x close

ปฏิวัติดอกมะลิ ดอกไม้แห่งตูนิเซีย


ตูนิเซีย

 



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ครอบครัวข่าว 3

          ปิดฉากการครองอำนาจของ นายซิเน อัล-อาบิดัน เบน อาลี วัย 74 ปี ในฐานะประธานาธิบดีประเทศตูนิเซีย มากว่า 23 ปี หลังประชาชนลุกขึ้นมาขับไล่ให้ลงจากตำแหน่ง เหตุไม่สามารถแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้ ในขณะที่ครอบครัว เบน อาลี ใช้ชีวิตอย่างฟุ่ยเฟือยท่ามกลางความทุกข์ของประชาชนตูนิเซีย

          จุดเริ่มต้นของการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มหนุ่มสาวในตูนิเซีย ที่นำไปสู่การขับไล่ นายเบน อาลี อันเป็นที่มาของคำว่า การปฏิวัติดอกมะลิ (The Jasmine Revolution) นั้น เกิดจากการที่ นายโมฮัมหมัด บูอะซิซี่ บัณฑิตทางวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ชาวเมืองซิดี บูซิส วัย 26 ปี ได้ตัดสินใจเผาตัวตายประท้วง หลังจากที่เขาถูกตำรวจหญิงไล่ไม่ให้ขายผลไม้ในรถเข็นเพื่อเลี้ยงครอบครัว เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2553 ซึ่งหลังจาการเสียชีวิตของนายโมฮัมหมัด เพียง 18 วัน ก็เกิดการปฏิวัติดอกมะลิขึ้น โดยหนุ่มสาวที่ทราบเหตุการณ์ดังกล่าว ได้สร้างเครือข่ายของการปฏิวัติประชาชนขับไล่รัฐบาลเผด็จการผ่านสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์

ตูนิเซีย

ตูนิเซีย



           ขณะนี้กำลังเกิดเหตุการณ์แบบตูนิเซียขึ้นในอีกหลายประเทศ ทำให้ การปฏิวัติดอกมะลิ กลายเป็นโมเดล ที่ประชาชนซึ่งถูกกดขี่จากผู้นำของตนเอง นำมาใช้เป็นแบบอย่างในการต่อสู้ เพื่อเรียกร้องความยุติธรรม วันนี้ทีมงานกระปุกดอทคอมขออาสาพาทุกท่านไป ทำความรู้จักกับคำว่า ปฏิวัติดอกมะลิ กันค่ะ

ดอกมะลิ



          การปฏิวัติดอกมะลิ (The Jasmine Revolution) นั้น เกิดขึ้นครั้งแรกที่ประเทศตูนิเซีย  โดยประชาชนตูนิเซียได้เรียกขานชัยชนะจากลุกขึ้นมาขับไล่ประธานาธิบดีเบ็น-อาลี  ในครั้งนี้ว่า "การปฏิวัติดอกมะลิ"  สำหรับเหตุผลในการเรียกการปฏิวัติครั้งนี้ว่า "ดอกมะลิ" เชื่อว่า มาจากการที่ดอกมะลินั้น เป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำชาติของตูนิเซีย จึงถือได้ว่า การได้รับชัยชนะของประชาชนใน "การปฏิวัติตูนิเซีย" เป็นจุดเริ่มต้นของคำ ๆ นี้

          นอกจากนี้ ได้มีการให้ความหมายของคำว่า "การปฏิวัติดอกมะลิ"  ว่าเป็นการที่ประชาชนของชาตินั้น ๆ ไม่อาจที่จะทนต่อการกดขี่ การปฏิเสธสิทธิเสรีภาพ และการคอรัปชั่นของผู้ปกครองได้ตลอด ด้วยความหมายเช่นนี้ จึงทำให้คำว่า "การปฏิวัติดอกมะลิ" กลายเป็นสัญลักษณ์ในการเร่งเร้าอารมณ์ และระดมผู้คนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนทางสังคม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง และทางสังคม

ตูนิเซีบ



          แต่อิทธิพลของคำว่า การปฏิวัติดอกมะลิ ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ด้วยหลังเหตุการณ์ในตูนิเซียแล้ว ก็ยังมีประชาชนในอีกหลาย ๆ ประเทศที่ลุกขึ้นมาเรียกร้องขอความเป็นธรรม โดยจะเห็นได้จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเยเมน ซูดาน จอร์แดน อียิปต์ ลิเบีย และล่าสุดที่จีน ทำให้ปรากฎการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ขณะนี้ ไม่ต่างไปจากการเกิด โดมิโนดอกมะลิ 

          อย่างไรก็ตาม ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกเกิดการปฏิวัติของประชาชนที่มีคำว่าดอกไม้นำหน้า เพราะที่ผ่านมาในอดีตก็มีหลาย ๆ ประเทศที่เกิดการปฏิวัติและนำคำว่าดอกไม้มาเป็นสัญลักษณ์ในการชุมนุม อาทิ การปฏิวัติดอกคาร์เนชั่น เกิดขึ้นในประเทศโปรตุเกส ปี 1974 , การปฏิวัติดอกกุหลาบ ในประเทศจอร์เจีย ปี 2003 หรือการปฏิวัติดอกทิวลิป ในประเทศเคอร์กีจิสถาน ปี 2005 เป็นต้น

          และไม่ว่าการปฏิวัติดอกมะลิที่กำลังเกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศจะจบลงเช่นไร สิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วย่อมเป็นอุทธาหรณ์เตือนใจเหล่าผู้ปกครองทั้งหลายว่า อย่าคิดที่จะละเลยเสียงสะท้อนจากประชาชน ด้วยถือว่าตนเป็นผู้กุมอำนาจในประเทศเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว

 

 

 

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 , redratchaprasong.org , blogspot.com , wordpress.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปฏิวัติดอกมะลิ ดอกไม้แห่งตูนิเซีย อัปเดตล่าสุด 2 มีนาคม 2554 เวลา 12:10:42 16,532 อ่าน
TOP