x close

ศาลสั่ง ร.ฟ.ท.เลิกจ้างสาวิทย์กับพวก เหตุยุหยุดเดินรถ




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

          ศาลแรงงานกลางไฟเขียวให้ ร.ฟ.ท.เลิกจ้าง สาวิทย์ กับพวกตามคำร้อง เหตุยุพนักงานรถไฟหยุดเดินรถ พร้อมสั่งให้ร่วมกันชดเชยค่าเสียหาย 15 ล้าน

          วานนี้ (28 กรกฎาคม) ศาลแรงงานกลางได้อ่านคำพิพากษาคดีที่การรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรรมการกิจการสัมพันธ์การรถไฟแห่งประเทศไทย 7 คน เนื่องจากได้ยุยงให้พนักงานรถไฟหยุดเดินรถ

          โดยจำเลยทั้ง 7 คน ประกอบด้วยนายภิญโญ เรือนเพชร, นายบรรจง บุญเนตร์, นายสาวิทย์ แก้วหวาน, นายธารา แสวงธรรม, นายเหลี่ยม โมกงาน, นายสุพิเชษฐ์ สุวรรณชาตรี และนายอรุณ ดีรักชาติ เป็นจำเลยที่ 1-7 ตามลำดับ โดยจำเลยที่ 1-2 และ 4-7 มีตำแหน่งเป็นกรรมการกิจการสัมพันธ์การรถไฟแห่งประเทศไทย และจำเลยที่ 3 นายสาวิทย์ แก้วหวาน ดำรงตำแหน่งประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย และกรรมการกิจการสัมพันธ์การรถไฟแห่งประเทศไทย

          ทั้งนี้ ตามฟ้องโจทก์สรุปได้ว่า เนื่องจากจำเลยทั้ง 7 ร่วมกันไม่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ในการหาทางปรองดอง และระงับข้อขัดแย้งในรัฐวิสาหกิจ พร้อมกับกระทำการฝ่าฝืนคำสั่งของศาลจังหวัดสงขลา ด้วยการยุยง ชักชวนให้พนักงานขับรถ และพนักงานช่างเครื่องของโจทก์ทั่วประเทศ รวมทั้งโรงรถจักรหาดใหญ่ หยุดการปฏิบัติหน้าที่ขับขบวนรถไฟ เพื่อขนส่งผู้โดยสารและสินค้าอันเป็นบริการของโจทก์ และไม่ยินยอมให้โจทก์นำหัวรถจักรออกใช้งาน โดยอ้างคำเท็จว่า หัวรถจักรชำรุด ไม่ปลอดภัยแก่พนักงานขับรถ และพนักงานช่างเครื่อง ทำให้พนักงานขับรถ และพนักงานช่างเครื่องหลงเชื่อ ไม่ปฏิบัติหน้าที่ นำความเดือดร้อนมาสู่ประชาชนที่จะมาใช้บริการ และโจทก์ยังได้รับความเสียหาย

          ตามคำสั่งยังระบุอีกว่า นอกจากนี้เหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว จำเลยทั้ง 7 กับพวกยังร่วมกันปราศรัย ณ ที่ทำการสำนักงานใหญ่ ตึกบัญชาการของโจทก์ เพื่อขับไล่ และเรียกร้องให้รัฐบาลปลดผู้ว่าการรถไฟฯ ซึ่งเป็นการกระทำนอกเหนืออำนาจหน้าที่ และขัดต่อข้อบังคับของโจทก์ และเป็นการทำผิดอย่างชัดแจ้ง รวมทั้งผิดกฎหมายอาญา โจทก์สามารถลงโทษไล่จำเลยทั้ง 7 ออกจากงานได้โดยไม่ต้องมีการสอบสวน จึงขอให้ศาลอนุญาตให้โจทก์เลิกจ้างจำเลยทั้ง 7 คน และให้จำเลยทั้ง 7 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายครั้งนี้ตามฟ้อง

          ทั้งนี้ ศาลแรงงานกลางได้วินิจฉัยตามข้อเท็จจริงที่คู่ความทั้งสองฝ่ายนำสืบ รับฟังได้ว่า ที่จำเลยทั้ง 7 อ้างว่าอุปกรณ์ของหัวรถจักรชำรุดเสียหายไม่สามารถนำไปทำขบวนรถไฟได้ เป็นเพียงอุปกรณ์เสริมเท่านั้น ไม่ใช่อุปกรณ์หลักที่มีความสำคัญเกี่ยวกับความปลอดภัยในการเดินรถ และไม่เคยเกิดอุบัติเหตุตามที่จำเลยทั้ง 7 กล่างอ้าง นอกจากนี้ จำเลยทั้ง 7 ยังได้ยุยงชักชวนให้พนักงานขับรถ และช่างเครื่องของโจทก์หยุดปฏิบัติหน้าที่จริง ซึ่งเป็นการจงใจทำให้โจทก์ซึ่งเป็นนายจ้างได้รับความเสียหาย ถือเป็นการละทิ้งหน้าที่ตามข้อบังคับ

          ด้วยเหตุนี้ ศาลแรงงานกลางจึงได้พิพากษาอนุญาตให้โจทก์เลิกจ้างจำเลยทั้ง 7 คนได้ และให้จำเลยทั้ง 7 คนร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 15 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
 


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ศาลสั่ง ร.ฟ.ท.เลิกจ้างสาวิทย์กับพวก เหตุยุหยุดเดินรถ อัปเดตล่าสุด 29 กรกฎาคม 2554 เวลา 11:24:39 11,609 อ่าน
TOP