x close

ข่าวนํ้าท่วม สถานการณ์นํ้าท่วม 25 - 31 ต.ค.


ข่าวน้ำท่วม ปักธงชัย น้ำท่วมโคราช

ข่าวน้ำท่วม ปักธงชัย น้ำท่วมโคราช

ข่าวน้ำท่วม ปักธงชัย น้ำท่วมโคราช

ข่าวน้ำท่วม ปักธงชัย น้ำท่วมโคราช

 

ข่าวน้ำท่วม ปักธงชัย น้ำท่วมโคราช

ข่าวน้ำท่วม ปักธงชัย น้ำท่วมโคราช

 

ข่าวน้ำท่วม ปักธงชัย น้ำท่วมโคราช

ข่าวน้ำท่วม ปักธงชัย น้ำท่วมโคราช


แผนที่จังหวัดที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติ 2553


 


 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยโพสต์, @capitellum , @Noppatjak ,@meltyvanilla, pantip.com โดยคุณ THE CUT, thaiflood.com, marine.tmd.go.thกรมอุตุนิยมวิทยา, @tummeng_090 

 



          กรมชลประทาน รายงานว่า จากการติดตามสถานการณ์น้ำของศูนย์ประมวลวิเคราะห์สถานการณ์น้ำ สำนักชลประทานที่ 6 พบว่า มวลน้ำท่วมใน จ.ชัยภูมิ ได้เคลื่อนตัวลงมาถึง จ.ขอนแก่น และ อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม แล้ว เนื่องจากแม่น้ำชีบางช่วงมีความสามารถในการรองรับน้ำได้ไม่มากนัก ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำชีสูงขึ้นมาก จนส่งผลกระทบกับหลายพื้นที่ ได้แก่ ต.หนองผือ หนองบัว ยางท่าแจ้ง โพนงาม หนองบอน หัวขวาง แก้งแก แห่ใต้ ยางน้อย เลิงใต้ โกสุมพิสัย มะค่า ท่าขอนยาง เขวาใหญ่ ขามเรียง กันทรวิชัย เกิ้ง แก่งเลิงจาน ท่าสองคอน ลาดพัฒนา และ อ.เมือง จึงขอให้ผู้ที่อยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำชี ระมัดระวัง และเตรียมความพร้อมในการเคลื่อนย้ายสิ่งของ และทรัพย์สินต่าง ๆ ไว้ในที่สูง ภายใน 1-2 วันนี้

          กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานเรื่องสถานการณ์น้ำท่วม ล่าสุดยังมีพื้นที่ประสบภัย ทั้งหมด 222 อำเภอ 14,297 หมู่บ้าน พื้นที่ ที่คลี่คลายและระดับน้ำลดลงสู่ภาวะปกติ แล้ว จำนวน 760 ตำบล 2,893 หมู่บ้าน ประกอบด้วย จ.พิจิตร จ.ชัยภูมิ จ.ตราด จ.สระแก้ว จ.เพชรบูรณ์ จ.นครนายก เป็นต้น ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิต ขณะนี้ รวมจำนวน 87 ราย โดยผู้เสียชีวิตสูงที่สุดอยู่ที่ จ.นครราชสีมา จำนวน 18 ราย รองลงมา คือ จ.นครสวรรค์ และ จ.ลพบุรี จำนวน 13 ราย

          ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.บุรีรมัย์ ล่าสุดที่ อ.สตึก ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับปริมาณน้ำมูลก่อนส่งไปยัง จ.ศรีสะเกษ ปริมาณน้ำเพิ่มระดับขึ้นจากเดิมเล็กน้อย และชาวบ้านยังสามารถรับมือได้ แต่ในบางจุดที่ท่วมขังแล้ว ก็ยังไม่มีท่าที่ระดับน้ำจะลดลง


พยากรณ์อากาศ


          ด้านกรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนภัย ฉบับที่ 18 "ฝนตกหนักในภาคใต้และคลื่นลมแรงในอ่าวไทย" บริเวณความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็น กำลังแรงจากประเทศจีน ยังคงแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทย ทำให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ที่พัดปกคลุมประเทศไทย และอ่าวไทย มีกำลังแรงอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในช่วงวันที่ 1-3 พฤศจิกายน จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำ กำลังแรง บริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง เคลื่อนตัวเข้ามาปกคลุมบริเวณอ่าวไทยและภาคใต้ตอนล่าง ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ภาคใต้มีฝนตกชุกหนาแน่น และมีฝนตกหนักถึงหนักมาก หลายพื้นที่ และอ่าวไทย มีคลื่นสูง 2-4 เมตร

          ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย บริเวณที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ บริเวณจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส กระบี่ ตรัง และ สตูล ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนัก ที่อาจทำให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้ ชาวเรือควรเพิ่มความระมัดระวังในการเดินเรือ โดยเรือเล็กในอ่าวไทยควรงดออกจากฝั่ง ส่วนประชาชนที่อาศัยอยู่ตามชายฝั่งทะเลของภาคใต้ฝั่งตะวันออก ขอให้ระวังอันตรายจากคลื่นลมแรง ที่พัดเข้าสู่ ฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย

          ขณะที่ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวถึงการเตรียมความพร้อมรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ ว่า ขณะนี้ได้มอบให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 ประจวบคีรีขันธ์ เขต 11 สุราษฎร์ธานี เขต 12 สงขลา และ เขต 18 ภูเก็ต และสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จัดเจ้าหน้าที่อยู่เวรเฝ้าระวังสถานการณ์ ตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมอุปกรณ์ ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างทันท่วงที

          ส่วนในพื้นที่จังหวัดสุรินทร์ ศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด ขอให้ประชาชน ที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำมูล เตรียมการป้องกันน้ำท่วมไว้ล่วงหน้า โดยการขนย้ายสิ่งของ สัตว์เลี้ยง และยานพาหนะ ขึ้นสู่ที่สูง เนื่องจากปริมาณน้ำ จำนวนมาก ที่ท่วมในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา กำลังไหลลงสู่แม่น้ำมูล ขณะนี้ได้ผ่านจังหวัดสุรินทร์แล้ว คาดว่าปริมาณน้ำนี้จะไหลผ่านจังหวัดศรีสะเกษ และร้อยเอ็ด เป็นจังหวัด ต่อไปในอีกประมาณ 4-5 วันข้างหน้านี้

          สำหรับประเทศไทยตอนบน มีอากาศหนาวเย็น โดยทั่วไปกับมีลมแรง และในระยะ 2-3 วันนี้ อุณหภูมิจะลดลงได้อีก 1-3 องศา ทำให้ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อุณหภูมิต่ำสุด 12-16 องศาเซลเซียส ส่วนบริเวณยอดดอยและยอดภู อุณหภูมิต่ำสุด 6-12 องศาเซลเซียส ในระยะนี้ขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและเตือนภัย จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

          ขณะเดียวกัน นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยภายหลังประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการ แก้ไขปัญหาอุทกภัย ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ว่า ที่ประชุมให้ควมเห็นชอบแผนฟื้นฟูสภาพหลังน้ำลด 2 แผน ได้แก่...

          1. แผนฟื้นฟูสุขภาพอนามัยของผู้ประสบภัย

          2. แผนฟื้นฟูโรงพยาบาลในสังกัดที่ได้รับความเสียหาย ทั้งหมด 176 แห่ง คาดว่าใช้งบประมาณ 125 ล้านบาท สำหรับแผนฟื้นฟูสุขภาพอนามัยของประชาชน ประกอบด้วย 3 มาตรการหลัก คือ 1.ออกหน่วยเคลื่อนที่ค้นหาผู้ป่วยเพื่อรักษาทันที 2.การควบคุมโรค รวมทั้งการกำจัดแหล่งแพร่เชื้อโรคต่าง ๆ

          3. ด้านสุขอนามัยและสิ่งแวดล้อม เน้นกิจกรรม ทำความสะอาดสถานที่ต่าง ๆ อาทิ ที่อยู่อาศัย ตลาด สถานที่สาธารณะ รวมถึงการแก้ปัญหาคุณภาพน้ำอุปโภค-บริโภค และแหล่งน้ำสาธารณะ สำหรับพื้นที่เป้าหมายที่จะเข้าไปฟื้นฟู มี 24 จังหวัด 1,631 ตำบล โดยขณะนี้ทยอยดำเนินการแล้ว

สถานการณ์น้ำท่วม 31 ตุลาคม

น้ำท่วมขอนแก่น

          สถานการณ์น้ำล่าสุดในเขตอำเภอเมือง จ.ขอนแก่น น้ำจาก จ.ชัยภูมิ ที่มาถึง จ.ขอนแก่น ได้ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่ทางการเกษตรที่มีพื้นที่ติดลำน้ำชี คือ ต.หนองบัวดีหมี ต.พระเนา และ ต.ท่าพระ ระดับน้ำสูงถึง 2 เมตร เจ้าหน้าที่จึงประสานหน่วยงานเกี่ยวข้อง เร่งช่วยเหลืออพยพชาวบ้านใน พื้นที่เสี่ยงให้ออกมาอยู่ในที่ปลอดภัย โดยส่วนใหญ่ไปอาศัยอยู่บ้านญาติ

          นอกจากนี้ พื้นที่ริมฝั่งลำน้ำชี ทางปภ.เขต 6 ขอนแก่น ได้เตือนประชาชนให้งดใช้เรือเล็ก เนื่องจากน้ำไหลเชี่ยว เกรงว่าประชาชนจะได้รับอันตราย พร้อมกับเร่งประสานงานศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 9 พิษณุโลก และเขต 3 ปราจีนบุรี ให้ส่งเรือท้องแบนเข้ามาสนับสนุน อีกจำนวน 10 ลำ เพราะที่มีอยู่ได้กระจายลงทุกพื้นที่ ทำให้ไม่เพียงพอกับความต้องการ ด้านการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค จ.ขอนแก่น ได้รับการประสานงานจากผู้นำชุมชน พื้นที่รับผิดชอบ ใน ต.เมืองเก่า ต.ท่าพระ และต.บึงเนียม ให้ตัดไฟและยกระดับมิเตอร์ให้สูงขึ้น เนื่องจากปริมาณน้ำได้เพิ่มสูงใกล้ถึงตัวมิเตอร์ไฟฟ้าแล้ว จึงเกรงว่าประชาชนจะได้รับอันตราย

น้ำท่วมอุทัยธานี

          สถานการณ์น้ำท่วม จ.อุทัยธานี ยังไม่คลี่คลายเท่าที่ควร เทศบาลเมืองอุทัยธานี สั่งเลื่อนเปิดภาคเรียนของโรงเรียนในเขตเทศบาล 2 แห่ง คือ โรงเรียนเทศบาลวัดหลวงราชาวาส สาธิตมหาวิทยาลัยรามคำแหง และโรงเรียนเทศบาลวัดธรรมโศภิต ซึ่งทั้งสองแห่งพื้นที่โรงเรียน และบ้านของเด็กนักเรียน ยังคงถูกน้ำท่วม นอกจากนี้ โรงเรียนเอกชน 2 แห่ง ก็เลื่อนการเปิดภาคเรียนไปเป็นวันที่ 8 พฤศจิกายน 2552 เช่นกัน ได้แก่ โรงเรียนอนุศิษย์วิทยา 1 และโรงเรียนอนุศิษย์วิทยา 2

น้ำท่วมสิงห์บุรี

          นายพิเชษฐ ไพบูลย์ศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดสิงห์บุรี พร้อมนายไสวรินทร์ ศรีชำนินายกเทศมนตรีเมืองสิงห์บุรี ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ เข้าอุดน้ำที่หน้าวัดพรหมสาคร ซึ่งน้ำล้นพนังเขื่อน ทะลักเข้าท่วมวิทยาลัยเทคนิคสิงห์บุรี และบ้านของชาวบ้านในละแวกนั้น ถ้าอุดน้ำไม่อยู่จะไหลเข้าท่วมตลาดสิงห์บุรี และพื้นที่เศรษฐกิจแห่งใหญ่ที่สุดของจังหวัดสิงห์บุรี

          ส่วนที่ ต.แม่ลา อ.บางระจัน น้ำเจ้าพระยาได้ไหลทะลักเข้าท่วมนาข้าว ที่กำลังใกล้เก็บเกี่ยว ต.แม่ลา อ.บางระจัน หมู่ 1- 2- 3 -5 และหมู่ 8 ต.สิงห์ เสียหาย 7,200 ไร่ คิดเป็น 395 ครัวเรือน ประชาชนที่ประสบปัญหาอุทกภัย ในขณะนี้เดือดร้อน เรื่องที่พักอาศัย ต้องการน้ำดื่ม และห้องสุขาลอยน้ำ เบื้องต้นทางองค์การบริหารส่วน ต.แม่ลา ได้จัดเต็นท์รองรับไว้บนถนนที่น้ำท่วมไม่ถึง เครื่องอุปโภคบริโภค ทราย กระสอบใส่ทราย และประชาสัมพันธ์ให้ดูแลสุขภาพดูแลบุตรหลาน ไม่ให้ลงเล่นน้ำ อาจจะจมน้ำเสียชีวิตได้ อย่างไรก็ตาม น้ำท่วมนาข้าวครั้งนี้ ทำให้ชาวนาใน ต. แม่ลา อ.บางระจัน ถึงกับหมดตัว ไม่มีเงินลงทุนต่อ บรรยากาศเต็มไปด้วยความเครียดอยู่ขณะนี้

น้ำท่วมศรีสะเกษ

          ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมของจังหวัดศรีสะเกษ ระดับน้ำท่วมเริ่มสูงมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม โดยน้ำมูลที่ไหลมาจากจังหวัดนครราชสีมา ปริมาณน้ำมูลไหลผ่านแล้ว โดยวัดระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำฝายราษีไศล ในวันนี้ (31 ตุลาคม) วัดได้ 118.55 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง เพิ่มขึ้นจากเมื่อวานนี้จำนวน 11 เซนติเมตร ขณะที่สำนักงานชลประทาน จังหวัดศรีสะเกษ ได้ประเมินว่าระดับน้ำจะสูงสุดที่ระดับ 119.20 เมตร ระดับน้ำทะเลปานกลาง ในอีก 1-2 วันนี้ ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำเอ่อล้นตลิ่ง 1.10 เมตร มีพื้นที่การเกษตรบางส่วน ได้รับผลกระทบจำนวน 6 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองศรีสะเกษ อำเภออุทุมพรพิสัย อำเภอศิลาลาด อำเภอราษีไศล อำเภอยางชุมน้อย และ อำเภอกันทรารมย์ รวม 17 ตำบล พื้นที่ทำนาจะถูกน้ำท่วมประมาณ 8,000 ไร่

          นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า ขณะนี้จังหวัดศรีสะเกษ ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ เพื่อวางแผนป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2553 และให้อำเภอ และหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ได้ติดตามสถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนให้ประชาชนตามลุ่มน้ำสำคัญ ผ่านทางสถานีวิทยุกระจายเสียง วิทยุชุมชน หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน ให้ระมัดระวังอันตรายจากอุบัติเหตุทางน้ำ พร้อมทั้งเตรียมเก็บสิ่งของ ทรัพย์สิน ให้พ้นเส้นทางน้ำไหล และวางแผนการเก็บเกี่ยวผลผลิตการเกษตร เพื่อลดความสูญเสียจากสภาวะน้ำท่วม และให้นุ่งห่มเสื้อผ้าให้ความอบอุ่น ป้องกันสภาพอากาศหนาวเย็น ที่เคลื่อนตัวเข้าสู่พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือแล้ว

น้ำท่วมอ่างทอง

          สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดอ่างทอง น้ำจากแม่น้ำน้อยยังทะลักอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนสองริมฝั่ง ทั้งอำเภอวิเศษชัยชาญ และอำเภอโพธิ์ทอง โดยเฉพาะเกษตรกรหมู่ที่ 1 ต.บ่อแร่ อ.โพธิ์ทอง ที่ปลูกมะนาว และชะอม ถูกน้ำท่วมได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก

น้ำท่วมนครปฐม

          สถานการณ์น้ำท่วม ในพื้นที่ อ.บางเลน อ.นครชัยศรี อ.สามพราน และ อ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม ยังมีน้ำท่วมบ้านเรือนประชาชน ที่อยู่สองฝั่งแม่น้ำท่าจีน โดยน้ำที่ท่วมบ้านเรือนประชาชนส่วนใหญ่ จะเป็นบ้านที่อยู่ที่ลุ่มและอยู่ติดกับแม่น้ำ อย่างไรก็ตาม พบว่าการเกิดน้ำท่วม นอกจากจะส่งกระทบต่อที่อยู่อาศัยแล้ว ยังมีน้ำท่วมนาข้าว พืชไร่ เสียหายเป็นจำนวนมาก โดยชาวนาในพื้นที่ อ.บางเลน อ.ดอนตูม ต้องมีการเกี่ยวข้าวน้ำนม หนีน้ำท่วม ถึงแม้ว่า จะไม่ได้ผลผลิตก็ตาม ซึ่งชาวนาที่เกี่ยวข้าวหนีน้ำท่วมกล่าวว่า ดีกว่าที่จะปล่อยให้ต้นข้าวจมน้ำตาย ถึงแม้จะไม่ได้ผลผลิต แต่ก็ยังสามารถขายต้นข้าวน้ำนมได้ ถึงแม้จะขาดทุนก็ตาม ส่วนการช่วยเหลือชาวบ้าน ที่บ้านถูกน้ำท่วม ทาง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ได้นำกระสอบทรายมาเพื่อกั้นน้ำ และนำสิ่งของเข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในเบื้องต้นแล้ว

น้ำท่วมร้อยเอ็ด

          นายสมศักดิ์ ขำทวีพรหม รองผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ด ไปดูระดับน้ำเพิ่มสูง ที่กำลังเดินทางมาถึงที่จังหวัดร้อยเอ็ด ที่บ้านหาดหนองแค ต.ม่วงลาด อ.จังหาร จังหวัดร้อยเอ็ด เตือนชาวบ้านที่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำชีอพยพสิ่งของไว้ที่ปลอดภัย โดยการประสานงานกับองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น นายกเทศมนตรี นายกองค์การบริเวณส่วนตำบล นำกระสอบ เสริมคันพนังกั้นน้ำ ให้สูงขึ้น 50-70 เซนติเมตร เพราะด้านล่างคือ นาข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียว กข 6 นับ 10,000 ไร่ หากระดับน้ำสูงขึ้น ไหลทะลักเข้านาข้าวกำลังจะออกร่วง รอวันการเก็บเกี่ยว อีก 10-15 วันข้างหน้า ต้องได้รับผลกระทบเสียหายอย่างหนักมาก

          นายสมศักดิ์ ยังกล่าวว่า ฝากถึงประชาชน ที่อาศัยริมฝั่งแม่น้ำชีตอนล่าง จากอ.เชียงขวัญ อ.โพธิ์ชัย อ.ธวัชบุรี อ.เสลภูมิ อ.ทุ่งเขาหลวง อ.อาจสามารถ อ.พนมไพร เป็นพื้นที่รองรับน้ำต่อจากลำน้ำชีตอนบน ก่อนไหลลงสู่ลำน้ำมูล และสู่จังหวัดอุบลราชธานีต่อไป

น้ำท่วมสุพรรณบุรี

          หลังปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาไหลเข้าเขื่อนกระเสียว ที่ อ.ด่านช้าง จ.สุพรรณบุรี เกินความจุของเขื่อนกว่า 100 % ทำให้น้ำล้นสปริลเวย์ ไหลลงคลองระบายน้ำ หลากเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน และพื้นที่การเกษตรในเขต อ.เดิมบางนางบวช, สามชุก และ อ.หนองหญ้าไซ ตามแนวคลองส่งน้ำชลประทานฝั่งตะวันตกตลอดแนว สร้างความเสียหายอย่างหนัก ถนนสาย อ.ด่านช้าง เชื่อมต่อ อ.สามชุก, อ.หนองหญ้าไซ บริเวณ บ้านโค้งบ่อแร่ ต.บ่อกรุ อ.เดิมบางนางบวช ถูกกระแสน้ำกัดเซาะขาด ไม่สามารถเดินทางสัญจรได้

          ถนนคลองส่งน้ำชลประทานมะขามเฒ่า ตั้งแต่ อ.เดิมบางนางบวช ไปจนถึง อ.สามชุก, อ.หนองหญ้าไซ ต้องเสริมกระสอบทรายกั้นน้ำเป็นระยะ ๆ แต่ที่บริเวณหน้า วัดน้ำพุ ต.หัวเขา อ.เดิมบางนางบวช คันคลองส่งน้ำชลประทานพังทลาย 3 ช่วง เป็นบริเวณกว้างประมาณ 80 เมตร ทำให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมนาข้าว บ้านเรือนประชาชนบริเวณ บ้านกำมะเชียร นาข้าวหลายพันไร่เสียหาย

น้ำท่วมบุรีรัมย์

          สถานการณ์น้ำเหนือจาก จ.นครราชสีมา ที่ไหลมาสมทบลงลำน้ำมูลเอ่อท่วมบ้านเรือน และไร่นาใน 4 อำเภอของ จ.บุรีรัมย์ ประกอบด้วย คูเมือง พุทไธสง แคนดง และสตึก ล่าสุดระดับน้ำที่ อ.สตึก และ อ.แคนดง เพิ่มขึ้น 2-3 เซนติเมตร ส่วนที่ อ.คูเมือง และ อ.พุทไธสง ซึ่งเป็นอำเภอหน้าด่าน ระดับน้ำเริ่มทรงตัว แต่นาข้าวของเกษตรกรที่กำลังออกรวงในพื้นที่ 4 อำเภอ กว่า 100,000 ไร่ ยังจมอยู่ใต้น้ำ คาดว่าหากน้ำท่วมนานกว่า 1 สัปดาห์ นาข้าวของเกษตรกรก็จะเสียหายทั้งหมด

          ส่วนบ้านเรือนราษฎรที่ถูกน้ำท่วมตัดขาดมี บ.วังปลัด ต.บ้านแพ อ.คูเมือง และ บ.ทับ ต.สะแก อ.สตึก ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่อำเภอ อปพร. และกำลังทหารจากจังหวัดทหารบกบุรีรัมย์ ได้นำเรือท้องแบนมาคอยให้ความช่วยเหลือบริการรับส่ง เข้าออกหมู่บ้านอยู่อย่างต่อเนื่อง

น้ำท่วมลำปาง

          สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดลำปาง ได้สรุปสถานการณ์พื้นที่ประสบอุทกภัย จังหวัดลำปาง ในระหว่างช่วงวันที่ 25 สิงหาคม 2553 ถึงวันที่ 22 กันยายน 2553 เนื่องจากพายุดีเปรสชั่น มินดอนเล รวม 10 อำเภอ 50 ตำบล 255 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 32,001 ครัวเรือน ประชาชน 79,285 คน เป็นเงิน 41 ล้านบาท

          ส่วนพื้นที่ประสบอุทกภัย ระหว่างวันที่ 25 กันยายน 2553 ถึงวันที่ 26 ตุลาคม 2553 ได้ก่อความเสียหาย รวม 10 อำเภอ 43 ตำบล จำนวน 234 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 22,509 ครัวเรือน ประชาชน 64,263 คน มีพื้นที่ทางการเกษตรเสียหาย 15,570 ไร่ โดยทางจังหวัดลำปาง ได้นำเงินทดรองราชการ ในอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด ลำปางช่วยเหลือรวมเป็นเงิน 10 ล้านบาท ทั้งนี้ รวมใน 2 ครั้งได้ช่วยเหลือรวมเป็นเงินไปแล้ว 51 ล้านบาท

น้ำท่วมมหาสารคาม

          ขณะนี้น้ำในลำน้ำชีที่ไหลมาจาก จ. ขอนแก่น เอ่อเข้าท่วมพื้นที่ อ.โกสุมพิสัย ทำให้ประชาชนริมสองฝั่งแม่น้ำชี ได้รับความเดือดร้อนกว่า 20 หลังคาเรือน พื้นที่เกษตรเสียหาย 40,000 ไร่ โดยระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น 17 เซนติเมตร และคาดว่าน้ำจะค่อย ๆ ไหลเข้าสู่พื้นที่ อ.กันทรวิชัย อ.เมือง ก่อนเข้าเขต จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งทางอำเภอได้ทำแนวกั้นน้ำ ให้มีความสูงเพิ่มขึ้นกว่า 2 เมตร และได้เฝ้าระวังเหตุน้ำท่วมฉับพลัน อย่างต่อเนื่อง พร้อมนำ
สิ่งของถุงยังชีพ และเรือ ไปมอบแก่ประชาชน ที่เดือดร้อนแล้ว

          อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ ยังไม่รุนแรงมากนัก เนื่องจากยังสามารถรับมือสถานการณ์ได้ โดยขณะนี้ ทางปภ.ได้แจ้งเตือนข่าวสารน้ำท่วม แก่ประชาชนเป็นระยะ ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือ จากประชาชนเป็นอย่างดี คาดว่าภายใน 2 - 3 วัน หากฝนไม่ตกซ้ำ สถานการณ์น้ำท่วม อาจจะเริ่มคลี่คลาย


 


 





สถานการณ์น้ำท่วม 30 ตุลาคม

          อุตุฯ เตือนภาคใต้ฝนหนัก ระวังน้ำป่าไหลหลาก 13 จังหวัด ขณะที่ สธ.เผยน้ำท่วม 10-30 ต.ค.เสียชีวิตแล้ว 100 คน ด้าน ปภ.รายงานถูกน้ำท่วม 38 จังหวัด ล่าสุดคลี่คลายแล้ว 16 จังหวัด         

          สถานการณ์อุทกภัยวันนี้ 30 ต.ค. หลายจังหวัดยังต้องเผชิญภัยกับภัยน้ำท่วม โดยเฉพาะจังหวัดในภาคกลาง ขณะที่จังหวัดอุบลราชธานีซึ่งเป็นจังหวัดที่ปริมาณน้ำจากแม่น้ำชี และแม่น้ำมูลจะไหลมาบรรจบกันในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน ได้เตรียมซ้อมแผนอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ที่บ้านคูเดื่อ ต.แจระแม อ.เมือง จ.อุบลราชธานี และอำเภอที่ติดแม่น้ำมูล เช่น อ.วารินชำราบ อ.สว่างวีระวงศ์ และ อ.พิบูลย์มังสาหาร แล้ว

          ขณะที่ภาคใต้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเตือนว่า ร่องมรสุมได้พาดผ่านทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำในทะเลจีนใต้ตอนล่าง ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้นกับฝนตกหนักหลายพื้นที่ และคลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรง ดังนั้น จึงได้เตือนภัยประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ 13 จังหวัดภาคใต้ ได้แก่ ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ตรัง และสตูล ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดสภาวะ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งได้

          ทั้งนี้ ลมมรสุมได้ทำให้เกิดฝนตกหนัก บริเวณชายฝั่งอ่าวประจวบหน้าศาลากลาง จ.ประจวบคีรีขันธ์ ลมที่พัดกระโชกแรง ทำให้เกิดคลื่นขนาดใหญ่สูงกว่า 5 เมตร ซัดเข้าชายฝั่ง จนรถไม่สามารถสัญจรเส้นทางนี้ได้ ส่วนเรือประมงขนาดใหญ่และเรือเล็กต้องนำเรือไปจอดหลบบริเวณเกาะหลัก

          ขณะที่จังหวัดสงขลา นายพีระ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา เปิดเผยว่า ได้ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือนักท่องเที่ยวทุกคน งดลงเล่นน้ำทะเลบริเวณชายหาดสมิหลาอย่างเด็ดขาด เพื่อความปลอดภัย เพราะอาจเกิดอันตรายจากคลื่นซัดจมน้ำเสียชีวิตได้ เนื่องจากทุกปีในช่วงฤดูมรสุมจะเกิดอุบัติเหตุนักท่องเที่ยวจมน้ำเสียชีวิต ทั้งเด็กและผู้ใหญ่หลายราย

          ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุอุทกภัย ตั้งแต่ 10-30 ต.ค. ( เวลา 07.00 น.) มีจำนวน 100 คน จาก 20 จังหวัด เป็นชาย  84  ราย หญิง 16 ราย

         
ด้านนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์อุทกภัย ระหว่างวันที่ 10-29 ตุลาคม 2553 มีพื้นที่ประสบภัยแล้ว 38 จังหวัด 331 อำเภอ 2,398 ตำบล 22,965 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเสียหาย 1,574,182 ครัวเรือน 5,011,046 คน พื้นที่เกษตรคาดว่า เสียหาย 4,001,701 ไร่ ขณะนี้ สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว 16 จังหวัด ได้แก่ พิจิตร เพชรบูรณ์ ระยอง จันทบุรี ตราด ตาก ชลบุรี ลำพูน เชียงใหม่ สระแก้ว นครนายก กำแพงเพชร พิษณุโลก หนองบัวลำภู ปราจีนบุรี และสมุทรปราการ

          ทั้งนี้ ผู้ประสบอุทกภัย สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง


 น้ำท่วมกาฬสินธุ์

          ที่บ้านโนนแดง ต.ลำชี อ.ฆ้องชัย นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าฯ นายธนาวุฒิ ทองทวี นายอำเภอฆ้องชัย พร้อมด้วย อส. เจ้าหน้าที่ อพปร. และชาวบ้าน กว่า 200 คน ช่วยกันลำเลียงกระสอบทราย โยนลงน้ำเพื่อซ่อมแซมพนัง เนื่องจาก กระแสน้ำหนุน ทำให้พนังลำชีเกิดการเคลื่อนตัวในหลายจุด

          โดยนายอำเภอฆ้องชัย ระบุว่า ขณะนี้ พนังลำชีอย่างน้อย 5 แห่ง ได้ถูกกระแสน้ำที่ไหลเชียวกัดเซาะเจาะพนังเข้ามาเป็นแนวยาว ด้านผู้ว่าฯ กาฬสินธุ์ กล่าวว่า อิทธิพลขอลำน้ำชี ทำให้เกิดน้ำท่วมนาข้าวในพื้นที่ อ.กมลาไสย แล้ว กว่า 30,000 ไร่ ซึ่งกำชับให้พาณิชย์จังหวัด การค้าภายใน ขอความร่วมมือผู้ประกอบการค้าข้าว รวมถึงสินค้าในการจำหน่ายที่จะต้องเป็นธรรม เนื่องจากพบว่า ราคาสินค้าโดยเฉพาะพืชผักสวนครัว มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น และหากพบว่า เป็นการเอาเปรียบก็จะให้ดำเนินการตามกฎหมายทันที นอกจากนี้ อีก 1 ปัญหา คือ อากาศที่เริ่มหนาวเย็นในพื้นที่ก็ขอเตือนให้ประชาชนรักษาสุขภาพ หมั่นออกกำลังกายที่จะเป็นแนวทางแรก ในการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ

 น้ำท่วมสุรินทร์

         นายนครินทร์ กองทุน นายอำเภอชุมพลบุรี เปิดเผยว่า ลำน้ำมูลไหลทะลักท่วมพื้นที่นาข้าวขยายวงกว้างเพิ่มกว่า 3 หมื่นไร่ ใน 62 หมู่บ้าน 9 ตำบล โดยขณะนี้น้ำกำลังเอล้นท่วมพื้นที่ ต.ยะวึก 12 หมู่บ้านถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ขณะที่น้ำที่ท่วมใน อ.ชุมพลบุรี ท่าตูม และรัตนบุรี สถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย โดยเฉพาะ อ.ชุมพลบุรี น้ำท่วมหนักที่สุด

 น้ำท่วมโคราช

         นายระพี ผ่องบุพกิจ ผวจ.นครราชสีมา เผยยังต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมใน ต.ทุ่งสว่าง ต.นางรำ ต.ดอนมัน ต.โคกกลาง และ ต.ตลาดไทร อ.ประทาย เนื่องจากปริมาณน้ำยังเพิ่มขึ้น เฉลี่ย 10-15 ซม. ส่วนที่ ต.เมืองยาง อ.เมืองยาง ปริมาณน้ำในลำสะแทด ลุ่มน้ำสาขาแม่น้ำมูล มีระดับเพิ่มขึ้นอีก 5 ซม.

         ส่วนพื้นที่ที่ปริมาณน้ำลดลง คือ อ.พิมาย อ.จักราช อ.ชุมพวง อ.โนนสูง อ.คง อ.แก้งสนามนาง อ.เฉลิมพระเกียรติ และ อ.ลำทะเมนชัย สำหรับพื้นที่ระดับน้ำลดลงจนสู่เข้าสู่สภาวะปกติ รอการฟื้นฟู แต่ยังมีน้ำท่วมขังในที่ลุ่ม หรือพื้นที่เกษตรกร และติดกับคลองส่งน้ำชลประทาน เฉลี่ย 10 ซม.คือ เขตเทศบาลนคร ฯ และ อปท.รอบนอก อ.เมือง อ.ปากช่อง อ.ปักธงชัย อ.สีคิ้ว และ อ.สูงเนิน จากการประเมินสถานการณ์ ด้วยเงื่อนไขทางธรรมชาติ คาดไม่เกิน 1 สัปดาห์ ทุกพื้นที่น้ำจะลดลงสู่ภาวะปกติ

 น้ำท่วมขอนแก่น

          กรมชลฯ ประกาศเตือนประชาชน ต.ท่าพระ ดอนช้าง ดอนหัน เมืองเก่า บ้านเป็ด อ.เมือง จ.ขอนแก่น เตรียมขนย้ายข้าวของขึ้นที่สูง หลังปริมาณแม่น้ำชีเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

          ด้านนายภูมิจิตร ศรีวงษ์ราช นายอำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า หลังน้ำชีเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ ซึ่งบริเวณดังกล่าว มีฟาร์มจระเข้หลายแห่ง และจากการตรวจสอบฟาร์มจระเข้ที่บ้านหนองหญ้าข้าวนก หมู่ 6 ตำบลหนองแวง พบว่า น้ำท่วมจนใกล้ถึงขอบบ่อที่ใช้เลี้ยงจระเข้ ซึ่งฟาร์มแห่งนี้เป็นบ่อปูนยกสูงจากพื้นดิน 1.5 เมตร และแบ่งเป็นล็อก ๆ รวม 70 ล็อก และภายในบ่อได้เลี้ยงจระเข้ไว้ทั้งสิ้น 60 ตัว แต่ละตัวยาวประมาณ 1 เมตร จึงได้สั่งการให้เฝ้าระวัง หากน้ำเอ่อขึ้นสูงและดูแล้วหากไม่ปลอดภัย จะสั่งการให้เคลื่อนย้ายจระเข้ทั้งหมดทันที

          ส่วนพื้นที่การเกษตร ที่ถูกน้ำท่วมเสียหายแล้วกว่า 10,000 ไร่ ใน 3 ตำบล คือ ตำบลพระบุ ตำบลบ้านโต้น และตำบลหนองแวง ขณะที่ ถนนสายบ้านหนองขาม อำเภอบ้านแฮด มุ่งหน้าบ้านดงเก่า ตำบลบ้านโต้น น้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร รถเล็กไม่สามารถผ่านไปมาได้

 น้ำท่วมบุรีรัมย์

         สถานการณ์น้ำท่วมที่ อ.คูเมือง และ อ.พุทไธสง ที่ถูกน้ำท่วมบ้านเรือน ไร่นา วัด และโรงเรียน สูงกว่า 1 เมตรนั้น มานานร่วมสัปดาห์แล้ว อีกทั้งระดับน้ำยังไม่ลดลง และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่ อ.แคนดง และ อ.สตึก ระดับน้ำยังเพิ่มขึ้นเฉลี่ยวันละ 10 - 50 ซ.ม. ซึ่งทางจังหวัดได้สั่งการให้เฝ้าระวังในพื้นที่ 4 อำเภอที่อยู่ติดริมแม่น้ำมูล ซึ่งจากการสำรวจข้อมูลล่าสุดพบว่า มีบ้านเรือนราษฎรได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมแล้ว 7 หมู่บ้าน นาข้าวที่กำลังตั้งท้องจมน้ำแล้ว กว่า 28,800 ไร่ จำนวน 14 หมู่บ้าน และในจำนวนนี้มีนาข้าวที่ถูกน้ำท่วมขังได้รับความเสียหายสิ้นเชิง 18,250 ไร่

 น้ำท่วมอยุธยา

          ชาวบ้านในหลายพื้นที่ของ อ.ท่าเรือ และ อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา เร่งวางกระสอบทรายกั้นน้ำ หลังปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มสูงขึ้นอีก 5 เซนติเมตร และเริ่มเน่าเสีย เนื่องจากไม่มีที่ระบายออก

 น้ำท่วมสิงห์บุรี

          ระดับน้ำเจ้าพระยาได้เพิ่มสูงขึ้นใน อ.อินทร์บุรี-อ.เมือง-อ.พรหมบุรี ทำให้น้ำท่วมขยายเป็นวงกว้างมากขึ้น โดยระดับน้ำที่ตลาดอำเภออินทร์บุรี สูงถึง 2.70 เมตร ขณะเดียวกันแม่น้ำเจ้าพระยาก็ได้ทะลักเข้าท่วมคันกั้นนำวัดประโชติการาม อ.เมือง ซึ่งทำกั้นไว้สูงถึง 3เมตร เพื่อป้องกันโบราณสถานอายุกว่า 700 ปี ซึ่งมีองค์หลวงสิน หลวงพ่อทรัพย์ พระพุทธรูปยืนคู่เดียวที่หันพระพักตร์ไปในทางเดียวกันและเป็นพระยืนคู่เดียวในประเทศไทย โดยพระครูและชาวบ้านได้เร่งทำคันป้องกันน้ำรอบวัดเพิ่มขึ้น เพื่อไม่ให้น้ำทะลักเข้าท่วมภายใน

 น้ำท่วมลำปาง

          เจ้าหน้าที่สำนักบำรุงทางลำปางที่ 2 หมวดการทางวังเหนือ จ.ลำปาง เร่งเข้าซ่อมแซม บริเวณคอสะพานข้ามลำห้วยแม่สุข บนทางเส้นทางถนนหลวงหมายเลข 120 ระหว่างกิโลเมตรที่ 43+711 ถนนสายวังเหนือ-พะเยา บ้านแม่สุข ต.วังซ้าย อ.วังเหนือ จ.ลำปาง หลังคอสะพานได้ทรุดตัวจากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมฉับพลันเมื่อวานก่อน ขณะที่จากเหตุการณ์น้ำท่วมได้ทำให้ในเขตพื้นที่ อ.วังเหนือ มีไร่นาข้าวเสียหายอีกหลายเกือบ 1 พันไร่ ทั้งนี้ ชาวบ้าน ยังคงต้องเฝ้าระวังในพื้นที่ต่อไปอีก เพราะอาจจะมีฝนตกลงมาอีกระลอกหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ทางอำเภอวังเหนือได้กำชับมิสเตอร์เตือนภัย ให้ทำหน้าที่ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวังเหตุกาณ์น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน

 น้ำท่วมอุทัยธานี

          เทศบาลเมืองอุทัยธานี เร่งส่งเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครเข้าเก็บขนย้ายกระสอบทรายออกจากย่านธุรกิจการค้ากลางเมืองอุทัยธานีทันที หลังเมื่อคืนที่ผ่านมาระดับน้ำที่ท่วมขังได้ลดลงบางส่วน โดยเฉพาะพื้นที่ถนนศรีอุทัย ย่านการค้าสำคัญของเมืองนี้ เพื่อให้สภาพพื้นที่นี้กลับเข้าสู่สภาพปกติโดยเร็ว ขณะที่บริเวณชุมชนคลองลึกพัฒนา ชุมชนสะพานยาว ยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่ และมีสีดำส่งกลิ่นเหม็น

 น้ำท่วมพังงา

          ชาวบ้าน ต.โคกเจริญ และ ต.บางเหรียน หลายหมู่บ้านใน อ.ทับปุด จ.พังงา ที่ประสบภัยน้ำป่าไหลหลาก ได้เริ่มทำความสะอาดบ้านเรืนข้าวของเครื่องใช้ และอุปกรณ์เครื่องครัว ที่นอน เสื้อผ้า หลังระดับน้ำลดลง จากเหตุการณ์น้ำป่าไหลหลาก ซึ่งทำความเสียหายในพื้นที่อย่างรุนแรง บ้านหลายหลัง ถูกกระแสน้ำพัดพา จนเสียหายเกือบทั้งหลัง ซึ่งขณะนี้ ปริมาณน้ำได้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ทางศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.พังงา ยังคงแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ราบลุ่ม และทางน้ำไหลผ่าน เนื่องจากเกรงว่า น้ำป่าไหลหลากอีกเป็นรอบที่ 2 โดยประชาชนบางส่วน ยังหวั่นเกรง หากมีน้ำป่าไหลหลากขึ้นอีกรอบ




สถานการณ์น้ำท่วม 29 ตุลาคม

        สถานการณ์น้ำท่วมประเทศไทยในหลายพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดนครราชสีมา เรื่อยมาจนถึงจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคเหนือ ล่าสุดหลายพื้นที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว ขณะที่หลายจังหวัดสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง

        
สำหรับยอดผู้เสียชีวิตตั้งแต่วันที่ 10-29 ตุลาคม ณ เวลา 07.00 น.วันที่ 29 ตุลาคม  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ หรือ สพฉ. เปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 94 ราย แบ่งเป็นเพศชาย จำนวน 78 ราย และหญิง 16 ราย ในจำนวน 20 จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม โดยจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ นครราชสีมา จำนวน 18 ราย นครสวรรค์ 12 ราย ลพบุรี 11 ราย 


 น้ำท่วมบุรีรัมย์ 

         สถานการณ์น้ำเหนือที่ไหลหนุนลำน้ำมูล ได้ล้นตลิ่งเข้าท่วมไร่นา บ้านเรือนราษฎร ที่อำเภอสตึก และ อำเภอแคนดง อย่างต่อเนื่อง น้ำอยู่ที่ระดับ 2.30 เมตร ซึ่งถือว่าสูงที่สุดในรอบ 30 ปี นาข้าวจมน้ำแล้วร่วม 50,000 ไร่ บ้านเรือนราษฎร 8 ตำบล ถูกน้ำท่วมขัง 15 หมู่บ้าน กว่า 170 ครัวเรือน โรงเรียน 2 แห่ง วัด 2 แห่ง ขณะที่ระดับน้ำยังหนุนสูงอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินจากภาวะน้ำท่วมแล้ว


 น้ำท่วมขอนแก่น 

         กระแสน้ำในลำน้ำชีเริ่มไหลเชี่ยวกรากมากขึ้น หลังระดับน้ำหนุนจากพื้นที่จากจังหวัดชัยภูมิ ได้ไหลเอ่อท่วมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้พนังกั้นน้ำในเขตพื้นที่ตำบลบ้านโต้น อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น ได้พังทลายลงมา กระแสน้ำไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนอย่างรวดเร็ว ทำให้ชาวบ้านต้องช่วยกันอพยพสิ่งของและย้ายที่มาพักอยู่ที่ปลอดภัยกันตลอดทั้งคืน

 


 น้ำท่วมพิจิตร

        
นายสุวิทย์ วัชโรทยางกูร ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำท่วมของ จ.พิจิตร ว่า ขณะนี้ แม่น้ำยม มีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก 30 เซนติเมตร ซึ่งทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่ง แถบตำบลกำแพงดิน อำเภอสามง่าม 68 เซนติเมตร อีกทั้งตำบลรังนก และตำบลวังจิก อำเภอโพธิ์ประทับช้าง รวมถึง เขตอำเภอโพทะเล ก็มีระดับน้ำสูงล้นตลิ่งกว่า 1-2 เมตรด้วยเช่นกัน

 น้ำท่วมอุทัยธานี

          สภาพน้ำท่วมในเขตตัวเมืองอุทัยธานี ระดับน้ำเริ่มท่วมทรงตัว แต่น้ำที่ท่วมขังเริ่มมีสีดำคล้ำ และส่งกลิ่นเหม็น ทำให้ชาวบ้านต่างขยะแขยงในการที่จะเดินลุยน้ำด้วยเท้าเปล่าอย่างที่เคย และหวั่นติดเชื้อโรค แต่หลายคนก็ต้องจำยอมเนื่องจากไม่มีรองเท้าบูทกันน้ำสวมใส่ ทั้งนี้ เบื้องต้นยังไม่ทราบว่าสาเหตุเกิดจากอะไร


 น้ำท่วมสุพรรณบุรี

        
ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดสุพรรณบุรีเข้าขั้นวิกฤติ โดยระดับน้ำในพื้นที่ อ.สามชุก อ.ศรีประจัน อ.เมือง อ.บางปลาม้า อ.สองพี่น้อง เพิ่มสูงขึ้นกว่า 2.50 เมตร เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่ม น้ำทุกสายจึงไหลมาสมทบที่ จ.สุพรรณบุรี แต่พื้นที่ที่อยู่ตอนเหนือของจังหวัด เช่น อ.ดอนเจดีย์ ระดับน้ำเริ่มลดระดับลง ขณะนี้ทางจังหวัดได้เร่งสร้างคันดินกั้นน้ำเพิ่ม และสูบน้ำออกจากพื้นที่ โดยจากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า พื้นที่เกษตรได้รับความเสียหายกว่า 2 แสนไร่ ประชาชนเดือดร้อนกว่า 80,000 ครัวเรือน และถนนหลายสายถูกตัดขาด ประชาชนบางส่วนได้ทำการอพยพไปอยู่ตามจุดต่าง ๆ ที่ปลอดภัยแล้ว  


 น้ำท่วมกาฬสินธุ์

          สถานการณ์น้ำที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ล่าสุด เขื่อนลำปาวได้ยกสายยางขึ้น 3 ช่อง จะมีการระบายน้ำ เพื่อเลี้ยงคลองส่งน้ำ เพียงวันละ 4,000,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งปัจจุบันเขื่อนลำปาว มีระดับกักเก็บน้ำอยู่ที่ ร้อยละ 90 หรือ 1,290 ล้านลูกบาศก์เมตร และการลดการระบายน้ำ จะทำให้เขื่อนลำปาว น้ำทรงตัว ขณะที่ปัญหาน้ำชีหนุนสูง ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมนาข้าว ในเขตอำเภอกมลาไสย แล้วกว่า 20,000 ไร่ และคาดว่า ในวันที่ 2 พ.ย. นี้ หากน้ำยังไหลมาอีก ก็จะทำให้เกิดน้ำท่วมนาข้าวกว่า 50,000 ไร่

          ด้านนายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้กำชับให้ทุกอำเภอที่มีพนังกั้นลำน้ำชี เร่งตรวจสอบรอยรั่ว และทำการเสริมพนังกั้นน้ำ ด้วยกระสอบทราย เนื่องจากระดับน้ำขณะนี้ เหลืออีกเพียง 50 ซม. ก็จะล้นตลิ่ง ในส่วนของประชาชน ก็จะต้องช่วยกันจัดเวรยาม ติดตามสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชม. ทั้งนี้ ยังได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ออกตรวจตราความปลอดภัย ของประชาชน เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสจากกลุ่มมิจฉาชีพ


 น้ำท่วมสุรินทร์

          ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมมากที่สุด ได้แก่ อ.ท่าตูม และอ.รัตนบุรี ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ได้เร่งให้ความช่วยพี่น้องประสบภัยพิบัติแล้ว โดยมอบถุงยังชีพแล้วกว่า 8,000 ถุง และจะแจกเพิ่มเติมอีก คาดพรุ่งนี้ ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุด และหลังจากนั้นก็คงจะลดลง


 น้ำท่วมศรีสะเกษ

           สถานการณ์น้ำในลำน้ำมูลที่ไหลมาจาก จ.นครราชสีมา ที่เข้าท่วมพื้น จ.สุรินทร์ ในขณะนี้จะไหลผ่านเข้าพื้นที่ จ.ศรีสะเกษ จะทำให้บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ริมลำน้ำไปรับผลกระทบถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะในอีก 2 - 3 วันข้างนี้ ซึ่งบ้านเรือนที่อยู่ริมฝั่งน้ำมูลทางจังหวัดได้มีการป้องกันและให้ความช่วยเหลือการเตรียมอพยพขนย้านสิ่งของไปไว้ที่สูงพร้อมแล้ว


ฝนตกหนักในภาคใต้และคลื่นลมแรงในอ่าวไทย

        
กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนภัย "ฝนตกหนักในภาคใต้และคลื่นลมแรงในอ่าวไทย" ฉบับที่ 9 ลงวันที่ 29 ตุลาคม ว่า ในช่วงวันที่ 29-31 ตุลาคม บริเวณความกดอากาศสูง หรือ มวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือมีกำลังแรงขึ้น 

        
ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย และในช่วงวันที่ 1-2 พ.ย. จะมีหย่อมความกดอากาศเคลื่อนตัวเข้ามาปกคลุมบริเวณภาคใต้ตอนล่าง ลักษณะเช่นนี้ ทำให้ภาคใต้มีฝนเพิ่มมากขึ้น กับฝนตกหนักหลายพื้นที่ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ บริเวณจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ระนอง พังงา ตรัง และสตูล ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดสภาวะ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้

        
ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทย มีกำลังแรงขึ้น ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย สำหรับ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ในระยะนี้จะมีอากาศเย็นลงโดยทั่วไป โดยอุณหภูมิลดลงได้ 1-3 องศา ขอให้ประชาชนติดตามข่าวพยากรณ์อากาศและเตือนภัย จากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดในระยะนี้

    

 

 

 

สถานการณ์น้ำท่วม 28 ตุลาคม

 




น้ำท่วมโคราช

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมโคราช

ข่าวน้ำท่วม สถานการณ์น้ำท่วม
ข่าวน้ำท่วม สถานการณ์น้ำท่วม

 




          ที่ประชุม ศชอ. เผยสถานการณ์น้ำท่วมภาพรวมพบ ชัยนาท สิงห์บุรี อยุธยา ยังวิกฤติ ระดับน้ำสูงขึ้้น ขณะที่อุบลราชธานี มีแนวโน้มลดลง หากสภาวะอากาศไม่เปลี่ยนแปลง เผยตั้งแต่ 10-28 ต.ค. มีผู้เสียชีวิตจากน้ำท่วมแล้ว 68 ราย

         จากสถานการณ์น้ำท่วมประเทศไทยในหลายพื้นที่ ตั้งแต่จังหวัดนครราชสีมา เรื่อยมาจนถึงจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคเหนือ ล่าสุดหลายพื้นที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายแล้ว ขณะที่หลายจังหวัดสถานการณ์ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากน้ำจากลำน้ำมูล ลำน้ำชี ลำน้ำปาว จะไหลทะลักเข้าท่วมและสมทบกับแม่น้ำโขงซึ่งอาจทำให้จังหวัดริมน้ำโขง ลำน้ำมูล ลำน้ำชี อาจเกิดน้ำท่วมในเร็ววันนี้ได้ โดยเฉพาะจังหวัดอุบลราชธานี กาฬสินธุ์ เป็นต้น ประกอบกับเขื่อนในหลายเขื่อนมีปริมาณน้ำเกินกักเก็บ เจ้าหน้าที่จำเป็นต้องเร่งระบายน้ำออกมา และอาจทำให้จังหวัดอยู่ใต้เขื่อนจมบาดาลอีกครั้ง 

         ขณะที่ภาคใต้ก็อาจเกิดน้ำท่วมได้เช่นกัน เมื่อล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนภัย "ฝนตกหนักในภาคใต้และคลื่นลมแรงในอ่าวไทย" ฉบับที่ 6 ว่า ในช่วงวันที่ 28-31 ตุลาคม มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังแรง พัดปกคลุมภาคใต้ตอนบนและอ่าวไทยตอนบน ประกอบกับร่องมรสุมพาดผ่านทะเลอันดามัน ภาคใต้ตอนกลาง และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้ภาคใต้ มีฝนเพิ่มมากขึ้นกับฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ ขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ระมัดระวังอันตรายจากฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดสภาวะ น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่งได้ ส่วนคลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรง ขอให้ชาวเรือในบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้ไว้ด้วย 

        
สำหรับ บริเวณความกดอากาศสูง หรือ มวลอากาศเย็นกำลังแรงจากประเทศจีน ยังคงแผ่ลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบนแล้ว ลักษณะเช่นนี้ทำให้ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก มีฝนน้อยกับมีอากาศเย็นลง โดยอุณหภูมิจะลดลงอีก 2-4 องศา และลมแรง


ขณะที่สถานการณ์เฝ้าระวังน้ำท่วมในภาคต่าง ๆ มีดังนี้

          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในภาวะเฝ้าระวังน้ำเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากน้ำจากแม่น้ำมูลไหลมาจาก จ.นครราชสีมา จะทำให้พื้นที่หลายจังหวัดมีภาวะอันตราย เช่น บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ, อ.วารินชำราบ และอ.เมืองอุบลราชธานี, อ.ชุมพลบุรี อ.ท่าตูม และอ.รัตนบุรี จ.สุรินทร์ มีน้ำสูงขึ้นอีก

         
ภาคกลาง น้ำเหนือยังไหลลงเข้าแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างรวดเร็วอาจทำให้สระบุรี ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี กรุงเทพฯ และสมุทรปราการ มีภาวะน้ำสูงขึ้น รวมถึงนครปฐม

         
 ภาคเหนือ มีฝนตกชุก มีปริมาณน้ำฝนที่ 103 มิลลิเมตร ต้องเตรียมรับมือกับสถานการณ์น้ำท่วม ใน จ.พิษณุโลก และพิจิตร


          ด้านนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศิกษาธิการ เปิดเผยว่า มีโรงเรียนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม 926 โรงเรียน โดยเฉพาะโรงเรียนใน จ.นครราชสีมา ได้รับผลกระทบมากที่สุด จาก 25 จังหวัดที่ประสบภัยน้ำท่วม โดย 504 แห่งไม่สามารถเปิดเทอมได้ทัน 1 พฤศจิกายนนี้ เพราะยังมีน้ำท่วมขังหรือเส้นทางมาโรงเรียนยังมีน้ำท่วมขัง จึงให้ผอ.โรงเรียนมีอำนาจสั่งปิดโรงเรียนต่อได้คราวละ 7 วันจนกว่าระดับน้ำในโรงเรียนจะลดลง จึงให้เปิดเทอมตามปกติ  ทั้งนี้ ความเสียหายเบื้องต้น ประเมินไว้ 350 ล้านบาท ซึ่งจะประสานของบกลางให้ความช่วยเหลือ ส่วนนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจะใช้โครงการเรียนฟรี 15 ปี เป็นมาตรการหลัก

          ขณะที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้สรุปรายชื่อผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์อุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 10-28 ต.ค. 2553 ข้อมูล ณ วันที่ 28 ตุลาคม เวลา 07.00 น. พบว่ามียอดผู้เสียชีวิต 68 ราย เป็นเพศชาย 54 ราย เพศหญิง 14 ราย จาก 19 จังหวัด โดยจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด คือ จังหวัดลพบุรี และ จังหวัดนครสวรรค์ มีผู้เสียชีวิตจังหวัดละ 11 ราย


ข่าวน้ำท่วม สถานการณ์น้ำท่วม
ข่าวน้ำท่วม สถานการณ์น้ำท่วม




 สำหรับสถานการณ์น้ำในเขื่อนล่าสุดมีดังนี้

         - เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ขณะนี้สามารถเก็บกักน้ำอยู่ที่ประมาณ 62 % 
         - เขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ขณะนี้ มีปริมาณน้ำอยู่ในระดับ 82 % 
         - ส่วนเขื่อนแควน้อย จ.พิษณุโลก ล่าสุดปริมาณน้ำ เต็ม 100 % 
         - ขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำในเขื่อน อยู่ที่ 109 % เกินปริมาณเก็บกักน้ำมา 9% 
         - เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 115 %  เกินปริมาณเก็บกักน้ำมา 15 % 
         - ขณะที่เขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำอยู่ที่ 118 %  เกินปริมาณเก็บกักน้ำมา 18 %

 น้ำท่วม จ.อุบลราชธานี

          นายสิทธิชัย โควสุรัตน์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และทีมงานองค์การบริหารจังหวัดอุบลราชธานี ได้นำเครื่องสูบน้ำ ขนาด 125 จำนวน 40 เครื่อง ไปสูบน้ำมูล ที่บริเวณแก่งตะนะ เพื่อให้น้ำมูลลดลงอย่างรวดเร็ว เป็นการรองรับน้ำที่จะไหลมาจากทางเหนือมาที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยคาดว่าน้ำมูลจะมาถึงจังหวัดอุบลราชธานี ที่ 1-2 พ.ย. มารวมกันที่วารินชำราบ และยังมีแม่น้ำจากลำน้ำชี ไหลมาจากจังหวัดชัยภูมิ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด มหาสารคาม ยโสธร ซึ่งทางจังหวัดได้เตรียมรองรับน้ำไว้แล้ว โดยทางผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี บอกว่า ไม่ห่วง เนื่องจากมีการเตรียมตัวไว้แล้ว

          ด้านนายสุรพล สายพันธ์ ผู้ว่าราชการ จ.อุบลราชธานี เผยว่า หลังจากน้ำจาก จ.ชัยภูมิ ไหลมาสมทบ ทำให้ขณะนี้ระดับน้ำในพื้นที่สูงขึ้น 1.12 เมตร โดยทางจังหวัดตั้งระดับเตือนภัยไว้ที่ 1.13 เมตร และวัดระดับน้ำทุก 6 ชั่วโมง เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมกับอพยพประชาชนในพื้นที่เขตเทศบาลอุบลราชธานี ไว้ล่วงหน้าแล้วกว่า 2,000 คน

 น้ำท่วม จ.กาฬสินธุ์

         นายวิโรจน์ จิวะรังสรรค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า น้ำจำนวนมากที่ไหลมาจากจังหวัดชัยภูมิ และเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น จะมาถึงเต็มที่ในวันที่ 2 พ.ย. นี้ ที่จะทำให้เกิดน้ำท่วมเป็นบริเวณกว้าง และคาดว่าจะมีนาข้าวเสียหายกว่า 50,000 ไร่ ถึง 3 อำเภอ แต่ในระยะนี้ เนื่องจากพนังกั้นน้ำ เริ่มมีการเคลื่อนตัว เนื่องจากกระแสน้ำ และก็ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ตรวจสอบพนังตลอดระยะ 30 กิโลเมตร ที่เชื่อว่าหากน้ำไม่มีเศษไม้ขนาดใหญ่ปนเข้ามา ก็จะไม่ได้รับผลกระทบ

          ด้านนายธนาวุฒิ ทองทวี นายอำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ นำเจ้าหน้าที่ อส. และ อปพร.และชาวบ้านกว่า 100 คน ช่วยกันนำกระสอบทราย กว่า 2,000 ถุงสร้างแนวกั้นน้ำบริเวณพนังกั้นลำน้ำชี บ้านท่าเยี่ยม ตำบลลำชี เพื่อลดความแรงปะทะของกระแสน้ำชี ที่เริ่มกัดเซาะและเจาะเข้ามาถึงพนังกั้นน้ำชั้นใน หลังจากระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยวันละ 5 เซนติเมตร ล่าสุดระดับน้ำชีสูงกว่าระดับปกติถึง 100 เซนติเมตร ซึ่งเหลือเพียง 30 เซนติเมตร ก็จะเริ่มล้นพนังกั้นทะลักเข้ามาท่วมบ้านเรือนและไร่นาของประชาชน


 น้ำท่วม จ.สกลนคร

          นายอำพร ยะวางผล อายุ 57 ปี ชาวบ้านนาเพียงใหม่ ต.นาเพียง อ.กุสุมาลย์ จ.สกลนคร ใช้เชือกไนลอนสีเขียว ผูกกับกิ่งมะขามข้างบ้านฆ่าตัวตาย หลังนาถูกน้ำท่วมเสียหาย ภรรยาเผย เห็นสามีซึมเศร้า ก่อนออกไปติดต่อขายน้ำ จนมืดค่ำไม่เห็นผู้ตายกลับมาบ้าน รุ่งเช้าจึงออกตามหา และพบว่าผูกคอตายที่ต้นมะขามแล้ว เบื้องต้นเจ้าหน้าที่สอบสวนสาเหตุน่าจะมาจากอาการเครียดและคิดมาก ในเรื่องการทำนาที่มีปัญหา

 น้ำท่วม จ.สุรินทร์

          นายนครินทร์ กองทุน นายอำเภอชุมพลบุรี เปิดเผยว่า ในหลายตำบลของอำเภอชุมพลบุรี จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งอยู่ติดลำน้ำมูล ได้แก่ ตำบลยะวึก ตำบลเมืองบัว ตำบลหนองเรือ และตำบลที่ได้รับความเสียหายหนักสุดในขณะนี้ คือที่ตำบลสระขุด โดยที่บ้านสายสนอง มีราษฎรกว่า 80 ครัวเรือน ถูกตัดขาดจากภายนอก เนื่องจากปริมาณน้ำจากลำน้ำมูลได้ไหลเอ่อเข้าท่วมหมู่บ้านและถนน ระดับสูงกว่า 1 เมตร ชาวบ้านต้องใช้เรือในการอพยพขนย้ายสิ่งของไปไว้ที่สูงและใช้สัญจรไปมา เช่นเดียวกับราษฎรอีกว่า 300 ครัวเรือนที่อยู่หมู่บ้านใกล้เคียง ได้แก่บ้านอ้อ - ตลิ่งชัน กำลังได้รับความเดือดร้อนเช่นกัน

 น้ำท่วม จ.บุรีรัมย์

          ชาวบ้าน อ.สตึก ต้องเร่งขนย้ายกระชังปลา และข้าวของไว้บนที่สูง หลังระดับน้ำเพิ่มขึ้นมากกว่า 1 เมตร สาเหตุจากน้ำเหนือจากนครราชสีมาไหลมาสมทบกับน้ำท่วมในเขต อ.พุทไธสง อ.คูเมือง จ.บุรีรัมย์ เพื่อไหลไปลงแม่น้้ำมูลที่ อ.สตึก ซึ่งเป็นด่านสุดท้ายที่น้ำจะไหลผ่านก่อนไปยัง อ.ชุมพลบุรี จ.สุรินทร์

 น้ำท่วม จ.มหาสารคาม

          แม่น้ำชีที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นได้ไหลเข้าท่วมวนอุทยานโกสัมพี อ.โกสุมพิสัย จ.มหาสารคาม ทำให้ลิงแสมนับ 1,000 ตัวที่อาศัยอยู่ในวนอุทยานอดอยาก พากันอพยพมาอาศัยบนถนนด้านหน้าและด้านข้างของวนอุทยาน เนื่องจากนักท่องเที่ยวไม่สามารถเข้าไปได้

 น้ำท่วม จ.นครสวรรค์ 

         ส่วนสถานการณ์น้ำ ในพื้นที่ จ.นครสวรรค์ ขณะนี้ผู้ใช้รถยนต์เก๋ง แจ้งว่า เส้นทางบายพาส จากกรุงเทพ มุ่งหน้า จ.นครสวรรค์ มีปริมาณน้ำท่วมขังถนน ช่วงถนนพหลโยธิน สูงกว่า 50 เซนติเมตร โดยที่ไม่มีป้ายเตือนบอกเส้นทางจากเจ้าหน้าที่ ทำให้มีรถที่ขับไปในบริเวณดังกล่าว รถยนต์จอดเสียอยู่หลายคัน

 น้ำท่วม จ.พิจิตร

          สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดพิจิตรขณะนี้ระดับน้ำทรงตัว โดยระดับน้ำที่สถานีวัดน้ำ Y 5 ระดับน้ำอยู่ที่ 7.60 เมตร สูงกว่าจุดวิกฤติ 65 เซนติเมตร น้ำจากแม่น้ำยมท่วมขังในพื้นที่ 4 อำเภอ 13 ตำบล 114 หมู่บ้านประกอบด้วย อำเภอสามง่าม โพธิ์ประทับช้าง บึงนาราง และอำเภอโพทะเล

 น้ำท่วม จ.สิงห์บุรี

          สถานการณ์น้ำท่วมใน ต.บางน้ำเชี่ยว อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ขณะนี้แม่น้ำเจ้าพระยามีระดับน้ำสูงจากตลิ่ง มากกว่า 2.30 เมตร ซึ่งชาวบ้านพยายามกั้นน้ำไม่ให้ไหลลงคลองชลประทาน และท่วมพื้นที่การเกษตรฝั่งตรงข้าม ขณะที่บางส่วนประกาศเตือนขนของขึ้นที่สูงแล้ว

          ส่วนที่ อ.เมือง น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้เอ่อท่วมบ้านเรือประชาชนติดริมน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ที่ไม่มีแนวเขื่อนคอนกรีตกั้น นอกจากนี้น้ำในคลองชลประทานที่อยู่ตัวเมืองเอ่อท่วมถนนด้วย โดยเฉพาะบริเวณแยกศาลหลักเมือง ขณะนี้ต้องปิดการจราจรช่องทางเข้าเมืองที่มาจาก อ.บางระจัน โดยบังคับให้รถวิ่งสวนเลน เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องการกันน้ำไม่ให้ไหลท่วมตลาดสด ส่วนจากแยกหลักเมืองมุ่งหน้า อ.อินทร์บุรี ขณะนี้ไม่สามารถเดินทางได้ ต้องใช้เส้นทางถนนสายเอเชียเท่านั้น โดยชาวบ้านพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า น้ำท่วมครั้งนี้เป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี

 น้ำท่วม จ.อุทัยธานี

          น้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง ได้เอ่อเข้าท่วมพื้นที่บางส่วนของถนนศรีอุทัย โดยเฉพาะวงเวียนช้าง หน้าธนาคารไทยพาณิชย์ อ.เมือง จ.อุทัยธานี สำหรับในพื้นที่ตำบลรอบนอก พบน้ำยังคงท่วมสูง สร้างผลกระทบต่อเนื่องกับประชาชนในพื้นที่ 5 ตำบล คือ ต.สะแกกรัง ต.หาดทะนง ต.ท่าซุง ต.เกาะเทโพ และต.น้ำซึม อ.เมือง ซึ่งตำบลน้ำซึมเป็นตำบลที่ได้รับผลกระทบเป็นตำบลล่าสุด หลังน้ำเพิ่มระดับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

          สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ตำบลเกาะเทโพ อ.เมือง จ.อุทัยธานี ระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้นเมื่อคืนนี้ ประชาชนใน 4 ตำบล ซึ่งเป็นพื้นที่เหนือเขื่อนเจ้าพระยาจังหวัดชัยนาท ยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากเหตุอุทกภัยที่เป็นมากว่า 5 วัน

 น้ำท่วม จ.พิษณุโลก

          ได้เกิดน้ำป่าไหลหลากลงลำห้วยพู หลังฝนตกหนักติดต่อกัน 2 วัน ทำให้น้ำเอ่อท่วมถนนทางเข้าเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน อ.วัดโบสถ์ จ.พิษณุโลก ซึ่งความแรงของน้ำได้กัดเซาะไหลทางด้านซ้ายจนเป็นโพรงใหญ่ เจ้าหน้าที่ได้สำรวจความเสียหายเพื่อเร่งซ่อมแซมแล้ว

          ขณะที่ ต.ดงประคำ อ.พรหมพิราม ยังคงมีน้ำท่วมขังอยู่ หลังจากน้ำจากอ่างเก็บน้ำซำบอน อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ยังคงไหลเข้าท่วมอย่างต่อเนื่อง และการระบายน้ำก็เป็นไปด้วยความล่าช้า เนื่องจากติดแนวคันคลองชลประทาน ที่กลายสภาพเป็นเขื่อนกักน้ำไว้ ส่วนที่ อ.บางระกำ ปริมาณน้ำก็ยังท่วมขังเป็นวงกว้าง เนื่องจากมีน้ำจากสุโขทัยและแพร่ไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะระบายน้ำท่วมลงสู่แม่น้ำน่าน และแม่น้ำยมจนกลับสู่ในสภาพปกติได้ ประมาณปลายเดือนพฤศจิกายน 2553

 น้ำท่วม จ.ฉะเชิงเทรา

          นายบัณฑิตย์ เทวีทิวารักษ์ รองผู้ว่าฯ จ.ฉะเชิงเทรา กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ว่า ขณะนี้ไม่น่าห่วง เนื่องจากทางจังหวัดสามารถที่จะดูแลบริหารจัดการน้ำภายในจังหวัดได้ โดยเฉพาะด้านฝั่งซ้ายของแม่น้ำบางปะกง ที่มีอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ทั้งอ่างคลองระบม และอ่างสียัด ตั้งอยู่ในพื้นที่ หลังได้มีการเสริมขอบยางสปริงเวย์แล้ว สามารถเก็บกักน้ำได้เพิ่มขึ้นอย่างมากถึงกว่า 150 ล้านลูกบาศก์เมตร และพื้นที่ที่เคยถูกน้ำท่วมซ้ำซากหายไป โดยเฉพาะในตำบลเกาะขนุน อ.พนมสารคาม ไม่ถูกน้ำท่วมเลยในปีนี้

          ส่วนน้ำที่ไหลล้นออกมาจากแม่น้ำบางปะกง จนเกิดน้ำท่วมริมสองฝั่งลำน้ำนั้น เป็นน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำปราจีนฯ และแม่น้ำนครนายก ลงมารวมกันที่ จ.ฉะเชิงเทรา ประกอบกับน้ำทะเลหนุนสูงใน วันที่ 26-27 ต.ค. จึงทำให้มีปริมาณน้ำมาก และมีผู้ได้รับความเดือดร้อน เฉพาะผู้ที่มีบ้านเรือนอยู่ติดกับริมแม่น้ำเท่านั้น ซึ่งคาดว่าในวันพรุ่งนี้ สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลายลง

          ส่วนปัญหาน้ำท่วมทางด้านฝั่งขวาของแม่น้ำบางปะกงนั้น เป็นผลมาจากการเร่งระบายน้ำ ลงมาจากทางภาคเหนือ ผ่านคลองระพีพัฒน์ตอนบนของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อเลี่ยงการผันน้ำออกไม่ให้ผ่านเข้ากรุงเทพฯ ลงสู่ทะเล ผ่านเข้าพื้นที่มาทางคลองพระองค์ไชยานุชิด ไปยังสถานีสูบน้ำคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ซึ่งมีกรมชลประทาน เป็นผู้ดูแลจัดการจราจรระบายน้ำออก และอยู่เหนือจากการควบคุมของทางจังหวัด

  น้ำท่วม จ.พระนครศรีอยุธยา

          ชาวบ้าน ต.สามกอ อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา ยังคงได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก หลังระดับน้ำในแม่น้ำน้อยเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ชาวบ้านต้องใช้เรือสัญจรระหว่างถนน กับหมู่บ้าน นอกจากนี้ น้ำยังเอ่อเข้าท่วมตลาดเสนา และวัดบ้านแพน บางจุดระดับน้ำสูงประมาณ 1.50 เมตร ชาวบ้านต้องขนย้ายสิ่งของไปไว้ที่ปลอดภัย และพักริมถนน

          ขณะที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยานั้น มีความเร็วของน้ำ 3,405 ลูกบาศเมตรต่อวินาที ซึ่งถือว่าระดับน้ำสูงขึ้น ทั้งนี้ น้ำก้อนสำคัญในแม่น้ำสายหลัก ประกอบด้วย ปิง วัง ยม น่าน จะทยอยลดลง และแม้น้ำทะเลจะหนุนอีกครั้ง ในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ก็จะไม่ท่วม


  น้ำท่วม จ.กระบี่

          เกิดเหตุน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมถนนและบ้านเรือนของชาวบ้าน บนถนนสายนาเหนือ-เขาต่อ ม.4 ต.เขาต่อ อ.ปลายพระยา จ.กระบี่ โดยมีน้ำท่วมบริเวณถนนสูงประมาณ 30 ซม. ส่งผลให้การจราจรติดขัดอย่างมาก ซึ่งสาเหตุที่เกิดน้ำป่าไหลหลาก เป็นเพราะจากวานนี้ได้เกิดฝนตกหนักติดต่อกันตลอดช่วงบ่าย อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์น้ำท่วมนี้ ทำให้ประชาชนเดือดร้อนประมาณ 50 หลังคาเรือน ดยเฉพาะหมู่ที่ 4 และหมู่ที่ 5 ต.เขาต่อ

 น้ำท่วม จ.พังงา

          ได้เกิดเหตุดินถล่มกลางดึกที่ ต.ถ้ำ อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา หลังฝนตกหนัก และเกิดน้ำป่าหลาก นอกจากนี้ ยังได้เกิดน้ำป่าไหลหลาก ทำให้บ้านเรือนประชาชนถูกน้ำพัดพาเสียหายจำนวนทั้งสิ้น 141 หลังคาเรือน จาก 5 ตำบล 3 อำเภอ คือ ในพื้นที่หมู่ที่ 1-5 ต.บางเหรียง และหมู่ที่ 5,7,8 ต.โคกเจริญ อ.ทับปุด หมู่ที่ 1,2 ต.มะรุ่ย จำนวน 75 หลังคาเรือน ในพื้นที่หมู่ที่ 5,8,9 ต.ถ้ำ อ.ตะกั่วทุ่ง 45 หลังคาเรือน และในเขต หมู่ที่ 1,2 ต.บางทอง อ.ท้ายเหมือง อีก 7 หลังคาเรือน ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อน กว่า 400 คน ขณะนี้อยู่ระหว่างให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น

สถานการณ์ จ.สุราษฎร์ธานี

         อุทยานแห่งชาติเขาสก อ.พนม จ.สุราษฎร์ธานี สั่งปิดสถานที่ท่องเที่ยวในอุทยานฯ จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ น้ำตกโตนกลอย น้ำตกธารสวรรค์ น้ำตกตังน้ำ น้ำตกสิบเอ็ดชั้น ถ้ำน้ำทะลุ ถ้ำค้างคาว ถ้ำสี่รู และเส้นทางชมดอกบัวผุด เพื่อเป็นการป้องกันการเกิดเหตุอันตรายกับนักท่องเที่ยว จากเหตุดินถล่ม และน้ำป่าไหลหลาก

 น้ำท่วม จ.เชียงราย

          สถานการณ์น้ำป่าไหลหลาก จากเทือกเขาดอยนางแลที่ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ในพื้นที่ ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย และถนนสายแม่สาย-แม่สาย วานนี้ ขณะนี้ ระดับน้ำได้ลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ เทศบาลตำบลนางแล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำรถฉีดน้ำเข้าไปทำความสะอาดบ้านเรือนประชาชน เนื่องจากมีทรัพย์สินจำนวนมาก ได้รับความเสียหาย เพราะโดนดินโคลนทับถม




น้ำท่วม
น้ำท่วม


 


ข่าวน้ำท่วม สถานการณ์น้ำท่วม 27 ตุลาคม


          อุบลฯ ผวาน้ำท่วมหนัก หลังปริมาณน้ำจากแม่น้ำชีและแม่น้ำมูลซึ่งไหลมาจากจังหวัดต่าง ๆ จะมาบรรจบกันต้นเดือนหน้า เพื่อลงสู่แม่น้ำโขง ผู้ว่าฯ เร่งหามาตรการป้องกันแล้ว

          จากสถานการณ์น้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ตั้งแต่จังหวัดนครราชสีมา เรื่อยมาจนถึงจังหวัดอื่น ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่งผลให้เขื่อนต่าง ๆ รวมทั้งปริมาณน้ำในแม่น้ำสายต่าง ๆ ที่ไหลผ่านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง โดยเฉพาะลำน้ำมูล ลำน้ำชี ลำน้ำปาว มีระดับน้ำสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ซึ่งปริมาณน้ำอันมหาศาลเหล่านี้จะไหลไปรวมตัวกันที่จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อลงสู่แม่น้ำโขงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

          ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงมีรับสั่งให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เร่งหามาตรการเตรียมรับมือน้ำท่วมใหญ่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งปริมาณน้ำจากหลายสายจะเข้าท่วมหนักยิ่งกว่าน้ำท่วมโคราช หรือน้ำท่วมในลุ่มภาคกลาง

          ทั้งนี้ นายคุณพจน์ บัวโทน วิศวกรชำนาญการพิเศษ ศูนย์เมขลา กรมทรัพยากรน้ำ กล่าว่า น้ำจากลำน้ำมูลที่ไหลจากจังหวัดนครราชสีมา ผ่านบุรีรัมย์ สุรินทร์ จะไปถึงจังหวัดศรีสะเกษในวันที่ 31 ต.ค. และจะเข้าถึงจังหวัดอุบลราชธานีในวันที่ 2 พ.ย. จุดสูงสุดอยู่ที่ อ.เมือง จ.อุบลราชธานี โดยมีอัตราไหลของน้ำ  2,660 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่ลำน้ำจะรับได้ที่ 2,410 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเท่านั้น จึงส่งผลให้เกิดภาวะน้ำล้นตลิ่งในบริเวณดังกล่าว ก่อนที่น้ำไหลผ่านไปยังแก่งสะพือลงสู่แม่น้ำโขงที่ อ.โขงเจียม

          ขณะที่ลำน้ำชีซึ่งจะไหลมาจากจังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่น มหาสารคาม ยโสธร จะไหลเข้า จังหวัดอุบลราชธานีประมาณวันที่ 5 พ.ย. คาดว่าจะมีอัตราการไหลอยู่ที่ 1,121 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และจะมาบรรจบกับก้อนน้ำมูลซึ่งไหลมาถึงจังหวัดอุบลราชธานีก่อนหน้านี้ โดยที่ไหลลงสมทบกันที่ อ.เมืองอุบลราชธานี ก่อนจะผ่านไปลงแม่น้ำโขง จึงน่าเป็นห่วงว่า ปริมาณน้ำจะมีมากถึง 4,000 กว่าลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีจนเกิดการระบายน้ำไม่ทัน อย่างไรก็ตาม ยังนับว่าโชคดีเล็กน้อย ที่ก้อนน้ำจากลำน้ำมูล และลำน้ำชี จะลงมาสมทบที่จังหวัดอุบลราชธานีคนละวันกัน ซึ่งหากมีการจัดการบริหารน้ำให้ดี จะช่วยบรรเทาวิกฤตการณ์น้ำท่วมหนักในอุบลราชธานีไปได้บ้าง แต่สิ่งที่น่าเป็นกังวลก็คือ หากมีฝนตกลงมาจะยิ่งบริหารจัดการน้ำได้ยากขึ้น

          ด้านนายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ได้สั่งให้ทาง จ.อุบลราชธานี เกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หลังน้ำจะไหลมาบรรจบกันและก่อให้เกิดปัญหาที่ อ.วารินชำราบ

          ขณะที่นายสุรพล สายพันธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กล่าวในนามพสกนิกรชาวจังหวัดอุบลราชธานี รู้สึกสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงห่วงใยต่อสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งทางจังหวัดได้ติดตามสถานการณ์ และให้การช่วยเหลือประชาชนอย่างใกล้ชิด

          ล่าสุดตนได้ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ สำรวจระดับน้ำในจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียง พบว่า น้ำได้ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่เกษตรกร ส่วนชุมชนริมฝั่งแม่น้ำมูล ในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ในเขตเทศบาลวารินชำราบแล้ว โดยเฉพาะจุดที่แม่น้ำชี และแม่น้ำมูลที่มาบรรจบกันที่บริเวณบ้านวังยาง ต.บุ่งหวาย อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี โดยได้อพยพประชาชนประมาณ 600 ครอบครัว ประมาณ 2,400 กว่าคนในเขตเทศบาลนคร และเทศบาลวารินชำราบแล้ว พร้อมกับขอให้นายอำเภอ ผู้นำชุมชนในพื้นที่ ที่อยู่ในเขตแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ซึ่งไหลผ่านในอำเภอเขื่อนใน เมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ พิบูลมังสาหาร และสิรินธร เร่งดำเนินการอพยพประชาชนเพื่อเตรียมรับน้ำแล้วเช่นกัน คาดว่าจะมาถึงจังหวัดอุบลราชธานีประมาณอีก 6 วัน  

          นอกจากนี้ มอบหมายให้องค์การต่าง ๆ ทั้งจังหวัดอุบลราชธานี เตรียมดำเนินการผันน้ำไปเก็บไว้เป็นพื้นที่แก้มลิง เพื่อเป็นการพร่องน้ำในแม่น้ำมูลและแม่น้ำชี ให้สามารถรับน้ำจากนครราชสีมา และจังหวัดชัยภูมิได้มากขึ้น โดยเตรียมผันน้ำออกจากแม่น้ำมูล 2 จุด คือ ที่บริเวณบ้านป่ากุดหวายลงแก้มลิง และ ผันน้ำบริเวณอำเภอพิบูลมังสาหาร เพื่อให้ระดับน้ำมูลลดลง ก่อนที่น้ำจะไหลมาถึงตัวเมืองอุบลราชธานี

         ทั้งนี้ ในส่วนของแก้มลิงที่ทำไว้ค่อนข้างจะเต็ม แต่ก็พยายามจะสูบออกไปเพื่อรองรับน้ำที่จะมาเพิ่ม และจะติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อผันน้ำจากแม่น้ำมูลไปลงแม่น้ำสาขามากขึ้น เพื่อรอรับน้ำชีที่จะมาต่อเนื่อง แต่ถึงตอนนั้นแม่น้ำมูลจะไปก่อน แล้วแม่น้ำชีค่อยตามมา และปริมาณน้ำจากแม่น้ำชีก็จะมีน้อยกว่าด้วย

          ด้านนายวิเศษ ภูมิวิชัย  ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา เขต 4 กล่าวว่า ได้สั่งการไปยังโรงเรียนในพื้นที่เสี่ยง 5 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนบ้านท่าบ้งมั่ง โรงเรียนหาดสวนยา โรงเรียนกุดปลาขาว โรงเรียนบ้านคูสว่าง และโรงเรียนบ้านกุดชุม เตรียมการรับน้ำท่วมไว้แล้ว เนื่องจากสภาพพื้นที่ที่เป็นพื้นที่ราบลุ่ม

          สำหรับเรื่องการเตรียมพร้อมรับมือนั้น นาวาอากาศเอกเฉลิมชัย  ศรีสายหยุด ผู้บังคับการกองบิน 21 ได้เตรียมการปฏิบัติช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ จังหวัดอุบลราชธานี โดยจัดการเปิดศูนย์ ฯ เตรียมความพร้อมในการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียง โดยจัดเตรียมกำลังพล อากาศยาน รถยนต์ เรือท้องแบน เครื่องจักรกล เครื่องทุ่นแรง หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ และถุงยังชีพ เพื่อเตรียมการช่วยเหลือแล้ว
 
         เช่นเดียวกัน ที่เทศบาลนครอุบลราชธานี ได้เปิดศูนย์เฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัยและโคลนถล่ม ณ อาคารฝ่ายป้องกันและ-บรรเทาสาธารณภัย โดยรับแจ้งขอความช่วยเหลือตลอด 24 ชั่วโมง ที่หมายเลขโทรศัพท์ 045 – 045500 หรือที่สายด่วน 199 นอกจากนี้ ในศูนย์มีการได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่พร้อมอุปกรณ์ เช่น เครื่องสูบน้ำ เรือยาง และอุปกรณ์กู้ภัยทางน้ำ ไว้คอยช่วยเหลือพี่น้องประชาชนภายในเขตเทศบาลนครอุบลราชธานี ที่ประสบอุทกภัยอย่างทันท่วงที รวมถึงการเตรียมการป้องกันจากผลกระทบจากน้ำเหนือที่จะไหลมาจากจังหวัดนครราชสีมา จังหวัดร้อยเอ็ด  และจังหวัดยโสธร ที่คาดว่าจะมาถึงจังหวัดอุบลราชธานีในอีก 2 – 3 วันข้างหน้า ซึ่งได้เตรียมพื้นที่รองรับผู้ประสบอุกภัยที่อาจเกิดขึ้น


เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดต่าง ๆ 27 ตุลาคม

          สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้รายงานสรุปยอดผู้เสียชีวิตจากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ตั้งแต่วันที่ 10-27 ต.ค. 2553 โดยจากข้อมูลล่าสุดพบว่า มีรายงานยอดผู้เสียชีวิตวันนี้เพิ่มเข้ามาอีก 3 ราย รวมเป็นทั้งสิ้น 59 รายจากพื้นที่ประสบอุทกภัย 18 จังหวัด โดยผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นมาจาก จ.สระบุรี 1 ราย จ.ชัยนาท 1 ราย และจ.พิจิตร 1 ราย

          ทั้งนี้ แยกตามรายจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตจากจำนวน 18 จังหวัด ประกอบด้วย จ.ลพบุรี 10 ราย จ. นครราชสีมา 9 ราย จ. นครสวรรค์ 8 ราย จ.บุรีรัมย์ 6 ราย จ.ขอนแก่น 3 ราย จ.เพชรบูรณ์ 3 ราย จ.กำแพงเพชร 3 ราย จ. สระบุรี 3 ราย จ.ชัยภูมิ 2 ราย จ.ระยอง 2 ราย จ.สิงห์บุรี 2 ราย จ.ชัยนาท 2 ราย จ.สระแก้ว 1 ราย จ.ตราด 1 ราย จ.พระนครศรีอยุธยา 1 ราย จ.นนทบุรี 1 ราย จ.อุทัยธานี 1 ราย และจ.พิจิตร 1 ราย

         ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ ปภ. รายงานว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายแล้ว 11 จังหวัด ได้แก่ จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ จ.ระยอง จ.จันทบุรี จ.ตราด จ.ตาก จ.ชลบุรี จ.ลำพูน จ.เชียงใหม่ จ.สระแก้ว และ จ.นครนายก ยังคงมีสถานการณ์ อุทกภัยอยู่ 25 จังหวัด พื้นที่การเกษตรที่คาดว่า จะได้รับความเสียหายกว่า 3,468,000 ไร่ เส้นทางการจราจร ไม่สามารถสัญจรผ่านได้ 16 สาย ใน 7 จังหวัด 


 น้ำท่วม จ.บุรีรัมย์

         สถานการณ์น้ำท่วมบุรีรัมย์ ยังคงขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.พุทไธสง คูเมือง แคนดงและ อ.สตึก ที่อยู่ติดริมลำน้ำมูล ระดับน้ำยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ย 10-20 เซนติเมตร โดยขึ้นอีก 1.20 เมตร จะล้นตลิ่มริมฝั่งแม่น้ำมูลฝั่ง อ.สตึก ซึ่งจากการรายงานของเกษตรจังหวัดพบว่าได้มีนาข้าวของเกษตรกร ที่กำลังออกรวงได้ถูกน้ำท่วมใน 19 อำเภอ แล้วกว่า 400,000 ไร่ 

         โดยจำนวนนี้นาข้าวที่ถูกน้ำท่วมเกิน 10 วัน ได้รับความเสียหายสิ้นเชิง ไม่น้อยกว่า 300,000 ไร่ เสียหายมากมี อ.นารอง ลำปลายมาศ คูเมือง แคนดง สตึก และ อ.พุทไธสง ขณะที่ทางเกษตรจังหวัด ได้เร่งสั่งการให้เกษตรอำเภอร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เข้าดำเนินการตรวจสอบความเสียหายที่แท้จริงอีกครั้ง

 น้ำท่วม จ.นครราชสีมา

         ทางด้าน ที่ จ.นครราชสีมา สถานการณ์น้ำท่วมล่าสุดนั้น ปริมาณน้ำจากลำน้ำมูลได้ทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของประชาชนในอำเภอชุมพวง โดยระดับน้ำริมลำน้ำมูลท่วมสูงเฉลี่ยประมาณ 1.30 เมตร และปริมาณน้ำยังเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 5 เซนติเมตรต่อวัน ส่วนความเสียหายในภาพรวมของพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา มีพื้นที่ประสบภัยครอบคลุมทั้งจังหวัดใน 32 อำเภอ 276 ตำบล 209,243 ครัวเรือน เดือดร้อนรวม 734,199 คน เสียชีวิตแล้ว 14 ราย บาดเจ็บ 5 ราย

         ขณะที่พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย 1,594,733 ไร่ สาธารณูปโภคเสียหายคิดเป็นมูลค่ารวม 1,395,933,824 บาท และยังคงมีพื้นที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่ที่อยู่ติดกับลำน้ำ 5 อำเภอ ประกอบด้วย อ.โนนสูง, อ.พิมาย, อ.ชุมพวง, อ.เฉลิมพระเกียรติ และอำเภอเมืองยาง เนื่องจากปริมาณน้ำในลำน้ำยังคงสูงกว่าตลิ่ง และมีแนวโน้มว่าปริมาณน้ำอาจจะเพิ่มระดับขึ้นได้อีก ซึ่งทางจังหวัดได้ออกประกาศเตือนให้ประชาชนอพยพขึ้นไปอยู่บนที่สูงทั้งหมดแล้ว

          ทั้งนี้ อำเภอที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือ อ.เมืองยาง เพราะเป็นพื้นที่รับน้ำสุดท้าย ของ จ.นครราชสีมา คาดว่าประมาณ 2 สัปดาห์ จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

 น้ำท่วม จ.มหาสารคาม

          ทหารค่ายสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก มหาสารคาม เสริมกำลังกว่า 200 นาย เข้าช่วยเหลือชาวบ้าน 4 หมู่บ้าน พื้นที่ ต.ขามเรียง อ.กันทรวิชัย ช่วยกันบรรจุกระสอบทรายกว่า 15,000 กระสอบ นำไปวางตามแนวน้ำชีระยะทางกว่า 300 เมตร เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่การเกษตร

 น้ำท่วม จ.หนองบัวลำภู

          น้ำได้ทะลักเข้าท่วมถนนและนาข้าว ชาวบ้านเขตอำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู ซึ่งทางสำนักงาน โรงสูบน้ำคันดินอำเภอโนนสัง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ได้เร่งสูบน้ำจากนาข้าวและน้ำที่ท่วมถนนออกอย่างเร่งด่วน ก่อนที่น้ำเหนือจากจังหวัดเลยจะลงมาสมทบ โดยทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หนองบัวลำภู ได้ออกเตือนภัยชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่ริมเขื่อนอุบลรัตน์ ฝั่งจังหวัดหนองบัวลำภู ให้ระวังน้ำท่วมฉับพลัน เพราะน้ำจากเขื่อนไม่สามารถระบายออกได้ และเกรงว่าน้ำจะเข้าท่วมที่จังหวัดขอนแก่น ทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมอำเภอโนนสัง จังหวัดหนองบัวลำภู

          โดยนายวินัย บัวประดิษฐ์  ผู้ว่าราชการจังหวัด กล่าวด้วยความเป็นห่วงว่า เกรงน้ำที่กำลังเดินทางมาจาก จังหวัดเลย จะไหลลงมาสมทบกับน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ ทำให้น้ำไม่มีที่ระบายอาจจะเข้าท่วมไร่นาของชาวบ้านได้รับความเสียหาย และได้สั่งการให้ตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุน้ำท่วมแล้ว

 น้ำท่วม จ.สุรินทร์

          จังหวัดสุรินทร์ ได้ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติจำนวน 14 อำเภอ ประกอบด้วย อ.บัวเชด สังขะ ชุมพลบุรี ศรีณรงค์ กาบเชิง ศีขรภูมิ สนม ปราสาท สำโรงทาบ รัตนบุรี จอมพระ ท่าตูม พนมดงรัก และเมืองสุรินทร์ จำนวน 82 ตำบล หลังฝนตกหนักตลอดเดือนที่ผ่านมา ด้านแม่น้ำมูล บริเวณ อ.ท่าตูม ชุมพลบุรี รัตนบุรี ระดับน้ำหนุนเพิ่มสูงขึ้นจนล้นตลิ่งท่วมพื้นที่การเกษตรในหลายพื้นที่แล้ว

 น้ำท่วม จ.ศรีสะเกษ

          ชาวบ้านช่วยกันลอยคอลงไปเกี่ยวข้าวที่กำลังสุกและถูกน้ำท่วมลึกกว่า 1.5 เมตร ที่บริเวณสามแยกบ้านตูม ต.ตูม อ.ศรีรัตนะ จ.ศรีสะเกษ เพื่อที่จะได้นำเอาข้าวไปตากแดดให้แห้ง ซึ่งระดับน้ำที่ท่วมสูงมาก ทำให้การเก็บเกี่ยวข้าวเป็นไปด้วยความยากลำบากพอสมควร แต่หากว่า ชาวบ้านไม่เร่งเก็บเกี่ยว ก็จะทำให้ข้าวที่แช่อยู่ในน้ำเป็นเวลานาน เน่าเสียหายได้ หลังจากน้ำที่ไหลมาจากเทือกเขาพนมดงรัก และอ่างเก็บน้ำห้วยติ๊กชู ซึ่งล้นสปริงเวย์ไหลลงมาตามคลองส่งน้ำเอ่อล้นทะลักจากคลองส่งน้ำ จนเข้าไปท่วมบ้านเรือนของชาวบ้านตามสองข้างคลองส่งน้ำ

          ด้าน นายฉัฐมงคล อังคสกุลเกียรติ นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองศรีสะเกษ กล่าวว่า ขณะนี้ ตนได้ให้เจ้าหน้าที่กองช่าง สำนักงานเทศบาลเมืองศรีสะเกษ นำถังน้ำและเต็นท์มาเตรียมพร้อม เพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนในเขตบริเวณชุมชนสะพานขาว ชุมชนท่าเรือ และชุมชนหนองหัวหมู ซึ่งทั้ง 3 ชุมชนนี้
เป็นชุมชนที่อาศัยอยู่ติดลำน้ำห้วยสำราญ ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากการถูกน้ำท่วมมากที่สุด โดยได้นำเอาเต็นท์มากางในพื้นที่สูงและบนถนน

          โดยขณะนี้ ปริมาณน้ำที่กักเก็บ ตามอ่างเก็บน้ำ 16 แห่ง ในจังหวัดศรีสะเกษ คิดเป็น 104 % โดยมีปริมาณน้ำที่เกินกว่าที่กักเก็บได้ จำนวน 13 อ่าง เช่น อ่างเก็บน้ำห้วยศาลา อ่างห้วยติ๊กซู อ่างห้วยสำราญ และอ่างเก็บน้ำห้วยทา ซึ่งขณะนี้ ระดับน้ำตามอ่างเก็บน้ำทุกแห่ง มีระดับน้ำที่สูงขึ้นกว่าเดิมเรื่อย  ๆ และกำลังไหลเข้ามาในเขต อ.เมืองศรีสะเกษ

          อย่างไรก็ตาม มีการแจ้งเตือนชาวบ้านว่า น้ำที่ไหลเข้าท่วมในช่วงที่ผ่านมาเป็นเพียงระลอกแรก โดยปริมาณน้ำก้อนใหญ่ระลอกที่ 2 จะไหลมาถึงภายในคืนนี้ จะยิ่งทำให้พื้นที่น้ำท่วมได้รับผลกระทบหนักขึ้นในระยะ 1-2 วันนี้ และน้ำจะยังคงสภาพท่วมหนักต่อไปอีกอย่างน้อยประมาณ 3 วัน จึงจะค่อย ๆ ลดลง โดยได้แจ้งให้ประชาชนที่อยู่อาศัยใกล้ลำน้ำมูล ได้แก่ เขต อ.ชุมพลบุรี อ.ท่าตูม และ อ.รัตนบุรี ได้เตรียมพร้อมขนย้ายสิ่งของไปไว้บนที่สูง และระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลันในระยะนี้

น้ำท่วม ข่าวน้ำท่วม

น้ำท่วม ข่าวน้ำท่วม

ชาวนาศรีสะเกษเร่งเก็บเกี่ยวข้าว ท่ามกลางน้ำท่วมสูงกว่า 1.5 เมตร



 น้ำท่วม จ.เชียงราย

         จากที่เกิดน้ำป่าไหลหลาก จากเทือกเขาดอยนางแล ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ในพื้นที่หมู่ 7 บ้านนางแล ใน ต.นางแล อ.เมือง จ.เชียงราย  โดนตลอดคืนที่ผ่านมา (26 ตุลาคม) น้ำได้ไหลเข้าท่วมอีก 5 หมู่บ้าน ซึ่งเป็นเส้นทางน้ำไหล ทำให้มีบ้านเรือนประชาชน ถูกน้ำท่วมประมาณ 300-400 หลังคาเรือน ทางเจ้าหน้าที่ต้องช่วยชาวบ้านในการขนย้ายสิ่งของขึ้นอยู่บนที่สูง

         อย่างไรก็ตาม การไหลของน้ำเป็นไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ในเช้าวันนี้ สถานการณ์น้ำในพื้นที่ของ ต.นางแล เริ่มเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว โดยชาวบ้านจะมีการสรุปความเสียหายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะบ้านเรือนประชาชนที่มีดินโคลนไหลเข้ามา นอกจากนี้ ยังมีเป็ด ไก่ สูญหายจำนวนมาก

 น้ำท่วม จ.อุทัยธานี

          ระดับน้ำที่ท่วมในพื้นที่กลับเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มระดับขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทหารหน่วยพัฒนาการเคลื่อนที่ 15 ต้องนำเรือยนต์กู้ภัย และรถบรรทุก 6 คัน ช่วยอพยพประชาชน และสิ่งของมาอยู่บริเวณสะพานภาคเหนือ ข้ามสะพานข้ามแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งห่างจากจุดน้ำท่วมถึง 4 กิโลเมตร เพื่อความปลอดภัย

 น้ำท่วม จ.กำแพงเพชร

          เกิดน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร รวม 10 อำเภอ ยกเว้นอำเภอลานกระบือเพียงแห่งเดียว จากการสรุปความเสียหายในเบื้องต้น พบว่า มีน้ำท่วมใน 67 ตำบล 790 หมู่บ้าน ราษฎรจาก 55,894 ครัวเรือน รวม 151,071 คน ได้รับความเดือดร้อน ถนนเสียหาย 1,054 สาย ฝาย 1 แห่ง พื้นที่ทางการเกษตรมีนาข้าวพืชไร่สวน รวม 185,888 ไร่ นอกจากนั้น ยังมีบ่อปลา เกือบอีก 100 บ่อ สัตว์เลี้ยง อีกจำนวนมาก รวมค่าเสียหายประมาณ เกือบ 200 ล้านบาท ที่สำคัญมีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์น้ำท่ว ในครั้งนี้ รวม 5 ราย แล้ว

          โดย นายวันชัย สุทิน ผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า ถึงแม้ว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายไปบ้างแล้ว แต่หลังจากนี้ ต้องเร่งฟื้นฟูเยียวยาให้ราษฎร ที่สูญเสียทางด้านการเกษตร การทำมาหากิน และโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ อย่างเร่งด่วนต่อไป

 น้ำท่วม จ.สุพรรณบุรี

          เกิดเหตุน่าสลดขึ้นที่ ต.บ้านกุ่ม อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี หลังพบ น.ส.ปริศนา  พลายยงค์  อายุ 70 ปี จมน้ำเสียชีวิตบริเวณหน้าบ้านเลขที่ 16 หมู่ที่ 5 ต.บ้านกุ่ม โดยน้องสาวของผู้ตายกล่าวว่า เมื่อช่วงเย็นวานนี้ ผู้ตายบอกจะพายเรือไปซื้อกับข้าว จนกระทั่งเช้านี้ก็ยังไม่กลับ พบแต่เรือที่เคยใช้ลอยอยู่ จึงแจ้งให้ชาวบ้านช่วยกันค้นหา จนพบร่างพี่สาวลอยขึ้นมาเหนือน้ำในช่วงเช้าวันนี้ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่คาดว่า ผู้ตายกำลังจะออกจากบ้าน แล้วเกิดพลัดตกจากบ้านช่วงนอกชาน ซึ่งไม่มีพื้นกระดาน จนลงไปในน้ำก่อนจมเสียชีวิต โดยไม่มีใครเห็น

 น้ำท่วม จ.ลพบุรี


          สถานการณ์น้ำท่วมใน อ.เมือง ยังวิกฤต หลังแม่น้ำลพบุรีเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมเพิ่ม หลายตำบลมีระดับน้ำสูงเกือบ 2 เมตรแล้ว ขณะที่ ต.ถนนใหญ่ ต.ท่าแค ต.ป่าตาล ระดับน้ำที่ท่วมขังมานานกว่า 10 วันแล้ว ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง และยังเพิ่มขึ้นอีก 10 ซม. ทำให้มีน้ำท่วมสูงอยู่ที่ 3-4 เมตร โดยเฉพาะในหมู่บ้านเศรษฐี และหมู่บ้านท่าแค ที่ระดับน้ำท่วมสูงถึงหลังคาบ้าน

          ส่วนสถานการณ์ใน อ.บ้านหมี่ เริ่มคลี่คลายลงมาบ้าง หลังน้ำเริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นวันที่ 3 ระดับน้ำลดลงแล้วกว่า 50 ซม. แต่ชาวบ้านก็ยังไม่สามารถขนของลงได้ เนื่องจากทางเจ้าหน้าที่ชลประทานได้ขับรถออกประกาศเตือนว่า จะมีปริมาณน้ำอีกก้อนไหลเข้ามาในคลองชัยนาท-ป่าสัก จะทำให้มีน้ำเพิ่มสูงขึ้นอีก 50-1 เมตร ขอให้ชาวบ้านอยู่ในที่สูงไปก่อนใน 1-2 วันนี้

 

 


1 กิโลเมตรก่อนถึงตัวเมืองพิมาย คนเดินออกมาหาอาหาร-เข้าห้องน้ำ  เครดิต : @noppatjak

1 กิโลเมตรก่อนถึงตัวเมืองพิมาย คนเดินออกมาหาอาหาร-เข้าห้องน้ำ  เครดิต : @noppatjak

 

สถานการณ์ น้ำท่วม 26 ต.ค.

          สถานการณ์น้ำท่วม 26 ตุลาคม หลายจังหวัดยังน่าเป็นห่วง ซึ่งสรุปสถานการณ์น้ำท่วม 10 วัน ท่วมแล้ว 32 จังหวัด เสียชีวิตแล้ว 38 ราย เดือดร้อน 2.7 ล้านคน พื้นที่การเกษตรเสียหายเฉียด 3 ล้านไร่ 

         โดยนายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวถึง สถานการณ์อุทกภัยปัจจุบัน ในจังหวัดที่มีสถานการณ์อุทกภัยทั้งสิ้น 27 จังหวัด 225 อำเภอ 1,646 ตำบล 12,414 หมู่บ้าน 940,673 ครัวเรือน 2,651,944 คน พื้นที่การเกษตร ที่คาดว่าจะเสียหาย 2,878,598 ไร่ ได้แก่ จ.พิจิตร ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระแก้ว นครราชสีมา ปราจีนบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ ชัยภูมิ สระบุรี เพชรบูรณ์ นครนายก ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น นนทบุรี ปทุมธานี กำแพงเพชร นครปฐม อุทัยธานี เชียงใหม่ ลำพูน และ จ.สมุทรปราการ และมีจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ระยอง จันทบุรี ตราด ตาก และจ.ชลบุรี 

         ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่ากระทรวงสาธารณสุข พบผู้ป่วยจากการประสบภัยอุทกภัย แล้วทั้งสิ้น 107,000 ราย เสียชีวิต 56 ราย ซึ่งในจำนวนที่เสียชีวิต เกิดจากการจมน้ำ 49 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขสูงมาก จึงฝากเตือนประชาชนให้ระมัดระวัง ทั้งนี้ จำนวนผู้เสียชีวิตแบ่งเป็นชาย 44 ราย หญิง 12 ราย แยกตามรายจังหวัด 17 จังหวัด ประกอบด้วย

         1. นครราชสีมา 9 ราย

         2. บุรีรัมย์ 6 ราย

         3. ลพบุรี 10 ราย

         4. ขอนแก่น 3 ราย

         5. เพชรบูรณ์ 3 ราย

         6. ระยอง 2 ราย

         7. ชัยภูมิ  2 ราย

         8. ตราด 1ราย

         9. สระแก้ว 1 ราย

         10.สระบุรี 2 ราย

         11.พระนครศรีอยุธยา 1 ราย

         12.นนทบุรี 1 ราย

         13.อุทัยธานี 1 ราย

         14.ชัยนาท 1 ราย

         15.กำแพงเพชร 3 ราย

         16.นครสวรรค์ 8 ราย

         17.สิงห์บุรี 2 ราย


         ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข ได้เฝ้าระวังโรคที่อาจจะเกิดขึ้น หลังน้ำลด ได้แก่ โรคไข้เลือดออก โรคอุจาระร่วง โรคฉี่หนู โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคเครียด ส่วนการประชุมในวันนี้ จะเสนอให้ คณะรัฐมนตรี จัดสรรงบประมาณเบื้องต้นให้กับโรงพยาบาล ได้รับความเสียหายจากเหตุน้ำท่วม จำนวน 4 โรงพยาบาล ทั้งสิ้น 80 ล้านบาท แบ่งเป็นในส่วนของยาและเวชภัณฑ์ ประมาณ 30 ล้านบาท และอาหาร 50 ล้านบาท

         ด้าน นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะ ประธานคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบภัย อุทกภัย หรือ คชอ. กล่าวว่า คชอ.จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เพื่อขออนุมัติเป็นเงินรองรับ 80 ล้านบาท ใช้เป็นงบประมาณในการจัดหาเรือสุขาเคลื่อนที่ และเต็นท์ให้กับผู้ประสบอุทกภัย พร้อมกันนี้ จะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี แก้ไขระเบียบการเบิกจ่ายเป็นเงินบริจาค เพื่อให้เกิดความคล่องตัวโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้

         สำหรับสถานการณ์ระหว่างวันที่ 10 - 24 ต.ค. มีจังหวัดประสบภัยทั้งสิ้น 32 จังหวัด 249 อำเภอ 1,757 ตำบล 13,019 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 977,340 ครัวเรือน 2,765,228 คน โดยมีผู้เสียชีวิตมี 38 ราย


ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมขอนแก่น

          สถานการณ์น้ำล่าสุด พบว่า น้ำชีได้ไหลทะลัก เข้าท่วมพื้นที่หลายตำบลของเขตอำเภอมัญจาคีรี อำเภอชนบท อำเภอบ้านไผ่ และ อำเภอบ้านแฮด ตลอดตั้งแต่เมื่อช่วงกลางดึกคืนวันที่ 25 ต.ค.ที่ผ่านมา อย่างรวดเร็ว ทำให้ทางจังหวัดต้องเร่งจัดตั้งศูนย์อำนวยการช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่อำเภอ ชนบท เพื่อติดตามสถานการณ์ และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเต็มที่

          อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์น้ำยังคงไหลเอ่อท่วมอย่างนี้ คาดว่าในช่วงเย็นของวันนี้ น้ำจะไหลทะลักเข้าสู่เขตพื้นที่อำเภอเมือง โดยพื้นที่ตำบลท่าพระ จะเป็นจุดแรกของการรับน้ำจากแม่น้ำชี

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมลำปาง

          สถานการณ์น้ำป่าไหลหลากและน้ำท่วมทั้ง 2 อำเภอ ในเขตอำเภอแม่พริก และอำเภอเถิน จังหวัดลำปาง ขณะนี้เริ่มคลี่คลายลงแล้ว คงเหลือแต่น้ำขังในบางพื้นที่ แต่ไม่มากนัก โดยเฉพาะในเขตพื้นที่เทศบาลตำบลล้อมแรด หลังมีน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตร ต่อเนื่องนานถึง 4 วัน ล่าสุดสถานการณ์นั้นได้เริ่มคลี่คลายเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว อย่างไรก็ตาม หลังน้ำลดแล้ว ทางเจ้าหน้าที่จะได้เร่งสำรวจความเสียในพื้นที่ ทั้ง 2 อำเภอ เพื่อสรุปยอดความเสียหายอีกครั้งหนึ่งต่อไป

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมพิจิตร

          น้ำป่าจาก จ.กำแพงเพชร และน้ำที่ล้นตลิ่งจากแม่น้ำยม ไหลเข้าท่วม 4 หมู่บ้าน ใน 2 ตำบลของ อ.บึงนาราง จ.พิจิตร คือ ต.บางลาย และ ต.บึงนาราง จ.พิจิตร บ้านเรือนและที่นาต้องถูกน้ำท่วม ทำให้ชาวบ้านเกิดความเครียด และมีอาการวิตกกังวล ทั้งเรื่องหนี้สินและเรื่องการทำมาหากิน

          ด้วยเหตุนี้ ทางศูนย์พัฒนาสังคมหน่วยที่ 35 จ.พิจิตร จึงได้นำรถตู้ที่ดัดแปลงติดตั้ง โฮมเธียเตอร์ คาราโอเกะ และมีเครื่องเสียงสมบรูณ์แบบ ออกหน่วยเคลื่อนที่เยี่ยมเยียนชาวบ้าน ให้ได้มีการประกวดร้องเพลงกันอย่างสนุกสนาน อีกทั้ง มีเกมส์ การละเล่นสำหรับเด็ก ๆ เพื่อเป็นการผ่อนคลาย สร้างความสุขพร้อมรอยยิ้มให้กับผู้ที่ถูกน้ำท่วมอยู่ในขณะนี้

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมอุบลราชธานี

          ดร.รอยล จิตรดอน ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร เผยว่า ในหลวงทรงห่วง จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นจุดรวมน้ำ เพราะแม่น้ำชี และแม่น้ำมูลจะไหลไปรวมกันที่อุบลราชธานี ในอีก 3-4 วัน และจะทำให้มีปริมาณน้ำเพิ่มจำนวนมากขึ้น ส่งผลต่อประชาชนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งหลังจากที่ในหลวงทรงรับสั่งให้เตรียมการป้องกัน ทุกฝ่ายก็รีบสนองรับสั่งทันที โดยเรียกประชุมหน่วมงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อหาทางแก้ไขโดยด่วน


ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมบุรีรัมย์

          สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งรับน้ำเหนือจำนวนมาก จากจังหวัดนครราชสีมา ที่ไหลลงมาสมทบตามลำแม่น้ำมูล ล่าสุด น้ำในแม่น้ำมูล บริเวณสะพานเชื่อมต่อระหว่างอำเภอคูเมือง อำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ ได้เอ่อท่วมพื้นที่ไร่นา วัด ถนน และบ้านเรือนราษฎร แล้ว 4 หมู่บ้าน ในพื้นที่ 2 ตำบล ได้แก่ ตำบลบ้านแพ และ ตำบลปะเคียบ อำเภอคูเมือง พื้นที่การเกษตรเสียหายกว่า 10,000 ไร่ อย่างไรก็ตาม ทางอำเภอได้มีการเตรียมความพร้อมในการอพยพประชาชนไว้แล้ว


ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมกาฬสินธุ์

          สถานการณ์น้ำในลำน้ำชีเริ่มหนุนสูง ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยทางจังหวัด คาดว่าในอีก 3 วัน น้ำจำนวนมากที่ไหลจากจังหวัดชัยภูมิ กับการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น ถึงวันละ 28 ล้านลูกบาศก์เมตร จะถึงจังหวัดกาฬสินธุ์ ในไม่ช้า และล่าสุดระดับน้ำได้เกินระดับปกติแล้ว ซึ่งจะทำให้น้ำเริ่มไหลซึมเข้าท่วมพื้นที่ทางการเกษตร และบ้านเรือนราษฎร ในเขตตำบลเจ้าท่า และคาดว่าอย่างน้อย จะมีพื้นที่นาข้าวถูกน้ำท่วมกว่า 50,000 ไร่ ในเขตอำเภอฆ้องชัย อำเภอกมลาไสย และอำเภอร่องคำ

          ขณะที่สถานการณ์น้ำในเขื่อนลำปาว ล่าสุด มีปริมาณอยู่ที่ 1,289 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ยังสามารถรองรับได้อีกกว่า 140 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเขื่อนลำปาวยังคงหยุดการระบายน้ำลงลำน้ำชี เนื่องจากเกรงว่าชาวบ้านจะได้รับผลกระทบ ทำให้น้ำในลำน้ำปาว เริ่มลดปริมาณลง และไม่ส่งผลให้เกิดการเพิ่มของน้ำในลำน้ำชี แต่อย่างใด

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมพิษณุโลก

          ถนนหลายสายในตัวจังหวัดพิษณุโลก ยังมีน้ำท่วมขัง ส่งผลให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก ประกอบกับมีฝนตกลงมาอย่างหนักนานกว่า 3 ชั่วโมง จนทำให้ถนนหลายสายถูกน้ำท่วมขังจนรถไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ เจ้าหน้าที่ต้องปิดการจราจรชั่วคราว โดยที่ถนนสายวิสุทธิกษัตย์ มีน้ำท่วมผิวจราจรสูงกว่า 50 เซนติเมตร ขณะที่ถนนราเมศวร มีน้ำท่วมผิวการจราจรสูงกว่า 30  เซนติเมตร

          ขณะที่บ้านน้ำริน ม.3 ต.บ้านกลาง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก มีน้ำไหลจากเทือกสูงเข้าสู่หมู่บ้าน ทำให้ถนนเข้าหมู่บ้านระดับน้ำสูงร่วม 1 เมตร รถยังสัญจรไม่ได้ คาดว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในช่วงเย็นนี้ เพราะสภาพเป็นพื้นที่ลาด และเป็นน้ำป่าที่ขึ้นเร็วลงเร็ว ส่วนใน ต.ดงประคำ อ.พรหมพิราม บ้านเรือนประชาชนร่วม 100 หลัง ประสบปัญหาน้ำท่วมขังจากน้ำป่าที่ไหลล้นอ่างเก็บน้ำชำบอน อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ที่อยู่เหนือบ้านทุ่งน้ำใส ส่งผลให้น้ำป่าได้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนและถนนในหมู่บ้าน โดยท่วมสูงตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม ที่ผ่านมา และยังคงทรงตัว 

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมสุพรรณบุรี

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คันดินป้องกันน้ำท่วมที่ ต.บ้านกุ่ม อ.สองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี ได้เกิดพังทลายกว้าง 30 เมตร เนื่องจากทนแรงดันของน้ำไม่ไหว ทำให้กระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวบ่าเข้าท่วมพื้นที่หมู่ 5 และ 6 อย่างรวดเร็ว โดยพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมเป็นเขตติดต่อกับทุ่งบ้านบางแม่หม้าย อ.บางปลาม้า ที่ติดขนานไปกับแม่น้ำท่าจีน กระแสน้ำไหลแรงจนคันดินป้องกันไม่อยู่ นาข้าวที่กำลังออกรวงจะเก็บเกี่ยวได้ใน 30 วันข้างหน้า จมมิดไปกับกระแสน้ำรวม 600 ไร่ ส่วนบ้านพักอาศัยกว่า 60 หลัง กำลังได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ชาวบ้านสัญจรไปมาไม่ได้ และยังไม่มีหน่วยงานใดเข้ามาให้การช่วยเหลือ

          ทั้งนี้ สิ่งที่ชาวบ้านต้องการอย่างเร่งด่วนคือ อาหาร น้ำ สุขาลอยน้ำ สิ่งของเครื่องใช้ อุปกรณ์ยังชีพ และเรือ โดยทาง อบต.ได้เข้าช่วยเหลือเบื้องต้น ด้วยการนำถุงยังชีพไปแจกบรรเทาความเดือดร้อนแล้ว


ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมลพบุรี

         สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ลพบุรี ระดับน้ำท่วมขังในหลายอำเภอ เริ่มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ของ อ.บ้านหมี่ ระดับน้ำเริ่มลดลงกว่า 50 เซนติเมตร ขณะที่พื้นที่ อ.เมืองลพบุรี ในพื้นที่ ต.ท่าแค ต.ถนนใหญ่ ต.ป่าตาล ระดับน้ำ ก็ยังเพิ่มสูงอีก 10 เซนติเมตร ทำให้ในหลายหมู่บ้าน ยังจมอยู่ใต้น้ำ ขณะที่ระดับน้ำยังคงขยายวงกว้าง เข้าท่วมอีกหลายตำบลของ อ.เมือง 

         ทั้งนี้ นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ผู้ว่าราชการจังหวัดลพบุรี เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำท่วมลพบุรี ซึ่งมีพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉินทั้ง 11 อำเภอ ขณะนี้คลี่คลายแล้ว 8 อำเภอ เหลืออีก 3 อำเภอ ที่ยังอยู่ในขั้นวิกฤติ ได้แก่ อำเภอบ้านหมี่ ซึ่งมีพื้นที่ได้รับความเสียหาย ประมาณ 83,000 ไร่ อำเภอท่าวุ้ง มีพื้นที่ได้รับความเสียหายประมาณ 20,000 ไร่ และอำเภอเมือง มีพื้นที่ได้รับความเสียหาย ประมาณ 12,000 ไร่ รวมพื้นที่ได้รับความเสียหายทั้งสิ้น ประมาณ 115,000 ไร่ ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม มีจำนวน 333,061 คน 145,095 ครัวเรือน

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมสระบุรี

          หลังจากทางจังหวัดสระบุรี ได้ประกาศเป็นเขตภัยพิบัติ ทั้งจังหวัด 13 อำเภอ แล้ว โดยเฉพาะที่ ต.บ้านครัว ต.บางโขมด อ.บ้านหมอ และ ต.สวนดอกไม้ ต.ม่วงงาม ต.เมืองเก่า ต.เริงราง ต.ต้นตาล ต.พระยาทด และอ.เสาไห้ ที่ได้รับผลกระทบอย่างมาก และแม้เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ จะลดปริมาณการปล่อยน้ำลงแม่น้ำป่าสักเหลือเพียง 901.79 ลบ.ม./วินาที ลงแล้ว แต่น้ำยังไม่ลดระดับลง ซึ่งขณะนี้เป็นเวลา 10 วัน แล้วชาวบ้านยังต้องใช้เรือพายแทนรถ เนื่องจากถนนจมอยู่ใต้น้ำ และขณะนี้บริเวณชุมชนที่มีน้ำท่วมขัง น้ำเริ่มมีกลิ่นเน่าเหม็นแล้ว และชาวบ้านเริ่มป่วย เป็นโรคเท้าเปื่อยกันมากขึ้น


น้ำท่วมโคราช ร.พ.มหาราช เปิดบริการผู้ป่วยนัดหมาย-รับยาวันนี้

          พ.ญ.สุวรรณี ตั้งวีระพรพงศ์ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา กล่าวว่า วันนี้ (26 ตุลาคม)  ผู้ป่วยนัดหมายและผู้ป่วยรับยาต่อเนื่องทุกแผนก สามารถให้บริการผ่าตัด เอกซเรย์ เจาะเลือดได้ ส่วนการให้บริการภายนอกโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จะยังคงเปิดให้บริการหน่วยปฐมพยาบาล เบื้องต้น 2 จุด ตั้งแต่ เวลา 08.00-16.00 น. ณ จุดบริการโรงแรมพีกาซัสและตลาดประปา แยกไอที ซึ่งวันนี้ มีผู้รับผิดชอบเกือบ 200 คน และศูนย์สุขภาพชุมชนเขตเมือง ในความรับผิดชอบของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา เปิดให้บริการได้ทุกแห่ง และออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ตามชุมชนที่ถูกน้ำท่วม

 
น้ำท่วม ร.ร.บ้านบุ่งเบา บุรีรัมย์ สูง 60 เซนติเมตร
   
          น้ำท่วม ร.ร.บ้านบุ่งเบา ต.บ้านจาน จ.บุรีรัมย์ ระดับสูงกว่า 60 เซนติเมตร เจ้าหน้าที่เร่งขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง


          สถานการณ์น้ำท่วมที่ จังหวัดบุรีรัมย์ ยังขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด น้ำเหนือจากจังหวัดนครราชสีมา ที่ไหลมาสมทบลงลำน้ำมูล ได้ไหลทะลักเข้าท่วมโรงเรียนบ้านบุ่งเบา ต.บ้านจาน อ.พุทไธสง จ.บุรีรัมย์ เจ้าหน้าที่ต้องเร่งขนย้ายอุปกรณ์การเรียนขึ้นไปไว้ชั้น 2 ของอาคาร แต่มีอุปกรณ์การเรียนบางส่วน จมน้ำเสียหาย เนื่องจากขนย้ายไม่ทัน ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำ ได้ท่วมอาคารเรียนสูงกว่า 60 เซนติเมตร

          อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เมื่อวาน (25 ตุลาคม) ที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ ระดับน้ำได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว กว่า 80 เซนติเมตร จากข้อมูลพบว่า ในเขตพื้นที่อำเภอพุทไธสง อำเภอคูเมือง ได้มีบ้านเรือนถูกน้ำท่วมแล้ว กว่า 100 หลังคาเรือน นาข้าวที่กำลังออกรวง จมอยู่ใต้น้ำกว่า 30,000 ไร่ หากระดับน้ำได้ลดลง ภายใน 1 สัปดาห์ นาข้าว ก็จะต้องเน่าตายเสียหายทั้งหมด





ข่าวน้ำท่วม

ข่าวน้ำท่วม

 

พิพิธภัณฑ์พิมาย จำต้องปล่อยให้น้ำท่วมปราสาทจำลอง-ทับหลังส่วนที่เป็นหิน

พิพิธภัณฑ์พิมาย จำต้องปล่อยให้น้ำท่วมปราสาทจำลอง-ทับหลังส่วนที่เป็นหิน เครดิต : @noppatjak

 

น้ำท่วม อ.ท่าช้าง จ.นครราชสีมา

น้ำท่วม อ.ท่าช้าง จ.นครราชสีมา เครดิต: @meltyvanilla

น้ำท่วม อ.ท่าช้าง จ.นครราชสีมา เครดิต: @meltyvanilla

น้ำท่วม อ.ท่าช้าง จ.นครราชสีมา เครดิต: @meltyvanilla


          สำนักชลประทาน 12 เขื่อนเจ้าพระยา แจ้งว่าขณะนี้เขื่อนเจ้าพระยามีการระบายน้ำเพิ่มอีกเป็น 3,294 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ช่วงนี้น้ำเหนือเขื่อนมีปริมาณที่มาก การระบายทำให้ตัวเมืองจังหวัดชัยนาท และอำเภอที่อยู่เหนือเขื่อน พื้นที่ ๆ อยู่ในเขื่อนเจ้าพระยา จะมีน้ำไหลล้นตลิ่ง เข้าท่วมบ้านเรือนริมแม่น้ำเจ้าพระยา จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเหนือเขื่อนทั้งหมด ขอให้ขนย้ายทรัพย์สิน เพื่อป้องกันการเสียหายที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งพื้นที่ใต้เขื่อน ที่มีน้ำท่วมขังอยู่แล้วจะมีปริมาณน้ำที่สูงขึ้น และขอให้ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง

          พ.ญ.สุว รรณี ตั้งวีระพรพงศ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมหาราช จ.นครราชสีมา เปิดเผย สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ผ่านเอ็มบี แชนแนล ถึงความพร้อมในการเปิดให้บริการ ภายหลังเกิดสถานการณ์น้ำท่วมอย่างหนัก โดยระบุว่า เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม โรงพยาบาลสามารถเปิดให้บริการในส่วนของผู้ป่วยนอกบางส่วนได้แล้ว ซึ่งรวมไปถึงการให้การรักษาระบบ หู คอ จมูก และการเอ็กซเรย์ ซึ่งช่วงต้นนี้จะเน้นหนักในเรื่องของการรับผู้ป่วยใน ที่ต้องการการรักษาต่อเนื่องเป็นหลัก ส่วนผู้ป่วยนอกที่สามารถเดินได้นั้น ก็อยากให้เข้าโรงพยาบาลทางด้านหลัง ซึ่งระดับน้ำไม่สูง และมีการทำทางเดินไว้ ส่วนผู้ป่วยที่อาการหนักหรือสาหัสนั้น จะถูกนำส่งมาโดยเจ้าหน้าที่ทหาร ส่วนระดับน้ำนั้น ด้านหน้าโรงพยาบาลยังอยู่ที่ประมาณ 70 ซ.ม.

          นอกจากนี้ พ.ญ.สุวรรณี ยังกล่าวยืนยันอีกด้วยว่า การรักษาพยาบาลที่ต้องใช้บัตรประชาชน ช่วงนี้เนื่องจาก บางคนอาจทำบัตรหาย หรือไม่มีเอกสาร ดังนั้น จึงไม่ต้องใช้เอกสารใด ๆ ก็สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าใน 1-2 วันนี้ เมื่อระบบบำบัดน้ำเสีย สามารถใช้การได้แล้ว ทางโรงพยาบาลก็จะสามารถเปิดให้บริการเต็มรูปแบบได้ ซึ่งรวมถึงเรื่องการผ่าตัดด้วย

          ขณะที่ นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวถึง สถานการณ์อุทกภัยปัจจุบัน ในจังหวัดที่มีสถานการณ์อุทกภัยทั้งสิ้น 27 จังหวัด 225 อำเภอ 1,646 ตำบล 12,414 หมู่บ้าน 940,673 ครัวเรือน 2,651,944 คน พื้นที่การเกษตร ที่คาดว่าจะเสียหาย 2,878,598 ไร่ ได้แก่ จ.พิจิตร ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา สระแก้ว นครราชสีมา ปราจีนบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ ชัยภูมิ สระบุรี เพชรบูรณ์ นครนายก ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ขอนแก่น นนทบุรี ปทุมธานี กำแพงเพชร นครปฐม อุทัยธานี เชียงใหม่ ลำพูน และ จ.สมุทรปราการ และมีจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 5 จังหวัด ได้แก่ จ.ระยอง จันทบุรี ตราด ตาก และจ.ชลบุรี

          สำหรับสถานการณ์ระหว่างวันที่ 10 - 24 ตุลาคม มีจังหวัดประสบภัยทั้งสิ้น 32 จังหวัด 249 อำเภอ 1,757 ตำบล 13,019 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 977,340 ครัวเรือน 2,765,228 คน โดยมีผู้เสียชีวิตมี 38 ราย

          ทางด้าน น.พ.จิโรจ สินธวานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางสถาบันโรคผิวหนัง ได้ลงพื้นที่โดยการออกหน่วยแพทย์เคลื่อนที่แล้วในหลายจุด ซึ่งล่าสุดได้ลงพื้นที่ตรวจสอบด้วยตนเองที่ จ.นครราชสีมา โดยฝ่ากระแสน้ำเข้าไปในหมู่บ้าน ภายหลังจากลงพื้นที่ตรวจสอบแล้วที่ อ.เมือง อ.ปักธงชัย จำนวน 400-500 คน พบประชาชนที่มีปัญหาผิวหนัง ตามง่ามเท้า ง่ามขา ที่เป็นเชื้อราจากการลุยน้ำ มีเพียงอาการระคายเคืองเล็กน้อย คือไม่รุนแรง หรือที่เรียกกันว่า น้ำกัดเท้า แต่หากมีเชื้อโรคแบคทีเรีย หรือเชื้อรา ในความเป็นจริงพบน้อยมาก มีเพียง 10-15 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น แนะนำประชาชนหากหลีกเลี่ยงการลุยน้ำไม่ได้ ให้ใช้น้ำสะอาดล้างชำระเท้า และเช็ดให้แห้งทันที เพราะหากมีความชื้นจะทำให้ผิวหนังเปื่อยยุ่ย ส่งผลให้เป็นที่สะสมของเชื้อโรค และติดเชื้อได้ง่าย


ข่าวน้ำท่วม





สถานการณ์ น้ำท่วม 25 ต.ค.

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมบุรีรัมย์

          สถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดบุรีรัมย์ ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากระดับน้ำในลำน้ำมูล ที่บริเวณสะพานเขตติดต่อระหว่างอำเภอคูเมืองและอำเภอพุทไธสง จังหวัดบุรีรัมย์ ระดับน้ำสูงขึ้นเร็วกว่าปกติ เฉลี่ยวันละ 30 - 50 เซนติเมตร ทางศูนย์ร่มโพธิ์แก้ว สาขาของวัดสวนแก้ว ต้องระดมคนงาน ชาวบ้าน และนักเรียน กว่า 100 คน ช่วยกันบรรจุกระสอบทราย ทำพนังกั้นน้ำให้ได้ 20,000 กระสอบ เพื่อปิดกั้นรอบบริเวณวัดไม่ให้น้ำจากลำน้ำมูลไหลทะลักเข้าท่วม กุฏิ โรงทาน อาคาร และสิ่งของบริจาคต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้น้ำได้เริ่มเอ่อท่วมชั้นใต้ดิน ของอาคารเอนกประสงค์ ที่ตั้งอยู่ริมลำน้ำสูงกว่า 1.50 เมตร

          ด้านพระผู้ดูแลศูนย์เปิดเผยว่า ในวันนี้น้ำสูงขึ้นผิดปกติ ช่วงในครึ่งวันมีปริมาณสูงกว่า 30 เซนติเมตร ซึ่งเป็นปริมาณที่สูงกว่าทุกวันที่ผ่านมา ต้องให้พระและคนงาน เฝ้าระวังขนสิ่งของขึ้นที่สูง พร้อมทำกระสอบทรายทำพนังกั้นบริเวณวัดตลอดแนวที่ติดลำน้ำมูล เป็นการป้องกันน้ำทะลักเข้าท่วม

          ทั้งนี้ น้ำเหนือที่ท่วมเขตพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ได้ไหลลงสู่ลำน้ำมูล เอ่อล้นตลิ่งท่วมนาข้าวของเกษตรกร ในเขตพื้นที่ตำบลแคนดง อำเภอแคนดง จังหวัดบุรีรัมย์ แล้วหลายพันไร่ โดยระดับน้ำได้หนุนสูงขึ้นวันละ กว่า 10 เซนติเมตร มาเป็นเวลา 3 วันแล้ว เกษตรกรจึงเร่งเกี่ยวข้าวที่แช่น้ำขึ้นมาตาก ตามริมถนนทางเข้าหมู่บ้าน และในหมู่บ้านกันเป็นจำนวนมาก ถึงแม้ข้าวจะยังไม่สุกเต็มที่ ขายไม่ได้ราคาก็ตาม เพราะหากปล่อยไว้ให้ข้าวจมน้ำ อาจจะเสียหายทั้งหมด

          ขณะที่ทางอำเภอแคนดง ได้ประกาศแจ้งเตือนให้ชาวบ้าน ที่อาศัยอยู่ริมแม่น้ำมูล อพยพขนย้ายสิ่งของและสัตว์เลี้ยงขึ้นสู่ที่สูง เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน ขณะที่เกษตรกรได้ร้องขอทางภาครัฐ ช่วยเหลือหลังน้ำลดด้วย ทั้งนี้ เชื่อว่าโครงการประกันราคารายได้เกษตรกรของรัฐบาล จะช่วยเหลือเกษตรกรได้ ในระดับหนึ่งเท่านั้น

          อย่างไรก็ตาม นาย สุเทพ จันทภูมิ กำนันตำบลบึงงาม อำเภอทุ่งเขาหลวง จังหวัดร้อยเอ็ด เปิดเผยว่า ช่วงน้ำท่วมชาวแพปลา หรือผู้ประกอบการสะดุ้งจับปลา หรือยกยอ ในริมฝั่งลำน้ำชี อำเภอเสลภูมิ อำเภอทุ่งเขาหลวง อำเภออาจสามารถ กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง หลังจากที่แพปลาเกยตื้น เพราะน้ำแล้งมาหลายเดือน จนถึงเดือนสิงหาคม 2553 ผู้ประกอบการแพปลาประมงพื้นบ้าน กว่า 1,000 คน ไม่มีปลาให้ค่อยได้จับ เพราะน้ำแล้งนานเกินไป โดยช่วงน้ำหลาก จับปลาได้วันละประมาณ 50-100 ก.ก. รอจังหวะน้ำลงอีกครั้ง สามารถจับปลาได้เป็นรายได้เสริม

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมกาฬสินธุ์

          สถานการณ์น้ำหลากในลำน้ำชี ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งกำลังได้รับอิทธิพลของน้ำไหลหลาก จากจังหวัดชัยภูมิและจังหวัดขอนแก่น ล่าสุดนายเดชา พลกล้า รักษาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เข้าติดตามสถานการณ์น้ำ ที่บริเวณฝายวังยาง ในเขตอำเภอฆ้องชัย พบว่าระดับน้ำชีสูงกว่าระดับปกติ ถึง 78 เซนติเมตร อีกทั้งยังพบว่า กระแสน้ำยังมีความรุนแรง และยังได้นำเอาวัชพืชมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้ได้ส่งผลให้เกิดน้ำซึมผ่านพนังกั้นน้ำชั้นนอก ตรงบ้านโนนแดง และบ้านสะดำศรี

          รักษาราชการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้วิทยุสั่งการให้ทาง อำเภอกมลาไสย อำเภอฆ้องชัย และ อำเภอร่องคำ ที่มีราษฎรอาศัยติดกับลำน้ำชี เตรียมการป้องกันน้ำท่วมฉับพลัน และให้เตรียมการอพยพ หากระดับน้ำเพิ่มสูง เพราะในขณะนี้ระดับน้ำได้เพิ่มขึ้น ถึงวันละ 30 เซนติเมตร ที่ในบางพื้นที่ น้ำจะสามารถซึมเข้าท่วมในพื้นที่ได้ ดังนั้น ประชาชนจะต้องเตรียมการรับมือปัญหาน้ำท่วม ที่คาดว่าไม่เกิน 3 วัน ปริมาณน้ำที่เพิ่มสูง จะทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมฉะเชิงเทรา

          ที่บริเวณบ้านพักผู้ว่าราชการจังหวัด ริมถนนมรุพงษ์ ภายในเขตเทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา เกิดน้ำป่าล้นไหลทะลักออกมาจากลำน้ำบางปะกง เอ่อล้นท่วมเข้าไปภายในบริเวณบ้านพักของ นายกิตติ ทรัพย์วิสุทธิ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดฉะเชิงเทรา ตลอดจนชุมชนทั้งสองฝั่งริมลำน้ำ โดยเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมานั้น น้ำในแม่น้ำบางปะกงได้เริ่มไหลทะลัก เอ่อล้นออกมาจากลำน้ำ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. และหนุนสูงจนขึ้นท่วมสูงสุด เมื่อเวลา ประมาณ 09.45 น. จนน้ำที่เอ่อล้นนั้น ได้ไหลเข้าไปท่วมยังบริเวณพื้นที่ชายฝั่งของแม่น้ำทั้งสองด้านตลอดแนว โดยเฉพาะชุมชนบริเวณริมถนนมรุพงษ์ รวมทั้งบริเวณที่เป็นพื้นที่ต่ำ จากนั้นในเวลาประมาณ 10.00 น. น้ำจึงได้เริ่มทยอยลดระดับต่ำลงไป

          ซึ่งจากเหตุการณ์ดังกล่าว ชาวบ้านเชื่อว่าสาเหตุเป็นเพราะมีปริมาณน้ำป่าจำนวนมาก ที่ไหลมาจาก จังหวัดปราจีนบุรี และจังหวัดนครนายก ลงมาตามลำน้ำ ก่อนที่จะมาบรรจบกันกับน้ำทะเล ที่ไหลหนุนสูงขึ้นมาตามลำน้ำตามจังหวะ ที่น้ำไหลขึ้นลงมาตามปกติของแม่น้ำบางปะกง ถึงวันละ 4 เที่ยว จึงทำให้น้ำจำนวนมากที่ไหลมาบรรจบกัน ล้นออกมาจากฝั่งเข้าท่วมพื้นที่ บริเวณตลอดแนวของชายฝั่งแม่น้ำบางปะกง

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมสิงห์บุรี

          สถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำไหลทะลักเข้าท่วมสถานที่ราชการ ใน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี ไม่ว่าจะเป็นที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ สถานีอนามัยตำบลบางน้ำเชี่ยว และสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ สูงกว่า 30 เซนติเมตร ขณะที่เทศบาลตำบลบางน้ำเชี่ยว เร่งนำรถแบ็คโฮ และเจ้าหน้าที่มาช่วยกันตอกเสาเข็ม และวางกระสอบทรายขนาดใหญ่เป็นการด่วน เพื่อปิดกั้นปริมาณน้ำจำนวนมาก ที่กำลังไหลบ่าเข้าท่วมอย่างหนัก ด้านข้างที่ว่าการอำเภอพรหมบุรี พร้อมทั้งน้ำดินถมเป็นแนวป้องกันน้ำไหลยาวกว่า 300 เมตร ในส่วนบ้านเรือนประชาชน หมู่ที่ 3 และ 4 ตำบลบางน้ำเชี่ยว อ.พรหมบุรี ถูกน้ำไหลเข้าท่วมไปแล้วกว่า 200 หลังคาเรือน ชาวบ้านต้องขนย้ายข้าวของ รถยนต์ เครื่องมือการเกษตร และสินค้ามาไว้ริมคลองชลประทาน

 

ข่าวน้ำท่วม


          หลังจากที่ประชาชนหลายพื้นที่ในจังหวัดต่าง ๆ กำลังประสบปัญหาอุกภัยน้ำท่วมอย่างหนักนั้น ล่าสุด ดร.สุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา กล่าวถึงความห่วงใยพสกนิกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ว่า เป็นเรื่องที่พระองค์ทรงปฏิบัติมาตลอด โดยพระองค์ได้อุทิศเวลาทั้งหมดเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ โดยเรื่องน้ำ ทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม จะเห็นได้ว่าก่อนพระองค์เสด็จฯ ประทับที่โรงพยาบาลศิริราช ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องน้ำ ประชุมและพระราชทานคำเสนอแนะ เพราะน้ำก้อนหนึ่งผ่านหลายจังหวัด การประสานงานและการจัดการจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

          ประธานมูลนิธิชัยพัฒนาบอกว่า หลายปีก่อนมีน้ำทะลักเข้ามาก้อนใหญ่ไม่มีใครตื่นเต้น พระองค์ทนไม่ไหว รับสั่งเรียกหน่วยงานต่าง ๆ มาประชุม ถามว่าน้ำมีจำนวนเท่าไหร่ แต่ละชั่วโมงถึงบริเวณใด จะได้วางระบบป้องกันเตือนภัย แต่ครั้งนี้ในความรู้สึกผมรัฐบาลอาจทำอยู่แล้ว แต่จุดศูนย์กลางมองไม่ค่อยออก แต่ละหน่วยต้องการประสานร่วมมือ ถ้าวางแผนดี ๆ ใช้ข้อมูลจัดการบริหารปัญหาก็ทุเลา

          ผู้สื่อข่าวถามว่า ปัญหาอุทกภัยเกิดหนักมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีการนำพระราชดำรัสไปปฏิบัติหรือไม่ นายสุเมธ กล่าวว่า ปัญหาภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะมนุษย์ไม่รักษา ทะนุถนอมธรรมชาติ ซึ่งที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเตือนว่า เราอย่ารักแกธรรมชาติ เพราะธรรมชาติจะโกรธและทำลายเราเอง

          ซักว่าจุดศูนย์กลางคืออะไร นายสุเมธ ตอบว่า ในยามวิกฤติต้องมีศูนย์เผชิญวิกฤติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสังคม การเมือง ต้องตั้งศูนย์กลางข้อมูล เหมือนยามศึกต้องมีกองบัญชาการ ซึ่งมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการร่วมกัน เมื่อนำข้อมูลมารวมกัน ให้คนที่มีประสบการณ์ได้ตัดสินใจในข้อมูลนั่น จะไม่ชุลมุนไปหมด และแนะให้รัฐบาลตั้งจุดศูนย์การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการช่วยเหลือประชาชน และแก้ปัญหาน้ำท่วมในหลาย ๆ จังหวัดขณะนี้ เพราะหากมีการวางแผนที่ดีในการบริหารจัดการ ก็จะสามารถแก้ปัญหาให้บรรเทาลงได้

          "ที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงอุทิศตน ให้ความสนพระทัยในเรื่องน้ำ เพื่อแก้ปัญหาให้กับราษฎร แม้จะมีพระอาการประชวร ก็ได้มีการจัดให้หน่วยราชการ เข้าเสนอแนะการแก้ปัญหา ซึ่งกลไกต่าง ๆ ก็ขับเคลื่อนไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ ยังมีการแบ่งหน้าที่ในการรับผิดชอบของมูลนิธิต่าง ๆ ซึ่งขณะนี้ทางมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ได้เข้าช่วยแจกสิ่งของให้กับประชาชน ที่ประสบภัยจากน้ำท่วม แต่หลังจากน้ำลด ทางมูลนิธิชัยพัฒนา ก็จะเข้าช่วยเหลือฟื้นฟู ทั้งในส่วนของไร่นา ที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้ง ให้ทุกฝ่ายช่วยกันสกัดกั้น ไม่ให้น้ำเข้าท่วมโรงพยาบาล เพื่อให้โรงพยาบาล สามารถเปิดให้บริการได้" นายสุเมธ กล่าว

          ทั้งนี้ เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา ยังได้เน้นย้ำเรื่องการแก้ปัญหาน้ำว่า ทุกฝ่ายไม่ควรจับจ้อง หรือมอบเป็นภารกิจให้กับพระองค์ท่าน แต่ต้องมองย้อนไปที่ตัวเองว่า มีความเอาใจใส่ในปัญหานี้อย่างไร พร้อมย้ำเตือนให้ทุกฝ่าย หยุดทำร้ายธรรมชาติ นอกจากนี้ ดร.สุเมธ ยังกล่าวแนะนำอีกว่า สถานการณ์ความขัดแย้งของบ้านเมืองในขณะนี้ ทุกคนต้องใช้เหตุผล และสติปัญญาแก้ไข ปัญหาทุกอย่างก็จะทุเลาลงได้



          อย่างไรก็ตาม สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) รายงานสรุปตัวเลขผู้เสียชีวิตจาก สถานการณ์น้ำท่วม ในหลายพื้นที่จนถึงขณะนี้ (10-24 ตุลาคม) ว่า มีรายงานยอดผู้เสียชีวิตวันนี้ เพิ่มเข้ามา 4 ราย รวมทั้งสิ้น 38 ราย แยกตามรายจังหวัด ที่มีผู้เสียชีวิตจาก จำนวน 15 จังหวัด ประกอบด้วย...

          1. นครราชสีมา 6 ราย
          2. บุรีรัมย์ 6 ราย
          3. ลพบุรี 6 ราย
          4. ขอนแก่น 3 ราย
          5. เพชรบูรณ์ 3 ราย
          6. ระยอง 2 ราย
          7. ชัยภูมิ 2 ราย
          8. ตราด 1 ราย
          9. สระแก้ว 1 ราย
          10. สระบุรี 1 ราย
          11. พระนครศรีอยุธยา 1 ราย
          12. นนทบุรี 1 ราย
          13. อุทัยธานี 1 ราย
          14. ชัยนาท 1 ราย
          15. กำแพงเพชร 3 ราย




สถานการณ์ น้ำท่วม 24 ต.ค.

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมโคราช

          นายอโณทัย ธรรมกุล นายอำเภอพิมาย จ.นครราชสีมา เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำท่วมใน อ.พิมาย ว่า เช้าวันนี้ระดับน้ำอยู่ที่ 70 ซ.ม. และเริ่มทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยวัดระดับได้ที่ประมาณ 10-20 ซ.ม. ซึ่งถือว่าส่งสัญญาณที่ดี และระดับน้ำที่ไหลลงมา ก็เริ่มทยอยไปทาง อ.ชุมพวง และไหลลงไปตามทางปลายน้ำแล้ว ซึ่งการเข้าช่วยเหลือประชาชนนั้น เจ้าหน้าที่ได้เข้าถึงประชาชนที่ประสบภัย ทุกหมู่บ้าน แต่บางหมู่บ้าน ที่มีระดับน้ำสูง ก็จะเข้าไปถึงยาก แต่เจ้าหน้าที่ก็เข้าไปดูแล ซึ่งกองทัพเรือและหน่วยงานเอกชนต่าง ๆ ก็นำเรือท้องแบน และอาหาร มาช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่องเช่นกัน

          ส่วนโรงพยาบาลพิมายนั้น เช้าวันนี้ (24 ต.ค.) ระดับน้ำก็ลดลงเช่นกัน แต่ยังไม่สามารถเปิดให้บริการผู้ป่วยนอกได้ ส่วนผู้ป่วยหนักนั้น ก็ได้อพยพเคลื่อนย้ายไปยังโรงพยาบาลอื่นแล้ว ซึ่งจากการลงพื้นที่สำรวจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขวานนี้ ก็มีความกังวลใจ เรื่องเครื่องสำรองไฟ ที่คอยดูแลระบบไฟทั้งโรงพยาบาล และได้มีการวางแผนกับเจ้าหน้าที่ในการดูแล หลังระดับน้ำลด ทั้งนี้ ใน อ.พิมาย ยังมีพื้นที่น่าเป็นห่วง ประกอบด้วย ต.ดงใหญ่ ต.ชีวาน ต.กระชอน ซึ่งเป็นพื้นที่รองรับน้ำ ในระดับสุดท้ายของ อ.พิมาย ก่อนที่จะไหลลงสู่ อ.ชุมพวง และลงสู่ จ.บุรีรัมย์ ต่อไป แต่จากระดับน้ำในขณะนี้ เชื่อว่าจะไม่ส่งผลรุนแรงมากดังที่ผ่านมา


 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

          ขณะที่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงได้ประชุมและสางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยที่ประชุมได้ข้อสรุปว่าจะเร่งสูบน้ำที่ท่วมขังในโรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา ให้แห้งภายใน 2 วัน โดยกองทัพภาคที่ 2 จะทำคันกั้นน้ำ กระสอบทรายป้องกันน้ำเข้าโรงพยาบาลด้วย เพื่อให้ระบบน้ำทั้งหมด ในโรงพยาบาลใช้การได้ ขณะที่การให้บริการผู้ป่วยนั้น ทางโรงพยาบาลได้เปิดรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ผู้ป่วยหนัก ที่ส่งมาจากโรงพยาบาลชุมชนอื่น ๆ ตลอด 24 ชั่วโมง โดยในวันนี้เจ้าหน้าที่นำเฮลิคอปเตอร์ เข้ามาช่วยลำเลียงผู้ป่วย ที่รถพยาบาลไม่สามาถวิ่งได้ เช่น โรงพยาบาลคง มีผู้ป่วยนอก เข้ารับการรักษา 441 ราย ผู้ป่วนหนัก ใช้เครื่องช่วยหายใจ 120 ราย อย่างไรก็ตาม ในวันอังคารที่ 26 ตุลาคม ทางโรงพยาบาล จะเปิดผ่าตัดภายในโรงพยาบาล เพื่อทำการผ่าตัดในรายที่ฉุกเฉิน แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของระบบบำบัดน้ำเสียด้วย

          ขณะเดียวกัน ล่าสุดโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา ขอรับบริจาครองเท้าบูธยาวถึงเข่า เบอร์ 11 จำนวน 200 คู่ เพื่อให้แพทย์และพยาบาลใส่กันน้ำ

 ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมพิษณุโลก

          ล่าสุดเมื่อช่วงดึกที่ผ่านมา ชาวบ้านในหมู่ที่ 4 บ้านป่าแดง ต.ดงประคำ อ.พรหมพิราม จ.พิษณุโลก กว่า 20 หลังคาเรือนได้รับความเดือดร้อนอย่างมาก หลังจากมีฝนตกหนักเป็นเวลาหลายวัน จนทำให้น้ำป่าจากเทือกเขาน้อยและเทือกเขานาอิน-นายาง ซึ่งเป็นพื้นที่ติดต่อ อ.พิชัย จ.อุตรดิตถ์ ไหลทะลักเข้าหมู่บ้าน กระแสน้ำได้กัดเซาะถนนในหมู่บ้านจนขาด ทำให้รถทุกชนิดไม่สามารถสัญจรได้ ชาวบ้านต้องบรรเทาความเดือดร้อนโดยการสร้างสะพานไม้ แต่กระแสน้ำที่มีความแรงได้พัดให้สะพานเสียหาย

          ส่วนชาวบ้านในหมู่ที่ 1 และหมู่ที่ 11 บ้านทุ่งน้ำใส จำนวนกว่า 100 หลังคาเรือน ยังถูกน้ำท่วมสูง รวมถึงนาข้าวกว่า 20,000 ไร่ ยังจมอยู่ใต้น้ำ ชาวบ้านต้องอพยพไปอยู่ในเต็นท์ชั่วคราวริมถนน และพักอาศัยตามบ้านญาติ อย่างไรก็ตาม สถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นนับว่ารุนแรงที่สุดในรอบ 15 ปี ซึ่งชาวบ้านในหมู่บ้านไม่ได้มีการเตรียมตัวใด ๆ ในการรับมือ ทำให้ทรัพย์สินจมน้ำเสียหายเป็นจำนวนมาก

 ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมสุพรรณบุรี

          อ.สามชุก จ.สุพรรณบุรี ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติรอบ 2 แล้ว หลังระดับน้ำคลองชลประทาน เพิ่มสูงขึ้นชั่วโมงละ 5 เซนติเมตร โดย นายมนัส อ่ำทอง นายอำเภอสามชุก เปิดเผยสภานการณ์น้ำท่วมภายในเขตสามชุกว่า ล่าสุดมีการประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติรอบ 2 แล้ว หลังจากที่มีการประกาศไปก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกันยายน โดยระดับน้ำในคลองชลประทาน ด้านหน้าตลาดร้อยปีนั้น เพิ่มสูงขึ้นทุกชั่วโมงเฉลี่ยชั่วโมงละ 5 เซนติเมตร ซึ่งเป็นผลมาจากการปล่อยน้ำต้นทาง ประกอบกับมีน้ำที่ล้นจากเขื่อนกระเสียว ไหลเข้ามาสมทบด้วย

          ขณะที่ตลาดร้อยปีนั้น ระดับน้ำยังขึ้นไปไม่ถึง โดยด้านหลังตลาดที่เป็นแม่น้ำท่าจีนนั้น สถานการณ์ยังสามารถควบคุม และรองรับน้ำได้อยู่ คาดมีพื้นที่เกษตรกรรมได้รับผลกระทบไปแล้วกว่า 3 แสนไร่ ส่วนประชาชนที่ได้รับผลกระทบเรื่องที่อยู่อาศัยนั้น มีบางส่วนที่ต้องย้ายที่พักมากางเต็นท์ในพื้นที่เหนือน้ำแล้ว

          ทางด้าน อ.เดิมบางนางบวช คันคลองมะขามเฒ่า พังทลายรวม 3 จุด ในบริเวณใกล้เคียงกัน กว้างจุดละ 10 เมตร 2 จุด และ 20 เมตร อีก 1 จุด ทำให้น้ำในคลองซึ่งมีปริมาณมาก ไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่ หมู่ที่ 11 ต.หัวเขา และ ต.เขาพระ ทั้งนี้ คลองมะขามเฒ่าเป็นคลองส่งน้ำขนาดใหญ่ ระบายน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่ จ.ชัยนาท ไหลผ่านสุพรรณบุรีที่ อ.เดิมบางนางบวช ผ่าน อ.สามชุก อ.หนองหญ้าไซ อ.ดอนเจดีย์ อ.เมืองสุพรรณบุรี สุดท้ายที่ อ.อู่ทอง ปริมาณน้ำในคลองดังกล่าวมีจำนวนมาก

           ทั้งนี้ คันคลองมะขามเฒ่า เป็นพื้นดิน ทนแรงน้ำไม่ไหว ประกอบกับขาดการบำรุงรักษา จึงพังทลาย น้ำที่มีปริมาณมากได้ไหลอย่างรวดเร็วเข้าท่วมพื้นที่ ต.หัวเขา ถึง ต.เขาพระ อ.เดิมบางนางบวช และขณะนี้น้ำได้ไหลท่วมกว่า 2,000 ครัวเรือน ที่พักอาศัยบางแห่งมิดหลังคาแล้ว นาข้าว ไร่อ้อย ถูกน้ำท่วมกว่า 20,000 ไร่ ส่วนการซ่อมแซมคันดิน คันคลองที่พัง ได้สั่งเสาเข็มเพื่อนำมาปักแล้วใช้กระสอบทรายถมอีกชั้นหนึ่ง

 ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมอำเภอเถิน ลำปาง

          นายธนกร ปกรณ์สกุล นายกเทศมนตรีตำบลล้อมแรด อ.เถิน จ.ลำปาง ได้นำรถบรรทุกรวมถึงเรือท้องแบน นำถุงยังชีพ อาหาร และน้ำดื่ม เข้าแจกจ่ายให้ราษฎรกว่า 361 ครัวเรือน ที่ประสบภัยในพื้นที่ ต.ล้อมแรด หลังประสบภัยน้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน ต่อเนื่องติดต่อกันมาเป็นวันที่ 4 แล้ว โดยระดับน้ำยังท่วมสูงเกือบ 1 เมตร ทั้งนี้ ภัยทางธรรมชาติดังกล่าว เกิดขึ้นจากน้ำป่าจากยอดเขาสูงเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่เติน และป่าต้นน้ำแม่อาบ อ.ลี้ จ.ลำพูน หลังฝนตกอย่างหนักอย่างต่อเนื่อง

          โดยน้ำป่านั้นได้ไหลมาตามลำห้วย แล้วเข้าท่วมพื้นที่เขตเทศบาลตำบลล้อมแรด ซึ่งเมื่อวานนี้ น้ำได้ท่วมบ้านเรือนจำนวน 500 หลังคาเรือน และล่าสุดยังมีบ้านเรือนอีก 361 หลังคาเรือน ยังคงจมอยู่ในน้ำ ด้านเจ้าหน้าที่เทศบาลตำบลล้อมแรด ยังคงเร่งนำเครื่องสูบน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำในหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง

 ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมลพบุรี

          สถานการณ์น้ำท่วมที่จังหวัดลพบุรี ระดับน้ำที่ตำบลป่าตาล ตำบลท่าแค และตำบลถนนใหญ่ น้ำท่วมสูงขึ้นโดยเฉพาะที่หมู่บ้านสิรัญญา ระดับน้ำยังคงทีอยู่ แม้ทางเทศบาลเร่งสูบน้ำยังไม่มีทีท่าน้ำจะลดลง ชาวบ้านที่วัดถนนใหญ่ ซึ่งเป็นพื้นที่สูงน้ำก็กำลังเอ่อเข้าท่วมหมู่บ้านแล้ว หลังได้รับน้ำจากตำบลท่าแค ขณะดียวกัน ที่ตำบลท่าแค อำเภอเมืองลพบุรี ระดับน้ำได้สูงเพิ่มขึ้นกำลังเข้าท่วมหมู่บ้านเอื้ออาทร น้ำกำลังไหลเข้าท่วมหมู่บ้าน ส่วนสถานการณ์น้ำที่ตำบลโคกกะเทียม ระดับน้ำได้ลดลง 30 ซม. ถนนสายลพบุรี – บ้านหมี่ รถสามารถผ่านได้อย่างสะดวกแล้ว     

 ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมอยุธยา

          สถานการณ์น้ำท่วมที่วัดโพธิ์เผือก ตำบลบ้านใหม่ อ.พระนครศรีอยุธยา พบว่าน้ำจากเจ้าพระยาได้พังแนวคันกั้นน้ำรอบวัด และไหลท่วมพื้นที่วัดกว่า 10 ไร่อย่างรวดเร็ว โดยศาสนสถานต่าง ๆ ทั้งมณฑปสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช หอพระ พระอุโบสถ ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ ถูกน้ำท่วมทั้งหมดเช่นกัน พระเณรต้องเร่งขนย้ายสิ่งของหนีน้ำอย่างเร่งด่วน

          ขณะเดียวกัน น้ำจากแม่น้ำป่าสักไหลข้ามถนนในเขตตำบลท่าช้าง อ.นครหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา และไหลทะลักเข้าทุ่งนาจำนวน 50,000 ไร่ ในเขตตำบลท่าช้าง ตำบลพระนอน ตำบลแม่ลา และตำบลบางพระครู และทุ่งดังกล่าวยังมีพื้นที่เชื่อมต่อไปที่ ตำบลโพธิ์เอน ตำบลปากท่า ของ อ.ท่าเรือ และพื้นที่ อ.ดอนพุด จ.สระบุรี เช่นกัน สำหรับ อ.นครหลวง มีแม่น้ำป่าสักไหลท่วมอำเภอสูง 2 เมตร ใน 10 ตำบล 62 หมู่บ้าน บ้านเรือนเดือดร้อนเกือบ 10,000 หลังคาเรือน

          ส่วนที่ตำบลบ้านกุ่ม อ.บางบาล ซึ่งมีทั้งสิ้น 9 หมู่บ้าน รวมราษฎรประมาณ 1,150 ครัวเรือน ขณะนี้ถูกน้ำท่วมพื้นที่ทั้งหมด ระดับน้ำสูงประมาณ 1.5 เมตร บางจุดสูงเกือบ 2 เมตร ตอนนี้กำลังเดือดร้อนมาก เนื่องจากข้าวสาร 10 กิโลกรัม พร้อมปลากระป๋อง ที่ได้รับแจกจากเทศบาลนั้นหมดลงแล้ว เนื่องจากเทศบาลตั้งงบได้รอบเดียว ชาวบ้านต้องการยา น้ำดื่ม อาหารแห้ง เนื่องจากพืชผักสวนครัวเสียหายหมด รวมถึงห้องน้ำที่ใช้ได้ไม่สะดวก

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมอ่างทอง

           น้ำท่วมในจังหวัดอ่างทองยังวิกฤต หลังน้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำน้อยมีปริมาณสูงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนใน 3 อำเภอ คือ อำเภอเมือง อำเภอป่าโมก และอำเภอวิเศษชัยชาญ น้ำท่วมบ้านเรือนประชาชนระดับน้ำสูงเกือบ 2 เมตร ล่าสุดน้ำจากแม่น้ำน้อยได้ล้นทะลักเข้าท่วมสถานีตำรวจภูธร ตำบลบางจัก อ.วิเศษชัยชาญ น้ำสูงกว่า 20 ซ.ม. ทำให้ต้องย้ายสิ่งของหนีน้ำกันอย่างโกลาหล

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมสระบุรี

          ระดับแม่น้ำป่าสักที่เพิ่มปริมาณขึ้น ได้ทำให้ ต.ตาลเดี่ยว อ.แก่งคอย และต.หน้าพระลาน อ.บ้านหมอ ถูกน้ำท่วมแล้ว


 ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมสุรินทร์

          สถานการณ์น้ำท่วมที่ ตำบลตาเมียง อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ กระแสน้ำจากเทือกเขาพนมดงรักไหลทะลักเข้าลงอ่างน้ำต่าง ๆ ขณะเดียวกันน้ำป่าได้สร้างความเสียหายให้กับเส้นทางคมนาคม ถนนขาด 4 หมู่บ้าน บ้านโคกแสลง  หมู่  7 ถนนขาด 3 ช่วง บ้านพนมดิน หมู่ 3 ถนนขาด 2 ช่วง บ้านตาเมียง – สระแก้ว ถนนขาด 3 ช่วง ล่าสุดน้ำป่าไหลทะลักพัดฝายกักเก็บน้ำขนาดกลางพังทลายเสียหาย ทำให้น้ำท่วมไร่นาข้าว


น้ำท่วม ข่าวน้ำท่วม

น้ำท่วมโคราช

น้ำท่วมโคราช




 ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมกาฬสินธุ์

          สถานการณ์น้ำหลากในลำน้ำชี ที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งกำลังได้รับอิทธิพลของน้ำไหลหลากจากจังหวัดชัยภูมิและขอนแก่น ล่าสุดน้ำที่บริเวณฝายวังยาง ในเขตอำเภอฆ้องชัย สูงกว่าระดับปกติถึง 78 เซนติเมตร กระแสน้ำรุนแรง พัดพาวัชพืชมาจำนวนมาก ขณะนี้ส่งผลให้เกิดน้ำซึมผ่านพนังกั้นน้ำชั้นนอก ตรงบ้านโนนแดง และบ้านสะดำศรีแล้ว ขณะเดียวกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดได้วิทยุสั่งการให้อำเภอกมลาไสย ฆ้องชัย และร่องคำ เตรียมอพยพหากระดับน้ำเพิ่มสูง และคาดว่าไม่เกิน 3 วัน ปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงจะทำให้เกิดน้ำท่วมในพื้นที่

 ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมชัยภูมิ

          สถานการณ์ใน อ.เมือง จ.ชัยภูมิ ขณะนี้น้ำแห้งหมดแล้ว ไม่มีน้ำขัง ส่วนที่ อ.หางเรียง ยังมีน้ำท่วมขังอยู่ระดับความสูง แต่ไม่ถึงเอว ทั้งนี้ที่ห่วงคือกระแสน้ำไม่นิ่ง เพราะติดกับลำน้ำชี น้ำไหลผ่านตลอดเวลา และถูกน้ำขังมาแล้ว 4 วัน ชาวบ้านมีความต้องการสุขาลอยน้ำ สำหรับสถานการณ์น้ำมาจากลำชี เข้า อ.บ้านเขว้า บ้านค่าย และจะผ่านไป ต.โนนสะอาด อ.คอนสวรรค์ กระแสน้ำไหลเชี่ยวกราก และที่ต้องระวังต่อไปคือ อ.แวงน้อย อ.แวงใหญ่ จ.ขอนแก่น เนื่องจากน้ำจะไหลไปสมทบ

 ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม น้ำท่วมอุทัยธานี

          คันกั้นน้ำแควตากแดดด้านท้ายเขื่อนวังร่มเกล้าพังทลาย ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันในพื้นที่เกือบทั้งตำบลทุ่งใหญ่ อ.เมือง จ.อุทัยธานี โดยระดับน้ำท่วมสูงเพิ่มขึ้น 1-2 เมตร ในช่วงบ่าย ทำให้นาข้าวกว่า 2,000 ไร่ ที่กำลังจะเก็บเกี่ยวถูกน้ำท่วมจมหายไปชั่วเวลาไม่นาน โดยที่เจ้าของพื้นที่นาไม่สามารถทำอะไรได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลหนองไผ่แบน อ.เมือง จ.อุทัยธานี ต้องนำกรวยพลาสติกไปตั้งเป็นสัญลักษณ์ไม่ให้รถสัญจรผ่านทางหลวงท้องถิ่น สายโนนเหล็ก-หาดสูง ในเขตตำบลทุ่งใหญ่

 



 


 




ระดับน้ำที่ลานจอดรถ IT Plaza โคราช @capitellum



ระดับน้ำบนถ.ช้างเผือกหน้ารพ.มหาราชฯ ช่วงเที่ยงวันศุกร์ที่ 22 ต.ค. @capitellum 


น้ำท่วมพิมาย

น้ำท่วมพิมาย เครดิต : @noppatjak 





น้ำท่วม ข่าวน้ำท่วม

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วม ชัยนาท



น้ำท่วมโคราช

น้ำท่วมโคราช

น้ำท่วม

น้ำท่วมโคราช

น้ำท่วมโคราช

น้ำท่วมโคราช



จังหวัดนครราชสีมายังคงมีน้ำจากเขื่อนลำพระเพลิงเข้าท่วม จนทำให้การใช้ชีวิตของประชาชนเป็นไปอย่างยากลำบาก
จังหวัดนครราชสีมายังคงมีน้ำจากเขื่อนลำพระเพลิงเข้าท่วม จนทำให้การใช้ชีวิตของประชาชนเป็นไปอย่างยากลำบาก


น้ำท่วมโคราช
ข่าวนํ้าท่วม น้ำท่วมโคราช


ข่าวน้ำท่วม จ.นครปฐม

ข่าวน้ำท่วม จ.นครปฐม


ข่าวน้ำท่วม จ.นครปฐม
ข่าวน้ำท่วม จ.นครปฐม



 เบอร์โทรศัพท์ติดต่อสอบถาม ประสานงานเหตุอุทกภัย


          - ศูนย์กลางช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ติดต่อ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โทร 1784

          - ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ต้องการความช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วม โทร.1555 และ 0 2248 5115 ตลอด 24 ชั่วโมง

          - ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัย จ.นครราชสีมา โทร 044-342-652 ถึง 4 และ 044-342-570 ถึง 7

          - ประสานงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุ โทรฟรี 1669 หรือ 02-591-9769 ตลอด 24 ชั่วโมง

          - สอบถามเส้นทางรถไฟ และเวลาเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร 1690

          - สอบถามสภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา โทร 02-398-9830

          - กฟภ.ตั้งศูนย์ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 นครราชสีมา โทร.044214334-5 หรือ CallCenter1129 

          - สอบถามน้ำท่วม ถ.มิตรภาพ ที่แขวงการทางต่าง ๆ ได้ที่โทร 044-242047 ต่อ 21, 044-212200, 037-211098, 036-461422, 036-211105 ต่อ 24
 

การเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วม 

          1. หมั่นติดตามข่าวสาร และประกาศเตือนทุกช่องทาง เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เสาสัญญาณ เป็นต้น

          2. เตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง แก๊ชสำหรับหุงต้ม ยารักษาโรค ไฟฉาย  เทียน ไม้ขีดไฟ และอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่น ๆ เพื่อเอาตัวรอดในยามน้ำท่วม 

          3. เตรียมกระสอบทรายไว้เพื่อทำผนังกั้นน้ำ (แต่ห้ามวางไว้พิงกำแพง เพราะจะเพิ่มแรงดันให้น้ำทะลักเข้ามาได้ง่าย)

          4. หมั่นทำความสะอาดพื้น ไม่ให้มีของอันตรายหากเกิดน้ำท่วมสูง

          5. เก็บของมีค่า และสัตว์เลี้ยง รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้า ไปไว้ชั้นบนของบ้าน
 
          6. เตรียมเบอร์ติดต่อ หน่วยงานของรัฐ เผื่อต้องการความช่วยเหลือ

          7. ชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์สื่อสารให้พร้อม

          8. หากเกิดน้ำท่วมให้หนีขึ้นที่สูง และปิดวงจรไฟฟ้า เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร

          9. พยายามหาส่วนแห้งเพื่อหลบภัย และป้องกันไฟดูด

          10. ห้ามรับประทานน้ำที่ท่วมสูง หากขาดแคลนน้ำดื่ม ให้ต้มก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคระบาด

          11. หากน้ำท่วมไม่สูงมาก ให้ระวังการใช้รถใช้ถนน และดูแลเด็กเล็กไม่ให้ออกจากบ้าน

          12. ระวังสัตว์มีพิษที่มากับน้ำ หากถูกกัดให้ล้างแผลด้วยน้ำต้มสุกและเช็ดแอลกอฮอล์รอบแผล จากนั้นหาทางไปโรงพยาบาลทันที

          13. เตรียมน้ำสะอาดไว้ดื่ม และชำระร่างกาย 

          14. เตรียมถุงดำเล็ก - ใหญ่ ไว้ทิ้งขยะและปลดทุกข์ 

          15. เตรียมอุปกรณ์สำหรับขอความช่วยเหลือ เช่น นกหวีด ชูชีพ 

          16. หากน้ำท่วมเป็นเวลานาน อาจเกิดแผ่นดินทรุดตัวได้ แนะนำให้อยู่ห่างตึกหรืออาคารสูง ๆ



 ภาพน้ำท่วมโคราช

 

น้ำท่วมโคราช

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมโคราช


น้ำท่วมโคราช

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมโคราช


น้ำท่วมโคราช

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมโคราช

 

น้ำท่วมโคราช

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมโคราช


         

น้ำท่วมโคราช

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมโคราช



น้ำท่วมโคราช

ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมโคราช

     



ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมโคราช



ข่าวน้ำท่วม น้ำท่วมโคราช


 

 

  ข่าวน้ำท่วม บริจาคผู้ประสบภัยน้ำท่วม คลิกเลยค่ะ


 

 



อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
           , กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย, กรมอุตุนิยมวิทยา



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ข่าวนํ้าท่วม สถานการณ์นํ้าท่วม 25 - 31 ต.ค. อัปเดตล่าสุด 2 พฤศจิกายน 2553 เวลา 10:01:36 6,716 อ่าน
TOP