x close

เฮ! ไทยใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนลดลง

คอมพิวเตอร์

เฮ! ไทยใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนลดลง (ไทยโพสต์)

          จากอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนสูงเป็นลำดับต้น ๆ ทำให้เป็นหนึ่งในประเทศ ที่ติดบัญชีถูกจับตามองเป็นพิเศษจากสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลดังกล่าวอาจทำให้เกิดผลลบต่อเศรษฐกิจ โดยจะถูกทบทวนการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร จึงได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นทำให้หลายหน่วยงาน ได้เริ่มให้ความสำคัญในการรณรงค์ป้องกันและปราบปรามปัญหาดังกล่าว เพื่อมิให้ปัญหานี้ลุกลามจากที่เป็นอยู่ในขณะนี้

          ทั้งนี้ สำหรับสินค้าที่พบมีการละเมิดลิขสิทธิ์สูงเป็นลำดับต้น ๆ นอกจากการลอกเลียนแบบกระเป๋า เสื้อผ้า ร้องเท้าแบรนด์ดังแล้ว ปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ก็เป็นอีกหนึ่งโจทย์ที่ต้องเร่งดำเนินการด้วยเช่นกัน เนื่องจากที่ผ่านมาการละเมิดลิขสิทธิ์ในสินค้าประเภทดังกล่าว ประเทศไทยติดอยู่ในอันดับท็อบเท็น ที่มีการละเมิดมากที่สุด แต่ก็ยังมีสัญญาณที่ดีว่า จากการปราบปรามทำให้ปัญหาดังกล่าวได้ลดลงไป

          ล่าสุดการรายงานผลการศึกษาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลก ประจำปี พ.ศ.2553 ใน 116 ประเทศทั่วโลก ของกลุ่มพันธมิตรธุรกิจซอฟต์แวร์ หรือ บีเอสเอ ร่วมกับไอดีซี บริษัทศึกษาวิจัยตลาดชั้นนำทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ พบว่า อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์บนคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (พีซี) ในประเทศไทยปี พ.ศ.2553 ลดลง 2 จุด มาอยู่ที่ร้อยละ 73 เป็นการลดลงอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ติดต่อกันจากร้อยละ 80 ในปี พ.ศ.2549

          สำหรับมูลค่าความสูญเสียเชิงพาณิชย์ที่เกิดจากการติดตั้งซอฟต์แวร์ โดยไม่มีใบอนุญาต (ไลเซนส์) บนพีซี ในปี พ.ศ.2553 เพิ่มขึ้นเป็น 777 ล้านเหรียญสหรัฐ จาก 694 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี พ.ศ.2552 โดยหากประเทศไทยมีการลดการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ลงได้ 10 จุด ภายในระยะเวลา 4 ปี จะทำให้เกิดการจ้างงานใหม่เพิ่ม 600,000 ตำแหน่งทั่วโลก

          นอกจากการศึกษาดังกล่าวแล้วยังพบข้อมูลสำคัญอื่น ๆ จากผลการศึกษาการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ทั่วโลก คือ พบว่าในปี 53 ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ รวมเป็นมูลค่าถึง 18,746 ล้านเหรียญสหรัฐ อีกทั้งยังพบว่าแนวโน้มการละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าวจากทั่วโลก ยังเพิ่มสูงขึ้นถึง 59 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือสูงเกือบสองเท่า เทียบกับเมื่อครั้งเริ่มต้นทำการศึกษาของบีเอสเอและไอดีซี ในปี พ.ศ.2546

          ทั้งนี้ ผลสำรวจยังระบุว่าจำนวน 58 ประเทศ จากจำนวน 116 ประเทศที่ทำการศึกษา มีอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อยู่ที่ร้อยละ 62 ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงเมื่อเทียบกับอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์เฉลี่ยทั่วโลก ที่ร้อยละ 42 ขณะเดียวกัน ปริมาณการละเมิดลิขสิทธิ์ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีปริมาณสูงกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว 2.5 เท่า โดยมีมูลค่าเสียหาย 31.9 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งมากกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่าเชิงพาณิชย์ ของซอฟต์แวร์ที่ถูกนำไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตจากทั่วโลก

          นอกจากนี้ ผลการศึกษายังได้สำรวจถึงข้อดีของการใช้ซอฟต์แวร์แท้ ที่มีลิขสิทธิ์ถูกต้อง พบว่ามีประโยชน์ในการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านเทคนิคถึงร้อยละ 88 และความปลอดภัยจากแฮ็กเกอร์และมัลแวร์ต่าง ๆ ร้อยละ 81 แต่คนส่วนมากละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ โดยซื้อซอฟต์แวร์เพียงไลเซนส์เดียว แต่ติดตั้งซอฟต์แวร์ดังกล่าวลงบนคอมพิวเตอร์หลายเครื่อง ผู้ใช้พีซีส่วนใหญ่ทั่วโลกเชื่อว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจะสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยร้อยละ 59 กล่าวว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จะสร้างประโยชน์ให้แก่เศรษฐกิจของประเทศ และร้อยละ 61 กล่าวว่า การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาจะทำให้เกิดการจ้างงาน

          ปัจจุบันถึงแม้จะมีการรณรงค์ป้องกัน และปราบปรามสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ก็ยังพบว่า สินค้าประเภทดังกล่าวยังหาได้ทั่วไปอย่างดาษดื่น ผ่านจากหลายช่องทาง และหากทุกฝ่ายให้ความสำคัญในการเข้ามาแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์อย่างแท้จริง เชื่อว่าปัญหาดังกล่าวจะมีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว โดยที่ผ่านมาการจับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ ก็ยังเป็นการจับกับบริษัทห้างร้าน หรือองค์กรขนาดใหญ่เท่านั้น

          วันนี้ถึงเวลาต้องยอมรับว่าการละเมิดลิขสิทธิ์ คงไม่ใช้ปัญหาระดับชาติเท่านั้น แต่ได้กลายเป็นปัญหาที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ
 


ขอขอบคุณข้อมูลจาก





เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เฮ! ไทยใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนลดลง อัปเดตล่าสุด 15 พฤษภาคม 2554 เวลา 17:24:47 4,617 อ่าน
TOP