x close

ไทยร่อนหนังสือถึงยูเอ็น โต้เขมร 5 ประเด็น


เขาพระวิหาร


เขาพระวิหาร


เขาพระวิหาร



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          อภิสิทธิ์ ลงนามส่งหนังสือถึงยูเอ็น แจงข้อเท็จจริง 5 ข้อ กรณีพิพาท เขาพระวิหาร หลังกัมพูชากล่าวหาไทยจ้องให้กำลังทหารจัดการปัญหา ยันยึดสันติ

          เมื่อวันที่ 10 ส.ค.ที่ผ่านมา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ได้ลงนามในหนังสือชี้แจงกรณีพิพาท เขาพระวิหาร เพื่อส่งถึงสหประชาชาติ หรือยูเอ็น แล้ว หลังจากที่สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ส่งหนังสือถึงยูเอ็น โดยระบุว่าไทยละเมิดบันทึกความเข้าใจ เอ็มโอยู ไทย-กัมพูชา ปี 2543 ซึ่งนายกฯ กล่าวว่า หนังสือดังกล่าวจะทำให้เกิดความกระจ่างในข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และไม่ใช่หนังสือประท้วง

          ทั้งนี้ เนื้อความในจดหมายมีการอธิบายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวโดยแบ่งเป็น 5 ประเด็น ดังนี้

          1. คำอ้างของนายกรัฐมนตรีกัมพูชาที่อ้างอิงถึงการเขียนข่าวนั้น มันไม่ใช่คำพูดของตน

          2. ประเทศไทยกับกัมพูชาเป็นประเทศเพื่อนบ้านอยู่ในกลุ่มอาเซียนด้วยกัน แม้ที่ผ่านมามีปัญหาหลายเรื่อง แต่ความสัมพันธ์ ความร่วมมือ และการช่วยเหลือต่าง ๆ ยังมีต่อเนื่อง

          3. ประเทศไทยยังยึดถือหลักการของยูเอ็นมาตลอด คือ การแก้ปัญหาโดยสันติวิธี และปัญหานี้ที่มีอยู่ก็มีเอ็มโอยูดังกล่าวเป็นกรอบการดำเนินการ

          4. ไทยเคารพและปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลโลกมาตลอด ไม่มีตรงไหนที่ไปละเมิดหรือบกพร่อง เพราะเราให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับคำพิพากษา

          5. ปัญหาขณะนี้เป็นเพราะกัมพูชารุกล้ำเข้ามาในเขตดินแดนไทยตามสนธิสัญญา สยาม-ฝรั่งเศส และยังมีปัญหาของทหารอีกด้วย เพราะฉะนั้นเราจึงมีสิทธิ์ในการปกป้องอธิปไตยของเรา แต่เราจะดำเนินการใช้สันติวิธีตามหลักการของยูเอ็น

          นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า กรณีที่ สมเด็จฯ ฮุน เซน บอกว่าอาจจะเกิดการนองเลือดระหว่างไทย-กัมพูชา นั้น ตนคงคิดแทนหรือตอบแทนไม่ได้ แต่อาจเป็นไปได้ว่าเพราะนายกฯ กัมพูชา เห็นข่าวในประเทศไทยว่ามีการเคลื่อนไหว ก็คงมีความกังวลในเรื่องการปะทะกัน ซึ่งเป็นธรรมดา อย่างไรก็ตาม ตนคิดว่าสถานการณ์ยังไปไม่ถึงขั้นนั้น เพราะในส่วนของรัฐบาลไทยประกาศชัดเจนว่าจะปฏิบัติตามหลักสากลอยู่แล้ว



เขาพระวิหาร


          ขณะที่ นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทวงการต่างประเทศ ได้กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวว่า นายกฯ อภิสิทธิ์ ได้อธิบายไปในจดหมาย ถึงจุดยืนของประเทศไทยที่มีการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี เกี่ยวกับข้อพิพาทในพื้นที่ชายแดนรอบปราสาทพระวิหารกับกัมพูชา นอกจากนี้ นายกษิต ยังได้ถ่ายทอดข้อความเดียวกันนี้ ในที่ประชุมกับเอกอัครราชทูต ทั้ง 8 ชาติสมาชิกอาเซียนได้แก่ บรูไน, อินโดนีเซีย, ลาว, มาเลเซีย, พม่า, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์ และเวียดนาม ยกเว้นกัมพูชา

          พร้อมกันนี้ ทางกระทรวงต่างประเทศได้รวบรวมเอกสารการดำเนินการของกระทรวง กรณีกัมพูชารุกล้ำเขตประเทศไทย ในพื้นที่บริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับ ปราสาทเขาพระวิหาร ไว้ถึง 16 ครั้งด้วยกัน ได้แก่...

          ครั้งที่ 1 หนังสือ กต.ลงวันที่ 25 พ.ย.2547 เป็นหนังสือจากดร.ประชา คุณะเกษม ประธาน JBC ไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ทำถึงประธาน JBC (ฝ่ายกัมพูชา) ประท้วงการก่อตั้งชุมชนกัมพูชา บริเวณทางขึ้นปราสาท ซึ่งเป็นการขัดต่อข้อ 5 ของ MOU ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมไทย-กัมพูชา ปี 2543 และก่อให้เกิดปัญหาขยะมูลฝอย และปัญหาน้ำเสีย ส่งผลกระทบต่อชุมชนไทย รวมทั้งได้ประท้วงถึงการก่อสร้างสถานที่ทำการของหน่วยงานท้องถิ่นกัมพูชาใน บริเวณดังกล่าวด้วย

          ครั้งที่ 2 หนังสือ กต.ด่วน ลงวันที่ 8 มี.ค.2548 เป็นหนังสือจากดร.ประชา คุณะเกษม ประธาน JBC ไทย-กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ทำถึงประธาน JBC (ฝ่ายกัมพูชา) ประท้วงการก่อสร้างพัฒนาถนนจากบ้านโกมุยขึ้นสู่ประสาทพระวิหาร ซึ่งมีผลเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิประเทศในพื้นที่ซึ่งทั้งสองฝ่ายยังมีความเห็น แตกต่างกันในเรื่องเขตแดน อันเป็นการขัดต่อข้อ 5 ของ MOU ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบกร่วมไทย-กัมพูชา ปี 2543

          ครั้งที่ 3 หนังสือลงวันที่ 17 พ.ค.2550 เป็นบันทึกช่วยจำ เพื่อคัดค้านการขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก โดยฝ่ายไทยยื่นให้กัมพูชา และสำเนาให้ประธานคณะกรรมการมรดกโลกทราบด้วย

          ครั้งที่ 4 หนังสือ กต. ลงวันที่ 10 เม.ย.2551 บันทึกช่วยจำเพื่อยืนยันการประท้วงต่อปัญหาต่างๆในพื้นที่บริเวณปราสาทพระ วิหารซึ่งไทยได้เคยประท้วงไปแล้ว และประท้วงเพิ่มเติมในประเด็นกัมพูชาวางกำลังทหารรวมทั้งส่งหน่วยเก็บกู้ ระเบิดเข้าดำเนินการในพื้นที่

          ครั้งที่ 5 หนังสือลงวันที่ 15 ต.ค.2551 บันทึกช่วยจำ ประท้วงเรื่องทหารกัมพูชายิงทหารไทยในพื้นที่ใกล้ภูมะเขือ ซึ่งอยู่ในเขตแดนไทย และทหารกัมพูชารุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ใกล้ภูมะเขือ ซึ่งอยู่ในเขตแดนไทย

          ครั้งที่ 6 หนังสือลงวันที่ 16 ต.ค.2551 บันทึกช่วยจำ ประท้วงเรื่องทหารกัมพูชายิงทหารไทยในพื้นที่ประชิดผามออีแดง ซึ่งอยู่ในเขตแดนไทยเมื่อวันที่ 15 ต.ค.2551 และประท้วงหนังสือกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา เลขที่ 1678 MFA-IC/LC4 ลงวันที่ 15 ต.ค.2551 กล่าวหาทหารไทยได้ปะทะกับทหารกัมพูชาในพื้นที่ 3 พื้นที่บริเวณประชิดปราสาทพระวิหาร

          ครั้งที่ 7 หนังสือลงวันที่ 17 ต.ค.2551 บันทึกช่วยจำ ชี้แจงการดำเนินการเก็บกู้ทุ่นระเบิดของไทย เมื่อวันที่ 13 ต.ค.2551 บริเวณใกล้เคียงปราสาทพระวิหารว่าเป็นการำเนินการอยู่ในเขตแดนไทย

          ครั้งที่ 8 หนังสือลงวันที่ 11 พ.ย.2551 บันทึกช่วยจำ ประท้วงกัมพูชากรณีชาวกัมพูชาและเจ้าหน้าที่ UNESCO เดินทางผ่านเข้ามาในไทยโดยไม่ได้ขออนุญาต เพื่อเข้าร่วมพิธีปักธงบริเวณปราสาทพระวิหารและพื้นที่ใกล้เคียง

          ครั้งที่ 9 หนังสือลงวันที่ 12 พ.ย.2551 บันทึกช่วยจำ  ประท้วงเรื่องกัมพูชาตั้งเสาธงชาติกัมพูชา 3 เสา และธง UNESCO 1 เสา บริเวณตัวปราสาทและบริเวณข้างเคียง และก่อสร้างป้ายบริเวณแนวบันไดปราสาทพระวิหาร ,ประท้วงกรณีเจ้าหน้าที่กัมพูชาเดินทางผ่านเข้ามาในเขตแดนไทยเพื่อเข้าร่วม ในพิธีตั้งธงดังกล่าวโดยมิได้ขออนุญาตทางการไทย และประท้วงกรณีกัมพูชามีกำหนดจัดพิธีกรรมทางศาสนาในวันที่ 12 พ.ย.2552 ณ วัดแก้วสิขาคีรีสะวารา ซึ่งอยู่ในเขตแดนไทย

          ครั้งที่ 10 หนังสือลงวันที่ 13 พ.ย.2551 บันทึกช่วยจำ ประท้วงกรณีกัมพูชานำพระ เณร และประชาชนชาวกัมพูชาเข้าร่วมพิธีกฐิน ณ วัดแก้วสิขาคีรีสะวารา

          ครั้งที่ 11 หนังสือลงวันที่ 17 ธ.ค.2551 บันทึกช่วยจำ ชี้แจงต่อฝ่ายกัมพูชาในกรณีพิธีกฐิน ณ วัดแก้วสิขาคีรีสะวารา , ข้อเท็จจริงของ Dangrek Map และประเด็นเกี่ยวข้องกับการพบทุ่นระเบิดที่ภูมะเขือ

          ครั้งที่ 12 หนังสือกลาง ลงวันที่ 10 มี.ค.2552 ประท้วงกรณีฝ่ายกัมพูชาทำการก่อสร้างและพัฒนาถนนจากฝั่งกัมพูชาขึ้นสู่ ปราสาทพระวิหารถึงบริเวณวัดแก้วสิขาคีรีสะวารา ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551

          ครั้งที่ 13 หนังสือกลาง ลงวันที่ 26 มี.ค.2552 ประท้วงกรณีฝ่ายกัมพูชาดำเนินการก่อสร้างบริเวณวัดแก้วสิขาคีรีสะวารา ได้แก่ ก่อสร้างห้องน้ำ 2 ห้อง เมื่อวันที่ 16 ,22 ,และ 28 ม.ค.2552 และเตรียมการก่อสร้างกุฏิพระ เมื่อวันที่ 9 มี.ค.2552

          ครั้งที่ 14 หนังสือลงวันที่ 4 เม.ย.2552 บันทึกช่วยจำ ประท้วงและยืนยันท่าทีไทยกรณีปะทะกันระหว่างทหารไทยและทหารกัมพูชา บริเวณเขาพระวิหาร เมื่อวันที่ 3 เม.ย.2552

          ครั้งที่ 15 หนังสือลงวันที่ 23 ก.ย.2552 บันทึกช่วยจำกรณีกัมพูชาสร้างตลาดและชุมชนบริเวณปราสาทพระวิหาร

          ครั้งที่ 16 หนังสือ กต.ลงวันที่ 9 เม.ย.2553 ประท้วงกรณีกัมพูชาก่อสร้างกุฏิพระเพิ่มเติม ที่วัดแก้วสิขาคีรีสะวารา



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก















เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไทยร่อนหนังสือถึงยูเอ็น โต้เขมร 5 ประเด็น อัปเดตล่าสุด 11 สิงหาคม 2553 เวลา 15:38:48 16,682 อ่าน
TOP