เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
หลังเปิดช่องทางพิเศษให้ยื่นภาษีทางอินเทอร์เน็ต ล่าสุดกรมสรรพากรเพิ่มมาตรการลดหย่อนภาษีใหม่ หวังช่วยลดภาระผู้เสียภาษี
นางจิตรมณี สุวรรณพูล รองอธิบดีกรมสรรพากรในฐานะโฆษกกรมสรรพากร กล่าวว่า ในการยื่นแบบฯ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี ภ.ง.ด.90 และ ภ.ง.ด.91 ของปี 2553 นั้น อยากให้ผู้เสียภาษีตรวจสอบรายละเอียดให้ถี่ถ้วนก่อน ว่าได้กรอกรายการต่าง ๆ ตรงตามสิทธิและเงื่อนไขที่ตนควรได้รับหรือไม่ เพราะทางกรมสรรพากรได้ออกมาตรการลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม บางข้อหากกรอกรายละเอียดไม่ครบ นอกจากทำให้การยื่นภาษีเป็นไปอย่างล่าช้าแล้ว ผู้เสียภาษีอาจเสียผลประโยชน์ตามสิทธิที่มีอีกด้วย
สำหรับในปีภาษี 2553 มีมาตรการภาษีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อน ซึ่งมีผลต่อการคำนวณภาษี ดังนี้
1. ผู้เสียภาษี สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 8 มิถุนายน 2553 – วันที่ 31 ธันวาคม 2553 มาหักค่าลดหย่อนได้ตามที่ได้จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15,000 บาท โดยค่าใช้จ่ายที่สามารถนำมาลดหย่อน เช่น เงินที่จ่ายเป็นค่าบริการให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว หรือค่าใช้จ่ายเป็นค่าที่พักโรงแรมในประเทศ
2. ในกรณีที่ผู้เสียภาษีต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต สามารถนำมาลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม ได้ดังนี้
2.1 กรณีที่ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิต สำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตแบบบำนาญ ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีตามที่จ่ายจริงจำนวนไม่เกินร้อยละ 15 ของเงินได้พึงประเมินแต่ไม่เกิน 2 แสนบาท
2.2 กรณีมีการจ่ายสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เงินได้จ่ายค่าซื้อหน่วยลงทุน กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เงินได้ที่ได้รับยกเว้น เมื่อรวมเงินได้จากเบี้ยประกันภัย แบบบำนาญ หลังจากใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินจากเบี้ยประกันชีวิตอื่นแล้วต้องไม่เกิน 5 แสนบาท
3. มาตรการภาษีให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ระหว่างวันที่ 1 กันยายน ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 มีดังนี้
3.1 สำหรับบุคคลธรรมดาที่มีการบริจาค เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยบริจาคผ่านตัวแทนรับบริจาคที่เป็นบริษัทหรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล หรือนิติบุคคลอื่น เช่น สถาบันการเงิน บริษัทมหาชน จำกัด สถานีโทรทัศน์ พรรคการเมือง องค์การของรัฐ และรัฐวิสาหกิจ ฯลฯ ผู้บริจาคสามารถนำจำนวนเงินที่บริจาคมาหักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้ เมื่อรวมกับการบริจาคอื่นต้องไม่เกินร้อยละ 10 ของเงินได้สุทธิ
3.2 สำหรับกรณีที่ผู้ประสบภัยเป็นบุคคลธรรมดา ได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ 3 ส่วนคือ
- ตามเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (5) ถึง (8) แห่งประมวลรัษฎากร ที่ได้ลงทะเบียนไว้กับศูนย์หรือหน่วยงานให้ความช่วยเหลือของทางราชการ เป็นจำนวนเท่าจำนวนความเสียหาย
- เงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการบริจาค หรือชดเชย ที่มีมูลค่าไม่เกินความเสียหาย
- เงินชดเชยที่ได้รับจากภาครัฐ
4. สำหรับคนพิการ ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ ต้องมีอายุไม่เกิน 65 ปีบริบูรณ์ในปีภาษีที่ได้รับเงินได้ฯ ได้รับยกเว้นเงินได้ 19,000 บาท ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 เป็นต้นไป
สำหรับมาตรการภาษีใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนนั้น หากผู้เสียภาษีท่านใดมีข้อสงสัยสามารถโทรมาที่
ศูนย์ Call Center หมายเลข 1161
ในวันจันทร์ - วันศุกร์ ตั้งแต่เวลา 08.30 - 18.00 น.
หรือจะเข้ามาตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่
www.rd.go.th ในหัวข้อ "ความรู้เรื่องภาษี"
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
กรรมสรรพากร