x close

เตือนปี 2030 โลกเจอวิกฤตอาหาร ราคาเพิ่มสองเท่า





เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล


          อ็อกซ์แฟม เตือนราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้น 2 เท่าในปี 2030 หวั่นปัญหาสังคมรุนแรงขึ้น วอนผู้นำประเทศต่าง ๆ ออกมาตรการป้องกัน

          เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม ที่ผ่านมา เว็บไซต์เดอะการ์เดี้ยน ของอังกฤษ รายงานว่า องค์กรอ็อกซ์แฟม องค์กรความร่วมมือระดับนานาชาติ เพื่อช่วยขจัดปัญหาความยากจน และความอยุติธรรมทั่วโลก ได้ออกมาเตือนประชาชนถึงเรื่องราคาอาหารที่จะเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่าภายในระยะเวลา 20 ปี ซึ่งจะเร่งเร้าให้เกิดปัญหาความยากจนรุนแรงมากขึ้น อีกทั้งความไม่สงบ และเหตุวุ่นวายไปทั่วโลก ดังนั้น จึงเรียกร้องให้ผู้นำประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ควรจะเริ่มปฏิรูประบบการจัดการอาหารโลก เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ราคาอาหารเพิ่มสูงขึ้นภายในเวลาอันรวดเร็ว

          โดยมีการคาดการณ์ไว้ว่า ในปี 2030 ราคาเฉลี่ยของสินค้าหลักจะเพิ่มสูงขึ้น เช่น ข้าวโพด จะเพิ่มขึ้นระหว่าง 120-180 % และจำนวนประชากรที่อดอยากมีมากขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้ความมั่นคงทางด้านอาหารลดลง โดยอัตราการขยายตัวด้านผลผลิตทางการเกษตรลดลงเกือบครึ่งตั้งแต่ปี 1990 และจะลดลงอีก 1% ในอีก 10 ปีข้างหน้า

          สำหรับสาเหตุหลักของการเพิ่มขึ้นของราคาอาหารมีหลายปัจจัย ได้แก่ ภาวะโลกร้อน การทำลายทรัพยากรธรรมชาติ การแย่งขิงพื้นที่เพาะปลูกและแหล่งน้ำกันทั่วโลก การแปรรูปอาหารเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ และการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร ซึ่งล้วนแล้วแต่ทำให้ปัญหาความยากจนหยั่งรากลึกจนยากที่จะแก้ไข จนนำไปสู่ปัญหาความวุ่นวายในสังคมจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ระดับโลกเลยทีเดียว

          นอกจากนี้ ปัจจัยทางด้านสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศ ก็เป็นปัญหาสำคัญต่อจำนวนผลผลิต เนื่องจากพื้นที่ในยุโรปเป็นพื้นที่แห้งแล้ง และฝนตกชุกจึงไม่เหมาะกับการเพาะปลูก และในสหรัฐอเมริกา ก็เพิ่งเผชิญกับพายุทอร์นาโด จึงทำให้เกิดความหวาดกลัวว่าจะเกิดการขาดแคลนอาหารในปีนี้

          บาร์บาร่า สต็อกกิ้ง ผู้บริหารระดับสูงของอ็อกซ์แฟม แสดงความวิตกกังวลว่า เรากำลังเดินหน้าไปยังวิกฤตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ แม้ว่าในทุก ๆ วัน ประชากร 1/7 บนโลกต้องประสบกับภาวะอดอยาก แต่จริง ๆ แล้ว โลกนี้มีศักยภาพเพียงพอที่จะผลิตอาหารมาเลี้ยงทุกคนบนโลก

          ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ทางองค์กรอ็อกซ์แฟม จึงเรียกร้องไปยัง เดวิด คาเมรอน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ และผู้นำกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ จี 20 ในการตกลงวางมาตรการร่วมกันจัดสรรทรัพยากรเพิ่มมากขึ้น โดยข้อกำหนดดังกล่าว เช่น ควรจะมีการสำรองอาหารเพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน, รัฐบาลของชาติตะวันตก ควรหยุดนโยบายเชื้อเพลิงชีวภาพที่นำอาหารมาแปลรูปเป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์, ให้ผู้นำของประเทศต่าง ๆ ปรับปรุงการควบคุมตลาดสินค้าอาหาร และหันมาลงทุนในกองทุนด้านสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น




เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือนปี 2030 โลกเจอวิกฤตอาหาร ราคาเพิ่มสองเท่า อัปเดตล่าสุด 1 มิถุนายน 2554 เวลา 09:43:31 6,405 อ่าน
TOP