x close

อ่วม! สรรพสามิตเล็งเก็บภาษีมือถือ-SMS 3%

โทรศัพท์มือถือ


รีบขยายแผนรีดภาษีเอสเอ็มเอส3% ฟันขุมทรัพย์เอกชน2หมื่นล้าน (ไทยโพสต์)

          "สรรพสามิต" ชงแผนรีดภาษี 3% "โทรมือถือ-เอสเอ็มเอส" หวังโกยรายได้ 2 หมื่นล้าน แฉเอกชนฟาดเอสเอ็มเอสครั้งละ 6 บาท ด้านผู้ประกอบการรีบประสานเสียงค้านแหลก ผลักภาระผู้บริโภค สงสัยรัฐบาลถังแตกรีบหาเงินเลือกตั้ง

          แหล่งข่าวกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ภายในสิ้นปีนี้กรมสรรพสามิตจะเสนอให้นายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง เก็บภาษีสรรพสามิตโทรคมนาคมจากการใช้โทรศัพท์มือถือ และบริการส่งข้อความ (เอสเอ็มเอส) ในอัตรา 3% จากฐานภาษีที่ให้เก็บได้ถึง 10% ซึ่งที่ผ่านมา ในช่วงปี 2549-2550 กรมสรรพสามิตเก็บภาษีสรรพสามิตจากการใช้โทรศัพท์มือถือในอัตรา 10% มีรายได้ภาษีปีละ 1.5 หมื่นล้านบาท แต่ยกเลิกเพราะมีปัญหาทางการเมือง และข้อกฎหมายที่เอกชนไม่สามารถนำค่าสัมปทานมาจ่ายเป็นค่าภาษีสรรพสามิตได้

          สำหรับการเสนอเก็บภาษีสรรพสามิตจากค่าบริการใช้โทรศัพท์มือถือในครั้งนี้ ได้ขยายไปถึงการเก็บภาษีสรรพสามิตบริการเอสเอ็มเอสด้วย เพราะเป็นการใช้โทรศัพท์มือถือรูปแบบหนึ่งและมีการใช้จำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กนักเรียน นักศึกษา ที่อาจใช้เกินความจำเป็น จึงเสนอเก็บภาษีเพื่อควบคุมการใช้ นอกจากนี้ เอสเอ็มเอสถูกใช้ในการพาณิชย์อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการทายผลฟุตบอล การทายผลการแข่งขันประกวดต่าง ๆ ซึ่งมีค่าบริการต่อครั้งสูงถึง 6 บาท ในจำนวนนี้ผู้ให้บริการมือถือได้เพียง 1 บาท และบริษัทผู้จัดรายการได้ 5 บาท

          "การเก็บภาษีสรรพสามิตโทรศัพท์มือถือทำได้ง่าย ไม่ต้องแก้ไขกฎหมาย เพียงแค่คลังเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบก็ดำเนินการได้ทันที" แหล่งข่าวกล่าว และว่า แม้การเก็บภาษีสรรพสามิตจากมือถือครั้งนี้มีอัตราลดลง แต่การขยายครอบคลุมเอสเอ็มเอสด้วยจะสามารถเก็บภาษีได้ถึง 2 หมื่นล้านบาท

          แหล่งข่าวจากวงการโทรคมนาคม กล่าวต่อว่า อดสงสัยไม่ได้ว่า แนวทางของกรมสรรพสามิตเป็นการส่งสัญญาณว่า รัฐบาลนี้อยู่ในภาวะถังแตกหรือไม่ เพื่อเร่งหารายได้รองรับกับการเลือกตั้งครั้งต่อไป ทั้งที่ในทางปฏิบัติหน่วยงานของรัฐ คือ บมจ.ทีโอที และบมจ.กสท โทรคมนาคมได้จัดเก็บและมีรายได้จากกิจการนี้อยู่แล้ว ซึ่งการจัดเก็บภาษีโทรคมนาคมในต่างประเทศ อยู่ภายใต้ระบบใบอนุญาตทำให้อัตราการจัดเก็บน้อยกว่าไทยมาก เมื่อไทยอยู่ภายใต้สัมปทานการจัดเก็บจึงสูงอยู่แล้ว หากเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมอีกก็ถือว่าสูงมาก

          ขณะที่นายวิเชียร เมฆตระการ หัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่ผู้บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวว่า รัฐควรศึกษาผลกระทบอย่างรอบด้าน และกิจการโทรคมนาคมไม่ใช่สินค้าฟุ่มเฟือย แต่เป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคแล้ว การเรียกเก็บภาษีเพิ่มขึ้น ภาระย่อมตกอยู่กับผู้บริโภค ซึ่งรัฐบาลควรมุ่งจัดเก็บภาษีบาปจากสินค้าที่อยู่ใต้ดินให้ถูกต้องตามกฎหมายจะดีกว่า ขณะที่อุตสาหกรรมโทรคมนาคมจ่ายภาษีให้รัฐในอัตราสูงอยู่แล้ว ทั้งส่วนแบ่งรายได้สัมปทาน ค่าใบอนุญาตให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)

          เช่นเดียวกับนายธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกลยุทธ์และกิจการองค์กร บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค ที่กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลหารือหรือขอความเห็นจากภาคเอกชน นักวิชาการและประชาชนก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยบอบช้ำอยู่แล้ว ถ้าการจัดเก็บนี้รัฐบาลต้องการให้คนใช้งานลดลง เพราะเป็นของฟุ่มเฟือย คงไม่ใช่ทางออกที่ถูกต้อง ปัจจุบัน บริษัทจ่ายภาษีให้รัฐหลายทาง ได้แก่ ส่วนแบ่งรายได้สัมปทานในสัดส่วน 25% และจะเพิ่มเป็น 30% ในปี 2554 ภาษีมูลค่าเพิ่ม (แวต) 7% ค่าอัตราเลขหมาย 2 บาทต่อเดือนต่อเบอร์ให้กับ กทช. และภาษีนิติบุคคล ซึ่งรวมแล้วสูงกว่าภาษีสุรา



ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อ่วม! สรรพสามิตเล็งเก็บภาษีมือถือ-SMS 3% อัปเดตล่าสุด 25 พฤศจิกายน 2553 เวลา 16:42:10 18,909 อ่าน
TOP