x close

แรงงานไทยในลิเบียทยอยกลับ แฉ 3 คนไทยถูกยิง

คนไทยในลิเบีย


สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก รายการเรื่องเล่าเช้านี้ และ ไทยโพสต์

          วันนี้ (6 มีนาคม) นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า มีแรงงานไทยในลิเบียทยอยเดินทางกลับอีก จำนวน 618 คน รวม 7 เที่ยวบิน โดยทยอยเดินทางมาถึงแล้ว ตั้งแต่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา เวลา 06.30 น. จำนวน 101 คน เวลา 08.00 น. จำนวน 54 คน และเวลา 08.40 น. จำนวน 112 คน

          อย่างไรก็ตาม คาดว่าในวันนี้จะมีแรงงานไทย เดินทางกลับมาเกิน 618 คน เพราะยังไม่รวมเที่ยวบินที่ไม่อยู่ในตารางบิน ที่กระทรวงการต่างประเทศประสานมา โดยเมื่อแรงงานเดินทางมาถึง เจ้าหน้าที่จะนำเอกสารเรื่องการรับเงินชดเชยไปให้กรอกข้อมูล และการชี้แจงเรื่องสิทธิประโยชน์ ขั้นตอนต่าง ๆ และการเรียกร้องเงินที่ค้างจ่าย เพื่อมาติดต่อรับเงินกับสำนักงานจัดหางานภายในจังหวัดนั้น ๆ ขณะที่วันนี้จะจ่ายเงินค่าเดินทางกลับรายละ 1,500 บาท ทันที โดยเริ่มจ่ายไปแล้วตั้งแต่เมื่อวานนี้

          ขณะเดียวกัน แรงงานไทยที่ไปทำงานในประเทศลิเบียรายหนึ่ง เปิดใจว่ารู้สึกดีใจที่ได้กลับประเทศไทย และไม่คิดจะกลับไปประเทศลิเบียอีกแล้ว เพราะสถานการณ์ที่ประเทศลิเบีย ยังมีการสู้รบกันอย่างรุนแรงมาก ถึงแม้ว่าแคมป์ของตนไม่ถูกเผาทำลาย แต่แคมป์อื่นมีคนไทยถูกยิงที่แขนและขา 2–3 คน แต่ไม่เสียชีวิต ตนกลับมาแบบหมดตัวจริง ๆ เนื่องจากถูกปล้นไปหมด แถมค่าแรงอีก 3 เดือน คิดเป็นเงินไทยกว่า 4 หมื่นบาท ก็ยังไม่ได้รับ กลับบ้านก็ยังมีหนี้สินอีกเกือบสองแสนยังไม่มีปัญญาไปใช้หนี้เลย

ข่าวลิเบีย ประท้วงลิเบีย



449 แรงงานไทยใน ลิเบีย ชุดที่ 2 ถึงไทยแล้ว

          แรงงานไทยในลิเบีย ชุดที่ 2 จำนวน 449 คน เดินทางกลับถึงเมืองไทย อย่างปลอดภัยแล้ว

          นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมจัดหางาน กล่าวว่า แรงงานไทยชุดที่ 2 จากลิเบีย ได้เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว จำนวน 449 คน โดย นายสุเมธ มโหสถ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน เดินทางไปรับที่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยแรงงานชุดนี้เดินทางกลับมาโดยนายจ้าง เป็นคนดำเนินการทั้งหมด ขณะที่อีกชุดจะเดินทางมาถึงในเวลา 14.00 น. และ 18.30 น. ของวันนี้ (27 กุมภาพันธ์)

          ขณะที่ นายสุเมธ มโหสถ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ชี้แจงกรณีแรงงานไทยจากลิเบีย ยังไม่ได้รับเงินช่วยเหลือ หลังจากลงจากเครื่องบินแล้วว่า เงินจำนวนดังกล่าว เป็นเงินจากกองทุนช่วยเหลือแรงงานในต่างประเทศ ซึ่งจะจ่ายตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด โดยลักษณะดังกล่าว เข้าหลักเกณฑ์การขาดรายได้ โดยแรงงานจะได้รับเงินช่วยเหลือ รายละ 15,000 บาท โดยยืนยันว่าเรื่องนี้ไม่มีปัญหา เพราะแรงงานทุกคนได้ลงทะเบียนไว้แล้ว แต่ในวันนี้อยากให้แรงงานกลับบ้านไปพบกับครอบครัวก่อน ส่วนเงินทางกองทุนจะจัดสรรตามไปให้ทีหลัง

          อย่างไรก็ตาม ทางกองทุน เตรียมขออนุมัติเงินเพิ่มจากรัฐบาล เพราะขณะนี้กองทุนมีเงินอยู่จำนวน 700 ล้านบาท สำหรับแรงงานที่ไปทำงานในต่างปรเทศทั่วโลก ซึ่งเกรงว่าจะไม่เพียงพอ เพราะแรงงานที่เดินทางกลับจากลิเบีย มีเป็นจำนวนมาก ส่วนกรณีที่แรงงานเดินทางกลับมา ยังไม่ถือว่าหมดสัญญา เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ทางกระทรวงแรงงานจะประสานนายจ้าง ให้รับแรงงานกลับไปทำงานต่อ เพราะยังมีสัญญาอยู่

          ทั้งนี้ มีรายงานว่ายังมีแรงงานไทย ตกค้างอยู่ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ จำนวน 300 คน เพื่อเรียกร้องให้กองทุนจ่ายเงินดังกล่าว

          สำหรับสถานการณ์ในประเทศลิเบีย หลังจากที่ พ.อ.มูฮัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย  ปรากฏตัวขึ้นที่จตุรัสกรีนสแควร์ พร้อมทั้งปลุกระดมให้กลุ่มผู้สนับสนุนตนเอง จับอาวุธขึ้นต่อสู้กับกลุ่มผู้ประท้วง ซึ่งเป็นการปรากฏตัวเป็นครั้งที่ 3 พร้อมประกาศเปิดคลังอาวุธ ให้กองกำลังและกลุ่มสนับสนุนใช้ในการต่อสู้กับกลุ่มต่อต้านนั้น

          ล่าสุดคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ หรือ UNSC เปิดประชุมฉุกเฉิน เพื่อหารือเรื่องมาตรการคว่ำบาตรประเทศลิเบีย หลัง พ.อ.มูฮัมมาร์ กัดดาฟี สังหารประชาชนไปแล้วกว่า 1,000 ราย โดยที่ประชุมมีมติคว่ำบาตรในทุก ๆ ด้าน รวมถึงการเดินทางออกนอกประเทศ กับ พ.อ.มูฮัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย, สมาชิกภายในครอบครัวทั้ง 9 คน และผู้ใกล้ชิดอีก 6 คน รวมถึงการอายัดทรัพย์สินของ กัดดาฟี บุตรชายคนโต และคนในครอบครัวอีก 4 คน รวมถึงถึงการสั่งห้ามส่งอาวุธไปยังลิเบียอีกด้วย

          ขณะเดียวกัน มีการเปิดเผยว่า การประชุมครั้งนี้ อาจจะมีการส่งเรื่องให้ศาลอาชญากรระหว่างประเทศ  (ICC) ที่ กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพื่อสอบสวนเหตุการณ์การสังหารประชาชนกว่า 1,000 ราย ว่าเป็นการเข้าข่ายการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์หรือไม่ และการประชุมครั้งนี้ ไม่มีการพูดถึงรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งกองกำลังนานาชาติ เข้าไปยังประเทศลิเบีย รวมทั้งการกำหนดเขตห้ามบินแต่อย่างใด

          ทางด้านผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองของลิเบีย ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า กลุ่มสนับสนุน พ.อ.มูฮัมมาร์ กัดดาฟี ที่จตุรัสกรีนสแควร์ เป็นกลุ่มที่จงรักภักดีต่อ พ.อ.มูฮัมมาร์ กัดดาฟี อย่างแท้จริง เพราะมีผลประโยชน์ร่วมกัน และเชื่อว่าหากผู้นำลิเบียสูญเสียอำนาจ ก็จะส่งผลกระทบถึงพวกตนเองเช่นกัน

 
ข่าวลิเบีย ประท้วงลิเบีย

ข่าวลิเบีย ประท้วงลิเบีย



[26 กุมภาพันธ์] แรงงานไทยในลิเบียชุดแรก 33 คนถึงไทยแล้ว

          แรงงานไทยชุดแรก ที่หนีภัยความไม่สงบ ในประเทศลิเบียจำนวน 33 คน เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้ว ด้านลิเบียยังวุ่น กัดดาฟีประกาศเตรียมเปิดคลังแสงติดอาวุธ ให้กลุ่มผู้สนับสนุน ร่วมกันจัดการผู้ก่อความไม่สงบ

          เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ( 26 กุมภาพันธ์) แรงงานไทยในประเทศลิเบียชุดแรก จำนวน 33 คน เดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิแล้ว ด้วยสายการบินกาตาร์แอร์เวย์เที่ยวบินที่ QR 612 โดยมีนายยุพ นานา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงแรงงาน และนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ อธิบดีกรมการจัดหางานเดินทางมารับ

          ทันทีที่แรงงานมาถึง ทั้งหมดได้ยื่นคำร้องรับเงินจากกองทุน เพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานต่างประเทศจำนวนคนละ 15,000 บาท ซึ่งแรงงานต้องเดินทางไปรับที่สำนักจัดหางานจังหวัด ตามภูมิลำเนาของตัวเอง จากนั้นทางกรมการจัดหางาน ได้จัดเตรียมรถตู้ไว้ จำนวน 4 คัน เพื่อจัดส่งแรงงานไปยังสถานีขนส่งหมอชิต หัวลำโพง และสายใต้ เพื่อให้แรงงานเดินทางกลับภูมิลำเนา สำหรับแรงงานที่ไม่มีความประสงค์จะเดินทางกลับ ทางกรมจัดหางาน ได้จัดเตรียมที่พัก ที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ภาค 1 จ.สมุทรปราการ

          ขณะที่สถานการณ์ในประเทศลิเบีย ล่าสุด สถานีโทรทัศน์ของทางการลิเบีย ได้แพร่ภาพพันเอกโมอัมมาร์ กัดดาฟี่ ผู้นำลิเบีย ที่ปรากฏตัวที่กรีน สแควร์ หรือจัตุรัสสีเขียว ในกรุงตริโปลี เมื่อวันศุกร์ พร้อมประกาศว่า จะจัดการกลุ่มผู้คัดค้านให้ราบคาบ โดยกระตุ้นฝูงชนที่สนับสนุนตนเอง ให้ร่วมกันปกป้องลิเบียและน้ำมัน อันเป็นผลประโยชน์ของประเทศ และถ้าจำเป็น ก็จะมีการเปิดคลังแสง เพื่อติดอาวุธให้กับประชาชนชาวลิเบียทุกคน และทุกชนเผ่าในประเทศ

          การออกมาให้ถ้อยแถลงดังกล่าวของ กัดดาฟี่ นั้น ถือเป็นครั้งที่ 3 แล้วในสัปดาห์นี้ โดยที่ก่อนหน้านี้เคยออกมาเรียกร้องให้ผู้สนับสนุน ร่วมกันจัดการกลุ่มผู้ก่อกบฎ ที่ลุกฮือขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว และต่อมาได้มีการกล่าวโทษกลุ่มก่อการร้ายอัล ไกดา ว่า อยู่เบื้องหลังการลุกฮือ โดยอ้างว่า มีการใช้ยาเสพติดมอมเมาเยาวชน ให้พยายามโค่นอำนาจ

          อย่างไรก็ตาม พันเอก กัดดาฟี่ ปรากฏตัวล่าสุด ในสภาพสวมเสื้อแจ๊กเก้ตสำหรับฤดูหนาว และหมวกล่าสัตว์ที่ปิดใบหู โดยมีการกล่าวกับฝูงชนด้วยว่า ถ้าประชาชนไม่รักกัดดาฟี่แล้ว เขาก็ไม่คู่ควรที่จะมีชีวิตอยู่ต่อไป ก่อนจะพูดปลุกระดมต่อไปว่า ให้ทุกคนพร้อมต่อสู้เพื่อลิเบีย เพื่อเกียรติยศและเพื่อน้ำมัน และทำให้ศัตรูได้รับความอับอาย จากนั้น เขาได้ส่งจูบให้บรรดาผู้สนับสนุนและชูกำปั้นขึ้น และปลุกเร้าฝูงชนให้ระลึกถึงเหตุการณ์ที่ลิเบีย เคยเอาชนะเจ้าอาณานิคมอย่างอิตาลี จนสามารถแยกตัวเป็นเอกราชได้สำเร็จ

          ขณะที่นานาชาติได้เริ่มทยอยคว่ำบาตรประเทศลิเบีย โดยนายบัน กี มูน เลขาธิการสหประชาชาติ เรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อปกป้องพลเรือนในลิเบีย และ พ.อ.มูฮัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบียเองก็ควรจะถูกลงโทษจากรัฐบาลทั่วโลก เพื่อตอบโตต่อการใช้ความรุนแรงปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วง ซึ่งรวมไปถึงการคว่ำบาตรทางการค้า การเงิน การเดินทาง สินค้า อาวุธ และอายัดทรัพย์สิน นอกจากนี้ เขายังเรียกร้องให้ลงโทษผู้รับผิดชอบในการละเมิดสิทธิมนุษยชน

          ส่วนที่กรุงวอชิงตัน ทำเนียบขาว ได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตร และปิดสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐ ในกรุงตริโปลี ลงชั่วคราวแล้ว ขณะที่เที่ยวบินเที่ยวสุดท้ายที่อพยพประชาชนชาวอเมริกันในประเทศลิเบีย ก็ได้ออกจากเมืองหลวงลิเบียแล้ว

          ส่วนประเทศอังกฤษและฝรั่งเศส ได้เรียกร้องให้มีคำสั่งห้ามส่งสินค้า อาวุธ การเดินทาง และ อายัดทรัพย์สินของ กัดดาฟี และครอบครัว รวมถึงสมาชิกที่มีความสำคัญของระบบการปกครองของ กัดดาฟี พร้อมแนะนำ คณะมนตรีความมั่นคงฯ ให้นำเรื่องการปราบปรามการประท้วงอย่างรุนแรงในลิเบีย ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือ ICC เพื่อสอบสวนความเป็นไปได้ของการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ


แรงงานไทย

แรงงานไทย




[23 กุมภาพันธ์] ลิเบียเดือด! กัดดาฟี กร้าวขอสู้ตายเยี่ยงวีรชน

          "กัดดาฟี" กร้าวขอสู้ตายเยี่ยงวีรชน พร้อมปลุกผู้สนับสนุนปะทะกับผู้ต่อต้าน ด้านคณะมนตรีความมั่นคงฯ ประณามใช้กำลังสลายฝูงชน ขณะที่ด้านทางการไทยเร่งอพยพแรงงานแล้ว 2 พันคนใน 3 เส้นทาง พร้อมเตรียมอพยพอีก 4 พันคน

          เมื่อวันอังคารที่ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มุอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำลิเบีย ได้ปราศรัยอย่างเกรี้ยวกราดผ่านทางโทรทัศน์โดยประกาศว่า "ผมจะไม่ออกไปจากแผ่นดินนี้ ผมจะตายที่นี่เยี่ยงวีรชน" พร้อมกันนี้เตรียมจะเข้าปราบปรามการลุกฮือของประชาชนด้วย โดยระบุว่า พวกผู้ประท้วงเป็นหนูสกปรก ทหารรับจ้าง ซึ่งควรถูกลงโทษประหารชีวิต โดยตนจะเรียกร้องให้ชาวลิเบียออกกวาดล้างไปทีละบ้าน เว้นแต่ผู้ประท้วงจะยอมแพ้

          "ขอให้คนที่รักมุอัมมาร์ กัดดาฟี ออกสู่ท้องถนน คอยรักษาการณ์ตามท้องถนน อย่าไปกลัวพวกมัน ไล่จับพวกมัน เอาตัวส่งให้เจ้าหน้าที่" กัดดาฟี ประกาศ

          ขณะเดียวกันจากกรณีที่เจ้าหน้าที่รัฐของลิเบียใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามผู้ประท้วง จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้นานาชาติเริ่มต่อต้านประเทศลิเบียมากขึ้น โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติได้ประณามการใช้ความรุนแรง และเรียกร้องให้ดำเนินคดีกับคนที่โจมตีประชาชนพลเรือน

          ด้าน วิลเลียม เฮก รัฐมนตรีต่างประเทศของอังกฤษ กล่าวว่า มีสิ่งบอกเหตุหลายประการที่ชี้ว่า โครงสร้างการปกครองของลิเบียกำลังล่มสลาย ขณะที่ประธานาธิบดีฝรั่งเศส นิโกลาส์ ซาร์โกซี เป็นประเทศแรกที่เรียกร้องให้คว่ำบาตรลิเบีย "ผมอยากให้ระงับความสัมพันธ์ทางการเงิน เศรษฐกิจ และการค้ากับลิเบียจนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น"

          ส่วนประเทศเปรู ได้สั่งระงับความสัมพันธ์ทางการทูตกับลิเบียเอาไว้ จนกว่าการใช้ความรุนแรงต่อประชาชนจะยุติ รวมทั้งอับเดล ฟัตตาห์ ยูนิส อัลอาบีดี รัฐมนตรีมหาดไทยของลิเบียเอง ก็เป็นเจ้าหน้าที่ชั้นผู้ใหญ่รายล่าสุดที่ลาออก และยังได้อ่านแถลงการณ์เรียกร้องให้กองทัพสนับสนุนประชาชน และข้อเรียกร้องอันชอบธรรมของชาวลิเบีย

          ขณะที่หลายประเทศเร่งดำเนินการอพยพพลเมืองของประเทศออกจากลิเบียแล้ว ซึ่งในส่วนของประเทศไทยนั้น นายเจษฎา กตเวทิน รองอธิบดีกรมสารนิเทศและรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงถึงแผนอพยพของแรงงานไทยในลิเบียว่า การอพยพทางเรือเหมาะสมที่สุด เพราะการอพยพทางอากาศมีข้อจำกัด และขนคนได้น้อยกว่า เท่าที่กำหนดจุดแรกที่จะไปที่ประเทศมอลตา ซึ่งอยู่ใกล้ลิเบียที่สุดเดินทางด้วยเรือ 8 ชม. ซึ่งเรือมีความจุ 800 ที่นั่ง ที่พร้อมสำหรับการว่าจ้างให้เดินทางจากมอลตา เข้าไปรับคนในลิเบียแล้ว  พร้อมกันนี้ กรมการกงสุลยังขอให้แรงงานไทยในลิเบียที่ประสงค์จะเดินทางกลับประเทศ ไปลงทะเบียนกับหัวหน้างาน ซึ่งเป็นเครือข่ายที่สถานทูตติดต่อไว้อยู่แล้วด้วย

          ขณะที่นายสุธรรม  นทีทอง โฆษกกระทรวงแรงงาน ฝ่ายการเมือง กล่าวว่า ตามที่คณะกรรมาธิการแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร เสนอให้ใช้เครื่องบินเช่าเหมาลำรับแรงงานไทยที่ตกค้างนั้น ต้องยอมรับไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากประเทศลิเบียได้ประกาศปิดน่านฟ้า และจำนวนแรงงานไทยที่ติดอยู่มีถึง 2.3 หมื่นคน หากเทียบกับการช่วยเหลือนักศึกษาไทยที่ประเทศอียิปต์ มีเพียงไม่กี่ร้อยคน ยังต้องใช้เครื่องบินไปรับหลายเที่ยวและหลายวัน

          นายสุธรรมกล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงแรงงานไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยได้วางแผนช่วยแรงงานไทย 3 แนวทาง คือ ทางบก ทางเรือ และทางอากาศ โดยเฉพาะทางบกจะใช้การขนถ่ายแรงงานไทยไปยังประเทศตูนิเซีย ส่วนทางเรือได้มีการเช่าเหมาลำเพื่ออพยพไปยังประเทศมอลตา และทางอากาศไม่สามารถดำเนินการได้ 

          "การเคลื่อนย้ายแรงงานไทยต้องระวัง เพราะการเคลื่อนที่ในท้องถนน ยังสุ่มเสี่ยงต่อการถูกโจมตีจากกลุ่มผู้ประท้วงและทหาร ดังนั้นจึงขอความร่วมมือแรงงานไทยในประเทศลิเบีย ให้อยู่ในสถานที่ปลอดภัย และจะพยายามดำเนินการนำแรงงานไทยกลับประเทศอย่างปลอดภัย 100 เปอร์เซ็นต์"


ข่าวลิเบีย ประท้วงลิเบีย


          ขณะที่ในเวลาต่อมา นายสุธรรม นทีทอง ได้เปิดเผยอีกครั้งเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ (24 กุมภาพันธ์) ว่า ขณะนี้มีแรงงานไทยในประเทศลิเบีย สามารถหนีภัยสงครามกลางเมืองออกจากประเทศลิเบีย ได้แล้วกว่า 2 พันคน โดยบริษัทนายจ้าง ร่วมกับบริษัทจัดส่งแรงงานเป็นผู้พาหลบหนีผ่าน 3 เส้นทาง ได้แก่

          1.ผ่านชายแดนประเทศตูนิเซีย 2 ชุด ชุดแรก 600 คน และชุดที่ 2 ที่กำลังเดินทาง 700 คน

          2.ผ่านทางชายแดนอียิปต์ กว่า 500 คน

          3.ใช้เส้นทางเรือ จากท่าเรือเบงกาซี่ ไปเมืองอิสตันบลู ประเทศตุรกี กว่า 500 คน

          โดยในเวลา 01.00 น. ของวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ตนและเจ้าหน้าที่กรมการจัดหางาน จะเดินทางโดยสายการบินไทยไปยังกรุงโรม ประเทศอิตาลี และจะนั่งเรือต่อไปยังประเทศมอลตา เพื่อติดตามสถานการณ์ พร้อมทั้งช่วยเหลือแรงงานไทย ที่ยังคงติดค้างในประเทศลิเบีย

          อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อธิบดีกรมการจัดหางาน กำลังหารือกับกระทรวงการต่างประเทศในการช่วยเหลือแรงงานไทย ที่อพยพออกจากพื้นที่ทั้งหมด โดยในช่วงบ่ายจะนำข้อมูลที่ได้มาถกร่วมกับบริษัทจัดส่งแรงงานไทย ที่กระทรวงแรงงาน เพื่อประสานนายจ้าง ชาวต่างชาติ

          ทั้งนี้ สำหรับแรงงานไทยที่หนีรอดได้แล้ว เบื้องต้นจะยังคงอยู่ในประเทศที่เดินทางไปดังกล่าว ยังไม่เดินทางกลับประเทศไทยทันที โดยต้องรอการประเมินสถานการณ์อีกครั้ง ซึ่งหากสถานการณ์คลี่คลายเร็ว นายจ้างจะพากลับเข้าทำงานอีกครั้ง แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อ ก็จะเดินทางกลับประเทศไทย

          ขณะที่นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวถึงความคืบหน้าการช่วยเหลือแรงงานไทยในประเทศลิเบีย ขณะที่เกิดเหตุจลาจล ว่า ภายหลังจากการหารือ ขณะนี้ทางกระทรวงการต่างประเทศ จะดำเนินการตามแผนขั้นแรก โดยอพยพแรงงานทางเรือที่ได้เตรียมไว้ที่กรุงโรม โดยลอตแรกจะอพยพทั้งหมด 4,000 คน ซึ่งแบ่งเรือไปประเทศตูนิเซีย 2,000 คน และไปกรุงโรม ประเทศอิตาลี 2,000 คน ทั้งนี้คาดว่า จะเริ่มดำเนินการได้ภายใน 1 - 2 วัน




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
   

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แรงงานไทยในลิเบียทยอยกลับ แฉ 3 คนไทยถูกยิง อัปเดตล่าสุด 6 มีนาคม 2554 เวลา 11:39:34 42,056 อ่าน
TOP