x close

ไทยพบกบพันธุ์ใหม่ ห้วยขาปุ่มจารุจินต์




ไทยพบกบพันธุ์ใหม่ ห้วยขาปุ่มจารุจินต์ (ไอเอ็นเอ็น)


          นักชีววิทยา จุฬาฯ ค้นพบกบชนิดใหม่ของโลก ตั้งชื่อ "กบห้วยขาปุ่มจารุจินต์" อาศัยอยู่ตามลำธารน้ำในป่าบริเวณภาคตะวันตกจนถึงภาคใต้ เพิ่งตีพิมพ์ลงวารสารวิชาการนานาชาติวันที่ 20 ก.ย.ที่ผ่านมา ระบุสะท้อนถึงความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศไทย

          ผศ.ดร.วิเชฏฐ์ คนซื่อ นักวิชาการหน่วยสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกและสัตว์เลื้อยคลาน ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จากการทำงานร่วมกับ ศ.ดร.สมศักดิ์ ปัญหา ภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และ ศ.ดร.มาซาฟุมิ มัตซุย จากมหาวิทยาลัยเกียวโต ประเทศญี่ปุ่น ได้ค้นพบกบชนิดใหม่ของโลก ตั้งชื่อว่ากบห้วยขาปุ่ม "จารุจินต์" เพื่อเป็นเกียรติแก่อาจารย์จารุจินต์ นภีตะภัฏ ผู้เชี่ยวชาญด้านความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตในประเทศไทย หลังจากนำตัวอย่างกบไปตรวจสอบลักษณะทางสัญฐานวิทยาและสายพันธุกรรม เพื่อวิเคราะห์และเปรียบเทียบตัวอย่างกบชนิดอื่นๆ พบว่ามีลักษณะไม่เหมือนกบชนิดใดในโลก จึงได้นำผลงานค้นพบครั้งนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ลงในวารสารวิชาการนานาชาติเกี่ยวกับการจำแนกรายชื่อสิ่งมีชีวิตในโลก เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2553

          ผศ.ดร.วิเชฏฐ์กล่าวว่า กบชนิดใหม่นี้สำรวจพบในบริเวณภาคตะวันตกลงไปทางภาคใต้ของไทย เช่น เขาแหลม ทองผาภูมิ เขาวังเขมร จังหวัดกาญจนบุรี แก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี เขาสก คลองแสง จังหวัดสุราษฎร์ธานี เขาหลวง จังหวัดนครศรีธรรมราช และเกาะยาวใหญ่ จังหวัดพังงา การทำงานครั้งนี้อยู่ภายใต้โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โดยได้รับการสนับสนุนจากกองทัพเรือ และสำนักงานทหารพัฒนา หน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการทหารสูงสุด

          กบห้วยขาปุ่มจารุจินต์เป็นสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่อาศัยอยู่ในน้ำเกือบตลอดเวลา จัดเป็นกบลื่น มีลักษณะเด่นคือ ลำตัวจะมีเมือกเคลือบอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ผิวหนังลื่น ลำตัวอ้วนป้อม มีขนาดปานกลางยาว 6-7 เซนติเมตร สามารถพบเห็นได้ตามแหล่งที่มีน้ำขังตลอดปี เช่น ลำธารน้ำตื้น ๆ ในป่า มีพืชปกคลุมหรือตามแอ่งน้ำตก นอกจากนั้น ตีนหลังยังมีพังผืดเต็มเพื่อช่วยว่ายน้ำ และตาจะอยู่ค่อนขึ้นมาทางด้านบนของส่วนหัว เพื่อช่วยในการมองเห็นบนบกขณะที่ลำตัวอยู่ใต้น้ำ

          ผู้เชี่ยวชาญเรื่องกบระบุว่า ลักษณะรูปร่างกบชนิดนี้คือ มีหัวมีขนาดใหญ่เมื่อเทียบกบชนิดอื่น ๆ ปลายจมูกแหลม ขาหน้าใหญ่และสั้น ขาหลังใหญ่และมีความยาวประมาณ 3 เท่าของขาหน้า บริเวณขาหลังมีตุ่มขนาดเล็กกระจายทั่วตัว ลำตัวสีน้ำตาล ออกไข่ขนาดใหญ่ประมาณเม็ดสาคู เส้นผ่าศูนย์กลาง 2 มม. วางไข่เป็นเม็ดจมอยู่ใต้น้ำ ไข่เป็นเม็ดเดี่ยว ๆ ไม่เกาะกันเป็นแพ

          "การค้นพบกบชนิดใหม่สะท้อนให้เห็นถึงความหลากหลายทางชีวภาพ ในแง่องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติได้มากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นสัตว์ที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศป่าไม้และวงจรห่วงโซ่อาหาร คือกินแมลงและช่วยควบคุมจำนวนประชากรแมลงที่เป็นศัตรูพืช แต่สถานการณ์ประชากรกบในประเทศไทยถือว่ามีจำนวนลดลงเรื่อย ๆ เพราะปัญหาการรุกล้ำถิ่นที่อยู่อาศัยของกบ การตัดไม้ทำลายป่า การใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง ซึ่งมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม" ผศ.ดร.วิเชฏฐ์กล่าว



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไทยพบกบพันธุ์ใหม่ ห้วยขาปุ่มจารุจินต์ อัปเดตล่าสุด 27 กันยายน 2553 เวลา 15:19:45 9,002 อ่าน
TOP