x close

รำลึก37 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

14 ตุลา

14 ตุลา


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก วิกิพีเดีย

          บรรยากาศงานรำลึก 37 ปี 14 ตุลา 2516 ประจำปี 2553 บริเวณอนุสรณ์สถาน 14 ตุลา แยกคอกวัว เมื่อเช้าวันนี้ (14 ตุลาคม) บรรดาญาติวีรชน ร่วมทำบุญตักบาตรพระสงฆ์จำนวนถึง 11 รูป พร้อมวางพวงมาลาสดุดีวีรชน รวมทั้งประกอบพิธีกรรมทางศาสนา 3 ศาสนาเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับวีรชนผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ โดยบรรยากาศในปีนี้เป็นไปค่อนข้างเงียบเหงา เพราะผู้ที่เข้าร่วมงานส่วนใหญ่มีเพียงญาติวีรชนเท่านั้น

          ขณะที่เวลา 09.00 น. ตัวแทนจากองค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน อาทิ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นตัวแทนนายกรัฐมนตรี นายสามารถ แก้วมีชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เป็นตัวแทนประธานรัฐสภา ตัวแทนจากพรรคเพื่อไทย และภาคประชาชน องค์กรสิทธิมนุษยชน เข้าร่วมวางพวงมาลา และกล่าวสดุดีวีรชนประชาธิปไตยด้วย โดยมีการรักษาความปลอดภัยภายในงานอย่างดี

เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516


          ทั้งนี้ เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หรือ วันมหาวิปโยค เป็นเหตุการณ์ที่นักศึกษาและประชาชนกว่า 5 แสนคน รวมตัวกันเรียกร้องรัฐธรรมนูญจากรัฐบาลเผด็จการ ของ จอมพลถนอม กิตติขจร สืบเนื่องมาจากการที่จอมพลถนอม ทำการรัฐประหารตัวเองในวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2514 โดยไม่ยอมเกษียณอายุราชการ เนื่องจากอายุครบ 60 ปีในขณะนั้น และได้จัดตั้งสภาบริหารคณะปฏิวัติขึ้น จนเป็นที่วิจารณ์ไปทั่ว

          ความขัดแย้งระหว่างนักศึกษากับรัฐบาลยิ่งเข้มข้นขึ้น ในเดือนเมษายน พ.ศ.2516 หลังจากเกิดเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ของทหารตกที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม นำไปสู่การเปิดโปงว่า เฮลิคอปเตอร์ของทหารบรรทุกซากสัตว์ที่มีคนล่ามาจากทุ่งใหญ่นเรศวรเป็นจำนวนมาก ทำให้นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประชาชนทั่วไปไม่พอใจ จนเกิดการรวมตัวของนิสิตนักศึกษากลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติฯ จาก 4 มหาวิทยาลัย ออกหนังสือเปิดโปงกรณีนี้ในเชื่อ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่"

          ต่อมานักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงได้ขยายผลต่อ โดยออกหนังสือ "มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ" จนทำให้ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงในขณะนั้น ตัดชื่อแกนนำนักศึกษา 9 คนออกจากมหาวิทยาลัย เหตุการณ์นี้เองนำไปสู่การประท้วง จนเกิดการชุมนุมของนักศึกษาในวันที่ 21 - 22 มิถุนายนที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ก่อนที่ในที่สุดนักศึกษาทั้ง 9 คนจะได้กลับสู่สถานะนักศึกษาตามเดิม และ ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ ลาออกจากตำแหน่ง

          จากนั้น เหตุการณ์เริ่มขมวดเกลียวยิ่งขึ้น ในวันที่ 6 ตุลาคม เมื่อมีบุคคลหลากหลายอาชีพลงชื่อเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และมีการแจกใบปลิวไปทั่วกรุงเทพฯ แต่ทางตำรวจนครบาลได้จับกุมแกนนำ 11 คนไว้ โดยอ้างว่า เป็นการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์  พร้อมประกาศจับอีก 2 คน รวมเป็น 13 คน ซึ่งทั้งหมดถูกเรียกขานว่า "13 ขบถรัฐธรรมนูญ" เหตุการณ์นี้ทำให้นักศึกษาและประชาชนไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงได้รวมตัวชุมนุมกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และยื่นคำขาดให้รัฐบาลปล่อยตัวทุกคนภายในเที่ยงวันของวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม


เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516


          เมื่อถึงเวลาเส้นตายที่นักศึกษากำหนดไว้ รัฐบาลยังไม่ยอมปล่อยตัวผู้ที่ถูกจับกุม ทำให้นักศึกษาและประชาชนจำนวนมาก ซึ่งคาดว่ามีมากกว่า 5 แสนคนเดินขบวน ออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไปตามถนนราชดำเนิน พระบรมรูปทรงม้า โดยมีแกนนำนักศึกษาได้เข้าไปเจรจากับรัฐบาล อีกส่วนหนึ่งได้เข้าเฝ้าฯ จนได้ข้อยุติเพื่อจะสลายการชุมนุม

          แต่ทว่า เนื่องจากมวลชนมีจำนวนมาก และไม่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ครอบคลุม ทำให้ในเช้าของวันที่ 14 ตุลาคม นักศึกษา ประชาชนที่กำลังจะสลายตัวกลับบ้าน ได้ปะทะกับเจ้าหน้าที่รัฐ จนกลายเป็นเหตุจลาจลลุกลามไปทั่วพื้นที่ กระทั่งเวลาบ่าย มีเฮลิคอปเตอร์ลำหนึ่งบินวนอยู่เหนือมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้กราดยิงปืนลงมาเพื่อสลายการชุมนุม ซึ่งมีผู้เห็นเหตุการณ์ยืนยันว่า ผู้ที่ยิงปืนลงมาคือ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร


เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

          ต่อมาในช่วงหัวค่ำ จอมพลถนอม ได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดแต่งตั้ง นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทน และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตลอดจนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี  ได้มีพระราชดำรัสแถลงออกทางโทรทัศน์ด้วยพระองค์เอง แต่เหตุการณ์ยังคงไม่สงบ เมื่อทหารได้ยิงใส่นักศึกษาจนเกิดเหตุจลาจลบานปลายอีกครั้ง จนกระทั่งช่วงหัวค่ำของวันที่ 15 ตุลาคม ได้มีการประกาศว่า จอมพลถนอม จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ.ณรงค์ ได้เดินทางออกนอกประเทศแล้ว เหตุการณ์จึงค่อยสงบลง

          ทั้งนี้ จากเหตุการณ์นี้ มีผู้เสียชีวิต 77 ราย บาดเจ็บ 857 ราย และมีผู้สูญหายอีกจำนวนมาก โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการพระราชทานเพลิงศพผู้เสียชีวิตที่ทิศเหนือท้องสนามหลวงด้วย ต่อมา ครม. ได้มีมติให้ก่อสร้าง "อนุสรณ์สถาน 14 ตุลา" ขึ้นที่ สี่แยกคอกวัว ถนนราชดำเนินกลาง จนแล้วเสร็จในปี พ.ศ.2544 และเมื่อปี พ.ศ.2546 สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเอกฉันท์ให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปี เป็น "วันประชาธิปไตย"

          อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ 14 ตุลา นี้ถือเป็นเหตุการณ์ลุกฮือของประชาชนครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จในศตวรรษที่ 20 และยังสร้างแรงบันดาลใจให้ประชาชนในประเทศอื่น ๆ ด้วย




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รำลึก37 ปี เหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 อัปเดตล่าสุด 14 ตุลาคม 2553 เวลา 15:18:42 11,017 อ่าน
TOP