ย่ายิ้ม...หญิงชรา กับชีวิตลำพังกลางป่าเขา
ย่ายิ้ม...หญิงชรา กับชีวิตลำพังกลางป่าเขา
ย่ายิ้ม...หญิงชรา กับชีวิตลำพังกลางป่าเขา
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก นิตยสาร ค ฅน
ลำพังคนหนุ่มสาว จะให้เดินขึ้นลงเขาสัก 7-8 กิโลเมตร ยังเล่นเอาเหงื่อตก หอบแฮ่ก ๆ ๆ ถ้าไม่ใช่ทริปท่องเที่ยว หรือเหตุจำเป็นจริง ๆ ล่ะก็...คงส่ายหน้าหนีกันเป็นแถว
แต่สำหรับ "ย่ายิ้ม" หญิงชราวัยใกล้ร้อย การกระทำข้างต้นถือเป็นกิจวัตรสม่ำเสมอทุกวันพระ จนชาวบ้านท่าหนอง จ.พิษณุโลก รู้กันดีว่า หากเห็น ย่ายิ้ม เดินลงจากบ้านกลางป่าเขาวันไหน วันนั้นแหละ คือวันพระ เพราะไม่ว่าฝนจะตก ฟ้าจะร้อง ย่าก็ต้องไปถึงวัดไม่เคยขาด
ระยะทางไกลที่เต็มไปด้วยหล่มโคลน ถนนเป็นร่อง ขรุขระ ไม่ได้เป็นอุปสรรค หรือส่งผลต่อใบหน้าเปื้อนยิ้มของหญิงชราผู้มีอารมณ์ดีอยู่เป็นนิตย์ โดยทุกวันพระ ย่ายิ้ม จะออกเดินเท้าจากบ้านตั้งแต่เช้ามืด แต่อย่าถามเลยว่ากี่โมง เพราะบ้านของแก ไม่มีทั้งนาฬิกา และปฎิทิน แกรู้เพียง มืดก็นอน สว่างก็ตื่น ตะวันตรงหัวก็เที่ยง และเมื่อกลับจากวัด แกก็จะมานับวันหลังจากนั้นไปถึงวันโกนวันพระอีกที ซึ่งไม่เคยพลาดหรือคลาดเคลื่อน
ย่ายิ้ม...หญิงชรา กับชีวิตลำพังกลางป่าเขา
ย่ายิ้ม...หญิงชรา กับชีวิตลำพังกลางป่าเขา
ทุกวันนี้แม้วัยจะล่วงเลยมาถึง 83 ปี แต่ ย่ายิ้ม ยืนยันว่า ร่างกายยังแข็งแรงดี และก็ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรนักกับการที่ต้องอยู่ในบ้านกลางป่าเพียงลำพัง
หลายครั้ง ลูกชาย 2 คนที่ยังคอยดูแลแม่คนนี้อยู่ห่าง ๆ พยายามรบเร้าให้แกไปอยู่ด้วย แต่ก็ดูเหมือนจะเอาชนะใจแม่ได้ยากยิ่ง ย่ายิ้ม ยืนกรานจะปักหลักบั้นปลายชีวิตอยู่ที่นี่ไม่ไปไหน ด้วยเหตุว่า บ้านกลางป่าของแก ทำให้ชีวิตไม่วุ่นวายจนเกินไปนัก เพียงแค่เก็บหน่อไม้มาดองกินกับมะพร้าวคั่วหอม ๆ ก็นับเป็นอาหารรสดีที่ช่วยให้อิ่มท้องและประทังชีวิตได้แล้ว
"ความเจริญอยู่ที่ไหน มันก็ทุกข์ยากที่นั่น อยู่บนเขานี้ ไม่มีเงินย่าก็ยังอยู่ได้ แต่ถ้าอยู่ในตัวเมือง ไม่มีเงินอยู่ไม่ได้เลยหนา ต้องซื้อเอาทุกอย่าง ไปอยู่ก็จะเดือดร้อนเขา"
ถึงอย่างนั้น วิถีบ้านป่าแบบ ย่ายิ้ม ก็ใช่จะสบายอย่างปากว่า ในช่วงฤดูฝน ดูจะโหดร้ายเป็นที่สุด เพราะหนทางในป่านั้นเอาแน่เอานอนไม่ได้ หากมีน้ำหลากลงจากเขา จนข้ามห้วยไม่ได้ ย่ายิ้มก็จะไม่ออกจากบ้าน ซึ่งช่วงที่ไม่ได้ลงเขาหลายวัน ข้าวสารก็มักจะไม่มีเหลือให้หุงให้กิน ครั้นจะแจ้งบอกข่าวฝากไปถึงใครก็ไม่มี
"ก็ต้องอดเอามั่ง บางทีเกือบ ๆ อาทิตย์ไม่ได้กินข้าวเลย กินแต่หัวกลอยป่าเอามานึ่งกับมะพร้าวคั่ว"
นอกจากจะเก็บหน่อไม้ไปแลกข้าวกับคนในชุมชนแล้ว ย่ายิ้มยังมีรายได้ประจำตัวคือ เบี้ยสงเคราะห์คนชราเดือนละ 500 บาท ทว่าเงินจำนวนนี้ ก็มักจะหมดไปกับการทำบุญเสียทุกคราวที่ไปวัด รวมไปถึงเงินที่ลูกหลานแบ่งไว้ให้ใช้ยามมาเยี่ยม ก็ร่อยหรอไปกับกิจกรรมในทางธรรมเช่นกัน
ย่ายิ้ม...หญิงชรา กับชีวิตลำพังกลางป่าเขา
ด้วยความเป็นคนจริงเรื่องการทำบุญ และรอยยิ้มที่ไม่เคยหายจากใบหน้าสมชื่อ ย่ายิ้ม ทำให้แกได้รับมิตรภาพดี ๆ จากคนในชุมชนบ้านไร่เชิงเขา ... บ่อยครั้ง ย่ายิ้ม ได้รับอาหาร ของฝาก รวมทั้งความเป็นห่วงเป็นใยจากคนที่ไม่ใช่ญาติ
ความเป็นห่วงเป็นใยปนสงสัยว่า หญิงแก่อยู่คนเดียวกลางป่าได้อย่างไรเป็นเวลาหลายปี หากนับถึงวันนี้ก็ 27 ปีเข้าไปแล้ว ในช่วงแรก ๆ จึงเคยมีข่าวลือต่าง ๆ นานา บ้างว่า ย่ายิ้มเลี้ยงผี บ้างว่าเลี้ยงโจร ส่งยาบ้า ถึงขนาดเคยมีเจ้าหน้าที่มาล้อมบ้านย่ายิ้ม และจุดไฟเผาหญ้ารอบบริเวณบ้าน เพื่อหวังให้โจรออกมา แต่เผาไปแล้วก็ไม่มีใครออกมาสักคน หลัง ๆ ข่าวลือจึงเริ่มซา และหายไปในที่สุด
เฒ่า-ศรศักดิ์ มากมา ลูกชายคนที่ยังอยู่ใน อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก เป็นคนที่คอยมาดูแลแม่บ่อยที่สุด เขาจะขับรถอีแต๋นมารับย่ายิ้มก่อนวันพระใหญ่ เพื่อพาไปทำบุญ นุ่งขาวห่มขาวค้างวัด ถือศีลอุโบสถที่วัดหลวงพ่อใหญ่พระพุทธชินราช เป็นประจำสม่ำเสมอ เสร็จจากงาน ไอ้เฒ่าของแม่ ก็จะขับรถมาส่งพร้อมด้วยเสบียง ข้างสาร มะพร้าว และของแห้ง
"แม่เขาจะบอกว่าไม่ต้องเอามาให้มากนะ ในชีวิตเขา แม่เขาไม่เคยอยากได้อะไรเลย เคยถามเขาก็บอกว่า เขาพอแล้ว สมัยยังเด็กบ้านเราจนกันมาก พ่อก็ตายตอนที่เรายังเล็ก ๆ แต่แม่คนเดียวก็หาเลี้ยงลูกได้ มานึกดูแกต้องทำงานหนักมาก แม่ถึงเน้นสอนให้เข้มแข็ง หนักเอาเบาสู้ไม่เลือกงาน"
ย่ายิ้ม...หญิงชรา กับชีวิตลำพังกลางป่าเขา
ย่ายิ้ม...หญิงชรา กับชีวิตลำพังกลางป่าเขา
ความจริงแล้ว ย่ายิ้ม มีลูกทั้งหมด 5 คน 2 คนแรก เกิดกับสามีคนแรก ที่มาด่วนเสียชีวิตไปก่อน ย่ายิ้มจึงต้องเลี้ยงลูกสาวลูกชายตัวคนเดียวมาหลายปี ก่อนจะมาผูกสมัครรักใคร่กับสามีคนที่ 2 (ก็มาตายจากไปอีก) และมีลูกอีก 3 คน แต่คนที่ย่ายิ้ม ยังพูดถึงอยู่เสมอก็มีเพียงแค่ 2 คน คือ ไอ้เฒ่า และพ่อทูล น้องคนเล็ก ที่สร้างบ้านไม้กลางป่าอยู่กับแก ก่อนจะตัดสินใจหอบลูกพาเมียไปหางานทำในกรุงเทพฯ
ตลอดหลายปีกับชีวิตกลางป่าเขาเพียงลำพัง ย่ายิ้ม สารภาพว่า เมื่อไหร่ที่ลูกขึ้นมาหาและมานอนด้วย แกก็ดีใจทุกครั้ง แต่พอกลับกันไป แค่เห็นเดินคล้อยหลังก็นั่งใจละห้อยแล้ว...แต่ถึงอย่างไร แกก็ยังยืนหยัดว่าจะขออยู่ในป่าในเขาอย่างนี้ไปจนตาย และคำขอสุดท้ายที่ฝากไว้กับลูกคือ...ถ้าแม่ตาย ก็ให้เผาให้ฝังไว้ที่ไร่บนเขานี้
"ย่าไม่อยากตายหรอกหนา แต่ไม่เคยกลัว ถึงเวลาจะต้องละแล้ว ก็ต้องไป..."
เรื่องราวของ ย่ายิ้ม อาจเป็นเรื่องธรรมดาๆ ของหญิงชราคนหนึ่ง แต่เมื่อรับรู้รับทราบแล้ว ก็อดนึกถึงปู่ย่าตายายของตัวเองเสียไม่ได้ ...บางที "ยิ้มของย่า" ก็ทำให้รู้สึกดี ๆ ได้เหมือนกัน
ร่วมปลุกพลังบวก เปลี่ยนประเทศไทย ได้ที่นี่ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
นิตยสาร ฅ คน ปีที่ 5 ฉบับที่ 12 (60) เดือนตุลาคม พ.ศ.2553