x close

ทึ่งเรือชาวมอแกน นอร์เวย์เชิญไปโชว์

เรือก่าบาง


เรือก่าบาง


เรือก่าบาง


เรือก่าบาง



ทึ่งเรือชาวมอแกน นอร์เวย์เชิญไปโชว์ (ไทยโพสต์)

          ทึ่ง! ชาวเล "มอแกน" เกาะสุรินทร์ จ.พังงา โกอินเตอร์ นำเรือ "ก่าบาง" ต่อแบบไร้ตะปูไปจัดแสดงประกบเรือไวกิ้งที่ประเทศนอร์เวย์เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พร้อมเชิญสองพี่น้องชาวมอแกนบินลัดฟ้าไปประชุมวิถีชีวิตชาวทะเลในเร็ว ๆ นี้ เผยชาวนอร์เวย์ประทับใจชาวเลยังอนุรักษ์เรือท้องถิ่นคงอยู่ รมว.วธ.สั่ง สวช.ดูแลภูมิปัญญาสร้างเรือก่าบาง

          เมื่อวันที่ 13 กันยายน ดร.นฤมล อรุโณทัย หัวหน้าโครงการนำร่องอันดามัน สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ได้รับแจ้งจากนายตะวัน และนายสุริยัน กล้าทะเล สองพี่น้องชาวมอแกน เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา ว่าทางพิพิธภัณฑ์คอนติกิ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์ที่มีชื่อเสียงของประเทศนอร์เวย์ ได้ติดต่อทั้งสองคนไปร่วมประชุมวิชาการเรื่อง The man in the ocean เพื่อพูดคุยเรื่องวิถีชีวิตในทะเลให้ชาวนอร์เวย์ฟังในช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ หลังจากเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา พิพิธภัณฑ์คอนติกิก็ได้พาสองพี่น้องชาวมอแกนพร้อมกับนำเรือก่าบาง ซึ่งเป็นทั้งเรือประมงและบ้านพักอาศัย ไปร่วมแสดงและแล่นเคียงคู่กับเรือไวกิ้งที่ประเทศนอร์เวย์ ปรากฏว่ามีคนสนใจเรือก่าบางอย่างมาก

          หัวหน้าโครงการนำร่องอันดามันกล่าวว่า สาเหตุที่ประเทศนอร์เวย์สนใจเรือก่าบางของชาวมอแกน เนื่องจากมีทีมงานถ่ายทำสารคดีของประเทศนอร์เวย์ได้เดินทางมาทำงานเรื่องวิถีชีวิต วัฒนธรรมและประเพณีของชาวเลที่เกาะสุรินทร์ เขาเห็นชาวมอแกนใช้เรือก่าบางเป็นที่อยู่อาศัยเคลื่อนย้ายไปมาในทะเลอันดามัน อีกทั้งยังเป็นเรือที่มีรูปลักษณ์โดดเด่นและต้องใช้เทคนิคการต่อเรือจากผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะเท่านั้น ก็สนใจและตื่นเต้นมาก จึงบันทึกเรื่องราวนำไปเผยแพร่ที่ประเทศนอร์เวย์ จึงทำให้พิพิธภัณฑ์คอนติกิได้เชิญไปร่วมแสดงเรือดังกล่าว

          "ชาวนอร์เวย์และพิพิธภัณฑ์คอนติกิให้ความสนใจเรือก่าบาง เพราะในประวัติศาสตร์ของชาวนอร์เวย์จะใช้เรือไวกิ้งสำหรับเดินทาง แต่ปัจจุบันไม่มีการใช้เรือไวกิ้งในชีวิตประจำวันแล้ว เมื่อทางพิพิธภัณฑ์คอนติกิทราบว่ามีชนเผ่าพื้นเมืองของประเทศไทยยังสามารถอนุรักษ์เรือโบราณ ซึ่งเป็นภูมิปัญญาเฉพาะถิ่นพื้นเมือง โดยยังใช้เรือดังกล่าวในชีวิตประจำวันอยู่ จึงรู้สึกทึ่งและประหลาดใจ รวมทั้งอยากยกย่องว่าประเทศไทยสามารถรักษาภูมิปัญญาดังกล่าวเอาไว้ได้" ดร.นฤมลเผย

          การที่ชาวมอแกนได้ไปถ่ายทอดวิถีชีวิตในทะเลให้ชาวต่างชาติถือเป็นเรื่องที่ดี และเห็นว่าเรายังสามารถรักษาวัฒนธรรมพื้นบ้านเอาไว้ได้ แต่ที่ยังไม่มีใครทราบเรื่องนี้ เพราะชาวมอแกนที่เกาะสุรินทร์กลัวว่าพวกเขาจะมีปัญหากับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ ซึ่งอาจจะคิดว่าชาวมอแกนลักลอบตัดต้นไม้มาสร้างเรือ เรื่องแบบนี้คิดว่าทางกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช น่าจะทำความเข้าใจเรื่องวิถีชีวิตของชาวมอแกนเหล่านี้ เพราะพวกเขาจำเป็นต้องใช้ไม้มาสร้างเรือเพื่อจับปลิง หาปลา และเรือ 1 ลำก็ใช้งานได้หลายปี

          "จากการศึกษาและเก็บข้อมูลเรื่องวิถีชีวิตชาวเลอันดามัน โดยลงพื้นที่สำรวจวิถีชีวิตของชาวมอแกนและอูรักลาโว้ย ที่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา พบว่าขณะนี้ชาวมอแกนที่เกาะสุรินทร์ยังพยายามที่จะรักษาวัฒนธรรมประเพณีการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพ โดยเฉพาะการดำน้ำหาปลาและจับปลิงไปขาย รวมทั้งการสร้างเรือก่าบางซึ่งเป็นเรือที่มีลักษณะพิเศษ เพราะเป็นเรือที่ไม่ใช้ตะปูสร้างเลย ถือเป็นเทคนิคพิเศษที่หาไม่ได้อีกแล้วสำหรับการต่อเรือในปัจจุบัน" ดร.นฤมลกล่าว

          ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ให้สัมภาษณ์ว่า การที่ชาวนอร์เวย์ต่างพากันชื่นชมและยกย่องภูมิปัญญาการสร้างเรือก่อบางของชาวมอแกนในท้องทะเลอันดามัน ถือเป็นเรื่องที่ดีและเห็นด้วยที่ควรอนุรักษ์ภูมิปัญญานี้ไว้ ซึ่งเรื่องนี้สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ (สวช.) เป็นผู้ดูแล เรื่องนี้ถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของชาวมอแกนที่พร้อมให้การสนับสนุน โดยในเดือนตุลาคมนี้ได้เชิญฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมครั้งแรกเกี่ยวกับการสร้างเขตพื้นที่วัฒนธรรมพิเศษชาวเล เพื่อสอบถามความคืบหน้าว่าจะดำเนินการตามแผนได้เมื่อไหร่





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก มอแกน
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทึ่งเรือชาวมอแกน นอร์เวย์เชิญไปโชว์ อัปเดตล่าสุด 14 กันยายน 2553 เวลา 16:45:49 42,121 อ่าน
TOP