x close

สื่อนอกวิเคราะห์ ไทยคมไม่รุ่ง เทมาเส็กจ่อทิ้ง



พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร



สื่อนอกวิเคราะห์ ไทยคมไม่รุ่ง เทมาเส็กจ่อทิ้ง (ไทยรัฐ)

          สื่อนอกวิเคราะห์  เทมาเส็ก จ่อทิ้งไทยคม ท่ามกลางการจับตาคำพิพากษาคดียึดทรัพย์  7 หมื่นล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร  ใน วันที่ 26 ก.พ. นี้...
   

          เว็บไซต์ เอเชีย ไทม์ ออกบทวิเคราะห์ ถึงสถานการณ์การถือครองหุ้นชินคอร์ป ของ เทมาเส็กโฮลดิ้งส์ ว่า เมื่อครั้งที่ บริษัทเทมาเส็กโฮลดิ้งส์ กองทุนเพื่อการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์ซื้อชินคอร์ปบริษัทกึ่งเอกชนกึ่งรัฐจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยและผู้ก่อตั้งบริษัท ในปี 2006 ด้วยเงิน 73 ล้านบาทนั้น ได้มีเสียงโจมตีจากทุกสารทิศเพียงไม่กี่เดือนก่อนที่รัฐบาล ทักษิณ จะถูกปฏิวัติ 

          ปัจจุบันบริษัท ชินแซทเทลไลท์ ได้ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิดจากศาล ในการพิจารณาคดียึดทรัพย์สินมูลค่า 7.6 หมื่นล้านบาทของอดีตนายกรัฐมนตรี โดยข้อกล่าวหามีทั้ง เรื่องที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ อนุญาตให้ ชินแซทเทลไลท์ มีสิทธิพิเศษในการยกเลิกภาษีเป็นเวลา 8 ปี สำหรับการดำเนินการในต่างประเทศ ซึ่งอัยการพิจารณาว่าส่งผลให้รัฐเสียรายได้ เป็นมูลค่าสูงถึง 1.6 พันล้านบาท สำหรับการพิจารณาคดีนี้จะมีขึ้นในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ปีนี้ 

          การลงทุนของเทมาเส็กกับชินคอร์ปได้ทำกำไรมาอย่างต่อเนื่อง และสืบเนื่องจากการให้บริการ 3G ในประเทศไทย ยิ่งเป็นการรับประกันการเติบโตของธุรกิจมากยิ่งขึ้นไปอีก อย่างไรก็ตามมีสื่อไทยรายงานว่า เทมาเส็ก อาจจะพยายามเทขายหุ้น 41% ของชินแซทเทลไลท์ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นไทยคม เพื่อลดภาพลักษณ์ที่เชื่อมโยงกับ ทักษิณ ในอดีต โดยนักวิเคราะห์การตลาดคาดว่า บริษัทสามารถอาจจะสนใจในการซื้อหุ้น

          เนื่องจากไทยคม ขาดผลกำไรจากผลประกอบการมาหลายปีแล้ว และทิศทางในอนาคตก็ยังคงดูมืดมัวไม่เป็นชิ้นเป็นอัน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ จากรายงานของ ธอมสัน รอยเตอร์ส การขายพันธบัตรมูลนิธิไทยคมมูลค่า 7 พันล้านบาทในเดือนพฤศจิกายน จะสามารถช่วยให้บริษัทชำระหนี้ และจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นได้ภายในปีนี้ ซึ่งจะเป็นการชำระครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2004 และแม้ว่าจะยังไม่มีรายงานอย่างเป็นทางการออกมา แต่นักวิเคราะห์เชื่อว่าไทยคมขาดทุนสุทธิอยู่ราว 349 ล้านบาทในปี 2009

          ผู้บริหารของไทยคมยังคงเชื่อมั่นในปี 2010 แม้ว่าดาวเทียมเก่าของบริษัท ทั้ง "ไทยคม1" และ "ไทยคม2" กำลังจะหมดอายุการใช้งานแล้ว และไม่ทราบว่าทางบริษัทมีแผนรับรองกับปัญหานี้ไว้รึเปล่า ในขณะที่ยอดขายสัญญาณถ่ายทอดทั่วเอเชีย จากดาวเทียม iPStar ยังคงยักแย่ยักยัน โดยมีผู้เช่าสัญญาณแค่ 10-15% เท่านั้น

          Euroconsult บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจการสื่อสารโทรคมนาคม วิเคราะห์ว่ารายได้ของ ไทยคมในปี 2009 ค่อนข้างซบเซาหรือไม่ก็ลดลงเล็กน้อย เนื่องมาจาก "ไทยคม1" และ "ไทยคม2" กำลังจะหมดอายุใช้งาน และบริษัทจะไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ทั้งหมด แม้ว่าเมื่อปีที่แล้วไทยคมได้เสนอการส่งดาวเทียมดวงใหม่แก่บอร์ดบริหารและผู้ถือหุ้น แต่โครงการได้ถูกปฏิเสธ ทำให้ไทยคมจำเป็นต้องใช้ดาวเทียมที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด พร้อมทั้งมองหาทางเลือกใหม่ ๆ ไปด้วย

          โดยทางบริษัทพยายามหว่านล้อมรัฐบาล เพื่อให้ได้สัมปทานการสั่งซื้อดาวเทียมใหม่ มิเช่นนั้นทางไทยคมต้องเช่าดาวเทียมอื่นเป็นเวลา 3-4 ปี และในขณะที่ศาลมุ่งความสนใจไปที่การพิจารณาคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ การเจรจากับรัฐบาลของ ไทยคม มีแนวโน้มว่าจะไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่บริษัทต้องการ 

          ขณะที่ ปีเตอร์ อีแวนส์ นักวิเคราะห์ธุรกิจภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จาก BuddeComm บริษัทในออสเตรเลีย มองว่า ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายคาดว่าการเทคโอเวอร์กิจการจากทางสิงคโปร์จะช่วยให้บริษัทของไทยมีภาพลักษณ์ที่ดูเป็นสากลและเป็นที่ยอมรับในระดับโลกมากขึ้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไทยคม ยังคงเป็นบริษัทที่มีความเป็นไทยอยู่เยอะมาก โดยที่เทมาเส็กไม่ได้ช่วยพัฒนาในด้านนี้แต่อย่างใด

          นับตั้งแต่การปฏิวัติในปี 2006 การพิจารณาทางการเมืองเกี่ยวกับ ไทยคม เป็นที่จับตามองเป็นอย่างมากเนื่องจากสิทธิในการยกเลิกภาษี เป็นข้อกล่าวหาเกี่ยวกับการคอร์รัปชั่นล่าสุดของอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย และมีการคาดการณ์ว่าคดีที่ศาลจะยกมาพิจารณาต่อเนื่องจะเป็นเรื่องการที่ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยในการดูแลของรัฐบาลอนุญาตให้รัฐบาลพม่ากู้เงินไปซื้อบริการของ ชินแซทเทลไลท์ ได้

          อีแวนส์ ยังวิเคราะห์อีกว่า ความซับซ้อนที่จะเกิดขึ้นต่อไปสำหรับ ไทยคม จะเกี่ยวข้องกับธุรกิจโทรศัพท์มือถือและการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมในกัมพูชา ที่ทำให้ความขัดแย้งระหว่างไทยและกัมพูชาคุกรุ่นขึ้นมา อีกทั้งยังส่งผลต่อธุรกิจของไทยในกัมพูชา ซึ่งรวมไปถึงบริษัทลูกของ ไทยคม อย่าง Cambodia Shinawatra Co ที่ยังคงใช้ชื่อของ ทักษิณ แม้ว่าจะเป็นของเทมาเส็กแล้วก็ตาม อย่างไรก็ตามยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าการที่รัฐบาลกัมพูชาแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ เป็นที่ปรึกษาจะช่วยลดปัญหาเหล่านี้หรือไม่

ความทะเยอทะยานที่ไม่เป็นจริง

          สิ่งที่ส่งผลมากที่สุดคือการที่ iPStar ของ ไทยคม ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายธุรกิจได้ ผู้บริหารของบริษัทเคยกล่าวก่อนที่จะเปิดตัวว่า นี่จะเป็นการปฏิวัติธุรกิจการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมในภูมิภาค ด้วยการให้บริการเทคโนโลยีการส่งข้อมูลความเร็วสูงราคาถูกแก่ผู้บริโภคระดับรากหญ้าในเขตชนบท

          ดํารงค์ เกษมเศรษฐ์ อดีตประธานของบริษัทเคยบอกว่า "ชินแซทเทลไลท์ อยู่ในตำแหน่งที่พิเศษและเป็นผู้นำของโลกในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีการส่งข้อมูลความเร็วสูงผ่านดาวเทียม"

          แต่ว่าแท้จริงแล้วมันไม่ได้เป็นแบบนั้น ก่อนหน้านี้ทางบริษัทประเมินเป้าหมายว่า ต้องการยอดผู้สมัครราว 250,000 คน หรือไม่ก็ ขายส่วนแบ่ง 15% จาก 45 กิกะบิตของ  iPStar ให้ได้ เพื่อไม่ให้บริษัทขาดทุน แต่จากตัวเลขของ Euroconsult ผู้สมัคร  iPStar ในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีที่แล้วอยู่ที่ 184,000 คน โดยส่วนใหญ่อยู่ใน ออสเตรเลีย,นิวซีแลนด์และไทย 

          ในปีที่ผ่านมารายได้ของ iPStar เป็นครึ่งหนึ่งของรายได้จากการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมของไทยคม อย่างไรก็ตามธุรกิจของ iPStar ไม่ได้ก่อให้เกิดกำไร ซ้ำยังขาดทุนในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2009 เนื่องจากค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่อกับประตูสัญญาณ(gateway) ที่มีต้นทุนสูง รวมถึงค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ใช้เครื่องปลายทาง ทำให้อีแวนส์มองว่า ขณะที่ผู้บริหารของ ไทยคม  ออกมาชมเชยความก้าวหน้าของการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมนั้น พวกเขาได้พิจารณาถึงการประสบความสำเร็จในวงกว้างและการยอมรับ iPStar ในตลาดบ้างหรือเปล่า

          แม้ว่า ไทยคม ประสบความสำเร็จในการขายบริการให้กับตลาดของประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ แต่กลุ่มเป้าหมายที่แท้จริงของ iPStar คือจีนและอินเดีย ซึ่งเติบโตช้ากว่าที่เคยคาดการณ์เอาไว้มาก

          Euroconsult ชี้ว่าการเจาะตลาดใหญ่ใน 2 ประเทศนี้ ถูกทำให้ล่าช้าโดยกฎระเบียบข้อบังคับที่ซับซ้อน แม้ว่าอุปสรรคนี้จะแก้ไขได้ในไม่ช้า แต่การยอมรับของตลาดที่มีต่อ iPStar ในจีนยังคงมีน้อยมาก เพราะโครงสร้างพื้นฐานของการสื่อสารโทรคมนาคมของจีนได้พัฒนาขึ้นมามากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา

          อีแวนส์บอกว่า รายงานผลการดำเนินงานไตรมาสในปี 2009 พยายามชี้ให้เห็นถึงการขยายตลาดและการเงินที่เป็นไปในทางบวก เช่น รายได้ที่เพิ่มขึ้นจากบริการ iPStar อย่างไรก็ตามยังไม่มีอะไรที่ชี้ชัดว่าบริษัทอยู่ในทิศทางของการสร้างกำไรจากธุรกิจ

          บรรดานักวิเคราะห์บอกว่าความพยายามที่เห็นได้ชัดเจนของเทมาเส็กในการขายหุ้นไทยคมนั้น ไม่ใช่สัญญาณชี้ว่าทางสิงคโปร์ไม่พอใจตลาดในภูมิภาค ตรงกันข้ามสิงคโปร์ได้ติดตามความเคลื่อนไหวของ 2 ยักษ์ใหญ่อย่างจีนและญี่ปุ่นมาตลอด โดยนอกเหนือจากการเป็นเจ้าของไทยคมแล้ว SingTel ยังเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเทมาเส็ก และประสบความสำเร็จจากดาวเทียม Optus ในออสเตรเลีย รวมถึงการร่วมมือกับ Chunghwa Telecom ในไต้หวันอีกด้วย

          นอกจากนี้ SingTel ยังพัฒนาธุรกิจร่วมกับ Asia Broadcast Satellite (ABS) ในเบอร์มิวดา ซึ่งให้บริการการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียมใน เอเชีย, แอฟริกาและตะวันออกกลาง โดยเมื่อปีที่แล้ว SingTel จ่ายเงิน 80 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็นค่าเช่าสัญญาณของ ABS-2

          แพทริก เฟรนช์ นักวิเคราะห์จาก NSR บริษัทในสิงคโปร์ บอกว่าแม้ว่า iPStar จะมีพัฒนาที่คงตัว แต่ยังคงไม่สามารถบอกได้ว่าบริษัทประสบความสำเร็จ

          "ปี 2010 จะเป็นปีที่สำคัญมากสำหรับ iPStar และมีความเป็นไปได้ที่จะชี้ว่าบริษัทสามารถเดินหน้าทำธุรกิจในอินเดียได้แบบเต็มตัวหรือไม่ กฎระเบียบข้อบังคับได้ถูกแก้ไขไปหมดแล้ว อย่างน้อยที่สุดการให้บริการควรจะเริ่มต้นได้ในไม่ช้า"

          โรเจอร์ รุชช์ ประธานของ TelAstra บริษัทในแคลิฟอร์เนียที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับธุรกิจการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม มองว่า iPStar มีความทะเยอทะยานในการทำธุรกิจเสมอมา แต่ประสบปัญหาในการหาต้นแบบธุรกิจที่ถูกต้อง ขณะที่กลุ่มเป้าหมายคือเขตชนบทในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งยังมีรายได้โดยรวมต่ำอยู่

          เมื่อรวมกับสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก รุชช์ เชื่อว่าสถานการณ์ทางการเงินของ ไทยคม ยังอยู่ในตำแหน่งที่ดีกว่า ผู้ให้บริการสัญญาณวิทยุทั่วโลกอย่าง WorldSpace และ Protostar ที่ได้ประกาศล้มละลายไปแล้ว แต่แม้จะเป็นเช่นนั้น รุชช์ ยังมองว่า iPStar จะประสบกับปัญหาไปอีกระยะหนึ่งสำหรับการทำให้ธุรกิจนี้กลับมามีกำไร


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สื่อนอกวิเคราะห์ ไทยคมไม่รุ่ง เทมาเส็กจ่อทิ้ง อัปเดตล่าสุด 3 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 14:18:15 20,338 อ่าน
TOP