x close

โคขุนโพนยางคำ เนื้อชั้นดีจากที่ราบสูง




เรื่องวุ่น ๆ ของโคขุนโพนยางคำ  (กรุงเทพธุรกิจ)

          เนื้อชั้นดีจากที่ราบสูง มาปักธงสำเร็จแล้วที่เมืองกรุงในฐานะ "จานอร่อย" แต่พักหลัง ๆ ชักวุ่นไม่น้อยเพราะเกิดมี "โพนยางคำ" กำมะลอ ผุดมาแบ่งเค้ก

          เข้ามาอาละวาดเมืองหลวงมาได้หลายปีแล้วสำหรับ "เนื้อโคขุนโพนยางคำ" แต่เพิ่งจะไม่กี่ปีมานี้ ที่เราเห็นป้ายขายเนื้อวัวลูกผสมจากดินแดนที่ราบสูงนี้ จองพื้นที่ไปแทบจะทุกมุมเมือง

          ส่วนหนึ่งได้แรงโหมมาจากโลกออนไลน์ ใครกินแล้วติดใจเป็นต้องโพสต์หรือเขียนลงบล็อก จนเนื้อโพนยางคำกลายเป็นอีกเมนูฮอตถึงขนาดยอมต่อคิวรอของคนกรุง

          นอกจากจะชอบ "สรรหาของอร่อย" แล้ว คนเมืองหลวงจำนวนไม่น้อยยังชอบที่จะหาข้อมูลของร้านที่กำลังจะไปกิน จึงได้รู้ว่า จริงๆ แล้ว เนื้อลูกผสมเหล่านี้เดินทางมาจากบ้านโพนยางคำ ตำบลโนนหอม  อำเภอเมืองสกลนคร

          ที่นี่ถือเป็นแหล่งผลิตเนื้อวัวเพื่อใช้ทำสเต็กที่ใหญ่ที่สุด จุดเด่นอยู่ที่ความนุ่ม อร่อย ไม่มัน และ ไม่คาว

          วางปืนมาเลี้ยงวัว

          ที่บ้านโพนยางคำแห่งนี้ เดิมทีเป็นเพียงหมู่บ้านธรรมดา ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำไร่ทำนา และเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย แต่พอปี พ.ศ. 2523 ในวันที่ 3 มิถุนายน กองอำนวยการกลางรักษาความปลอดภัยแห่งชาติ หรือ รู้จักกันในชื่อของ กรป.กลาง (ปัจจุบันคือ หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา นทพ.) ซึ่งหน่วยงานกรป.กลางนี้ ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 10 เมษายน 2505 เพื่อทำหน้าที่เป็นส่วนอำนวยการ มีหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการวางแผนอำนวยการ กำกับดูแล และประสานการปฏิบัติกับส่วนราชการต่าง ๆ ของรัฐเพื่อผลในการป้องกันและปราบปราม การดำเนินการก่อการร้ายภายในประเทศไทย ตามข้อเสนอของกองบัญชาการทหารสูงสุด

          แต่เมื่อเวลาผ่านไป ปฏิบัติการปราบปรามผู้ก่อการร้ายสิ้นสุดลง หากหน่วยงานนี้ยังคงอยู่ เลยต้องหันมาทำงานพัฒนากับชุมชนแทน และกระจายกันอยู่ทั่วประเทศ

          เฉพาะที่สกลนครหลังการปราบปรามคอมมิวนิสต์แล้วเสร็จ หน่วยงานนี้หันมาจับงานพัฒนาชุมชน ด้วยการเข้าไปช่วยเหลือเกษตรกร ในการพัฒนาพันธุ์โคที่มีอยู่ในพื้นที่ โดยไม่ใช่เลี้ยงเพื่อใช้งานและรับประทานเท่านั้น แต่เลี้ยงเพื่อพัฒนาพันธุ์และส่งออก และตั้งเป็นสหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป. กลาง โพนยางคำ จำกัด มาจนถึงปัจจุบัน

          เป้าหมายในการก่อตั้งสหกรณ์ขึ้นมาก็เพื่อเป็นการพัฒนาพันธุ์โคเนื้อ ส่งเสริมอาชีพการเลี้ยงโคเนื้อใน 2 จังหวัดคือสกลนครและนครพนม และที่สกลนครได้ลงพื้นที่ส่งเสริมที่แรกคือที่บ้านโพนยางคำ โดยได้ประสานขอความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน ทั้ง ศูนย์ส่งเสริมการขยายพันธุ์สัตว์ กรป.กลาง ให้การสนับสนุนด้านการผสมเทียมโค บุคลากร และ น้ำเชื้อโคพ่อพันธุ์เนื้อจากต่างประเทศ

          นอกจากนั้น ยังมีรัฐบาลฝรั่งเศสโดยสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยฝ่ายวัฒนธรรม และได้รับความร่วมมือ จากนายฟรังซัว แดร์โฟซ์ เป็นผู้ประสานงาน พร้อมทั้งให้การสนับสนุนด้านวิชาการทุนการศึกษาอบรม แก่เจ้าหน้าที่ของไทยไปฝึกอบรมในประเทศฝรั่งเศส ด้านการผลิตเนื้อโค การตัดคัดแยกส่วนต่าง ๆ ของเนื้อ การผสมเทียม ผลิตเมล็ดพืชอาหารสัตว์ การบริหารระบบสหกรณ์ และยังได้ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรและสหกรณ์ มาปฏิบัติงานที่ภายในสหกรณ์โพน ยางคำ ตลอดจนสนับสนุนเงินทุนในการก่อสร้างโรงฆ่าสัตว์พร้อมอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ รวมทั้งรถห้องเย็นใช้ขนส่งเนื้อ จากสหกรณ์โพนยางคำ ไปยังศูนย์ตัดแต่งและจำหน่ายที่กรุงเทพฯ

          อีกทั้งยังมีรัฐบาลออสเตรเลียโดย Asian Food Handling Bureau ให้การสนับสนุนอุปกรณ์ห้องเย็นบ่มซากโคห้องแรก รัฐบาลประเทศเยอรมัน ให้การสนับสนุนอุปกรณ์ห้องเย็นบ่มซากโคห้องที่ 2 และสุดท้ายคือ บริษัทเนสท์เล่(ประเทศไทย) จำกัด ให้ทุนการศึกษาอัตราการเจริญเติบโตและปริมาณการผลิตน้ำนม ของโคลูกผสมสายพันธุ์ซิมเมนตัล โดยในปัจจุบัน(นับถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2552 ) สหกรณ์โพนยางคำ มีสมาชิกทั้งสิ้น 4,702 ราย

          ในส่วนของโคเนื้อที่ เลี้ยงเพื่อชำแหละ แรกเริ่มเดิมทีเป็นโคเนื้อลูกผสมไทย - ฝรั่งเศส ที่เกิดจากการผสมเทียมโดยใช้น้ำเชื้อจาก พ่อพันธุ์โคเนื้อ 3 สายพันธุ์คือ พันธุ์ชาโรเลย์, ซิลเบนทอล และลิมมูซีน ทำให้ได้โคพันธุ์เนื้อที่มีคุณภาพตามต้องการ โดยไม่มีการใช้สายพันธุ์อื่นในการผสมเป็นพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ เพราะพันธุ์นี้ว่ากันว่าเหมาะกับการบริโภค เพราะเนื้อนุ่ม ไม่เหนียวและกลิ่นไม่เหม็นสาบมากนัก



          ขาใหญ่ ขายเนื้อ

          สันต์ศิลป์ ยาสาไชย วัย  53 ปี ชาวบ้านท่าเยี่ยม ตำบลโนนหอม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร เกษตรกรผู้ที่เลี้ยงโคเนื้อ และโคขุน มากว่า 23 ปี อีกทั้งยังเป็นอดีตประธานกลุ่มเลี้ยงโคขุนบ้านท่าเยี่ยมอีกด้วย โดยโคที่เขาเลี้ยงก็ส่งให้กับสหกรณ์โพนยางคำ เพื่อชำแหละและจำหน่ายต่อไป

          "อาชีพการเลี้ยงโคเนื้อตอนนี้ได้รับความสนใจจากเกษตรกรมาก เพราะรัฐบาลสนับสนุน เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาความยากจนให้แก่เกษตรกร โดยเล็งเห็นว่า อาชีพการเลี้ยงโคเนื้อ จะเป็นอาชีพที่มั่นคง และช่วยสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะขณะนี้เนื้อโคขุน เป็นที่ต้องการของตลาดมาก เพราะจำนวนคนทานเนื้อเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสเต็กเนื้อ ที่คนไทยก็เริ่มหันมานิยมรับประทาน ส่วนคนต่างชาติเองก็นิยมรับประทานอยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ราคาอาจจะแพงหน่อย สเต็กโพนยางคำ จานเด็ดราคาไม่ต่ำกว่า 300 บาท แต่ทุกวันนี้ราคาต่ำลงมาแล้วมีเงิน 100-200 บาทก็หากินได้"

          ถามถึงเคล็ดลับที่ประกอบอาชีพนี้มาได้ยาวนานกว่า 20 ปี สันต์ศิลป์บอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะต้องอาศัยความเอาใจใส่ ความอดทน และใจรักอย่างแท้จริง เขาเองกว่าจะลงตัว ก็ต้องลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง

          แต่ด้วยความอดทนมุ่งมั่นประสาลูกข้าวเหนียว ทำให้สันต์ศิลป์ได้รับเลือกเป็นเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาอาชีพเลี้ยงสัตว์เมื่อ พ.ศ.2549 ที่ผ่านมา และ หมู่บ้านท่าเยี่ยมก็กลายเป็น "ขาใหญ่" ในการส่งโคเนื้อ โคขุน เข้าสหกรณ์โพนยางคำ

          "การจะเข้าเป็นสมาชิกของสหกรณ์โพนยางคำและส่งเนื้อให้กับสหกรณ์นั้น ต้องเป็นโคพันธุ์ลูกผสม 50 เปอร์เซ็นต์ คือ พันธุ์ชาโรเลย์ ซิลเบนทอล และลิมมูซีน ถ้าตรงตามสายพันธุ์ที่สหกรณ์กำหนด ก็จะหนีบหูเป็นการขึ้นทะเบียนโคขุนให้ มีการตอนและถ่ายพยาธิให้ หลังจากนั้น 5 เดือนก็จะมีการให้ยารอบ 2 อีกรอบ"

          ส่วนอาหารในการเลี้ยง คือหญ้ากินนี หรือหญ้าทั่วไป ฟางข้าว นำมาผสมกับน้ำเกลือบ้าง น้ำอ้อยบ้างและกินอาหารข้นมีคุณค่าครบถ้วนที่ปรุงแต่งจากทางสหกรณ์ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะจัดชุดลงสุ่มตรวจคุณภาพของโคขุนในทุกๆ เดือน และเมื่อโคขุนมีน้ำหนักเข้าตามเกณฑ์ สมาชิกจะแจ้งต่อประธานกลุ่ม เพื่อรอการนำเข้าสู่โรงงานชำแหละเป็นเนื้อโค จำหน่ายต่อไป

          "ตอนนี้สหกรณ์กำหนดให้มีการขุนโคในอัตราต่อกลุ่มๆ ละประมาณ 25 ตัว จากทั้งหมดที่มีกลุ่มเกษตรกรอยู่ 23 กลุ่ม ตั้งเป้าไว้ว่า 1 เดือนชำแหละประมาณ 500 ตัว ซึ่งในปัจจุบันสามารถผลิตได้ครั้งละ 65 ตัวต่อวัน และจะมีการชำแหละอาทิตย์ละ 2 วัน คือ เฉพาะในวันอังคารและวันศุกร์ จากนั้นก็จะส่งเนื้อในรูปเนื้อแช่แข็ง ส่งให้ร้านค้าที่เป็นสมาชิกต่อไป" เขาบอก



          ระวัง! เนื้อปลอม

          จากกำลังการผลิต 65 ตัวต่อวัน และชำแหละเพียงอาทิตย์ละ 2 วันเท่านั้น ดูจะไม่สมดุลกับจำนวนร้านโคขุนโพนยางคำ ที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ดทั่วกรุงสักเท่าไหร่

          เรื่องมันเลยชักจะยุ่ง ๆ ขึ้นมาว่า มีของปลอมแอบขึ้นโต๊ะมาขายภายใต้แบรนด์โพนยางคำ

          สันต์ศิลป์ ยอมรับว่าจริง ทางสหกรณ์เอง เคยได้รับแจ้งการแอบอ้างของร้านค้าบางแห่งในหลายพื้นที่ ที่บอกกับลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการ ว่าเป็นเนื้อโคขุนที่มาจากโพนยางคำ และแหล่งที่พบมากที่สุดคือ กรุงเทพฯ

          จริงอยู่ การกินเนื้อที่ไม่ได้มาจากสหกรณ์แห่งนี้ อาจไม่ถือว่าเป็นอันตรายร้ายแรงถึงขั้นชีวิต แต่อย่างน้อยที่สุด ในโลกที่เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารอย่างนี้ เราก็น่าจะรู้ว่า อาหารตรงหน้าเรานั้น มาจากที่ไหน และ ประกอบด้วยอะไรบ้าง ...

          แนวความคิดนี้ ใช้ได้กับอาหารทุกประเภท แต่สำหรับใครที่กำลังจะไปอุดหนุนโคขุน (ที่คิดว่าเป็น) โพนยางคำ ก็มีหลักให้สังเกตง่าย ๆ ดังนี้  

          ร้านที่รับเนื้อโคขุน ของสหกรณ์โพนยางคำไปจำหน่ายนั้น ให้สังเกตที่ป้ายรับรองมาตรฐานของทางสหกรณ์โพนยางคำซึ่ง เป็นสัญลักษณ์รูปหัวโคขุน 2 ตัวหันหลังให้กันภายในวงกลมฟันเฟือง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของ กรป.กลาง ความกว้างคูณยาวขนาด 1 ตารางเมตร โดยป้ายนี้จะถูกนำไปติดที่หน้าร้านที่รับมาขายอย่างเป็นทางการ

          ส่วนการกระจายจุดจำหน่ายของเนื้อโพนยางคำนั้นเขาบอกว่ามีจุดใหญ่ อยู่ที่สหกรณ์การเลี้ยงปศุสัตว์ กรป.กลาง โพนยางคำ จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ที่บ้านโพนยางคำ ตำบลโนนหอม อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร , สหกรณ์สาขาย่อย ถนนเจริญเมือง เขตเทศบาลเมืองสกลนคร และที่กรุงเทพมหานคร มีสาขาหลักตั้งอยู่ที่ห้างสรรพสินค้าเซียร์รังสิต อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี

          ส่วนสาขาย่อยที่เป็นของเอกชน ทางสหกรณ์ฯ กำหนดให้มีป้ายรับรองมาตรฐานของทางสหกรณ์โพนยางคำ เป็นสัญญลักษณ์รูปหัวโคขุน 2 ตัวหันหลังให้กันภายในวงกลมฟันเฟือง กรป.กลาง ความกว้างคูณยาวขนาด 1 เมตร ติดที่หน้าร้านเช่นกัน แต่มีไม่มากนัก เพราะเกรงว่าจะมีการลอกเลียนแบบ



          เลี้ยงเอง กินเอง?

          อาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่า สัตว์ใด ๆ ก็ตาม ลองว่าได้เลี้ยงมากับมือแล้ว ต่อให้รสชาติอร่อยแค่ไหน ก็ทำใจดำฆ่าเอาเนื้อไม่ลง

          แต่สำหรับวัวโพนยางคำที่สันต์ศิลป์ ประคบประหงมมาแต่อ้อนแต่ออก ก็หนีไม่พ้นต้องตกเป็นสำรับหนึ่งบนโต๊ะกับข้าว...อยู่ดี

          "ต้องกินอยู่แล้ว เพราะเป็นอาหารที่ชาวอีสานมาแต่ไหนแต่ไร" เกษตรกรดีเด่นพูดยิ้ม ๆ แล้วเล่าให้ฟังต่อว่า  เมนูเด็ดทั้งของชาวโพนยางคำ และประชาชนที่บริโภคเนื้อโคขุนนั้น ล้วนเป็นอาหารพื้นบ้านตำรับอีสานแท้ ๆ  อาทิ ลาบ ก้อย ต้มขม อ่อมเนื้อ ย่างเนื้อ เนื้อแดดเดียว

          โดยเฉพาะอย่างหลังสุด คนเล่า ยกให้เป็นเมนูสุดยอด

          "ยิ่งได้กินกับข้าวเหนียวนึ่งร้อนๆ ยิ่งอร่อย"

          ส่วนสเต็กที่ชาวกรุงชอบนักชอบหนา สันต์ศิลป์ส่ายหน้า บอกไม่อร่อย

          "สู้ลาบเนื้อไม่ได้" ลูกอีสานยืนยัน

          สำคัญกว่าเมนูหรือรสชาติ คือ ความสะอาด ซึ่งเกษตรกรผู้เลี้ยงทุกคนให้ความสำคัญมาเป็นอันดับแรก ๆ

          สันต์ศิลป์ย้ำให้มั่นใจในข้อนี้ว่า สิ่งสำคัญที่เกษตรกรผู้สนใจการเลี้ยงโคขุนต้องรู้และปฏิบัติอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ คือ การสุขาภิบาลฟาร์ม ได้แก่ การรักษาความสะอาด เกษตรกรต้องหมั่นทำความสะอาดคอกโคขุนทุกวัน เพื่อไม่ให้เกิดการหมักหมมของสิ่งปฏิกูลภายในคอกหรือโรงเรือนเลี้ยงโค รวมถึงการรักษาสภาพแวดล้อมในบริเวณโรงเรือน ให้มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก โดยพื้นคอกจะใช้เทคนิครองด้วยแกลบ เพื่อใช้เป็นตัวดูดซับสิ่งขับถ่ายจากตัวโค อีกทั้งยังปรับปรุงสภาพแวดล้อมต่าง ๆ บริเวณโรงเรือนเลี้ยงโคขุนและที่อยู่อาศัย ให้มีสภาพแวดล้อมที่น่าอยู่เพื่อสุขภาพของโคและบุคคลในครอบครัวและบ้านใกล้ เรือนเคียง

          และสิ่งที่ต้องยึดมั่นและขาดไม่ได้เลยในการเลี้ยงโคขุน โคเนื้อของโพนยางคำนั้นคือ "คุณภาพ" ที่จะต้องได้ตามมาตรฐาน เพราะเกษตรกรทุกคนรวมถึงสันต์ศิลป์ รู้ดีว่า วันนี้ชื่อเสียงของเนื้อโพนยางคำมาไกลเกินกว่าจะถอยหลังกลับแล้ว

          "ที่สำคัญ ยิ่งเนื้อจากโพนยางคำ ได้รับความนิยมมากแค่ไหน ก็ยิ่งจะทำให้อาชีพการเลี้ยงโคขุน โคเนื้อของชาวบ้านที่นี่ มั่นคงและยั่งยืนมากยิ่งขึ้น" เกษตรกรหัวก้าวหน้า คิดอย่างนี้...เนื้อดี ๆ จึงมาถึงจานเรา




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก








เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โคขุนโพนยางคำ เนื้อชั้นดีจากที่ราบสูง อัปเดตล่าสุด 3 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 16:33:10 24,348 อ่าน
TOP