x close

การถ่ายภาพนกในธรรมชาติ













การถ่ายภาพนกในธรรมชาติ (FOTOINFO)

ถ่ายภาพนกไปทำไม ?

          ปัจจุบันมีคนสนใจ "ถ่ายภาพนก" อย่างมากมาย เราจึงสามารถพบเห็นนักถ่ายภาพทั้งมืออาชีพและมือสมัครเล่นแบกกล้องแบกเลนส์ขนาดต่างๆ ออกไปถ่ายภาพนกตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติกันอยู่เสมอ

          เป็นที่ยอมรับกับว่าการถ่ายภาพสัตว์ป่า นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะ "นก" ซึ่งตัวเล็กและอยู่ไม่ค่อยนิ่ง ทั้งยังมีสัญชาตญาณการระวังภัยยอดเยี่ยม เมื่อเห็นมนุษย์ก็จะพากันหนีเอาตัวรอดถือหลักปลอดภัยเอาไว้ก่อน เพราะนกไม่อาจแยกแยะได้ว่าใครคือผู้หวังดีหรือประสงค์ร้ายกับมัน จะว่าไปแล้วการถ่ายภาพนกและสัตว์ป่าก็ไม่ต่างจากพรานล่าสัตว์เท่าใดนัก แต่เจตนารมณ์กลับแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เมื่อพบสัตว์ป่า พรานไพรหวังที่จะปลิดชีพด้วยอาวุธ แต่นักถ่ายภาพกลับเล็งด้วยกล้อง มองผ่านเลนส์ และพยายามบันทึกภาพให้ได้ สัตว์ป่าไม่เสียเลือดเนื้อชีวิต แต่คนมีความสุข
นักถ่ายภาพนกหลายคนเริ่มต้นมาจากการดูนก เมื่อรู้สึกประทับใจในความสวยงามและพฤติกรรมน่าสนใจของนกก็อยากเก็บบันทึกเป็นภาพเอาไว้

          ส่วนใหญ่ถ่ายภาพนกเป็นงานอดิเรก ถือเป็นการผ่อนคลายความเครียดจากหน้าที่การงานและวิถีชีวิตเร่งรีบของสังคม พอถ่ายไปซักระยะก็ซึมซับความงามและความประทับใจจนกระทั่งเกิดความรัก การมีคนถ่ายภาพนกเพิ่มมากขึ้นจึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี เพราะเมื่อคนหันมาสนใจนกและธรรมชาติ ก็จะเกิดการเรียนรู้และเข้าใจถึงความสำคัญของนกและธรรมชาติ ขยายผลไปสู่สิ่งมีชีวิตอื่น ๆ ในระบบนิเวศ

          การดูนก-ค้นหาตัวในธรรมชาติว่ายากแล้ว การบันทึกภาพนกนับว่ายากเย็นยิ่งขึ้นไปอีก เพราะมีปัจจัยแวดล้อมและข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้การถ่ายภาพนกออกจะ "เขี้ยว" กว่าการถ่ายภาพธรรมชาติ ประเภทอื่น นี่คงเป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถของนักถ่ายภาพ ภาพที่ถ่ายได้ก็อาจจะเก็บไว้ชื่นชมส่วนตัวหรือนำมาดูกันในกลุ่ม นอกจากนี้ยังมีการตีพิมพ์เรื่องราว และภาพของนกเผยแพร่สู่สาธารณชนผ่านสื่อต่างๆ ด้วย สำหรับนักวิจัยเกี่ยวกับนกและสัตว์ป่าก็มีความจำเป็นต้องใช้ภาพถ่ายเพื่อเป็นข้อมูลในการศึกษาวิจัยด้วย

          อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ามือโปรหรือมือสมัครเล่น ช่วงเวลาแห่งความสุขที่แท้จริงของการถ่ายภาพนกก็คือ ตอนได้แนบตากับช่องมองภาพแล้วเห็นนกในกรอบสี่เหลี่ยมผืนผ้าแสดงท่วงท่าลีลาต่างๆ อย่างเป็นธรรมชาติพร้อมเสียงลั่นชัตเตอร์ในช่วงจังหวะที่เหมาะเจาะ

อุปกรณ์สำหรับถ่ายภาพนก

          ปัจจุบันเทคโนโลยีทางการถ่ายภาพพัฒนาอย่างรวดเร็ว อุปกรณ์ต่าง ๆ ก็หาซื้อง่าย ใช้งานสะดวกการถ่ายภาพนกจึงไม่ใช่เรื่องยุ่งยากและต้องอาศัยทักษะมากมายอย่างเมื่อก่อนอีกแล้ว เดี๋ยวนี้ใครๆ ก็ถ่ายภาพนกได้

          อันที่จริงการเลือกใช้อุปกรณ์ถ่ายภาพของแต่ละคนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย อย่างไรก็ตาม พึงระลึกไว้เสมอว่า อุปกรณ์เป็นเพียงเครื่องมือในการบันทึกและถ่ายทอดความคิดของนักถ่ายภาพเท่านั้น อย่าไปยึดติดกับอุปกรณ์มากเกินไปนัก หากใช้งานได้อย่างคล่องแคล่ว เข้าใจเทคนิควิธีการที่จะเข้าไปถ่ายภาพในระยะหวังผล ก็สามารถถ่ายภาพนกให้ออกมาดีได้

กล้องและเลนส์ถ่ายภาพ

          กล้องถ่ายภาพเกือบทุกประเภท ในปัจจุบันล้วนมีประสิทธิภาพสูงและสามารถนำมาใช้ถ่ายภาพนกได้ ทั้งสิ้น กล้องรุ่นใหม่ๆ มีระบบการทำงานทันสมัยมากมาย ที่จะช่วยให้บันทึกภาพได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำระบบต่างๆ ก็ควบคุมไม่ยาก แต่โดยรวมแล้ว กล้องที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพนกคงเป็นกล้อง DSLR ซึ่งให้ภาพคุณภาพดี ความคล่องตัวสูง และมีเลนส์ให้เลือกใช้หลายขนาด นอกจากนี้ตัวคุณทางยาวโฟกัสเลนส์เป็นคุณลักษณะที่ทำให้กล้องดิจิตอลเหมาะกับการถ่ายภาพนกเป็นอย่างยิ่ง เพราะจะช่วยเพิ่มทางยาวโฟกัสของเลนส์ที่ใช้ไปในตัว

          สำหรับกล้องคอมแพค ซึ่งนิยมใช้กันโดยทั่วไปนั้น ผมไม่อยากแนะนำให้เอามาถ่ายภาพนก เพราะหวังคุณภาพระดับดีได้ยากและมีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น ทางยาวโฟกัสสั้นเกินไป ถอดเปลี่ยนเลนส์ไม่ได้

          การเลือกซื้อกล้องอาจเป็นเรื่องยุ่งยากใจพอสมควร โดยเฉพาะมือใหม่หัดถ่าย จริงอยู่ว่ากล้องรุ่นใหม่ๆ มักอัดแน่นไปด้วยเทคโนโลยี การติดตามเทคโนโลยีอาจทำให้คุณอยากได้โน่นได้นี่ไม่มีที่สิ้นสุด ซึ่งมันไม่ดีกับเงินในกระเป๋าแน่ แต่ถ้าใครมีเงินเหลือเฟือก็คงห้ามปรามกันไม่ได้






ถ่ายภาพนกจะใช้เลนส์ขนาดไหนดี ?

          เป็นคำถามยอดฮิตสำหรับผู้ที่สนใจถ่ายภาพนก เพราะความยาวโฟกัสถือว่ามีส่วนสำคัญ ซึ่งความเห็นผม บอกอย่างตรงไปตรงมาเลยว่าใช้ได้ทุกขนาดขึ้นอยู่กับว่าจะถ่ายนกอะไร? ที่ไหน? อย่างไร? ที่กล้าบอกเพราะผมเคยใช้เลนส์ถ่ายภาพนกมาหมด แล้วทุกขนาด ตั้งแต่เลนส์ตาปลา เลนส์มุมกว้าง จนกระทั่งเลนส์อภิมหาซุปเปอร์เทเล ซึ่งเลนส์แต่ละแบบก็ให้มุมมองและอารมณ์ภาพต่างกัน

          เลนส์มุมกว้างอาจมีโอกาสใช้ยากสักหน่อย แต่ก็จะได้ภาพที่แปลกตาแตกต่างจากภาพนกที่เคยเห็น เลนส์เทเลช่วงสั้นเหมาะสำหรับการถ่ายภาพนกเล็กๆ ในระยะใกล้ นกพวกนี้ว่องไว้มาก เลนส์สั้นๆ แพนตามได้คล่องตัว หากแสงไม่พอก็ยังใช้แฟลชได้ เพราะนกอยู่ในระยะไม่ไกลนัก แต่ว่ากันตามจริง เลนส์ที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพนกโดยทั่วไปควรมีทางยาวโฟกัสตั้งแต่ 300 มม. เป็นต้นไป

          เลนส์ 300 มม. F/4 และ 400 มม. F/5.6 เป็นเลนส์ที่นักถ่ายภาพนกนิยมใช้กันมาก ทั้งสองตัวมีขนาดไม่ใหญ่นัก  พกพาก็สะดวก พอรับได้ทั้งเรื่องน้ำหนักและราคา ซื้อหามาเป็นอาวุธประจำตัวได้อย่างไม่เดือดร้อน

          คนที่เน้นคุณภาพ อาจเลือกเลนส์ 300 มม. F/2.8 เป็นเลนส์คู่ใจ เลนส์ตัวนี้ไม่ว่ายี่ห้อใดก็ล้วนมีคุณภาพสูงทั้งสิ้น ความใสสว่างของเลนส์ที่เพิ่มขึ้นอีก 1 STOP อาจต้องแลกด้วยเงินเรือนแสน แต่คุณภาพก็ยอดเยี่ยมสมราคา ทางยาวโฟกัสอาจจะดูสั้นไปนิด แต่เมื่อใช้ร่วมกับเทเลคอนเวอร์เตอร์ก็ยังได้คุณภาพดีอยู่

          สำหรับนักถ่ายภาพนกที่เอาจริงเอาจัง เลนส์ยอดนิยมคงไม่พ้นซุปเปอร์เทเลขนาด 500-600 มม. ช่องรับแสงกว้างสุด F/4 เลนส์กลุ่มนี้จำเป็นต้องใช้ร่วมกับขาตั้งกล้อง หากไม่เกี่ยงเรื่องน้ำหนักและค่าตัวแล้ว ต้องบอกเลยว่าคุณภาพสุดยอดจริง ๆ

          อีกทางเลือกสำหรับผู้ที่มีงบประมาณจำกัด และไม่ได้มุ่งหวังถ่ายนกเพียงอย่างเดียว เลนส์เทเลซูมอาจเป็นตัวเลือกที่ไม่อาจปฏิเสธได้ ช่วงที่นำมาถ่ายนกได้ดีคือ 70-210, 80-200, 75-300, 100-300 หรือ 100-400 มม. เลนส์เหล่านี้แม้จะใช้งานได้กว้าง แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่บ้าง เช่น ทางยาวโฟกัสสั้นเกินไปสำหรับนกบางชนิด ขนาดช่องรับแสงแคบ ใช้ร่วมกับเทเลคอนเวอร์เตอร์แล้วคุณภาพไม่ค่อยดีนัก

          นักถ่ายภาพนกมือใหม่มักคิดว่า ยิ่งมีเลนส์ทางยาวโฟกัสยาวเท่าไหร่ยิ่งดี ซึ่งไม่จริงเสมอไป คนที่ใช้เลนส์ใหญ่ ๆ อาจจะมัวเงอะงะกับการแพนกล้องตามนกจนไม่ได้ลั่นชัตเตอร์เลย ในขณะที่คนใช้เลนส์สั้นกว่าอาจได้ภาพดี ๆ ไปแล้วหลายช็อต ดังนั้นอุปกรณ์ถ่ายภาพจึงมีความเหมาะสมในแต่ละสถานการณ์แตกต่างกัน

          ว่ากันจริง ๆ แล้วการถ่ายภาพนกไม่จำเป็นจะต้องได้ตัวนกเต็มเฟรมเสมอไป หากว่าภาพนั้นมีเรื่องราว มีบรรยากาศที่สวยงามน่าประทับใจ นกในภาพจะเล็กหรือใหญ่ก็คงไม่สำคัญ

เทคนิคการถ่ายภาพนกประเภทต่าง ๆ





          สิ่งที่จะกล่าวต่อไปนี้ไม่ใช่เทคนิคตายตัว แต่เป็นเพียงข้อชี้แนะจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการถ่ายภาพนกต่าง ๆ

          นกสวนและนกในเมือง นกกลุ่มนี้ถือเป็นปฐมบทการเรียนรู้การถ่ายภาพนก เรามักพบได้บ่อยๆ และนกค่อนข้างจะคุ้นเคยกับคนอยู่แล้ว ถ้าเราเข้าใจพฤติกรรมของมันจะช่วยให้การถ่ายภาพง่ายขึ้น

          บ้านใครพอจะมีบริเวณ มีต้นไม้อยู่บ้าง โดยเฉพาะต้นตะขบ จะมีนกกินลูกไม้บินเข้าออกจิกกินลูกสุกอยู่ตลอด การนำถาดใส่เมล็ดพืชมาวางเอาไว้ให้นกเขา นกกระจอกลงมากิน หรือแขวนกล้วย มะละกอสุกเอาไว้ให้นกปรอดและนกเอี้ยงเข้ามาใช้บริการด้วย นกจากอาหารแลเวหากมีถาดใส่น้ำวางไว้ให้ ก็จะมีนกเข้ามาดื่มหรือเล่นน้ำคลายร้อนให้เราถ่ายภาพกันอย่างเพลิดเพลินจำเริญใจจากหน้าต่างห้องนอนกันเลยทีเดียว

          การซุ่มถ่ายภาพก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็น เพราะนกพวกนี้จะคุ้นกับคนมาก ยิ่งถ้าหากเรามีอาหารให้เป็นประจำ นกจะไม่ค่อยตื่นกลัว ไม่จำเป็นต้องใช้เลนส์ยาวๆ เลย บางทีแค่เลนส์ช่วง 70-200 มม. ก็เหลือ ๆ แล้ว

          นกน้ำ นกทุ่ง และนกชายเลน นกกลุ่มนี้มักพบในบริเวณพื้นที่โล่งกว้าง ตามท้องทุ่ง บึงน้ำ นาเกลือ และชายทะเล การพยายามเข้าไปถ่ายภาพนกในระยะใกล้เป็นเรื่องค่อนข้างยาก เพราะนกมักเห็นเราและบินหนีก่อนที่เราจะเข้าไปในระยะหวังผล เลนส์ทางยาวโฟกัสสูงมากๆ ย่อมได้เปรียบ แต่บางทีก็ไม่พอ ต้องใช้เทเลคอนเวอร์เตอร์ช่วย แม้จะสูญเสียแสงลงไปบ้าง แต่สภาพแสงกลางที่โล่งก็ยังทำให้ความไวชัตเตอร์สูงพอที่จะถ่ายภาพได้อย่างสบาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าความคมชัดของภาพย่อมลดลงไปด้วยเช่นกัน

          บางครั้งอาจใช้วิธีตั้งบังไพรซุ่มรอให้นกเดินหากินเข้ามาใกล้เอง ซึ่งต้องมั่นใจว่ามีนกหากินในบริเวณนั้น การซุ่มถ่ายภาพจากในรถที่จอดอยู่ริมทุ่งบ่อปลา หรือนาเกลือ ก็ได้ผลเช่นเดียวกัน หรือบางแห่งจะใช้วิธี “ขับถ่าย” ใช้รถเป็นบังไพรเคลื่อนที่เพื่อเข้าใกล้นกก็ยังได้ เพราะนกมักไม่ตื่นตกใจรถ แต่จะตื่นกลัวคน ดังนั้นขอแนะนำว่าหาผ้ามาทำเป็นม่านกั้นซักหน่อยก็ดี อย่าให้นกเห็นเรา เพราะนกไม่ชอบขี้หน้าคนนักหรอก





          นกป่า เป็นนกที่มีความหลากหลายทั้งชนิด และจำนวน การถ่ายภาพก็มีหลายรูปแบบวิธีการแล้ว แต่ชนิดของนก การแบกกล้องเดินตามเส้นทางในป่าเป็นวิธีที่หลายคนใช้เป็นประจำเช่นเดียวกันการดูนกวิธีนี้มีโอกาสพบนกบ่อย หลายๆ ครั้งที่การถ่ายภาพนกต้องอาศัยจังหวะและโชคเข้ามาช่วย แต่จะหวังเทพีแห่งโชคอย่างเดียวก็ไม่ได้ ความพร้อมเรื่องอุปกรณ์ทักษะความชำนาญ และเทคนิคที่ดีก็มีส่วน คนถ่ายภาพนกจึงต้องเป็น “นักฉวยโอกาส” ด้วย เพราะนกบางตัวอาจไม่ให้โอกาสเราอีกเป็นครั้งที่สอง

          การซุ่มถ่ายภาพตามแหล่งหากินของนกก็เป็นวิธีที่มีโอกาสได้ภาพดี ๆ เหมือนกัน แต่อาจต้องใช้ความอดทนซักหน่อย ต้นโทรในป่าเป็นแหล่งอาหารชั้นดีของนกกินผลไม้ อย่างนกโพระดก นกเขาเปล้า นกเขียวคราม ไปจนถึงนกขนาดใหญ่อย่างนกเงือก หากพบต้นไทรสุก ในป่า ก็ลองเฝ้าถ่ายภาพดู รับรองไม่ผิดหวังแน่

          การเฝ้าถ่ายนกทำรังก็มีเปอร์เซ็นต์ค่อนข้างสูง แต่ขณะเดียวกัน ก็เป็นการรบกวนพ่อแม่นกอย่างปฏิเสธไม่ได้ การถ่ายภาพรังนกจึงต้องใช้วิจารณญาณ และจิตสำนึกอย่างมาก

ไปถ่ายภาพนกที่ไหนดี ?

          เราสามารถพบนกอาศัยหากินในธรรมชาติได้ทั่วไป ตั้งแต่บ้านเรือนแหล่งชุมชน ทุ่งนาป่าเขาแหล่งน้ำต่างๆ จรดชายฝั่งทะเล หรือแม้แต่กลางท้องทะเล แต่ละแห่งจะพบชนิดนกแตกต่างกันไป

          ในจำนวนนกทั้งหมดที่พบในเมืองไทยเกือบ 1,000 ชนิด ประมาณ 1 ใน 3 เป็นนกประจำถิ่นที่สามารถพบเห็นได้ตลอดปี ที่เหลือเป็นนกย้ายถิ่น เข้ามาอาศัยหากินในเมืองไทยในช่วงฤดูหนาว รวมทั้งนกที่ย้ายถิ่นเข้ามาทำรังวางไข่ในเมืองไทยในช่วงฤดูฝนฤดูหนาวจึงเป็นช่วงเวลาทองสำหรับการถ่ายภาพนก เพราะมีนกหลากหลายชนิดให้ได้ออกไปเก็บภาพกันยิ่งตัวไหนมีดีกรีห้อยท้ายว่าเป็นนกหายากหรือมีจำนวนน้อยมากก็เหมือนเป็นสิ่งที่ท้าทายนักถ่ายภาพนก

          อากาศช่วงฤดูหนาวก็ช่างเป็นใจเสียเหลือเกิน ท้องฟ้า แจ่มใส อากาศไม่ร้อนมาก ดวงอาทิตย์เฉียงไปทางทิศได้ จึงสามารถถ่ายภาพได้เกือบตลอดทั้งวัน แต่ก่อนจะออกไปถ่ายภาพนก เราควรทราบข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่นั้น ๆ เช่น สภาพพื้นที่ สภาพอากาศชนิดนกที่มีโอกาสพบ เพื่อเราจะได้จัดเตรียมอุปกรณ์ ถ่ายภาพให้เหมาะสม การทำการบ้านล่วงหน้าโดยการศึกษาข้อมูลหรือสอบถามจากผู้รู้ จะช่วยให้ประสบความสำเร็จในการถ่ายภาพยิ่งขึ้น

          แหล่งถ่ายภาพนกเด่น ๆ ในเมืองไทย ว่ากันตามสภาพถิ่นอาศัยของนก ถ้านกป่าบนดอยสูงทางภาคเหนือก็ดอยอินทนนท์ ดอยอ่างขาง ป่ายอดฮิตของคนถ่ายภาพนกต้องยกให้แก่งกระจานและเขาใหญ่ส่วนป่าดิบทางใต้ก็มีกรุงชิง เขานอจู้จี้ หรือศรีพังงาที่เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น หากสนใจพวกนกน้ำ หนองบงคายและบึงบอระเพ็ดคงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ แต่ถ้าอยากไปอาบแดดถ่ายนกชายเลนก็มีอยู่มากมายหลายจุดในบริเวณอ่าวไทยตอนใน เช่น บางปู โคกขาม ปากทะเล แหลมผักเบี้ย ลงไปถึงสามร้อยยอด แหลมปะการัง เกาะลิบง
        
การถ่ายภาพนกเชิงอนุรักษ์ธรรมชาติ

          นักถ่ายภาพใหม่ ๆ มักให้ความสำคัญกับอุปกรณ์ และเทคโนโลยีทันสมัย สนใจกระบวนการภายหลังจากที่ลั่นชัตเตอร์แล้วว่าจะจัดการไฟล์ภาพอย่างไร ? แต่มักไม่ค่อยใส่ใจถึงวิธีการก่อนจะได้กดชัดเตอร์ ใครอยากถ่ายภาพนกก็หอบเงินไปจับจองกล้องดีๆ เลนส์แรงๆ มาเป็นอาวุธส่วนตัว จากนั้นก็คอยติดตามข่าวว่าจะมี “หมาย” ที่ไหนให้ไปตามถ่ายได้บ้าง

          ไม่ว่ากัน นั่นอาจเป็นความสุขของการถ่ายภาพนกอีกรูปแบบหนึ่ง ถ้าไม่ได้สร้างความเดือดร้อนกับใคร ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรจะห้ามปรามกัน...จริงมั้ย

          นอกจากความสุขหลังกล้องของนักถ่ายภาพแล้ว การถ่ายภาพนกยังมีส่วนปลูกฝังให้คนรักและเรียนรู้เกี่ยวกับนก ในทางกลับกันเราก็ต้องยอมรับว่าการดูนก-ถ่ายภาพนกได้สร้างผลกระทบรบกวนต่อนกและธรรมชาติด้วยเหมือนกัน มากบ้างน้อยบ้างแล้วแต่การกระทำของแต่ละคน

          อย่าลืมว่าเมื่อมนุษย์ก้าวย่างสู่อ้อมกอดของธรรมชาติ เราเป็นเพียงคนแปลกหน้าที่ต้องให้ความเคารพต่อสรรพสัตว์ซึ่งเป็นเจ้าของบ้าน ถ้าการปรากฏตัวของคนทำให้มันต้องตกใจเตลิดหนีไปก็เป็นการรบกวนเจ้าของบ้านแล้ว การกระทำที่ทำให้นกเครียดหรือส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่น ทิ้ง ถิ่นอาศัยหรือแหล่งหากิน ถือเป็นเรื่องที่เสียมารยาทอย่างแรง การถ่ายภาพนกจึงควรคำนึงไว้เสมอว่าต้องพยายามรบกวนนกให้น้อยที่สุด รู้จักยับยั้งชั่งใจถึงความเหมาะสม นักถ่ายภาพทุกคนอยากได้ภาพ แต่ไม่ใช่ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้ภาพ แบบนี้เป็นการถ่ายภาพแบบ "เห็นแก่ตัว"

          "เรามีความสุขกับการถ่ายภาพนกได้ แต่ไม่ควรทำให้นกมีความทุกข์"






          การถ่ายภาพนกให้ได้ภาพความคมชัด มีรายละเอียดและสีสันถูกต้อง การเข้าไปถ่ายในระยะใกล้เป็นสิ่งจำเป็น แต่นกส่วนใหญ่เข้าใกล้ได้ยาก เพราะนกมีสัญชาตญาณระวังภัย มีระยะปลอดภัยที่จะยอมให้คนเข้าใกล้มากน้อยต่างกันแล้วแต่ชนิดนกและการปฏิบัติตัวของแต่ละคน โดยเฉพาะนกน้ำ นกทุ่ง และนกชายเลน ในสภาพพื้นที่โล่งนกมักจะเห็นเราตั้งแต่ระยะไกลแล้ว และพร้อมที่จะบินหนีได้ตลอดเวลา

          ปกติเวลาออกไปถ่ายภาพนกผมมักจะสวมเสื้อผ้าที่สีสันกลมกลืนกับธรรมชาติ เช่น สีเขียว สีน้ำตาล เพื่อไม่ทำให้ตัวเองโดดเด่นเกินไป เมื่อพบเป้าหมาย ปฏิบัติการณ์จู่โจมก็เริ่มทันที กลยุทธที่ผมใช้ได้ผลเสมอๆ สำหรับการถ่ายภาพนกในพื้นที่โล่งก็คือ ทำตัว "ต่ำช้า" โดยไม่ต้องมีคำว่า "เลวทราม" นำหน้า หรือ "สามานย์" ตามหลัง

          หมายถึงทำตัวให้ ต่ำ ๆ แล้วเคลื่อนที่เข้าไปอย่าง ช้า ๆ กางขาตั้งลงต่ำสุด นั่งยอง ๆ หรือคุกเข่ากระดืบเข้าไปทีละก้าวอย่างช้า ๆ แผ่วเบา พยายามหาพุ่มไม้หรือสิ่งกำบังอื่นๆ เป็นตัวช่วย หากนกเริ่มสงสัย ให้หยุดนิ่ง สังเกตอาการของนกเป็นระยะหรือจะถ่ายภาพเอาไว้บ้างก็ได้เผื่อนกบินหนีไปเสียก่อน เมื่อระยะห่างระหว่างนกและคนสั้นลง ยิ่งต้องทำตัวให้ต่ำช้ายิ่งขึ้น หมอบได้จงหมอบ คลานได้จงคลาน เวลาและการกระทำของเราจะช่วยเปลี่ยนความหวาดระแวงของนกให้เป็นความไว้ใจ อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหววูบวาบเพียงครั้งเดียวก็อาจทำให้ภารกิจล้มเหลวได้เช่นกัน

          แผนนี้ต้องใจเย็นและอดทนอย่างมาก แต่ก็คุ้มค่าการลงทุน บ่อยครั้งที่ผมสามารถเข้าไปได้ใกล้นกมากๆ หรือบางทีนกเดินเข้ามาหาเราเอง ใกล้จนโฟกัสไม่ได้

          คนที่ทำตัว "สูงไว" ใจร้อนพรวดพราด แบกเลนส์ทะเล่อทะล่าเข้าไปหา ก็เท่ากับเดินไปใส่นกซะเปล่า ๆ

วินาทีกดชัตเตอร์

          นกแขวก โดยส่วนใหญ่จะออกหากินในเวลาพลบค่ำ และจะกลับมาหลับนอนอยู่ตามป่าชายเลนเมื่อได้เวลารุ่งสาง แต่สำหรับนกแขวกที่โครงการศึกษาและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ยอันเนื่องมาจากพระราชดำหริ ค่อนข้างจะมีพฤติกรรมแปลกกว่าที่อื่นอยู่สักหน่อย ตรงที่ชอบออกมาหากินในตอนกลางวัน เพราะภายในโครงการฯ นั้นอุดมไปด้วยปลา ยิ่งในช่วงที่ออกซิเจนภายในบ่อเหลือน้อยทำให้ปลาต้องขึ้นมาลอยอยู่เหนือน้ำ เท่ากับเปิดโอกาสให้นกแขวกสวมวิญญาณเหยี่ยวบินลงไปจับปลาถึงในน้ำ ซึ่งจะหาดูที่ไหนคงไม่มีนอกจากที่โครงการฯ แห่งนี้

          สำหรับการถ่ายภาพนกในลักษณะนี้ ต้องรักษาความเร็วในการแพนกล้องให้เท่าๆ กัน พร้อมกับรอดูปฏิกิริยาของนกไปด้วยว่าจะทิ้งตัวลงน้ำเมื่อใด เพื่อจะได้หยุดการแพนกล้องติดตามได้ทันท่วงที โดยที่ไม่เสียจังหวะหรือพลาดโอกาสในการกดชัตเตอร์หลายคนที่ใจร้อนผลีผลามรีบกดชัตเตอร์ บางทีเมื่อจังหวะสำคัญมาถึงกล้องอาจกำลังอ่านไฟล์อยู่ก็เป็นได้ 5 เฟรมต่อวินาทีกำลังดี เพราะถ้ามากกว่านี้จังหวะของภาพจะไม่แตกต่างกัน

          ระบบโฟกัสที่ควรใช้คือ โฟกัสติดตามวัตถุอย่างต่อเนื่อง จุดโฟกัส ควรเลือกใช้จุดโฟกัสตรงกลาง เพื่อบังคับการแพนกล้องให้มีความเร็วใกล้เคียงกับที่นกบิน จะทำให้น้ำหนักภาพที่ถ่ายได้ไม่หนักไปทางด้านใดด้านหนึ่ง

          หากช่างภาพนกท่านใดที่ยังไม่เคยถ่ายภาพแบบนี้มาก่อน แล้วคิดจะลองถ่ายภาพในลักษณะนี้ดูบ้าง ขอแนะนำให้ใช้จุดโฟกัสครบทุกจุดก่อน เพื่อฝึกการแพนกล้องรักษาความเร็วให้ใกล้เคียงกับนก เมื่อมีความชำนาญเพิ่มขึ้นจึงหันมาใช้จุดโฟกัสตรงกลางเพียงจุดเดียว

          สำหรับความเร็วชัดเตอร์นั้น ถ้าต้องการภาพที่มีความคมชัดสูงๆ ความเร็วชัดเตอร์ก็ไม่ควรจะต่ำกว่า 1/1000 วินาทีครับ ส่วนขนาดรูรับแสง เป็นเรื่องของความพอใจครับ อยากได้ชัดลึกก็หรี่เอฟให้แคบหน่อย แต่ความเร็วชัดเตอร์ก็จะต่ำตามลงไปด้วย สำหรับผมชอบที่เอฟ 5.6 ครับ

เลนส์สั้น ๆ กับนกริมทาง

          การถ่ายภาพนกในชั้นจริงจังนั้น จำเป็นต้องลงทุนกับอุปกรณ์มากพอควร โดยเฉพาะเรื่องเลนส์เทเลโฟโต้ทางยาวโฟกัสสูงๆ นั้น นักถ่ายภาพจะทราบดีว่าราคาจะสูงตามทางยาวโฟกัสไปด้วย และหากต้องการเลนส์ไวแสงราคาก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก หลายคนจึงรู้สึกว่าการถ่ายภาพนกให้ได้ดีเป็นเรื่องไกลตัว เพราะคงจะมีงบพอแค่ซื้อเลนส์เทเลโฟโต้อย่างเช่น 300 มม. f/4 หรือเลนส์ชุมช่วง 80-400 มม. 100-400 มม.

          สำหรับการถ่ายภาพนกอย่างจริงจังก็คงต้องใช้งบพอควร แต่สำหรับเรา ๆ ที่ถ่ายภาพนกแบบเล่น ๆ ไม่จริงจัง มีโอกาสมีจังหวะก็ถ่ายนั้น เลนส์ที่เราใช้ๆ กันอยู่ อย่าง 70-200 มม., 70-300 มม. ก็ยังพอใช้งานได้ เพราะบ่อยครั้งที่เราสามารถเข้าใกล้นกได้ โดยไม่ต้องใช้เลนส์ซุปเปอร์เทเลโฟโต้ และไม่ต้องใช้บังไพร เพียงแต่เมื่อมีโอกาสเราก็ควรจะเก็บภาพที่ดีให้ได้ เพราะนกคงไม่ได้อยู่รอให้เราพิรี้พิไรได้นานนัก





          ภาพนี้ผมบันทึกจากในวัด ประเทศญี่ปุ่น โดยกล้องของผมติดเลนส์เทเลชุมขนาด 70-200 มม. อยู่เพื่อเก็บภาพแคนติดในวัดเมื่อมองไปที่เชิงบันไดด้านบน ข้างทางมีต้นขากุระบานอยู่ต้นหนึ่ง ก็เลยเดินขึ้นไปเพื่อจะถ่ายภาพดอกชากุระ โดยไม่คิดว่าจะมีนกแต่อย่างใด

          แต่เมื่อเข้าไปได้ต้น ปรากฏว่ามีนกแว่นตาขาว 3-4 ตัว กำลังกินน้ำหวานจากเกสรของดอกไม้อยู่ ผมก็เลยใช้เลนส์ตัวนี้เก็บภาพนกซะเลย ทางยาวโฟกัส 200 มม. เมื่อผ่านตัวคุณ 1.5x ของกล้อง APS-C ก็จะเปลี่ยนเป็นเลนส์ 300 มม. ซึ่งก็เพียงพอที่จะถ่ายภาพนกกลุ่มนี้ได้ เพียงแต่ต้องรอมันกระโดดมาเกาะกิ่งที่อยู่ใกล้กับกล้องสักหน่อย

          ความเร็วเป็นสิ่งสำคัญ กับเลนส์ 70-200 มม. การถือกล้องด้วยมือดีกว่าใช้ขาตั้งกล้องแน่นอน เพราะนกเปลี่ยนตำแหน่งอยู่ตลอด ผมเปลี่ยนระบบโฟกัสมาเป็นจุดกลาง เล็งแล้วล็อกโฟกัสจัดองค์ประกอบใหม่อย่างเร็วและกดชัดเตอร์ไปขุดละ 3-4 ภาพ ต้องขยับเปลี่ยนมุมกล้องอยู่เรื่อยๆ เพื่อให้ได้ฉากหลังอย่างที่ต้องการ และเพื่อหลบกิ่งไม้ ใบไม้ ที่มักจะบังตัวนกอยู่เสมอ

          ประมาณ 3 นาที ที่นกเกาะอยู่ที่ซากุระต้นนี้ ผมบันทึกภาพได้ประมาณ 30 ภาพ แน่นอนครับว่ามีภาพเบลอไปหลายภาพ ปัญหาก็คืออากาศที่หนาวมาก และฝนตกพรำๆ ตลอดจนเลนส์เปียก แต่ยังดีที่ติดฮูดไว้ทำให้ละอองฝนไม่โดนหน้าเลนส์ ภาพจึงยังใสเคลียร์

          นี่คงจะเป็นตัวอย่างหนึ่งของการถ่ายภาพนกด้วยเลนส์ทางยาวโฟกัสไม่สูง ซึ่งแม้โอกาสจะมีไม่บ่อยนักแต่เราก็อาจได้ภาพดีๆ ได้ หากมีโอกาสขึ้นมา ซึ่งก็อยู่ที่ว่าเราจะจัดการกับการบันทึกภาพได้ดีเพียงใด และเร็วเพียงใด

Repetition in Birdscape

          นักถ่ายภาพที่สนใจในการถ่ายภาพนก มักไม่ใช่นักถ่ายภาพมือใหม่ในแบบที่ไม่รู้จักการใช้กล้องมาก่อนหรือไม่มีความรู้ในกระถ่ายภาพพื้นฐานเลยมาก่อน อาจมีบ้างแต่ก็คงเป็นส่วนน้อยมาก ๆ ถ้าหากได้ลองถ่ายภาพนกอย่างจริงจังสักพักคุ้นเคยกับอุปกรณ์ แล้วก็จะพบว่า การถ่ายภาพนกนั้นไม่ยากอย่างที่คิดโดยเฉพาะในยุคนี้ เทคนิคในการถ่ายภาพโดยหลักการแล้วจึงไม่ได้แตกต่างไปจากการถ่ายภาพแบบอื่น ๆ เพียงถ่ายภาพให้คมชัด มุมมองดี ถ่ายภาพนกที่อยู่ในท่าทางที่มองเห็นจุดที่แสดงถึงชนิดของนก หรืออยู่ในท่าทางที่ดูสง่า สวยงาม มีพฤติกรรมโดดเด่นน่าสนใจ

          ภาพนกแบบกว้าง ๆ นกมีขนาดค่อนข้างเล็กในเฟรมภาพ เป็นเรื่องยากที่จะทำให้ภาพนกดูน่าสนใจ ภาพนกแน่น ๆ ตัวโต ๆ เป็นภาพที่ดูน่าสนใจได้ง่ายกว่า นักถ่ายภาพนกมือใหม่ส่วนใหญ่จึงอยากถ่ายภาพนกให้ได้ขนาดใหญ่ คมชัด แต่ภาพนกที่คมชัดและมีขนาดใหญ่เป็นเพียงหนึ่งในรูปแบบของภาพที่นำไปใช้ประโยชน์หรือที่เราเรียกว่า “ภาพดี” ภาพนกที่คมชัดตัวโตนั้นไม่ใช่แนวภาพแบบเดียวที่นักถ่ายภาพนกถ่ายภาพกัน ภาพที่แสดงให้เห็นถึงพฤติกรรม ถิ่นที่อยู่อาศัย การหากิน การผสมพันธ์ ฯลฯ ก็เป็นภาพที่มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน





          การถ่ายภาพนกแบบกว้าง ๆ นั้นจะต้องมีรายละเอียดอื่น ๆ ในภาพเข้ามาช่วยส่งเสริมให้ภาพดูน่าสนใจขึ้น สภาพแวดล้อมที่สวยงาม เช่น ทุ่งหญ้า นาข้าว ดอกไม้ กิ่งไม้ ฯลฯ เป็นส่วนช่วยเติมเต็มไม่ให้ภาพนกที่ถ่ายมาแบบกว้างๆ นั้นดูโหรงเหรงหรือภาษาที่นักถ่ายภาพนิยมใช้ว่า “หลวม” การค้นหาโอกาสที่นกจะไปอยู่ในตำแหน่งหรือสภาพแวดล้อมที่ดูดีนั้นไม่ได้พบง่ายนัก และเราก็ไม่สามารถควบคุมอะไรได้

          นอกจากสภาพแวดล้อมแล้ว ตัวนกและพฤติกรรมของนกก็เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยที่ทำให้ภาพกว้างๆ ดูน่าสนใจขึ้นมาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับนกที่มีพฤติกรรมรวมฝูง นกทุ่ง นกน้ำ ที่ออกหากินในที่โล่งจะเข้าใกล้ได้ยาก เพราะมองเห็นเราได้ในระยะไกล ซึ่งเรามักต้องถ่ายออกมาในแบบกว้างๆ โดยเฉพาะคนที่มีเลนส์สั้นๆ ควรยาวโฟกัสไม่สูงนัก การถ่ายภาพนกที่อาศัยอยู่รวมกัน เป็นฝูงให้น่าสนใจนั้น เราสามารถใช้การเทคนิค Repetition หรือการทำซ้ำ มาใช้สร้างความน่าสนใจให้กับภาพได้

          Repetition หรือการทำซ้ำ ในความหมายทางการถ่ายภาพหมายถึง การมีองค์ประกอบภาพที่มีลักษณะเหมือนกัน คล้ายคลึงกันวางเรียงตัวกันอยู่ในภาพ ส่วนใหญ่เราจะใช้เทคนิคนี้ในการถ่ายภาพวัตถุที่มีลักษณะเหมือนกัน เช่น ก้อนหิน ดอกไม้ในมุมแบบ Top View ในการถ่ายภาพนกนั้นเราสามารถใช้เทคนิค Repetition นี้ได้เช่นกัน แต่ต้องรอจังหวะให้นกมีท่าทาง พฤติกรรม เหมือนกันอยู่ในตำแหน่งที่มีระยะห่างช่องไฟใกล้เคียงกัน เพราะแม้ว่านกจะเป็นชนิดเดียวกัน หน้าตาเหมือนกัน อยู่รวมกันแบบกระจัดกระจายแล้วถ่ายภาพหมู่นกนั้นมาแล้วจะเรียกว่าเป็นการใช้ Repetition คงไม่ได้

          ความลงตัวของการถ่ายภาพด้วยเทคนิคนี้คือ การรอและมองหากลุ่มนกที่กำลังทำท่าทางพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกัน เลือกครอปเอาเฉพาะส่วนที่ทำท่าทางคล้ายกัน ตัดเอาตัวอื่น ๆ ที่ไม่เข้าพวกออกไป ก็จะได้ภาพนกกว้างๆ ที่คนมีเลนส์สั้นๆ ไม่เกิน 300 mm ก็สามารถถ่ายภาพได้ และเป็นภาพที่ดูน่าสนใจไม่แพ้นกตัวใดๆ เช่นกัน





ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การถ่ายภาพนกในธรรมชาติ อัปเดตล่าสุด 9 ธันวาคม 2553 เวลา 11:59:46 19,509 อ่าน
TOP