เผยขั้นตอนงานพระราชพิธีพระศพ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ


เจ้าฟ้าเพชรรัตน์

เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก ร้อยใจไทย , ครอบครัวข่าว 3


          สำนักพระราชวัง เปิดเผยรายละเอียด ในการจัดพระราชพิธีพระศพ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ ประดิษฐานพระโกศ พระแท่นแว่นฟ้าทอง แบบพระราชพิธีศพของสมเด็จพระพี่นางเธอฯ แต่ลดขั้นตอนบางส่วน

          นายรัตนาวุธ วัชโรทัย ที่ปรึกษาฝ่ายกิจกรรมพิเศษ สำนักพระราชวัง เปิดเผยถึงงานพระราชพิธีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระศพของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ว่า ในส่วนของรายละเอียดของงานนั้นเหมือนในการประกอบพระราชพิธีจะเหมือนกับงานพระราชพิธีของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทุกประการ แต่มีการลดขั้นตอนบางส่วนออก อาทิ การให้ประชาชนเข้าสักการะพระฉายาลักษณ์ ที่ศาลาสหทัยสมาคม ทางสำนักพระราชวัง จะเปลี่ยนเป็นให้ประชาชน ที่ต้องการร่วมรับฟังพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระศพ สามารถเดินทางมาร่วมพิธีดังกล่าว ได้ที่บริเวณพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ตั้งแต่วันที่ 29 กรกฎาคม เวลา 19.00 น. เป็นต้นไป

          นายรัตนาวุธ  กล่าวเพิ่มเติมว่า 7 วันแรกของการประกอบพระราชพิธีนี้ ยังคงเป็นพิธีที่พระบรมวงศานุวงศ์จะเสด็จมาเป็นเจ้าภาพ ดังนั้นประชาชนจึงยังไม่สามารถขึ้นสักการะพระศพได้ แต่หลังจากครบกำหนด 7 วันแล้ว ทางสำนักพระราชวังจะขอพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยงานทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนมาขออนุญาตเป็นเจ้าภาพในพระราชพิธีนี้ได้ทุกวันพุธ จนครบกำหนดพระราชพิธี 100 วัน

          โดยในส่วนพระราชพิธีที่จัดขึ้นตามวันครบรอบวันสำคัญนั้น  นายรัตนาวุธ กล่าวว่า จะมีเฉพาะพระราชพิธีครบรอบ 7 วัน 50 วัน และ 100 วันเท่านั้น และในส่วนของทูตานุทูต ตามประเพณีจะต้องมีพระบรมวงศานุวงศ์ต่างประเทศเป็นผู้มอบหมาย ให้ผู้แทนมาลงแสดงความไว้อาลัย อย่างไรก็ตาม ทางสำนักราชเลขาธิการ จะประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อขอให้จัดห้องรับรองให้ทูตานุทูตมาลงนามที่กระทรวงการต่างประเทศ

          พร้อมกันนี้ นายรัตนาวุธ ได้กล่าวถึงงานวันที่ 12 สิงหาคมว่า ไม่น่าจะมีปัญหาหากจะจัดพิธีเฉลิมฉลองกันปกติ เพราะตามพระราชประเพณีนั้น สามารถที่จะเปลี่ยบให้เป็นวันออกทุกข์ได้ ส่วนเรื่องการจัดสร้างพระเมรุ ต้องรอรัฐบาลตั้งคณะกรรมการดำเนินการก่อน จากนั้นขึ้นอยู่กับความพร้อมของกรมศิลปากรว่า จะสามารถสร้างได้ทันกำหนดหรือไม่ แต่ถ้าหากไม่ทันก็ต้องเลื่อนออกไปเป็นปี 2555 ในช่วงเดือนเมษายน เพราะจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องสภาพอากาศฟ้าฝน


[28 กรกฎาคม] ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ สรงน้ำพระศพ เจ้าฟ้าเพชรรัตนฯ


ในหลวง พระราชินี


           เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ พระธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว สิ้นพระชนม์แล้ว พระชันษา 85 พรรษา โปรดเกล้าฯ ให้ประชาชนเข้าถวายน้ำสรงพระศพได้วันพฤหัสบดีนี้ เวลา 16.00 น. ณ ศาลาสหทัยสมาคม

           เมื่อช่วงค่ำที่ผ่านมาของวันที่ 27 กรกฎาคม ทางสำนักพระราชวังได้ออกประกาศแจ้งว่า สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ได้สิ้นพระชนม์แล้วด้วยพระอาการติดเชื้อในพระกระแสโลหิต เมื่อเวลา 16.37 น. ของวันที่ 27 กรกฎาคม ณ โรงพยาบาลศิริราช รวมพระชันษา 85 พรรษา

          โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้สำนักพระราชวังจัดการพระศพ ถวายพระเกียรติยศสูงสุดตามราชประเพณี ประดิษฐาน พระศพ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าทูลละอองธุลีพระบาทในราชสำนักไว้ทุกข์ถวายมีกำหนด 100 วัน ตั้งแต่วันสิ้นพระชนม์เป็นต้นไป

          อนึ่ง ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ประชาชนเข้าถวายน้ำสรงพระศพหน้าพระฉายาลักษณ์ ซึ่งประดิษฐาน ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ตั้งแต่เวลา 13 นาฬิกา ถึงเวลา 16 นาฬิกา วันพฤหัสบดี ที่ 28 กรกฎาคม 2554

          ทั้งนี้ เมื่อช่วง 18 นาฬิกาของวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากโรงพยาบาลศิริราช พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในการพระราชพิธีสรงน้ำพระศพ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ณ พระที่นั่งพิมานรัตยา ในพระบรมมหาราชวัง จากนั้นทรงเสด็จพระราชดำเนินตามพระโกศพระศพ เพื่อนำไปประดิษฐสถานยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

             
สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี


พระประวัติ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

          สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงเป็นพระราชธิดาองค์เดียวในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 กับพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี (พระนามเดิม เครือแก้ว อภัยวงศ์ ธิดาพระยาอภัยภูเบศร) ประสูติเมื่อวันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ.2468 ณ พระที่นั่งเทพสถานพิลาส ในหมู่พระมหามณเฑียร พระบรมมหาราชวัง

          แต่หลังจากประสูติได้เพียงหนึ่งวัน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จสวรรคตอย่างไม่คาดคิด ทั้งที่ทรงเตรียมการรับขวัญพระหน่อพระองค์แรกอย่างจดจ่อ ดังเช่นพระราชนิพนธ์บทกล่อมบรรทมสำหรับสมโภชเดือนพระราชกุมารประกอบเพลงปลาทองไว้ล่วงหน้า และทรงปรับปรุงพระราชนิพนธ์ละครรำเรื่องพระเกียรติรถ ตอนที่ 1 ให้เป็นละครดึกดำบรรพ์ เพื่อที่จะได้ทรงจัดแสดงในพระราชพิธีสมโภชเดือนของพระหน่อ

          ด้วยเหตุนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ที่ได้เสด็จขึ้นครองราชย์สืบต่อ จึงทรงรับดูแลพระราชธิดาของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเลือกพระนามพระราชทานไว้ 3 พระนาม คือ

          สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชอรสา สิริโสภาพัณณวดี
          สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนจุฬิน สิริโสภิณพัณณวดี
          สมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี

          พร้อมกันนี้ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ยังทรงโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ออกคำนำพระนามว่า  "สมเด็จพระเจ้าภาติกาเธอ" เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ตามพระฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์ ซึ่งหมายถึงหลานที่เป็นลูกเกิดแต่พี่ชาย จวบจนสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ขึ้นครองราชย์ ได้ทรงออกคำนำหน้าพระนามให้เป็น "สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ" มาจนถึงรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ให้คงคำนำหน้าพระนามของสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ ไว้ตามเดิม เนื่องจากคำว่า "สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ" แปลความหมายได้ทั้งพระเจ้าพี่นางเธอ และพระเจ้าน้องนางเธอ

          ครั้งทรงพระเยาว์ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงประทับที่ตำหนักพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนสุพรรณภาควดี ในพระบรมมหาราชวัง ก่อนที่จะทรงย้ายมาประทับ ณ พระตำหนักสวนหงษ์ พระราชวังดุสิต ซึ่งมีอาณาเขตกว้างขวางกว่า ตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงเป็นห่วงว่า สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ จะไม่มีสถานที่ผ่อนคลายอิริยาบถ แต่หลังจากนั้น สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงย้ายที่ประทับอยู่ตลอดเวลา เพราะมีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นบ่อยครั้ง จนกระทั่งพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี โปรดให้สร้างตำหนักใหม่ขึ้นเป็นส่วนพระองค์บนที่ดินหัวมุมถนนราชสีมาตัดกับถนนสุโขทัย ซึ่งเป็นที่ดินพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ตั้งแต่ในอดีต และประทานนามว่า สวนรื่นฤดี

          เมื่อเจริญวัย สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้เสด็จไปทรงพระอักษร ณ โรงเรียนราชินี แต่ได้ทรงลาออกขณะที่ทรงพระอักษรในชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 เพื่อทรงพระอักษรต่อ ณ สวนรื่นฤดี โดยพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้ทรงจ้างครูมาถวายพระอักษรวิชาภาษาอังกฤษ และวิชาวรรณคดีไทย รวมทั้งโปรดให้ศึกษาพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีต่าง ๆ

          ด้วยความที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงมีพระพลานามัยไม่สมบูรณ์นัก พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 จึงมีพระราชดำริให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ เสด็จไปประทับพักผ่อนพระอิริยาบถ และรักษาพระองค์ ณ ต่างประเทศ โดยในปี พ.ศ.2480 พระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี ได้ทรงนำเสด็จสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ไปประทับรักษาพระพลานามัย ณ ประเทศอังกฤษ และให้ทรงพระอักษรวิชาภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และเปียโนกับอาจารย์ชาวต่างประเทศ ซึ่งพระองค์ทรงพระปรีชาสามารถในทางเปียโนเป็นอย่างยิ่ง และยังโปรดการลีลาศ ขับร้องเพลงไทย และสากล

          นอกจากนี้ พระจริยวัตรส่วนพระองค์ของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ก็ทรงงดงาม ทรงมีพระอุปนิสัยเคร่งครัด ตรงต่อเวลา แม้จะเจริญพรรษาที่ต่างประเทศ แต่ก็ทรงโปรดความเรียบง่าย ไม่ถือพระองค์ และนิยมความเป็นไทย ทรงโปรดเครื่องใช้รวมถึงฉลองพระองค์ที่ผลิตในประเทศไทย และทรงรับสั่งภาษาไทยอย่างถูกต้องชัดเจนเสมอ อีกทั้งยังทรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างยิ่ง

          จากนั้นในช่วงปี พ.ศ.2500 สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้เสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ทรงพระกรุณาโปรดให้สร้างวังในซอยสุขุมวิท 38 จากนั้นได้เสด็จกลับประเทศอังกฤษ และเมื่อพระพลานามัยดีขึ้น กอปรกับสภาวการณ์ในประเทศไทยกลับสู่ปกติแล้ว สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ จึงได้เสด็จกลับมาประเทศไทยเป็นการถาวรเมื่อปี พ.ศ.2502 โดยทรงประทับ ณ วังรื่นฤดี เลขที่ 69 ซอยสุขุมวิท 38 กรุงเทพมหานคร ตราบกระทั่งปัจจุบัน

          ต่อมา ด้วยพระชันษาที่มากขึ้น ทำให้สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ประชวรด้วยอาการตามพระชันษา คณะแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราชจึงได้เฝ้าระวังพระอาการอย่างใกล้ชิด ในเวลาต่อมา สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ทรงเริ่มมีพระอาการเส้นพระโลหิตอุดตัน ทำให้ทรงขยับพระวรกายด้านซ้ายยากขึ้น คณะแพทย์จึงได้ถวายพระโอสถ และมีนางพยาบาลถวายการดูแล อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพระองค์จะทรงรับสั่งได้น้อยลง แต่ก็ทรงเข้าพระทัยทุกอย่างเป็นอย่างดีด้วยการพยักพระพักตร์

          สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงเข้าประทับรักษาตัวในโรงพยาบาลศิริราช ตั้งแต่วันที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 โดยมีคณะแพทย์ถวายการรักษาอย่างสุดความสามารถ แต่อาการพระประชวรได้ทรุดลงตามลำดับ ก่อนที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี จะได้สิ้นพระชนม์ เมื่อเวลา 16 นาฬิกา 37 นาที ของวันที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554 สิริรวมพระชันษา 85 ปี


เจ้าฟ้าเพชรรัตน์


พระกรณียกิจที่สำคัญ

          นับตั้งแต่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ได้เสด็จนิวัตประเทศไทย ก็ได้ทรงประกอบพระกรณียกิจ เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอยู่เสมอ ทั้งการเสด็จออกเยี่ยมเยียนราษฎร พระราชทานพระอนุเคราะห์แก่ผู้ยากไร้ อีกทั้งยังทรงรับสถาบันและองค์กรต่าง ๆ ไว้ในพระอุปถัมภ์จำนวนกว่า 30 แห่ง รวมทั้งในส่วนที่สืบสานต่อจากพระราชบิดา ส่วนของสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ และโดยส่วนพระองค์เองในหลาย ๆ ด้าน เช่น

          ด้านการศึกษา

          ทรงอุปถัมภ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยศิลปากร, วชิราวุธวิทยาลัย, โรงเรียนศรีอยุธยา ในพระอุปถัมภ์, โรงเรียนยุพราชวิทยาลัย, โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย, โรงเรียนราชินี, โรงเรียนราชินีบน, โรงเรียนราชินีบูรณะ, โรงเรียนวิเชียรมาตุ, โรงเรียนสภาราชินี, โรงเรียนศรียานุสรณ์, โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์, วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา, คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, โรงเรียนสายน้ำผึ้ง, โรงเรียนศรีอยุธยา, โรงเรียนเพชรรัชต์, โรงเรียนเพชรรัตนราชสุดา, โรงเรียนกองทัพบกอุปถัมภ์เพชราวุธวิทยา, โรงเรียนสยามธุรกิจ, สถาบันสันติราษฎร์บริหารธุรกิจ, โรงเรียนพณิชยการสยาม ฯลฯ

          ด้านการสาธารณสุข

          ทรงอุปถัมภ์วชิรพยาบาล, โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร, โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์, สภากาชาดไทย, ศิริราชพยาบาล ฯลฯ

          ด้านกิจการลูกเสือ-เนตรนารี

          ทรงอุปถัมภ์คณะลูกเสือแห่งชาติ, ค่ายลูกเสือเพชรรัชต์, สโมสรลูกเสือกรุงเทพ, สมาคมสโมสรลูกเสือวิสามัญแห่งประเทศไทย, สโมสรเนตรนารีเพชราวุธ ฯลฯ

          ด้านกิจการอาสาสมัครรักษาดินแดน

          ทรงอุปถัมภ์สมาคมศิษย์เก่านักศึกษาวิชาทหาร, สมาคมสตรีอาสาสาสมัครรักษาดินแดน กรุงเทพมหานคร, สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดนแห่งประเทศไทย, สมาคมสตรีอาสาสมัครแห่งประเทศไทย, สหพันธ์สมาคมสตรีอาสาสมัครรักษาดินแดนแห่งประเทศไทย ฯลฯ

          ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังทรงเป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่พระเกียรติคุณของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระราชทานกำเนิด มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์ ทั้งยังทรงเป็นผู้นำในการอนุรักษ์มรดกสถาปัตยกรรมในรัชกาลที่ 6 เช่น พระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน จังหวัดเพชรบุรี และ พระราชวังพญาไท ในบริเวณโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

          นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ ยังทรงพระราชทุนที่ทรงก่อตั้ง และทุนในพระนามอีกมายมาย ได้แก่

          ทุนจุฬาเพชรรัตน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

          ทุนเพชรรัตน มหาวิทยาลัยศิลปากร

          ทุนเพชรรัตน สำนักงานบรรเทาทุกข์ สภากาชาดไทย

          ทุนเพชรรัตนการุญ ศิริราชมูลนิธิ

          ทุนเพชรรัตนการุณ กองพันทหารราบที่ 2 กรมทหารราบที่ 15

          ทุนเพชรรัตนอุปถัมภ์ โรงเรียนสายน้ำผึ้ง

          ทุนสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในพระบรมราชูปถัมภ์

          ทุนสมเด็จเจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ สำนักงานอาสากาชาด สภากาชาดไทย

          ทุนสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ นิธิวัดราชบพิธ

          ทุนสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดาฯ มูลนิธิภูมิพโลภิกขุ

          ทุนสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โรงเรียนราชินี

          ทุนสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี โสสะมูลนิธิแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์

          ทุนสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ สำหรับพระราชทานแก่นักเรียนและนักศึกษาในโรงเรียนราชินี โรงเรียนราชินีบน วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา โรงเรียนราชินีบูรณะ จังหวัดนครปฐม โรงเรียนวิเชียรมาตุ จังหวัดตรัง โรงเรียนสภาราชินี จังหวัดตรัง โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โรงเรียนศรียานุสรณ์ จังหวัดจันทบุรี คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาลัยพยาบาล สภากาชาดไทย

          แม้ว่าภายหลังสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอฯ จะมีพระชันษามากขึ้น ไม่สามารถเสด็จออกไปปฏิบัติพระกรณียกิจนอกสถานที่ได้บ่อยนัก แต่พระองค์ก็พระราชทานพระวโรกาสให้ผู้แทนองค์กรต่าง ๆ เฝ้ากราบทูลรายงานความก้าวหน้าโครงการต่าง ๆ พร้อมทั้งรับพระราชทานพระกรุณาโดยประการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ด้วยพระหฤทัยแน่วแน่ที่จะทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจ ดังที่มีพระดำรัสไว้ในงานฉลองพระชนมายุ 61 พรรษา เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2529 ณ วชิราวุธวิทยาลัย ความตอนหนึ่งว่า

          "ฉันขอกล่าวต่อท่านทั้งปวงว่า จะพยายามบำเพ็ญตนเพื่อประโยชน์แก่บ้านเมือง ด้วยความจงรักภักดีต่อบ้านเกิดและต่อองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงเป็นพระประมุขของชาติ ทั้งจะได้รักษาเกียรติศักดิ์แห่งความเป็นราชนารีในมหาจักรีบรมราชวงศ์ไว้ชั่วชีวิต"

         จากพระดำรัสประโยคนี้ กอปรกับพระกรณียกิจที่สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงประกอบไว้มากมาย ได้สะท้อนชัดเจนว่า สมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี ทรงเป็นราชนารีอย่างแท้จริง และทรงประกอบพระกรณียกิจที่เป็นพระมหากรุณาธิคุณต่อพสกนิกรชาวไทย จวบจนวันที่พระองค์เสด็จสู่สวรรคาลัย




อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เผยขั้นตอนงานพระราชพิธีพระศพ เจ้าฟ้าเพชรรัตน์ฯ อัปเดตล่าสุด 29 กรกฎาคม 2554 เวลา 14:33:57 179,775 อ่าน
TOP
x close