x close

ฮุนเซนร่อนสาร ชง 7 ข้อเสนอ บี้ ไทยร่วมลงนาม

 



ฮุนเซนร่อนสาร ชง 7 ข้อเสนอ บี้ ไทยร่วมลงนาม (ไทยโพสต์)


         "ฮุน เซน" ชิงส่งร่างความตกลง 7 ข้อในการปฏิบัติตามคำสั่งศาลโลกให้ไทย-อินโดฯ-ศาลโลก-UNSCR เร่งไทยลงนาม อ้างจะถอนทหารภายหลังอินโดฯ ส่งผู้สังเกตการณ์เข้ามา "มาร์ค" ยัน 2 ฝ่ายต้องเจรจากันก่อน เหมือนย้อนกลับสู่จุดเดิม ส่วนผู้สังเกตการณ์จะเข้ามาหลังถอนทหาร ฝากรัฐบาลใหม่รักษาผลประโยชน์ชาติ "กษิต" นัดหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือ
 
          เมื่อวันศุกร์ สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า นายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา ได้เปิดแถลงข่าวเกี่ยวกับจุดยืนของกัมพูชาในเรื่องปัญหาเขตแดนกับประเทศไทย โดยกล่าวว่า เมื่อวันพฤหัสบดี กัมพูชาได้ส่ง "ร่างความตกลงระหว่างกัมพูชากับไทยในเรื่องการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ" ไปให้ไทย อินโดนีเซีย ศาลโลก และคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ เพื่อให้ไทยพิจารณาลงนาม โดยมีอินโดนีเซียซึ่งเป็นประธานอาเซียนร่วมลงนามในฐานะสักขีพยาน ร่างความตกลงฉบับนี้มี 7 ข้อ คือ

          1.เพื่อถอนทหารออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราวโดยทันทีตามคำสั่งของศาลโลก กัมพูชากับไทยจะร่วมมือกับผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซีย แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับกำลังทหารและที่ตั้งภายในเขตปลอดทหารให้ศาลโลกรับทราบ
   
           2.เพื่อให้กัมพูชาสามารถเข้าสู่ปราสาทพระวิหารได้โดยเสรี และดูแลพื้นที่ภายในเขตปลอดทหารได้ แต่ละฝ่ายจะร่วมมือกับผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซีย แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับกิจกรรมที่ไม่ใช่ด้านการทหารภายในเขตปลอดทหารให้ศาลโลกรับทราบ
   
           3.หลังจากความตกลงนี้มีผลบังคับใช้ ทั้งสองฝ่ายเรียกร้องให้ทีมผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียเข้าไปในพื้นที่ในนามของอาเซียนโดยเร็ว ตามคำสั่งศาลโลกและตามข้อตกลงที่ประธานอาเซียนได้แถลงไว้ ณ กรุงจาการ์ตา เมื่อวันที่ 22 ก.พ.ที่ผ่านมา
   
           4.เมื่อทีมผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียมาถึง ฝ่ายต่างๆ จะร่วมมือกับผู้สังเกตการณ์ในการกำหนดจุดที่ตั้งภายในเขตปลอดทหารชั่วคราว
   
            5.ทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกับทีมผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียในการกำหนดตารางเวลาสำหรับการถอนทหารทั้งหมดของแต่ละฝ่ายออกจากเขตปลอดทหารชั่วคราว
   
            6.เพื่อให้สอดคล้องกับคำสั่งของศาลโลก ความตกลงฉบับนี้จะไม่ปิดกั้นการทำงานของคณะกรรมการชายแดนทั่วไป (จีบีซี) และคณะกรรมการเขตแดนร่วม (เจบีซี) ในการที่จะปักปันเขตแดน และประกันความปลอดภัยและความสงบเรียบร้อยตามแนวชายแดน
   
            7.การกำหนดหน้าที่ ความรับผิดชอบ และกรอบการทำงาน (ทีโออาร์) สำหรับทีมผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซีย กับความรับผิดชอบของกัมพูชาและไทย ในการอำนวยความสะดวกแก่ทีมผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียนั้น จะระบุในความตกลงแยกต่างหากอีกฉบับหนึ่ง ซึ่งจะลงนามโดยกัมพูชา ไทย และอินโดนีเซีย

            ผู้นำกัมพูชายังกล่าวโต้แย้งถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีไทยในเรื่องการแบ่งเนื้อที่ของแต่ละฝ่ายภายในเขตปลอดทหารชั่วคราวด้วย "เราปฏิเสธข้ออ้างของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่บอกว่าเขตปลอดทหารมีเนื้อที่ 17.3 ตร.กม. แบ่งเป็นดินแดนของกัมพูชา 8.8 ตร.กม. และเป็นดินแดนไทย 8.5 กม. ตามแผนที่ที่ยอมรับในทางสากลนั้น เขตปลอดทหารครอบคลุมดินแดนของกัมพูชา 14.363 ตร.กม. และเป็นดินแดนของไทย 3.025 ตร.กม."

            นายกฯ ฮุน เซน กล่าวด้วยว่า กัมพูชาพร้อมจะให้ผู้สังเกตการณ์เข้าประจำการตรงไหนก็ได้ตามต้องการภายในเขตปลอดทหาร และเราหวังว่าไทยจะเปิดรับผู้สังเกตการณ์ชาวอินโดนีเซียเช่นกัน
 
            ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีนายฮอร์  นัมฮง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ให้มีการส่งผู้สังเกตการณ์จากอินโดนีเซียมาโดยเร็วที่สุดว่า ตนเห็นในข่าวเดียวกันว่าทางอินโดนีเซียบอกว่าต้องมีการพูดคุยกันทั้ง 3 ฝ่ายก่อน มันก็เหมือนย้อนกลับไปที่จุดเดิม เพราะความจริงเดิมเราก็คุยกันไว้อยู่แล้วว่า ทุกอย่างมีขั้นมีตอนของมัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องที่เราเคยบอกไว้ว่า เรื่องของผู้สังเกตการณ์แนวคิดไม่ใช่เรื่องการสังเกตการณ์ในการถอนทหาร
 
            นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า กรณีที่กัมพูชาเร่งเรื่องของการถอนทหารและหยิบเรื่องของผู้สังเกตการณ์ขึ้นมานั้น  เขาเป็นฝ่ายที่ไปหาศาล บังเอิญศาลไม่ได้ให้อย่างที่เขาต้องการและไปกระทบกับเขาด้วย เขาก็เลยหาทางออก ยืนยันว่าสองฝ่ายก็ต้องคุยกัน และทางอินโด ฯ ก็อยากจะติดตามในแนวคิดต่างๆ ที่จะแก้ไขปัญหา
 
            ส่วนคำสั่งของศาลโลกให้ 2 ประเทศรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ในช่วงของการหารือกันในหน่วยงานของเราเอง ซึ่งต้องดูกฎหมายภายในประเทศด้วย และต้องเริ่มพูดคุยกับทางกัมพูชา ถ้ากัมพูชาบอกว่าอยากจะรอคุยกับรัฐบาลใหม่ ก็ต้องรอไป ถ้ามีความจำเป็นจะต้องรายงานก็รายงานได้ เนื่องจากเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ซึ่งในรัฐบาลนี้คงเป็นเรื่องของการเตรียมการมากกว่า เพราะในแง่ของข้อกฎหมายอะไรต่าง ๆ รวมไปจนถึงอำนาจในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ มันก็ควรจะรอรัฐบาลใหม่
 
            เมื่อถามว่า ถ้าอยู่บนหลักคิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายก ฯ ที่ระบุว่าประเทศไทยเป็นฝ่ายรุกรานจะมีผลเสียต่อไทยก่อนหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า รัฐบาลใหม่ไปคิดอย่างนั้นไม่ได้อยู่แล้ว มันชัดเจนอยู่ว่าที่มาที่ไปของปัญหาคืออะไร และแผนที่ซึ่งวันก่อนได้มีการเผยแพร่ให้เห็น รวมทั้งการวางกำลังต่างๆ มันชัดเจนของมันอยู่แล้ว มันคิดไปอย่างอื่นไม่ได้ ส่วนที่ห่วงว่าจะมีปัญหาผลประโยชน์ส่วนตัว แลกประโยชน์ส่วนรวมนั้น ต้องรีบทำให้เกิดความชัดเจนทิศทางในการรักษาผลประโยชน์ตรงนี้
 
            นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวว่า ถึงเวลาแล้วที่ทั้ง 2 ประเทศจะต้องรีบหาข้อยุติในเรื่องที่เป็นความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวง เพราะจะเสียโอกาสการลงทุนท่องเที่ยวของทั้ง 2ประเทศ ส่วนการทำงานของรัฐบาล ซึ่งเชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศกัมพูชา และอาจมีผลประโยชน์ร่วมกันนั้น คิดว่าเราอย่าไปหวาดระแวง ตนเอาใจช่วยรัฐบาลชุดใหม่ สำหรับการแข่งขันในเวทีเลือกตั้งนั้นจบไปแล้ว ต่อจากนี้มาตั้งหลักกันใหม่ว่ามีรัฐบาลใหม่แล้วเราจะทำอย่างไรให้บ้านเมืองของเราพัฒนาไปข้างหน้า

            นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า กระทรวงการต่างประเทศจะมีการนัดหารือภายในกับกรมสนธิสัญญาฯ กรมเอเชียตะวันออก และกรมองค์การระหว่างประเทศ เนื่องจากข้อตัดสินของศาลโลกนั้นมีความคาบเกี่ยวกันงานหลายกรม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวเพียงแค่เฉพาะศาลโลกหรือความสัมพันธ์กับกัมพูชา โดยมีพันธกรณีที่ต้องแจ้งให้ทางสหประชาชาติทราบ ในขณะเดียวกับอาเซียนผ่านทางรัฐมนตรีของอินโดนีเซียซึ่งเป็นประธานอาเซียน
 
            ทั้งนี้ ในวันที่ 25 ก.ค. จะมีการประชุมระหว่างหน่วยราชการที่เกี่ยวข้อง และในวันที่ 26 ก.ค. จะประชุมคณะกรรมการศาลโลกเพื่อที่จะหารือกันว่ามีประเด็นใดบ้างที่ต้องเร่งดำเนินการ อาทิ การเรียกร้องของศาลโลก และที่ประชุมอาเซียนที่จะให้คณะผู้สังเกตการณ์ของอินโดนีเซียมาที่ประเทศไทยและกัมพูชา

            เมื่อถามว่ามีการติดต่อไปยังกัมพูชาเพื่อขอเจรจาหรือยัง นายกษิต กล่าวว่า นายสมปอง สงวนบรรพ์ เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญ ได้เข้าพบกับทางผู้ใหญ่ของกัมพูชามาโดยตลอด โดยเมื่อวันที่ 21 ก.ค.ก็ได้เข้าพบกับนายซก อาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ซึ่งก็มีการดำเนินการคู่ขนานกันไป โดยที่ทางฝ่ายกลาโหมของไทยจะมีบทบาทสำคัญในเรื่องของเขตปลอดทหาร

            สำหรับบรรยากาศบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาด้านเขาพระวิหาร เริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังจากที่หน่วยงานความมั่นคง กองทัพภาคที่ 2  อนุญาตให้ประชาชนมีโอกาสได้ขึ้นไปท่องเที่ยวบริเวณผามออีแดง อุทยานแห่งชาติเขาพระวิหารอีกครั้ง ในช่วงวันเสาร์-วันอาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ตั้งแต่เวลา 08.00 น. ถึงเวลา 17.00 น. อีกทั้งยังอนุญาตให้บรรดาพ่อค้าแม่ค้า ชาวบ้านภูมิซรอล ต.เสาธงชัย อ.กันทรลักษ์ จ.ศรีสะเกษ กลับขึ้นไปเปิดร้านจำหน่ายสินค้าให้กับนักท่องเที่ยวด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฮุนเซนร่อนสาร ชง 7 ข้อเสนอ บี้ ไทยร่วมลงนาม อัปเดตล่าสุด 23 กรกฎาคม 2554 เวลา 15:08:56 8,657 อ่าน
TOP