ออมสิน อนุมัติรีไฟแนนซ์ หนี้บัตรเครดิตแล้ว






            

           ธนาคารออมสิน แจง ยอดลูกค้ายื่นขอรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต รวม 5,793 ราย คิดเป็นวงเงินกว่า 749 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 254 ราย วงเงิน 25.03 ล้านบาท

           ความคืบหน้าการดำเนินโครงการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต ผ่านทางธนาคารออมสิน ตั้งแต่วันที่ 1 - 10 มิถุนายน 2554 มีผู้สนใจยื่นผ่าน 650 สาขาทั่วประเทศ จำนวนขอกู้บัตรรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตกว่า 5,793 ราย วงเงินกว่า 749.7 ล้านบาท ทั้งนี้ทางธนาคารได้มีการอนุมัติวงเงินดังกล่าวไปแล้วจำนวน 254 ราย คิดเป็นวงเงิน 25.03 ล้านบาท






[2 มิถุนายน] เริ่มแล้ว!  ลดหนี้บัตรเครดิต ช่วยเหลือลูกหนี้

            จากกรณีที่สถาบันการเงิน 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ได้ร่วมมือกันเปิดโครงการ "ลดหนี้บัตรเครดิต" เพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีภาระหนี้บัตรเครดิต และมีวินัยทางการเงิน  โดยวงเงินของโครงการรวม 3 ธนาคาร อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 3 เดือน โดยจะเริ่มตั้งแต่วันนี้ (1 มิถุนายน) ถึงสิ้นเดือน สิงหาคม 2554 นั้น …

           เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายประสิทธิ์ อำภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจรายย่อยและเครือข่าย ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการลดภาระดอกเบี้ยหนี้บัตรเครดิต พร้อมเปิดการให้สินเชื่อแล้ว โดยทางธนาคารจะให้สินเชื่อเพื่อชำระหนี้กับลูกหนี้บัตรเครดิตรายที่มีเงื่อนไขชำระเงินขั้นต่ำได้ตามใบแจ้งยอดบัญชีบัตรเครดิต และเป็นลูกหนี้ที่ดี ณ วันที่ 30 เมษายน  2554 เป็นต้นไป

           นายประสิทธิ์ ได้กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในการให้กู้นั้น ทางธนาคารจะให้ลูกหนี้กู้เพื่อนำเงินไปชำระหนี้บัตรเครดิตเต็มตามจำนวนของแต่ละบัตร และยกเลิกการใช้บัตรเครดิตใบนั้น แต่สำหรับกรณีที่มีหลายบัตร ลูกหนี้สามารถกู้ชำระเพียงบัตรใบใดใบหนึ่ง หรือทุกบัตรก็ได้ โดยธนาคารจะให้กู้ได้ในวงเงินสูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท และเมื่อรวมกันวงเงินสินเชื่อประเภทอื่น ๆ ที่เป็นสินเชื่อบุคคลที่มีอยู่กับธนาคาร ต้องไม่เกิน 5 เท่าของเงินเดือน โดยให้ผ่อนชำระเงินต้น พร้อมดอกเบี้นเป็นรายเดือน ๆ  ละเท่า ๆ กัน ภายในเวลา 1-3 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยMRR บวก 2.5% ต่อปี ปัจจุบันเท่ากับ 10% ต่อปี

           สำหรับโครงการลดภาระดอกเบี้ยหนี้บัตรเครดิตที่กู้ผ่านธนาคาร ลูกหนี้ก็ยังสามารถทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองอุบัติเหตุ ทุพพลภาพ หรือเสียชีวิตได้ โดยเสียค่าเบี้ยประกัน 440 บาทต่อปี สำหรับวงเงินคุ้มครอง 100,000 บาท เบี้ยประกัน 880 บาทต่อปี สำหรับวงเงินคุ้มครอง 200,000 บาท และเบี้ยประกัน 1,320 บาทต่อปี สำหรับวงเงินคุ้มครอง 300,000 บาท
 
           ทั้งนี้ นายประสิทธิ์ กล่าวปิดท้ายว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมให้ลูกหนี้มีวินัยทางการเงิน ทางธนาคารได้จัดแพ็คเกจสำหรับลูกหนี้ที่ผ่อนชำระตรงเวลา โดยลดดอกเบี้ยลง 0.50% สำหรับลูกหนี้ผ่อนชำระตรงเวลา 1ปี และลดดอกเบี้ยลง 1% ในปีถัดมา อย่างไรก็ตาม ถ้าหากลูกหนี้ผ่อนชำระตามเงื่อนไขตรงเวลาอย่างสม่ำเสมอ เมื่อชำระหนี้เสร็จสิ้นแล้ว ทางธนาคารจะให้สิทธิในการกู้สินเชื่อกรุงไทยธนวัฏและสินเชื่ออเนกประสงค์  โดยปีแรกจะลดดอกเบี้ยให้ 3.50% ต่อปี


นายกรณ์ จาติกวณิช



 [27 พฤษภาคม] กรณ์ ยัน รีไฟแนนซ์บัตรเครดิตไม่ใช่นโยบาย


          รมว.คลัง ยัน นโยบายรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต ไม่ใช่นโยบายหาเสียงช่วงเลือกตั้ง มั่นใจ 10,000 ล้านบาท พอ

          นายกรณ์ จาติกวณิช รักษาการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง พยายามแก้ไขปัญหาหนี้ภาคประชาชนมาโดยตลอด โดยเริ่มจากการแก้หนี้นอกระบบ จนถึงนโยบายรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต  ซึ่งเป็นปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ไข เพราะประชาชนรอความช่วยเหลืออยู่ และขอยืนยันว่าการผลักดันนโยบายดังกล่าวในช่วงนี้ไม่ใช่เพื่อหาเสียงเลือกตั้งแต่อย่างใด โดยไม่แปลกใจที่นายแบงก์ส่วนใหญ่ จะมีมุมมองต่อนโยบายรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตในลักษณะดังกล่าว เพราะธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ ที่ทำธุรกิจบัตรเครดิตมีส่วนได้ส่วนเสียกับนโยบายดังกล่าว

          นอกจากนี้ ยังยืนยันด้วยว่า รัฐบาลไม่จำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยให้แบงก์รัฐทั้ง 3 แห่ง ที่รับรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต เพราะเป็นเงื่อนไขทางธุรกิจของแต่ละแบงก์ และไม่ถือว่าเป็นการแทรกแซงของภาครัฐ โดยยืนยันว่า นโยบายดังกล่าวออกมาเพื่อเป็นทางเลือก และให้โอกาสลูกหนี้ที่ดี ในการลดภาระการจ่ายหนี้ และเชื่อว่าเม็ดเงิน 10,000 ล้านบาทจะเพียงพอต่อความต้องการ



รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต

[25 พฤษภาคม] KTC เชื่อรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต ไม่กระทบมาก


          ผู้ให้บริการบัตรเครดิตเชื่อรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตทำลูกค้าหดแค่ 10%

          นายนิวัตต์ จิตตาลาน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือเคทีซี กล่าวถึงนโยบายของรัฐบาลที่จะเปิดรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต เพื่อแก้ไขปัญหาให้ลูกค้าบัตรเครดิตว่า โครงการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อธุรกิจบัตรเครดิตอย่างแน่นอน เพราะจะมีลูกค้าที่ต้องการชำระหนี้ให้หมดเข้าร่วมโครงการนี้ แต่ก็คงไม่ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากโครงการนี้มีวงเงินเพียง 10,000 ล้านบาท แต่ยอดเงินใช้จ่ายหมุนเวียนในธุรกิจบัตรเครดิตมีถึง 190,000 ล้านบาท ซึ่งเทียบกันแล้วมีสัดส่วนน้อยกว่ามาก

          นอกจากนี้ นายนิวัตต์ ยังกล่าวต่อด้วยว่า เบื้องต้นคาดการณ์ว่าผู้ให้บริการบัตรเครดิตทุกรายจะสูญเสียลูกค้าไปราว 10% เท่านั้น เพราะตามหลักเกณฑ์ลูกค้าที่จะเข้าร่วมโครงการรีไฟแนนซ์ต้องเลิกใช้บัตรเครดิตนั้น แต่เชื่อว่าลูกค้าหลายรายยังจำเป็นต้องใช้บัตรเครดิตอยู่ จึงอาจไม่ได้เข้าร่วมโครงการดังกล่าว หรือต้องพิจารณาให้ละเอียดอีกครั้งก่อนตัดสินใจ





[24 พฤษภาคม] ผู้ว่าฯ ธปท. เตือนลดหนี้บัตรเครดิต ชี้ช่องคนเบี้ยวหนี้
 
         ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย  เตือนลดหนี้บัตรเครดิต สร้างนิสัยคนเบี้ยวหนี้ บิดเบือนกลไก ร้ายถึงขั้นเสียวินัยการคลัง
 
          จากกรณีที่สถาบันการเงิน 3 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารออมสิน และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ได้ร่วมมือกันเปิดโครงการ "ลดหนี้บัตรเครดิต" เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีวินัยทางการเงิน โดยวงเงินของโครงการรวม 3 ธนาคาร อยู่ที่ 1 หมื่นล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 3 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนถึงสิ้นเดือน สิงหาคม 2554 โดยจะช่วยเหลือผู้ที่มีสถานะหนี้บัตรเครดิตปกติ (PL) นับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2554 เป็นต้นไปนั้น
 
          เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.มีความเป็นห่วงมาตรการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตด้วยอัตราดอกเบี้ย 10% ของรัฐบาล จะเป็นการสร้างวัฒนธรรมวินัยทางการเงินที่ไม่ดีแก่ผู้ถือบัตรเครดิต ซึ่งโดยปกติถ้าเป็นหนี้ก็ต้องมีการชำระหนี้เอง
 
           นอกจากนั้น รัฐบาลอาจเสียวินัยทางการคลัง หากมาตรการดังกล่าวเกิดความเสียหายจากกลไกการกำกับมีจุดอ่อน ดังนั้น จึงหนีไม่พ้นที่จะต้องนำภาษีประชาชนมาแก้ไขปัญหา และกลายเป็นการนำภาษีคนส่วนใหญ่มาช่วยคนส่วนน้อยซึ่งมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง
 
          ทางด้าน นายบัณฑูร ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า สถาบันการเงินผู้ให้บริการบัตรเครดิต จะได้รับผลกระทบจากมาตรการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตของรัฐบาลบ้าง จากลูกค้าที่โอนหนี้ไป แต่ยังไม่สามารถระบุความเสียหายได้อย่างชัดเจนว่าจะกระทบต่อธนาคารมากน้อยเพียงใด

รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต คืออะไร

          สำหรับการ รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต คือ โครงการลดภาระดอกเบี้ยบัตรเครดิต หรือการรีไฟแนนซ์ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีวินัยทางการเงิน ด้วยอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าที่ลูกค้าเคยผ่อนชำระ โดยเงื่อนไขของโครงการ รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต จะต้องเป็นบุคคลทั่วไปที่เป็นหนี้บัตรเครดิตที่มีสถานะปกติ คือ ไม่ติดเอ็นพีแอล. ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2554 เป็นต้นไป และเป็นผู้ที่มีความสามารถในการชำระหนี้ตามเกณฑ์ของธนาคาร ไม่ต้องมีผู้ค้ำ วงเงินให้กู้ไม่เกิน 5 เท่า หรือเงินเดือน หรือรายได้ปัจจุบัน แต่ไม่เกิน 300,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระ 1-3 ปี คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อปี เริ่มโครงการตั้งแต่ 1 มิถุนายน - สิ้นเดือนสิงหาคม 2554

          ทั้งนี้ จากข้อมูลหนี้บัตรเครดิตทั้งระบบ ขณะนี้อยู่ที่ 1.9 แสนล้านบาท เป็นลูกหนี้ที่ประวัติดี 1.5 แสนล้านบาท ที่เหลือเป็นลูกหนี้ผ่อนชำระดอกเบี้ย หรือชำระขั้นต่ำ 10 % ซึ่งมีสัดส่วนประมาณ 35 % หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งกลุ่มนี้จะเป็นกลุ่มที่กำหนดให้เข้าร่วมโครงการได้ แต่ก็คาดว่าธนาคารพาณิชย์เจ้าของบัตรจะมีการเสนอเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ เพื่อดึงลูกค้าไว้ ทำให้คาดว่าจะเหลือลูกหนี้เข้าร่วมโครงการประมาณ 20 % หรือคิดเป็นวงเงินประมาณ 10,000 ล้านบาท

          อย่างไรก็ตาม โครงการ รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต จะไม่รับรีไฟแนนซ์บัตรของกลุ่มนอนแบงค์ เช่น อิออน ยูเมะพลัส หรือเฟิร์สช้อยส์ และสินเชื่อส่วนบุคคล หรือบัตรกดเงินสด ซึ่งกลุ่มนี้จะมีการพิจารณาอีกครั้ง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ผู้ถือบัตรส่วนใหญ่เป็นกลุ่มรากหญ้า และกลุ่มแรงงาน ที่มีรายได้ไม่ถึงเกณฑ์ตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทยที่จะทำบัตรเครดิต กับธนาคารพาณิชย์ได้

เอกสารยื่น รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต

          - หลักฐานใบแจ้งหนี้บัตรเครดิต
          - สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนบ้าน
          - เอกสารแสดงรายได้เช่น สลิปเงินเดือน หรือหลักฐานอื่นที่แสดงการมีรายได้ที่เชื่อถือได้
          - หนังสือแสดงเจตจำนงค์ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะต้องทำกับธนาคารว่าจะไม่ก่อภาระหนี้บัตรเครดิตเพิ่มเติมเป็นระยะเวลา 1 ปี
          - ผู้ที่มีบัตรเครดิตมากกว่า 1 ใบ บัตรที่เข้าร่วมโครงการจะต้องคืนก่อนที่จะเข้าร่วมโครงการ








[23 พฤษภาคม] ลูกหนี้เฮ! เปิดรีไฟแนนซ์บัตรเครดิต 1 มิ.ย.นี้

          ลูกหนี้เฮ! รีไฟแนนซ์บัตรเครดิตเปิดตัว 1 มิ.ย.  ในวงเงินไม่เกิน 3 แสน ผ่อน 3-5 ปี ไม่ต้องมีผู้ค้ำ

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีรายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ทางกระทรวงการคลังจะทำการเปิดตัว "โครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิต" ซึ่งเป็นการรวมตัวกันของสถาบันการเงินของรัฐทั้ง 3 แห่ง คือ ธนาคารออมสิน ธนาคารกรุงไทย และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดยได้ตกลงรายละเอียดและเงื่อนไข เพื่อใช้เป็นมาตรฐานเดียวกันทุกแห่ง เพื่อที่จะให้ลูกหนี้บัตรเครดิตยื่นขอสินเชื่อรีไฟแนนซ์ไปยังธนาคารทั้ง 3 แห่ง ได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน เป็นต้นไป พร้อมกำหนดเวลาสิ้นสุดโครงการสิ้นปีนี้ หรือจนกว่าวงเงินเบื้องต้น หมื่นล้านบาทจะหมด






          โดย นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่ แต่เดิมทางกระทรวงการคลังจะใช้เงินในโครงการถึง 50,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันพบว่า  ลูกหนี้มีหนี้บัตรเครดิตทั้งระบบ 190,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ เป็นลูกหนี้ที่มีประวัติดี จำนวน 150,000 ล้านบาท และมีลูกหนี้ที่ผ่อนชำระหรือจ่ายชำระขั้นต่ำ 10% คิดเป็นวงเงิน 50,000 ล้านบาท โดยลูกหนี้กลุ่มนี้จะเป็นเป้าหมายที่จะได้รับการช่วยเหลือ  ทั้งนี้กระทรวงการคลังเล็งเห็นว่า ทางธนาคารเจ้าของบัตร น่าจะต้องปรับตัว ยื่นเงื่อนไขที่เป็นประโยชน์ต่อลูกค้า จึงได้เปิดโครงการรีไฟแนนซ์บัตรเครดิตขึ้น

          พร้อมกันนี้ ยังได้แจกแจงรายละเอียดเกี่ยวกับวงเงิน 10,000 ล้านบาทว่า ทางธนาคารออมสินจะรับเงินไปดำเนินการ  4,500 ล้านบาท ธนาคารกรุงไทย 4,500 ล้านบาท และธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย  1,000 ล้านบาท โดยทั้ง 3 ธนาคาร จะคิดดอกเบี้ยเท่ากันคือ 10% และจำกัดวงเงินต่อรายไม่เกินรายละ 300,000 บาท และไม่จำเป็นต้องมีผู้ค้ำประกัน และไม่ได้ต้องขึ้นทะเบียนลูกหนี้ที่ธนาคารใดธนาคารหนึ่ง

          ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวจะรับรีไฟแนนซ์เฉพาะลูกหนี้บัตรเครดิตที่มีประวัติผ่อนชำระที่ดี โดยไม่รวมสินเชื่อส่วนบุคคล และไม่รวมบัตรกดเงินสดต่าง ๆ โดยจะมีเวลาผ่อนชำระ 3-5 ปี และไม่จำเป็นต้องมีผู้ค้ำประกัน

          อย่างไรก็ตาม สำหรับโครงการรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตวงเงิน 10,000 ล้านบาท ยังคงต้องมีการประเมินผลอีกครั้ง เพื่อสำรวจความต้องการของลูกหนี้ ซึ่งถ้าหากลูกหนี้ต้องการวงเงินที่สูงกว่านี้  อาจจะมีการขยายวงเงินได้

          ทางด้าน นายธีรศักดิ์ สุวรรณยศ กรรมการผู้จัดการ ธอท. กล่าวว่า  พร้อมจะปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว  ซึ่งคุณสมบัติของผู้ที่จะยื่นเข้าโครงการ จะเป็นลูกหนี้ที่ดี ไม่มียอดค้างชำระ และให้วงเงินรายละไม่เกิน 300,000 บาท รวมทั้งคิดอัตรากำไรที่ 10% ซึ่งทาง ธอท. สามารถรับได้ เพราะคุณสมบัติของลูกหนี้ดังกล่าว ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ และเป็นกลุ่มที่มีรายได้แน่นอน




คลิป ข่าว รีไฟแนนซ์บัตรเครดิต





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
   
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ออมสิน อนุมัติรีไฟแนนซ์ หนี้บัตรเครดิตแล้ว อัปเดตล่าสุด 12 มิถุนายน 2554 เวลา 10:47:11 343,413 อ่าน
TOP
x close