x close

แนะนำดูแลความปลอดภัยชีวิต - ทรัพย์สินในปีใหม่

รถยนต์




ความปลอดภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ (สวทช.)

          จากการนำเสนอข่าวโดยสำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์ นำเสนอข้อมูลสถิติอุบัติเหตุบนท้องถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ประจำปี 2553 ที่ผ่านมา ในช่วง 7 วัน อันตราย เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนถึง 3,534 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 347 คน มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3,827 คน สาเหตุหลักที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุคือ "เมาแล้วขับ" สูงเป็นอันดับต้น ๆ รองลงมาคือขับรถด้วยความเร็วที่เกินกว่ากฎหมายกำหนด นอกจากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในช่วงปีใหม่แล้ว ยังมีข้อมูลที่น่าสนใจ

          จากสถิติคดีอาญาที่น่าสนใจรายเดือนทั่วราชอาณาจักร ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบว่ามีการแจ้งความเกี่ยวกับคดีลักทรัพย์ ในช่วงเทศกาลปีใหม่ (ปลายเดือนธันวาคม - ต้นเดือนมกราคม) จำนวนกว่า 7,811 ราย คดีปล้นทรัพย์ และชิงทรัพย์ จำนวน 228 ราย จากข้อมูลสถิติทั้งสองแสดงให้เห็นว่า ในช่วงเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่เป็นช่วงที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายจนนำไปสู่การสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินเป็นอย่างมาก  ดังนั้น ก่อนหยุดยาวในช่วงส่งท้ายปี ขอแนะนำเกร็ดเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อช่วงปกป้องชีวิตและทรัพย์สิน ดังนี้

ก่อนเดินทางออกจากบ้าน

          ควรตรวจสอบภายในบ้านเรือนให้เรียบร้อย อาทิ ประตู หน้าต่าง ทุกบานจะต้องมีการล็อกที่แข็งแรง ปลั๊กเสียบอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นควรถอดออก และที่สำคัญอย่าซ่อนกุญแจไว้นอกบ้าน เช่น กระถางต้นไม้ ตู้เก็บรองเท้า และอย่าช่วยเหลือผู้ร้ายโดยการเขียนโน๊ตไว้ว่า "ไม่อยู่บ้าน" และอย่าฝากข้อความเสียงไว้ในเครื่องรับโทรศัพท์ว่าไม่อยู่บ้านโดยเด็ดขาด

เริ่มเดินทางและจอดแวะข้างทางเพื่อซื้อของ

          ก่อนขึ้นรถทุกครั้ง ควรจะตรวจตรามองรอบ ๆ รถว่ามีผู้ไม่ได้รับเชิญคนไหนแฝงตัวอยู่ในรถหรือไม่ ยางรถยังอยู่ในสภาพพร้อมขับขี่หรือไม่ โดยเฉพาะรถที่ใช้ระบบเซ็นทรัลล็อกระบบจะทำงานพร้อมกันทุกประตู เจ้าของรถจะต้องระวังว่าไม่มีใครซุ่มคอยวิ่งตามขึ้นรถมาด้วย และเมื่อขึ้นรถแล้วควรล็อกประตูให้เรียบร้อยเพื่อความแน่ใจว่าจะไม่มีใครมากระชากประตูรถและเข้ามาในรถได้

วิธีป้องกันแก๊งค์ปาหินใส่รถยนต์

          ให้สังเกตท้องถนนว่ามีรถจักรยานยนต์ขี่สวนทางมายังรถเราหรือไม่ หากมีควรจะชะลอความเร็วและเปลี่ยนช่องการจราจรให้ออกห่างจากรถจักรยานยนต์คันดังกล่าวให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ถ้าหากไม่สามารถกระทำได้ให้ใช้วิธีการชะลอความเร็วให้เหลือเพียง 40-60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พร้อมกับเปิดสัญญาณไฟกระพริบเพื่อเตือนรถที่ตามหลังมาว่ารถของเรากำลังชะลอตัว เหตุที่ให้ชะลอความเร็วเนื่องจากว่าความเร็วยิ่งช้าเท่าไหร่ความแรงของก้อนหินที่มากระทบรถของเราก็จะยิ่งน้อยลง

          หากรถของเราได้รับอุบัติเหตุจากการถูกหินปาแล้ว พยายามประคองรถโดยอย่าหยุดรถในทันทีเพราะคนร้ายอาจจะตามมาปล้นทรัพย์ฯ ได้ และให้โทรศัพท์แจ้งตำรวจ 191 หรือ หน่วยกู้ภัย 1669

การเดินทางโดยใช้เรือ

          หากใช้บริการด้วยเรือการแต่งกายควรแต่งกายให้มีความทะมัดทะแมง สุภาพสตรีควรหลีกเลี่ยงการใส่รองเท้าส้นสูง อย่าพยายามถือของพะรุงพะรัง และอยู่ให้ห่างจากกองเชือก สายสมอเรือ เมื่อขึ้นเรือแล้วพยายามอย่ายืนแถวกาบเรือ อย่าจับกาบเรือ เพราะหากเรือเข้าเทียบท่าหรือเทียบกับเรืออื่น มืออาจจะโดนกระแทกได้ และเมื่ออยู่ในเรือเวลาค่ำคืน ควรใส่เสื้อสีขาวหรือสีสด อย่าใส่เสื้อสีคล้ำหรือดำ เพราะหากเกิดอุบัติเหตุและพลัดตกน้ำผู้ช่วยเหลือจะมองเห็นได้โดยง่าย และที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มมึนเมา

การเดินทางโดยเครื่องบิน

           ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสายการบินโดยเคร่งครัด 

           ฟังและชม คำแนะนำของแอร์โฮสเตสทุกครั้ง 

           สำรวจเข็มขัดนิรภัย โดยทดลองใส่เข้าและถอดออก เพื่อความมั่นใจว่าเข็มขัดนิรภัยสามารถใช้งานได้ 

           ไม่ควรเดินไปมาบนเครื่องบินหากไม่มีความจำเป็น
 
           สังเกตประตูทางออกฉุกเฉินในขณะอยู่บนเครื่องบิน ควรสังเกตและจดจำจุดสำคัญต่าง ๆ 

          นิตยสารป็อปปูลาร์ มาแคนนิกส์ (The Popular Mechanics) วิจัยโดยการวิเคราะห์ทางสถิติไว้ว่า ที่นั่งบนเครื่องบิน...นั่งด้านไหนปลอดภัยกว่า โดยการวิจัยได้รวบรวมสถิติอุบัติสารพัดที่เกิดขึ้นกับสายการบินมาวิเคราะห์ว่ามีผู้โดยสารได้รับความเสียหายทั้งในชีวิตและทรัพย์สินอยู่ในช่วงใดของลำตัวเครื่องบิน จากการวิเคราะห์ได้แบ่งเครื่องบินออกเป็น 4 ส่วน (ดังภาพ) 



          สีเขียวเป็นส่วนที่ 1 เรียกว่าห้องผู้โดยสารส่วนท้าย (Rear Cabin) คือส่วนที่มีโอกาสรอดถึง 69% 

          สีเหลืองเป็นส่วนที่ 2 และ 3 ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ห้องผู้โดยสารที่บริเวณปีกและปีกหน้า มีอัตราการรอดชีวิต 56% 

          สีแดงเป็นส่วนที่ 4 เรียกว่าห้องผู้โดยสารชั้นหนึ่งและชั้นธุรกิจ (First/Business Class) มีโอกาสรอดชีวิตเพียง 49% และถ้านั่งอยู่แถวหน้าของชั้นนี้โอกาสรอดชีวิตจะยิ่งต่ำลง 
 
แจ้งเหตุฉุกเฉิน ศูนย์บริการแจ้งเหตุฉุกเฉิน เหตุด่วน เหตุร้าย

            แจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย
หมายเลข 191, 123 

            ตำรวจท่องเที่ยว หมายเลข 1155 

            ตำรวจทางหลวง หมายเลข 1193 

            ศูนย์ควบคุมการจราจร หมายเลข 1197 

            เหตุฉุกเฉิน อาชญากรรม กองปราบปราม หมายเลข 1195 

            ศูนย์ส่งกลับและรถพยาบาล รพ.ตำรวจ หมายเลข 1691, 0-2255-1133-6 

            แจ้งเหตุทางน้ำ กองบัญชาการตำรวจ หมายเลข 1196

            แจ้งเหตุด่วนทางน้ำ ศูนย์ความปลอดภัยทางน้ำ หมายเลข 1199 

            แจ้งเหตุเพลิงไหม้ ศูนย์ดับเพลิงศรีอยุธยา หมายเลข 199 

            แจ้งเจ็บป่วยฉุกเฉิน ศูนย์นเรนทร หมายเลข 1669 

            ศูนย์กู้ชีพ "นเรนทร" หมายเลข 0-2354-8222 

            ศูนย์ประสานงานฉุกเฉิน 24 ชม. หมายเลข 0-2226-4444 

            สายด่วนแจ้งเหตุธารณภัยตลอด 24 ชม. หมายเลข 1784 

            หน่วยแพทย์กู้ชีวิต วชิรพยาบาล หมายเลข 1554 

            หน่วยกู้ชีพ วชิรพยาบาล หมายเลข 4010, 4121 

            สถานีวิทยุชุมชน ร่วมด้วยช่วยกัน หมายเลข 1677 

            สถานีวิทยุ จส.100  หมายเลข 1137, 0-2711-9151-8 

            ศูนย์วิทยุบูรพา หมายเลข  0-2246-0999 

            ศูนย์วิทยุชุมชน หมายเลข 0-2455-0088




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แนะนำดูแลความปลอดภัยชีวิต - ทรัพย์สินในปีใหม่ อัปเดตล่าสุด 28 ธันวาคม 2553 เวลา 10:27:18 3,581 อ่าน
TOP