x close

ลุงมนต์ชัย ผู้สืบค้นความจริง พลิกประวัติศาสตร์สุโขทัย


ลุงมนต์ชัย ผู้สืบค้นความจริง พลิกประวัติศาสตร์สุโขทัย


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก นิตยสาร ค ฅน


           เพราะความที่อยากรู้อยากเห็น และสนใจประวัติศาสตร์ ทำให้เด็กชายคนหนึ่งเริ่มสืบค้นหาความรู้จากหินเก่า ๆ นำไปสู่การค้นพบหลักศิลาจารึก และสืบทราบความจริงที่ไม่น่าเชื่อหลายประการ

           คุณลุงมนต์ชัย เทวัญวโรปกรณ์ ชายวัยหกสิบแปดปีชาวสุโขทัย ได้กลายเป็นนักประวัติศาสตร์เต็มตัว หลังจากที่เขาเริ่มศึกษาหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 และตัดสินใจเดินทางตามหาแท่งหินที่บันทึกประวัติศาสตร์อีกจำนวนมาก ที่เสาะหากันมานานนับร้อยปีแต่ยังไม่มีใครค้นเจอ

           ความสนใจใคร่รู้นำพาให้คุณลุงเริ่มค้นหาข้อมูลและเข้าไปสอบถามคนในพื้นที่ตามข้อมูลที่สืบเสาะมาได้ จนทราบว่า ถ้ำเจ้าราม อาจจะมีสิ่งที่แกค้นหาอยู่ภายใน และในที่สุด แกก็ได้เจอหลักศิลาจารึกอีกแผ่น ณ ถ้ำเจ้ารามนั่นเอง แม้จะเป็นหลักศิลาที่แตกหักไปบางส่วน แต่ก็ทำให้ล่วงรู้เรื่องราวในมิติอื่น ๆ เพิ่มขึ้น

           ความพยายามของคุณลุงที่ตั้งใจจะหาศิลาจารึกส่วนที่เหลือจากแท่งหินที่พบยังคงดำเนินต่อไป แต่ทว่าไม่นานนัก การออกตามหาศิลาจารึกส่วนที่เหลือก็ต้องยุติลง เพราะเป็นเรื่องยากที่จะค้นหาสิ่งที่มีอยู่เมื่อเจ็ดร้อยปีก่อน และไม่ทราบด้วยว่า ชิ้นส่วนที่กำลังค้นหาอยู่นี้แตกหัก หรือหลงเหลืออยู่มากน้อยเพียงใด แต่เพียงชิ้นเดียวที่คุณลุงค้นพบ ก็ทำให้คุณลุงโด่งดังขึ้นมาในชั่วข้ามคืน ในฐานะผู้ค้นพบหลักศิลาจารึกกรุงสุโขทัย


ลุงมนต์ชัย ผู้สืบค้นความจริง พลิกประวัติศาสตร์สุโขทัย

           คุณลุงมนต์ชัย ย้อนเล่าให้ฟังว่า เขาสนใจประวัติศาสตร์ชาติไทยมาตั้งแต่เด็กแล้ว ซึ่งอาจเป็นเพราะได้รับอานิสงส์จากคุณพ่อซึ่งเป็นนักสะสมหนังสือภาพถ่าย และประวัติศาสตร์เมืองเก่า ที่ตระเวนไปตามเมืองโบราณต่าง ๆ เขาจึงซึมซับสิ่งเหล่านี้ไว้ด้วย จากนั้น คุณลุงก็เริ่มศึกษาวิธีการอ่านหลักศิลาจารึก โดยมีนักประวัติศาสตร์รุ่นเก่า ๆ ให้คำแนะนำ กระทั่งเขาสามารถอ่านได้ชำนาญ และสามารถตีความได้ ต่อมาเขาก็ไล่อ่านศิลาจารึกที่ค้นพบมาแล้วทั้งหมดครบถ้วน นั่นจึงเป็นที่มาให้คุณลุงเริ่มค้นหาศิลาจารึกที่ยังหาไม่พบต่อไป

           "เราต้องหาอ่านหลักศิลาจารึกให้ได้มากที่สุดแล้วเอามาโยงกัน เอาเนื้อความที่กว้าง ๆ ทำให้มันแคบ คิดว่าถ้าเราได้อ่านศิลาจารึกมามากเท่าไหร่ก็ยิ่งดี เพื่อที่จะเอามาพิจารณากับหลักต่าง ๆ ว่าข้อมูลอันไหนขัดแย้งกันบ้าง หรือบางทีมีข้อมูลใหม่ ๆ มาให้เราได้รู้ พอเราศึกษามากเข้า เอาแล้วเว้ย! ข้อมูลไม่เหมือนกับที่เรียนมาในตำรา แม้กระทั่งชื่อของกษัตริย์ก็ไม่ตรง พอเรารู้อีกว่า แท้จริงแล้วราชวงศ์พระร่วงมาจากไหนกันแน่ ก็ยิ่งสนุกในการสืบค้น และก็ทำมาเรื่อย ๆ" คุณลุงบอก


ลุงมนต์ชัย ผู้สืบค้นความจริง พลิกประวัติศาสตร์สุโขทัย

           ด้วยความที่สามารถอ่านศิลาจารึกได้เอง และการศึกษาที่เพิ่มพูนขึ้น ได้ทำให้คุณลุงพบว่า หลายสิ่งไม่ตรงกับประวัติศาสตร์ที่เราเรียนกันในห้องเรียน แสดงถึงว่ามีความผิดเพี้ยนทางประวัติศาสตร์เกิดขึ้น แต่การพบความผิดเพี้ยนนั้น มิใช่การนึกอ้างเอาเองว่าผิด แต่จะต้องอ้างอิงได้ว่า มาจากศิลาจารึกหลักใด ด้านไหน ที่กล่าวถึงเรื่องราวเหล่านี้ เพราะหลักศิลาจารึกคือการบันทึกตรง เป็นหลักฐานที่ซื่อสัตย์ต่อความจริง

           อย่างไรก็ตาม แม้ว่าคุณลุงมนต์ชัยจะเป็นผู้ชำนาญด้านประวัติศาสตร์ แต่เขาก็ยังเรียกตัวเองว่า "นักประวัติศาสตร์ปลายแถว" เพราะคุณลุงจบเพียงชั้น ม.6 และเพียงแค่เป็นผู้สนใจใคร่รู้ความเป็นมาเป็นไปของประวัติศาสตร์ไทย จนดั้นด้นศึกษาหาความรู้ด้วยตัวเองได้สำเร็จ แต่เหนือสิ่งอื่นใด ก็ยังมีอาจารย์ประสาร บุญประคอง ผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านจารึกโบราณ คอยให้คำแนะนำ ก่อนที่ท่านจะเสียได้ไม่กี่ปี

           "ท่านย้ำว่า ขอฝากประวัติศาสตร์สุโขไทไว้ที่คุณด้วย ไอ้ผมเองนั้น ตอบไปว่า โธ่! อาจารย์ครับทำไมไม่เอาลูกศิษย์ของอาจารย์มาทำเล่าครับ มีตั้งเยอะเก่ง ๆ ทั้งนั้น ไอ้ผมเอง จนก็จน งานนี้มันเป็นงานใช้เงิน" คุณลุงมนต์ชัย เล่าถึงสิ่งที่อาจารย์ประสารฝากฝังไว้ก่อนเสีย

           "ไม่...มันไม่เอาเหมือนคุณ ผมดูคุณตั้งแต่วันแรกเห็นคุณดูจารึกไม่ถอยเลย ดูได้ทั้งวัน แล้วรุ่งขึ้นก็มาอีก มาได้เป็นเดือน ๆ ปกติอย่างเก่งเขาดูกันไม่ถึงชั่วโมงก็เบื่อแล้ว ก็เห็นมีแต่คุณคนเดียวในชีวิตนี่แหละ ที่ทำแบบนี้" นี่คือคำตอบของนักประวัติศาสตร์รุ่นปู่ก่อนจากไป


ลุงมนต์ชัย ผู้สืบค้นความจริง พลิกประวัติศาสตร์สุโขทัย

           หลังจากนั้น คุณลุงในวัยสามสิบกว่า ๆ ก็เริ่มลงมือค้นหา สืบเสาะ ศึกษา เพื่อพลิกประวัติศาสตร์สุโขไทตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมา ตั้งแต่วัยหนุ่มจนกระทั่ง 15 ปีผ่านไป หนังสือ "พลิกประวัติศาสตร์สุโขไท" หนังสือเล่มหนาที่ท้าทายวงการประวัติศาสตร์ของคุณลุงก็ได้รับการตีพิมพ์เป็นรูปเล่ม

           "อาจารย์เน้นย้ำกับผมว่า ประวัติศาสตร์สุโขไทมันออกนอกลู่นอกทางไปแล้ว คนเขียนเขียนกันแบบไม่รู้จริง หรือบางทีก็ตีความผิด ฉะนั้น ตัวเราเองเป็นคนสุโขไท หลับตาแล้วรู้เลยว่าวัดนั้นอยู่ทิศไหน จะตามหาหลักศิลาจารึกได้จากไหน เราต้องทำให้ได้"

           ต้องบอกว่า งานจัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้เป็นเสมือนการตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตของคุณลุง เพราะทำให้คุณลุงต้องลาออกจากงานราชการ เพื่อจะได้เงินบำเหน็จมาเป็นทุนพิมพ์หนังสือ จนเมื่อพิมพ์ออกมาเป็นรูปเล่มเสร็จสิ้น เงินทองของคุณลุงก็แทบไม่เหลือ แต่คุณลุงก็ยังมีความสุข เพราะมีคนส่งจดหมายมาให้กำลังใจคุณลุงมากมาย แต่อีกด้านหนึ่งคุณลุงถึงกับยิ้มไม่ออก เมื่อมีคนมาลอกเลียนผลงานของแกไป

           "เราก็เสียใจที่ทำหนังสือออกไปแล้ว คนส่วนใหญ่ไม่เห็นค่า ที่เจ็บปวดไม่ใช่เพราะว่าเราทิ้งทุกอย่างเพื่อมาทำเรื่องนี้ จนทำให้ครอบครัวไม่มีความสบาย แต่เป็นเพราะมีคนอ้างว่าเราไม่น่าเชื่อถือ แล้วกลับทำเหมือนหัวขโมย เอางานของเราไปค้นคว้ามาเขียนใหม่ แล้วยกอ้างเป็นของตัวเอง..." คุณลุง ตัดพ้อ 

           นอกจากนั้นแล้ว ยังมีเรื่องที่น่าเศร้าเกิดขึ้น เมื่อ "นัท" ลูกชายคนโตของคุณลุงได้เข้ามาช่วยเหลือพ่อจัดทำหนังสือ ค้นคว้า ตรวจแก้ จนกระทั่งหนังสือสำเร็จเป็นรูปเล่มอย่างสมบูรณ์ และ "นัท" เตรียมจะเดินทางไปทำงานต่อที่สวิตเซอร์แลนด์ แต่ทว่า สุดท้ายเขากลับป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว และจากครอบครัวไปอย่างรวดเร็ว ทำเอาคุณลุงและภรรยาเศร้าใจไม่น้อย


ลุงมนต์ชัย ผู้สืบค้นความจริง พลิกประวัติศาสตร์สุโขทัย

           แต่อย่างไรก็ตาม หนังสือ "พลิกประวัติศาสตร์สุโขไท" กลับกลายเป็นหนังสือที่ขายดิบขายดี และทำให้คุณลุงดีใจมากถึงกับบอกว่า ดีใจที่ชาตินี้จะได้นอนตายตาหลับเสียที เพราะคนจะเข้าใจเรื่องราวความเป็นมาของกรุงสุโขทัยมากขึ้น คุณลุง ย้ำว่า การศึกษาประวัติศาสตร์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะผลของมันจะส่งไปถึงเยาวชนที่จะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นมาในวันข้างหน้า ถ้าหากรับรู้ในสิ่งผิด ๆ คนรุ่นหลังก็ต้องเรียนรู้สิ่งผิด ๆ ต่อไปอีกเรื่อย ๆ

           งานยากในการพลิกความจริงของประวัติศาสตร์ไม่ใช่การอ่านจารึก แต่เป็นการตีความหมาย เพราะหากวรรคตอนผิด ความหมายก็จะผิดเพี้ยนไปทันที เนื่องจากคำศัพท์บางคำก็มีความหมายที่ต่างออกไปในภาษาอื่น ๆ ด้วย และคำบางคำต้องเอาความรู้มาเชื่อมโยงกันด้วย


ลุงมนต์ชัย ผู้สืบค้นความจริง พลิกประวัติศาสตร์สุโขทัย

           "มีจารึกอยู่หลักหนึ่ง จารึกนี้บันทึกถึงเหตุการณ์ตอนพญาลิไทออกผนวช เขียนเป็นตัวสือไทว่า มหาสวามี สังฆราช สุ กลุ.มาสั่งสอนพระมหาธรรมราชา ไม่มีใครตีความออกเลยว่า คำว่า สุ กลุ. คือใคร พอเราเห็นก็ตีว่า มหาสวามีสังฆราช สุ กลุ. เอาตัว ก มาติดตัว ส ได้เป็นชื่อว่า สุก และเหลือตัว ลุ มันก็คือคำว่า ลุง นั่นเอง ก็กลายเป็น ลุงสุก อันนี้ผมตีความเป็นคนแรกเลย ทำให้ได้ความว่า มหาสวามีสังฆราชองค์นี้ เดิมชื่อ สุก แล้วไปตรงกับหลักศิลาจารึกหลักหนึ่งที่บันทึกถึง ลุงสุก ความว่าเป็นคนสุโขทัย พอแกบวชเป็นพระ จากชื่อสุก ก็เปลี่ยนเป็น สังฆราช สุ กลุ" ลุงมนต์ชัยนำเอาความเชื่อมโยงของแต่ละหลักมาตีความให้ฟัง

           นอกจากนี้ ยังเคยมีคนตีความคำว่า "สะร่วง" แปลว่า สระหลวง หมายถึงสระน้ำ ทั้งที่ความจริงคำว่า "สะร่วง" แปลว่า สวรรค์ หรือชั้นฟ้า ส่วนคำว่า สระน้ำ ในสมัยสุโขทัยเรียกว่า "ตระพัง" ซึ่งข้อผิดพลาดที่เกิดจากการตีความผิด ทำให้ประวัติศาสตร์สุโขทัยผิดเพี้ยนไปหลายตอน

           แต่นับว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่ปัจจุบันนี้ ประวัติศาสตร์สุโขทัยในหลายช่วงตอนได้ถูกนำขึ้นมาพินิจตีความกันใหม่ และก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับที่คุณลุงมนต์ชัยเคยเสนอเอาไว้ อย่างไรก็ตาม จวบจนวันนี้ ชายชราผู้หลงใหลในจารึก ก็ยังคงเดินหน้าออกตามหาจารึกหลักใหม่ต่อไป แม้ว่าวันนี้สังขารจะร่วงโรยลงไปมากแล้ว แต่ไม่มีวันใดที่แกจะหมดไฟ และยุติการเดินตามเส้นทางที่แกปรารถนาไปอย่างแน่นอน


เรื่องที่่คุณลุงอยากให้คุณรู้ เกี่ยวกับสุโขไท

           1. พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ไม่ใช่ผู้สร้างกรุงสุโขทัย แต่เป็นพระเจ้าจันทรราชา กษัตริย์ในสมัยสุโขทัย 1 เป็นผู้สร้างรวมถึงศรีสัชนาลัยด้วย มีบันทึกไว้ในจารึกหลักที่ 2 หรือที่เรียกว่า จารึกวัดศรีชุม

           2. ชื่อเดิมของสุโขทัยตามที่พระเจ้าจันทรราชาทรงตั้งชื่อเมือง เขียนว่า "สุโขไท" จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ร.5 การเขียนแบบเดิมจึงเลิกไป กลายเป็น "สุโขทัย" ที่แปลว่า รุ่งอรุณแห่งความสุข

           3. สองพระนามสุดท้ายที่พบในจารึกของราชวงศ์พระเจ้าจันทรราชาก่อนสิ้นยุคสมัยสุโขทัย 1 หรือ พระร่วง 1 คือ หนึ่ง พระญามหาธรรมราชผู้เป็นบิดา และสองคือ พระญาศรีนาวนำถม (ถุม) ผู้เป็นลูก ทำให้รู้ว่า พระญาศรีนาวนำถมเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายในยุคสมัยสุโขทัย 1 พบในหลักศิลาจารึกที่ 2

           4. จากการศึกษาหลักศิลาจารึกหลักที่ 1 และ 2 อย่างละเอียด เพื่อหาความเชื่อมโยง พบว่า พ่อขุนรามคำแหงมหาราชมีตัวตนอยู่จริง มิได้ถูกรัชกาลที่ 4 แต่งศิลาจารึกขึ้นมาอย่างที่มีคนตั้งข้อสงสัยแต่อย่างใด

           5. ในหลักศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงมีนามอีกหลายนาม ทำให้ผู้อ่านศิลาสับสน คือ พระรามคำแหง พ่อขุนพระรามคำแหง พระญารามราช พระญาร่วง

           6. เมื่อเริ่มแรกยุครัตนโกสินทร์ศก นามเดิมของรัชกาลที่ 1-3 ใช้พระนามเดียวกันว่า สมเด็จพระบรมราชธิราชรามาธบดี ศรีสินทรบรมมหาจักรพรรดิราชาธิบดินทร ธรณินทราธิราชรัตนากาศภาศกรวงษองค์ปรมาธิเบศร ตรีภูวเนตรนาถนายก ดิลกรัตนราชชาติอาชาวไศรย สมุทัยคโรมนต์ สกลจักรวาฬธิเบนทร์ สุริเยนทราธิบดินทร หริหรินทราชาดาธิบดี ศรีสุวิบุลยคุณอัขณิฐ ฤทธิราเมศวรมหันต บรมธรรมิกราชาธิราช เดโชไชยพรหมเทพาดิเทพนฤบดินทร ภูมินทรปรมาธิเบศรไลกเชฐวิสุทธรัตนมงกุฏ ประเทศคตามหาพุทธางกูรบรมบพิตร พระพุทธเจ้าอยู่หัว

           7. เมื่อมาถึงรัชกาลที่ 4 ทรงครองราชย์ จึงทรงรับสั่งให้เปลี่ยนชื่อนามของแต่ละพระองค์ขึ้นมาใหม่ เพื่อง่ายแก่การจดจำ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก 
นิตยสาร ค ฅน ปีที่ 6 ฉบับที่ 8 (68) มิถุนายน พ.ศ.2554

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ลุงมนต์ชัย ผู้สืบค้นความจริง พลิกประวัติศาสตร์สุโขทัย อัปเดตล่าสุด 27 ธันวาคม 2554 เวลา 14:28:09 43,035 อ่าน
TOP