x close

เขาใหญ่ ฤาจะเป็นแค่ตำนานมรดกโลก

เขาใหญ่

เขาใหญ่

เขาใหญ่

เขาใหญ่



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบโดย คุณ OaddybeinG
 

        เป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนให้ถกเถียงกันไม่แพ้การเมือง สำหรับกรณีที่กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม มีโครงการขยายพื้นผิวการจราจรที่จะขึ้นเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ระยะทาง 10 กิโลเมตร จาก 2 เลนเป็น 4 เลน ซึ่งทำให้ต้องตัดต้นไม้ที่ให้ร่มเงาหลายร้อยต้น นำมาสู่เสียงวิพากษ์วิจารณ์กันยกใหญ่

        โดยเฉพาะนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แสดงความไม่เห็นด้วยที่มีการตัดอุโมงค์ต้นไม้ซึ่งเป็นจุดอันซีนไทยแลนด์ทิ้งไปกว่า 1 กิโลเมตร บริเวณกิโลเมตรที่ 9 ถึงกิโลเมตรที่ 10 จึงได้สั่งชะลอการสร้างถนนออกไปก่อน เพราะถือว่า กรมทางหลวงทำผิดข้อตกลงคือตัดต้นไม้เกิน 20 ต้น และกรมป่าไม้ยังไม่ได้อนุญาตให้ใช้พื้นที่นั้น

        จากปัญหานี้ทำให้นายโสภณ ซารัมย์ รมว.คมนาคม เดินทางเข้าตรวจสอบพื้นที่ ซึ่งพบว่า บริเวณที่มีการตัดต้นไม้นั้นห่างจากเขตอุทยานประมาณ 23 กิโลเมตร ซึ่งกรมทางหลวงสามารถตัดต้นไม้ได้ แต่หากเป็นไม้หวงห้ามต้องขออนุญาตก่อน โดยต้นไม้ที่ถูกตัดก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์อย่างอื่นได้

        ส่วนกรณีที่ชาวบ้านเขาใหญ่เล่าลือกันว่า ต้นไม้ใหญ่ ๆ ที่ถูกตัดไปล้วนเป็นต้นไม้หายาก ทั้งไม้สัก ไม้กระยาเลย และไม้ประดู่ ได้ถูกเคลื่อนย้ายนำไปใช้ก่อสร้างบ้านพักตากอากาศให้กับนักการเมืองระดับชาติคนหนึ่งนั้น นายโสภณกล่าวว่า เชื่อว่าไม่มีเรื่องเช่นนั้น แต่ต้องมีการตรวจสอบเพื่อทำให้เกิดความกระจ่าง

        ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า "เขาใหญ่" คือพื้นที่ที่ได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก ให้เป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ ภายใต้ชื่อกลุ่ม "ดงพญาเย็น-เขาใหญ่" รวมกับพื้นที่ทับลาน ปางสีดา ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ เข้าไว้ด้วยกัน และกว่าที่ "เขาใหญ่" จะก้าวขึ้นมาสู่มรดกโลก กลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ต้อนรับการมาเยือนของคนทั่วโลกได้มากมายถึงเพียงนี้ ต้องต่อสู้กับกลุ่มทุนที่มีอิทธิพล ที่รุกล้ำเข้ามาหาผลประโยชน์กับพื้นที่แห่งนี้มานักต่อนัก และมีประวัติมายาวนาน

เขาใหญ่

เขาใหญ่

เขาใหญ่

เขาใหญ่



        ไล่เรียงมาตั้งแต่สมัยปี พ.ศ.2502 ก่อนที่รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะขึ้นทะเบียนเขาใหญ่เป็นพื้นที่สงวน สถานที่แห่งนี้ถูกลอบตัดไม้ทำลายป่าอย่างหนัก และแม้จะมีกฎหมายก็ไม่สามารถจัดการอะไรได้นัก ในปี พ.ศ.2505 จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติขึ้น และตั้งเขาใหญ่เป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งถือเป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกของประเทศไทย ก่อนจะได้ตัดถนนธนะรัชต์ แยกออกมาจากถนนมิตรภาพเพื่อมุ่งตรงสู่เขาใหญ่ได้อย่างสะดวก จนต่อมาในปี พ.ศ.2523 ได้มีการตัดถนนสายปราจีนบุรี-เขาใหญ่ เพื่อให้เดินทางสู่เขาใหญ่ และน้ำตกเหวนรกได้สะดวกยิ่งขึ้น

        มาจนถึงสมัยที่น้าชาติ หรือ พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ ในช่วงปี พ.ศ.2531-2534 "เขาใหญ่" จึงได้รับการพัฒนาเส้นทางคมนาคม ระบบสาธารณูปโภค ซึ่งอาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งของ "เขาใหญ่" อยู่ในพื้นที่ที่ พล.อ.ชาติชาย เป็น ส.ส. ทำให้ยุคนั้น "เขาใหญ่" บูมสุด ๆ จนมีนักธุรกิจมากหน้าหลายตาเข้ามาจับจองสร้างสนามกอล์ฟ รวมทั้งยังทำให้เกิดโรงแรม รีสอร์ท ขนาดใหญ่รอบ ๆ พื้นที่ เช่นเดียวกับร้านอาหาร ไร่องุ่น โรงงานต่าง ๆ ก็ผุดขึ้นมาพร้อม ๆ กัน แต่หลังจากหมดยุคน้าชาติ เข้าสู่รัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน "เขาใหญ่" กลับมาเงียบเหงาและซบเซาที่สุด เมื่อ ครม. มีมติให้ย้ายสถานประกอบการทั้งหมดออกจากเข้าใหญ่ เพราะกลัวว่าสภาพพื้นที่จะเสื่อมโทรมจากมลพิษ และการบุกรุกที่ดินที่มีให้เห็นอยู่ตลอดเวลา

        "เขาใหญ่" กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง หลังปี พ.ศ.2540 ที่ผ่านพ้นยุคเศรษฐกิจตกต่ำที่สุดไปได้ เพราะบรรดาเศรษฐีพากันนิยมซื้อบ้านในที่สูงในต่างจังหวัดกัน เพราะกลัวปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ ทำให้ "เขาใหญ่" กลายเป็นตัวเลือกแรก ๆ ของบรรดาคนกระเป๋าหนัก ซึ่งนับว่าเป็นโชคดีที่ปี พ.ศ.2548 อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทับลาน ปางสีดา ตาพระยา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ได้รับการประกาศให้เป็น "มรดกโลกทางธรรมชาติ" จากองค์การยูเนสโก ภายใต้ชื่อกลุ่ม "ดงพญาเย็น-เขาใหญ่" ทำให้คนหันมาสนใจและอนุรักษ์เขาใหญ่มากยิ่งขึ้น 

        หลังจากนั้น "เขาใหญ่" ก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิตที่ของนักท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ ไม่ว่าจะชาวไทย และชาวต่างประเทศ ซึ่งแต่ละปี "เขาใหญ่" ต้องรองรับผู้มาเยือนจำนวนมหาศาล ทำให้ผู้ประกอบการเห็นช่องทางธุรกิจ จึงได้มีการขยายธุรกิจบริเวณโดยรอบเขาใหญ่ขึ้นมาราวกับดอกเห็ด นำมาสู่ปัญหาที่เริ่มสะสมกันมาเรื่อย ๆ และเมื่อความเจริญเริ่มเข้ามา ก็เริ่มเบียดบังธรรมชาติ และระบบนิเวศที่ควรจะเป็น

        เช่นเดียวกับกรณีการตัดถนนเพิ่มขึ้น แม้จะเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับการท่องเที่ยว ไม่ให้การจราจรติดขัด โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล แต่อีกมุมหนึ่งก็ยังมีคนมองว่า เป็นการรุกล้ำมรดกโลกผืนนี้มากเกินไปหรือไม่

เขาใหญ่

เขาใหญ่



        โดยนายสุรพล ดวงแข ประธานเครือข่ายสิ่งแวดล้อมไทย ได้แสดงความเห็นไว้ว่า การสร้างถนนในเขตป่าอนุรักษ์เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นนานแล้ว ระหว่างกรมทางหลวงกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) การตัดต้นไม้ใหญ่เพื่อขยายถนนธนะรัชต์ นอกจากกรมทางหลวงทำงานแบบลักไก่โดยไม่หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ทส. ยังละเลยปฏิบัติหน้าที่ เนื่องจาก ทส. เป็นเลขาธิการคณะกรรมการมรดกโลก ทราบดีว่าพื้นที่ดังกล่าวจัดอยู่ในเขตกันชน (Buffer Zone) ซึ่งอยู่ในเงื่อนไขมรดกโลกที่ต้องเข้าไปบริหารจัดการแนวทางอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม อ้างว่าอยู่นอกเขตอุทยานฯ ไม่ได้ และยังปัดสวะให้กรมทางหลวงรับผิดชอบ

        นายสุรพล ยังกล่าวต่ออีกว่า การขยายถนนครั้งนี้สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตรงในพื้นที่ คือ ทำลายทรัพยากรธรรมชาติป่าไม้ มีการตัดไม้ใหญ่ ๆ เช่น ต้นตะแบก ที่เป็นที่อยู่ของนกแก้วหัวแพร เป็นการทำลายทัศนียภาพที่สวยงาม โดยไม่คำนึงถึงความรู้สึกของประชาชนที่รักและหวงแหนป่าเขาใหญ่

        "นับตั้งแต่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ได้รับการประกาศเป็นมรดกโลกเมื่อ 5 ปีที่แล้ว ทส. ยังไม่เคยบริหารจัดการพื้นที่ในเขตกันชน เช่น การจัดตั้งสำนักงานกลาง และมีคณะทำงานเชื่อมโยงกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีส่วนร่วมในโครงการของภาครัฐ เมื่อกรมทางหลวงเข้าไปขยายถนนในพื้นที่กันชน กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงไม่รู้เรื่องและมีข้อพิพาทกับกรมทางหลวง เมื่อเกิดเหตุการณ์ตัดไม้ขึ้นแล้ว ไม่สามารถระงับยับยั้งได้ทัน" นายสุรพลกล่าว

        ขณะที่นายหาญณรงค์ เยาวเลิศ นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในฐานะที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการสิ่งแวดล้อม วุฒิสภา กล่าวว่า ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการทำงานไม่สอดคล้องกันระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และกฎระเบียบที่ล้าสมัย ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน โดยกรมทางหลวงอาศัยช่องว่างกฎหมายเข้าไปตัดต้นไม้โดยไม่เปิดโอกาสให้ประชาชน หรือผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้าไปแสดงความคิดเห็น ที่สำคัญคือ เขาใหญ่เป็นมรดกโลก การจะดำเนินการใด ๆ ต้องนำเรื่องเข้าคณะกรรมการมรดกโลกประเทศไทย แต่เมื่อไม่ปฏิบัติ ตนคิดว่าทางยูเนสโกจะต้องทำเรื่องทักท้วงและตั้งคำถามในเหตุการณ์นี้ ตนตั้งข้อสังเกตว่า เรื่องนี้อาจจะเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ธุรกิจรีสอร์ท โรงแรม และอาจจะมีแผนตัดถนนไปจนถึงเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

        "ที่ผ่านมา กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพยายามควบคุมปริมาณนักท่องเที่ยว ให้เหมาะสมกับศักยภาพของอุทยานแห่งชาติแต่ละแห่ง โดยเฉพาะเขาใหญ่เป็นแหล่งท่องเที่ยวอันดับ 1 ก็ควรที่จะทำเรื่องนี้ให้จริงจัง ไม่ควรปล่อยให้สร้างถนนเพื่อมีคนไปเที่ยวเพิ่มขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหามลพิษและขยะมากขึ้นตามไปด้วย" นายหาญณรงค์กล่าว


เขาใหญ่

เขาใหญ่



        ด้านชาวบ้านเขาใหญ่ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ก่อนที่จะมีการก่อสร้างโครงการนี้ กรมทางหลวงไม่เคยมาสอบถามทำประชาพิจารณ์ก่อนว่า ต้องการให้มีการขยายถนนหรือไม่ แต่อยู่ดี ๆ ผู้รับเหมาก็นำเครื่องจักรเข้ามาตัดต้นไม้ขนาดใหญ่จนหมด ทำให้ชาวบ้านรู้สึกเสียดายมากที่ต้องเสียบรรยากาศความร่มรื่นของสองข้างทางออกไป โดยเฉพาะอุโมงค์ต้นไม้ ที่สูญเสียไปแบบไม่มีทางเรียกคืนมาได้อีกแล้ว

        ส่วนเรื่องการตัดถนน ชาวบ้านก็มองว่า ไม่น่าจะช่วยแก้ปัญหาการจราจรติดขัดที่จะมุ่งหน้าสู่เขาใหญ่ได้ เพราะมีการตัดถนนเพียง 10 กิโลเมตร เท่านั้น พอพ้นเลยไป รถก็จะไปติดขัดที่บริเวณคอขวด ซึ่งเป็นถนน 2 เลน ที่จะมุ่งหน้าสู่เขาใหญ่อยู่ดี

        และนี่คือหนึ่งในหลาย ๆ เสียงที่แสดงความไม่เห็นด้วยต่อการขยายถนนสู่ "เขาใหญ่" ซึ่งพวกเขาต่างก็หวั่นเกรงว่า เมื่อความเจริญเข้ามาสู่ผืนป่าแห่งนี้ พร้อม ๆ กับปัญหา "เขาใหญ่" ย่อมสุ่มเสี่ยงกับการถูกถอดออกจาก "มรดกโลก" หากไม่สามารถรักษาความเป็นธรรมชาติ และคงเสน่ห์ของ "เขาใหญ่" เอาไว้ได้ดังเดิม



 อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
   

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เขาใหญ่ ฤาจะเป็นแค่ตำนานมรดกโลก อัปเดตล่าสุด 7 มิถุนายน 2553 เวลา 16:36:47 31,438 อ่าน
TOP