x close

WHO แจงนิวเคลียร์ญี่ปุ่น ไม่ร้ายแรงเทียบเชอร์โนบิล



โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ไทยโพสต์
 

          องค์การอนามัยโลก ออกมาชี้แจงว่า ความเสี่ยงต่อสุขภาพนอกโซนอพยพของโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไม่ได้เลวร้ายลง แม้ทางการญี่ปุ่น จะปรับเพิ่มระดับความรุนแรง

          เกรกอรี ฮาร์เทิล โฆษกขององค์การอนามัยโลก (WHO) ออกมากล่าวว่า การประเมินความเสี่ยงทางสุขภาพของประชาชนจากเหตุการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่นระเบิดยังไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะรอบนอกโซนอพยพรัศมี 40 กิโลเมตร ที่สารกัมมันตรังสียังคงมีความเสี่ยงต่อสุขภาพน้อยมาก

          นอกจากนี้ ฮาร์เทิล ยังประกาศด้วยว่า เวลานี้ไม่มีใครอยู่ในพื้นที่ที่ต้องอพยพ และมาตรการต่าง ๆ ที่ใช้ในตอนนี้ยังเพียงพอต่อสถานการณ์ปัจจุบัน

          ทั้งนี้ ความเห็นของอนามัยโลกมีขึ้น หลังจากสำนักงานความปลอดภัยทางนิวเคลียร์และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ประกาศยกระดับความรุนแรงของวิกฤตินิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้านฟุกุชิมะ ไดอิจิ จากระดับ 5 สู่ระดับ 7 เมื่อวันอังคาร ซึ่งเทียบเท่ากับมหันตภัยนิวเคลียร์เชอร์โนบิล เมื่อ 25 ปีก่อน

          ด้านนายเดนิส ฟลอรี เจ้าหน้าที่ของสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) กล่าวว่า การที่ญี่ปุ่นประกาศเพิ่มระดับการเตือนภัยเป็นระดับ 7 ไม่ได้หมายความว่า เหตุการณ์จะร้ายแรงเทียบเท่ากับกรณีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในยูเครน ที่เคยประกาศเตือนภัยระดับ 7 เช่นกัน เพราะโรงไฟฟ้าสองแห่งเป็นอุบัติเหตุที่มีความแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง อีกทั้ง ทางการญี่ปุ่นประเมินแล้วว่า จะมีสารกัมมันตรังสีปล่อยออกมาที่ประมาณ 370,000 เทอร์ราเบคเคอเรล ขณะที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลปล่อยสารกัมมันตรังสีออกมาถึง 5.2 ล้านเทอร์ราเบคเคอเรล

          อย่างไรก็ตาม หลังจากญี่ปุ่นยกระดับการเตือนภัยขั้นสูงสุด นายอัลเบิร์ต เดล โรซาริโอ รมว.ต่างประเทศฟิลิปปินส์ ก็ได้แถลงว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ภายใต้การนำของประธานาธิบดีเบนิกโน อาคีโน ที่ 3 มีคำสั่งให้ชาวฟิลิปปินส์ประมาณ 2,000 คน ที่อยู่ในรัศมี 50 กิโลเมตร จากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ที่เกิดวิกฤติ อพยพกลับประเทศโดยด่วน

          โดยรัฐบาลฟิลิปปินส์ จะส่งเครื่องบินไปรับ และออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางกลับให้ ซึ่งเที่ยวบินแรกจะออกจากสนามบินนาริตะ วันที่ 17 เม.ย. นี้ อย่างไรก็ตาม ชาวฟิลิปปินส์ที่แต่งงานกับคนญี่ปุ่น หรือชาวฟิลิปปินส์ ที่อยู่ระหว่างรัศมี 50 -100 กิโลเมตร ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ สามารถเลือกได้ว่าจะกลับหรือไม่





[12 เมษายน] ญี่ปุ่นทบทวนยกระดับโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ เป็นระดับ 7

           คณะกรรมาธิการความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของรัฐบาลญี่ปุ่น กำลังทบทวนอาจยกระดับความรุนแรงของปัญหานิวเคลียร์ ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ขึ้นสู่ระดับ 7 เทียบเท่ากับ เหตุการณ์เชอร์โนบิล ในปี 1986

           คณะกรรมาธิการความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของรัฐบาล คาดหมายว่า ระดับสารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลจากเตาปฏิกรณ์ที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ทางเหนือของญี่ปุ่น ณ เวลาหนึ่งได้แตะระดับสูงสุดกว่า 10,000 เทราเบคเคอเรลต่อชั่วโมง เป็นเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งจัดอยู่ในเหตุการณ์ขั้นรุนแรงที่สุด ตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์

           โดยในรายงานข่าวระบุว่า จากการคำนวณดังกล่าว จุดชนวนให้ญี่ปุ่นพิจารณาปรับเพิ่มเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์สู่ระดับสูงสุด เทียบเท่าหายนะทางนิวเคลียร์ที่เชอร์โนบิล ทั้งตามมาตราระหว่างประเทศว่าด้วยเหตุการณ์ทางนิวเคลียร์เหตุการณ์ระดับ 7 นั้น คือสถานการณ์ที่มีการปล่อยสารกัมมันตรังสีไอโอดีน 131 มากกว่าหมื่นเทราเบคเคอเรลต่อชั่วโมง

           อย่างไรก็ตาม ทางโฆษกสำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์และอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ระบุในเวลาต่อมาว่า สถานการณ์ ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ยังคงอยู่ในระดับ 5 และเขายังไม่ทราบถึงความเคลื่อนไหวของรัฐบาล ที่เตรียมยกระดับความรุนแรงครั้งนี้

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด

[ 26 มีนาคม] นายกฯ ญี่ปุ่นยอมรับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์วิกฤติหนัก


           นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นออกทีวี ยอมรับสถานการณ์โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ อยู่ในขั้นวิกฤติรุนแรง ประกาศให้ประชาชนอพยพได้ตามความสมัครใจ ส่วนยอดตาย-สูญหายล่าสุด พุ่งทะลุ 27,000 ราย แล้ว

           ในช่วงเย็นของวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา สถานีโทรทัศน์ของญี่ปุ่น ได้รายงานว่า นายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ออกมายอมรับถึงสถานการณ์ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ที่เกิดการระเบิดและรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี นับตั้งแต่เกิดแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมาว่า ขณะอยู่ในขั้นวิกฤติที่สุดแล้ว และต้องตัดสินใจ รวมถึงปฏิบัติการทุกอย่างด้วยความระมัดระวังที่สุด รวมถึงขอโทษต่อประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน เกษตรกรที่ปลูกผัก และได้รับความเสียหายจากสารกัมมันตรังสี และผู้ประกอบการอื่น ๆ ที่ได้รับความเสียหาย

           ขณะที่หน่วยงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น แถลงว่า ได้สั่งการให้บริษัท โตเกียว อิเล็คทริค พาวเวอร์ หรือ "เทปโก" อพยพคนงาน และทีมวิศวกร ออกจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ในโรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ เป็นการชั่วคราว

           ด้าน นายยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้ออกมาประกาศให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในรัศมี 20-30 กิโลเมตร รอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ สามารถอพยพออกจากบ้านเรือนของตนได้ ตามความสมัครใจ โดยรัฐบาลจะให้การสนับสนุนในการหนีการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลอย่างเต็มที่

           ส่วนความคืบหน้าในการค้นหาผู้เสียชีวิต และสูญหายจากแผ่นดินไหว ล่าสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น สรุปว่า ยอดรวมทะลุเกิน 27,000 รายแล้ว โดยแบ่งเป็นเสียชีวิตที่มีการยืนยันพบศพแล้วจำนวน 10,066 ราย สูญหาย 17,452 ราย พื้นที่จังหวัดมิยากิ เสียชีวิตมากที่สุด 6,097 ราย, อิวาเตะ 3,056 ราย และฟุกุชิมะ 855 ราย

           ทั้งนี้มีผู้ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว และสึนามิถล่ม ทั้งสิ้น 240,000 คน ซึ่งยังคงต้องพักในศูนย์พักพิงชั่วคราว กว่า 1,900 แห่งทั่วประเทศ

โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์


[25 มีนาคม] เผยรังสีในน้ำโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ สูง 10,000 เท่า

          TEPCO เผยสารกัมมันตรังสีในน้ำ บริเวณเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 สูงเกินมาตรฐาน 10,000 เท่า เจ้าหน้าที่เข้า รพ.แล้ว 2 ราย ส่วนอุณหภูมิในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ลดลงอย่างต่อเนื่อง

          วันนี้ (25 มีนาคม 2554) บริษัท โตเกียว อิเล็คทริก พาวเวอร์ หรือ เทปโก (TEPCO) เปิดเผยว่า ปริมาณสารกัมมันตรังสีในตัวอย่างน้ำที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานเชื่อมต่อสายไฟฟ้า 3 ราย สัมผัสบริเวณเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ของโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ-ไดอิจิ มีระดับมากถึง 10,000 เท่าของปริมาณปกติ ทำให้เจ้าหน้าที่ 2 ราย ในภารกิจดังกล่าว ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล หลังมีอาการบาดเจ็บจากการเผาไหม้ของรังสีเบตาที่ปนเปื้อนอยู่ในน้ำ เนื่องจากทั้งคู่ไม่ได้สวมรองเท้าบูธในระหว่างปฏิบัติงาน เท้าของพวกเขาจึงสัมผัสกับน้ำโดยตรง

          ทั้งนี้ เทปโก ระบุว่า การเดินสำรวจพื้นที่ก่อนซ่อมแซม พบว่าในช่วงเวลาดังกล่าวสารรังสียังคงอยู่ในระดับต่ำ จึงเชื่อว่าเจ้าหน้าที่ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แม้ว่าสัญญานเตือนจากอุปกรณ์วัดปริมาณสารกัมมันตรังสีจะไม่ปรากฏก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม ได้เตรียมแผนการอพยพเจ้าหน้าที่ไว้แล้ว หากเกิดกรณีที่เครื่องตรวจวัดสารรังสีไม่ทำงาน

          ทางการญี่ปุ่นเปิดเผยข้อมูลการเก็บตัวอย่างน้ำทะเลเมื่อวันที่ 22-23 มีนาคม ต่อไอเออีเอ หลังจากตรวจพบสารรังสีไอโอดีน-131 และซีเซียม ในน้ำทะเลใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ โดยทางการญี่ปุ่นย้ำว่า สารกัมมันตรังสีที่ตรวจพบยังไม่ก่อให้เกิดอันตราย

          ขณะที่ กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น เผยว่าได้ใช้เฮลิคอปเตอร์บินสำรวจเหนือเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และใช้รังสีอินฟราเรด ตรวจสอบอุณหภูมิบริเวณพื้นผิว และภายในเตาปฏิกรณ์ของโรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ก่อนที่จะพบว่า อุณหภูมิภายในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1 - 4 ต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส ทั้งหมด

           นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยว่า อุณหภูมิภายในบ่อพักแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว ของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ลดลงจาก 31 องศาเซลเซียส  เหลือเพียง 26 องศาเซลเซียส ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่น่าพอใจ

          ด้านสำนักงานดูแลคุณภาพ ตรวจสอบ และกักกันของจีน เปิดเผยว่า วานนี้ (24 มีนาคม) มีนักเดินทางชาวญี่ปุ่น 2 คน มาจากกรุงโตเกียว ต้องเข้าโรงพยาบาลในเมืองอู๋ซี่ของจีน เนื่องจากมีระดับสารกัมมันตรังสีสูงเกินกำหนดมาก 

          


โรงงานพลังงานนิวเคลียร์ สึนามิญี่ปุ่น


[24 มีนาคม] ญี่ปุ่นแจกน้ำดื่มบรรจุขวด ให้บ้านมีทารก

         ญี่ปุ่น จะทำการแจกจ่ายน้ำดื่มบรรจุขวด ให้แก่ครอบครัวที่มีเด็กทารก หลังตรวจพบการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี ในระดับสูงกว่ามาตราฐาน ที่เด็กทารกจะรับได้ ในน้ำประปา

        
รัฐบาล กรุงโตเกียว เปิดเผยว่า จะทำการแจกจ่ายน้ำดื่มบรรจุขวด 3,550 ล้านขวด ให้แก่ 80,000 ครอบครัวที่มีเด็กทารกภายในวันนี้ (24 มีนาคม) และมีแผนจะแจกจ่ายน้ำดื่มบรรจุขวดเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต พร้อมทั้งเรียกร้องให้หน่วยงาน รวมถึงสถานที่รับเลี้ยงเด็กให้ หยุดใช้น้ำประปาทำเครื่องดื่ม หรือ อาหารให้แก่เด็กทารกที่มีอายุต่ำกว่า 12 เดือน

        
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลกรุงโตเกียว ได้ประกาศห้ามเด็กทารกดื่มน้ำประปา หลังตรวจพบสารกัมมันตรังสีไอโอดีน210 เบคเคอเรลต่อน้ำ 1 กิโลกรัม เมื่อเทียบกับข้อกำหนดสูงสุดเพียง 100 เบคเคอเรล ในการสำรวจโรงงานผลิตน้ำประปาใน ตำบลคานามาจิ เขตคัทสึชิกะ ในระดับที่เกินข้อกำหนดที่โรงงานผลิตน้ำประปา โดยคำเตือนดังกล่าว ครอบคลุมถึง 23 เขต และ 5 เมืองในโตเกียว ได้แก่ มูซาชิโน มิทากะ มาชิดะ ทามะ และ อินางิ

         แต่อย่างไรก็ดี ปริมาณของสารกัมมันตรังสีที่ตรวจพบที่โรงงานน้ำประปายังอยู่ในระดับที่ต่ำ กว่า 300 เบคเคอเรล ซึ่งเป็นข้อกำหนดสำหรับผู้ใหญ่และเด็กโต แต่ทางเจ้าหน้าที่รัฐบาลกรุงโตเกียว กล่าวว่า ทางการได้พิจารณาถึงอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ในการรับสารดังกล่าวเป็นระยะเวลานาน ซึ่งประชาชนทั่วไปยังคงสามารถดื่มน้ำประปาได้ หากไม่มีน้ำดื่มอื่นทดแทน


 





[23 มีนาคม] ญี่ปุ่นเตือน! ห้ามทานผัก – นม บางชนิด เหตุพบสารรังสีเกินมาตรฐาน
 
            ประเทศญี่ปุ่นรับข้อเสนอกองทัพสหรัฐฯ ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ช่วยแก้ปัญหาโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ขณะที่เทปโก เผยกู้คืนระบบไฟฟ้าของห้องควบคุมเตาปฏิกรณ์ 3 ได้แล้ว ด้านกระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นสั่งห้ามกินผักจากฟุกุชิมะ ทางด้าน เจ้าหน้าที่โตเกียวเตือนประชาชนอย่าใช้น้ำประปาเลี้ยงเด็กทารก หลังพบสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนสูง และห้ามทานผัก – นม  จากจังหวัดฟุกุชิมะ เหตุพบสารรังสีเกินมาตรฐาน

           
สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า นายโทชิมิ คิตาซาวะ รัฐมนตรีกลาโหมญี่ปุ่น ได้เปิดเผยว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะร่วมมือกับกองทัพสหรัฐฯ ภายใน 1-2 วันนี้ เพื่อแก้ปัญหาโรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ หลังจากที่ พล.ร.อ.โรเบิร์ต วิลลาร์ด ผู้บัญชาการทหารสหรัฐอเมริกา ประจำภาคพื้นแปซิฟิก ได้ยื่นข้อเสนอจะส่งผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์มายังญี่ปุ่น เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว เช่นเดียวกับ นายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง ก็ต้องการที่จะร่วมมือกับสหรัฐฯ เช่นกัน

            ขณะที่สถานการณ์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ วันนี้ (23 มีนาคม) เจ้าหน้าที่ของสำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า อุณหภูมิที่บ่อเก็บเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วสูงขึ้น เนื่องจากไอน้ำที่ลอยมาจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 2 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิตั้งแต่วันจันทร์ และอาจทำให้เจ้าหน้าที่ที่กำลังเชื่อมต่อสายส่งกระแสไฟฟ้า และตรวจสอบเครื่องจักรที่ส่งพลังงานให้แก่ระบบหล่อเย็นต้องหยุดภารกิจชั่วคราวหรือไม่

            ส่วนเจ้าหน้าที่ดับเพลิงจากกรุงโตเกียว และนครโอซาก้า ได้ทำการฉีดน้ำเข้าไปในเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 กว่า 20 ชั่วโมง เพื่อฉีดน้ำเข้าไปในบ่อทำความเย็นของแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้วของเตาปฏิกรณ์
 
            บริษัท โตเกียว อิเล็กทริค เพาเวอร์ หรือ เทปโก เปิดเผยว่า ทางษริษัทสามารถกู้คืนระบบไฟฟ้าของห้องควบคุมเตาปฏิกรณ์ที่ 3 ได้แล้วเมื่อคืนที่ผ่านมา หลังได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ

            โดยวานนี้ (22 มีนาคม 2554) ทางเทปโก สามารถเชื่อมต่อสายไฟไปยังห้องควบคุมเตาปฏิกรณ์ที่ 3 และ 4 เป็นที่เรียบร้อย ซึ่งกระแสไฟที่สามารถจ่ายให้แก่เตาปฏิกณ์ที่ 3 ได้ในขณะนี้จะทำให้ง่ายต่อการซ่อมแซมระบบหล่อเย็นของเตาปฏิกรณ์ และขั้นตอนต่อไป ทางเทปโกจะพยายามเปิดใช้ระบบตรวจสอบสำคัญของห้องควบคุม เช่น เครื่องวัดอุณหภูมิภายในเตาปฏิกรณ์ รวมถึงเครื่องวัดระดับน้ำในบ่อเก็บแท่งเชื่อเพลิงนิวเคลียร์ใช้แล้ว และจะส่งกระแสไฟเข้าเครื่องสูบน้ำของระบบหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ที่ 3 ในเช้าวันนี้ (23 มีนาคม)

            ส่วนเรื่องการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีนั้น กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นได้ออกประกาศห้ามบริโภคพืชผักจากจังหวัดฟุกุชิมะแล้ว หลังพบว่า มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีสูงเกินที่ข้อกฎหมายระบุ อาทิ บร็อคโคลี ผักโขม ผักโคมัตสึนะ หัวเทอร์นิป ผักชิโนบูฟุยูนะ ผักซันโตนะ ผักชิจิเรนะ ผักโคไซไต ผักอาบุรานะ ผักชีฝรั่ง และกะหล่ำปลี โดยตัวอย่างจาก ผักโคมัตสึนะ จากเมืองโมโตมิยะ พบสารกัมมันตรังสีซีเซียม 82,000 เบ็กเคอเรล ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ถึง 164 เท่าเลยทีเดียว พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่ยังเตือนให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการทานผักดังกล่าว

           
ทางด้านนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ได้สั่งห้ามส่งออกสินค้าเกษตรหลายชนิด ของจังหวัดฟุกุชิมะและอิบารากิ หลังพบสารรังสีในปริมาณสูงเกินมาตรฐาน

            ขณะที่เจ้าหน้าที่กรุงโตเกียว กล่าวเตือนประชาชนว่า อย่าใช้น้ำประปาเลี้ยงเด็กทารก หลังพบสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนสูง และผิดปกติ โดยมีปริมาณของสารรังสีไอโอดีน 210 เบกเคอเรลต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้มากกว่า 2 เท่าเลยทีเดียว อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ยังได้แนะนำอีกว่า ประชาชนในพื้นที่อื่นที่ยังตรวจไม่พบสารกัมมันตรังสี แต่อยู่ในจังหวัดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ก็แนะนำให้หลีกเลี่ยงการใช้น้ำประชาเลี้ยงเด็กทารก หรือชงนมให้เด็กดื่ม เพราะจะเป็นอันตรายต่อเด็กได้




สึนามิ

สึนามิ

สึนามิ

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์


[22 มีนาคม]TEPCO เผยรังสีปนเปื้อนในน้ำทะเลและอากาศในระดับสูง
 

          พบสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนในน้ำทะเลและอากาศในระดับสูง พร้อมกันนี้ TEPCO เผยผลประเมินความสูงของสึนามิ ที่ซัดใส่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ หมายเลข 1 จนได้รับความเสียหาย คาดว่าจะมีความสูงประมาณ 14 เมตร

          เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา สำนักข่าวเอพีรายงานว่า บริษัทพลังงานไฟฟ้าโตเกียว หรือ TEPCO เปิดเผยว่ามีการตรวจพบสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนในน้ำทะเลและอากาศในระดับสูง แต่ยังอยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย ขณะที่เจ้าหน้าที่เร่งฉีดน้ำเข้าสู่เตาปฏิกรณ์อย่างต่อเนื่อง

          โดย TEPCO ได้ยอมรับว่า แท่งเชื้อเพลิงพลังงานนิวเคลียร์ ในโรงงานฟุกุชิม่า ไดอิจิ ได้รับความเสียหายอย่างหนัก และมีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีในอากาศโดยรอบ โดยมีการตรวจพบว่า สารกัมมันตรังสีปนเปื้อนในอากาศสูงถึงระดับ 5 และมีการฟุ้งกระจายของไอโอดีน -131 ในระดับสูงกว่ามาตรฐานถึง127 เท่า ขณะที่สารซีเซียมที่แยกออกจากของเสียที่ปล่อยจากเตาปฏิกรณ์ มีการรั่วไหลในระดับสูงกว่ามาตรฐาน 25 เท่า

          นอกจากนี้ TEPCO ได้ตรวจวัดสารกัมมันตรังสีในน้ำทะเล พบว่า น้ำทะเลที่อยู่ห่างจากเตาปฎิกรณ์หมายเลข 1 มีสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนอยู่ในระดับสูงมากเช่นกัน ซึ่งเจ้าหน้าที่ก็ยังคงยืนยันที่จะฉีดน้ำเข้าสู่เตาปฏิกรณ์ต่อไปอย่างต่อเนื่อง

          อย่างไรก็ดี TEPCO ระบุว่า สารกัมมันตรังสีในอากาศยังอยู่ในมาตรฐานความปลอดภัย ส่วนไอโอดีน -131 ที่ตรวจพบในผลิตภัณฑ์จากฟาร์มนมที่อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่า ไดอิจิ ไป 50 กิโลเมตร ที่มีการตรวจสอบเมื่อวันที่ 19 มีนาคมที่ผ่านมานั้น ไม่ได้ส่งผลต่อสุขภาพมนุษย์ทันที แต่อาจจะเป็นอันตรายต่อเด็กเล็ก เพราะไอโอดีน -131 ที่พบในผลิตภัณฑ์นมจากฟาร์มดังกล่าว มีระดับสูงเกินที่เด็กควรจะได้รับถึง 15 เท่าเลยทีเดียว

          ทางด้าน นายโอกิ ซึโนดะ โฆษกของ TEPCO เชื่อว่าผลการประเมินขนาดความสูงของคลื่นยักษ์สึนามิที่พัดเข้าใส่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ จนได้รับความเสียหายอย่างรุนแรงจนกระทั่งเตาปฏิกรณ์ หมายเลข 1 มีปัญหาขัดข้องนั้น น่าจะมีขนาดความสูงไม่ต่ำกว่า 14 เมตร

          นอกจากนี้ นายโอกิ ซึโนดะ ได้เผยว่า โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ หมายเลข 1 ได้รับการออกแบบให้ทนแรงสั่นสะเทือนจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ขนาด 8.0 ริกเตอร์ รวมทั้งสามารถต้านแรงของคลื่นยักษ์ในระดับไม่เกิน 5.7 เมตร ส่วนโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ หมายเลข 2 สามารถทนแรงสั่นสะเทือที่น 8.0 ริกเตอร์ และทนแรงคลื่นยักษ์สึนามิที่ขนาดความสูง 5.2 เมตร    

โรงไฟฟ้านิวเคลียร์



 [21 มีนาคม] ญี่ปุ่นสั่งห้ามดื่มน้ำประปา ใกล้โรงงานนิวเคลียร์


            รัฐบาลญี่ปุ่นเตรียมปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ ไดอิจิ แล้ว เนื่องจากอุปกรณ์ส่วนสำคัญชำรุด ขณะที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 5 และ 6 สามารถควบคุมอุณหภูมิได้เป็นปกติ พร้อมสั่งห้ามประชาชนใกล้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดื่มน้ำประปาแล้ว หลังพบสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนสูงกว่าเกณฑ์ปลอดภัย 3 เท่า

            สถานีโทรทัศน์ NHK ของญี่ปุ่น รายงานในวันนี้ว่า นายยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในฐานะโฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า ญี่ปุ่นจะต้องปิดโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ อย่างถาวรแน่นอน หลังจากแก้ปัญหาการรั่วไหลของสารกัมมันตภาพรังสีได้แล้ว ซึ่งเจ้าหน้าที่ดังกล่าวพยายามควบคุมความร้อนของเตาปฏิกรณ์ โดยการฉีดน้ำทะเลควบคุม ส่งผลให้อุปกรณ์บางชิ้นได้รับความเสียหาย จนไม่สามารถใช้การได้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องปิดตายโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งนี้

            ทั้งนี้ นายเอดาโนะ ยังไม่อาจยืนยันได้ว่า จะสามารถหยุดการรั่วไหล หรือกอบกู้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์นี้ได้เมื่อใด แต่เจ้าหน้าที่ยังคงพยายามทำงานอย่างหนัก และยืนยันที่จะปิดโรงงานถาวรหลังจากนี้

          ขณะที่ทางทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (IAEA) เปิดเผยว่า สามารถควบคุมความร้อนจากเตาปฏิกรณ์หมายเลข 5 และ 6 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิได้ ทำให้อุณหภูมิในเตาปฏิกรณ์ลดลงอย่างต่อเนื่องจนเกือบเป็นปกติ

          ส่วนเตาปฏิกรณ์หมายเลข 1-4 ยังอยู่ในสภาพที่ไม่น่าไว้วางใจเท่าไรนัก เพราะการติดตั้งระบบหล่อเย็นยังคงเป็นปัญหา รวมทั้ง ยังไม่รู้ว่า ระดับน้ำและอุณหภูมิภายในบ่อเก็บแท่งเชื้อเพลิงใช้แล้ว มีปริมาณแค่ไหน  สำหรับระดับสารกัมมันตรังสี ของกรุงโตเกียวและเมืองใหญ่ทั่วญี่ปุ่น ยังไม่เปลี่ยนแปลงในช่วง 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา โดยอยู่ในระดับต่ำและไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์

         
ในเวลาต่อมา IAEA เปิดเผยอีกว่า วิศวกรชาวญี่ปุ่นสามารถเชื่อมต่อกระแสไฟฟ้าเข้าสู่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 1, 2, 5 และ 6 สำเร็จแล้ว
โดยผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่ง เผยว่า หากการเชื่อมต่อกระแสไฟฟ้าประสบปัญหา อาจต้องใช้วิธีการเททรายและหล่อคอนกรีตกลบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ โรงที่ 1 เพื่อป้องกันการรั่วไหลของรังสี หลังจากที่ในตอนนี้มีการตรวจวัดสารปนเปื้อนในอากาศแล้ว พบว่ามีปริมาณไม่มากนัก ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อประชาชน

       
   ขณะที่เรื่องน้ำประปาปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ที่ตรวจพบในระบบน้ำประปาของกรุงโตเกียว รวมถึงในจังหวัดภาคกลาง อาทิ จังหวัดกุนมะ, โตชิงิ, ไซตามะ, ชิบะ และนาอิกาตะ นั้น ล่าสุด วันนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศห้ามประชาชนที่อยู่ในหมู่บ้านใกล้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ดื่มน้ำประปาแล้ว หลังกระทรวงสาธารณสุขตรวจพบสารกัมมันตรังสีปนเปื้อนอยู่ในตัวอย่างน้ำประปาที่เก็บมาจากหมู่บ้านอาอิตา เตมูระ ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะ หมายเลข 1 ไปราว 40 กิโลเมตร สูงถึง 965 เบคเคอเรลต่อกิโลกรัม ซึ่งสูงกว่าระดับที่รัฐบาลระบุว่า อยู่ในเกณฑ์ปลอดภัยถึง 3 เท่า

          อย่างไรก็ตาม กระทรวงสาธารณสุขยังยืนยันว่า ปริมาณรังสีแร่ที่พบในน้ำประปาในหมู่บ้านดังกล่าว มีสัดส่วนเพียง 1 ใน 26 ส่วนของระดับรังสีแร่ที่ใช้ในการเอ็กซเรย์หน้าอก จึงไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์

          ด้านนายนาโอโตะ ทาเคอุชิ ผู้บัญชาการตำรวจจังหวัดมิยางิ กล่าวว่า เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (19 มีนาคม) ได้พบศพนายโคกิ คาโตะ นายกเทศมนตรีเมืองโอสึชิ จังหวัดอิวาเตะ ที่หายตัวไปหลังจากถูกคลื่นสึนามิซัดระหว่างการประชุมฉุกเฉิน ที่จัดขึ้นหลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันศุกร์ที่ 11 มีนาคมไม่นานแล้ว และนับตั้งแต่นี้ อาจมีการพบร่างผู้เสียชีวิตที่ถูกพัดลงทะเลอีกนับพันราย




สึนามิญี่ปุ่น แผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่น




 [20 มีนาคม]ญี่ปุ่น ตรวจพบสารกัมมันตรังสีในน้ำประปา

          
พบกัมมันตภาพรังสี ระดับไม่ปกติ ในน้ำประปาของกรุงโตเกียว และหลายจังหวัดในภาคกลางของญี่ปุ่น ด้านรัสเซีย สั่งตรวจสอบปลา และอาหารทะเลจาก มหาสมุทรแปซิฟิก

           สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ทางการญี่ปุ่น ได้ออกแถลงการณ์ ระบุว่า เจ้าหน้าที่ได้ตรวจพบกัมมันตภาพรังสีในระดับไม่ปกติ ในระบบน้ำประปาของกรุงโตเกียว รวมถึงในจังหวัดภาคกลาง อาทิ จังหวัดกุนมะ, โตชิงิ, ไซตามะ, ชิบะ และนาอิกาตะ

           ทั้งนี้ ทางการกำลังเฝ้าติดตามตรวจสอบความเข้มข้นของสารกัมมันตรังสีอย่างใกล้ชิด หลังจากพบสารกัมมันตรังสีในผลิตภันฑ์นม และผักโขม มาก่อนหน้านี้ ที่จังหวัดฟุกุชิมะ และ อิบารากิ ซึ่งอยู่ให้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่มีการระเบิดและรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี นับตั้งแต่วันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา

           ด้านรัฐบาลรัสเซีย มีการคุมเข้มเรื่องสารกัมมันตรังสี มีการสั่งตรวจสอบปลา และอาหารทะเลอื่น ๆ ที่จับได้จากบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิก ทั้งหมด เนื่องจากหวั่นมีรังสีปนเปื้อน และอาจะเป็นอันตรายกับประชาชน

           
ขณะที่สำนักข่าวท้องถิ่นในญี่ปุ่น รายงานว่า เจ้าหน้าที่ค้นหาและกู้ภัย ในจังหวัดมิยากิ ได้พบร่างผู้รอดชีวิต 2 ราย ในเมืองอิชิโนมากิ โดยผู้รอดชีวิตรายแรก เป็นหญิงชราวัย 80 ปี และเด็กหญิง วัย 16 ปี ทั้งคู่อยู่ใต้ซากปรักหักพัง เป็นเวลานาน 9 วัน

           
โฆษก สตช. ในจังหวัดมิยากิ กล่าวว่า ทั้งคู่มีอุณหภูมิร่างกายค่อนข้างต่ำ แต่มีสติรับรู้ โต้ตอบกับเจ้าหน้าที่ได้ แต่ยังไม่มีใครรู้ว่าทั้ง 2 ราย เป็นใคร และถูกส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลในทันที

           ทั้งนี้ จังหวัดมิยากิ เป็นพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหว-สึนามิถล่ม เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา มากที่สุด มีการยืนยันผู้เสียชีวิตสูงถึง 4,882 ราย






[19 มีนาคม] ญี่ปุ่น เล็งสร้างสิ่งหอหุ้มคลุม โรงไฟฟ้านิวเคลียร์

           เทปโก เตรียมเปิดใช้ระบบหล่อเย็นเตาปฏิกรณ์ที่ 2 ยันจ่ายไฟเข้าได้ภายในวันนี้ เผยเล็งสร้างสิ่งห่อหุ้มด้วยคอนกรีต คลุมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ-ไดอิจิ เพื่อหยุดยั้งการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี ขณะที่พบนม-ผักโขม ปนเปื้อนรังสีแล้ว แต่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์

           สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ หรือ เทปโก จะทำการฟื้นฟูระบบเครื่องหล่อเย็น ในวันนี้ (19 มีนาคม) จากการดึงสายไฟจากข้างนอกเข้าไปเชื่อมต่อกับแผงวงจรไฟฟ้าของเตาปฏิกรณ์ที่ 2 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ - ไดอิจิ โดยยืนยันว่า หลังจากการเชื่อมต่อสายไฟเข้ากับแผงวงจรแล้ว ก็จะสามารรถปล่อยกระแสไฟได้ปกติ และจะสามารถเปิดใช้ระบบหล่อเย็นได้อีกครั้ง

           ส่วนการเชื่อมต่อกระแสไฟกับ เตาปฏิกรณ์ที่ 1, 3 และ 4 คาดว่าน่าจะสามารถดำเนินการได้ในสุดสัปดาห์นี้ หลังระบบหล่อเย็นขัดข้อง จากผลกระทบของเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ที่ผ่านมา

           พร้อมกันนี้ วิศกรด้านนิวเคลียร์ของเทปโก ยอมรับว่า การสร้างสิ่งห่อหุ้มขนาดใหญ่ ที่ทำด้วยคอนกรีต คลุมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่อยู่ในสภาพใช้การไม่ได้ อาจจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่สามารถหยุดยั้งการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีได้ ซึ่งเป็นวิธีเดียวกับที่เคยใช้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล เมื่อปี 1986 แต่ยังมีความหวังว่า จะสามารถแก้วิกฤติด้วยการเดินกระแสไฟที่เครื่องปฏิกรณ์ที่ 2 ได้ในวันนี้ เพื่อให้ระบบหล่อเย็นกลับมาทำงานอีกครั้ง

           ส่วนภารกิจการระดมฉีดน้ำใส่เตาปฏิกรณ์ที่ 3 ได้เสร็จสิ้นลงแล้ว พบว่าได้รับความเสียหายมากที่สุดจากทั้งสิ้น 6 เตา โดยใช้น้ำทั้งสิ้น 50 ตัน ซึ่งเจ้าหน้าที่เชื่อว่า ปริมาณน้ำส่วนใหญ่ได้เข้าไปภายในเตาปฏิกรณ์ เนื่องจากพบว่า ระดับสารกัมมันตรังสี บริเวณเตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 ลดลง

           อย่างไรก็ดี มีรายงานว่า มีผู้สูญหายอย่างน้อย 20 คน ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ไดอิจิ และมีอย่างน้อย 20 คน ที่ล้มป่วยจากการได้รับสารกัมมันตรังสีด้วย

           ส่วนค่าสารกัมมันตรังสี บริเวณเตาปฏิกรณ์ที่ 3 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิ ในช่วงบ่ายวันศุกร์ที่ผ่านมา ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 3,484 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง เหลือ 3,339 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง


             ขณะที่วันนี้ นายยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น ในฐานะโฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า ได้มีการตรวจพบสารกัมมันรังสี ในอาหาร และผักโขม ใกล้ ๆ กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะแล้ว แต่ยืนยันว่า ยังไม่เป็นอันตรายต่อประชาชน

          นายเอดาโนะ ระบุว่า อาหารที่พบว่า มีสารกัมมันตรังสี คือ นม และผักโขม โดยที่นมปนเปื้อนรังสี อยู่ในจังหวัดฟุกุชิมะ ส่วนผักขมปนเปื้อนพบในจังหวัดอิบารากิซึ่งอยู่ใกล้เคียง

         
อย่างไรก็ตาม ทางการญี่ปุ่นได้สั่งการให้ทางการท้องถิ่น สอบสวนหาที่มาของผลิตภัณฑ์ดังกล่าว และได้ขอให้บรรดาผู้บริโภคอย่าได้ตื่นตระหนก และชี้แจงว่า ยังไม่เป็นอันตราย เพราะหากดื่มนมปนเปื้อนดังกล่าวเป็นเวลา 1 ปี จะได้รับรังสีเท่ากับการทำซีทีสแกน 1 ครั้งเท่านั้น


โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ


[18 มีนาคม] ญี่ปุ่นเพิ่มความรุนแรงทางนิวเคลียร์ เป็นระดับ 5

          สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า ญี่ปุ่น ได้ประกาศยกระดับความรุนแรงทางนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ จากระดับ 4 เป็นระดับ 5 แล้ว จากทั้งหมด 0 - 7 ระดับ ทั้งนี้ เป็นไปตามสภาพความเสียหายของเตาปฏิกรณ์ และปริมาณรังสีในบริเวณข้างเคียง

          โดย ระดับ 5 หมายถึง อุบัติเหตุที่มีผลกระทบต่อภายนอกโรงงาน ก่อให้เกิดความเสียหายรุนแรงต่อสถานปฏิบัติการนิวเคลียร์ หรือมีการแพร่กระจายของสารกัมมันตรังสีออกสู่ภายนอก ในระดับเทียบเท่ากับกัมมันตภาพของไอโอดีน-131 ในช่วง 100-1,000 เทระเบ็กเคอเรล ทำให้ต้องมีการใช้แผนฉุกเฉินบางส่วน

          ขณะที่สำนักงานความปลอดภัยทางนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น เผย พบกลุ่มควันออกมาจากอาคารคลุมเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ หมายเลข 2 ที่โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ - ไดอิจิ ซึ่งทางเจ้าหน้าที่สันนิษฐานว่า อาจมาจากบ่อเก็บเชื้อเพลิงใช้แล้ว หรือจากการระเบิดในแหล่งเก็บน้ำระบายความร้อนฉุกเฉิน

          ขณะเดียวกัน ไมนิจิ ชิมบุน สื่อดังของประเทศญี่ปุ่น ออกมาเผยว่า นายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง ได้ปฏิเสธคำร้องขอในการถอนกำลังเจ้าหน้าที่ของ บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก เพาเวอร์ โค หรือ เทปโก ก่อนจะได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติหน้าที่ต่อไป โดยทางด้าน "เทปโก" ได้เคยให้สัมภาษณ์ว่า "มันเป็นเรื่องยากลำบากมาก ที่จะต้องเห็นพนักงานของตนเอง ปฏิบัติหน้าที่ในโรงไฟฟ้า ที่มีการฟุ้งกระจายของสารกัมมันตรังสีในระดับสูง"

          นอกจากนี้ ยังมีการเปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง ได้ให้เหตุผล ในการสั่งให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติการในโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ - ไดอิจิ ว่า "การถอนคนงาน เป็นไปไม่ได้เด็ดขาด เทปโก จะล้มหรือไม่ ไม่สำคัญ สำคัญที่ญี่ปุ่นจะเสียหายมากน้อยแค่ไหน"

          สำหรับ โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ - ไดอิจิ มีพนักงานในโรงไฟฟ้าถึง 5,000 คน แต่ทางด้าน "เทปโก" ไม่ได้เปิดเผยว่าในตอนนี้ มีพนักงานกี่คน ที่กำลังปฏิบัติหน้าที่ แต่มีการคาดการณ์ว่า น่าจะมีพนักงานปฏิบัติงานอยู่ 70 คน

          ด้านองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ หรือ CTBT ออกมาระบุว่า
ด้าน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสหรัฐฯ คาดว่า สารกัมมันตรังสี ที่ลอยมาในชั้นบรรยากาศ น่าจะถูกเจือจางมาตลอดเส้นทางข้ามมหาสมุทรแปซิฟิก ก่อนจะถึงสหรัฐ

          เกี่ยวกับเรื่องนี้ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐ กล่าวแสดงเพื่อเรียกคืนความมั่นใจให้แก่ประชาชน ที่กำลังหวาดวิตกอยู่กับสารกัมมันตรังสี ว่า สารกัมมันตรังสี ที่เข้าถึงสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็น เวสต์โคสต์, ฮาวาย, อลาสก้า หรือ ดินแดนของสหรัฐในแปซิฟิก จะไม่มีอยู่ในระดับที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ ไม่ได้คาดหวังในระดับที่เป็นอันตราย

          ส่วนเครื่องบินเช่าเหมาลำเที่ยวแรกของสหรัฐฯ เดินทางออกจากประเทศญี่ปุ่น มุ่งหน้าไปยังไต้หวันแล้ว พร้อมผู้โดยสาร เกือบ 100 คน ที่ประสงค์จะเดินทางออกประเทศท่ามกลางความหวาดกลัวหายนะจากอุบัติเหตุนิวเคลียร์ โดยผู้โดยสารส่วนใหญ่ เป็นสมาชิกครอบครัวของบุคลากรทางการสหรัฐ ส่วนเที่ยวบินอื่น ๆ จะออกเดินทางจากประเทศญี่ปุ่นในวันนี้เช่นเดียวกัน 

         


ดร.บุรินทร์ อัศวพิภพ
ดร.บุรินทร์ อัศวพิภพ


          ด้าน ดร.บุรินทร์ อัศวพิภพ อาจารย์ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ขณะนี้ประชาชนกำลังเข้าใจผิดเกี่ยวกับเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ระเบิดที่ประเทศญี่ปุ่นนั้น ยืนยันเตายังไม่ระเบิด แต่เป็นระบบหล่อเย็นมีปัญหา ทำให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมา ส่วนที่ระเบิด เป็นแค่ตัวอาคารด้านนอก เพราะตัวเตาปฏิกรณ์จะอยู่ด้านใน อย่างไรก็ตาม หากเตามีปัญหาจริง จะมีความรุนแรงกว่านี้ โดยหากคนทั่วไป ได้รับสารจะไม่สามารถทราบได้ ต้องใช้เครื่องตรวจวัดจึงจะทราบได้ แต่คนที่ได้รับเป็นปริมาณจำนวนมาก จะมีอาการวิงเวียนศีรษะ อาเจียน และอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งหากมีการรั่วไหลเป็นปริมาณที่มากแล้วไหลเข้าไปในแหล่งน้ำ สัตว์ทะเล ก็จะมีการปนเปื้อนไปด้วย

          สำหรับสารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลอยู่ในเมืองฟุกุชิมะ ซึ่งห่างจากกรุงโตเกียว 200 กิโลเมตรนั้น เชื่อว่า คนโตเกียวยังไม่ได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตามผลกระทบ หากมีสารกัมมันตภาพรังสี ปนเปื้อนในอากาศจำนวนมาก อาจทำให้สิ่งมีชีวิตกลายพันธุ์ได้ ขณะที่คน ก็อาจจะเป็นมะเร็งได้ เพราะทำให้เซลล์ในร่างกายแตกตัวผิดปกติ และปัจจุบันยังรักษาไม่ได้

          ดร.บุรินทร์ ยังมองว่า สำหรับประเทศไทย ยังไม่พร้อมที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เพราะไม่มีความพร้อม ทั้งทางด้านบุคลากร และประชาชน เนื่องจากประชาชนยังไม่สามารถยอมรับได้ ดังนั้นจึงฝากให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไปคิดทบทวนเป็นการบ้านว่า จำเป็นต้องมี หรือไม่มี ควรมีการประเมินถึงผลดีและผลเสียด้วย



โรงงานพลังงานนิวเคลียร์
 

 

[17 มีนาคม] ญี่ปุ่นรับวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ อยู่เหนือการควบคุม - เป็นอันตราย

          รัฐบาลญี่ปุ่นรับวิกฤตที่โรงไฟฟ้าพลังนิวเคลียร์ หมายเลข 1 อยู่เหนือการควบคุมแล้ว สารกัมมันตภาพรังสีรั่วอยู่ในระดับอันตราย เจ้าหน้าที่ 25 คน ได้รับบาดเจ็บ และอีก 19 คน ได้รับรังสีในปริมาณมาก


         ความคืบหน้าความเสียหายในโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ-ไดอิจินั้น องค์การความปลอดภัยในอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ประเมินว่า แท่งเชื้อเพลิงที่เตาปฏิกรณ์หน่วยที่ 1 ได้รับความเสียหายราว 70%  ขณะที่สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า แท่งเชื้อเพลิงของหน่วยที่ 2 ได้รับความเสียหาย 33%  และแกนของเตาหน่วยที่ 1 และ 2 ได้หลอมละลายบางส่วนแล้ว

          ด้านสถานการณ์ล่าสุดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกุชิมะ ไดอิจิ หมายเลข 1 ยังพบว่า มีกลุ่มควันพวยพุ่งออกมาจากเตาปฏิกรณ์ที่ 3 ทำให้รัฐบาลต้องออกมากล่าวถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสียหายขึ้นกับแท่งเชื้อเพลิงนิวเคลียร์ และมีโอกาศมากขึ้นที่กลุ่มควันที่พวยพุ่งขึ้นมานั้น จะหลอมเอาสารกัมมันตรังสีขึ้นมาด้วย ทางด้าน พนักงานโรงไฟฟ้าฟูกูจิมะ ประมาณ 180 คน เร่งทำงานเพื่อป้องกันไม่ให้สารกัมมันตรังสีรั่ว ทั้งที่รู้ว่าเสี่ยงกับการเสียชีวิต แต่ทุกคนก็ต้องทำ เนื่องจากหากสารดังกล่าวรั่วออกมา อาจทำให้เกิดผลกระทบมากมาย 

         
ขณะที่ เว็บไซต์หนังสือพิมพ์อาซาฮี ของญี่ปุ่น รายงานว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ หมายเลข 1 กำลังจะอยู่เหนือการควบคุม หลังเกิดการระเบิดถึง 3 ครั้ง และไฟไหม้ 2 ครั้ง มีสารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลในระดับอันตราย จากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 4 เตา จากทั้งหมด 6 เตา ทั้งนี้ นายยูคิโอะ เอดาโน เลขาธิการคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่น และโฆษกรัฐบาล เปิดเผยว่า ระดับของสารกัมมันตรังสี เพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ ระดับ 400 มิลลิซีเวิร์ต รอบเตาปฏิกรณ์ทั้ง 4 แห่ง และเป็นระดับเป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์

         
 
ทั้งนี้ หลังจากเจ้าหน้าที่และผู้เชี่ยวชาญรวมทั้งสิ้น 180 คน ได้เสี่ยงชีวิตเพื่อร่วมกันปฏิบัติภารกิจยับยั้งการรั่วไหลของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ หลังจากสั่งอพยพผู้คนออกจากเมืองเพื่อหลีกเลี่ยงจากอันตรายของสาร กัมมันตรังสีที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่เมื่อวานนี้ ล่าสุด มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่จำนวน 25 คน ได้รับบาดเจ็บจากการพยายามควบคุมการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี ขณะที่อีก 19 คน ถูกตรวจพบว่าได้รับสารกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก ส่วนรายงานผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายขณะนี้ มีจำนวนรวมกว่า 14,650 คนแล้ว


 
         ด้าน ประธานาธิบดีอูโก ชาเวซ ของเวเนซุเอลา เผยว่า ได้สั่งยุติแผนการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์แล้ว "เป็นเรื่องที่มีความเสี่ยงสูงมากและเป็นอันตรายแก่โลก ขนาดญี่ปุ่นซึ่งมีเทคโนโลยีและมีความก้าวหน้าก็ยังเจอวิกฤติ"  วันเดียวกัน คณะรัฐมนตรีของจีนประกาศว่าจีนได้ระงับการอนุมัติโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แห่งใหม่แล้ว ซึ่งจีนกำลังก่อสร้างเตาปฏิกรณ์ประมาณ 28 หน่วย หรือราว 40% ของโครงการที่กำลังก่อสร้างรวมกันทั้งโลก

        
ในขณะที่ประธานาธิบดีลี มุงบัก ของเกาหลีใต้ ก็ได้สั่งการให้ตรวจสอบความปลอดภัยที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ในประเทศ โดยเฉพาะการประเมินความพร้อมรับมือภัยธรรมชาติ ซึ่งเกาหลีใต้มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 21 ตัว ผลิตไฟฟ้าได้ 40% ของประเทศ และกำลังหาพื้นที่เพื่อสร้างเตาปฏิกรณ์เพิ่ม

        
สำหรับความเคลื่อนไหวในไทยนั้น แถลงการณ์ของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ฉบับที่ 7 ได้แจ้งข้อมูลปริมาณรังสีแกมมาในอากาศ ที่สถานเฝ้าระวังทางรังสีแห่งชาติ เมื่อเวลา 15.30 น. วันที่ 15 มีนาคม ว่าทั้งหมดอยู่ในระดับปกติของรังสีที่มีในธรรมชาติ โดย กทม. มีอัตรา 0.045 ไมโครซีเวิร์ต, เชียงใหม่ 0.042 ไมโครซีเวิร์ต, ขอนแก่น 0.054 ไมโครซีเวิร์ต, อุบลราชธานี 0.068 ไมโครซีเวิร์ต, ตราด 0.084 ไมโครซีเวิร์ต, ระนอง 0.101 ไมโครซีเวิร์ต และสงขลา 0.050 ไมโครซีเวิร์ต
 
 ฝรั่งเศสคาดใน 2 วัน ญี่ปุ่นจะเท่าเชอร์โนบิล
 
          เทียร์รี ชาร์ลส์ เจ้าหน้าที่สถาบันเพื่อการปกป้องอันตรายจากรังสีและความปลอดภัยนิวเคลียร์ ของฝรั่งเศส ได้ออกมาเตือนญี่ปุ่น ว่า ให้รีบตัดสินใจในการแก้ปัญหาวิกฤตินิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ซึ่งเกิดระเบิดขึ้น 4 ครั้ง ไฟไหม้ 2 ครั้ง หลังแผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ที่ผ่านมา เพราะอาจจะเกิดหายนะเลวร้ายกว่าเหตุระเบิดที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล ในยูเครน เมื่อ 20 ปีก่อน

          โดยผู้เชี่ยวชาญ ระบุว่า เวลา 48 ชั่วโมง นับจากนี้ เป็นช่วงเวลาสำคัญของญี่ปุ่น ในการตัดสินใจแก้ปัญหาที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เพราะว่าที่ผ่านมา ยังไม่เห็นว่าความพยายามวิธีไหนจะได้ผล และสถานการณ์เสี่ยงมากยิ่งขึ้น แต่ก็ยังหวังว่าญี่ปุ่น จะหาทางควบคุมได้

อังกฤษ เชื่อ ญี่ปุ่น คุมรังสีได้

          มัลคอล์ม กริมสตัน ผู้เชี่ยวชาญนิวเคลียร์ของอังกฤษ กลับมีความเห็นต่างกัน ระบุว่า เหตุการณ์ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ จะไม่เหมือนที่เชอร์โนบิล พร้อมทั้งอธิบายว่า กระบวนการทำงานของเตาปฏิกรณ์หยุดลงเกือบ 5 วัน แล้ว ทำให้มั่นใจว่า น่าจะเหลือสารกัมมันตภาพรังสีเพียงเกือบ 2 ใน 3 และสารกัมมันตภาพรังสีบางชนิดก็สูญสลายไป

          ทั้งนี้ ข้อมูลจากสมาคมนิวเคลียร์โลก ระบุ เตาปฏิกรณ์ 11 เครื่องจากทั้งหมด 54 เครื่อง ในญี่ปุ่น ใช้งานมากว่า 35 ปี และ 2 เครื่อง ในจำนวนนี้ ถูกจัดให้เป็นกลุ่มเตาปฏิกรณ์ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุด 10 เครื่องของโลกด้วย


ยูเครน ชี้ควรยกระดับความรุนแรงรังสีในฟุกุชิมะ
 
          ผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ของประเทศยูเครน ได้ออกมาเตือนญี่ปุ่นและพลเมือง ว่า การระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ที่เมืองฟุกุชิมะ ว่า อาจจะรุนแรงเหมือนกับ เชอร์โนบิล ในยูเครน เมื่อ 20 กว่าปีก่อน โดยระบุว่า เวลานี้ โรงไฟฟ้าของญี่ปุ่น น่าจะถูกยกระดับความรุนแรงของสารกัมมันตภาพรังสี จากขั้นที่ 3 ไปสู่ขั้นที่ 4 จากทั้งหมด 7 ระดับแล้ว โดยระดับที่ 3 หมายถึง อาจจะมีผลต่อสุขภาพของผู้ปฏิบัติงานในโรงงาน ส่วนระดับ 4 หมายถึง รังสีอันตรายถึงชีวิตต่อผู้ปฏิบัติงาน

 


 

 

 

[16 มีนาคม] ญี่ปุ่นถอนเจ้าหน้าที่ ออกจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะด่วน
    
          ทางการญี่ปุ่น สั่งถอนกำลังเจ้าหน้าที่ออกจากโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ด่วน เร่ง ขอเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญ และเจ้าหน้าที่ทหารสหรัฐฯ เข้าดำเนินการแทน หลังพยายามแก้ไขปัญหาแกนเตาปฏิกรณ์มาถึง 3 วัน
    
          รายงานจากสำนักข่าวต่างประเทศวันนี้ (16 มีนาคม) ว่า ขณะนี้ ทางรัฐบาลญี่ปุ่น มีคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติหน้าที่ในโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟุกุชิมะ เป็นอันขาด เนื่องจากในช่วงเช้าที่ผ่านมา  เกิดเหตุไฟไหม้ซ้ำที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข  4  ทั้งนี้ ทางรัฐบาลเกรงว่า เจ้าหน้าที่จะได้รับอันตราย เพราะระบบความร้อนของเตาปฏิกรณ์ได้เสียหายทั้งหมด ส่งผลให้สารกัมมันตรังสีรั่วไหลออกมาให้ปริมาณที่เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์  จึงเร่งย้ายเจ้าหน้าที่ และคนงานออกจากที่ดังกล่าวโดยด่วน หลังจากที่พยายามแก้ไขปัญหาของเตาปฏิกรณ์มาถึง 3 วัน

         อย่างไรก็ตาม หน่วยงานนิวเคลียร์ญี่ปุ่นได้คาดการณ์ว่า แท่งปฏิกรณ์หมายเลข  1 จะเสียหายมากถึง 70 % จากการระเบิดของอาคารครอบเตาหมายเลข 1 และ เตาหมายเลข 2 จะเสียหายมากถึง 33 % ส่วนเตาหมายเลข 4 ที่เกิดไฟไหม้ ยังไม่สามารถยืนยันความเสียหายได้ ทางด้านเตาปฏิกรณ์หมายเลข 5 และ 6 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ญี่ปุ่น เสี่ยงระเบิด หลังอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเจ้าหน้าที่กำลังใช้ความสามารถอย่างสุดความสามารถ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระเบิดของก๊าซไฮโดรเจนขึ้นเหมือนกับที่เตาปฏิกรณ์ หมายเลข 4

        ขณะที่ ทางการญี่ปุ่นได้ขอให้ทหารสหรัฐอเมริกา และผู้เชี่ยวชาญเข้ามาช่วยเหลือและดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ ทางการญี่ปุ่นได้ระงับแผนการที่ใช้เฮลิคอปเตอร์เทน้ำเพื่อป้องกันการไหลของรังสีแล้ว เพราะหวั่นที่จะกลัวการผิดพลาด ส่วนทาง ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ หรือ IAEA เตรียมส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านการตรวจสอบสภาพสิ่งแวดล้อมและการประสานงานให้ ความช่วยเหลือไปยังประเทศญี่ปุ่นเร็ว ๆ นี้

        พร้อมกันนี้ ทางองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก หรือ WMO (World Meteorological Organization) เปิดเผยว่า สภาพแวดล้อม ทางอุตุนิยมวิทยาในขณะนี้บ่งบอกว่า สาร กัมมันตรังสีที่รั่วไหลจากโรงงานนิวเคลียร์ ใน จ. ฟูกุชิมะ ญี่ปุ่น ถูกพัดออกนอกชายฝั่งแล้ว แต่เตือนว่า อาจเกิดความผันผวนขึ้นได้ เพราะระบบอากาศมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จึงยังไม่อาจระบุได้อย่างชัดเจนว่า อีก 2-3 วันข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้น

         สำหรับ สำนักงานความปลอดภัยนิวเคลียร์ของฝรั่งเศส ยกระดับความรุนแรงของอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะของญี่ปุ่น อยู่ที่ระดับ 6 จาก 7 ตามมาตรฐานสากล ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับอุบัติเหตุร้ายแรง โดยระดับขั้นความรุนแรงของอุบัติเหตุครั้งนี้อยู่ตรงกลางระหว่างอุบัติเหตุ ที่ ทรี ไมล์ ไอแลนด์ รัฐเพนซิลเวเนีย ในปี 2522 ซึ่งมีความรุนแรงอยู่ที่ระดับ 5 ส่วนอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล อยู่ที่ระดับ 7 ซึ่งเป็นระดับสูงสุด

       





[15 มีนาคม]รังสีรอบโรงนิวเคลียร์-กรุงโตเกียว ลดลงแล้ว

          บ่อหล่อเย็น เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ 2 โรงงานไฟฟ้าในฟุกุชิมะ เกิดระเบิด เจ็บ 15 ราย ขณะที่เตาหมายเลข 4 เกิดไฟไหม้ สารรั่วไหลรุนแรง สั่งอพยพคนแล้ว ชี้สารกัมมันตรังสีรอบโรงไฟฟ้าอยู่ในระดับอันตราย แพร่ถึงโตเกียวสูงกว่ามาตรฐาน 20 เท่า ก่อนลดระดับลงแล้วในช่วงเย็น

          เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2554 สำนักข่าวของญี่ปุ่น รายงานว่า เวลา 06.10 น. ตามเวลาท้องถิ่น เกิดเหตุบ่อหล่อเย็นข้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่ 2 ในโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะได้ระเบิดขึ้น ทำให้เตาปฏิกรณ์ได้รับความเสียหาย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 15 คน รัฐบาลญี่ปุ่น คาดมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการรั่วไหลอย่างรุนแรง เร่งอพยพประชาชนในรัศมีโดยรอบแล้ว

          ทั้งนี้ บริษัท โตเกียว อิเล็กทริก พาวเวอร์ ระบุว่า สถานการณ์ระเบิดที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 2 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ เมื่อเช้านี้ อาจอยู่ในขั้นหลอมละลาย ซึ่งถือว่าเป็นขั้นที่อันตราย แรงระเบิดทำให้ระบบควบคุมแรงดันเสียหาย ส่งผลให้ระดับการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีเพิ่มสูงขึ้นทันทีเป็น 965.5 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง ก่อนพุ่งสูงขึ้นเป็น 8,217 ไมโครซีเวิร์ตในอีกไม่กี่ชั่วโมงถัดมา ซึ่งตัวเลขนี้สูงกว่าถึง 8 เท่าของระดับที่ประชาชนจะได้รับตามธรรมชาติในเวลา 1 ปี อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทได้สั่งให้อพยพคนงานออกจากโรงไฟฟ้าแล้ว ยกเว้นคนที่มีหน้าที่สำคัญในการระบายความร้อนของเตาปฏิกรณ์

          สำหรับ ซีเวิร์ต คือหน่วยที่ใช้วัดปริมาณของรังสีที่เนื้อเยื่อได้รับ โดยปกติแล้วคนเราจะรับสารกัมมันตรังสีต่อปีที่ 1,000 ไมโครซีเวิร์ต


เกิดไฟไหม้ เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ล่าสุดดับแล้ว


เกิดไฟไหม้ เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4


          นายนาโอโตะ คัง นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์ แสดงความเป็นห่วงต่อประชาชนในเมืองฟุกุชิมะ หลังจากเกิดระเบิดที่เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หมายเลข 1 - 3 ระเบิด และมีรายงานว่า ได้เกิดไฟไหม้ ที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ด้วย โดยเตือนให้ประชาชนอยู่ในบ้านอย่างสงบ และรอการอพยพออกจากพื้นที่รัศมีโดยรอบ 30 กิโลเมตร เพื่อความปลอดภัย ซึ่งทางโฆษกญี่ปุ่น เปิดเผยว่า การที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 ไฟไหม้ ทำให้มีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีเพิ่มมากขึ้นด้วย

          อย่างไรก็ตาม มีรายงานว่าเมื่อเวลาประมาณ 12.00 น. เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมเพลิงได้แล้ว

          ด้าน นายยูกิโอะ เอดาโนะ เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ในฐานะโฆษกรัฐบาล กล่าวว่า ยังไม่สามารถยืนยันถึงความเสียหาย และการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีแต่อย่างใด ส่วนโฆษกของหน่วยงานด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ญี่ปุ่น นายชิเกกาสึ โอมุคาอิ กล่าวว่า แกนของนิวเคลียร์ ไม่ได้รับความเสียหาย แต่อาจจะทำให้อุปกรณ์ครอบแกนได้รับความเสียหาย


พบโพรงนอกเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4

          หน่วยงานด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น เปิดเผยว่า ตรวจพบโพรงขนาด 8 ตารางเมตร จำนวน 2 โพรง บริเวณกำแพงด้านนอกอาคารเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 หลังจากเกิดเหตุไฟไหม้เมื่อเช้านี้ ขณะเดียวกัน มีรายงานว่า น้ำที่อยู่บริเวณบ่อเก็บพลังงานนิวเคลียร์ที่ใช้แล้วของเตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 อาจจะกำลังเดือด และระดับน้ำกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง


คาดกัมมันตรังสี ถึงโตเกียวใน 10 ชม.

          นายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง ของญี่ปุ่น ได้ออกประกาศทางสถานีโทรทัศน์ให้ประชาชน ในรัศมี 30 กิโลเมตร ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ฟูกิชิมะ ออกจากพื้นที่โดยด่วน เนื่องจากมีค่าระดับสารกัมมันตภาพรังสีเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังเตือนไปถึงประชาชนว่า ควรอยู่ให้ไกลรัศมี 20-30 กิโลเมตร รวมถึงไม่ควรเปิดเครื่องปรับอากาศ หรือพัดลม ที่จะมีการดูดอากาศแต่อย่างใด และต้องปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิด เพื่อความปลอดภัยจากสารกัมมันตรังสีที่รั่วไหล

          ด้าน สถานทูตฝรั่งเศสในญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์เตือนพลเมืองของตนเองว่า รังสีที่รั่วไหล อาจถึงกรุงโตเกียวใน 10 ชั่วโมง ประชาชนจึงไม่ควรออกจากบ้าน และควรปิดประตูหน้าต่างมิดชิด เพื่อป้องกันสารกัมมันตรังสีด้วย


นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ยอมรับระดับรังสีอันตราย

          นายกรัฐมนตรี นาโอโตะ คัง ของญี่ปุ่น ระบุว่า ปริมาณกัมมันตรังสีรอบ ๆ โรงไฟฟ้าฟูกุชิมะ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยรั่วไหลออกมาพร้อมกับก๊าซไฮโดรเจน อยู่ในระดับอันตราย มากกว่าระดับมาตรฐานความปลอดภัยถึง 4 เท่า ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ และสามารถตรวจจับได้ไกลถึงกรุงโตเกียว ซึ่งอยู่ห่างออกไป 250 กิโลเมตร


สารกัมมันตรังสีในโตเกียวเพิ่มสูงเกือบ 20 เท่า
 
          การวัดระดับสารกัมมันตรังสีได้ในกรุงโตเกียวล่าสุด วันนี้ (15 มี.ค.54) พบว่า อยู่ในระดับเกินกว่าปกติเกือบ 20 เท่า แต่ยังไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยอยู่ในระดับ 0.809 ไมโครซีเวิร์ต/ชั่วโมง ขณะที่ระดับปลอดภัย คือ 500 ไมโครซีเวิร์ต ซึ่งทางรัฐบาลยอมรับว่า ระดับของการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี บริเวณใกล้โรงไฟฟ้า อยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพแล้ว 

          อย่างไรก็ตาม ล่าสุดเมื่อช่วงบ่ายของวันนี้ ทางกรุงโตเกียว ระบุว่าระดับของรังสีลดลงมาอยู่ที่ 0.075 ไมโครซีเวิร์ต ซึ่งถือว่าใกล้เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ยังต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด


ระทึก! อิราบากิ วัดรังสีรั่วไหลได้ 100 เท่าของระดับปกติ

          จากการระเบิดของเตาปฏิกรณ์ในโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่า ส่งผลให้รังสีรั่วไหลออกมาในปริมาณมาก โดยในจังหวัดอิราบากิ ทางตอนใต้ของฟุกุชิม่า วัดปริมาณรังสีที่รั่วไหลออกมาได้ 100 เท่าของระดับที่ประชาชนจะได้รับตามธรรมชาติ ขณะที่ในจังหวัดคานากาว่า ทางตะวันตกเฉียงใต้ของโตเกียว วัดปริมาณรังสีได้เกือบ 9 เท่าของระดับที่ประชาชนจะได้รับตามธรรมชาติ


คาด 160 คน อาจได้รับสารกัมมันตรังสี

          หน่วยงานความปลอดภัยทางอุตสาหกรรมและนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น กล่าวว่า มีผู้คน 160 ราย อาจได้รับสารกัมมันตรังสีรอบโรงงาน และมีพนักงาน 3 ราย ได้รับสารกัมมันตรังสีอย่างเต็มขั้น นอกจากนี้ ยังมีรายงานเปิดเผยว่า มีประชาชนได้รับสารกัมมันตรังสีเพิ่มขึ้นอีก 19 คน

          สำหรับโรงงานไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ มีเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทั้งสิ้น 6 เตา เตาหมายเลข 1 เป็นเตาที่มีอายุการใช้งานมากที่สุด โดยเริ่มปฏิบัติงานนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ค.ศ.1971 ขณะที่เตาหมายเลข 2 เริ่มปฏิบัติการเชิงพาณิชย์เมื่อปี ค.ศ.1974 ขณะที่เตาหมายเลข 3 เริ่มใช้งานอีก 2 ปีต่อมา


สหรัฐฯ ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ไปญี่ปุ่น
 
          มีรายงานว่า ทางสหรัฐอเมริกา ได้จัดส่งผู้เชี่ยวชาญพิเศษ และผู้จัดการด้านพลังงานนิวเคลียร์ เดินทางไปญี่ปุ่นเพิ่มเติมอีก 8 คน ตามการร้องขอ ซึ่งทีมดังกล่าว จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือด้านคำแนะนำ และเทคนิคอื่น ๆ เพื่อพยายามปิดการทำงานของเตาปฎิกรณ์นิวเคลียร์ รวมทั้งศึกษาป้องกันถึงผลกระทบของรังสีที่รั่วไหลออกมา อันอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนและสิ่งแวดล้อมโดยรอบ โดยทีมงานจะเดินทางถึงโตเกียว ภายในวันพุธที่ 16 มี.ค.นี้


ทำความรู้จักกับ สารกัมมันตรังสี

          สารกัมมันตรังสี คือ สารที่สลายตัวปลดปล่อยรังสีออกมา โดย รังสี คืออนุภาคหรือคลื่นที่ปลดปล่อยออกมาจากอะตอมของสารกัมมันตรังสี จึงไม่มีสี กลิ่น หรือสิ่งที่ทำให้สังเกตเห็นได้ สามารถจำแนกตามลักษณะการเกิดได้จาก 2 แหล่ง ดังนี้

          1. จากธรรมชาติ สารกัมมันตรังสีจากธรรมชาติ เช่น ยูเรเนียม 235 , ยูเรเนียม 238, คาร์บอน 14 ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมกับการเกิดของโลก

          2. จากมนุษย์ประดิษฐ์ขึ้นมาเอง เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นจากปฏิกิริยานิวเคลียร์ในเครื่องปฏิกรณ์ปรมาณู (Nuclear reactor) หรือในเครื่องเร่งอนุภาค ซึ่งสารกัมมันตรังสีที่ได้จากการผลิต เช่น โคบอลต์ 60, ไอโอดีน 131 , ซีเซียม 137, นิวตรอน

          สำหรับสารกัมมันตรังสีทั้ง 2 กลุ่มนี้ จะให้รังสีออกมา ได้แก่ รังสีแอลฟ่า , รังสีเบต้า , รังสีแกมมา นิวตรอน นอกจากนี้ รังสีที่เป็นที่รู้จักกันดีและใช้กันอย่างกว้างขวางมีประโยชน์มากมาย ได้แก่ รังสีเอกซ์(X-ray) สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งทางการแพทย์ อุตสาหกรรม การเกษตรและงานวิจัยต่าง ๆ ขณะเดียวกัน รังสี ก็มีอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ได้เช่นเดียวกัน

อันตรายจากรังสีต่อมนุษย์

          1. การได้รับรังสีจากแหล่งกำเนิดรังสีจากภายนอก ( External exposure ) ความรุนแรงของการบาดเจ็บ ขึ้นอยู่กับความแรงของแหล่งกำเนิดและระยะเวลาที่ได้รับรังสี แต่ตัวผู้ที่ได้รับอันตรายไม่ได้สารกัมมันตรังสีเข้าไปในร่างกาย จึงไม่มีการแผ่รังสีไปทำอันตรายผู้อื่น

          2. การได้รับสารกัมมันตรังสีเข้าสู่ร่างกาย ( Internal exposure ) มักพบในกรณีมีการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี ที่เป็นก๊าซ ของเหลว หรือฝุ่นละอองจากแหล่งเก็บสารกัมมันตรังสี หรือที่เก็บกากสารกัมมันตรังสีจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เช่น ที่เชอร์โนบิล ประเทศรัสเซีย การระเบิดของอาวุธนิวเคลียร์ ที่ฮิโรชิมาและนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่น

          ทั้งนี้ การกระจายของสารกัมมันตรังสีจะฟุ้งไปในอากาศ น้ำ มนุษย์อาจได้รับรังสีเข้าสู่ร่างกาย ทางการหายใจฝุ่นละอองของรังสี, กินของที่เปรอะเปื้อน, การฝั่งสารกัมมันตรังสีเพื่อการรักษา สารกัมมันตรังสีที่อยู่ในร่างกายจะแผ่รังสีออกมา ทำอันตรายต่อร่างกายเป็นระยะเวลานาน จนกว่าจะถูกกำจัดออกไปจากร่างกายจนหมด และยังสามารถแผ่รังสีไปทำอันตรายคนที่อยู่ใกล้เคียงได้


ผลกระทบจากสารกัมมันตรังสีต่อร่างกายมนุษย์

          องค์การสากลในการป้องกันอันตรายจากรังสี หรือ International Commission on Radiological Protection (ICRP) ได้รวบรวมผลกระทบจากรังสีต่อร่างกายไว้ ดังนี้




มิลลิซีเวิร์ต  คือ  หน่วยวัดปริมาณรังสีที่ร่างกายได้รับ โดยคำนึงถึงผลของรังสีที่มีต่อเซลล์ของสิ่งมีชีวิต


รังสีที่มีความถี่สูงมีผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิต  มีดังนี้







อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
  , โรงพยาบาลวิภาวดี, bangkapi.ac.th     

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
WHO แจงนิวเคลียร์ญี่ปุ่น ไม่ร้ายแรงเทียบเชอร์โนบิล อัปเดตล่าสุด 13 เมษายน 2554 เวลา 11:18:49 315,217 อ่าน
TOP