x close

ระทึก! คดียึดทรัพย์ทักษิณ 7.6 หมื่นล้าน

ทักษิณ ชินวัตร

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร



ระทึก!ยึดทรัพย์ ชี้สำนวนมัดแน่น - มีจริง 6.6 หมื่นล้าน (ไทยโพสต์)

          วันนี้ 26 ก.พ. ในช่วงบ่าย องค์คณะศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทั้ง 9 คน จะนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาคดีร้องขอให้ทรัพย์สินที่ร่ำรวยผิดปกติ และได้มาเนื่องจากการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลและประโยชน์ส่วนรวม 7.6 หมื่นล้านบาท ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้ถูกกล่าวหา ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตกเป็นของแผ่นดิน  ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยอย่างหนาแน่นมาตลอดทั้งสัปดาห์

          คดีนี้ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ทำหนังสือเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2551 ถึงอัยการสูงสุด แจ้งว่า คตส. มีมติเป็นเอกฉันท์ว่า พ.ต.ท.ทักษิณ เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ 2544 ถึงมีนาคม 2548 ได้ปกปิดการถือหุ้น บริษัทชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวนกว่า 1,400 ล้านหุ้น มูลค่า 7.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มาจากการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคลและประโยชน์ส่วนรวม

          เป็นกรณีได้ทรัพย์สินมาโดยไม่สมควร สืบเนื่องมาจากการปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่ อันเป็นการร่ำรวยผิดปกติ คิดเป็นจำนวนกว่าร้อยละ 48 ของจำนวนหุ้นทั้งหมดที่จำหน่ายได้ ที่ผู้ถูกกล่าวหาและคู่สมรสยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่แท้จริง โดยปกปิดและอำพรางหุ้นไว้ ในชื่อนายพานทองแท้ ชินวัตร, น.ส.พินทองทา ชินวัตร, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และนายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ เป็นผู้ถือหุ้นแทน

          ต่อมาอัยการสูงสุดเป็นโจทก์/ผู้ร้อง ยื่นฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ และมีคำร้องแถลงปิดคดี ระบุว่า ขณะที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรี และคุณหญิงพจมาน ภริยา มีผู้ถือหุ้นแทน ดังนี้ 1. นายพานทองแท้ จำนวน 458,550,000 หุ้น 2. น.ส.พินทองทา จำนวน 604,600,000 หุ้น 3. นายบรรณพจน์ จำนวน 336,340,150 หุ้น และ 4. น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวน 20,000,000 หุ้น รวมทั้งสิ้น 1,419,490,150 หุ้น

          โดยการซื้อหุ้นเพิ่มทุนของนายบรรณพจน์ รวมถึงการโอนหุ้นให้แก่นายพานทองแท้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายบรรณพจน์นั้น เชื่อว่าไม่มีการซื้อขายกันจริง แต่เป็นการทำให้บุคคลอื่นเชื่อว่ามีการซื้อขายเท่านั้น และตั๋วสัญญาใช้เงินเชื่อว่าเป็นการจัดทำขึ้นภายหลัง หุ้นดังกล่าวยังคงเป็นของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน

          บริษัท แอมเพิลริชฯ ที่ พ.ต.ท.ทักษิณถือหุ้นแต่เพียงผู้เดียว ได้ระบุว่า ได้ขายหุ้นของบริษัทให้แก่นายพานทองแท้ ในราคา 1,000,000 เหรียญสหรัฐ เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 43 มีเพียงหนังสือของนายพานทองแท้โดยลำพังเท่านั้นที่แจ้งต่อ ก.ล.ต. ซึ่งเป็นระยะเวลายาวนานถึง 6 ปีจึงมีการมาแจ้ง แต่เมื่อ ก.ล.ต.ตรวจสอบ พบข้อเท็จจริงเพียงว่า นายพานทองแท้ที่ยอมรับว่าได้ซื้อและเข้าถือหุ้นแทน พ.ต.ท.ทักษิณ แต่ไม่มีหลักฐานการจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงที่สนับสนุนว่า พ.ต.ท.ทักษิณได้โอนหุ้นให้แก่นายพานทองแท้จริง

          สอดคล้องกันกับการตรวจสอบของดีเอสไอและ ก.ล.ต. ที่มีหลักฐานว่าบริษัท วินมาร์ค จำกัด เป็นนิติบุคคลอำพราง การถือหุ้นหรือนอมินีของ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน เมื่อหุ้นชินคอร์ปที่ถือโดยบริษัท แอมเพิลริชฯ และหุ้นชินคอร์ปที่ถือโดยบริษัท วินมาร์คฯ มาฝากรวมกันที่ธนาคารซิตี้แบงก์ สาขา กทม. เมื่อวันที่ 21 ส.ค. 44 จึงทำให้หุ้นมีมูลค่าเกินกว่าร้อยละ 5 ของจำนวนหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้ว แสดงว่าในเดือน ส.ค. 44 พ.ต.ท.ทักษิณยังเป็นเจ้าของบริษัท แอมเพิลริชฯ อยู่ ที่อ้างว่าได้โอนขายให้แก่นายพานทองแท้เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. 43 นั้นฟังไม่ขึ้น ซึ่งการชำระเงินค่าซื้อขายหุ้นเป็นการจ่ายเงินผ่านบัญชีของคุณหญิงพจมานทั้งสิ้น

          ระหว่างที่ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ยังได้เอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทในเครือ 5 กรณี คือ 1. การแปลงค่าสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต 2. การแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ฉบับลงวันที่ 27 มี.ค. 33 (ครั้งที่ 6) เมื่อวันที่ 15 พ.ค. 44 ปรับลดอัตราส่วนแบ่ง รายได้จากให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบใช้บัตรจ่ายเงิน

          3. การแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ฉบับลงวันที่ 27 มี.ค. 33 (ครั้งที่ 7) เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 45 เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับและกรณีการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทเอไอเอส

          4. ละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียม ตามสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบหลายกรณี เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปและบริษัทชินแซทฯ

          5. กรณีอนุมัติให้รัฐบาลพม่า กู้เงินจำนวน 4,000,000,000 บาท จากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัทชินแซทฯ


          มาตรการเอื้อประโยชน์ธุรกิจบริษัทชินคอร์ปทั้ง 5 ประการ ล้วนแต่มีลักษณะไม่สมเหตุผล บิดเบือนหลีกเลี่ยงขั้นตอนการตรวจสอบของกฎหมาย สร้างความเสียหายต่อส่วนรวมอย่างร้ายแรง จนทำให้วินิจฉัยได้ว่าเป็นประโยชน์โดยมิชอบที่ฝ่ายบริหารที่ พ.ต.ท.ทักษิณดูแลรับผิดชอบ จงใจเอื้อประโยชน์แก่ธุรกิจของตนโดยเฉพาะ

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับคดียึดทรัพย์ครั้งนี้ เป็นการอายัดเงินที่ได้จากการขายหุ้นชินคอร์ปที่คนในครอบครัว "ชินวัตร-ดามาพงศ์" ได้รับเงินจากการขายหุ้นครั้งนี้ยอดเงินสุทธิทั้งหมด 73,667,987,902.60 บาท แยกเป็นดังนี้ น.ส.พินทองทา ชินวัตร 30,459,903,090.37 บาท, นายพานทองแท้ ชินวัตร 22,029,584,625.12 บาท, นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ 19,255,302,015.06 บาท, น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 133,502,451.00 บาท

          หลังจากใช้เวลาในการแกะรอยเส้นทางการเงินมาหนึ่งปีกว่า สุดท้าย คตส.ได้ทำการสรุปยอดเงินที่ติดตามอายัดได้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 11 มิถุนายน 2551 ก่อนที่ คตส.จะหมดวาระการทำหน้าที่ในวันที่ 30 มิถุนายน 2551 เพื่อเสนอยอดเงินดังกล่าวต่ออัยการสูงสุดเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในสำนวนคำฟ้องที่ยื่นต่อศาลฎีกาในคดียึดทรัพย์

          โดยยอดเงินที่อายัดได้จริง ๆ คือตัวเลข 66,762,927,024.25 ไม่ใช่ 7.6 หมื่นล้านบาทอย่างที่หลายฝ่ายเข้าใจ แต่เมื่อรวมดอกเบี้ย-เงินปันผลในยอดทรัพย์สินที่อายัดไว้ของทรัพย์สิน 6.6 หมื่นล้านดังกล่าว จึงทำให้ยอดที่ได้รับการยืนยันจากสถาบันการเงินว่าอยู่ที่ 68,556,052,496.47 บาท

          แต่ยอดดังกล่าวไม่ใช่ตัวเลขสุทธิที่แท้จริง เพราะหลายบัญชีสถาบันการเงินแจ้งมาว่ากำลังตรวจสอบอยู่ แต่ไม่ได้บอกว่าทำการอายัดได้ และหลายบัญชีก็กระจายออกไปเป็นเงินเล็กเงินน้อยที่ไม่ใช่เงินก้อนใหญ่ ทำให้ไม่ได้มีการตามไปแกะรอย จึงทำให้ยอดเงินที่ถูกแช่แข็งจริ งๆ ในบัญชีมีประมาณ 66,762,927,024.25 ไม่ใช่ 7.6 หมื่นล้านบาท

          ดังนั้น หากศาลมีคำสั่งให้ยึดทรัพย์เงิน 7.6 หมื่นล้านบาท ก็จะเกิดปัญหาว่าเงินที่ถูกอายัดจริงๆ มีไม่ถึง 7.6 หมื่นล้านบาท ดังนั้นก็ต้องตามไปบังคับคดีคือไปยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณในส่วนอื่น ๆ เพิ่มเติมเช่นบ้าน ที่ดินต่อไป

          นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณและคนในครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ ที่จะต้องลุ้นคำตัดสินคดียึดทรัพย์ให้ยกคำร้องแล้ว ยังมีบุคคลและนิติบุคคลอีกจำนวนมากที่ต้องลุ้นให้ศาลยกคำร้องเช่นกัน อาทิ นางบุษบา ดามาพงศ์ ภรรยานายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ ที่ถูกอายัดทรัพย์ด้วย เป็นเงิน 40 ล้านบาทหลังจาก คตส.ตรวจสอบพบเส้นทางการเงิน ว่ามีการย้ายจากของนายบรรณพจน์ที่ได้จาการขายหุ้นชินคอร์ปไปเข้าบัญชีนางบุษบา ที่เป็นอดีตผู้บริหารบริษัทเอสซี เอสแสทฯ หรือมูลนิธิไทยคม ที่คนในครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ เป็นกรรมการมูลนิธิ และ คตส.สอบพบว่า น.ส.พินทองทา ชินวัตร ได้โอนเงินเข้ามูลนิธิเป็นเงิน 200 ล้านบาท ก็พบว่าถูกอายัดในครั้งนี้ด้วย

          สำหรับตัวเลขเงินสุทธิที่มีการอายัดทรัพย์จำนวน 6.6 หมื่นล้านบาทดังกล่าว มีดังนี้ น.ส.พินทองทา 2.35 หมื่นล้านบาท, คุณหญิงพจมาน 2.45 พันล้านบาท, นายพานทองแท้ 1.72 หมื่นล้านบาท, นายบรรณพจน์ 8.9 พันล้านบาท, น.ส.ยิ่งลักษณ์ 335 ล้านบาท, พ.ต.ท.ทักษิณ 548 ล้านบาท, นางบุษบา ดามาพงศ์ 40 ล้านบาท, นายสมพร พงษ์สุวรรณ ทนายความคุณหญิงพจมาน 100 ล้านบาท, คณะบุคคลวิวิธวร แชมเบอร์ ที่มีนางปราณี พงษ์สุวรรณ ภรรยานายสมพร เป็นผู้บริหาร 17 ล้านบาท, บริษัท พีพี คอร์ปอเรชั่น จำกัด 2.3 พันล้านบาท, บริษัทเอสซี ออฟฟิช พลาซ่า จำกัด 2 พันล้านบาท

          น.ส.ชินณิชา วงศ์สวัสดิ์ บุตรสาวนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี 100 ล้านบาท ซึ่งเป็นเงินที่กู้ยืมมาจากนายบรรณพจน์, บริษัท เอสซี โอเอไอแมนเนตเมนท์ 130 ล้านบาท, บริษัท เอโอไอ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด 617 ล้านบาท, มูลนิธิไทยคม 200 ล้านบาท, บริษัท เอโอไอ คอนซัลแตนท์ แอนด์ แมนเนตเม้นท์ จำกัด 700 ล้านบาท

          บริษัทที่ปรึกษากฎหมายธีรคุปต์ จำกัด ของนายวีรภัทร ไชยา ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน 132,000 บาท, บริษัท เวิร์ธ ซัพพลายส์ จำกัด 2.2 พันล้านบาท, บริษัท เอสซี เค เอสเตส 2 พันล้านบาท, บริษัท ประไหมสุหรี พร็อพเพอตี้ จำกัด 3.6 พันล้านบาท, บริษัท สมพร แอนด์ แอสโซซิเอทส์ จำกัด ของนายสมพร ทนายความคุณหญิงพจมาน 70 ล้านบาท, บริษัท บีบีดี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด 3.4 พันล้านบาท, บริษัท บีบีดี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด 2 พันล้านบาท เป็นต้น

          ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทที่ถูก คตส.อายัดทรัพย์และต้องลุ้นให้ศาลยกคำร้อง เช่น บริษัทเอสซี โอเอไอแมนเนตเมนท์, บริษัท เอโอไอ เอ็ดดูเคชั่น จำกัด, บริษัท เอโอไอ คอนซัลแตน ท์ แอนด์ แมนเนตเม้นท์, บริษัท เวิร์ธ ซัพพลายส์, บริษัท เอสซี เค เอสเตส, บริษัท ประไหมสุหรี พร็อพเพอตี้ จำกัด, บริษัท บีบีดี ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด, บริษัท บีบีดี พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด

          พบว่าส่วนใหญ่เป็นบริษัทในเครือข่ายที่คนในครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์ ทั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ คุณหญิงพจมาน และนายบรรณพจน์ก่อตั้งขึ้นมาทั้งสิ้น ซึ่งปัจจุบันก็ยังเปิดทำการอยู่และมีบางบริษัทเปลี่ยนชื่อ โดยมีบางแห่งพบว่าบุตร พ.ต.ท.ทักษิณ เช่น น.ส.พินทองทา เข้าไปนั่งเป็นกรรมการบริหารของบริษัทอยู่ด้วย

          สำหรับการตัดสินคดียึดทรัพย์ครั้งนี้ ที่จะมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์อย่างน้อย 2 ช่องตลอดช่วงการอ่านคำพิพากษา และสถานีวิทยุอีกหลายแห่ง เป็นเรื่องที่น่าติดตามไม่น้อย เพราะหากคำพิพากษาตัดสินว่า พ.ต.ท.ทักษิณมีความผิดกรณีปกปิดการถือครองหุ้นชินคอร์ปและใช้อำนาจหน้าที่ทางการเมืองออกมาตรการเอื้อประโยชน์ให้ชินคอร์ป เท่ากับว่าการอ่านคำพิพากษาที่จะใช้เวลาประมาณ 5-6 ชั่วโมงคือการตีแผ่การทุจริตและพฤติการณ์อันไม่ชอบของ พ.ต.ท.ทักษิณครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

          การถ่ายทอดครั้งนี้ มีการกำชับจากฝ่ายศาลมาว่า ห้ามไม่ให้มีการถ่ายภาพเห็นหน้าองค์คณะทั้ง 9 คนเด็ดขาด และจะใช้การถ่ายทอดเฉพาะเสียงออกมานอกห้องประชุม และผ่านสื่อต่าง ๆ เท่านั้น

          ความเคลื่อนไหวของบุคคลต่าง ๆ ที่จะเดินทางไปร่วมรับฟังคำตัดสินคดียึดทรัพย์ในช่วง 13.00 น. ที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น มีรายงานว่าฝ่ายข่าวยังไม่ได้รับรายงานการเดินทางออกนอกประเทศของคนในครอบครัวชินวัตร-ดามาพงศ์แต่อย่างใด แต่ทั้งหมดจะไม่ไปร่วมฟังคำตัดสินของศาล คงมีเพียง 3 ทนายความไปฟังคำตัดสิน คือ นายฉัตรทิพย์ ตัณฑประศาสตร์ ทนายความ พ.ต.ท.ทักษิณ, นายสมพร พงษ์สุวรรณ ทนายความคุณหญิงพจมาน และนายกิตติพร อรุณรัตน์ ทนายความพานทองแท้และ น.ส.พินทองทา

          ส่วนท่าทีของ พ.ต.ท.ทักษิณนั้น อาจจะใช้สิทธิยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วันต่อศาลฎีกาตามช่องทางรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ที่เปิดช่องให้มีการอุทธรณ์คำตัดสินของศาลฎีกาได้หากมีพยานหลักฐานใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อการสู้คดีหรือไม่หากสุดท้ายมีคำพิพากษาให้ยึดทรัพย์


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยรัฐ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ระทึก! คดียึดทรัพย์ทักษิณ 7.6 หมื่นล้าน อัปเดตล่าสุด 26 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 14:42:58 11,192 อ่าน
TOP