คนไทยหน่าย"ข้าว"เร่งวิจัยพันธ์ชักชวนให้ชิม (ไทยโพสต์)
องค์กรวิจัยข้าว จัดงานประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติครั้งแรก ระดมสมองนักวิจัยข้าวทั่วประเทศร่วมวางแผนยุทธศาสตร์เน้นคนไทยกินข้าวคุณภาพดี มีประโยชน์ต่อร่างกายมากขึ้น เผยคนไทยบริโภคข้าวน้อยลง เหตุมีทางเลือกกินอาหารชนิดอื่น
รศ.ดร.อภิชาติ วรรณวิจิตร นักวิจัยพันธุ์ข้าว ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ร่วมกับมูลนิธิข้าวไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กรมการข้าว และองค์กรต่าง ๆ ด้านงานวิจัยข้าว จัดงานประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติครั้งแรก ภายใต้หัวข้อขับเคลื่อนงานวิจัยข้าวไทยสู่นวัตกรรม ในระหว่างวันที่ 15-17 ธันวาคม 2553 ณ อาคารสารนิเทศ 50 ปี มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ความสำคัญของงานประชุมครั้งนี้คือ จะมีนักวิจัยข้าวจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและระดับชุมชนท้องถิ่น รวมตัวกันระดมสมองถ่ายทอดองค์ความรู้วิจัยข้าวเพื่อวางแผนยุทธศาสตร์งาน วิจัยข้าวระดับชาติเสนอต่อรัฐบาลเป็นครั้งแรก
รศ.ดร.อภิชาติ ระบุว่า ที่ผ่านมางานวิจัยข้าวเป็นลักษณะกระจัดกระจาย ไม่นำมาบูรณาการให้สอดคล้องต่อการปรับปรุงสายพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพดี เน้นการปลูกข้าวในเชิงปริมาณเพื่อขายเยอะ ๆ ทำให้คนไทยได้กินข้าวคุณภาพต่ำ รสชาติไม่อร่อย และเป็นข้าวที่ไม่รู้แหล่งผลิตหรือเป็นข้าวจากต่างประเทศ ดังนั้นทิศทางของการพัฒนาข้าวของประเทศไทยควรจะเน้นให้คนไทยได้บริโภคข้าวคุณภาพดีขึ้น เช่น ข้าวหอม ข้าวกล้อง และข้าวที่มีสารอาหารเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย
"วันนี้คนไทยกินข้าวน้อยลง จากการสำรวจตัวเลขของสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้ว คนไทยกินข้าวเฉลี่ยคนละ 400-500 กรัมต่อวัน แต่ปัจจุบันเหลือเพียง 250 กรัมต่อวัน ส่วนใหญ่กินข้าวคุณภาพต่ำ สำหรับข้าวคุณภาพดีมีการบริโภคเฉพาะคนมีฐานะดีและเน้นส่งออกต่างประเทศ" รศ.ดร.อภิชาติ เผย
นักวิจัยพันธุ์ข้าว กล่าวอีกว่า สาเหตุที่คนไทยกินข้าวน้อยลง เพราะการบริโภคข้าวมีทางเลือกหลากหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการกินข้าวที่แปรรูป เป็นแป้งชนิดต่าง ๆ เพื่อทำอาหาร แต่ให้สารอาหารคาร์โบไฮเดรตล้วนๆ ไม่ให้วิตามินเหมือนกับการกิน ข้าวกล้อง ดังนั้นในการประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติ จะหยิบยกเรื่องนี้มาหารือ เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวพันธุ์ดีมากขึ้น
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวจะเน้นเรื่องความหลากหลายทางพันธุกรรมของพันธุ์ข้าว การเปิดเผยพันธุ์ข้าวหอมในประเทศไทย เนื่องจากยังเป็นที่ถกเถียงกันเรื่อง ทฤษฎีการเกิดข้าวหอม ทำไมบ้านเราจึงมีข้าวหอม นอกจากนี้ จะมีนักวิจัยระดับชุมชนท้องถิ่นมานำเสนอองค์ความรู้ใหม่ที่หน่วยงานรัฐไม่ เคยทราบมาก่อน ตลอดจนการปรับปรุงพันธุ์ข้าวทนสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ เช่น ทนน้ำท่วม ทนแล้ง ทนดินเปรี้ยว เนื่องจากข้าวทุกสายพันธุ์สามารถปรับปรุงให้ทนน้ำท่วมได้สำเร็จ แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับไม่ให้ความสำคัญ และมีเกษตรกรปลูกบางพื้นที่เท่านั้น เมื่อมีเหตุน้ำท่วมทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง ต้นข้าวตายจำนวนมาก
รศ.ดร.อภิชาติบอกว่า งานวิจัยข้าวยังมีปัญหาเรื่องทุนสนับสนุนที่ขาดความต่อเนื่อง มักจะให้ทุน แบบปีต่อปี ทำให้มีอุปสรรคในขีดความสามารถด้านการแข่งขันงานวิจัยกับต่างประเทศ ดังนั้นในงานประชุมครั้งนี้จะมีแผนการวิจัยข้าวระดับชาติ โดยให้นำเงินจากโควตาส่งออกข้าวมาตั้งกองทุนวิจัยข้าว เพื่อให้การทำงานเป็นไปอย่างยั่งยืน