x close

พลุ-ดอกไม้ไฟ..มหาภัยที่ต้องระวัง ในวันลอยกระทง



พลุ ดอกไม้ไฟ

พลุ ดอกไม้ไฟ



พลุ-ดอกไม้ไฟ..มหาภัยที่ต้องระวัง (รักลูก)

           ใกล้วันลอยกระทงกันแล้ว ระวังเรื่องการเล่นดอกไม้ไฟกันด้วย ความรุนแรงและอันตรายของพลุ ประทัด ดอกไม้ไฟ ย่อมไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ อย่างแน่นอน เพราะจากสถิติของสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ระบุว่า ในช่วงเทศกาลลอยกระทงมีผู้บาดเจ็บจาก พลุ และดอกไม้ไฟนับร้อยรายเลยทีเดียว

            ทั้งนี้ เกือบครึ่งของผู้บาดเจ็บก็เป็นนักเรียน-นักศึกษา โดยมากจะโดนสะเก็ดระเบิดที่มือและข้อมือ รองลงไปก็ถึงกับกระดูกนิ้วมือแตกละเอียด มีหลายรายที่แพทย์ต้องตัดนิ้วหรือตัดมือทิ้ง หลายรายก็ถูกสะเก็ดพลุดอกไม้ไฟเข้าที่ตาและรอบๆ ดวงตา เยื่อตา และตาดำ ทำให้ตาบอดก็มีไม่น้อย (ตาดำไหม้ ขุ่นมัว อาจทำให้เลือดออกช่องหน้าม่านตา ทำให้ตาบอดถาวรได้) ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เลย เพราะมันมีโอกาสสูงที่จะทำให้เสียโฉม พิการ และ เสียชีวิตได้

เราจะแก้ปัญหาอันน่าสยดสยองนี้อย่างไรดี ?

           1. วิธีที่ดีที่สุดก็คือ ห้ามให้ลูก ๆ เล่นอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าจะอะไรก็ตาม เพราะมันก็ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่จัดว่าเป็นวัตถุระเบิดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น บั้งไฟ ประทัด ดอกไม้ไฟ พลุ หรือแม้แต่ เม็ดมะยม

           2. นอกจากไม่เล่นแล้ว ยังต้องไม่ไปรวมกลุ่ม หรือไม่แม้แต่เข้าไปอยู่ใกล้คนที่เล่นพลุ และ ดอกไม้ไฟ จริง ๆ แล้ว แค่ 2 ข้อนี้ก็น่าจะเป็นคาถาป้องกันความปลอดภัยให้ลูกได้ แต่ที่น่าเศร้าก็คือในโลกแห่งความเป็นจริง เด็กในหลาย ๆ ครอบครัว ก็ยังคงเข้าไปในแวดวงกลุ่มคนเล่นพลุอยู่ดี 

           3. ให้ระวังบรรดา พลุ ดอกไม้ไฟ หรือประทัด ที่จุดแล้วด้านแล้วจุดใหม่อีกครั้ง เพราะเราพบว่าการจุดซ้ำอีกมันมักจะระเบิดโป้งได้อย่างคาดไม่ถึง

           4. ผู้ใหญ่ หรือ วัยรุ่น ก่อนจะจุดพลุ ประทัด หรือดอกไม้ไฟ ควรที่จะมองดูรอบข้างให้ดี ต้องมั่นใจว่าไม่มีผู้ใดอยู่ในบริเวณนั้น โปรดช่วยกันเอาใจใส่ความปลอดภัยของผู้อื่นด้วย โดยเฉพาะเด็ก ๆ

           5. หากในบริเวณนั้น มีลมแรง อยู่ใกล้สายไฟ สถานีน้ำมัน ถังแก๊ส ใกล้หรือแม้แต่ในอาคารบ้านเรือน อย่าจุดพลุ และ ดอกไม้ไฟ อย่างเด็ดขาด เพราะอาจจะทำให้เกิดระเบิดและไฟไหม้และยากที่จะควบคุมได้

           หากพบเห็นเหตุสาธารณภัย สามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป หรือโทรศัพท์แจ้งหน่วยกู้ชีพนเรนทร หมายเลข 1669 ฟรีทุกระบบ ได้ตลอด 24 ชั่วโมง




ขอขอบคุณข้อมูลจาก

โดย: รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ อาจารย์ประจำภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ผู้จัดการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พลุ-ดอกไม้ไฟ..มหาภัยที่ต้องระวัง ในวันลอยกระทง อัปเดตล่าสุด 7 พฤศจิกายน 2554 เวลา 14:42:43 6,959 อ่าน
TOP