้วยเท้า

กราบเรียน นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ)


          ตามที่ปรากฏเป็นข่าวถึงเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยพรรคร่วมรัฐบาลตกลงจะร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญใน  2 มาตรา คือ มาตรา 190 เรื่องหนังสือสัญญาระหว่างประเทศที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาและ มาตรา 94 เรื่องการเลือกตั้ง  และทางพรรคประชาธิปัตย์ได้มีมติเมื่อวานนี้ (26 มกราคม 2553) ว่าจะไม่เข้าร่วมในการยื่นแก้ไขรัฐธรรมนูญในครั้งนี้นั้น เนื่องจากประเด็นดังกล่าวเป็นที่สนใจของสาธารณชนและกระผมเห็นว่ามีบางเรื่องบางประเด็นต้องกราบเรียนชี้แจงให้ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและพรรคประชาธิปัตย์ทราบ ดังนี้

          กระผมตระหนักดีว่า กระผมได้กลายเป็นสิ่งชำรุดเพราะถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ไม่ได้สังกัดพรรคการเมืองและไม่มีสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งการให้ความเห็นของผมครั้งนี้จึงไม่มีส่วนได้เสียทั้งสิ้นแต่ประการใด

          1. ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี คงจำได้ถึงการเข้าร่วมรัฐบาลครั้งนี้โดยมีพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนกลาง ก่อนการจัดตั้งรัฐบาล(ที่หลายคนเรียกว่าเป็นรัฐบาลโดยการผลักดันของคนบางกลุ่ม) เราได้พูดถึงข้อจำกัดของการทำงานเพื่อบ้านเมืองโดยหนึ่งในนั้นที่พวกเราเห็นตรงกันคือข้อจำกัดในเรื่องรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะทำให้การทำงานบางอย่างไม่ราบรื่นนัก หลังจากนั้นฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้เดินสายไปยังที่ต่าง ๆ เพื่อขอความเห็นชอบและตกลงร่วมกันในการที่จะทำงานเพื่อประชาชน ซึ่งหนึ่งในนั้นมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญรวมอยู่ด้วย

          2. ต่อมาไม่นาน พรรคฝ่ายรัฐบาลทั้งหมดได้มีโอกาสพบพูดคุยกันที่บ้านคุณนิพนธ์ พร้อมพันธ์ ได้หารือกันถึงสถานการณ์ของบ้านเมืองและตกลงร่วมกันว่าจะดำเนินการในวิธีต่าง ๆ เพื่อให้สังคมเกิดสันติสุขและคืนสู่ความเป็นปกติโดยเร็ว มาตรการต่าง ๆ ได้ถูกยกมาพูดคุย รวมทั้งประเด็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ก็เห็นด้วยจนถึงขั้นให้พรรคร่วมรัฐบาลแต่ละพรรคสรุปประเด็นที่ต้องการจะแก้ไขเสนอมาภายใน 1 สัปดาห์

          3. หลังจากนั้นฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ได้ใช้เวทีรัฐสภาเปิดให้สมาชิกได้อภิปรายเพื่อหาแนวทางสร้างความสมานฉันท์สามัคคีร่วมกัน ซึ่งที่ประชุมในวันนั้นมีความเห็นที่จะตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ขึ้น โดยมีท่านดิเรก ถึงฝั่งเป็นประธานฯ สมาชิกรัฐสภา นักวิชาการ นักกฎหมายรวมทั้งผู้แทนจากหลายฝ่าย ซึ่งคณะกรรมการสมานฉันท์ได้แยกการทำงานเป็นเรื่องการปฏิรูปการเมืองและการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนนำมาซึ่งข้อสรุปร่วมกัน 6 ประเด็นตามที่ทราบกันดี

          4. ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีและพรรคร่วมรัฐบาลได้มีโอกาสหารือกันอีกครั้งที่บ้านพิษณุโลก เห็นว่าการจะแก้รัฐธรรมนูญทั้ง 6 ประเด็นดังกล่าวน่าจะได้สอบถามไปยังประชาชนผ่านกระบวนการประชามติ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างรอลงประกาศในราชกิจจาณุเบกษา

          5. การพบปะหารือของพรรคร่วมรัฐบาล 6 พรรคยังคงมีอยู่เป็นระยะ และทุกครั้งก็จะมีการสอบถามความคืบหน้า แต่ทั้งหมดตกอยู่ในภาวะสุญญากาศ พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 5 พรรคเข้าใจดีว่าควรรอ พรบ.ประชามติให้มีผลเสียก่อน

          การพบกันของ 6 พรรคร่วมเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2552 ซึ่งท่านสุเทพ เทือกสุบรรณเป็นตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ ที่ประชุมมีความเห็นว่าน่าจะนำประเด็นการศึกษาของคณะกรรมการสมานฉันท์บางประเด็นมาพิจารณาได้ก่อน โดยไม่ต้องรอการลงประชามติ คือการแก้รัฐธรรมนูญมาตรา 190 และ 94 โดยคำนึงถึงความพอดี ไม่เกินเลย ยึดผลประโยชน์ของประชาชนและส่วนรวมเป็นที่ตั้ง จะไม่ยื่นญัตติแก้รัฐธรรมนูญเพียงเพื่อประโยชน์ส่วนตัวโดยเด็ดขาด ประการสำคัญคือ การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องไม่เป็นจุดเริ่มของความแตกแยกครั้งใหม่ หรือขยายรอยร้าวให้เพิ่มเติมมากขึ้นไปอีก  ซึ่งท่านสุเทพ รับปากจะนำไปหารือในพรรคอีกครั้งแต่ก็ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ พวกเราเข้าใจดีว่าการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ต้องรอมติของพรรค

          พรรคร่วมทั้ง 5 พรรคตระหนักดีว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจำเป็นต้องใช้เวลาพอสมควร ในขณะที่ระยะเวลาของสภาฯ เหลืออีกปีเศษใกล้หมดวาระ หากปล่อยเวลาทอดยาวออกไปคงไม่อาจดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ ในระยะแรกทั้ง 5 พรรคจะรวบรวมรายชื่อสมาชิกซึ่งมีมากพอ เพื่อเสนอญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญต่อรัฐสภาไปก่อน โดยจะไม่รอมติของพรรคประชาธิปัตย์

          6. ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เคยพูดไว้หลายครั้งว่าพร้อมที่จะเลือกตั้งใหม่ พร้อมที่จะยุบสภาฯ ถ้าหากปัญหาเศรษฐกิจสามารถแก้ไขได้ลุล่วง กติกาหรือรัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย  ทุกฝ่ายสามารถหาเสียงได้ในทุกพื้นที่ แต่ ณ ขณะนี้ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ทำเหมือนกับไม่พยายามเดินไปถึงจุดนั้น พรรคประชาธิปัตย์ทำตัวไม่ยอมรับในสิ่งที่ตัวเองพูด แทนที่จะช่วยกันผลักดัน กลับกลายเป็นอุปสรรคที่สร้างปัญหาให้เสียเอง วันเวลาและวาระการดำรงตำแหน่งของรัฐบาลจึงเหลืออยู่น้อยเหลือเกินหากจะทำให้ได้ตามที่ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีเคยปรารภไว้ และวาระที่เหลืออยู่น้อยนี่เองจึงเป็นเสมือนหนึ่งสัญญาณบอกให้รัฐบาลรู้ว่าเรากำลังเริ่มต้นนับถอยหลัง

          7. การที่คนของพรรคประชาธิปัตย์พูดว่าการยื่นญัตติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เป็นการยื่นเพื่อประโยชน์ของ ฯพณฯ บรรหาร คุณเนวิน หรือใครบางคน ถือเป็นคำพูดที่หมิ่นน้ำใจและดูถูกดูแคลนกันเกินไปถามว่าหากการแก้ไขรัฐธรรมนูญใน 2 มาตรานี้ประสบความสำเร็จ ฯพณฯ บรรหาร คุณเนวิน หรือใครบางคนจะได้อะไรขึ้นมาบ้าง  ประการสำคัญยังเท่ากับดูแคลนคณะกรรมการสมานฉันท์ทั้งคณะไปพร้อมกัน เพราะประเด็นที่จะขอแก้ไข 2 ประเด็นจาก 6 ประเด็นนั้น ล้วนมาจากข้อสรุปของคณะกรรมการฯ ที่ถือว่าเป็นตัวแทนของสังคม การกระทำเช่นนี้จึงยากที่กระผมจะยอมรับได้

          8. จริงอยู่ที่การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องของสภาฯ เป็นเรื่องของพรรคการเมืองไม่ใช่เรื่องของรัฐบาล  แต่เมื่อจุดเริ่มต้นเราเคยเห็นตรงกัน เราเคยคิดเหมือนกัน จึงต้องตอบตัวเองให้ได้ว่าอะไรที่ทำให้เราคิดต่างกัน

          กระผมเคารพในการตัดสินใจของพรรคการเมือง เคารพในการตัดสินใจของพรรคประชาธิปัตย์ เพียงแต่อย่าเห็นในสิ่งที่คนอื่นทำเลวทั้งหมด ใช้ไม่ได้ทั้งหมด แต่ถ้าเป็นตัวเองทำแม้จะเป็นเรื่องเดียวกัน กลับใช้ได้ทั้งหมด ทำดีทั้งหมด

          เราเป็นนักการเมือง เราเป็นคนอาสาประชาชนเพื่อมาทำงานการเมือง หวังจะเปลี่ยนแปลงการเมืองให้ดีขึ้น แต่ทั้งหมดนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเรา "เขียนด้วยมือแล้วลบด้วยเท้า" เช่นวันนี้



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยรัฐ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สมศักดิ์ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง มาร์ค ปมร้อนแก้ รธน. อัปเดตล่าสุด 28 มกราคม 2553 เวลา 16:31:12 8,969 อ่าน
TOP