x close

เผย 10 ข้อด้อย ข้าวไทย จ่อเสียแชมป์ให้เวียดนาม

 



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

            นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากบทวิเคราะห์ผลศึกษาทางรอดข้าวไทย เพื่อการแข่งขันในตลาดอาเซียน พบว่า ในปีนี้ประเทศไทยมีปริมาณการส่งออกข้าว 10 ล้านตัน ขณะที่เวียดนามมีปริมาณส่งออก 6 ล้านตัน

            อย่างไรก็ตาม ตลอด 5 ปีที่ผ่านมาเวียดนามทำตลาดเชิงรุกมาโดยตลอด ทำให้สัดส่วนการส่งออกข้าวเวียดนามในอาเซียนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 47 เป็นร้อยละ 59.9 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 12 ขณะที่ข้าวไทยมีส่วนแบ่งการส่งออกลดลงจากร้อยละ 49.5 เหลือร้อยละ 39.6 เท่ากับลดลงร้อยละ 10 ซึ่งหากรัฐบาลยังไม่เร่งแก้ไขปัญหานี้ จะทำให้ในอีก 10 ปีข้างหน้า ปริมาณการส่งออกข้าวของประเทศไทยจะลดต่ำลงเหลือ 8.6 ล้านตัน คือลดลงร้อยละ 14  ขณะที่เวียดนามจะส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 7.5 ล้านตัน ซึ่งถือว่าขยายตัวจากเดิมถึงร้อยละ 25 และในอนาคตจะส่งออกข้าวแซงหน้าประเทศไทยได้ในที่สุด


        ทั้งนี้ สำหรับสาเหตุที่ทำให้ข้าวไทยสู้เวียดนามไม่ได้นั้นมี 10 ข้อก็คือ

            1. ผลผลิตข้าวต่อไร่ของเวียดนามสูงกว่าไทย โดยในปี 53/54 เวียดนามมีผลผลิตข้าวสูงเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน ส่วนข้าวไทยมีผลผลิตเป็นอันดับ 13 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 7 ของอาเซียน และยังมีผลผลิตต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของโลก

            2. เวียดนามมีต้นทุนการปลูก และผลิตข้าวต่ำกว่าไทยถึง 16.5% แต่ได้กำไรสูงกว่าถึง 67%

            3. ทางการเวียดนามได้ส่งเสริมให้ชาวนาใช้นโยบาย 3 ลด 3 เพิ่ม คือ ลดปริมาณเมล็ดให้เหมาะสมต่อพื้นที่เพาะปลูก ,ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และลดการใช้ยาปราบศัตรูพืช รวมทั้งการเพิ่มผลผลิต ,เพิ่มคุณภาพ และเพิ่มกำไร ซึ่งจากนโยบายดังกล่าวทำให้ชาวนาเวียดนามมีกำไรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 15-20

            4. ไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดส่งออกข้าวในอาเซียน มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 ขณะที่เวียดนามกลับส่งออกมากกว่าไทยแล้วถึง 23 เท่า

            5. ราคาข้าวของเวียดนามถูกกว่าไทยอย่างมาก โดยเมื่อปี 2548 ราคาข้าวไทยสูงกว่าเวียดนาม 30 ดอลลาร์สหรัฐ แต่เมื่อปี 2552 ที่ผ่านมา ราคาข้าวไทยสูงขึ้นกว่า 123 ดอลลาร์สหรัฐ

            6. เวียดนามใช้วิธีการทำการตลาดแบบทีมเดียว โดยรัฐจะเจรจาขายแบบรัฐต่อรัฐ ขณะที่ภาคเอกชนจะมีหน้าที่ส่งออก ซึ่งวิธีนี้ทำให้เวียดนามได้ตลาดนอกอาเซียนเพิ่มขึ้นหลายแห่ง
            
            7. เวียดนามเน้นการร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น กัมพูชา และพม่า เพื่อผลิตข้าวและแปรรูปสินค้าข้าว

            8. รัฐบาลเวียดนามส่งเสริมการผลิตข้าวอย่างเต็มที่ ทั้งให้การอุดหนุนลดต้นทุนการผลิต ยกเว้นภาษี ค่าธรรมเนียม ดอกเบี้ย และตั้งกองทุนช่วยเหลือ

            9. รัฐบาลเวียดนามบังคับให้พ่อค้าคนกลางที่จะรับซื้อข้าวจากชาวนา ต้องเหลือกำไรให้ชาวนาอย่างน้อย 30% ของต้นทุน และมีโครงการช่วยเหลือชาวนาด้านอื่น ๆ

            10. รัฐบาลเวียดนามเร่งเพิ่มการลงทุนตลาดค้าข้าวในต่างประเทศ เช่น ในฟิลิปปินส์ แทนซาเนีย กานา แอฟริกาใต้ และพม่า

            ด้วย 10 ข้อด้อยดังกล่าว นายอัทธ์ จึงเสนอ 4 มาตรการสำคัญ เพื่อให้ไทยเร่งปรับตัว ประกอบด้วย  การเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น ลดต้นทุนการผลิตข้าวให้ต่ำลง มีการปรับปรุงทางการตลาด รวมทั้งปรับปรุงคุณภาพ ให้มีความอร่อยและรสชาติต่างจากคู่แข่ง และสุดท้ายรัฐบาลต้องช่วยเหลือชาวนาให้อยู่รอดได้ โดยมีนโยบายช่วยเหลือให้ชาวนาได้กำไรจากการปลูกข้าวอย่างน้อย 30% ของต้นทุนการผลิตดังเช่นที่เวียดนาม

            ด้านนายสุเมธ ตันติเวชกุล ประธานกรรมการมูลนิธิข้าวไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า จำนวนผลผลิตข้าวไทยที่ลดลงต่อเนื่องนั้น ส่วนหนึ่งมาจากที่ผ่านมา ประเทศไทยมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมมากกว่า ทำให้แรงงานภาคเกษตรลดจำนวนลง ประกอบกับปัญหาแห้งแล้ง และน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอยู่ทุกปี รวมทั้งขาดการจัดการระบบทรัพยากรธรรมชาติที่ดี ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไป จะทำให้ภาคเกษตรกรรมและชาวนาอ่อนแอ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประเทศไทย ในฐานะการเป็นแหล่งอาหารของโลกอย่างแน่นอน




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 ,

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผย 10 ข้อด้อย ข้าวไทย จ่อเสียแชมป์ให้เวียดนาม อัปเดตล่าสุด 6 ตุลาคม 2553 เวลา 17:30:32 23,631 อ่าน
TOP