x close

สภาสูงร่วมวงคว่ำสูตร 375:125


สภา



สภาสูงร่วมวงคว่ำสูตร375:125 (ไทยโพสต์)

          สภาสูงผนึกกำลังพรรคร่วมรัฐบาลจ้องคว่ำ 375+125 รองประธานวุฒิฯ เผยแนวร่วมเอาด้วยแล้ว 50 เสียง เพื่อแผ่นดินแฉพรรคใหญ่จ้องเร่ขายเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อันดับดี ๆ ไม่ต่ำกว่าเบอร์ 20 เอาไป 30-40 ล้าน เอแบคโพลล์เผยคนยังพร้อมขายเสียง

          นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา และ ส.ว.ฉะเชิงเทรา กล่าวถึงการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่จะเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาว่า ส.ว.เลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 50 คน พร้อมใจจะสนับสนุนการแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 ต่อ 100  เพราะเห็นว่าสูตร 375 ต่อ 125 ทำให้จำนวนเขตเลือกตั้งในภาคเหนือและภาคอีสานหายไป  อีกทั้งยังเป็นการรอนสิทธิ์ของประชาชนอีกด้วย โดยเฉพาะการแบ่งสัดส่วนตามจำนวนประชากร เขต 1.5 แสนคนต่อ 1 เขต มีความถูกต้องอยู่แล้ว การไปเพิ่มตามสัดส่วน 375 ต่อ 125 คือ 1.7 แสนคนต่อ 1 เขต จึงไม่สมเหตุสมผลตามข้อมูลและสถิติ และข้ออ้างที่ว่าต้องการเพิ่มสัดส่วนผู้มีความรู้หรือนักวิชาการก็ควรไปจัดอยู่ในจำนวน 125 เสียง เห็นว่าเอาไปไว้ในระบบปาร์ตี้ลิสต์ก็เหมาะสมแล้ว

          "ขณะนี้มีการคุยในส่วนของ ส.ว.สายเลือกตั้งและพรรคร่วมรัฐบาลแล้ว ยกเว้นพรรคประชาธิปัตย์ เห็นชอบกับแนวทางสูตร 400 ต่อ 100 เสียง แต่ยอมรับว่าหากประชาธิปัตย์ไม่เห็นด้วยก็จะผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญไม่ได้ ยกเว้นพรรคเพื่อไทยไม่ร่วมโหวตด้วย แต่ก็ขึ้นอยู่กับมติของพรรคนี้ต่อไปว่าจะดำเนินการอย่างไร" รองประธานวุฒิสภากล่าว

          ว่าที่ ร.ต.ไพโรจน์ สุวรรณฉวี แกนนำพรรคเพื่อแผ่นดิน กลุ่ม 3 พี กล่าวในเรื่องเดียวกันว่า ประชาชนเห็นด้วยกับสูตร 400+100  ถ้าไปเปลี่ยนสูตรเป็น 375+125 จะสับสน มีการประมูลเก้าอี้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เพื่อให้ตัวเองอยู่ในอันดับไม่เกินที่ 20 จ่าย 20-30 ล้าน แรงยิ่งกว่าผู้สมัครระบบเขตไปซื้อเสียงในพื้นที่ 

          "พวกบัญชีรายชื่อหิ้วกระเป๋าเจมส์บอนด์มาถามพรรคการเมืองจ่าย 30 ล้านไม่เกินนี้เอาหรือไม่ มันเหมือนประมูลเก้าอี้ ส.ส. ประชาชนเอาสูตร 400+100 ทั้งนั้น บางพรรคการเมืองบอกประชาชนต้องมาก่อน แต่พอมาสูตรการเลือกตั้งบอกพรรคข้าต้องมาก่อน อย่างนี้มันก็ค่อนข้างจะลำบาก ก็กลายเป็นว่าใครได้ประโยชน์ก็จะเอาแบบนั้น" แกนนำพรรคเพื่อแผ่นดินระบุ

          นายไพโรจน์กล่าวต่อว่า พรรคเพื่อแผ่นดินยืนยัน 400+100 อย่าให้เอาระบบบัญชีรายชื่อเพื่อนำไปเร่ขายเก้าอี้ เอาเงินมาใส่พรรค พรรคใหญ่ก็จะนำเก้าอี้เหล่านี้ไปเร่ขายเก้าอี้ละ 30 - 40 ล้าน ก็ยิ่งได้เปรียบพรรคเล็ก ส่วนความขัดแย้งเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะนำไปสู่การยุบสภาหรือไม่ ทั้งหมดอยู่ที่นายกรัฐมนตรี ถ้าขัดแย้งกันแค่ในเรื่อง 400+100 หรือ 375+125 แล้วยุบสภา จะทำให้เสียความชอบธรรม และคิดว่าเป็นเรื่องที่น่ารังเกียจ

          ส่วนความคืบหน้าในการรวมพรรคเพื่อแผ่นดินกับพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา นายไพโรจน์กล่าวว่า คนโคราชอยากจะให้มีการรวมกัน แต่ยังมีหลายประเด็นที่กำลังพูดคุยกันอยู่

          "ณ วันนี้ พรุ่งนี้การรวมกันคงยากลำบาก เพราะพรรครวมชาติพัฒนาอยู่ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล แต่พรรคเพื่อแผ่นดินอยู่ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน ก็อยากให้โคราชได้เป็นจังหวัดที่เป็นเมืองหลวงของภาคอีสาน แต่ปัจจัยทางการเมืองจะเอาแน่นอนมันก็ไม่ชัดเจน จนกว่าจะถึงวันที่มีการยุบสภาถึงจะชัดเจน รวมถึงชื่อพรรคด้วย"

          นายสุริยะใส กตะศิลา เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ กล่าวเช่นกันว่า พรรคการเมืองใหม่เห็นว่าปัญหาเรื่องสูตรและสัดส่วนของระบบเลือกตั้งที่ยังไม่ลงตัว เป็นเพียงปาหี่ในพรรคร่วมรัฐบาล โดยเชื่อว่า ปัญหานี้จะไม่บานปลายจนกลายเป็นความแตกแยกในรัฐบาล เพราะสุดท้ายก็จะสามารถเจรจาและไกล่เกลี่ยผลประโยชน์กันได้ในที่สุด เฉกเช่นกรณีรถเมล์เอ็นจีวี หรือกรณีแต่งตั้งโยกย้ายในกระทรวงมหาดไทย เป็นต้น

          นายสุริยะใสกล่าวอีกว่า เรื่องนี้ยังสะท้อนชัดเจนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยนักการเมืองที่ต้องการแค่ผลประโยชน์และส่วนได้เสียของนักการเมืองเท่านั้น ไม่เกี่ยวข้องหรือเป็นประโยชน์กับประชาชนอย่างแท้จริง เพราะไม่ว่าสัดส่วนของ ส.ส.ทั้ง 2 รูปแบบจะใช้สูตร 400 ต่อ 100 หรือ 375 ต่อ 125 ก็ตาม ไม่ได้มีหลักประกันใด ๆ ว่าตัวแทนของกลุ่มผลประโยชน์ คนด้อยโอกาสในสังคม จะได้รับโอกาสเข้ามามีที่นั่งในสภาแต่อย่างใด และปัญหาสำคัญที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขคือการทุจริตเลือกตั้ง และคุณภาพของ ส.ส. ที่ยังไม่สามารถสะท้อนความแตกต่างระหว่างผู้แทนที่มาจากระบบบัญชีรายชื่อหรือระบบเขตแต่อย่างใด

          เลขาธิการพรรคการเมืองใหม่ยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า ความขัดแย้งเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นในช่วงนี้เป็นแค่ฉากกลบข่าวความไม่เอาไหนของรัฐบาลไทยกรณีช่วยเหลือ 7 คนไทยที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีอย่างไม่เป็นธรรมจากทางการกัมพูชาในขณะนี้ ซึ่งสภาควรเร่งพิจารณาร่างกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประชาชนโดยตรงจะเหมาะสมกว่า โดยเฉพาะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่ยังไม่ได้ตราขึ้นอีกนับร้อยฉบับ รวมทั้งการปรับปรุงกฎหมายเดิมที่ใช้มาหลายสิบปี ซึ่งมีเนื้อหาสาระที่ขัดแย้งหรือไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันอีกจำนวนมาก

          นายนพดล กรรณิกา ผอ.สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจเรื่อง พฤติกรรมการรับเงินซื้อเสียง และจุดยืนทางการเมืองของสาธารณชน กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน 18 จังหวัด จำนวน 2,604 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 8-15 ม.ค.54 พบว่า ประชาชนที่ถูกศึกษา 53.2% จะรับเงินซื้อเสียง และ 40.2% ไม่รับ และ 6.6 % ไม่แน่ใจ และพบว่าสัดส่วนผู้ชายของผู้ที่ตั้งใจจะรับเงินซื้อเสียงมากกว่าหญิง

          เมื่อจำแนกประเด็นพฤติกรรมการจะรับเงินซื้อเสียงตามระดับรายได้ส่วนตัวของประชาชน พบว่า ผู้มีรายได้น้อยมีจำนวนของผู้ที่ตั้งใจจะรับเงินซื้อเสียงมากกว่าผู้มีรายได้สูง โดยพบว่า 55.5% เป็นผู้มีรายได้ไม่เกิน 5,000 บาท, 55% เป็นผู้มีรายได้ 15,001-20,000 บาท, 53.7% เป็นผู้มีรายได้ 5,001-10,000 บาท, 52.8% เป็นผู้มีรายได้ 10,001 - 15,000 บาท และ 40.5% เป็นผู้มีรายได้มากกว่า 20,000 บาท


          ขณะที่เมื่อจำแนกกลุ่มตัวอย่างออกตามภูมิภาคต่าง ๆ พบว่า 69.6% ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีสัดส่วนของผู้ที่ตั้งใจจะรับเงินซื้อเสียงมากที่สุด รองลงมาคือกรุงเทพฯ ส่วนในภาคเหนือ ภาคใต้ และภาคกลาง มีสัดส่วนใกล้เคียงกัน



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สภาสูงร่วมวงคว่ำสูตร 375:125 อัปเดตล่าสุด 17 มกราคม 2554 เวลา 17:07:34 3,794 อ่าน
TOP