x close

นักวิชาการค้านตรึงดีเซล ชี้ไร้ประโยชน์

น้ำมัน ราคาน้ำมัน




ค้านตรึงดีเซล ชี้ไร้ประโยชน์ ดึงกฟผ.อุ้มไฟ (ไทยโพสต์)

          นักวิชาการติงนโยบายตรึงดีเซลไร้ประโยชน์ หากครบวงเงิน 5 พันล้าน ควรปล่อยตามต้นทุนแท้จริง เพราะน้ำมันขาขึ้นจ่อ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ชี้ 32 บาท/ลิตร เหมาะสมกว่า  "บางจาก" จี้ กบง.เร่งพิจารณาก่อนผู้ค้ารับไม่ไหว แนะชดเชยครั้งละไม่เกิน 1.50 บาท/ลิตร เพื่อความรวดเร็ว ด้านเรกูเลเตอร์แย้มดึง กฟผ.อุ้มค่าไฟ ภาคอุตสาหกรรม หากต้องเกลี่ยมาช่วย 90 หน่วยฟรี

          นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านน้ำมัน เปิดเผยเมื่อวันจันทร์นี้ว่า ราคาน้ำมันดิบมีทิศทางขาขึ้นตลอดทั้งปี 2554 เนื่องจากมีหลายปัจจัย ทั้งภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มปรับตัวดีขึ้น ภาวะความผันผวนของค่าเงิน การเก็งกำไรในน้ำมัน ที่สำคัญสต็อกน้ำมันดิบลดลง เพราะกลุ่มสมาชิกผู้ผลิตน้ำมันโลก (โอเปก) ส่งสัญญาณไม่เพิ่มอัตราการผลิต และต้องการเห็นระดับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ดังนั้น รัฐควรปรับเพดานการตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตรเป็น 32-33 บาทต่อลิตร และหากหมดวงเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่กันไว้ 5,000 ล้านบาทในการดูแลแล้ว ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดโลก
     
          "การตรึงราคาดีเซลของรัฐบาลเปรียบเหมือนการต่อสู้กับค่าเงิน ซึ่งท้ายสุดไม่ได้อะไร มีแต่สูญเสียเพราะราคาน้ำมันตลาดโลกมีแต่ปรับขึ้น กรณีดีเซลเกิน 30 บาทต่อลิตร จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจเป็นตัวเลขเมื่อ 2 ปีที่แล้ว แต่เงินเฟ้อและเศรษฐกิจปีนี้ต่างกัน ตัวเลขต้องปรับใหม่และควรตรึงไว้ไม่ให้เกิน 32 บาทต่อลิตร น่าจะเหมาะสมกว่า และไม่เห็นด้วยถ้าหมด 5,000 ล้านบาทในการตรึงดีเซลแล้วจะไปเอาภาษีสรรพสามิตน้ำมันมาลด ซึ่งก็เปล่าประโยชน์เพราะเวลานี้คนต่างจังหวัดใช้ราคาเกิน 30 บาทต่อลิตรไปแล้ว" นายมนูญกล่าว
    
          ล่าสุด ราคาน้ำมันดิบตลาดเบรนต์ ลอนดอน ในสัปดาห์นี้มีโอกาสปรับขึ้นไปแตะระดับ 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลได้ระหว่างการซื้อขาย เนื่องจากสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาขยับไปอยู่ที่ 99.20 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล 
     
          นายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บางจากปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่าการตลาดกลุ่มดีเซลขณะนี้เหลือเพียง 1.20 บาทต่อลิตร คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) จึงควรเร่งนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาช่วยเหลือ เพื่อไม่ให้ราคาดีเซลปรับขึ้นเกิน 30 บาทต่อลิตร เพราะกลไกของ กบง.ประชุมช้า ทำให้ผู้ค้ารับภาระนาน จึงควรใช้วิธีเดิมในอดีตที่ให้อำนาจ รมว.พลังงานเป็นผู้เห็นชอบการชดเชยในวงเงินครั้งละไม่เกิน 1.50 บาทต่อลิตร เพื่อความรวดเร็ว ซึ่งแนวทางนี้ผู้ค้าน้ำมันจะไม่ต้องรับภาระขาดทุน และทั้งประชาชนจะได้รับผลดีจากนโยบายของรัฐ

          "รัฐบาลควรปล่อยให้ราคาดีเซลในประเทศปรับขึ้นตามต้นทุนที่แท้จริง เพราะหากดูแนวโน้มราคาน่าจะอยู่ในเกณฑ์ 31-32 บาทต่อลิตร ซึ่งไม่กระทบต่อภาคขนส่งมากนัก หากดูรถบรรทุกหรือรถโดยสาร ส่วนใหญ่ปรับเปลี่ยนเชื้อเพลิงไปใช้แอลพีจีและเอ็นจีวีเกือบหมดแล้ว จึงไม่น่าจะกระทบต่อราคาสินค้า" นายอนุสรณ์ กล่าว
    
          ด้านนายกวิน ทังสุพานิช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) กล่าวถึงนโยบายให้ผู้ใช้ไฟฟ้าขนาดไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือนฟรี ตามนโยบายประชาวิวัฒน์ว่า ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าจะใช้แนวทางคิดค่าไฟฟ้าจากภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น เพื่อเกลี่ยไปช่วยภาคครัวเรือนหรือไม่ อย่างไร เพราะต้องดูว่าจะคิดจากอุตสาหกรรมในภาคธุรกิจใดจากทั้งหมด 8 ธุรกิจหลัก หรือเหมารวมหมด ซึ่งรวมธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ด้วย

          ทั้งนี้ หากเกลี่ยหมดทุกภาคจะทำให้ค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เพิ่มขึ้น 10 สตางค์ต่อหน่วย แต่ถ้าแยกเกลี่ยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมจะทำให้มากกว่านั้น จึงต้องรอดูนโยบายจากรัฐบาลก่อนว่าจะอุดหนุนไหวหรือไม่ เพราะภาคอุตสาหกรรมใช้ไฟฟ้าคิดเป็น 60% ของการใช้ไฟฟ้าทั้งหมด

          "นโยบายของเรกูเลเตอร์ ต้องดูแลการใช้ไฟฟ้าไม่ให้กระทบต่อทุกภาคส่วน ซึ่งก็ต้องดูด้วยว่าคนช่วยดูแลรับภาระได้หรือไม่ เช่น กฟผ.ที่ก่อนหน้านี้บอกว่าสามารถรับได้ไม่เกิน 2 หมื่นล้านบาท ยังต้องดูทิศทางราคาเชื้อเพลิงด้วย เพราะหากปรับขึ้นค่าเอฟทีทีเดียวจะซ้ำเติมภาคอุตสาหกรรมเกินไป อาจทยอยปรับขึ้นเหมือนที่ผ่านมาเพื่อไม่ให้กระทบมากนัก" นายกวิน กล่าว
     
          ด้านนายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในวันที่ 24 ม.ค.เกี่ยวกับผลกระทบของการลอยตัวราคาก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) และการขึ้นค่าไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรม โดยขอให้ ส.อ.ท. รวบรวมข้อมูลและผลกระทบมาเสนอ เพื่อหาแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี

          "รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนว่าจะลอยตัวราคาแอลพีจีภาคอุตสาหกรรม หลังตรึงราคามานาน ทำให้ภาคอุตสาหกรรมต้องปรับตัวรับต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งต้องมาหารือกันว่าอุตสาหกรรมใดบ้างที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่จะต้องหาทางช่วยลดต้นทุน แต่คงไปช่วยเรื่องราคาไม่ได้" นายชัยวุฒิ กล่าว

          รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่า ส่วนการขึ้นค่าไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมไม่น่าจะส่งผลกระทบกับต้นทุนผู้ประกอบการมากนัก เพราะภาคอุตสาหกรรมใช้ไฟฟ้าสูงกว่าครัวเรือนอยู่แล้ว





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักวิชาการค้านตรึงดีเซล ชี้ไร้ประโยชน์ อัปเดตล่าสุด 18 มกราคม 2554 เวลา 16:23:04 5,740 อ่าน
TOP