x close

ตึกสูงกทม.เสี่ยง ชี้ ดินไหวรอดยาก





ตึกสูงกทม.เสี่ยง ชี้ดินไหวรอดยาก (ไทยโพสต์)


            ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมห่วงอาคารทางภาคเหนือ เร่งสำรวจ ผ่านมาตรฐานรับมือแผ่นดินไหว โดยเฉพาะ กทม. ตึกสูงเสี่ยงอันตรายเยอะ ตกมาตรฐานปี 50 ระบุไม่รอดหากรอยเลื่อนใกล้รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ "สุขุมพันธุ์" ตื่น! สร้างตึกป้องกันแผ่นดินไหว เตรียมรื้อ พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร ส่วนทางการพม่ายอมรับเสียหายเยอะ ตัวเลขยังไม่นิ่ง
           
            วิศวกรรม สถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดแถลงข่าวเรื่อง  แผ่นดินไหวในพม่ามีผลต่อไทยหรือไม่ และควรเตรียมรับมืออย่างไร หลังแผ่นดินไหวในพม่าได้สร้างความตื่นตระหนกแก่ประชาชนที่เพิ่งรับมาจาก เหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น

            ผศ.ดร.อาณัฐ เรืองรัศมี อนุกรรมการผลกระทบจากแผ่นดินไหวและแรงลม กล่าวว่า ความเสียหายที่สำรวจพบจากแผ่นดินไหวในประเทศพม่าขนาด 6.7 ริกเตอร์ ได้พบปรากฏการณ์ใหม่คือ เกิดแผ่นดินแยก และมีน้ำผุดขึ้นจากชั้นใต้ดิน ทำให้เสถียรภาพในการยึดเกาะของผิวดินลดลง ดังนั้น วิศวกรควรเร่งดำเนินการฟื้นฟูและป้องกันความเสียหายต่อโบราณสถานโดยพิจารณา เป็นกรณีไป รวมทั้งการสร้างอาคารต่าง ๆ จะต้องคำนึงถึงการโยกตัวของผิวดินด้วย สำหรับความเสียหายในกรุงเทพฯ พบว่ามีการขยายตัวของความเร่งผิวดินอยู่ในระดับต่ำ แต่การสั่นเกิดในระยะเวลาเพียง 2-3 นาที

            ด้าน รศ.ดร.อมร พิมานมาศ ประธานอนุกรรมการวิศวกรรมโครงสร้างและสะพาน กล่าวว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวไม่ได้อยู่นอกสถิติที่ต้องเกิดขึ้น แผ่นดินไหวที่มีความรุนแรงขนาด 7.0-7.9 ริกเตอร์ เฉลี่ย 15 ครั้งต่อปี, ขนาด 6.0-6.9 ริกเตอร์ เฉลี่ย 150 ครั้งต่อปี และขนาด 5.0-5.9 ริกเตอร์ เฉลี่ย 1,500 ครั้งต่อปี ซึ่งในปี 2547 มีแผ่นดินไหวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่ไม่ได้สร้างความเสียหายแต่อย่างใด

            อย่างไรก็ตาม ทำให้ต้องมีการเฝ้าระวังอาคารในภาคเหนือมากขึ้น เพราะแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นทั้งหมดอยู่ที่ความลึกไม่เกิน 30 กิโลเมตร จึงถือเป็นเรื่องที่น่ากลัว แต่ที่จะสามารถสร้างความเสียหายในกรุงเทพฯ ได้ ต้องเป็นแผ่นดินไหวที่เชียงรายขนาด 9 ริกเตอร์ ซึ่งโอกาสเกิดน้อยมาก

             "สิ่งที่น่าวิตกคือ อาจเกิดแผ่นดินไหวทางภาคตะวันตกของประเทศ เนื่องจากมีรอยเลื่อน 2 แห่งคือ รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ และรอยเลื่อนด่านเจดีย์สามองค์ ซึ่งเชื่อมต่อกับรอยเลื่อนสะแกงในพม่า หากเกิดแผ่นดินไหวขึ้น กรุงเทพฯ จะเกิดความเสียหาย เพราะอยู่ใกล้เพียง 300 กิโลเมตรเท่านั้น ซึ่งที่ผ่านมา รอยเลื่อนดังกล่าวเคยเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5-7 ริกเตอร์"

            ประธานอนุกรรมการวิศวกรรมโครงสร้างและสะพาน บอกว่า สิ่งก่อสร้างในกรุงเทพฯ ที่มีโอกาสได้รับความเสียหาย อาทิ

            1.บ้านเดี่ยว อาจจะรับรู้หรือไม่รับรู้ ยกเว้นบ้านที่สร้างแบบสำเร็จ
            2.ตึกแถว
            3.อาคารไร้คาน
            4.อาคารสูงที่มีลูกเล่นเยอะจะอยู่ในเกณฑ์เสี่ยง เพราะถือว่าเป็นอาคารที่สูญเสียสมมาตร ส่วนอาคารเสริมคอนกรีตจะมีความปลอดภัยสูง ยกเว้นกรณีเกิดอาฟเตอร์ช็อก
            5.อาคารที่สร้างจากอิฐล้วน ๆ จะถล่มอย่างสิ้นเชิง

            ดังนั้น การออกแบบอาคารจะต้องออกตามกฎกระทรวงปี 2550 และควรออกแบบให้สามารถต้านทานแผ่นดินไหว โดยเน้นการใส่ปลอกเหล็กในเสาให้สูง เพื่อเพิ่มความเหนียว ทำให้อาคารโยกตัวไปมาได้มากขึ้น

            "ประเทศเรามีข้อมูลต่าง ๆ ครบหมดแล้ว โดยนักวิชาการร่วมกันทำงานวิจัย ทำเป็นคู่มือ เป็นมาตรฐานจนกระทั่งเป็นกฎหมาย สิ่งหนึ่งที่รัฐทำได้คือ บังคับใช้กฎหมายที่มีอย่างเคร่งครัด จะช่วยลดผลกระทบได้ เข้าใจว่าภาคเอกชนมีความพร้อมที่จะช่วยเหลือ เราสามารถให้ความร่วมมือให้ข้อมูลได้ แต่ผู้ที่สามารถทำได้คือรัฐ" รศ.ดร.อมรกล่าว

            นอกจากนี้ รศ.ดร.อมร ยังให้คำแนะนำในการเตรียมความพร้อมของอาคารเพื่อรับมือกับเหตุการณ์สึนามิด้วยว่า ควรหลีกเลี่ยงการก่อสร้างในพื้นที่ 3-4 กิโลเมตรจากชายฝั่ง หลีกเลี่ยงการสร้างอาคารไม้ หรือที่มีน้ำหนักเบา และฐานรากควรมีเสาเข็มที่แข็งแรง ชั้นล่างของอาคารควรปล่อยโล่งให้น้ำไหลผ่านได้ และไม่ควรสร้างชั้นใต้ดินเด็ดขาด นอกจากนี้ จะต้องสร้างสถานที่หลบภัยถาวร โดยยกพื้นสูงประมาณ 8 เมตร ด้านล่างปล่อยโล่งเพื่อให้น้ำไหลผ่านรวม และสร้างสถานที่หลบภัยชั่วคราวด้วย รวมถึงการซ้อมหนีสึนามิเป็นประจำ ต้องสร้างอาคารหลบภัยชั่วคราวโดยยกพื้นสูง

            ด้านนายจักรพันธ์ ภวังคะรัตน์ ประธานคณะกรรมการสาขาวิศวกรรมเครื่องกล ในฐานะผู้บริหารอาคาร กล่าวว่า อาคารสูงควรเตรียมความพร้อมในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นกรณี ไฟไหม้ แผ่นดินไหว หรืออุบัติเหตุอื่น ๆ เช่น    
       

            1.บันไดหนีไฟ ซึ่งเป็นเส้นทางอพยพในทุกกรณี จะต้องปลอดภัย ไม่มีสิ่งกีดขวางทางเดิน มีแสงสว่างเพียงพอ มีป้ายบอกทางที่ได้มาตรฐาน ประตูเข้า-ออก นอกตัวอาคารห้ามล็อกโดยเด็ดขาด มิเช่นนั้นจะถือว่าผิดกฎหมาย
            2.มีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองเพื่อใช้ในการอพยพ
            3.มีสปริงเกลอร์ดับเพลิง
            4.มีระบบแจ้งเตือนที่ใช้ได้ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่าอาคารกว่าครึ่งในกรุงเทพฯ ระบบเตือนภัยเสีย
            5.ต้องมีการตรวจสอบมาตรฐานของอาคารจากวิศวกรที่เชี่ยวชาญเป็นประจำทุกปี แต่ที่ผ่านส่วนมากไม่ค่อยมีการตรวจสอบ

            "ทุกคนควรตั้งคำถามว่า อาคารเหล่านี้มีผ่านการรับรองมาตรฐานแล้วหรือยัง เพราะยังมีตึกในกรุงเทพฯ อีกจำนวนมากที่ยังไม่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน และไม่ใส่ใจที่จะทำการปรับปรุงตัวอาคารให้มีความปลอดภัยอย่างเพียงพอ" นายจักรพันธ์กล่าว

            สำหรับสถานการณ์ใน พม่านั้น เมื่อเวลา 23.30 น. คืนวันศุกร์ ยังเกิดอาฟเตอร์ช็อก วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 4.2 ริกเตอร์ และในเวลา 05.37 น. เช้าวันเสาร์ 4.6 ริกเตอร์ และเวลา 05.57 น. วัดแรงสั่นสะเทือนได้ 4.0 ริกเตอร์ ซึ่งจุดศูนย์กลางอยู่ห่างจาก อ.แม่สาย จ.เชียงราย ไปทางทิศเหนือ 31 กิโลเมตร ขณะที่ชาว อ.แม่สาย ยังคงตื่นกลัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

            ขณะที่ทางการพม่าแจ้งว่า ตัวเลขความเสียหายยังไม่หยุดนิ่ง ขณะนี้รัฐบาลพม่าได้ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจากเหตุการณ์แผ่น ดินไหวในหลายจังหวัดแล้ว ขณะเดียวกันได้ส่งเจ้าหน้าที่ทหาร พลเรือน ช่วยกอบกู้ซากปรักหักพังและค้นหาผู้เสียชีวิต

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ตึกสูงกทม.เสี่ยง ชี้ ดินไหวรอดยาก อัปเดตล่าสุด 28 มีนาคม 2554 เวลา 10:39:43 8,317 อ่าน
TOP