
ภาพการปะทุของดวงอาทิตย์ เมื่อเดือนกันยายน

ภาพการปะทุของดวงอาทิตย์ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน

ภาพการปะทุของดวงอาทิตย์ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน
เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก Space Weather.com, techpinger.com
เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ยานสังเกตการณ์สุริยพลวัต (Solar Dynamics Observatory) ของนาซ่า ได้เปิดเผยภาพการปะทุของดวงอาทิตย์ภาพล่าสุด ที่เกิดขึ้นในช่วงค่ำของวันที่ 21 พฤศจิกายนที่ผ่านมาตามเวลาในประเทศไทย
โดยการปะทุของดวงอาทิตย์ในครั้งนี้ เกิดขึ้นบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของดวงอาทิตย์ แต่ไม่ได้สร้างผลกระทบต่อระบบสนามแม่เหล็กของโลกแต่อย่างใด เพราะโลกไม่ได้อยู่ในแนวการปะทุของดวงอาทิตย์ และการปะทุดังกล่าวก็ไม่ได้เป็นการปะทุครั้งใหญ่ เหมือนกับการปะทุที่เคยเกิดขึ้นเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งการปะทุในครั้งนั้นได้ถูกระบุว่าเป็นการปะทุครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 15 ปีเลยทีเดียว
ทั้งนี้ การปะทุของดวงอาทิตย์ หรือปรากฏการณ์พายุสุริยะนี้ เกิดจากการสะสมพลังงานแม่เหล็กในดวงอาทิตย์ไว้เป็นจำนวนมาก เมื่อมีการต่อใหม่ของสนามเหล็ก จะเกิดการปะทุออกมาเป็นพลังงานความร้อน และปล่อยก้อนมวลขนาดใหญ่จากโคโรนา หรือเส้นรัศมีรอบวงกลมสีดำที่อยู่ชั้นนอกสุดของดวงอาทิตย์ ออกมาเป็นพายุสุริยะ ซึ่งการปะทุนี้จะเกิดขึ้นอย่างกะทันหัน เป็นครั้งเป็นคราว และไม่สามารถพยากรณ์ล่วงหน้าได้ แต่สามารถคาดการณ์ได้ว่าพายุสุริยะจะเกิดขึ้นได้ โดยสังเกตว่าเริ่มมีจุดมืดจำนวนมากบนดวงอาทิตย์
อย่างไรก็ดี การปะทุของดวงอาทิตย์ ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทุกวัน วันละหลายครั้งก็เป็นได้ แต่หากเป็นการปะทุที่มีความรุนแรงมาก ก็อาจจะส่งผลต่อระบบสนามแม่เหล็กโลก ทำให้ระบบสื่อสารคมนาคมทางวิทยุ ระบบการบิน ดาวเทียม ระบบไฟฟ้า ใช้การไม่ได้ และทำให้เกิดแสงเหนือแสงใต้ที่เรียกว่า "ออโรรา" แต่แสงดังกล่าวไม่ได้มีผลกระทบกับมนุษย์โดยตรง
ขณะที่วงการวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันยังไม่สามารถคำนวณระดับความรุนแรงของพายุสุริยะได้ ทำได้เพียงแค่พยากรณ์ และคาดการณ์ถึงระดับความรุนแรง ด้วยการดูสัญญาณเรดาร์ และความเร็วของลมเท่านั้น