x close

ไขข้อข้องใจโครงการหมื่นล้าน ซูเปอร์สกายวอล์ก






เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก สำนักงานกรุงเทพมหานคร

          อึกทึกครึกโครมสมกับเป็นโครงการยักษ์ใหญ่ด้วยงบลงทุนนับหมื่นล้าน หลังจากที่มีการเปิดตัวแผนก่อสร้าง "ซูเปอร์สกายวอล์ก" (SuperSkywalk) หรือ โครงข่ายทางเดินลอยฟ้า หนึ่งในนโยบายใหม่เอี่ยมของท่านผู้ว่าฯ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ก็มีเสียงสะท้อนกลับทันทีทันควัน ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย... มาดูกันว่า ทำไม? เพราะอะไร?

         สำหรับโครงการดังกล่าวมีชื่อเต็ม ๆ ว่า "ซูเปอร์สกายวอล์ก 50 กิโลเมตร คืนทางเท้าให้คนกรุงเทพฯ เดินได้สะดวกขึ้น" ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจ "กรุงเทพฯ ก้าวหน้า" แบ่งการก่อสร้างเป็น 2 เฟส โดยเฟสแรกมี 4 สายทาง คือ ถนนสุขุมวิท พญาไท รามคำแหง และบริเวณสถานีวงเวียนใหญ่ ระยะทางรวม 16 กิโลเมตร เริ่มก่อสร้างในเดือนมีนาคม 2554 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2555 ใช้งบประมาณในการก่อสร้าง 5,200 ล้านบาท





         ส่วนเฟสที่ 2 สร้างต่อขยายและเชื่อมโยงกับเฟสแรก ตามแนวถนนราชดำริ สีลม สาทร เพชรบุรี รามคำแหง เอกมัย ทองหล่อ พหลโยธิน  ถนนกรุงธนบุรีถึงบางหว้า รวมระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร มีแผนจะก่อสร้างในปี 2555-2557 งบประมาณ 10,000 ล้านบาท

         เมื่อรวม 2 เฟส ระยะทาง 50 กิโลเมตร วงเงินลงทุน "ซูเปอร์สกายวอล์ก" หรือทางเดินลอยฟ้าที่ว่านี้ก็จะสูงถึง 15,200 ล้านบาท!!!

         ทั้งนี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครไม่มีโครงการขยายทางเท้าเลย ทำให้คนเดินทางเท้าต้องเสียสิทธิไป เนื่องจากพื้นที่เศรษฐกิจบางแหล่ง มีผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่ทำมาหากินเพิ่มมากขึ้นถึง 20 เท่า บางย่านมีการขยายถนน และระบบสาธารณูปโภคอื่น ๆ แต่พื้นที่ทางเท้ายังเท่าเดิม ดังนั้น โครงการซูเปอร์สกายวอล์ก จะเข้ามาเป็นตัวเสริมให้คนกรุงมีพื้นที่เดินเท้าสะดวกสบาย ไร้สิ่งกีดขวาง ไร้หาบเร่แผงลอย รวมทั้งมีความปลอดภัยระดับหนึ่ง เนื่องจาก ซูเปอร์สกายวอล์ก จะมีไฟฟ้าส่องสว่าง มีกล้องวงจรปิด และถูกออกแบบให้สามารถใช้เก็บท่อร้อยสายไฟของกรุงเทพมหานครซึ่งในอนาคตอาจจะย้ายสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์มาเก็บซ่อนไว้ในทางเดินลอยฟ้านี้ด้วย เพื่อช่วยปรับทัศนียภาพให้ดีขึ้น

         ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ ให้คำมั่นว่า โครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์ก 16 กิโลเมตรแรก จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 18 เดือนเท่านั้น ซึ่งหลังจากเปิดใช้จะทำให้กรุงเทพฯ มีทางเดินลอยฟ้ายาวขึ้นกว่าเดิม 10 เท่า โดยส่วนแรกจะสร้างครอบถนนสุขุมวิทเกือบทั้งสาย เริ่มจากซอยนานาไปถึงซอยแบริ่ง และอีก 3 สายบนถนนพญาไท ถนนรามคำแหง และใกล้กับวงเวียนใหญ่ในย่านธนบุรี 



         "นี่ถือเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ จะมีโครงข่ายทางเดินลอยฟ้าสำหรับประชาชนที่เชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการทั่วถึง และเป็นประโยชน์ในวงกว้างอย่างยั่งยืน โครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์กนี้จะช่วยให้คนกรุงเทพฯ สามารถเชื่อมต่อจุดต่างๆ ในย่านที่คนพลุกพล่านหลายส่วนของกรุงเทพฯ ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น" ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าว 

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ซูเปอร์สกายวอล์ก จะมีข้อดีมากมาย แต่หากพิจารณางบลงทุนที่มากมายเช่นนี้ จึงจำเป็นต้องศึกษาให้ถี่ถ้วนก่อนว่า คุ้มค่าดังคำโฆษณาจริงหรือไม่ เพราะทางเดินลอยฟ้าบางเส้นทางที่ถูกเปิดใช้ไปก่อนหน้านี้ ก็ใช่ว่าจะไม่มีแผงลอยมาตั้งเสียเมื่อไหร่ แถมคนเดินเท้าทั่วไปที่จะได้ใช้ประโยชน์นั้นมีกันสักกี่เปอร์เซ็นต์ ด้วยเส้นทางมักอยู่ในแหล่งธุรกิจ รายล้อมด้วยโรงแรม และห้างสรรพสินค้า ดังนั้น จะเห็นว่าส่งผลโดยตรงในเชิงพาณิชย์ เพราะคนสัญจรในย่านนี้ก็ไม่พ้นคนที่ใช้บริการ

         เกี่ยวกับเรื่องนี้ ดร.สุวัฒน์ วาณีสุบุตร รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านการขนส่ง กล่าวว่า ซูเปอร์สกายวอล์ก เป็นโครงการที่ดี แต่การสร้างไปตามใต้ทางรถไฟฟ้ายาวเป็นหลาย ๆ กิโลเมตร หรือทำให้เชื่อมกันหมดนั้นคงไม่ใช่หลักการที่ถูกต้อง ควรจะต้องมีข้อมูลประกอบในการก่อสร้างว่าในแต่ละจุดแต่ละพื้นที่ที่สร้าง มีคนเดินเท่าไหร่ และเดินจากจุดไหนไปไหนมากน้อยเพียงใด

          ดร.สุวัฒน์ กล่าวต่อว่า ที่สำคัญจะต้องดูแผนการก่อสร้างขนส่งอื่น ๆ ที่อยู่ในพื้นที่ประกอบไปด้วย เพราะหากสร้างไปแล้วในบางเส้นทางที่จะมีโครงการสร้างสะพานข้ามแยกสำหรับรถ ก็ต้องรื้อทางเดินเชื่อมออก ตรงนี้จะทำให้สิ้นเปลืองงบภายหลัง จึงควรสร้างเฉพาะจุดที่มีความจำเป็น สร้างแล้วได้ใช้ประโยชน์จริง ๆ ซึ่งอาจจะไม่ต้องลงทุนสูงถึงหมื่นล้านบาท หรือสร้างให้มากถึง 50 กิโลเมตรก็ได้ นอกจากนี้ ทัศนียภาพของเมืองก็สำคัญ หากมองไปตรงไหนมีแต่ทางเดินยาว ก็คงมองดูรกจนเกินไป

          ด้าน นายประสงค์ ธาราไชย ที่ปรึกษาสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โครงการที่ใช้งบประมาณสูงขนาดนี้ จำเป็นต้องศึกษาข้อมูล เพราะไม่ใช่นั้นสร้างแล้วอาจจะไม่ได้ใช้ประโยชน์อย่างแท้จริง ซึ่งผลการศึกษาจะเป็นคำตอบว่า ควรสร้างตรงไหน สร้างอย่างไร และใช้งบประมาณเท่าไหร่ให้ประหยัดที่สุด

          พร้อมกันนี้ นายประสงค์ ได้ยกตัวอย่างในต่างประเทศ ทางเดินที่สะดวกสำหรับประชาชนก็คือทางเดินเท้าในระดับดินปกติที่กว้างและไม่มีสิ่งกีดขวาง ส่วนการสร้างทางเดินเชื่อมจะสร้างในแนวขวางถนน ไม่ใช่แนวตามถนน เชื่อมระหว่างตึกกับตึกหรือเชื่อมไปยังจุดต่อระบบขนส่ง และสามารถจัดให้มีพื้นที่สำหรับเชิงพาณิชย์ มีร้านค้าอยู่ในทางเชื่อมนั้นด้วย เพื่อที่ภาครัฐจะได้ประหยัดต้นทุนการก่อสร้าง ซึ่งกลับกันกับแนวทางที่ กทม.กำลังจะทำในขณะนี้

           ขณะเดียวกัน สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ได้ออกแถลงการณ์คัดค้านโครงการ ซูเปอร์สกายวอล์กของกรุงเทพมหานคร โดยระบุว่า หากไม่ยุติโครงการดังกล่าว ทางสมาคมฯ จึงพึ่งกระบวนการศาลปกครอง เนื่องจากตั้งสังเกตว่าการก่อสร้างทางเดินลอยฟ้าของกรุงเทพมหานครใช้งบประมาณค่อนข้างสูง หรือเฉลี่ยกิโลเมตรละกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งแพงกว่าถึง 5 เท่า หากเปรียบเทียบข้อมูลการก่อสร้างทางเดินลอยฟ้าใต้แนวเส้นทางรถไฟฟ้า ช่วงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ-แบริ่ง รวมระยะทาง 17 กิโลเมตร ใช้งบประมาณ 1,000 ล้านบาท หรือเฉลี่ยกิโลเมตรละ 58.82 ล้านบาทเท่านั้น

          นอกจากเรื่องงบประมาณที่สูงเกินเหตุแล้ว ทางสมาคมฯ ยังขอตั้งข้อสังเกตถึงความเหมาะสมของการสร้างทางเดินลอยฟ้าในพื้นที่เมืองว่าเหมาะสมแล้วหรือไม่ เหตุใดจึงเพิ่มสิ่งก่อสร้างที่เป็นอุจจาดทัศน์ (visual pollution) ให้กับกรุงเทพฯ เข้าไปอีก แทนที่จะหันไปจัดการทางเดินเท้าระดับพื้นดินให้ทุกคนสามารถใช้งานได้ตามปกติ แต่กลับเอื้อประโยชน์ให้รัฐบาลในโครงการประชาวิวัฒน์ ขยายจุดผ่อนผันให้มีแม่ค้า-พ่อค้าแผงลอย เพิ่มอีกกว่า 280 จุด

         สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ยังชี้ด้วยว่า โครงการดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 43 ที่ระบุไว้ว่า บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบกิจการหรือประกอบอาชีพ และการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เฉพาะเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือเศรษฐกิจของประเทศ การคุ้มครองประชาชนในด้านสาธารณูปโภค การรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การจัดระเบียบการประกอบอาชีพ การคุ้มครองผู้บริโภค การผังเมือง การรักษาทรัพยากรธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อม สวัสดิภาพของประชาชน หรือเพื่อการป้องกันการผูกขาดหรือขจัดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน  เมื่อโครงการดังกล่าวอยู่ในข้อยกเว้น กรุงเทพมหานครจึงไม่มีอำนาจที่จะกระทำโครงการดังกล่าวได้แต่อย่างใด
 
          ขณะที่ หมวดว่าด้วยหน้าที่ของชนชาวไทย มาตรา 74 ระบุไว้ชัดเจนว่า บุคคลผู้เป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้างของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ มีหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายเพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม อำนวยความสะดวก และให้บริการแก่ประชาชนตามหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี ซึ่งโครงการนี้ของกรุงเทพมหานครไม่เข้าข่ายการรักษาผลประโยชน์ต่อส่วนรวม

          ...แม้จะยังไม่รู้ว่าทางเดินลอยฟ้า "ซูเปอร์สกายวอล์ก" จะให้ประโยชน์หรือเป็นเพียงสิ่งก่อสร้างที่รกหูรกตา และสร้างปัญหาในอนาคตหรือไม่ แต่เบื้องต้นจะเห็นได้ว่าภายใต้นโยบายสวยหรูนั้น ส่งผลกระทบต่อเมืองในหลากมิติ แน่นอนว่าการยกระดับทางเดินเท้า เป็นการชูภาพลักษณ์เมืองด้วยสิ่งปลูกสร้างอันทันสมัยและความสะดวกสบาย แต่สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามคือ เรื่องวิถีชีวิตของผู้คน และความรู้สึกนึกคิดของประชาชนผู้ซึ่งเป็นเจ้าของเงินภาษี




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
  , สำนักงานกรุงเทพมหานคร


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ไขข้อข้องใจโครงการหมื่นล้าน ซูเปอร์สกายวอล์ก อัปเดตล่าสุด 3 มีนาคม 2554 เวลา 15:22:26 93,785 อ่าน
TOP