สถานการณ์น้ำท่วมจากอิทธิพลพายุนกเตน ยังน่าเป็นห่วง บริเวณภาคเหนือน้ำยังท่วมแพร่ขยายเป็นวงกว้าง ทางด้าน รฟท. หยุดวิ่งรถไฟสายเหนือ พร้อมเร่งระบายน้ำสู่ทะเล เตรียมรับมือพายุอีก 10 กว่าลูก
อิทธิพลจากพายุโซนร้อนนกเตน พัดถล่มภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักใน ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันออก ทำให้น้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ ขณะที่พายุดังกล่าวได้สลายตัว และเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศพม่าแล้ว
ล่าสุด กรมอุตุนิยมวิทยา ได้รายงานลักษณะอากาศทั่วไปว่า ร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ประกอบมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังค่อนข้างแรง ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่น จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัย ไม่ว่าจะเป็นตามเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่ม ใหระมันระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน และน้ำป่าไหลหลาก
สำหรับทะเลอันดามันและอ่ายไทยตอนบน มีคลื่นสูง 2-3 เมตร จึงอยากขอให้ชาวเรือระมัดระวังในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่ง อย่างไรก็ดีสำหรับพายุไต้ฝุ่น หมุ่ยฟ้า มีแนวโน้มการเคลื่อนตัวไปทางเกาะโอกินาวา ประเทศญี่ปุ่น ในช่วงวันที่ 4-5 สิงหาคมนี้
นอกจากนี้ กรมอุตุนิยมได้วิทยาคาดการณ์ว่า จะมีพายุเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ประมาณ 20 ลูก ซึ่งขณะนี้ผ่านไปแล้ว 2 ลูก จึงอยากให้ประชาชนเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วย
รฟท. หยุดเดินรถไฟสายเหนือ
นางนวลอนงค์ วงษ์จันทร์ หัวหน้ากองประชาสัมพันธ์ การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับแจ้งว่า จำเป็นต้องหยุดการเดินรถไฟสายเหนืออีกครั้ง เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมทางรถไฟในเส้นทางสายเหนือ ยังมีปริมาณฝนตกอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้น้ำกลับมีระดับสูงเพิ่มขึ้นในเส้นทางรถไฟในพื้นที่เดิม ระหว่างสถานีแก่งหลวง-บ้านปิน ปริมาณน้ำท่วมสูงกว่าสันรางประมาณ 5 เซนติเมตร และมีปริมาณน้ำสูงขึ้นเรื่อย ๆ และในช่วงระหว่างสถานีบ้านปิน-ผาคัน น้ำท่วมสูงเหนือสันรางประมาณ 15 เซนติเมตร น้ำพัดหินใต้รางสูญหาย ทำให้ขบวนรถไม่สามารถเดินผ่านไปได้ จึงจำเป็นต้องปิดการเดินรถในเส้นทางสายเหนือเป็นการชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะเป็นปกติ และสามารถเดินรถได้อย่างปลอดภัย
และล่าสุด การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ ร.ฟ.ท. แจ้งว่า รางรถไฟบริเวณ ก.ม.ที่ 550/10 - 17 อำเภอลอง จังหวัดแพร่ ได้ถูกน้ำป่าไหลทะลักท่วมราง และพัดหินใต้รางรถไฟหายไป ประกอบกับระดับน้ำป่าสูงเหนือรางรถไฟกว่า 10 เซนติเมตรทำให้ต้องระงับการเดินรถไฟในเส้นทางดังกล่าวเพิ่มอีกหนึ่งเส้นทาง
สำหรับขบวนรถสายเหนือที่ประกาศงดเดินขบวนรถที่ออกจากกรุงเทพฯ ในวันนี้ มีดังนี้
ขบวนรถด่วนพิเศษดีเซลราง ที่ 11 (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) ออกกรุงเทพฯ เวลา 18.00 น.
ขบวนรถด่วนพิเศษ ที่ 1 (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) ออกกรุงเทพฯ เวลา 18.10 น.
ขบวนรถด่วนพิเศษที่ 13 (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) ออกกรุงเทพฯ เวลา 19.35 น.
ขบวนรถด่วนที่ 51 (กรุงเทพฯ-เชียงใหม่) ออกกรุงเทพฯ เวลา 22.00 น.
สั่งปิดโรงเรียนถูกน้ำท่วม 27 แห่ง
โรงเรียนได้รับผลกระทบน้ำท่วม 80 แห่ง สั่งปิดแล้ว 27 แห่ง ยังไม่สามารถสรุปความเสียหายได้ เบื้องต้น สพฐ. ส่งเงินช่วยเหลือแล้ว
นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยว่า จากอุทกภัยน้ำท่วม ระหว่างวันที่ 30 ก.ค. - 3 ส.ค. 2554 ส่งผลให้มีโรงเรียนได้รับความผลกระทบน้ำท่วมบริเวณโรงเรียนจำนวน 80 โรงเรียน สั่งปิดเรียนไปแล้วจำนวน 27 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 21 เขตพื้นที่การศึกษา
ทั้งนี้ มูลค่าความเสียหายนั้นยังไม่สามารถประเมินได้ อย่างไรก็ตาม เบื้องต้น สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้จัดส่งงบประมาณจำนวน 200,000 บาทไปยัง 21 เขตพื้นที่เขตการศึกษาดังกล่าวแล้ว เพื่อนำไปเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็น และภายหลังจากน้ำลดแล้ว จะให้ทางโรงเรียนประเมินความเสียหาย เพื่อจัดงบประมาณซ่อมแซมให้ภายหลัง
จังหวัดแพร่
ระดับน้ำยมสูงขึ้นที่ระดับ 10 เมตร 70 เซนติเมตร ส่งผลให้น้ำท่วมเขตอำเภอเมือง อำเภอสูงเม่น อำเภอลอง อำเภอวังชิ้น และอำเภอเด่นชัย นอกจากนี้เขตอำเภอเมือง และถนนทุกสายที่จะเชื่อมต่อไปแต่ละตำบล มีปริมาณนน้ำสูงมาก ไม่สามารถข้าม สะพานลำน้ำยมที่บ้านน้ำโค้ง, บ้านมหาโพธิ์ไปได้ ทั้งนี้เป็นเพราะปริมาณน้ำป่าที่ไหลจากยอดเขามาสมทบกับน้ำท่วมขังอีก
อย่างไรก็ตาม ในบางพื้นที่มีต้นไม้ใหญ่ล้มทับสาวไฟ และขวางทางเข้าหมู่บ้าน อีกทั้งชาวบ้านยังร้องเรียนเรื่องเรือที่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ประสบภัยไม่เพียงพอ จึงทำให้ชาวบ้านต้องลอคอยกลางน้ำ
จังหวัดลำปาง
ส่วนใหญ่ขณะนี้ สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ยังคงวิกฤตอยู่ ส่วนที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง มีชาวบ้านถูกอพยพจากพื้นที่ น้ำท่วมและพื้นที่จากน้ำป่าไหลหลากจำนวน 300 คน ไปยังที่ที่ปลอดภัยแล้ว ล่าสุด ราษฎรใน อำเภอเกาะคาบ้านใน 3 ตำบล คือ ตำบลลำปางหลวง ตตำบลนาแส่ง ตำบลนาแก้ว ชาวบ้านกว่า 800 หลังคาเรือน ยังถูกน้ำท่วมและจมน้ำอยู่ หลังน้ำวังทะลักเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร นอกจากนี้สะพานข้ามแม่น้ำตาน ในบริเวณบ้านหัววัง ถูกน้ำกัดเซาะทำให้สะพานทรุดไม่สามารถสัญจรไปมาได้
ขณะที่ นายเทียม ไชยวงค์ อายุ 49 ปีชาวนา ท่าโทก ตำบลทุ่งฝาย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ห่วงน้ำท่วมนาจึงไปขุดดินกั้นน้ำ แต่เกิดฝนตกหนักทำให้นายเทียมลื่นล้มหน้าจมน้ำลงไปในนา จนขาดอากาศหายใจ และเสียชีวิตในที่สุด
จังหวัดแม่ฮ่องสอน
สถานการณ์ล่าสุด ได้เกิดเหตุดินสไลด์ทับบ้านเรือนประชาชน ที่บ้านปู่ท่า หมู่ 6 ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน และสูญหาย 4 ราย ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ได้เร่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือ และค้นหาผู้สูญหายแล้ว
จังหวัดลำพูน
แม่น้ำกวงไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือน ในอำเภอเมือง อำเภอป่าซาง และอำเภอแม่ทา โดยเฉพาะที่ตำบลบ้านแป้น, บ้านต้นธง, บ้านหนองหนาม, บ้านป่าตึง อำเภอเมือง ที่ลุ่มบางจุดระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร เดือดร้อนกว่า 1 พันครัวเรือน
จังหวัดเชียงใหม่
เจ้าหน้าที่บรรเทาสาธารณภัย เขตเทศบาลนครเชียงใหม่ และทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 ค่ายกาวิละ ได้เร่งช่วยกันตักทรายใส่กระสอบหลายพันใบ เพื่อนำไปปิดกั้นบริเวณตลิ่งริมแม่น้ำปิง หลังจากบางจุดปริมาณน้ำสูงขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้น้ำเข้าท่วมเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ พร้อททั้ง ประกาศพื้นที่ประสบภัยพิบัติน้ำท่วม 10 อำเภอ ประกอบไปด้วย อ.สันทราย อ.สันกำแพง อ.แม่ออน อ.ดอยสะเก็ด อ.เชียงดาว อ.แม่ริม อ.อมก๋อย อ.แม่แตง อ.เมือง และ อ.พร้าว
จังหวัดเชียงราย
ฐานดินใต้ทางระบานน้ำคอนกรีตอ่างเก็บน้ำห้วยสัก เกิดทรุดตัว เนื่องจากอุ้มน้ำไม่ไหว ทางพล.ต.อเนก อินทร์อำนวย ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเชียงราย จึงนำกำลังทหารค่ายเม็งรายมหาราชมาช่วยนำกระสอบทรายไปวางเป็นแนวป้องกัน ไม่ไห้พนังพังทลาย
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
ที่จังหวัดประจวบคีรีขีนธ์ เกิดน้ำป่าไหลหลากจากเทือกเขาตะนาวศรี ชายแดนไทย-พม่า จากป่าแก่งกระจานทะลักป่าละอู ไหลทะลักลงสู่แม่น้ำปราณบุรี ไหลผ่านพื้นที่ป่าละอูกลางดึก จนทำให้สะพานหลายจุดได้รับความเสียหาย จนชาวบ้านไม่สามารถเดินทางเข้าออกหมู่บ้านได้โดยเฉพาะเด็กนักเรียน
ทำให้อำเภอหัวหิน องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ ต้องนำเรือท้องแบนของศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 4 มารับส่งชาวบ้าน และเด็กนักเรียนทั้งช่วงเช้าและเย็น ดยต้องใช้วิธีการโยงเชือกข้ามแม่น้ำและติดตั้งรอกดึงแทนการใช้เครื่องยนต์ เนื่องจากกระแสน้ำไหลเชี่ยวกราดมาก ซึ่งเจ้าหน้าที่องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ จัดชุดเฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำตลอด 24 ชม.เพราะช่วงนี้ยังคงมีฝนตกในแถบภูเขาชายแดนอย่างต่อเนื่อง
จังหวัดสุโขทัย
นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสวรรคโลก เตรียมระดมกำลังทุกหน่วยงานและเครื่องสูบน้ำ พร้อมรับสถานการณ์แม่น้ำยมเอ่อล้นเข้าท่วมเมืองตลอด 24 ชม. พร้อมใช้รถติดเครื่องขยายเสียงออกประกาศแจ้งเตือนให้ชาวบ้านขนข้าวของขึ้นที่สูง
จังหวัดหนองคาย
นายทรงพล โกวิทศิริกุล นายกเทศมนตรีเมืองหนองคาย ได้ระดมกำลังพนักงานเทศบาลออกล้างและทำความสะอาดถนนประจักษ์ศิลปาคมตลอดสาย อีกทั้งยังออกหน่วยสาธารณสุขเคลื่อนที่ไปให้บริการประชาชนฟรี พร้อมนำถุงยังชีพไปแจกจ่ายให้กับผู้ประสบภัยแล้ว
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
น้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ไหลทะลักเข้าคลองบางหลวงจนล้นตลิ่งเข้าท่วมโรงเรียนประชากร รังสฤษฏ์ หมู่ 2 ต.บางหลวง อ.บางบาล สูงกว่า 50 ซม. ทำให้พื้นที่อาคารเรียนหลังเก่า 2 หลัง จมน้ำทั้งหมด ซึ่งทางนักเรียน ผู้ปกครองและชาวบ้านต้องมาช่วยกันเก็บข้าวของและหนังสือเรียนในห้องสมุดหนีน้ำขึ้นไปเก็บไว้บนชั้นสอง
จังหวัดอุตรดิตถ์
สถานการณ์น่าเป็นห่วงมาก ต้องเฝ้าระวังน้ำท่วมขัง เพราะฝนตกหนักที่บริเวณท้ายเขื่อนสิริกิตติ์ ทำให้มีปริมาณน้ำมาก
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ได้เร่งประสานไปทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ให้ช่วยบริหารจัดการน้ำโดยหยุดระบายน้ำในเขื่อนสิริกิตติ์ช่วง 3-4 วันนี้ เพื่อลดปริมาณน้ำที่จะไหลมาทาง จ.พิษณุโลก และในวันที่ 6-7 สิงหาคม และจะเร่งระบายให้ลงสู่ทะเลโดยเร็วที่สุด เพื่อเตรียมรับสถานการณ์พายุที่จะเข้ามาอีกหลายสิบลูก
จังหวัดนครสวรรค์
แนวกั้นน้ำหมู่ที่ 4 ตำบลบางเคียน ที่ชาวบ้านทำกั้นไว้ได้พังทลายจนน้ำทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนและที่นา ชาวบ้านจึงช่วยกันนำเศษฟางและกระสอบทรายไปอุดเพื่อซ่อมแซมเบื้องต้น ขณะที่ชาวบ้านบางส่วนประชดผู้ว่าฯ ให้ความช่วยเหลือน้ำท่วมล่าช้า เขียนป้ายประกาศขายที่นาทั้งตำบลไร่ละ 150,000 บาท
[2 สิงหาคม] พิษนกเตน! เชียงราย-เชียงใหม่ แพร่ อ่วม
น้ำป่ายังคงไหลทะลัก เข้าท่วมเขตเทศบาลจังหวัดเชียงใหม่ ถนนหลายสายมีน้ำท่วมสูง เกิดดินสไลด์ทับบ้านประชาชน ส่วน จังหวัดเชียงรายไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน จังหวัดลำปาง 6 อำเภอจมบาดาล
จังหวัดเชียงราย
ขณะนี้ ได้มีน้ำท่วมขังในบริเวณถนนเขตเทศบาลนครเชียงรายแล้ว เนื่องจากไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน เจ้าหน้าที่จึงนำเครื่องสูบน้ำไปติดตั้งบริเวณแยกประตูผี เพื่อสูบน้ำออกจากพื้นที่เพื่อป้องกันน้ำท่วมย่านธุรกิจสำคัญ และจัดเวรยามเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำตลอด 24 ชั่วโมง
ด้านสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ประกาศเตือนชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงภัย ที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหล และบริเวณที่ราบลุ่มริมฝั่งแม่น้ำ ระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม
จังหวัดเชียงใหม่
ล่าสุด ระดับน้ำในแม่น้ำปิงเพิ่มสูงถึง 3 เมตร จุด 73 เซนติเมตร ซึ่งเกินจุดวิกฤติแล้ว ทางจังหวัดจึงได้ระดมเจ้าหน้าที่ทหาร จากมณฑลทหารบกที่ 33 กรมทหารราบที่ 7 กว่า 1 กองร้อย รวมถึงเจ้าหน้าที่เทศบาล และประชาชนร่วมกันบรรจุกระสอบทราย จำนวน 100,000 ใบ เพื่อเสริมแนวตลิ่งน้ำปิง ในเขตอำเภอเมือง ยาว 2 กิโลเมตร โดยเฉพาะจุดต่ำสุด ซึ่งจะรองรับน้ำได้อีก 1 เมตร ทั้งยังได้จัดทีมเจ้าหน้าที่แจ้งเตือนประชาชนให้เก็บในพื้นที่สูงและให้ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดอีกด้วย
จังหวัดพิจิตร
ขณะนี้ นายวิเชียร อนุศาสนนันท์ นายอำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ได้ประกาศให้อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร เป็นพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วมแล้ว หลังบ้านเรือนราษฎรถูกน้ำท่วมแล้วกว่า 100 หลังคาเรือน และนาข้าวเสียหายกว่า 5,000 ไร่ เนื่องจากถูกน้ำเหนือจาก จังหวัดสุโขทัย และ อำเภอบางระกำ จังหวัดพิษณุโลก ที่ไหลบ่าเข้าลุ่มแม่น้ำยม อีกทั้งน้ำป่าจาก อำเภอไทรงาม จังหวัดกำแพงเพชร ก็ไหลเข้ามาสมทบ จนเอ่อเข้าท่วมพื้นที่อำเภอสามง่าม
ทั้งนี้ ทางอำเภอสามง่าม ยังได้ประกาศเตือนให้ประชาชนที่อยู่ในที่เสี่ยงภัย ให้เร่งอพยพคน สัตว์ และสิ่งของ ให้ไปอยู่ในที่สูง เพราะคิดว่าในอีก 2 - 3 วัน ก็จะมีน้ำก้อนใหญ่ไหลบ่ามาจากทางภาคเหนือ ซึ่งจะทำให้น้ำท่วมวิกฤติเพิ่มขึ้น
จังหวัดตาก
ในพื้นที่จังหวัดตากได้เกิดเหตุดินถล่มเข้าหมู่บ้าน ในอำเภอพบพระ เทศบาลตำบลพบพระ และที่ถนนสายแม่สอด อุ้มผาง บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 57-58 บริเวณสวนป่าช่องแคบ ต.คีรีราษฎร์ อ.พบพระ จ.ตาก และที่ หลัก กม.127- 128 อำเภออุ้มผาง จังหวัดตาก
โดยล่าสุดทางเจ้าหน้าที่แขวงการทางตาก ที่ 2 แม่สอด ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปตรวจสอบ และแจ้งเตือนประชาชน นักท่องเที่ยว ให้ระมัดระวังการสัญจรไปมาเส้นทางดังกล่าว เพราะอาจเกิดปัญหาดินโคลน ถล่ม ทับกีดขวางเส้นทาง ซึ่งอาจจะได้รับอันตรายได้ อย่างไรก็ดีมีบางจุดที่ดินถล่มทำให้รถยนต์ของนักท่องเที่ยว ติดอยู่บนเส้นทาง ตลอดหลายวันที่ผ่านมา
จังหวัดแพร่
สถานการณ์ ล่าสุด มี 6 ตำบล ได้แก่ ตำบลนานพูน ตำบลคือ ตำบลแม่ป้าก ตำบลแม่เกิ๋ง ตำบลวังชิ้น ตำบลสรอย ตำบลป่าสัก ในอำเภอวังชิ้น จังหวัดแพร่ ถูกตัดขาดจากโลกภายนอก ขณะที่ไฟฟ้าถูกตัดขาดทั้งอำเภอ นอกจากนี้ ยังพบว่าในตำบลนาพูน เกิดดินสไลด์ ที่บริเวณหมู่ที่ 5 ทำให้ไม่สามารถเข้าออกภายในหมู่บ้านบางจุด ประกอบกับมีน้ำป่าไหลหลากอย่างเร็วทำให้ 11 หมู่บ้าน ถูกน้ำป่าไหลเข้าท่วมอย่างรวดเร็ว ทำให้เจ้าหน้าที่ ยังไม่สามารถเข้าไปให้ความช่วยเหลือได้
จังหวัดแม่ฮ่องสอน
หลังจากที่ฝนตกลงมาอย่างหนักในพื้นที่อำเภอปาย อำเภอปางมะผ้า และอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ทำให้ปริมาณน้ำจากอำเภอปาย ไหลลงสู่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน ส่งให้ปริมาณน้ำในลำน้ำปายเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และไหลเข้าท่วมพื้นที่ไร่ นา ขอชาวบ้านในตำบลปางหมู อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เป็นจำนวนมาก ทั้งยังส่งผลให้ถนนสายเสี่ยงเมือง 108 ถูกน้ำท่วมสูงประมาณ 15 - 20 ซ.ม. ยาวประมาณ 400 เมตร แต่รถยนต์ยังสามารถผ่านได้ ทางสำนักงานแขวงการทางแม่ฮ่องสอน ได้นำป้ายมาปักเตือนประชาชนที่ใช้ถนนสาย ฯ ดังกล่าวว่ามีน้ำท่วมถนน
ด้านนายกำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ประกาศผ่าน สถานีวิทยุกระจายเสี่ยงแห่งประเทศไทย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ให้ประชาชนเคลื่อนย้ายทรัพย์สิน และสัตว์เลี้ยงให้ขึ้นมาอยู่บนพื้นที่สูงโดยด่วน เพราะเกรงว่าในช่วงกลางคืนปริมาณน้ำอาจจะเพิ่มอย่างต่อเนื่องก็เป็นได้
จังหวัดลำปาง
ล่าสุด 3 ตำบลใน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ได้แก่ ตำบลลำปางหลวง ตำบลนาแส่ง และตำบลนาแก้ว จมบาดาลแล้ว หลังน้ำในแม่น้ำวัง ไหลเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร เป็นวงกว้างกว่า 10 หมู่บ้าน ส่งผลบ้านเรือนได้รับความเดือดร้อนกว่า 800 หลังคาเรือน พื้นที่การเกษตร เช่น นาข้าว จมอยู่ในน้ำกว่า 4,000 ไร่ บางพื้นที่นาข้าว ก็เปลี่ยนสภาพกลายเป็นบึงใหญ่ นับเป็นภัยทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างหนักในรอบ 5 ปี
จังหวัดสุโขทัย
ล่าสุด ระดับน้ำในแม่น้ำยมได้เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ทำให้น้ำในแม่น้ำยมล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่หมู่ที่ 1 , 2 , 4 และ หมู่ที่ 6 ตำบลปากแคว อำเภอเมือง รวมทั้งระดับน้ำที่เอ่อล้นตลิ่งยังกำลังไหลบ่าเข้าท่วมถนนสายบายพาสรอบเมืองสุโขทัยอีกด้วย
ในขณะที่ในพื้นที่หมู่ที่ 4 บ้านสามหมื่น และหมู่ที่ 6 บ้านวังกุ้ง ตำบลปากพระ อำเภอเมือง ก็ประสบปัญหาภาวะน้ำท่วมในพื้นที่สูงจากแม่น้ำยมล้นตลิ่งเช่นเดียวกัน
ด้าน นายจักริน เปลี่ยนวงษ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ได้ออกประกาศเตือนชาวบ้านทั้งสองฝั่งของแม่น้ำยมที่ไหลผ่านจังหวัดสุโขทัยให้เตรียมความพร้อมในการอพยพขนข้าวของขึ้นไว้ในที่สูงรวมทั้งระมัดระวังภาวะแม่น้ำยมล้นตลิ่งฉับพลัน ทั้งขอให้ติดตามข่าวสารของทางราชการที่ออกประกาศเตือนภัยอย่างใกล้ชิด
จังหวัดอุตรดิตถ์
เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา มีน้ำจากเทือกเขาน้ำตก ที่ล้อมรอบ อำเภอลับแล ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านและพื้นที่การเกษตร และที่เขตเทศบาลตำบลศรีพนมมาศ ชาวบ้านต่างเร่งเก็บสิ่งของขึ้นไว้ที่สูง
ด้าน นายเจษฎา ศรุติสุต นายกเทศมนตรีตำบลศรีพนมมาศ อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ ได้ระดมเจ้าหน้าที่นำกระสอบทรายออกแจกจ่ายให้ชาวบ้านนำมาปิดกั้นบริเวณหน้าบ้านเรือนของตนเอง ทั้งยัง ได้แจ้งเตือนชาวบ้านให้เฝ้าระวัง และเก็บสิ่งของไว้ที่สูง สำหรับผู้ป่วยที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ซึ่งอาศัยอยู่ตามบ้าน ได้มีการย้ายไปที่โรงพยาบาลลับแลก่อนเป็นการชั่วคราว
อิทธิพลพายุนกเตน ทำให้หลายจังหวัดฝนตกหนัก โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน ขณะที่กรมอุตุฯ ระบุ พายุนกเตนกำลังอ่อนลง แต่จะมี พายุหมุ่ยฟ้า จ่อเข้าคิวถล่มอีกระลอก เตือนภาคเหนือ-อีสาน เตรียมรับมือ
หมุ่ยฟ้า จ่อเข้าคิว หลังนกเตนอ่อนแรง
วานนี้ (1 สิงหาคม) กรมอุตุนิยมวิทยา เผยว่า หลังจากที่พายุนกเตนพัดผ่านประเทศไทยไปยังประเทศพม่า จะมีพายุ หมุ่ยฟ้า พัดเข้าสู่พื้นที่ภาคอีสานและภาคเหนืออีกลูก ซึ่งพายุดังกล่าวเป็นพายุโซนร้อนที่ก่อตัวขึ้นในมหาสมุทรแปซิฟิก แล้วจะพัดผ่านประเทศฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว และจะเข้าประเทศไทยแต่อ่อนกำลังลงเป็นดีเปรสชั่น ซึ่งอาจจะส่งฝนให้เกิดฝนตกหนักในประเทศไทยได้
ทางด้าน นายอำพล กิตติอำพล เลขาธิการคณะรัฐมนตรี ได้สั่งกำชับให้ส่วนราชการต่าง ๆ เร่งระบายน้ำ พร้อมสั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดที่ประสบอุทกภัย ให้เบิกงบฉุกเฉินมาบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน
ฝนตกหนักทั่วประเทศ
นายต่อศักดิ์ วานิชขจร อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา กล่าวว่า ขณะนี้พายุนกเตนได้อ่อนกำลังและสลายตัวไปแล้ว แต่ทางด้านภาคเหนือ อีสาน กลาง และตะวันออก ก็ยังคงได้รับผลกระทบอยู่ ซึ่งฝนจะตกกระจายเพิ่มขึ้นทั่วไปประเทศไปอีก 1-2 วัน อาจจะส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้ ทางด้านภาคใต้ทั้งฝั่งอันดามันและอ่าวไทยตอนบนยังมีฝนตกทั่วพื้นที่และทะเลมีคลื่นสูง ไม่เหมาะแก่การเดินเรือไปจนถึงวันที่ 4 สิงหาคม
อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ยังกล่าวอีกว่า ตนอยากให้ประชาชนติดตามข่าวสารด้านสภาพภูมิอากาศอย่างใกล้ชิด ส่วนพายุหมุ่ยฟ้า ด้านตะวันออกของฟิลิปปินส์ และมีแนวโน้มจะเคลื่อนตัวไปทางตอนเหนือของเกาะไต้หวัน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผลกระทบใด ๆ
หนุ่มอุดรฯ สังเวยพายุนกเตน เป็นศพแรก
กระแสน้ำป่าที่ไหลหลากมาตั้งแต่กลางดึกของวันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้พัดพาร่างของ นายทองล้วน โยธากุล อายุ 49 ปี อยู่บ้านเลขที่ 56 ม.6 ต.น้ำโสม อ.น้ำโสม หายไปนั้น ล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่าพบศพนายทองล้วนแล้ว ในแม่น้ำโสมหลังโรงเรียนน้ำโสมประชาสรรค์ ซึ่งเป็นศพแรกที่สังเวยชีวิตให้กับพายุนกเตน
จังหวัดลำปาง
ที่อำเภอแม่เมาะ น้ำทะลักเข้าท่วมบ้านห้วยเป็ด บ้านหางฮุง บ้านสบเมาะ บ้านปงชัย และบ้านห้วยคิง โดยน้ำได้ทะลักเข้ามาอย่างรวดเร็วพัดพาทรัพย์สินของชาวบ้านสูญหายไปเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะที่บ้านหางฮุง และบ้านห้วยเป็ด ซึ่งบางจุดกระแสน้ำไหลเชี่ยวไม่สามารถใช้เรือยางได้ ต้องใช้คนโยนเชือกเข้าไปนำตัวชาวบ้านออกมายังที่ปลอดภัย
ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แม่เมาะ กู้ภัยเทศบาลแม่เมาะและผู้ใหญ่บ้านต้องเร่งช่วยชาวบ้านขนย้ายสิ่งของที่จำเป็นขึ้นไปไว้บนที่สูง ส่วนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ และรถอื่น ๆ ต้องช่วยกันขนไปไว้ที่วัดประจำหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่บนเนิน
จังหวัดแพร่
น้ำป่าเข้าท่วมหลายจุดของอำเภอลองแล้ว บรรดาพระสงฆ์ต้องเก็บข้าวของหนีน้ำกันตั้งแต่วันที่ 31 กรกฎาคมที่ผ่านมา ขณะที่สะพานข้ามลำห้วยโป่งหมื่น น้ำท่วมสูงถึง 1 เมตร จนปิดเส้นทางเข้าออกวัด นอกจากนี้ ชาวบ้าน 43 ครอบครัว ที่บ้านแม่ลู้ หมู่ 7 ตำบลแม่ปาน ต้องหนีมาอาศัยที่พักชั่วคราวหลังน้ำป่าและน้ำยมหนุนสูง ขณะที่เส้นทางการรถไฟระหว่างสถานีรถไฟบ้านปิน และสถานีแก่งหลวง ต้องปิดทำการชั่วคราว หลังรางรถไฟถูกน้ำท่วม
จังหวัดเชียงใหม่
น้ำจากลำน้ำแม่ออนไหลท่วมบ้านเรือนประชาชนที่บ้านออน ม.14 และบ้านน้อย ม.9 อ.สันกำแพง ทั้งหมด ส่วนศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย อ.สันกำแพง (กศน.) สันกำแพง ซึ่งในอดีตเป็นโรงเรียนประถมที่อดีตนายกฯ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยเรียน ถูกน้ำท่วมต้องปิดการเรียนการสอน
ขณะที่น้ำป่าจากห้วยแม่ฮ่องฮัก ทะลักท่วมถนนสายเชียงใหม่ดอยสะเก็ด ส่งผลให้บ้านเรือน และไร่นาของเกษตรกรที่อยู่ริมสองฝั่งลำห้วยถูกน้ำท่วมสูง รวมทั้งที่ทำการไปรษณีย์อำเภอดอยสะเก็ดก็ถูกน้ำท่วมสูง และน้ำจากอำเภอดอยสะเก็ดได้ไหลบ่าลงไปยังพื้นที่ของอำเภอสันกำแพง ทำให้เกิดน้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมในพื้นที่อำเภอสันกำแพง มีบ้านเรือนนับร้อยหลังคาเรือนถูกน้ำท่วม
จังหวัดน่าน
น้ำกัดเซาะถนนทางเข้าหมู่บ้านสบแก่น ตำบลนาปัง อำเภอภูเพียง เป็นแนวยาวและส่งผลให้ถนนบางจุดแตกร้าวอีกด้วย
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา เขตอำเภอพระนครศรีอยุธยา สูงขึ้นอีก 10 เซนติเมตร ทางสำนักงานเจ้าท่า ย้ำเตือนเรือขนสินค้า ให้ระวังช่วง 2 โค้งอันตราย คือ โค้งชลประทานบางบาน ช่วงผ่านสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา หรือสะพานหัวดุม ตำบลภูเขาทอง และโค้งหัวแหลม ตำบลประตูชัย เพราะกระแสน้ำไหลเชี่ยว
ทางด้าน นายสุพจน์ พรหมมาโนช ผอ.สำนักงานศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา เร่งทำเขื่อนชั่วคราวบริเวณวัดไชยวัฒนาราม เป็นโบราณสถานและสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัด โดยจะนำแผ่นเหล็กจะสามารถป้องกันน้ำท่วมในระดับความสูง 2 เมตรได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ มากั้นไว้ หากระดับน้ำสูงกว่านี้ก็สามารถต่อความสูงของเขื่อนป้องกันน้ำท่วมขึ้นไปอีกได้
จังหวัดหนองคาย
ปริมาณน้ำที่ท่วมในเขตตัวเมืองขณะนี้ระดับน้ำกำลังลดแล้ว หลังเร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขง ทางด้านนายวิรัตน์ ลิ้มสุวัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย นำถุงยังชีพขึ้นรถบรรทุกหกล้อ ไปแจกจ่ายให้กับประชาชนบริเวณซอยดอนดู่ฅ, หมู่บ้านเทพปราณี ซึ่งมีน้ำท่วมสูง
จังหวัดนครพนม
น้ำป่าจากภูลังกา ลงลำห้วยเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตร ในตำบลนางัว และตำบลไผ่ล้อม อำเภอบ้านแพง โดยเฉพาะโรงเรียนบ้านพืชผล ตำบลไผ่ล้อม ต้องหยุดการเรียนการสอน หลังน้ำป่าเข้าท่วมขังอาคารเรียนทุกหลัง
[1 สิงหาคม] น้ำป่าซัดรางรถไฟสายเหนือขาด หยุดวิ่งแล้ว
รถไฟสายเหนืออัมพาต หลังน้ำท่วมรางขาด ขณะที่เกิดดินถล่มทับเส้นทางรถไฟก่อนเข้าอุโมงค์ขุนตาน เจ้าหน้าที่เร่งซ่อมแซมเป็นการด่วนแล้ว ขณะที่หลายพื้นที่ในภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเจอน้ำท่วม บ้านเรือน พื้นที่การเกษตรเริ่มจมน้ำ
เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา ( 1 สิงหาคม) มีรายงานว่า เกิดเหตุน้ำท่วมบริเวณรางรถไฟ ในพื้นที่ติดต่อ จ.ลำปาง และ จ.แพร่ ช่วงบริเวณสถานีรถไฟ บ้านปิน และสถานีรถไฟ ผาคัน อ.ลอง จ.แพร่ ช่วงหลักกิโลเมตรของการรถไฟ ที่ 564/15-17 ในเขต อ.ลอง จ.แพร่ และในเขตติดต่อ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ทำให้ขณะนี้ขบวนรถไฟโดยสารต่าง ๆ ทั้งหมด ทั้งขาขึ้นและขาล่อง ในสายเหนืองดเดินรถไปแล้ว
ต่อมา มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ซ่อมทางการรถไฟ จ.แพร่ และ จ.ลำปาง ได้เข้าตรวจสอบสภาพทางรถไฟในจุดดังกล่าวแล้ว พบว่า หินหนุนใต้รางรถไฟถูกน้ำป่าพัดขาดหายไปส่วนหนึ่ง และบริเวณรางรถไฟยังถูกน้ำท่วมขัง สูงกว่า 15 เซนติเมตร จึงต้องเร่งซ่อมแซมโดยนำหินมาหนุนรางรถไฟ เพื่อจะได้เปิดการเดินรถได้ตามปกติ
ขณะที่ นางนวลอนงค์ วงษ์จันทร์ หัวหน้ากองประชาสัมพันธ์การรถไฟแห่งประเทศไทย แจ้งว่า หลังจากพบว่า มีน้ำท่วมสันรางรถไฟสูง 15 เซนติเมตร ที่ทางรถไฟสายเหนือ ช่วงระหว่างสถานีบ้านปิน-ผาคัน ในเขต จ.ลำปาง จึงไม่สามารถเดินรถต่อไปได้ ทำให้ต้องขนถ่ายผู้โดยสารที่สถานีเด่นชัยต่อไปยัง จ.เชียงใหม่ โดยขบวนรถที่มีการขนถ่ายผู้โดยสารในเช้านี้ ได้แก่ ขบวนรถพิเศษที่ 13 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และขบวนรถด่วนที่ 51 กรุงเทพฯ-เชียงใหม่
การรถไฟฯ จึงขออภัยในความไม่สะดวกมา ณ โอกาสนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับสถานการณ์เดินรถในเส้นทางสายเหนือ ได้ที่นายสถานีรถไฟในเส้นทาง และศูนย์บริการลูกค้าสัมพันธ์ 1690 ตลอด 24 ชั่วโมง
เช่นเดียวกับนายขจรศักดิ์ ใจละออ นายสถานีรถไฟแม่ตานน้อย ที่ระบุว่า ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในหลายพื้นที่ของ จ.ลำปาง ส่งผลให้มีดินถล่มปิดทับเส้นทางรถไฟ บริเวณหลักกิโลเมตรที่ 679 ก่อนเข้าอุโมงค์รถไฟถ้ำขุนตาน 3 กิโลเมตร ในเขตสถานีรถไฟแม่ตานน้อย อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง เจ้าหน้าที่กว่า 20 คน ต้องเร่งเข้าไปตักดินโคลนที่ถล่มลงมาปิดทับเส้นทางเป็นการด่วน ซึ่งจากเหตุดังกล่าวส่งผลให้รถไฟสายเหนือต้องหยุดเดินรถแล้ว
อุตรดิตถ์อ่วม กว่าพันครอบครัวเดือดร้อนหนัก
เมื่อช่วงดึกที่ผ่านมา จ.อุตรดิตถ์ มีฝนตกตลอดอย่างต่อเนื่องนานกว่า 10 ชั่วโมง จากฤทธิ์พายุโซนร้อนนกเตน ส่งผลทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากอย่างรวดเร็วเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนราษฎร หมู่ 8 บ้านวังเบน หมู่ 9 บ้านวังตะเคียน ต.ผักขวง และ หมู่ 1 หมู่ 12 บ้านแสนขัน หมู่ 6 บ้านปางคล้อ หมู่ 4 บ้านน้ำลอก ต.บ่อทอง อ.ทองแสนขัน จ.อุตรดิตถ์ ระดับน้ำท่วมสูง 2-4 เมตร ส่งผลทำให้ชาวบ้านจำนวนเกือบ 1,000 ครัวเรือนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ต้องขนสิ่งของหนีขึ้นสู่ที่สูง โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้า ไม่สามารถเก็บสิ่งของหนีน้ำท่วมได้ทันทำให้ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้รถยนต์ของชาวบ้าน จำนวนกว่า 50 คัน ต้องจมอยู่ในน้ำที่ไหลหลากเข้าท่วมครั้งนี้ด้วย
ทั้งนี้ ปริมาณน้ำได้ไหลท่วมพื้นผิวถนนสายหลัก ระหว่าง ทองแสนขัน-น้ำปาด สูงเกือบ 2 เมตร ถนนถูกตัดขาดรถไม่สามารถสัญจรผ่านไปได้กินระยะทางยาวกว่า 5 กิโลเมตร โดยมีหน่วยกู้ภัยจากมูลนิธิอุตรดิตถ์สงเคราะห์ และสมาคมกู้ภัยหมอนไม้ นำเรือท้องแบน จำนวน 3 ลำเข้าช่วยเหลือชาวบ้าน
อุดรธานี น้ำท่วมสูงเกือบ 1 เมตร
ด้านผู้สื่อข่าวรายงานจาก จ.อุดรธานี ว่า จากอิทธิพลของพายุ "นกเตน" ที่พัดผ่านภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักตั้งแต่คืนที่ผ่านมาจนถึงช่วงเช้า วัดปริมาณน้ำฝนที่สถานีตรวจอากาศ จ.อุดรธานี ได้ 139.7 มิลลิเมตร ที่ว่าการอำเภอเมืองอุดรธานี 145.5 มิลลิเมตร ส่งผลให้ในเขตเทศบาลนครอุดรธานี เกิดน้ำท่วมบนถนนกว่า 10 สาย ระดับน้ำสูงสุดมากกว่า 70 ซม. เทศบาลนครอุดรธานีต้องระดมสูบน้ำลงลำห้วยหมากแข้ง ลำห้วยมั่ง และสถานีสูบน้ำใต้ดินออกนอกเมือง
แม่ฮ่องสอน 3 หมู่บ้านถูกตัดขาด
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.แม่ฮ่องสอน จากฝนตกมาตลอดทั้งคืนจนถึงเมื่อวานนี้ ทำให้ลำน้ำปาย เอ่อท่วมถนนหมู่บ้านแล้วใน ต.แม่นาเติง อ.ปาย เมื่อช่วงสายที่ผ่านมา ทำให้การสัญจร 3 หมู่บ้านถูกตัดขาด คือ บ้านแม่ของหมู่ 5 บ้านนาจลอง หมู่ 6 และบ้านแม่ตาเติง หมู่ 11 เนื่องจากกระแสน้ำไหลเชี่ยว และยังท่วมพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านเป็นวงกว้าง
ขณะเดียวกันแม่น้ำปาย ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว และพัดต้นไม้ไหลมากับน้ำ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ตามริมฝั่งเร่งขนย้ายข้าวของไปอยู่ในจุดปลอดภัยก่อนที่แม่น้ำปายจะเอ่อล้นอย่างฉับพลัน โดยชาวบ้านได้เฝ้าติดตามสถานการณ์น้ำอยู่ตลอด เพราะเกรงว่าน้ำจะขึ้นสูงและไหลแรงขึ้น หากฝนไม่หยุดตก และขณะนี้ท้องฟ้าเต็มไปด้วยเมฆฝน ด้านนายกำธร ถาวรสถิตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน กำชับนายอำเภอทั้ง 7 อำเภอ ติดตามสถานการณ์ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะในพื้นที่ อ.ปาย และ อ.ปางมะผ้า ยังมีฝนตกต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำตามลำห้วยต่างๆ เพิ่มขึ้น ส่วนประชาชนพื้นที่ราบลุ่มให้เคลื่อนย้ายทรัพย์สินและสัตว์เลี้ยงขึ้นมาอยู่บนพื้นที่สูง เกรงว่าจะเกิดน้ำป่าไหลหลากในช่วงนี้ได้อีก
นครพนม หวั่นน้ำป่าทะลักอีก
ยังคงได้รับผลกระทบจากพายุโซนร้อนนกเตน ทำให้มีฝนตกลงมาอย่างหนักต่อเนื่องตลอด 2-3 วันที่ผ่านมา ทำให้ไร่นาและพื้นที่การเกษตรของเกษตรกรหลายพื้นที่ ถูกน้ำเอ่อท่วมได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะพื้นที่ ต.ไผ่ล้อม จำนวน 8 หมู่บ้าน กับ ต.นางัว จำนวน 11 หมู่บ้าน รวม 19 หมู่บ้าน ในเขตอ.บ้านแพง จ.นครพนม มีน้ำป่าจากอุทยานแห่งชาติภูลังกา ไหลทะลักเข้าท่วมตั้งแต่เช้าของวันที่ 31 ก.ค.ที่ผ่านมา มีระดับสูงประมาณ 30 เซนติเมตร บางจุดลึกถึง 50 เซนติเมตร สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านในพื้นที่กว่า 1,000 ครอบครัว ต้องอพยพสิ่งของเครื่องใช้หนีน้ำไว้ที่สูง บางรายที่เป็นบ้านชั้นเดียว ต้องไปอาศัยพักนอนกับเพื่อนบ้าน ที่สำคัญยังได้รับความเดือดร้อนจากการไม่มีห้องน้ำห้องส้วมใช้ เพราะถูกน้ำเอ่อท่วมหมด และต้องคอยเตรียมพร้อมเฝ้าระวัง ไม่กล้าหลับนอน เนื่องจากเกรงว่าน้ำป่าจะทะลักเข้าท่วมเพิ่มอีก
ด้านนายวสุพล คัณทักษ์ ปลัดอาวุโส อ.บ้านแพง กล่าวว่า ได้นำเจ้าหน้าที่ อส. ร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และผู้นำชุมชน จัดเตรียมอุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือ ยารักษาโรค รวมถึงเรือท้องแบน ออกตรวจสอบให้ความช่วยเหลือพื้นที่ประสบปัญหาอย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมประกาศเตือนให้พี่น้องประชาชนเฝ้าระวังเป็นระยะ เมื่อเกิดน้ำป่าไหลหลากทะลักเข้ามาจำนวนมาก ที่อาจเกิดอันตราย จะได้มีการอพยพออกจากพื้นที่ได้ทัน เนื่องจากยังมีฝนตกลงมาเป็นระยะ อาจส่งผลให้ปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นการป้องกันมิจฉาชีพมาฉวยโอกาสลักขโมยสิ่งของชาวบ้านด้วย หากคืนนี้ไม่มีฝนตกลงมาต่อเนื่อง คาดว่าระดับน้ำที่ท่วมขังจะลดลงอย่างรวดเร็ว และเข้าสู่ภาพวะปกติได้ แต่หากมีฝนตกหนักซ้ำอีก อาจจะต้องเร่งอพยพชาวบ้านออกจากพื้นที่โดยด่วน ส่วนโรงเรียนคาดว่าจะมี 2 แห่ง ที่ไม่สามารถเปิดเรียนได้ในพรุ่งนี้ เพราะถูกน้ำท่วมขัง
แพร่ ระดับน้ำในห้วยเพิ่มขึ้นรวดเร็ว เตรียมขนของขึ้นที่สูง
เกิดฝนตกต่อเนื่องในพื้นที่ อ.สอง อ.ร้องกวาง และ อ.หนองม่วงไข่ ตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 30 ก.ค.-31 ก.ค. ส่งผลให้ปริมาณน้ำในลำน้ำสาขาไหลเข้าท่วมบ้านเรือน และพื้นที่ทางการเกษตรของ อ.ร้องกวาง หลายแห่ง ส่วนในเขตเทศบาลเมือง ตั้งแต่บริเวณหน้าโรงพยาบาลแพร่เข้ามาสู่ตัวเมืองมีน้ำท่วมขังหลายจุดเช่นกัน ทำให้การสัญจรเป็นไปด้วยความยากลำบาก
นายโชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ กล่าวว่า ขณะนี้ได้ระดมเจ้าหน้าที่เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่และช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้นแล้ว พร้อมแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่บริเวณห้วยแม่แคมให้ระมัดระวังน้ำป่าไหลหลากและน้ำล้นตลิ่ง เพราะขณะนี้ระดับน้ำในลำห้วยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้บริเวณดังกล่าว เตรียมขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูง และติดตามข่าวอย่างต่อเนื่อง
โดยจุดวัดน้ำห้วยสัก อ.สอง อยู่ที่ระดับ 3.92 เมตร และที่จุดวัดน้ำบ้านน้ำโค้ง อยู่ที่ระดับ 5 เมตร ซึ่งในพื้นที่บ้านแม่ยางตาน หมู่ 3 และหมู่ 6 น้ำได้เข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่ทางการเกษตร ส่วนถนนที่จะสัญจรไปที่บ้านแม่ยางโตนหมู่ 4 มีบางจุดที่ถนนขาดแล้ว และในเขตรับผิดชอบของ อบต.ทุ่งกวาว หมู่ 1, 2 และ 3
เชียงคาน นาข้าวกว่าพันไร่จมน้ำ
ฝนตกติดต่อกันตั้งแต่วันที่ 30 กรกฎาคม จนถึงปัจจุบัน ทำให้มีปริมาณน้ำฝนทะสมบนเทือกเขาในอ.เเชียงคาย และปริมาณน้ำไหลจากตำบลเขาแก้ว และตำบลธาตุ เข้าท่วม ต.นาสี อ.เชียงคาน ส่งผลให้นาข้าวกว่า 1,000 ไร่ และ บ่อปลาที่ชาวบ้านเลี้ยงกว่า 100 บ่อ ได้รับความเสียหาย
ขณะเดียวกันกระแสน้ำที่ไหลผ่านตำบลนาสี ได้ไหลเข้าท่วมตลาดสามแยกบ้านธาตุ ทำให้กระแสไหลเข้าท่วมร้านค้าที่ขวางทางน้ำ ได้รับความเสียหาย บรรดาพ่อค้าแม่ค้า และประชาชนต่างพากันย้ายข้าวของอย่างโกลาหล แต่รถยังสามารถสัญจรไปมาได้ นอกจานี้กระแสน้ำยังได้ไหลเข้าท่วมถนนสายบ้านธาตุ-ปากชม จนเส้นทางขาด รถยนต์ขนาดเล็กไม่สามารถเดินทางผ่านไปมาได้
ทางด้าน นายโสภณ สุวรรณรัตน์ นายอำเภอเชียงคาน กล่าวว่า ทางอำเภอได้จัดส่งเจ้าหน้าที่ บรรเทาสาธารณภัยของทุกองค์กรปกครองท้องถิ่น ให้เข้าช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน และสำรวจความเสียหายอย่างเร่งด่วน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้น และจะได้นำเงินมาชดเชยตามระเบียบทางราชการต่อไป
กรมอุตุเตือน พายุลูกใหม่กำลังจะมา
กรมอุตุฯ แจ้งพายุโซนร้อน "นกเตน" อ่อนกำลังเป็นพายุดีเปรสชันพัดเข้าภาคเหนือของไทยแล้ว ชี้ 12 จังหวัดช่วง 1-2 วันนี้ฝนตกหนัก เสี่ยงเกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน "โคราช-บุรีรัมย์" สั่งจนท.เตรียมพร้อม 24 ชม. "เวียดนาม" เตือนพายุลูกใหม่กำลังก่อตัวในทะเลจีนใต้ หลังมีผู้เสียชีวิต 1 คนจากอิทธิพลนกเตน
ผลพวงจากพายุโซนร้อนนกเตนที่พัดขึ้นฝั่งช่วงเย็นวันเสาร์ที่ผ่านมาในจังหวัดแท้งฮวาและจังหวัดเหงะอาน ประเทศเวียดนาม นอกจากเกิดความเสียหายและน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ยังทำให้มีชายชาวเวียดนามอายุ 68 ปี เสียชีวิต เช่นเดียวกับในประเทศฟิลิปปินส์ ก่อนหน้านี้ที่อิทธิพลจากพายุนกเตนทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 52 คน และสูญหายอีก 27 คน
ขณะที่ในประเทศไทย เมื่อวันอาทิตย์ที่ 31 ก.ค. กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศถึง 2 ฉบับ โดยฉบับแรกเป็นฉบับที่ 13 ประกาศเวลา 10.00 น. เรื่องพายุโซนร้อนนกเตน บริเวณประเทศลาวได้อ่อนกำลังเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว โดยมีศูนย์กลางทางตะวันออกของจังหวัดน่านประมาณ 50 กิโลเมตร มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกด้วยความเร็วประมาณ 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่าพายุนี้จะเคลื่อนเข้าสู่จังหวัดน่านในเวลา 12.00 น. วันเดียวกัน
จากนั้นเวลา 16.00 น. กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศฉบับที่ 14 ระบุหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงที่อ่อนกำลังลงจากพายุดีเปรสชันนกเตน ได้ปกคลุมบริเวณจังหวัดลำปาง ทำให้ภาคเหนือยังมีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ พร้อมขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่ม ระมัดระวังอันตรายจากสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งที่เกิดขึ้นได้
โดยวันที่ 31 ก.ค. ในบริเวณจังหวัดเลย หนองบัวลำภู เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ สุโขทัย และพิจิตร วันที่ 1-2 ส.ค. ในบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร และตาก ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร และให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 31 ก.ค.-4 ส.ค.
สำหรับในพื้นที่ภาคอีสานตอนล่างและภาคกลาง หลายจังหวัดมีการเตรียมความพร้อมป้องกันผลกระทบจากพายุนกเตน โดยที่จังหวัดนครราชสีมา นายสุรวุฒิ เชิดชัย นายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ขเทศบาลทุกส่วนราชการ เตรียมพร้อมแก้ไขปัญหาน้ำท่วมตลอด 24 ชั่วโมง, จังหวัดบุรีรัมย์ นายธานี สามารถกิจ ผู้ว่าฯบุรีรัมย์ แจ้งเตือนประชาชนและเกษตรกรให้ติดตามความเคลื่อนไหวการพยากรณ์สภาพอากาศอย่างต่อเนื่อง และให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด อำเภอ รวมไปถึงองค์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) เตรียมความพร้อม
นายแพทย์ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ.สั่งให้โรงพยาบาลเตรียมมาตรการรองรับพายุฝนในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคตะวันนอก ไว้ 4 แผนหลัก คือ
1. แผนเตรียมกั้นกระสอบทราย การขนย้ายเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์อื่น ๆ ไปไว้ในจุดที่ปลอดภัย
2. แผนสำรองออกซิเจนเพื่อใช้ในผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ หรือใช้ในห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด
3. แผนเตรียมความพร้อมการอพยพผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินหากมีน้ำท่วมอาคารบริการ
4. แผนเตรียมความพร้อมการให้บริการนอกสถานที่
ล่าสุด ศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์กลางในกรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม ออกประกาศเตือนระวังอันตรายจากพายุลูกใหม่ที่กำลังก่อตัวขึ้นในทะเลจีนใต้ จากหย่อมความกดอากาศต่ำทางตะวันตกหมู่เกาะฟิลิปปินส์ กำลังเคลื่อนตัวช้า ๆ ไปทางทิศตะวันตก และอาจจะทวีความแรงขึ้นเป็นพายุโซนร้อนได้ในอีก 24 ชั่วโมงข้างหน้า ซึ่งพายุลูกใหม่ก่อตัวและทวีความเร็วลมศูนย์กลางขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ไต้ฝุ่นมุ่ยฟ้า (Mui Fah) ในมหาสมุทรแปซิฟิกทางทิศตะวันออกของฟิลิปปินส์ กำลังอ่อนตัวลงเป็นพายุโซนร้อน
[31 กรกฎาคม] พิษนกเตน เทศบาลเมืองหนองคายน้ำท่วมสูง
พายุนกเตน ทำพิษ จ.หนองคาย น้ำท่วมเขตเทศบาลเมืองกว่า 1 เมตรแล้ว เจ้าหน้าที่เร่งระบายลงแม่น้ำโขง ขณะส่งผลกระทบการเลือกตั้งใหม่บ้าง แต่ไม่มาก
เจ้าหน้าที่สำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.หนองคาย รายงานสถานการณ์น้ำท่วม อันเป็นผลจากพายุนกเตน ที่ทำให้เกิดฝนที่ตกหนักต่อเนื่องติดต่อกัน โดยระบุว่า ขณะนี้ในเขตเทศบาลเมืองหนองคาย ระดับน้ำได้ท่วมสูงประมาณ 1 เมตร ถนนบางสายไม่สามารถใช้สัญจรผ่านไป-มาได้แล้ว โดยบางพื้นที่ประชาชนต้องอพยพย้ายหนีน้ำขึ้นไปพักอาศัยบนชั้น 2 ของบ้าน ซึ่งที่ผ่านมาวัดปริมาณน้ำฝนได้ 495 มิลลิเมตร ถือว่าสูงที่สุดในรอบ 20 ปีของจังหวัด ขณะที่การระบายน้ำนั้น ทางจังหวัดเร่งระบายน้ำในเขตเทศบาลลงสู่แม่น้ำโขงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่า หากสถานการณ์ฝนที่ตกลงมาดีขึ้นเป็นระยะ จะสามารถระบายน้ำและคืนสภาพปกติได้ใน 2 วัน
อย่างไรก็ตาม อุทกภัยและพายุฝนที่ตกลงมาขณะนี้ ส่งผลกระทบกับการเลือกตั้งใหม่ ในพื้นที่เขต 2 ที่มีขึ้นในวันนี้บ้าง แต่ไม่มาก
ด้าน นายชรินทร์ สุวรรณภูเต ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดหนองคาย เปิดเผยสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ว่า ขณะนี้ในจังหวัดยังมีฝนตกลงมาอ่างต่อเนื่อง โดยระดับน้ำวัดความสูงได้ที่ 150 ซ.ม. แล้ว โดยเจ้าหน้าที่เร่งระบายน้ำลงแม่น้ำโขงเพื่อป้องกันการไหลทะลักเข้าตัวเมือง ขณะที่ภายใน อ.เมืองหนองคาย ระดับน้ำท่วมสูงกว่า 1 เมตรแล้วในบางจุด จึงขอเตือนประชาชนที่เคลื่อนย้ายสิ่งของและให้ออกนอกพื้นที่ไปอาศัยจุดที่ปลอดภัย ทั้งนี้หากยังมีฝนตกอย่างต่อเนื่อง คาดว่าปริมาณน้ำจะเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งมีประชาชนได้รับความเดือร้อนหลายราย ขณะที่เรื่องห้องสุขาก็เป็นปัญหาที่ชาวบ้านต้องการ เนื่องจากส่งผลกระทบมากในชีวิตประจำวัน
อย่างไรก็ตาม ฝนที่ตกลงมาจำนวนมากในครั้งนี้เป็นผลมาจากพายุนกเตนที่เกิดขึ้นฝั่งประเทศลาว ส่งผลกระทบทางภาคอีสานตอนบน อีกทั้งในวันนี้ จ.หนองคาย ยังมีการเลือกตั้งซ่อมอีกด้วย
กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนภัย พายุนกเตน ฉบับที่ 13
กรมอุตุนิยมวิทยา ประกาศเตือนภัย พายุ "นกเตน" ฉบับที่ 13 อ่อนกำลังกำลังเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว โดยมีศูนย์กลางทางตะวันออกของ จ.น่าน
พายุโซนร้อน "นกเตน" (NOCK-TEN) บริเวณประเทศลาว ได้อ่อนกำลังกำลังเป็นพายุดีเปรสชันแล้ว โดยมีศูนย์กลางทางตะวันออกของ จ.น่าน ประมาณ 50 กิโลเมตร หรือที่ละติจูด 18.5 องศาเหนือ ลองจิจูด 102.0 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 55 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่า พายุนี้จะเคลื่อนเข้าสู่ จ.น่าน ในช่วงเที่ยงวันนี้ (31 ก.ค. 54) จากนั้น จะมีกำลังอ่อนลงเป็นลำดับ
ลักษณะเช่นนี้ จะทำให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือด้านตะวันตก มีฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ กับมีลมแรง จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ราบลุ่ม ระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งที่จะเกิดขึ้น ดังนี้
วันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ในบริเวณ จ.หนองคาย จ.เลย จ.หนองบัวลำภู จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.แม่ฮ่องสอน จ.พะเยา จ.น่าน จ.แพร่ จ.ลำปาง จ.ลำพูน จ.อุตรดิตถ์ จ.พิษณุโลก จ.เพชรบูรณ์ จ.สุโขทัย และ จ.พิจิตร
วันที่ 1 - 2 สิงหาคม 2554 ในบริเวณ จ.แม่ฮ่องสอน จ.เชียงราย จ.เชียงใหม่ จ.พะเยา จ.น่าน จ.แพร่ จ.ลำพูน จ.ลำปาง จ.สุโขทัย จ.อุตรดิตถ์ จ.กำแพงเพชร และ จ.ตาก
ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบน จะมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2 - 4 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าว ระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2554 ไว้ด้วย
เตือน 13 จังหวัดระวังภัยจากพายุนกเตน
อุตุฉ.12 เหนืออีสานตอ.ระวังน้ำท่วมฉับพลัน (ไอเอ็นเอ็น)
เตือน 13 จังหวัดระวังภัยจากพายุนกเตน ทั้งหนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ ระนอง จันทบุรี และตราด
กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศเตือนภัยฉบับที่ 12 เรื่อง พายุโซนร้อน "นกเตน" (NOCK-TEN) ลักษณะอากาศทั่วไปเมื่อเวลา 04:00 น. เมื่อเวลา 04.00 น. วันนี้ (31 ก.ค.54) พายุโซนร้อน "นกเตน" (NOCK-TEN) ได้ขึ้นฝั่งบริเวณประเทศเวียดนามตอนบนแล้ว และมีศูนย์กลางบริเวณประเทศลาวตอนบนหรือที่ละติจูด 19.1 องศาเหนือ ลองจิจูด 104.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 75 กิโลเมตรต่อชั่วโมง กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตก ด้วยความเร็วประมาณ 18 กิโลเมตรต่อชั่วโมง คาดว่า พายุนี้จะเคลื่อนตัวในแนวประเทศลาวและทางตอนบนภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยตามลำดับ
ลักษณะเช่นนี้จะทำให้ประเทศไทยมีฝนตกเป็นบริเวณกว้างและมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ กับมีลมแรง จึงขอให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ราบลุ่ม ระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งที่จะเกิดขึ้น ดังนี้
วันที่ 31 กรกฎาคม 2554 ในบริเวณจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร กาฬสินธุ์ เชียงราย น่าน พะเยา แพร่ ระนอง จันทบุรี และตราด
วันที่ 1 สิงหาคม 2554 ในบริเวณจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ อุดรธานี หนองบัวลำภู เลย ชัยภูมิ ขอนแก่น น่าน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
วันที่ 2-3 สิงหาคม 2554 ในบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ พะเยา น่าน แพร่ ลำพูน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ พิจิตร กำแพงเพชร และตาก
ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ขอให้ชาวเรือบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 31 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2554 ไว้ด้วย
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยตั้งแต่เวลา 06:00 วันนี้ ถึง 06:00 วันพรุ่งนี้
ภาคเหนือ มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก และเพชรบูรณ์
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศา อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศา
ลมตะวันตก ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนเป็นบริเวณกว้าง ร้อยละ 80 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง กับมีลมแรงทางตอนบนของภาค
บริเวณจังหวัดเลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม สกลนคร มุกดาหาร และอำนาจเจริญ
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศา อุณหภูมิสูงสุด 28-31 องศา
ลมตะวันตก ความเร็ว 20-35 กม./ชม.
ภาคกลาง มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี และราชบุรี
อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศา อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศา
ลมตะวันตก ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
ภาคตะวันออก มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งกับมีลมแรง
บริเวณจังหวัดระยอง จันทบุรี และตราด
อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศา อุณหภูมิสูงสุด 30-31 องศา
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-40 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก) มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่
ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา
อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศา อุณหภูมิสูงสุด 30-33 องศา
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก) มีฝนฟ้าคะนองเกือบทั่วไป ร้อยละ 70 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่ง
บริเวณจังหวัดระนอง พังงา และ ภูเก็ต
อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศา อุณหภูมิสูงสุด 29-32 องศา
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-45 กม./ชม.
ทะเลมีคลื่นสูง 2-4 เมตร
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 60 ของพื้นที่ กับมีลมแรง
อุณหภูมิต่ำสุด 25-26 องศา อุณหภูมิสูงสุด 30-32 องศา
ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม.
[30 กรกฎาคม] เตือน! พายุนกเตน เข้าเหนือ-อีสาน 30 ก.ค.-4 ส.ค. นี้
ตื่น! ภัยนกเตน กรมอุตุฯ เตือน เหนือ-อีสาน (ไทยโพสต์)
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล
"นกเตน" เริ่มส่งผลแล้ว หลังคร่าชีวิตพลเมืองปินส์ไปเกือบ 50 ราย ทำจวนผู้ว่าเมืองย่าโมน้ำท่วมขัง "กรมอุตุฯ" ประกาศเตือนภัยฉบับ 6 ชี้ 30 ก.ค.-4 ส.ค. สุ่มเสี่ยงน้ำท่วม แนะพื้นที่เหนือและอีสานตอนบนรับมือ
พายุโซนร้อนนกเตนที่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ฟิลิปปินส์จนทำให้มียอดผู้เสีย ชีวิต 41 คน และสูญหายอีก 24 คน ได้เริ่มขยายวงมากขึ้น โดยล่าสุดกรมอุตุนิยมวิทยาของจีนได้ประกาศเตือนภัยฝนตกและน้ำท่วมขึ้นเป็น ระดับสีเหลือง หรือระดับ 2 จาก 4 ระดับแล้ว และในส่วนของไทยมีผลกระทบเช่นกัน
โดยที่ จ.นครราชสีมา เจ้าหน้าที่จากสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนครราชสีมา ต้องเร่งนำเครื่องสูบน้ำขนาดใหญ่มาสูบน้ำที่ท่วมขังอยู่ภายในจวนผู้ว่าฯ หลังจากช่วงเย็นวันที่ 28 ก.ค. อิทธิพลของพายุโซนร้อนนกเตน ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักภายในเขตเทศบาลและพื้นที่ใกล้เคียงนานกว่า 3 ชั่วโมง รวมทั้งได้แจ้งเตือนภัยระดับ 2 แล้ว
ด้านนายบุญเหลือ เจริญวัฒน์ รองนายกเทศมนตรีนครนครราชสีมา ได้เรียกหัวหน้างานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของเทศบาล และส่วนราชการประชุมด่วน เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขปัญหาน้ำท่วมภายในเขตเทศบาล และจัดกำลังดูแลปัญหาเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่อาจจะเกิดน้ำท่วมใน 3 จุดตลอด 24 ชั่วโมง เพราะหลังจากพายุนกเตนแล้วยังมีพายุโซนร้อนหมุยฟ้าที่จ่อจะพัดเข้าไทยมาทาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามมาอีกลูก
ในขณะที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศ เตือนภัยฉบับที่ 6 ในเรื่องดังกล่าวว่า พายุโซนร้อนนกเตนจะเคลื่อนผ่านเกาะไหหลำ และอ่าวตังเกี๋ย โดยขึ้นฝั่งบริเวณเวียดนามตอนบนในคืนวันที่ 30 ก.ค. ต่อจากนั้นจะเคลื่อนเข้าสู่ลาวและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ซึ่งจะทำให้ไทยมีฝนตกชุกหนาแน่นเพิ่มมากขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ จึงขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยตามที่ลาดเชิงเขา ใกล้ทางน้ำไหลผ่าน และพื้นที่ราบลุ่ม ระมัดระวังอันตรายจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งที่จะเกิดขึ้น ดังนี้
วันที่ 31 ก.ค.บริเวณ จ.หนองคาย, บึงกาฬ, นครพนม, สกลนคร, มุกดาหาร, กาฬสินธุ์, ระนอง, จันทบุรี และตราด วันที่ 1 ส.ค. บริเวณ จ.หนองคาย, บึงกาฬ, อุดรธานี, หนองบัวลำภู, เลย, ชัยภูมิ, ขอนแก่น, น่าน, พะเยา, แพร่, อุตรดิตถ์, พิษณุโลก และเพชรบูรณ์ วันที่ 2-3 ส.ค. จ.แม่ฮ่องสอน, เชียงราย, เชียงใหม่, พะเยา, น่าน, แพร่, ลำพูน, ลำปาง, สุโขทัย, อุตรดิตถ์, พิจิตร, กำแพงเพชร, และตาก ส่วนคลื่นลมในทะเลอันดามันและอ่าวไทยตอนบนจะมีกำลังแรง โดยมีคลื่นสูง 2-4 เมตร ขอให้ชาวเรือระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ และเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในช่วงวันที่ 30 ก.ค.- 4 ส.ค.นี้
น.ส.พรนภา ทองเทพ เวรพยากรณ์อากาศ ศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคเหนือ ระบุว่า พายุนกเตนจะทำให้พื้นที่ภาคตะวันออกของภาคเหนือ โดยเฉพาะเชียงราย, พะเยา, แพร่ และน่าน มีฝนตกกว่า 80-90% ของพื้นที่ในวันที่ 31 ก.ค.-2 ส.ค. และจะทำให้ 4 จังหวัดเสี่ยงต่อการเกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก
นาย ชุมพร อินตะเทพ หน.สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จ.ลำพูน ได้เตือนประชาชนระวังภัยจากพายุโซนร้อนนกเตนเช่นกัน โดยเฉพาะในช่วง 1-2 วันนี้
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก