กัมพูชายันปัญหาไทย - เขมร ไม่ได้จากทักษิณ (ไอเอ็นเอ็น)
กัมพูชา ยัน รอยราว ไทย-กัมพูชา ไม่ได้มาจาก ทักษิณ เตือนให้ข่าว ควรระวังผลกระทบ ปัด อบรมนักรบแดง พร้อมประสานตลอด 24 ช.ม.
นายเขียว กันหะริด รัฐมนตรีกระทรวงแถลงข่าวกัมพูชา ผู้แทนระดับสูงของกัมพูชาคนแรก ที่เดินทางเยือนประเทศไทย หลังความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชา เริ่มดีขึ้น กล่าวให้สัมภาษณ์กับสื่อไทยว่า รอยราวระหว่างสองประเทศที่เกิดขึ้น ไม่ได้มีสาเหตุจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย ตามที่หลายคนเข้าใจ ว่าเกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลกัมพูชา ได้แต่งตั้งเขาขึ้นเป็นที่ปรึกษาทางด้านเศรษฐกิจ แต่ปัญหาที่แท้จริงเกิดจากเส้นเขตแดน และปราสาทพระวิหาร และการแต่งตั้ง พ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้เป็นการกระทำที่ต้องการยั่วยุรัฐบาลไทย แต่กัมพูชาถือว่าเป็นน้องใหม่ สำหรับวงการการค้าระหว่างประเทศ และ พ.ต.ท.ทักษิณ ก็เป็นนักธุรกิจที่เข้าใจวิธีการดำเนินการธุรกิจระหว่างประเทศเป็นอย่างดี แต่เวลานี้ อดีตนายกฯทักษิณ มีภารกิจมากมาย จึงตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งดังกล่าว
ส่วนประเด็นที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและกัมพูชาจะพัฒนาขึ้นอย่างยั่งยืน หรือไม่นั้น นายเขียว กล่าวว่า ขณะนี้ จำเป็นต้องแก้ไขระยะยาวเกี่ยวกับปัญหาชายแดน และควรเริ่มต้นด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างนายกรัฐมนตรีทั้งสองประเทศ, รัฐมนตรีกระทวงสารสนเทศ และสมาคมนักข่าว เราสามารถแก้ปัญหาเขตแดนได้ผ่านผู้เชี่ยวชาญ นั้นคือ คณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา
นอกจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงแถลงข่าวกัมพูชา ยังกล่าวปฏิเสธข่าวการให้ที่ฝึกอบรมใช้อาวุธสำหรับนักรบกลุ่มคนเสื้อแดง ว่าไม่เป็นความจริง พร้อมชี้แจงว่า การฝึกอบรมดังกล่าวไม่สามารถกระทำได้โดยใช้เวลา 1-2 เดือน แต่หากมีการฝึกจริง ๆ ต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 1-2 ปี และไม่มีเหตุผลจำเป็นว่าต้องใช้ประเทศกัมพูชาเป็นที่สถานที่ฝึก
นอกจากนี้ นายเขียว ยังได้เปิดเผยด้วยว่า ครั้งล่าสุดที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ DSI จัดการแถลงข่าว เกี่ยวกับการฝึกอบรมของนักรบเสื้อแดง สมเด็จฮุนเซน ได้ส่งข้อความสั้น (sms) ถึงนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง นอกจากนี้ ตนยังได้แนะนำ นายองอาจ ว่า การให้ข่าวควรระมัดระวัง เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจจะตามมา และขณะนี้ทั้งสองฝ่ายยังพร้อมที่จะติดต่อกันตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับประเด็นที่คาดว่า สมเด็จฮุนเซน จะหารือกับ นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ ที่ กรุงฮานอย นั้น อาจจะเป็นการเอาชนะวิกฤติเศรษฐกิจ และ ผู้นำรัฐบาลทั้งสองจะพบกันอีกครั้ง ในระหว่างการประชุม ACMECS (Ayeyawady - Chao Phraya - Mekong Economic Cooperation Strategy) ที่ กรุงพนมเปญ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ ซึ่งอาจจะมีการเจรจาเกี่ยวกับการค้า การทหาร และกลไกสื่อมวลชน
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก วิกิพีเดีย