x close

เปิดโผแกนนำหลักเสื้อแดง ใครเป็นใครมาดูกัน


แกนนำเสื้อแดง


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก วิกิพีเดีย , politicalbase.in.th , wofs.co.th

          หลังจากแกนนำเสื้อแดง พร้อมมวลชนเข้ามาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลยุบสภา จากวันนั้นถึงวันนี้ ก็เป็นเวลานานนับ 2 เดือนแล้ว และช่วงเวลาที่ผ่านมา เหตุการณ์ก็เริ่มขมวดปมขึ้นมาตามลำดับ จนกระทั่งสถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อเกิดการปะทะของเจ้าหน้าที่และมวลชนตามจุดต่าง ๆ อีกทั้งยังมีกองกำลังไม่ทราบฝ่ายปรากฎตัวลอบทำร้ายประชาชน จนทำให้มีผู้เสียชีวิต

          และจาก 2 เดือนที่ผ่านมา ผู้มีบทบาทสำคัญในการเดินหน้าชุมนุมของคนเสื้อแดง ก็เริ่มเป็นที่รู้จักผ่านทางสื่อมวลชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่เข้าโต๊ะเจรจากับรัฐบาล ,การนำมวลชนยึดพื้นที่ ,การบุกโรงพยาบาล , การถูกทางการออกหมายจับ นอกเหนือไปจาก 3 เกลอ แกนนำหลักอย่าง วีระ มุสิกพงษ์,ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ และจตุพร พรหมพันธุ์

          วันนี้กระปุกดอทคอม จะมาเปิดโผรายชื่อแกนนำหลัก ๆ ของคนเสื้อแดง มาดูกันว่า ขุมกำลังคนสำคัญของม็อบเสื้อแดงมีใครกันบ้าง

วีระ มุสิกพงศ์



          ฉายา "ไข่มุกดำ" วัย 62 ปี เป็นประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เคยเป็นนักเขียนและนักข่าวของหนังสือพิมพ์สยามรัฐ ก่อนจะเริ่มเส้นทางการเมืองกับพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี พ.ศ.2518 ซึ่งวีระมีบทบาททางการเมืองโดดเด่นมากในยุครัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ได้เป็นรัฐมนตรีถึง 3 สมัย ก่อนจะมาต้องคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ในช่วงที่เป็นเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ต้องโทษ 4 ปี ที่เรือนจำบุรีรัมย์ แต่ติดคุกเพียงแค่ 1 เดือน ก็ได้รับพระราชทานอภัยโทษ

          จากนั้น วีระ มุสิกพงศ์ ก็เกิดความขัดแย้งภายในพรรคประชาธิปัตย์ วีระจึงออกไปตั้งพรรคประชาชน แต่ก็ยุบพรรคในเวลาต่อมา และได้ไปอยู่กับ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ ในพรรคความหวังใหม่ และเข้ามาอยู่พรรคไทยรักไทย ได้เข้าเป็นแกนนำ นปช.ตั้งแต่ปี 2550 ก่อนจะร่วมชุมนุมในปี พ.ศ.2553 และเข้าร่วมโต๊ะเจรจากับรัฐบาล อีกทั้งยังเป็นบุคคลหนึ่งที่เห็นด้วยกับแผนปรองดองของนายกรัฐมนตรี แต่กลับถูกแกนนำคนอื่นล้มคว่ำไม่เป็นท่า ทำให้วีระ มุสิกพงศ์ หายตัวไปจากเวที นปช.เกือบหนึ่งอาทิตย์ ท่ามกลางข่าวลือว่า หนีไปที่เกาะลังกาวีแล้ว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น นายวีระก็ได้เข้ามอบตัวเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ.2553

จตุพร พรหมพันธุ์

จตุพร พรหมพันธุ์


          ชื่อเล่นว่า "ตู่" เกิดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2508 ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ปัจจุบันอายุ 45 ปี จบการศึกษาสาขาการเมืองการปกครอง จากคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง แจ้งเกิดทางการเมืองจากการเป็นผู้นำนักศึกษา ช่วงเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ พ.ศ. 2535 โดยการขึ้นปราศรัยบนเวทีที่มหาวิทยาลัย ในนามพรรคศรัทธาธรรม พรรคกำลังหลักของมหาวิทยาลัย จนทำให้ จตุพร พรหมพันธุ์ มีฉายาว่า "ตู่ ศรัทธาธรรม" ปัจจุบัน จตุพร พรหมพันธุ์ เป็น ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และได้ใช้เอกสิทธิ์ความเป็น ส.ส.คุ้มครอง ไม่ต้องถูกควบคุมตัว หลังจาก จตุพร พรหมพันธุ์ เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ


          เกิดวันที่ 4 มิถุนายน 2518 ที่ อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นนักโต้วาทีตั้งแต่มัธยมศึกษา แต่ที่ทำให้คนรู้จัก เพราะเคยเป็นดาราในสภาโจ๊ก ลอกเลียนเสียงของไตรรงค์ สุวรรณคีรี ได้เหมือนจริง จากนั้นได้เข้าร่วมพรรคไทยรักไทยในทีมปราศรัยล่วงหน้าของ พ.ต.ท.ทักษิณ และเคยลงเลือกตั้ง ส.ส. แต่ไม่ทันได้ทำหน้าที่ก็เกิดการปฏิวัติ จึงได้ผันตัวมาเป็นแกนนำ นปช. และร่วมต่อสู้เรื่อยมา จนถึงเหตุการณ์การชุมนุมในปี พ.ศ.2553 ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ เห็นว่าเหตุการณ์บานปลาย จึงได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา

จรัล ดิษฐาอภิชัย

จรัล ดิษฐาอภิชัย


          เกิดที่จังหวัดพัทลุง เคยดำรงตำแหน่งกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ก่อนจะถูกบีบให้ออกจากตำแหน่ง เพราะไปขึ้นเวที นปช.ต่อด้าน คมช. และไม่เห็นด้วยกับแนวทางคืนพระราชอำนาจ จน สนช.ล่าชื่อเปิดอภิปรายและมีมติให้ถอดถอน 

          ก่อนหน้านี้ จรัล ดิษฐาอภิชัย เคยเป็นแกนนำนักศึกษาและเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า "สหายแพง" หรือ "สหายแผ้ว" และสำหรับการชุมนุมเสื้อแดงในช่วงเดิอนมีนาคม พ.ศ.2553 เป็นต้นมา จรัล ดิษฐาอภิชัย ได้ออกมายอมรับว่า ม็อบเสื้อแดงได้ท่อน้ำเลี้ยงจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ จริง


อดิศร เพียงเกษ

อดิศร เพียงเกษ

          เกิดวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2495 เป็นลูกชายของทองปักษ์ เพียงเกษ อดีต ส.ส.ขอนแก่น อดิศร เพียงเกษ มีบทบาทอย่างมาในเหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 โดยได้เข้าร่วมต่อสู้กับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในฐานะแนวร่วมพร้อมครอบครัวทั้งหมด ก่อนจะเริ่มเล่นการเมืองในปี พ.ศ.2526 แต่ได้มาเป็น ส.ส.เมื่อปี 2531 เคยอยู่มาหลายพรรคทั้ง พรรคมวลชน พรรคพลังธรรม พรรคนำไทย และพรรคไทยรักไทย อีกทั้งยังเคยเป็นรัฐมนตรีมาแล้วหลายกระทรวง

          ปัจจุบัน อดิศร เพียงเกษ  เป็ยประธานสถานีพีเพิ่ลแชแนล สถานีโทรทัศน์ของคนเสื้อแดง และเป็นหนึ่งในแกนนำที่มีข่าวว่า ขอถอนตัว หลังจากมีข้อขัดแย้งกับแกนนำคนอื่น ๆ ที่ไม่ต้องการเดินตามแผนปรองดองของรัฐบาล


นพ.เหวง โตจิราการ

เหวง โตจิราการ


          โด่งดังขึ้นมาในชั่วข้ามคืน พร้อมกับวลีฮิตอย่าง "อย่ามาเหวง" หลังจากที่ นพ.เหวง โตจิราการ ได้เป็น 1 ใน 3 แกนนำ นปช.ที่เข้าร่วมโต๊ะเจรจากับฝ่ายรัฐบาล และถูกชาวอินเทอร์เน็ตโจษจันว่า พูดจาไม่รู้เรื่อง วกไปวนมาจนหยิบยกชื่อ "เหวง" มาใช้แสดงความหมาย

          หมอเหวง เกิดเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ.2494 จบจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล และเคยเข้าร่วมเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ.2519 เป็นที่รู้จักกันดีในชื่อ "สหายเข้ม" และกลับมามีบทบาทในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ โดยร่วมกับ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง ต่อต้าน พล.อ.สุจินดา คราประยูร จนเป็นผลสำเร็จ ก่อนที่ในปี พ.ศ.2549 หมอเหวง เคยขึ้นเวทีพันธมิตร ปราาศรัยต่อต้าน พ.ต.ท.ทักษิณ และเป็นหนึ่งในผู้ร่วมคัดค้านรัฐบาลพรรคไทยรักไทย ในการแปรรูปรัฐวิสาหกิจ แต่แล้วหลังเหตุการณ์รัฐประหาร หมอเหวง ก็ได้ไปเข้าร่วมกับกลุ่ม นปช. และขึ้นเป็นแกนนำ นปช. ก่อนจะเข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่พร้อมกับนายวีระ และนายก่อแก้ว เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

ยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก

          จากบทบาทดาราตลกบนเวทีการแสดง กลับกลายเข้ามาเป็นหนึ่งในแกนนำ นปช. บนเวทีการชุมนุม โดย เจ๋ง ดอกจิก หรือชื่อเดิมว่า ประมวล ชูกล่อม เคยเป็นตัวละครที่สุเทพ เทือกสุบรรณ ออกมาแฉว่า เป็นบุคคลที่จ้างผู้สมัครพรรคเล็ก 3 คนในราคาคนละ 3 หมื่นบาท ให้ลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.ที่จังหวัดตรัง ทั้งที่รู้ว่าคุณสมบัติไม่ครบก่อนจะกลายเป็นหลักฐานหนึ่งที่นำไปสู่การยุบพรรคไทยรักไทย

          นอกจากนี้ในการชุมนุม นปช.ทีผ่านมา เจ๋ง ดอกจิก เป็นบุคคลหนึ่งที่เกือบถูกเจ้าหน้าที่รวบตัวได้สำเร็จ ในคราวที่ไปปิดล้อมโรงแรม เอส ซี ปาร์ค แต่ก็สามารถหนีออกมาได้ ล่าสุด เจ๋ง ดอกจิก เข้ามอบตัวพร้อม ๆ กับแกนนำเสื้อแดงคนอื่น ๆ และได้ถูกควบคุมตัวอยู่

สุภรณ์ อัตถาวงศ์

สุภรณ์ อัตถาวงศ์

          ฉายา "แรมโบ้อีสาน" เกิดเมื่อวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2507 เป็นผู้กว้างขวางในจังหวัดนครราชสีมา และถูกจัดเป็นแกนนำสายฮาร์ดคอร์ หลังสร้างวีรกรรมโดนใจคนเสื้อแดงหลายครั้ง โดยวีรกรรมที่ทำให้คนรู้จัก แรมโบ้อีสาน ก็คือ การนำกลุ่มเสื้อแดงบุกทุบรถนายกรัฐมนตรีที่กระทรวงมหาดไทย และรุมทำร้ายนิพนธ์ พร้อมพันธุ์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสียจนน่วม เมื่อวันที่ 12 เมษายน พ.ศ.2552

          ต่อมา DSI ได้นำกำลังเข้าตรวจค้นห้องพักในซอยลาดพร้าว 71 และพบอาวุธปืน อุปกรณ์ระเบิดเป็นจำนวนมาก ซึ่งคาดว่าอาจเกี่ยวโยงกับเหตุวินาศกรรม อย่างไรก็ตาม ในการชุมนุม นปช.ครั้งล่าสุด แม้แกนนำคนอื่น ๆ จะประกาศขอมอบตัวแล้ว แต่ยังไร้เงาของสุภรณ์ อัตถาวงศ์ ซึ่งตำรวจกำลังตามล่าตัวอยู่

มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ

มานิตย์ จิตต์จันทร์กลับ


          เกิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2481 เป็น ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และเป็นอดีตผู้พิพากษาศาลอาญา เคยมีบทบาทวิจารณ์การทำงานของศาล กรณีตัดสินคดี กกต.ชุด พล.อ.วาสนา เพิ่มลาภ ที่เอื้อประโยชน์ให้พรรคไทยรักไทย รวมทั้งเคยวิจารณ์การทำงานของตุลาการรัฐธรรมนูญ ในการตัดสินคดียุบพรรคไทยรักไทยด้วย

อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง


อริสมันต์ พงศ์เรืองรอง


          ก่อนหน้าเป็นนักร้องที่มีชื่อเสียงโด่งดัง ในฉายา "นักร้องเสียงอมฮอลล์" เป็นคนบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เกิดเมื่อวันที่ 8 มกราคม พ.ศ. 2507 จบปริญญาตรีจากคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม และปริญญาโทรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนจะลงสู่สนามการเมืองกับพรรคพลังธรรม ได้รับเลือกเป็น ส.ส.เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2538 จนเมื่อปี พ.ศ.2548 อริสมันต์ ได้เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทย และได้แต่งเพลง "คนของแผ่นดิน" ที่มีเนื้อหาสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร

          ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2550 อริสมันต์ ได้รวมตัวกับผู้สนับสนุนอดีตนายกฯ ตั้งกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ขึ้น และเคลื่อนไหวทางการเมืองมาโดยตลอด แต่การเลือกตั้ง ส.ส.ในปี พ.ศ.2550 เขากลับไม่ได้รับเลือก อย่างไรก็ตาม วีรกรรมที่ทำให้คนจดจำ อริสมันต์ ได้อย่างมากที่สุด ก็คือเหตุการณ์เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2552 ที่ อริสมันต์ เป็นแกนนำมวลชนเสื้อแดงบุกเข้าโรงแรมรอยัล คลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา เมื่อครั้งมีการประชุมสุดยอดอาเซียน ทำให้ผู้นำต่างชาติต้องหนีกระเจิดกระเจิงจนเป็นข่าวไปทั่วโลก แต่สุดท้าย อริสมันต์ ก็ถูกจับในบ้านพักที่ตลิ่งชัน ก่อนจะได้ประกันตัวไป

          สำหรับการชุมนุมเสื้อแดงในปี พ.ศ.2553 นั้น อริสมันต์ เกือบถูกเจ้าหน้าที่เข้าจับกุม ขณะกำลังนอนพักผ่อนอยู่ในโรงแรมเอส ซี ปาร์ค แต่ก็มีคนเสื้อแดงช่วยเหลือจนโรยตัวหนีออกมาจากระเบียงได้ แต่ในวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2553 ก่อนที่แกนนำคนอื่น ๆ จะประกาศมอบตัว กลับมีข่าวว่า อริสมันต์ ขับรถหนีออกจากแยกราชประสงค์ และปัจจุบันก็ยังหาตัวไม่พบ จนคนแซวว่า "พี่กีร์ ใจไม่ด้านพอ..."

พายัพ ปั้นเกตุ

พายัพ ปั้นเกตุ


          เกิดเมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2502 เป็นอดีต ส.ส.สิงห์บุรี ในสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ ก่อนจะย้ายมาอยู่พรรคไทยรักไทยเมื่อปี พ.ศ.2548 และได้มีบทบาทในการเคลื่อนไหวของกลุ่ม นปช. มาโดยตลอด แต่ที่ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด ก็คือการนำมวลชนเสื้อแดงบุกปิดล้อม และเข้าค้นโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โดยอ้างว่าให้ที่หลบซ่อนทหาร ทำให้หลายฝ่ายออกมาประณามนายพายัพกันยกใหญ่ ถึงการคุกคามสถาบันการแพทย์ในครั้งนี้ ขณะที่แกนนำเสื้อแดงคนอื่น ๆ ก็ออกมาแถลงขอโทษถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และระบุว่า การกระทำของนายพายัพ ไม่ใช่มติของกลุ่ม นปช.

วันชนะ เกิดดี

          เป็นนักร้องที่ผันตัวมาเป็นแกนนำ นปช. อีกคน โดยได้ฝากเสียงเพลงไว้หลายเพลง เช่น "ใครก็รักทักษิณ" หรือ "เพลงของประชาชน เพื่อประชาชน" และเป็นหนึ่งใน 7 คนที่ศาลออกหมายจับหลังจากพาผู้ชุมนุมบุกเข้ารัฐสภา เมื่อวันที่ 7 เมษายน พ.ศ.2553

ขวัญชัย ไพรพนา

ขวัญชัย ไพรพนา

          เป็นดีเจคนดังของวิทยุชุมชนชาวอุดร และเป็นประธานชมรมคนรักอุดร เดิมทีชีวิตคลุกคลีอยู่กับธุรกิจการทำรายการวิทยุ เป็นเจ้าของสถานีวิทยุ "คลื่นมวลชนสัมพันธ์" FM. 97.50 MHz และปั้นนักร้องลูกทุ่งมาแล้วหลายคน ก่อนที่จะได้เข้าตาพรรคการเมืองใหญ่ หลังจากนำม็อบไปปิดล้อมกลุ่มพันธมิตรที่อุดรธานี จากนั้น ขวัญชัย ไพรพนา ก็กลายเป็นกระบอกเสียงให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และกลุ่ม นปช. มาโดยตลอด และได้นำชมรมคนรักอุดร เข้าชุมนุมกับกลุ่มเสื้อแดงที่กรุงเทพฯ ตลอดมา และกลายเป็นแกนนำฮาร์ดคอร์ เพราะได้นำมวลชนเสื้อแดงไปปิดล้อมสถานที่สำคัญ หรือเคลื่อนพลไปยังจุดต่าง ๆ หลายครั้ง

          แน่นอนว่า ครั้งล่าสุด เมื่อวันที่ 28 เมษายน ขวัญชัย ไพรพนา ได้นำเสื้อแดงเดินทางไปยังถนนวิภาวดีรังสิต และได้ประจันหน้ากับทหารที่บริเวณอนุสรณ์สถาน ก่อนจะเกิดการปะทะชุลมุนกันขึ้น พร้อมกับมีข่าวลือว่านายขวัญชัยถูกจับไปแล้ว แต่แล้วนายขวัญชัยก็กลับมาปรากฎตัวอีกครั้งที่เวทีราชประสงค์ โดยเปิดเผยว่า มีคนโทรมาบอกให้รีบหนี เพราะทหารจะเข้ามาจับ อย่างไรก็ตาม สุดท้ายขวัญชัย ไพรพนา ก็ได้เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่แล้ว

วิภูแถลง พัฒนภูมิไทย

วิภูแถลง พัฒนภูมิไทย

          เป็นชาวพัทลุง และเป็นผู้ก่อตั้งกลุ่มคนวันเสาร์ไม่เอาเผด็จการออกมาต่อต้าน คมช. รวมทั้งยังเป็นแนวร่วมกับกลุ่มวิทยุชุมชนคนรักทักษิณของนายชินวัตร หาบุญพาด ต่อมาได้เข้าร่วมเป็น 1 ใน 8 แกนนำกลุ่ม นปก. ที่เคลื่อนไหวต่อต้าน คมช. และกลายมาเป็นแกนนำ นปช. ซึ่งนายวิภูแถลง พัฒนภูมิไทย ก็เป็นหนึ่งในแกนนำที่เข้ามอบตัวเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ

ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ


          หรือที่รู้จักกันในนาม "ครูประทีป" เกิดวันที่ 9 สิงหาคม 2495 เป็นประธานมูลนิธิดวงประทีป เป็นนักสิทธิมนุษยชนทำงานดูแลเด็กยากไร้ในคลองเตย จนได้รับรางวัลแมกไซไซ นอกจากนี้ ครูประทีป ยังเป็นนักเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยได้เข้าร่วมเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และเป็น นปช. รุ่นแรก ก่อนที่ในการชุมนุม นปช.ครั้งล่าสุด ครูประทีป ก็ได้ขึ้นเวทีย่อยของคนเสื้อแดงที่คลองเตยด้วย

นิสิต สินธุไพร

          เกิดเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2499 ได้เป็น ส.ส.ร้อยเอ็ด 2 สมัย มีบทบาทในกลุ่ม นปช. โดยเป็นประธานชมรมคนรักทักษิณไม่เอาเผด็จการ และได้ชุมนุมประท้วงและหาเสียงโจมตี คมช. มาตลอดระยะเวลาที่มีการรัฐประหาร และถูกสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุยิง RPG ถล่มกระทรวงกลาโหม หลังน้องเขย "พ.ต.ท.ศุภชัย ทุยแก้วคำ" และน้องสาว "จุรีพร สินธุไพร" ถูกซัดทอดว่าเป็นผู้บงการ

ก่อแก้ว พิกุลทอง

ก่อแก้ว พิกุลทอง



          เกิดเมื่อวันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2508 ที่อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา เป็นอดีตรักษาการผู้อำนวยการ องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ (ร.ส.พ.) ก่อนจะเข้าร่วมกลุ่ม นปช.ต่อต้าน คมช. ปัจจุบันเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และได้จัดรายการทางสถานีพีเพิลชาแนลอยู่บ่อย ๆ และในการชุมนุมปี พ.ศ.2553 ที่ผ่านมา ก่อแก้ว พิกุลทอง ได้เข้ามอบตัวพร้อมกับนายวีระ และนพ.เหวง

วิสา คัญทัพ

          เป็นคนจังหวัดลพบุรี และเป็นสามีของ "ไพจิตร อักษรณรงค์" อดีตนักร้อง และหนึ่งในแกนนำ นปช.ที่ถูกออกหมายจับเช่นเดียวกัน เดิม วิสา คัญทัพ เป็นนักเขียน นักกวี และศิลปินเพลงเพื่อชีวิต แต่เคยมีบทบาททางการเมืองเป็นผู้นำนักศึกษามาตั้งแต่สมัยเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง จนเกิดกรณีชุมนุมใหญ่ต่อต้านการลิดรอนสิทธิเสรีภาพนักศึกษาเมื่อวันที่ 21-22 มิถุนายน พ.ศ. 2516

          จากนั้นวิสา คัญทัพ ก็ได้เข้าร่วมกับเพื่อนตั้ง "กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ" เพื่อเคลื่อนไหวให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย ใช้ชื่อว่า "สหายตะวัน" เมื่ออยู่ภาคเหนือ และใช้ชื่อ "สหายไพรำ" เมื่ออยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาก็ถูกจับกุมคุมขังเป็น 1 ใน 13 กบฎรัฐธรรมนูญ ในเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 และจากถูกปล่อยตัวออกมา เขาก็ได้เขียนบทกวีบทหนึ่ง โดยมีวรรคทองว่า

          "ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาปสูญ ไม่มีใครล้ำเลิศน่าเทิดทูน ประชาชนสมบูรณ์นิรันดร์ไป เมื่อยืนหยัดต่อสู้ผู้กดขี่ ประชาชนย่อมมีชีวิตใหม่ เมื่อท้องฟ้าสีทองผ่องอำไพ ประชาชนย่อมเป็นใหญ่ในแผ่นดิน"

ชินวัตร หาบุญพาด

ชินวัตร หาบุญพาด



          เกิดเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2496 เป็นแกนนำสมาคมพิทักษ์ผลประโยชน์ผู้ขับรถแท็กซี่ เป็นนักจัดรายการคลื่นวิทยุชุมชน เคยร่วมกับกลุ่มคาราวานคนจนที่สวนจตุจักร เข้าปิดล้อมอาคารเนชั่นทาวเวอร์ ที่ตั้งบริษัทเนชั่น จากนั้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2549 ร่วมกับพวก 10 คนเข้ารื้อเต็นท์ เวที และเครื่องขยายเสียง ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่หน้าสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งที่อาคารศรีจุลทรัพย์

          นอกจากเป็นแกนนำม็อบคาราวานคนจนแล้ว ยังมีบทบาทอยู่ใน "ชมรมคนรักชาติ" ของ ประยูร ครองยศ เจ้าของรายการวิทยุ "เมืองไทยรายวัน" ที่รู้กันดีกว่าเป็นหน่วยสนับสนุน พ.ต.ท.ทักษิณ ด้วย ในช่วงการต้านรัฐประหาร 2549 - 2550 เขาเข้าร่วมกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในแกนนำชุดที่ 2 ต่อมาเข้าร่วมเป็นแกนนำกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ที่ต่อต้านคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ

ดารุณี กฤตบุญญาลัย



          อดีตนักธุรกิจ และไฮโซ ก่อนจะผันตัวมาเป็นดาราที่หลายคนรู้จักกันดี มาวันนี้ เจ๊ดา ดารุณี ประกาศว่าทั้งตัวและหัวใจเป็นเสื้อแดง และได้เข้าร่วมการชุมนุมกลุ่ม นปช.มาหลายครั้ง พร้อมปราศรัยบนเวทีอีกด้วย เนื่องจากครอบครัวมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอดีตนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ผลงานล่าสุดของเธอคือ การออกมากล่าวตอบโต้ วาทกรรมของ พงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ที่กล่าวในงานนาฏราช โดยยืนยันว่า เสื้อแดงสู้อย่างสงบ อหิงสา แม้ว่าวีรกรรมของ พงษ์พัฒน์ จะไม่ได้เอ่ยถึงเสื้อแดงเลยก็ตาม

          ตามรายชื่อข้างต้น ผู้ที่มอบตัวกับเจ้าหน้าที่แล้ว ( รายงาน ณ วันที่ 22 พฤษภาคม) ได้แก่ จตุพร พรหมพันธุ์,วีระ มุสิกพงศ์ ,นายแพทย์เหวง โตจิราการ,ก่อแก้ว พิกุลทอง,ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ,วิภูแถลง พัฒนภูมิไทย,ขวัญชัย ไพรพนา,นิสิต สินธุไพร และยศวริศ ชูกล่อม หรือ เจ๋ง ดอกจิก

          นอกจากนี้ยังมีแกนนำ นปช.อีกหลายคน เช่น ศิริวรรณ นิมิตรศิลป์ ,พ.ต.ท.เสงี่ยม สำราญรัตน์, วิเชียร ขาวขำ,อารี ไกรนรา หัวหน้าการ์ด นปช.,สุขเสก พลซื่อ,สุรชัย เทวรัตน์ ,รชต หรือ กบ วงศ์ยอด,วรวุฒิ วิชัยดิษฐ์,วรพล พรหมิกบุตร,พ.ต.ท.ไวพจน์ อาภรณ์รัตน์,สำเริง ประจำเรือ เป็นต้น ซึ่งยังไม่ได้ติดต่อเข้ามอบตัวต่อเจ้าหน้าที่แต่อย่างใด รวมทั้ง พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง ที่เสียชีวิตไปแล้ว ก็มีบทบาทการนำของคนเสื้อแดง และเป็นขวัญใจแม่ยกเสื้อแดงหลาย ๆ คน และกลุ่มแดงสยาม ที่ไม่ค่อยมีบทบาทในการชุมนุม นปช.ครั้งล่าสุด เท่าไหร่นัก อย่าง สุรชัย ด่านวัฒนานุสรณ์ หรือสุรชัย แซ่ด่าน และจักรภพ เพ็ญแข





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดโผแกนนำหลักเสื้อแดง ใครเป็นใครมาดูกัน อัปเดตล่าสุด 23 พฤษภาคม 2553 เวลา 07:59:04 211,476 อ่าน
TOP