x close

บช.น.ชี้เส้นทางวิกฤต จากเหตุฝนถล่มกรุง







เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          ฝนถล่มกรุงเทพฯ ทำน้ำท่วมขัง ต้นไม้ล้มหลายจุด เป็นเหตุให้มีรถติดสะสม และมีรถจอดเสีย ด้านกรมอุตุนิยมประกาศเตือน ในช่วงวันที่ 23 - 25 มีนาคม 2554 ไทยต้องประสบปัญหาจากพายุฤดูร้อน และอากาศเย็นลง

          สำนักพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนภัย "พายุฤดูร้อน" ฉบับที่ 5 ลงวันที่ 23 มีนาคม 2554 ว่า ด้วยมีความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนได้แผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย และทะเลจีนใต้ ประกอบกับประเทศไทยที่มีอากาศร้อนอบอ้าว ทำให้เกิดพายุฤดูร้อน ซึ่งส่งผลให้อากาศจะเย็นลง ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บที่อาจตกตกได้บางแห่ง ในช่วงวันที่ 23 - 25 มีนาคม 2554

          ขณะที่เมื่อช่วงเวลา 05.30 น.ที่ผ่านมา ได้เกิดฝนตกอย่างหนักในกรุงเทพฯ ทำให้มีน้ำท่วมขังหลายจุด ประกอบกับลมที่พัดแรงได้ทำให้ต้นไม้ล้มกีดขวางช่องทางจราจร ส่งผลให้รถติดอย่างหนักทั่วกรุงเทพฯ

          สำหรับเส้นทางที่มีน้ำท่วม ต้นไม้ล้มกีดขวาง จนเป็นเหตุให้การจราจรติดขัดอย่างหนัก อาทิเช่น บริเวณถนนอโศกมนตรี หน้าตึกแกรมมี่ - มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร หรือ มศว น้ำท่วมสูงเสมอทางเท้า ทำให้รถที่มุ่งหน้าไปถนนอโศกมนตรี - ถนนสุขุมวิทเคลื่อนตัวได้ช้า ขณะที่ถนนนานามีรถติดสะสมไปจนถึงถนนอโศกมนตรีเช่นกัน ด้านถนนลาดพร้าว มีน้ำท่วมสูง และรถจอดเสียตลอดเส้นทาง

          ส่วนที่บริเวณถนนพหลโยธิน ขาเข้าจากหน้าห้างสรรพสินค้าเซียร์ รังสิต - อนุสรณ์สถานแห่งชาติ - แยกลำลูกกา มีน้ำท่วมสูง บางจุดน้ำทะลักเข้าภายในรถ ส่งผลให้มีรถจอดเสียข้างทางกว่า 10 คัน เช่นเดียวกับถนนบรมราชชนนีรอบนอก -  ถนนพุทธมณฑลสาย 1 ส่วนถนนจรัญสนิทวงศ์ - บางพลัด - สะพานพระราม 7 มีรถเต็มพื้นที่จราจรตลอดเส้นทาง ขณะที่ถนนสาทร - สีลม มีน้ำท่วมสูงตั้งแต่หน้าโรงแรมดุสิตธานีถึงในซอยคอนแวนต์

          นอกจากนี้ ภายในซอยสวนพลู วิทยุการบิน การจราจรติดขัดยาว 200 เมตร , ถนนสุทธิสาร ซอย 2 รถติดขัดถึงแยกสะพานลอยสุทธิสาร ส่วนที่ถนนสุวินทวงศ์ โลตัส-หทัยราษฎร์ มีน้ำท่วมขังสูง 20 เซนติเมตร ระยะทางยาว 300 เมตร


รถติด


          ขณะที่ลมที่พัดแรงได้ทำให้ต้นไม้ล้มในหลายจุด เช่น ที่ซอยทองหล่อ 23 มีต้นไม้ล้มขวางถนน 2 ช่องทาง เช่นเดียวกับที่ซอยลัดสมาคมชาวปักษ์ใต้  และบริเวณตึกทรู ถนนรัชดาภิเษกขาเข้ามีต้นไม้กีดขวางเส้นทาง 2 ช่อง และที่หน้าประตู 1 สวนจตุจักร มีต้นไม้ล้มกีดขวาง 3 ช่องทาง ส่วนที่ถนนกรุงเทพ-นนท์ ได้มีนั่งร้านล้มกีดขวางช่องทางเช่นกัน

          หน้าตลาดอมรพันธุ์ถึงโรงพยาบาลวิภาวดี มีน้ำท่วมขังสูงถึงขอบทางเท้า เช่นเดียวกับเส้นบรรทัดทองทั้งขาเข้า-ขาออก หน้าสโมสรตำรวจ ถนนศรีอยุธยา ถนนงามวงศ์วานในอุโมงค์เกษตร และแยกพงษ์เพชร แยกมหาดไทยถึงลาดพร้าว 64 แยกเทียมร่วมมิตร  ถนนรัชดาตั้งแต่กรมส่งเสริมการส่งออกถึงรัชดาลาดพร้าว 3 มีน้ำท่วมที่ช่องทางซ้าย เสมอทางเท้า รวมทั้งที่ถนนแจ้งวัฒนะ ขาเข้า ตั้งแต่โลตัสถึงศูนย์ราชการ

          ส่วนที่ถนนพหลโยธินขาเข้า ตั้งแต่สะพานใหม่-วัดพระศรีฯ มีน้ำท่วมขังที่ช่องทางซ้าย เช่นเดียวกับบริเวณถนนพัฒนาการ 30-34 ถนนแจ้งวัฒนะ ตั้งแต่สะพานเค-วงเวียน ถนนพหลโยธิน ตั้งแต่ลำลูกกา-บีแคร์ ทุกช่องน้ำสูง 20 เซนติเมตร

          ทางด้านนายสัญญา ชีนิมิต ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กรุงเทพมหานคร กล่าวถึงสภาพปัญหาฝนตกหนักในช่วงเช้าของวันนี้ (23 มีนาคม) ว่า หลังเกิดฝนตกหนักในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วง 05.30 น. จนถึงขณะนี้ พบว่า มีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่ของกรุงเทพฯ เนื่องจากระบายน้ำไม่ทัน ทางสำนักระบายน้ำ กรุงเทพฯ ก็ได้ระดมเจ้าหน้าที่สำนักการระบายน้ำ เพื่อเร่งระบายน้ำในพื้นที่ที่มีปัญหาน้ำท่วมขังกว่า 20 จุดแล้ว แต่ก็ยังพบว่า มีอีก 4 - 5 จุด อาทิ ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งยังมีน้ำยังท่วมสูงอยู่ ส่วนบริเวณ ถนนศรีอยุธยา - ห้วยขวาง สถานการณ์เริ่มดีขึ้นคาดดว่าอีก 2 ชั่วโมง น่าจะเรียบร้อย  ทั้งนี้ เชื่อว่าในช่วง 2 - 3 วันนี้ ทางกรุงเทพฯ  ยังต้องเผชิญปัญหาน้ำท่วมขังอีก

          ด้าน นายวราวุฒิ ขันติยานันท์ ผู้อำนวยการสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร และ นายทรง กลิ่นประทุม ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบน กล่าวถึงการปฏิบัติการทำฝนหลวง เพื่อยับยั้งพายุลูกเห็บ ว่า  เนื่องจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ได้มีประกาศเตือนว่า ในช่วงวันที่ 22 - 24  มีนาคม  จะเกิดพายุฤดูร้อน ส่งผลให้มีฝนตกหนัก ลูกเห็บตก และอากาศจะเย็นลงอีก สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร จึงเตรียมออกปฏิบัติการทำฝนหลวง ด้วยการโจมตีก้อนเมฆ เพื่อลดพายุลูกเห็บ ที่จะสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือนประชาชน โดยจะเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม - 19 เมษายนนี้


สถานการณ์หลังเกิดพายุฤดูร้อน ในแต่ละพื้นที่ของประเทศ


  ภาคเหนือ

          จังหวัดลำปาง

          สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดลำปาง ออกประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่ ให้ระมัดระวังอันตรายจากพายุฤดูร้อน พายุลูกเห็บ และระวังมิให้ถูกฟ้าผ่า ด้วยการาที่หลบกำบังในที่มั่นคงแข็งแรง ไม่สวมใส่เครื่องประดับ หรือประกอบกิจกรรมกลางแจ้ง ในระหว่างที่เกิดพายุฟ้าคะนอง  รวมถึงการตรวจสอบสิ่งปลูกสร้างและบ้านเรือนให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง จัดทำไม้ค้ำยันและสิ่งปกคลุมพืชผลการเกษตร จัดเก็บสิ่งของที่สามารถปลิวลมไว้ในที่มิดชิด


  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

          จังหวัดยโสธร

          ช่วงค่ำเมื่อวานนี้ (22 มีนาคม) เกิดพายุฤดูร้อนถล่ม 3 ตำบล ในเขต อำเภอเขื่อนคำแก้ว จังหวัดยโสธร ทำให้บ้านเรือนประชาชนเสียหายกว่า 100 หลังคาเรือน  สำหรับหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหาย คือ ตำบลย่อ บ้านคำม่วง 25 หลัง บ้านหนองปลา 15 หลัง บ้านโคกประจิก 16 หลัง บ้านดอนดู่ 5 หลัง  ตำบลนาคำ บ้านบักแฮก 5 หลัง บ้านดอนเสาเรือง 5 หลัง ตำบลสงเปือย บ้านโนนยาง 10 หลัง และคาดว่าจะมีหมู่บ้านที่ได้รับความเสียหายเพิ่มอีก ประมาณ 100 - 120 หลังคาเรือน

          จังหวัดกาฬสินธุ์

          ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ออกประกาศเตือนประชาชนในพื้นที่ว่า ตลอดทั้งสัปดาห์นี้ สภาพอากาศในพื้นที่จะอากาศแปรปรวน ทำให้บางพื้นที่มีอากาศร้อน และบางพื้นที่มีอากาศหนาว และมีฝนตกสลับกันในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในพื้นที่ อำเภอหนองกุงศรี อำเภอห้วยเม็ก และ อำเภอท่าคันโท ให้ระมัดระวังการเกิดพายุฤดูร้อน ทั้งนี้ ขอให้ประชาชน คอยสังเกตสภาพท้องฟ้าด้วย หากเห็นท้องฟ้าเปลี่ยนเป็นสีแดง แสดงว่า อาจจะเกิดพายุได้ ขอให้รีบหลบเข้าไปอยู่ในที่ปลอดภัย


  ภาคกลาง

          จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

          เนื่องมาจากสภาพอากาศที่แปรปรวน จนกลายเป็นพายุฤดูร้อน ทำให้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเช้ามืด จนถึงบ่ายของวันนี้ (23 มีนาคม) ในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่งผลให้บ้านเรือนประชาชนในเขตอำเภอปราณบุรี ได้รับความเสียหายนับสิบหลังคาเรือน ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตเทศบาล ตำบลปากน้ำปราณ หมู่ที่ 1, 2 ในเขต องค์การบริหารส่วนตำบลปากน้ำปราณ หมู่ที่ 2, 3 และ 4 และที่ ตำบลปากน้ำปราณ หมู่ 2 บ้านคลองกิ่ว เบื้องต้นยังไม่พบผู้บาดเจ็บ และเสียชีวิต โดยในขณะนี้ ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประจำจังหวัด ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบความเสียหาย เพื่อเตรียมให้การช่วยเหลือต่อไปแล้ว
 

  ภาคใต้         

          จังหวัดสตูล

          เมื่อวานนี้ (22 มีนาคม) เกิดฝนตกหนักในเขตพื้นที่อำเภอเมือง โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมืองสตูล ทำให้ระบายน้ำไม่ทัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังบนถนนหลายสายในพื้นที่เขตเทศบาล อาทิ บริเวณหน้าโรงแรมพินนาเคิลวังใหม่ ถนนสนูบุตร ถนนสตูลธานี ถนนเรืองฤทธิ์จรูญ ถนนหัตถกรรมศึกษา และถนนยนตรการกำธร ส่งผลให้รถสัญจรไปมาลำบาก

รถติด


พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยตั้งแต่เวลา 06:00 วันนี้ ถึง 06:00 วันพรุ่งนี้

  ภาคเหนือ

          อากาศเย็นในตอนเช้า โดยมีอากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน และมีพายุฝนฟ้าคะนองเป็นแห่ง ๆ ร้อยละ 20 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรง และลูกเห็บตกบางแห่ง ส่วนมากบริเวณด้านตะวันออกและตอนล่างของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 19-22 องศา อุณหภูมิสูงสุด 36-38 องศา ลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. 

  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

          อากาศเย็นในตอนเช้า กับมีอากาศร้อนและมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงและมีลูกเห็บตกได้ในบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดมุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และนครราชสีมา อุณหภูมิต่ำสุด 20-23 องศา อุณหภูมิสูงสุด 35-37 องศา ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. 

  ภาคกลาง

          อากาศร้อนและมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดลพบุรี สระบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี กาญจนบุรี และราชบุรี อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศา อุณหภูมิสูงสุด 35-37 องศา ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม. 

  ภาคตะวันออก

          มีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศา อุณหภูมิสูงสุด 30-34 องศา ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร 

  ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)

          มีฝนฟ้าคะนองปานกลางกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดนครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส อุณหภูมิต่ำสุด 22-25 องศา อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศา ลมตะวันออก ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร 

  ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)

          มีฝนฟ้าคะนองปานกลางกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่ส่วนมากบริเวณจังหวัดพังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศา อุณหภูมิสูงสุด 31-32 องศา ลมแปรปรวน ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ส่วนบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร 

  กรุงเทพมหานครและปริมณฑล

          มีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีพายุฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศา อุณหภูมิสูงสุด 33-34 องศา ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก


 
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
บช.น.ชี้เส้นทางวิกฤต จากเหตุฝนถล่มกรุง อัปเดตล่าสุด 23 มีนาคม 2554 เวลา 17:28:28 34,869 อ่าน
TOP