x close

น้ำป่าทะลัก อ.บ้านกรวด - แผ่นดินทรุด ริมแม่น้ำน่าน

 

สถานการณ์น้ำท่วม



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจากวิกิพีเดีย (ไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล)

  
          ผู้ว่าฯ บุรีรัมย์ ประกาศให้ อ.บ้านกรวด เป็นพื้นที่ภัยพิบัติ หลังน้ำป่า จากเทือกเขาพนมดงรัก ไหลทะลัก เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร กว่า 2,000 หลัง ขณะที่จังหวัดน่าน เกิดดินทรุดตัวบริเวณริมแม่น้ำเป็นแนวยาว บ้านพังหลายหลัง ต้องประกาศพื้นที่อันตราย ด้านเจ้าหน้าที่นำรถแบคโฮรื้อถอนอาคารในพื้นที่ดินทรุดเชียงรายแล้ว 

          วันนี้ (15 ตุลาคม) นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า ผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ได้ประกาศให้อำเภอบ้านกรวด เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จากภาวะน้ำท่วม หลังน้ำป่าจากเทือกเขาพนมดงรัก ได้ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบกว่า 2,800 หลังคาเรือน เข้าเอ่อท่วมนาข้าว ของเกษตรกรที่กำลังตั้งท้องกว่า 5,000 ไร่ นอกจากนี้ มีไร่อ้อยและมันสำปะหลังอีกเป็นจำนวนมาก

          ล่าสุดได้สั่งให้การให้เจ้าหน้าที่ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับทางอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ออกสำรวจความเสียหาย เพื่อจะได้เร่งออกให้ความช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อน ให้กับราษฎร ที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว อย่างเร่งด่วนต่อไป ซึ่งในเบื้องต้น ทางจังหวัดและกาชาด ได้มอบถุงยังชีพ ช่วยเหลือผู้ประสบภัยไปแล้วกว่า 200 ชุด
 

แม่น้ำน่าน



          นายณรงค์ศักดิ์ หอมมาลัย นายอำเภอบางมูลนาก จังหวัดพิจิตร เปิดเผยถึงเหตุแผ่นดินทรุดตัวบริเวณริมแม่น้ำน่าน ว่า ขณะนี้เกิดเหตุแผ่นดินบริเวณริมแม่น้ำน่าน ด้านฝั่งทิศตะวันตก บริเวณถนนเชิดชูน่านใต้ ในเขตเทศบาลเมืองบางมูลนาก ได้เกิดแผ่นดินทรุดตัว เป็นแนวยาว 2 จุด รวมระยะทางกว่า 100 เมตร ซึ่งพื้นที่ดังกล่าว มีบ้านเรือนราษฎรปลูกสร้างอยู่ริมตลิ่งจำนวนมาก ตลอดแนวระยะทางประมาณ 400 เมตร โดยจุดอันตรายดินได้ทรุดตัว และส่งผลให้บ้านเรือนหลายหลังพังลงไปกับสายน้ำ เนื่องจากเป็นบ้านเรือนที่สร้างยื่นเข้าไปในแนวของแม่น้ำน่าน และเป็นเขตของกรมเจ้าท่า

          นอกจากนี้ ยังมีอีก 8 หลัง ก็ทรุด และพร้อมจะพังล้มลงในแม่น้ำได้ตลอดเวลา ดังนั้นขณะนี้จึงได้มีการประกาศให้พื้นที่บริเวณดังกล่าว เป็นพื้นที่อันตราย และได้ขอให้ประชาชนทำการย้ายอพยพ ออกนอกบริเวณดังกล่าว และไปอาศัยยังที่พักชั่วคราว ที่ทางราชการจัดไว้ให้ และให้สำนักงานโยธาธิการ เข้าตรวจสอบถึงความปลอดภัยต่อไป แต่ประชาชนส่วนใหญ่ก็ยังห่วงทรัพย์สิน และผูกพันกับบ้านเรือน จึงไม่ยอมอพยพตามที่ราชการขอร้อง

          ดังนั้น ทางด้าน นายธีระพงศ์ สุขธีรสิทธิ์ รองปลัดเทศบาลเมืองบางมูลนาก จึงได้ประสานหน่วยกู้ภัยให้มาจัดเวรยาม และพร้อมเข้าช่วยเหลือทันที หากมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้น ซึ่งคาดการณ์และเป็นห่วงว่าถ้ามีฝนตกลงมาอาจเกิดเหตุซ้ำเติมเกิดขึ้นได้อีกแน่นอน
 

 

ดินทรุดตัวและแยกเป็นทางยาว บนดอยแม่สลอง
แผ่นดินทรุด และแยกเป็นทางยาว ดอยแม่สลอง เชียงราย


ดินทรุดตัวและแยกเป็นทางยาว บนดอยแม่สลอง
แผ่นดินทรุด และแยกเป็นทางยาว ดอยแม่สลอง เชียงราย

 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ อบต.แม่สลองนอก และเจ้าหน้าที่ทหารพัฒนา ที่ 31 จังหวัดเชียงราย นำรถแบคโฮเข้าทำการรื้อถอนอาคารจำนวน 9หลัง ออกจากพื้นที่ดินทรุดตัว ที่บ้านสันติคีรี หมู่ 1 ต.แม่สลองนอก อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรก หลังจากเกิดการทรุดตัวของดินในจุดดังกล่าว ที่สามารถนำเครื่องจักรกลหนักเข้าพื้นที่ เพื่อทำการรื้อถอนอาคารได้ เพราะก่อนหน้านี้ทำได้เพียงการนำกำลังพล ทางเจ้าหน้าที่ทหาร และ อบต.แม่สลองนอก เข้ารื้อถอนได้เท่านั้น เพราะเกรงเรื่องความปลอดภัยเพราะอาจมีการทรุดตัวของดินได้อีก 

          ซึ่งตลอดระยะเวลากว่า 20 วัน ทางเจ้าหน้าที่ได้เฝ้าติดตามสถานการณ์ของการทรุดตัวของดินตลอดเวลา และมีเจ้าหน้าที่ธรณีวิทยา เข้ามาตรวจสอบ จนแน่ชัดว่าไม่มีการทรุดตัวเพิ่ม จึงอนุญาตให้มีการนำเครื่องจักรกลหนักเข้ารื้อถอนได้ 

          โดย นายวุฒิพงษ์ สวรรค์โชติ นายก อบต.แม่สลองนอก กล่าวว่า การดำเนินการนำเครื่องจักรกลหนัก เข้ามารื้อถอนอาคาร เพื่อเร่งดำเนินการในการป้องกันความปลอดภัยให้กับประชาชน ส่วนที่จะให้ชาวบ้านเข้ามาอาศัยในจุดดังกล่าวได้หรือไม่นั้น ก็ต้องมีการประชุมหารือกันก่อนของหลายฝ่ายว่า พื้นที่ปลอดภัยหรือไม่ หลังจากการรื้อถอนอาคารออกทั้งหมด

 




 
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
น้ำป่าทะลัก อ.บ้านกรวด - แผ่นดินทรุด ริมแม่น้ำน่าน อัปเดตล่าสุด 14 ตุลาคม 2553 เวลา 17:07:34 13,306 อ่าน
TOP